นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 1:35 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เอาธรรมเป็นใหญ่
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 13 พ.ย. 2017 4:26 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
“ความสบายใจ ไม่ได้อยู่ที่
การพยายามทำทุกสิ่ง ให้ได้ดั่งใจ
แต่อยู่ที่การยอมรับว่า
ไม่มีอะไร จะได้ดั่งใจเราทั้งหมด”
-:- พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ -:-




"อย่าขึ้นทางต้น ลงทางปลาย
ทำอะไรอย่ามักง่าย ลัดขั้นตอน
ละเลยจารีต ที่ครูเคยสอนสั่ง
ดังเราขึ้นต้นไม้จากโคน
อย่ากระโจนลงจากยอด
เพราะประมาทหลงตนเอง
เกิดเป็นคนอย่าหลงตน
ไม่เสมอต้นเสมอปลาย
อวดอุตริอยากเด่นดัง
หรือหัวล้านเกินครู
จบไม่สวยสักราย"
-:- หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ -:-




" คำสอนแต่ละอย่างของพระพุทธศาสนา สอนให้หนีจากเวร สอนให้หนีจากภัย.
สอนให้เว้นเวรเว้นภัย นับแต่ปาณาติบาตเป็นต้น.เป็นวิชาหนีจากเวรจากภัย.
ถ้าไม่เว้นปาณาติบาต กับการสร้างเวรก็อันเดียวกัน.สร้างภัยก็อันเดียวกัน.สร้างไว้เป็นที่พึ่งของตน.
อทินนาทานก็เหมือนกัน.ถ้าเว้นจากอทินนาทานแล้ว ไม่ลักสกจกห่อ ก็คือดับความชั่วของตน.
คือปราศจากเวรภัย จึงว่าเวระมะณี เวระมะณีทุกอย่าง ทุกอย่าง.
เวรมณีแปลว่า หนีจากเวรแล้ว.มณีแปลว่า เว้นแล้ว.
ศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญมาก.
ถ้าไม่มีศรัทธา ปัญญาก็ไม่เกิด.ถ้าไม่มีปัญญา ศรัทธาก็ไม่เกิด.
ศรัทธาเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นของสำคัญมาก.
ศรัทธาเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น.
ถ้ามีศรัทธาเชื่อแล้ว มีปัญญาสัมปยุติแล้ว.
คำสอนของพระพุทธศาสนาก็เป็นไปเอง.
ไม่ปฏิบัติน้อยก็ปฏิบัติมากตามสติกำลังของตน.
คำสอนแต่ละบทละบาทสอนให้หนีจากเวรจากภัย ตลอดถึงข้ามโลก.ข้ามหลุมถ่านเพลิง.
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็คือหลุมถ่านเพลิงเราดีๆ นี่เอง.ไม่ใช่อันอื่น.
แต่อาศัยความเคยชินของพวกเราก็เลยพออยู่พอไปกัน.
พออยู่ก็อยู่เพื่อตาย.พอไปก็ไปเพื่อตาย.
ไปกับทุกข์อยู่กับทุกข์อือ... กินกับทุกข์นอนกับทุกข์อือ...เพราะยังไม่พ้นเป็นพระอรหันต์.อือ.
เมื่อยังไม่พ้นเป็นพระอรหันต์แล้วก็เท่ากับว่ากินกับทุกข์นอนกับทุกข์.นั่งทุกข์นอนทุกข์นั่นเอง.
ฉันใดก็ดี.เมื่อกำลังแหวกว่ายอยู่ในทะเลยังไม่ถึงฝัง ก็เรียกว่าทุกข์.อือ.
ถึงฝั่งเมื่อใดขึ้นถึงฝั่งแล้วจึงจะว่าพ้นทุกข์ จากการแหวกว่ายน้ำ."
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต




หลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า..."เราเป็นสมณะให้เอาธรรมเป็นใหญ่"
.....เราเป็นสมณะมาประพฤติธรรม ทุกกิริยาอาการเยื้องย่างบางอย่าง โลกไม่นิยมชมชื่น แต่ถ้าประมวลลงแล้วว่า เป็นธรรม เราก็ต้องดำเนินตามนั้น
"ธรรมแท้ไม่ได้เอามติที่ประชุมเห็นชอบ แต่เอาใจที่บริสุทธิ์เห็นธรรม"
คนหมู่มากถ้ากิเลสหนา ปัญญาหยาบมีมากเท่าใด ก็จะออกกฏอันเป็นไปเพื่อกิเลสพวกพ้องตน
ฉะนั้น เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรมต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ปลอดภัยกว่าเอาตนเป็นใหญ่ ปลอดภัยกว่าการเอาคนหมู่มากเป็นใหญ่.




...ห้ามไม่ฟัง...
..แม้จะห้ามไว้เท่าไหร่ก็ไม่ฟัง เรื่องความตาย ถึงระยะมันก็จะต้องไปตามหน้าที่ของเขา พอมีเกิดมาแล้ว ก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่อง คล้าย ๆ กับว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์ มันก็ขึ้นของมันเอง ไม่ได้ไปพูดกับเขายาก มันก็ไปของเขาเอง เขาจะไปหรือไม่ไปเราไม่รับรู้ แต่เราเห็นคล้าย ๆ กับว่ามันไป ผลสุดท้ายมันก็หมดแสงไปเอง ก็อยู่ตลอด เราไม่ได้ไปยากกับมันสักครั้ง..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..



“ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติฝึกหัดเอา”
..ฉะนั้น ตามธรรมดา ท่านสอนไปตามหลักธรรมชาติ เหมือนอย่างที่กล่าวมาแล้ว และทีนี้หลักการ วิธีการที่เราจะประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหลักที่เราต้องการ ผู้ต้องการจะไปสวรรค์ หลักของการประพฤติปฏิบัติที่ไปสู่สวรรค์ก็มีเหมือนกัน ผู้ที่ต้องการจะไปสู่เทวโลก ไปสู่พรหมโลก พรหม ๑๖ ชั้น ก็ไปได้เหมือนกัน มีหลักการ จะไปสุทธาวาส มหาพรหมอีก ๕ ชั้น ก็ยังได้ หรือจะไปถึง โลกุตตร คือพระนิพพานก็ไปได้ หลักการ วิธีการ มีครบหมด ระยะนี้ ก็หมายความว่า บรรดาทุกท่านทุกคน ขาดการประพฤติปฏิบัติ หรือบำรุงเหตุ ให้เต็มแบบเต็มที่เท่านั้น ไม่ใช่อยากได้เฉย ๆ จะให้มันได้เลยนะ ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติฝึกหัดเอา..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง สอนตามหลักธรรมชาติ




...เหมือนกับร่างกายของเรา
ก็ต้องอาศัยกระจกไว้
เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็น
ความจริงของร่างกายว่า
ตอนนี้หน้าตาเราป็นอย่างไร
.
ถ้าเราไม่มีกระจกส่องหน้าเรา
ก็จะไม่รู้ว่าหน้าตาของเรา
ตอนนี้สะอาดหรือไม่สะอาด
สวยหรือไม่สวย
ถ้ามีกระจกเราก็จะเห็น ถ้าไม่สะอาด
เราก็จะได้ทำให้สะอาดได้
ถ้าไม่สวย เราก็จะทำให้สวยได้
.
ฉันใดถ้าเรามีพระพุทธศาสนา
ไว้ส่องตัวเราคือ "ใจของเรา"
เราก็จะได้รู้ว่า
"ใจของเรานี้เป็นตัวของเรา"
เราจะได้รู้ว่า
"ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวของเรา"
.
เราจะได้รู้ว่า "ความสุขของเรา"นั้น
เกิดจากความคิดแบบไหน
เกิดจากการพูดการกระทำแบบไหน
"ความทุกข์ของเรา"
เกิดจากความคิดแบบไหน
เกิดจากการพูด การกระทำแบบไหน
.
เมื่อเรารู้แล้ว เราก็จะได้
คิดและพูดและทำในแบบที่
"จะทำให้เรามีความสุข"
เราก็จะยุติการคิดการพูด
การกระทำแบบที่..
"ทำให้เราเกิดความทุกข์ขึ้นมา".
...........................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา2/2/2557
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





ความเมตตาของหลวงปู่ขาว อนาลโย
.
เพื่อให้เกิดความศรัทธาในการทำความดีและมีกำลังใจในการเอาชนะโทสะความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ พร้อมทั้งเตือนว่า ในเวลาที่ถูกโลกธรรมตำหนิติเตียนไปในทางร้ายให้ประสบความไม่สุขใจ จงตั้งใจให้แน่วแน่มั่นคงระลึกถึงบทคาถาของหลวงปู่ขาวไว้เป็นอารมณ์ คอยกำกับจิตใจให้สงบนิ่ง แล้วเจตนาที่มุ่งร้ายหมายจะก่อเวรก็จะค่อยๆคลี่คลายเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ บทคาถานั้นมีว่า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
.
พุทธะเมตตัง จิตตังมะมะ พุทธะพุทธานุภาเวนะ
ธัมมะเมตตัง จิตตังมะมะ ธัมมะธัมมานุภาเวนะ
สังฆะเมตตัง จิตตังมะมะ สังฆะสังฆานุภาเวนะ
.
คัดจากหนังสือ ๙๐ ปี เศรษฐีธรรม





ถ้ามีสติปัญญาที่จะ..
#พิจารณาร่างกายของเรานี้ให้
#เห็นเป็นอสุภกรรมฐานหรือ
#ธาตุกรรมฐานให้จิตปล่อยวาง
#ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย
#ของเรา
#พิจารณาธาตุจนถึงความว่างว่า
#ร่างกายนี้ไม่มีอะไร
#สักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติ
#ถ้าจิตเราเห็นเช่นนั้นตามความจริง
#ก็สามารถที่จะถ่ายถอนความยึดมั่น
#ถือมั่นในกายตนได้
#สามารถที่จะถ่ายถอนความยึดมั่น
#ถือมั่นในวัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ได้
#ความโลภก็ดับลง
#ความโกรธก็ดับลง
#ความหลงในกายตนก็ดับลงไป
#ความสุขที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น
#ภายในจิตใจของแต่ละบุคคล
พระอาจารย์อัครเดช ถิรจิตโต






การทำโรงทาน เราเสียสละรวม ๆ กันหลาย ๆ คน
มาเลี้ยงแขกเลี้ยงคน แต่ก่อนเรามีแต่ไปกินของคนอื่นเขา ตอนนี้เราก็รวม ๆ กันมา เลี้ยงน้ำก็ยังดี เราช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน ทีเขาทีเรา การสร้างบุญสร้างกุศลเมื่อสร้างไปแล้วจิตใจชุ่มชื่นเบิกบาน ได้ยินหลาย ๆ คนบอกหลวงพ่อว่า สมัยก่อนหน้านี้ทำกิจการฝืดเคือง พอมาทำโรงทานก็รู้สึกว่ากิจการงานราบรื่น หลวงพ่อก็ว่าก็คงเป็นพลังส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตใจของเราเป็นกุศล เห็นคนเข้ามาในโรงทานของเรา เมื่อเราไปขายของพูดจากับคนก็มีจิตใจกว้างขวางขึ้น แต่ก่อนหน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ตลอด เวลาใครมาเห็นก็ไม่อยากจะเข้าใกล้ แต่พอมาทำบุญทำทาน จิตใจเบิกบาน มองคนเป็นมิตรสหาย เป็นญาติโกโหติกา คนเห็นเราหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เขาก็มาซื้อของมาเป็นมิตรสหาย ก็กลายเป็นขายของดี
การสร้างบุญสร้างกุศลเป็นพลังลึก ๆ สิ่งใดที่ไม่น่าจะเกิดก็เกิด ไม่น่าจะมีก็มี ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็เป็นไปได้ เพราะอานิสงส์ทานผลักดัน แต่การทำทานจิตใจต้องเบิกบานเป็นกุศล ไม่ใช่จิตใจร้อนไม่เอานะ ใครตั้งโรงทานแล้วตะหลิวเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวา ไม่ดี มันร้อน
บุญกุศลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าเราทำด้วยความตั้งใจใส่ใจ บุญกุศลจะไหลทะลักเข้ามาในจิตใจของเรา
น้อมในธรรม
#หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา "การเอาเปรียบผู้อื่นนั้นแลไร้ความเมตตา"
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐





เรื่อง ปัญหาของผู้เริ่มฝึกมโนมยิทธิใหม่ๆ
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
ผู้ถาม :- “บางคนเขาก็มาปรารภว่า มาครั้งแรกทำไมจึงฝึกไม่ได้…?”
หลวงพ่อ :- “พวกที่ไม่ได้ มันยัง ตั้งอารมณ์ไม่ถูก เขามีสิทธิ์ได้ มาถึงปุ๊บเดียว จะให้มันได้ ความเข้าใจมันยังไม่ดี ที่เรียกว่ายังไม่เข้าใจ
บางคนก็ใช้ตาดูบ้าง บางคนก็ใช้ฌานหนักเกินไป มันก็ไม่ถูกจุด สูงเกินไปนิด ต่ำเกินไปนิด ก็ไม่ได้ ต้องพอดี ๆ คือว่า ตอนจับทีแรก มันต้องอยู่แค่อารมณ์อุปจารสมาธิ เพราะอันนี้เป็นวิชชาสาม พอจับภาพได้ปุ๊บ บังเกิดความมั่นใจ จิตเป็นฌาน”
ผู้ถาม :- “ดิฉันก็เหมือนกันค่ะ เวลามีครูมาสอบถาม ว่าเห็นอะไรบ้างหรือยัง ก็ไม่เห็นอะไรทั้งนั้นเลย ตอบก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่เห็นอะไร ไม่เจออะไร
ไม่ทราบว่าจะทำยังไงดี”
หลวงพ่อ :- “อันนี้มันเป็นอย่างนี้โยม มันเป็นอารมณ์ที่ไม่ชินนะ ทีนี้ที่เห็นนั้นเราไม่ใช้ตา มันเป็นกำลังของทิพจักขุญาณ ทิพจักขุญาณเบื้องต้นมันมัวเต็มที แล้วเราก็เห็นว่าเราจะต้องเห็นทางตา
คำว่า ทิพจักขุญาณ แปลว่า มีความรู้คล้ายตาทิพย์ มันเกิดเฉพาะความรู้สึก ไม่ใช่ลูกตาเห็น
นั่นมันเป็นอันดับก่อนที่จะก้าวขึ้น ถ้าตอนนี้เราจับอารมณ์นั้นได้ เมื่อเราจับได้แล้ว ครูเขาสนับสนุนโดยการพิจารณาตัดขันธ์ ๕ บ้าง นึกถึงบารมีของพระพุทธ เจ้าบ้าง และทำความรู้สึกเข้าหาพระจุฬามณี ตอนนี้จิตมันจะเริ่มเป็นฌาน ความรู้สึกที่ว่าเห็น มันจะมีความใสขึ้น ดีขึ้น ยิ่งกว่าเดิมหน่อยหนึ่ง หรือบางคนก็ดีมาก
ทีนี้ถ้าหากว่า ความรู้สึกที่ว่าเห็น ที่เราเรียกว่า ทิพจักขุญาณ จะดีมาก ดีน้อย ขนาดไหน มันขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของจิตในเวลานั้น
ถ้าในเวลานั้น ความรู้สึกของจิตมันล้างกิเลสไปได้มาก เทียบเท่ากับพระสกิทาคามี หรือพระอนาคามี เฉพาะในเวลานั้นนะ ไม่ได้หมายความว่า เป็นเสียจริง ๆ เลยนะ คือเวลานั้น จิตมันสะอาดเทียบเท่ากับ พระสกิทาคามี หรือพระอนาคามี ความรู้สึกที่เห็นมันชัดมาก การเคลื่อนไหวเร็วมาก”
ถ้าฝึกใหม่ ๆ ก็อยากเห็นชัดอย่างนี้ละ อีกคนหนึ่งอยากเห็นชัดเหมือนกัน ถามว่า
ผู้ถาม :- “ที่หนูทำอยู่เวลานี้ก็พอจะเห็นบ้างแต่ว่ายังไม่ชัด หนูอยากจะไปเห็นชัด ๆ ค่ะ จะทำอย่างไรคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ถ้าอยากไปก็แสดงว่าไม่อยากไป ถ้าอยากไปมันเป็นนิวรณ์ คืออุทธัจจะกุกกุจจะ มันคอยตัด อย่าอยากไปนะ ให้ทำแบบสบาย ๆ เราพอใจในผลที่เราได้มาแล้ว ในตอนก่อน จะได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้ารักษาอารมณ์ให้สว่างอย่างนี้มีผล
อย่าลืมว่าอภิญญาจริง มันยังมีเวลาอีก ๑๙ ปี กำลังอภิญญาจึงจะเข้ามาถึง ตอนนี้อภิญญาเล็ก แล้วก็พยายามฝึกไปเรื่อย ๆ นะ
ถ้าต้องการจะให้เห็นแจ่มใส ให้หมั่นจับภาพพระให้ใส เป็นประกายแก้วอยู่เสมอ วันหนึ่งสักครั้งหนึ่งให้เป็นประจำ ก่อนหลับก็ได้
ถ้าทำอย่างนี้ละก็ ท่านบอกว่า ถ้าถึงวาระอีก ๗ วันตาย ตอนนั้นจะพบพระหรือเทวดาเป็นประกายใสปลอดโปร่ง และจิตใจจะจับอยู่ในภาพนั้น และวาระนั้นนั่นแหละ จิตใจจะตัดในที่สุด คือ จิตจะตัดเข้าอรหัตผล ตายแล้วไปนิพพานทุกคน ถ้าอยากเห็นชัดละก็ ตายแล้วไปถึงนิพพานชัดแจ๋วทุกคน”
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ การนึกปั๊บเห็นปั๊บแต่เป็นภาพเดิม อย่างนี้เป็นสัญญาใช่ไหมคะ….?”
หลวงพ่อ :- “ไม่ใช่ เป็นสัญญาไม่ได้ คือว่าคนที่เขาชำนาญเขาไม่นั่งป๋อหลอหรอก อย่างฉันนึกปั๊บได้เลย บางทีไม่ทันจะนึกละ ไปแล้ว”
ผู้ถาม :- “ขึ้นไปถึงเลยหรือคะ…?”
หลวงพ่อ :- “ไปถึงเลย คือ มันจะเป็นสัญญาไม่ได้ สัญญามันได้แต่นั่งนึกเอา สัญญาก็นั่งจำแต่ภาพ เราเคยเห็นพระพุทธเจ้าในลักษณะไหน เราเคยเห็นวิมานของท่านในลักษณะไหนบ้าง วิมานของเราในลักษณะไหนบ้าง เรานั่งนึก อันนี้เป็นสัญญา พอเรารวบรวมกำลังใจปั๊บแล้วไป อันนี้เป็นอภิญญา มันไม่ใช่สัญญา”
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ หนูนั่งทีไรเห็นไม่เต็มองค์ เห็นแค่เศียร เวลาขึ้นไปข้างบน เห็นวิมาน มีหลังคาสูง ๆ แต่เข้าไม่ได้ค่ะ ทำยังไงหนูจะเข้าไปได้คะ…?”
หลวงพ่อ :- “ตัดสินใจให้มันแน่นอน อารมณ์ไม่เด็ดขาดจริง ยังห่วงขันธ์ ๕ อยู่ ยังห่วงร่างกาย ยังห่วงลูกยังห่วงฝาละมี(สามี) อะไรพวกนี้ ยังห่วงอย่างนี้เข้าไม่ได้หรอก ถ้าก่อนที่จะขึ้น ต้องตัดสินใจให้มันเด็ดขาด การเห็นภาพไม่ชัด มันบอกได้เลยว่า เราตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่ต้องไปเปิดตำราที่ไหน นี่เป็นเครื่องวัด”
ผู้ถาม :- “แต่ฝึกครั้งแรกขึ้นไปเห็นชัดมากค่ะ”
หลวงพ่อ :- “วันแรกเขาสอน เราไปตามเขา พอเขาทิ้งก็ชักห่วงหน้าห่วงหลัง พอออกไปหน่อย เอ… ไอ้โอ๋ไปไหนหว่า อยู่กับใคร… ก็ยังถือว่าดี ควรจะตัดสินใจให้มันเด็ดขาด
ตอนเช้ามืดควรจะตัดสินใจไปเลยว่า ชีวิตนี้มันทรงตัวอยู่ขนาดไหน ก็ช่างมันเถอะ ถ้าตายเมื่อไหร่ขอไปนิพพาน เอาให้แน่นอน ถ้าตั้งอารมณ์ดีจริง ๆ ถ้าตั้งใจแบบนั้น ทีหลังเห็นเต็มองค์ ไม่ยาก”
ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ เวลาฝึกมโนมยิทธิ บางวันก็อารมณ์ดี ขึ้นไปก็เห็นแจ่มใส แต่มันดีเป็นพักๆค่ะ”
หลวงพ่อ :- “อารมณ์ดีเป็นพัก ๆ นี่ถูก คือว่า ที่เป็นพัก ๆ เพราะว่า ร่างกายมันยังเกาะขันธ์ ๕ ถ้าเหนื่อยเกินไป เพลียเกินไป อันนี้อารมณ์จะมัวได้
แล้วก็ประการที่ ๒ ถ้ามันป่วยขึ้นมา มันจะทำให้ประสาทสั่นคลอนนิดหนึ่ง โดยที่เราไม่รู้ตัว อันนี้มัวได้
แล้วก็ประการที่ ๓ รวบรวมกำลังใจยังไม่เต็มที่ ก็ขึ้นเลย อันนี้มัวได้
การใช้กำลังอภิญญานี่ เราจะถือความสว่างมาก สว่างน้อย ไม่สำคัญ สำคัญว่า กำลังจิตของเรา เข้าถึงจุดหมายปลายทางไหม เขาถือตัวนี้ เป็นตัวสำคัญนะ
เพราะว่าเรายังมีขันธ์ ๕ อยู่ เราจะให้ทรงตัวอยู่เป็นปกติ มันไม่ได้แน่ พระอรหันต์ยังไม่ได้เลย
บางคนก็มาบ่นให้ฟัง “ฝึกได้แล้วพอกลับไปบ้านก็มืดไปมัวไป” ก็ต้องไปดูว่ามันมืดเพราะอะไร มืดเพราะศีลบกพร่องหรือเปล่า ถ้าศีลบกพร่อง เราเข้าพระจุฬามณีไม่ได้
ถ้าบอกว่ามืดเพราะสมาธิต่ำ ไม่ใช่ ถ้าสมาธิต่ำ มันไม่แสดงอาการของการมืด แต่การเคลื่อนของจิตมันจะช้าลง การมืดหรือสว่างมันอยู่ที่วิปัสสนาญาณ
ศีล เป็นภาคพื้น
สมาธิ เป็นกำลังเดินทาง
วิปัสสนาญาณ เป็นคบเพลิงสำหรับส่องทาง
ทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องขนานกัน แต่ว่าบางทีศีลดี สมาธิดี วิปัสสนาญาณดี แต่ว่าร่างกายไม่ดี อันนี้ก็มืดเหมือนกัน
แต่หลวงพ่อไม่งั้นนะ ถ้าร่างกายไม่ดียิ่งสว่าง เพราะว่าถ้าร่างกายไม่ดีจิตมันจะดีทันที พอเริ่มป่วยนี่ จะป่วยมากน้อยก็ตาม จิตมันจะรวมตัวทันที พร้อมใส่กระเป๋าเตรียมตัวเดินทางใช่ไหม…
จำไว้นะ ไม่ใช่พอป่วยร้องอ๋อย ๆ คือว่า ร่างกายมันจะคราง มันจะร้อง มันจะเจ็บ มันจะปวด มันเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย ไม่ใช่ว่าถือธรรมดาแล้วร่างกายจะไม่เจ็บไม่ปวด อันนั้นไม่ถูก
แม้แต่พระอรหันต์ทุกองค์ท่านก็เจ็บ ท่านก็รู้ว่าร่างกายเจ็บ ร่างกายหนาว ร่างกายร้อน ท่านก็รู้ ร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย ท่านก็รู้ แต่ว่าท่านไม่ได้ทุกข์ จิตท่านไม่กังวล ท่านก็รักษาพยาบาล ท่านหิวท่านก็กิน ท่านร้อนท่านก็หาเครื่องเย็น ท่านหนาวท่านก็หาเครื่องอุ่น หาได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น ถ้าหาไม่ได้ก็แค่นั้นแหละ แค่นี้เอง”
หลวงพ่อ :- “เอาละ คงจะพอเข้าใจแล้วนะ ต่อไปนี้เป็นปัญหาของผู้ฝึกได้แล้ว”
หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๑๗๒
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)





เรื่อง อานิสงส์การบวชในพุทธศาสนา...
ต่อแต่นี้ไป จะนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าด้วยเรื่อง อานิสงส์การบรรพชา มาคุยกับบรรดาท่านพุทธบริษัท ความมีว่า องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์เมื่อทรงพระชนม์อยู่ องค์สมเด็จพระบรมปรารถเรื่องการอุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสว่า การอุปสมบทบรรพชานี้มีอานิสงส์พิเศษ
อานิสงส์อย่างอื่น มีการสร้างวิหารทานก็ดี การถวายสังฆทานก็ดี ทอดกฐินผ้าป่าก็ดี จัดว่าเป็นอานิสงส์สำคัญ แต่อานิสงส์นี้นั้น บุคคลที่จะพึ่งได้ต้องโมทนาก่อน หมายความว่า ถ้าบุตรธิดาของตนบำเพ็ญกุศล บิดามารดาไม่โมทนาย่อมไม่ได้ แต่ว่าการอุปสมบมบรรพชานี้แปลกกว่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า
สมมุติว่า บุตรชายของท่านผู้ใดออกจากครรภ์มารดาวันนั้น บิดามารดาก็จากกัน ลูกกับพ่อ ลูกกับแม่ย่อมไม่รู้จักกัน เวลาที่บรรพชานั้น บิดามารดาก็ไม่ทราบ แต่ทว่า ถึงอย่างก็ดี องค์สมเด็จพระชินศรีตรัสว่า บิดามารดาย่อมได้อานิสงส์โดยสมบูรณ์
นี่เป็นอันว่า อานิสงส์แห่งการการอุปสมบทบรรพชานี้แปลกจากบุญกุศลอย่างอื่น
เป็นอันว่าขอพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า บุญอย่างอื่นลูกทำไปแล้ว พ่อแม่ไม่โมทนาย่อมไม่ได้อานิสงส์นั้น
แต่ว่าการอุปสมบทและบรรพชา บิดามารดาซึ่งคลอดบุตรมาแล้ว ต่างคนต่างจากกันไป พ่อแม่ไม่ทราบว่าบุตรมีรูปร่างหน้าตาเป็นประการใด เพราะจากกันไปตั้งแต่คลอดใหม่ๆ สำหรับลูกชายก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า บิดารมารดาเป็นใคร แต่ว่าอุปสมบรรพชาเมื่อไร บิดามารดาย่อมได้อานิสงส์สมบูรณ์ เหตุนี้การอุปสมบทบรรพชาจึงจัดว่า เป็นกุศลพิเศษ ที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงบัญญัติไว้
ทีนี้จะว่ากันไปถึงอานิสงส์แห่งการอุปสมบทบรรพชา
คำว่า บรรพชา นี้หมายความว่า บวชเป็นเณร
คำว่า อุปสมบท นี้หมายความว่า บวชเป็นพระ
สำหรับท่านที่บรรพชาในพุทธศาสนาเป็นสามเณร อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านผู้บรรพชาเองคือเณร ถ้าประพฤติปฏิบัติดี นี่เอากันถึงด้านการประพฤติปฏิบัติดี ถ้าปฏิบัติเลวการการบวชเณรก็ถือว่าเป็นการซื้อนรก ถ้าปฏิบัติดีนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ท่านที่บวชเข้ามาเป็นเณรในพุทธศาสนาแล้วปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามระบอบพระธรรมวินัย สำหรับเณรผู้นั้น ย่อมมีอานิสงส์คือ ถ้าตายจากความเป็นคน ถ้าจิตของตนมีกุศลธรรมดา ไม่สามารถจะทรงจิตเป็นฌาน องค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสว่า ท่านผู้นั้นจะเสวยความสุขบนโลกมนุษย์ได้ถึง 30 กัป เช่นเดียวกัน
การนับกัปหนึ่ง... คำว่ากัปหนึ่งนั้น มีปริมาณนับปีไม่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงเปรียบเทียบไว้อย่างนี้ว่า มีภูเขาลูกหนึ่ง เป็นหินล้วนไม่มีดินเจือปน ถึงเวลา 100 ปี เทวดาเอาผ้ามีเนื้ออ่อนเหมือนสำลีมาปัดยอดเขานั้นครั้งหนึ่ง ทำอย่างนี้ 100 ปีปัด 1 ครั้ง 100 ปีปัด 1 ครั้ง จนกระทั่งหินนั้นหมดไป หาหินไม่ได้ เหลือแต่ดินล้วน นั่นจึงจะมีอายุได้ครบ 1 กัป
และอีกประการหนึ่ง ท่านพรรณนาไว้ในพระวิสุทธิมรรคว่า มีอุปมาเหมือนกับว่ามีถังใหญ่ลูกหนึ่งมีความสูง 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์ ยาว 1 โยชน์เหมือนกัน มีคนเอาเมล็ดพันธุ์ผัดกาดมาใส่ในถังนั้นจนเต็ม ถึงเวลา 100 ปีก็เอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นออก 1 เมล็ด ทำอย่างนี้จนกว่าเมล็ดพันธุ์ผัดกาดนั้นจะหมดไป เป็นการเปรียบเทียบกันได้กับระยะเวลา 1 กัป
นี่เป็นอันว่า กัปหนึ่งเราจะนับเวลาประมาณไม่ได้ เช่นกัปหนึ่งเราจะนับเวลาประมาณไม่ได้ เช่นกัปในปัจจุบันนี้สามารถจะทรงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ถึง 10 พระองค์ เป็นระยะยาวนานมาก
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า ท่านที่บวชเป็นเณรเอง และมีความประพฤติปฏิบัติดี ต้อง เป็นเทวดาหรือพรหมอยู่ถึง 30 กัป นั่นก็หมายความว่า อายุเทวดาหรือพรหมย่อมีกำหนดไม่ถึง 30 กัป และเมื่อหมดอายุแล้วจะเกิดเป็นพรหมใหม่ อยู่บนนั้นไปจนกว่าจะถึง 30 กัป หรือมิฉะนั้นก็ต้องเข้านิพพานก่อน
สำหรับ บิดามารดา ของบุคคลผู้บวชเป็น สามเณร ย่อมได้อานิสงส์คนละ 15กัป คือครึ่งหนึ่งของเณร หมายความว่าบิดารมีอานิสงส์ 15 กัป มารดามีอานิสงส์เสวยความสุขบนสวรรค์หรือพรหมโลก 15 กัป เช่นเดียวกัน
เป็นอันว่า บรรพชากุลบุตรของตนไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นสามเณรมีอานิสงส์อย่างนี้
องค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสต่อไปว่า บุคคลผู้ใดมีวาสนาบารมีคือมีศรัทธาแก่กล้า ตั้งใจอุปสมบทในพุทธศาสนาเป็นพระสงฆ์ แต่ว่าเมื่อบวชแล้วก็ต้องปฏิบัติชอบ ประกอบไปด้วยคุณธรรม คือมีพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ อันนี้องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า
ท่านที่ บวชเป็นพระด้วยตนเองจะมีอานิสงส์พิเศษที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสไว้
แต่ทว่า ภิกษุสามเณรท่านใดผิดบทบัญญัติในพระพุทธศาสนาก็พึงทราบว่า เมื่อเวลาตายก็มีอเวจีเป็นที่ไปเหมือนกัน อานิสงส์ที่พึงได้ใหญ่เพียงใด โทษก็มีใหญ่เพียงนั้น
สำหรับบรรดาท่านผู้ไม่ใช่บิดามารดาของบุตรกุลธิดาที่อุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ช่วยในการบวช นี่หมายความว่า เวลาเขาจะบวชพระครั้งหนึ่ง เราทราบเข้าก็ไปบำเพ็ญกุศลร่วมกับเข้าด้วยจตุปัจจัยมากบ้างน้อยบ้าง ให้สิ่งของบ้าง ช่วยขวยขวายในกิจการงานในการที่จะอุปสมบทบ้าง หมายความว่า เขาจะบวชลูกบวชหลานของเขา เราไม่มีลูกหลานจะบวช เขามาบอกบุญมาหรือไม่บอกบุญก็ตาม เอาจตุปัจจัยบ้าง เอาของที่จะพึ่งจะใช้ในงานบ้าง ไปช่วยในงานด้วยความเลื่อมใส ถ้าไม่มีจตุปัจจัย ไม่มีของ ก็เอากายไปช่วย ช่วยขวนขวายในกิจการงาน
อย่างนี้องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดากล่าวว่าท่านผู้นั้นจะมีอานิสงส์เสวยความสุขอยู่บนสวรรค์ หรือในพรหมโลก คนละ 8 กัป แต่ถ้าหากเป็นคนฉลาด อย่างเช่นเขาบวชพระกัน 42 องค์ เราก็ช่วยกันบำเพ็ญกุศลช่วยในการบวชพระ ไม่เจาะจงท่านผู้ใดผู้หนึ่ง เรียกว่าช่วยหมดทั้ง 42 องค์ ก็ต้องเอา 42 ตั้งเอา 8 คูณ
นี่เป็นอันว่า...อานิสงส์ที่ที่จะพึงได้ในการอุปสมบทบรรพาชากุลบุตรกุลธิดาในพระพุทะศาสนาสำหรับผู้ช่วยงาน
แต่สำหรับท่านผู้เป็น เจ้าภาพ ในฐานะ คนที่บวชไม่ได้เป็นบุตรของเรา แต่ว่าเป็นผู้จัดการขวยขวายในการอุปสมบทบรรพชาให้ อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดากล่าวว่า ท่านผู้จัดการบวชจะ ได้อานิสงส์ 12 กัป จะมีผลหลั่นซึ่งกันและกัน
หนังสือธรรมปฏิบัติเล่ม ๑หน้า ๒๙-๓๕
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง





โลกวินาศ
ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฎจักรดั่งอธิบายมาแล้วแต่ต้น
ตลอดกัปป์ตลอดกัลป์ หาความเที่ยงมั่นถาวรไม่มีสักอย่างเดียว
แต่คนผู้มีอายุสั้นหลงไหลในสิ่งที่ตนได้ตนเสียก็เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ร่ำไป
แท้ที่จริงสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา
ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นความเสื่อมความเสีย
ตามนัยที่พระองค์ทรงสอน เห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย จิตใจสลดสังเวช
จนเป็นเหตุให้ผู้มีปัญญาเหล่านั้นเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด
แล้วละโลกนี้เข้าถึงพระนิพพานจนหาประมาณมิได้
ผู้ไม่มีปัญญาก็จมอยู่ในวัฎสงสาร
มากมายเหลือคณานับ..
หลวงปู่เสน ปัญญาธโร




ถ้าเรามีสติ รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของรูปกาย
เมื่อ ใจ คิดขึ้นมาเราจะเห็น เราจะรู้
หลวงปู่เสน ปัญญาธโร




สติหมายถึง ความระลึกได้
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ "ให้รู้สึกตัว"
ให้รู้สึกตัวในการเคลื่อนไหว
กระพริบตาก็รู้ หายใจก็รู้
จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้
การเคลื่อนไหวเป็นสาระสำคัญ
ของ "การเจริญสติ"
หลวงปู่เสน ปัญญาธโร



ถ้าหากว่าเราเขวออกไปนอกลู่นอกทาง
ปฏิบัติไม่คงเส้นคงวา
ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
พระศาสนาก็จะเสื่อม
คือเสื่อมไปจากจากจิตใจของพวกเราทั้งหลาย
แล้วก็จะเสื่อมหายไปจากโลก.
พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร)


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 86 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO