Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

พุธ 22 พ.ย. 2017 6:59 am

"ชีวิตของเราทุกๆ คนในโลก
จะอยู่ก็ไม่กี่วัน เที่ยงแท้จะแตกดับอยู่แล้ว
รีบขวนขวาย หาคุณงามความดี
ในเมื่อมีชีวิตอยู่ หาได้มากน้อย ก็เป็นของเรา"
-:- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน -:-



"เวลากรรมมันไล่มาถึงแล้ว
ไม่มีใครจะหลีกลี้หนีพ้นได้
ต่อให้บินเหาะหนี
ขึ้นไปอยู่บนฟ้านภากาศ
ก็ต้องร่วงลงสู่กรรม"
-:- หลวงปู่ชอบ ฐานสโม -:-




ทำบุญให้ผู้ตายนี้ท่านแสดงไว้ว่ายากนักผู้ที่ตายจะได้รับ เหมือนกับงมเข็มอยู่ในก้นบ่อ แต่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ก็ชอบทำ นับว่าเป็นความดีของผู้นั้นอย่างยิ่ง ท่านเปรียบไว้ สมมติว่าบุญที่ทำลงไปนั้นแบ่งออกเป็น ๑๖ ส่วน แล้วเอาส่วนที่ ๑๖ นั้นมาแบ่งอีก ๑๖ ส่วน ผู้ตายไปจะได้รับเพียง ๑ ส่วนเท่านั้น ฟังดูแล้วน่าใจหาย
ทำบุญให้คนตาย!! บุญกุศลที่ส่งถึงญาติที่ล่วงลับ ใช่ว่าจะได้รับกันง่ายๆ ทุกคน ... หลวงปู่เทสก์เล่าให้ฟัง เปรตชนิดเดียวที่รับส่วนบุญได้

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ สิ่งใดควรจะทำให้รีบทำเสีย ตายแล้วเขาทำบุญไปให้ไม่ทราบว่าจะได้รับหรือไม่ ถึงแม้ได้รับก็น้อยเหลือเกิน เพราะคนตายไปแล้ว เขาเรียกว่าเปรต ไม่ได้เรียกว่า บิดา มารดา ป้า น้า อา ครูบาอาจารย์ อย่างเมื่อเป็นมนุษย์อยู่นี้หรอก ในบรรดาเปรตเหล่านั้น มี ๑๑ พวก มีจำพวกเดียวที่จะได้รับส่วนบุญที่คนยังมีชีวิตอยู่อุทิศไปให้ เรียกว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต เปรตจำพวกนี้ได้รับทุกข์ร้อนลำบากมาก เพราะในเปรตโลกนั้น ไม่มีการทำนาค้าขาย แม้แต่ขอทานก็ไม่มี

ฉะนั้นเปรตจำพวกนี้แหละ มนุษย์คนที่ยังเป็นอยู่อุทิศไปให้จึงจะได้รับ เปรตนอกนั้นแล้วไม่ได้รับเลย เช่น ตายไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้รับ นับประสาอะไร บางทีสามีภรรยานอนอยู่ด้วยกันแท้ๆ ฝ่ายหนึ่งทำบุญขอให้อีกฝ่ายหนึ่งอนุโมทนาด้วย ก็ไม่รับ พวกที่ไปเกิดเป็นดรัจฉานยิ่งไปกันใหญ่ ไปเกิดในนรกหมกไหม้ทุกขเวทนามาก ทำบุญอุทิศไปให้ก็ไม่รู้อะไร เพราะกำลังเสวยผลกรรมอันนั้นอยู่ หรือไปเกิดเป็นเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่งก็เหมือนกัน เขากำลังเสวยผลบุญของเขาอยู่ เขาจะมาเอากุศลผลบุญของเราได้อย่างไร

• หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี •




"ทำให้ถึงจิตใจ"

คิดดี...ปรารถนาดีที่จิต แต่ทำดีเพียงแค่กายวาจา
เท่านี้ไม่ถึงดวงจิตก็ใช้ไม่ได้
เหมือนคนไม่มีศีล ๕ แต่ไปให้ศีล ๕ คนอื่น
อย่างนี้ย่อมไม่มีอำนาจ ไม่ศักดิ์สิทธิ์
แนะนำคนอื่นให้ทำดีแต่ตัวเองไม่ทำดี
อย่างนี้คนถูกสอนก็อ่อนใจ หมดกำลัง
เราต้องบำเพ็ญจิตใจของเรา
ให้สงบระงับตามส่วนของข้อปฏิบัติ ในศีล สมาธิ ปัญญา
นายทหารสอนลูกน้องแต่ตัวเองไม่ทำตาม เรียกว่า ไม่ใช่นักรบ

ถ้าเราทำบุญแค่กาย วาจา วัตถุ แต่ไม่ทำถึงจิตใจ
ก็ย่อมจะเกิดท้อถอยศรัทธา
เหนื่อยใจเพราะไม่เห็นผลของบุญที่ทำไป

"พระอาจารย์ลี ธัมมธโร"
วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ




"เหมือนดวงอาทิตย์
มันจะหมุนเวียน มืดแล้วมืดอีก-สว่างแล้วสว่างอีก
เราก็เพียงแต่รู้เท่านั้น
มันก็ไม่มีทุกข์อะไร ...
สังขารที่มันปรุงเหมือนกัน
ไม่ว่าอดีต อนาคต ปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นของจริงคือไม่เที่ยง เราเพียงแต่รู้เท่านั้น ก็ไม่เดือดร้อน ถ้าหากเรารอบรู้ในกองสังขาร ก็จะถึงจุดพอดี ไม่หวั่นไหว ในสิ่งทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นธรรมดา "
___________
#สุวโจวาท
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ





"ในจิตใจของเราแต่ละคน
มันมีจุด หรือช่องที่จะทำ(ภาวนา)ให้จิตใจเราสงบได้อยู่ ถ้าเราทำถูกกับจริตนิสัย เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติ ต้องเป็นนักสังเกต ว่าเราทำแต่ละครั้ง มีผลต่างๆกัน บางครั้งจิตไม่สงบ บางครั้งจิตสงบ ก็เอาหลักอันนั้น เป็นหลักวิชา เป็นอุบายมาอบรมจิตของเราในกาลต่อไป"
_____________
#สุวโจวาท
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ




" การให้ด้วยความเต็มใจนั้น มีอานิสงส์มหาศาล ของที่ให้แม้จะน้อย แต่ให้ด้วยความเต็มใจก็มีอานิสงส์มากกว่าเงินจำนวนมาก แต่ให้เพราะอยากได้หน้า หรือให้แต่เสียดาย เราเหลือกินเหลือใช้ ก็ให้ไปเถอะ เลี้ยงคน ไม่ทำให้จนลงหรอก ทรัพย์สมบัติทั้งหมดเป็นของโลก ตายไปเอาไปไม่ได้ ความมีน้ำใจเป็นสิ่งสำคัญ เราอยากให้ใครดีกับเรา เราต้องดีกับเขาก่อน ทำอะไรด้วยความตั้งใจที่ดี ความบริสุทธิ์ใจ "
-:- โอวาทธรรม -:-
หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล
วัดอนาลโยทิพยาราม อ.เมือง จ.พะเยา




เพราะโลกทั้งปวงมีแต่เกิดขึ้นและแปรดับ และมีทุกข์ไม่ใช่ตัวตนดังที่ว่ามาแล้วนั้น จะได้สิ้นความสงสัยในปัญหาของเจ้าตัวที่เคยสร้างขึ้นจะแก้ไม่ยาก โลกคืออะไร วัตถุภายนอกคืออะไร ที่สร้างขึ้นด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลมก็ดี หรือความนึกคิดแห่งสุข ทุกข์ อุเบกขาก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนและดับไปเสมอกันทั้งนั้น เมื่อลูกไม้ของโลกมีเพียงเท่านี้แล้วนั้น เราก็ไม่มีหนทางจะไปสงสัยอะไรอีก มีแต่รู้ตามเป็นจริง ปฎิบัติตามเป็นจริงพ้นจากความสงสัยตามเป็นจริงเท่านั้น ความดีใจเสียใจในโลกทั้งปวงก็ห้ามเบรคลง ปัญญาก็เกิดขึ้นเหนือความหลงของตนไปซะ เรียกว่ารู้เท่าทุกข์รู้เท่าสังขารแล้ว จิตก็โอนไปเอนไปโน้มไปในพระนิพพาน คืนกลับความหลงของเจ้าตัวแบบเย็นๆ เท่านั้นเอง
ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย จงรู้ตามความเป็นจริงในสังขารทั้งปวง พร้อมกับลมออกเข้าในปัจจุบันยิ่งๆ ขึ้นไป หลุดพ้นจากความหลงในปัจจุบันตามเป็นจริงอยู่ทุกเมื่อเทอญ ปัญหาของธรรมแท้ไม่มาก ที่มันมากวนเวียนก็เพราะกิเลสของเราทรงอำนาจ เมื่อปัญญาทรงอำนาจแล้วความสงสัยของเราก็หายไปไม่ขบถคืนเลย จะว่ารู้แจ้งโลกก็ได้ จะว่ารู้แจ้งสังขารก็ได้ จะว่ารู้ทันความหลงของเจ้าตัวก็ได้

___________________

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร




การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอริยาบท ขณะเดินจงกรมนี้เราก็บริกรรมเหมือนกัน เหมือนเวลาเราเดินไปเดินมาธรรมดา ทางเดินจงกรมควรให้ยาวพอสมควร ประมาณ 20 เมตร แต่ถ้ามันไม่มีจริงๆก็เดินใกล้กว่านั้น เมื่อเดินไปสุดทางแล้ว ให้หยุดยืนอยู่ก่อน แล้วจึงค่อยๆหมุนตัวกลับมา แล้วก็ค่อยๆเดินกลับ
การเริ่มต้นเดินจงกรมนั้น ให้หยุดยืนกำหนดจิตอยู่ แล้วก็ให้ยกมือไหว้ก่อน แล้วจึงเริ่มเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมอย่าให้น้อยกว่า 15 นาทีหรือ 20 นาที ถ้าไปทำความเพียรอย่างอยู่ในวัดในป่า ควรจะเดินประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างน้อยที่สุด เดินได้มากเท่าไหร่มันก็ยิ่งดี ถึงชั่วโมงได้ก็ยิ่งดี เพื่อให้ร่างกายของเรานี้เปลี่ยนอริยาบท เวลาเราไปนั่งจะนั่งได้ทน

การเดินจงกรมมีอานิสงส์ดังนี้
1. สามารถทำให้เราเดินทางไกลได้
2. ช่วยย่อยอาหาร
3. ร่างกายแข็งแรง
4. ไม่ค่อยเป็นโรคภัยไข้เจ็บ
5. ทำให้จิตใจนิ่งสงบหนักแน่นดี

เวลาเดิน เราก็กำหนดไปดูลมไปนี่แหละ ไม่ให้จิตของเราไปไหน ให้มันอยู่กับตัวของเรา ก็ให้ทำเหมือนนั่งสมาธิ แต่ทว่าเดินจงกรมนี้ จิตของเรามันจะอยู่ที่เดิมไม่ได้ มันต้องลงมาสั่งให้ก้าวขา สั่งงานให้ก้าวขา มันจึงลงมาที่เท้า เดี๋ยวมันจะกลับขึ้นมาหาลมหายใจเข้าออก แต่อย่าให้มันออกไปจากร่างกายของเราก็พอ จะทำให้มันสงบแนบแน่นจริงๆ เหมือนอย่างนั่งสมาธินี้ไม่ได้ เพราะมันเคลื่อนไหวอยู่นั่นเอง

ถ้ามันมีปิติเกิดขึ้น ว่าตนเองนี้กำลังสร้างความเพียร ทำความเพียรอยู่ เพื่อทางพ้นทุกข์อยู่ เกิดมันนึกขึ้นมาอย่างนี้นะ มันจะเดินจงกรมเร็วขึ้น เร็วกว่าเดิมขึ้น แล้วก็จะเดินได้นาน ถ้ามันเดินตัวเบาสบายแล้ว มันจะเดินได้นานมาก มีความสุขกับความเบาด้วยเหมือนกัน จะมองเห็นว่าเรานี้ทำความเพียรอยู่เป็นคนไม่ประมาท ตรงนี้แหละมันจะมีปิติเกิดขึ้น จะเดินเร็ว เดินเร็วกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก

พอเดินจงกรมเสร็จ ให้เรานั่งพักอยู่เสียก่อน อย่าพึ่งไปนั่งทำสมาธิ นั่งพักผ่อนร่างกาย เมื่อพักผ่อนร่างกายแล้ว เราจึงเข้าไปนั่งสมาธิตามที่เราฝึกกัน ถ้าเราเดิน 30 นาทีเราควรนั่งทำสมาธิได้ชั่วโมงหนึ่ง ซึ่งเรายังถือว่าน้อยอยู่ แล้วก็ค่อยเพิ่มขึ้น ถ้าเราเดินจงกรม1 ชั่วโมง เกิดมานั่งสมาธิได้น้อยกว่านั้นถือว่าร่างกายของเราสู้ไม่ไหว เช่นเดินชั่วโมงหนึ่งเรานั่งได้ 40 นาที มันเพลียมันง่วง ถือว่าร่างกายของคนคนนั้นไม่สมบูรณ์ มันก็จะเป็นอย่างนั้น..

_________________

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป






"สมาธิมีประโยชน์กับจิตมาก สมาธิมีประโยชน์กับปัญญามาก สมาธิมีประโยชน์ต่อการกระทำ การพูด การคิดมาก สมาธิเป็นประโยชน์แก่วิปัสนาเพื่อความประพฤติมากเป็นต้น เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเป็นธรรมที่ควรปฏิบัติ พระผู้มีพระภาดเจ้าทรงแสดงไว้ว่า สะมาธิง ภิกขะเว ภาเวถะ สมาหิโต ยะถาภูตัง ประชานาติ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด เพราะเมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง เป็นต้นว่า เขาบอกว่าจิตสงบแล้ว สบายดี ถ้าเรายังไม่เคยสงบทางสมาธิ เราก็ไม่รู้ เมื่อได้ปฏิบัติสมาธิแล้วจะรู้ว่าจิตเป็นสมาธิ สงบแล้วรู้ตามความเป็นจริงที่ถูกต้อง"
_____________________

พระครูวิบูลธรรมกิจ (หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร) วัดปางกิ๊ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่






" ไม่ว่าไทยไม่ว่าฝรั่ง ก็เหมือนกันนั่นแหล่ะ ใจก็อันเดียวกัน ใจเหมือนกัน อาการ ๓๒ เหมือนกันผม เล็บ ขน ฟัน หนัง อันเดียวกันหมด แต่สมมุติมันต่างกันคนถือสมมุติ ตามก๊ก ตามเหล่า ถือมานะทิฎฐิของใครดี
เรื่องของใจ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรียกว่า ธรรมก็สมมุติเหมือนกัน เพราะโลกนี่มันเป็นโลกสมมุติ ขั่นเข้าถึงใจแล้ว ไม่มีฝรั่ง ไม่มีแขกไม่มีอะไรเป็นอันเดียวกันหมด ขอให้รู้เถิด รู้เรื่องใจ "

_____________________

หลวงปู่บุญมี ปริปุญโณ
ตอบกระทู้