Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ทวนกระแสน้ำ

ศุกร์ 01 ธ.ค. 2017 5:16 am

“ชีวิตนั้น สำคัญที่ปัจจุบัน
อย่าไปเพ้อฝันถึงอนาคต
อย่ารันทดถึงอดีต"
-:- หลวงปู่บุญกู้ อนุวฑฺฒโน -:-



“ก่อนจะใช้วาจาทิ่มแทงใคร
พึงตระหนักว่า คำต่อว่าด่าทอนั้น
มักประจานตัวตนของผู้ด่าทอ
มากกว่าผู้ถูกด่า”
-:- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล -:-



"ครูอาจารย์ดีๆ แม้จะมีอยู่มาก
แต่สำคัญที่ตัวแก ต้องปฏิบัติให้จริง
สอนตัวเองให้มาก นั่นแหละจึงจะดี"
-:- หลวงปู่ดู่ พรหมปญฺโญ -:-




"อย่าสำคัญว่า ตนเองเก่งกาจสามารถ
ฉลาดรู้กว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิด
ปิดตาทับถมตัวเอง จนไม่มีวันสร่างซา
เมื่อถึงเวลาจนตรอก อาจจนยิ่งกว่าสัตว์
ยังไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้
ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร"
-:- พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต -:-



"สร้างชีวิตให้มีค่า เวลาของเรา
จะมีประโยชน์ไม่ใช่น้อย
แม้เพียงวินาทีเดียว นาฬิกานั้น
มีเวลาเท่ากันหมด แต่อยู่ที่ท่านผู้ใด
จะใช้เวลาแม้วินาทีเดียว ให้มีประโยชน์
และคุ้มค่ากว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับปัญญา"
-:- หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม -:-



“…ผู้ปฏิบัติต้องสังเกตจริตนิสัยของตน จะเอาแต่ความสะดวกสบายเข้าไปว่าไปทำงานกับกิเลส ความสะดวกสบายเป็นเรื่องของกิเลส เราจะเอาความสะดวกสบายไปสู้กับกิเลสได้ยังไง นอกจากนอนจมเท่านั้น กิเลสมันชอบสบาย อยู่ไปกินไปวันหนึ่งๆ เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิงไป หิวโหยไปตลอดหาความอิ่มพอไม่ได้ แล้วก็ยังไม่เข็ดไม่หลาบ…”
.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๑๙)




การแก้นั้น แก้ใครก็สู้แก้ตนเองไม่ได้
ใครสุขใครทุกข์ก็สู้ตัวเองสุขตัวเองทุกข์ไม่ได้
จึงควรแก้ตัวเองก่อนผู้อื่น
ตำหนิติชมตนเองดีกว่าไปตำหนิติชมผู้อื่น
ปราชญ์ท่านเดินอย่างนี้ ท่านทำอย่างนี้
อย่าปีนเกลียวกับทางดำเนินของปราชญ์ท่าน
และอย่าหวั่นใจเวลาใคร ๆ ตำหนิติเตียนอาจารย์ของตน
ถ้าเรามีของจริงภายในใจต้องเปิดทางให้เขา
แต่อยู่ตามความจริงของเรา ไม่ขัดไม่แย้ง
ไม่หึงไม่หวง ไม่ขัดขวางใคร
นั่นคือธรรม นั่นคือผู้มีใจเป็นธรรม
.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ คำถาม คำตอบปัญหาธรรม






...ธรรมเป็นของเลอเลิศ...
..ธรรมะของพระพุทธองค์ ท่านถือว่าเป็นของเลอเลิศกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่เพียงแต่โลกมนุษย์ เทวโลก พรหมโลก ถึงหมื่นจักวาล ถือว่าเป็นของดิบของดี ที่จะมาบำรุงเลี้ยงจิตใจ และร่างกายของเราให้มีความสุข ปราศจากภัยเวรต่าง ๆ ปราศจากบาปกรรมต่าง ๆ ให้มีแต่ความสุข ความเจริญ เรียกว่า เป็นผู้มีกุศล มีความฉลาด..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..




“การมองกันอย่ามองในแง่ร้าย ให้มองในแง่เหตุผลเสมอ หากมีเหตุผลหรือความจำเป็นที่จะมองกันซึ่งเกี่ยวข้องกันในการอยู่ร่วมกัน ให้คิดเผื่อไว้เสมอ คือความเมตตา ความให้อภัยซึ่งกันและกัน นี้เป็นหลักของผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ควรมองในแง่ร้ายหมายโทษต่างๆ หากเห็นองค์ใดมีความผิดพลาดจากหลักธรรมหลักวินัย ก็ให้ตักเตือนซึ่งกันและกันด้วยความเป็นธรรมเสมอ ผู้รับฟังก็ฟังด้วยความเป็นธรรม และเพื่อจะแก้ไขดัดแปลงตนให้เป็นไปตามหลักความถูกต้องที่ท่านผู้นั้นตักเตือนสั่งสอน อันเป็นความถูกต้องทั้งสองฝ่าย
ผู้เตือนก็เตือนด้วยความเป็นธรรม ไม่ได้เตือนด้วยความยกโทษ ไม่ได้เตือนด้วยอารมณ์ความโกรธความแค้น ความดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน ผู้รับก็รับด้วยความเป็นธรรม เทิดทูนในคำตักเตือนของผู้อื่นที่มาชี้โทษ ซึ่งเป็นเหมือนกับมาชี้บอกขุมทรัพย์ให้ตนได้ดำเนิน”
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๒





ให้เชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาป ว่าเป็นของมีจริง
โดยมากคนมักไม่เชื่อศาสนา ศาสนาก็คือคำสอน
สอนให้คนละชั่ว ทำความดี เพื่อขจัดทุกข์ให้ประสบความสุข
ถ้าผลบุญผลบาปไม่มีจริงแล้ว
จะมีคนร่ำรวย มียศถาบรรดาศักดิ์
และมีคนทุกข์ยากกระจอกงอกง่อย ขี้ทูดกุดถังได้อย่างไร
ของมันเห็นๆกันอยู่ แต่ไม่รู้จักพิจารณาก็ย่อมไม่เข้าใจ
ให้เข้าใจว่าที่มีศาสนา ที่มีผู้สอนให้
ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ศรัทธา
ปฏิบัติตาม จะได้พ้นทุกข์พ้นยาก
แต่ถ้าไม่เชื่อก็แล้วแต่...
.
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร




บุรุษผู้หนึ่งหิวน้ำจัด เพราะเดินทางมาไกล มาขอกินน้ำ เจ้าของน้ำก็บอกว่า น้ำนี่จะกินก็ได้ สีมันก็ดี กลิ่นมันก็ดีรสมันก็ดี แต่ว่ากินเข้าไปแล้วมันเมานะ บอกให้รู้เสียก่อน เมาจนตาย หรือเจ็บเจียนตายนั่นแหละ แต่บุรุษผู้หิวน้ำก็ไม่ฟัง เพราะหิวมากเหมือนคนไข้หลังผ่าตัดที่ถูกหมอบังคับให้อดน้ำ ก็ร้องขอน้ำกิน
.
คนหิวในกามก็เหมือนกัน หิวในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ล้วนของเป็นพิษ พระพุทธเจ้าได้บอกไว้ว่า รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้น มันเป็นพิษเป็นบ่วง ก็ไม่ฟังกันเหมือนกับบุรุษหิวน้ำผู้นั้น ที่ไม่ยอมฟังคำเตือนเพราะความหิวกระหายมันมีมาก ถึงจะต้องทุกข์ยากลำบากเพียงใด ก็ขอให้ได้กินน้ำเถอะ เมื่อได้กินได้ดื่มแล้ว มันจะเมาจนตาย หรือเจียนตายก็ช่างมัน จับจอกน้ำได้ก็ดื่มเอาๆ เหมือนกับคนหิวในกามก็กินรูป กินเสียง กินกลิ่น กินรส กินโผฏฐัพพะ กินธรรมารมณ์ รู้สึกอร่อยมาก ก็กินเอาๆหยุดไม่ได้ กินจนตาย ตายคากาม
.
อย่างนี้ท่านเรียกว่าติดโลกียวิสัย ปัญญาโลกีย์ก็แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถึงปัญญาจะดีสักปานใดก็ยังเป็นปัญญาโลกีย์อยู่นั่นเอง สุขปานใดก็แค่สุขโลกีย์มันไม่สุขเหมือนโลกุตตระ คือมันไม่พ้นโลก
.
หลวงปู่ชา สุภัทโท
คัดจากหนังสือ โพธิญาณ - สองหน้าของสัจจธรรม





หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ เพชรเม็ดงามแห่งอันดามัน ทายาทธรรมในองค์ท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
*****************************
ปฏิปทาหลวงปู่เนตร จิรปุญโญ
วัดมหาธาตุแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
พื้นเพเดิมของหลวงปู่เนตร ท่านเป็นลูกชาวนา ความทุกข์ยากในหาอยู่หากินเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทำให้ท่านเกิดความคิดที่อยากจะออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นับว่าหลวงปู่ท่านเป็นบุคคลที่สมดั่งบาลีซึ่งกล่าวไว้ในมงคลสูตรว่า "ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา" อันมีความหมายว่า ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำไว้ชอบแล้วในกาลก่อน
ท่านเล่าว่า ขณะไถนาก็คิดพิจารณาอยู่เสมอว่า ชีวิตนี้ลำบากมีทุกข์มาก จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดอยากจะสละเพศฆารวาสออกบวชรื้อถอนภพชาติตัดวัฏฏสงสารอันไม่สุดสิ้น
ในที่สุดท่านก็ขออนุญาตบิดามารดาบวช ขณะนั้นหลวงปู่แต่งงานมีครอบครัวและมีลูกสาว ๒ คน เมื่อตั้งใจสละทางโลก ท่านก็มอบทรัพย์สมบัติที่มีอยู่แก่ภรรยาและลูกๆทั้งหมด จากนั้นก็ออกบวชตามที่ตั้งใจไว้อย่างมุ่งมั่น
หลวงปู่เนตรบวชในปี ๒๔๙๕ เมื่ออายุ ๒๗ ปี ณ อุทกุกเขปสีมา (สีมาน้ำ) ในคลองกระโสม (วัดสันติวราราม) ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา โดยมี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระอนุสาวาจารย์ จากนั้นท่านก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ตั้งแต่พรรษาที่ ๑-๓ โดยมีหลวงปู่เทสก์เป็นพระอาจารย์
ตลอดระยะเวลาในเพศพรรชิต หลวงปู่ท่านยึดธรรมวินัยของพระพุทธองค์เป็นวิหารธรรมอย่างเคร่งครัด อันจะเห็นได้จากข้อวัตรในปัจจุบันของท่าน ซึ่งจะปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระพุทธองค์และปฏิปทาของครูบาอาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอนมาอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่ข้อเดียว อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งหลายที่ได้ท่านเป็นครูบาอาจารย์
หลวงปู่ท่านเคยออกเที่ยววิเวกธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่พรหมมา ในจังหวัดภูเก็ต-พังงา-กระบี่ ถึง ๗ ปี ท่านเล่าว่าทุกแห่งที่ท่านเที่ยวรุกขมูลไปตามที่ต่างๆในสมัยนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกชัฎ
ท่านเคยเร่งทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์และทรมานกิเลสในใจด้วยการอดข้าวและอดนอนเป็นระยะเวลานานๆ เช่นเดียวกับสมณเพศผู้มุ่งตรงต่อมรรคผลอย่างไม่เคยยอมอ่อนข้อให้กับความยากลำบากใดๆทั้งปวง แต่ท่านพบว่ามันไม่ถูกกับจริตของตัวเองในการอดอาหารและอดนอน จึงเปลี่ยนมาเป็นการขบฉันให้น้อยลงและนอนแต่พอสมควร ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ส่งผลทำให้จิตใจของท่านเบาสบายและปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ากว่าเดิมมาก
ในอดีตหลวงปู่ท่านทำความเพียรอย่างต่อเองไม่เคยสนใจต่อวันเวลา ท่านเล่าว่า หลังจากฉันอาหารเสร็จ ทุกวันท่านจะเดินจงกรมตั้งแต่แปดโมงเช้าไปจนถึงตะวันตกดิน ความเด็ดเดี่ยวในการรื้อถอนภพชาติเช่นนี้ ท่านบอกว่า พอจะล้มตัวลงนอน แข้งขามันอ่อนล้าแสดงอาการถึงขนาดจัดที่นอนแทบจะไม่ทัน
หลังจากตัดสินใจออกจากเรือนมาแสวงหาทางพ้นทุกข์ หลวงปู่แทบจะไม่เคยกลับไปเยี่ยมครอบครัวเลย ท่านบอกว่า ชาวบ้านมักตำหนิพระว่า ออกจากบ้านแล้ว สละแล้ว จะกลับมาทำไม คงจะขนเงินกลับไปให้ที่บ้าน ท่านว่าถ้ากลับไปก็คงถูกชาวบ้านนินทาอย่างนี้แน่นอน ท่านจึงไม่เคยไปเยี่ยมบ้านเยี่ยมโยม เพราะเกรงจะถูกติฉินนินทาดังกล่าว ท่านจะกลับไปเมื่อญาติโยมเสียชีวิตเท่านั้น ท่านไม่เคยให้เงินทองแก่ญาติพี่น้องเลย ท่านบอกว่าญาติโยมเขาทำบุญถวายพระ เขาไม่ได้ให้โยม ถ้าเราเอาเงินทองไปให้ญาติพี่น้อง เขาก็ไม่เจริญรุ่งเรือง มีแต่จะพบความวิบัติตกต่ำ
หลวงปู่ท่านให้ความเมตตาต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือญาติโยม ท่านบอกว่า ท่านรู้ดีว่าญาติโยมคนไหนช่วยเหลือวัด ช่วยดูแลท่านและพระในวัด แต่ท่านก็ไม่เคยแสดงออกให้เห็นว่า ท่านสนิทสนมกับญาติโยมคนไหนเป็นพิเศษ เพราะเกรงว่าญาติโยมคนอื่นอาจจะเสียใจว่าท่านเลือกที่รักมักที่ชัง ท่านปฏิยัติกับทุกคนอย่างเป็นกลาง และทำตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด
ความมักน้อยสันโดษอยู่แบบตามมีตามได้อันเป็นวิถีของเพศบรรพชิตนั้น หลวงปู่ท่านปฏิบัติมาโดยตลอดการบวชของท่าน ท่านบอกว่า เรามีบาตรใบเดียว เที่ยวบิณฑบาตไปวันหนึ่งๆก็พอฉันแล้ว ท่านไม่อยากได้อะไรมากไปกว่านี้ ท่านบวชมาห้าสิบกว่าพรรษาไม่เคยสะสมปัจจัยเกิน ๒ หมื่นบาท ท่านมีปัจจัยเท่าไหร่ก็นำไปทำบุญหมด
ท่านเล่าว่า เวลามีกิจนิมนต์ไปสวดศพ ท่านไม่เคยคิดว่าอยากจะได้ปัจจัยจากเจ้าภาพ ท่านบอกว่า ท่านตั้งใจจะไปช่วยงานเขามากกว่าจะไปรับปัจจัย หลวงปู่ท่านปฏิบัติตนเป็นผู้ให้อยู่เสมอ ท่านไม่เคยประพฤติตนเป็นผู้รับ การประพฤติปฏิบัติเพื่อมุ่งต่อลาภยศสรรเสริญใดๆนั้น เป็นสิ่งที่หลวงปู่ไม่เคยให้ความเกี่ยวข้องผูกพัน ท่านบอกว่า ท่านอยู่อย่างนี้ ท่านมีความสุขแล้ว ท่านไม่อยากดัง ไม่อยากมีชื อเสียง ท่านบอกว่า "ถ้าผมอยากดัง อยากมีชื่อเสียง ผมและพระในวัดรับรองไม่มีที่อยู่แน่ ถ้าเป็นแบบนั้นผมและพระในวัดจะมีความสุขไหม ผมคิดว่าชื่อเสียงทำให้เราทุกข์ ผมชอบอยู่เงียบๆแบบนี้ ผมมีความสุขมากกว่า"
แม้ท่านจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่มานานปีแล้ว หลวงปู่ท่านก็คงปฏิบัติตนเช่นเดียวกับพระบวชใหม่ ท่านทำงานงานทุกอย่างในวัดแบบไม่ยึดตัวถือตน อีกทั้งยังเป็นคนที่ทำงานรวดเร็วว่องไวและช่วยเหลือตัวเองอยู่เสมอ ท่านเล่าว่า ต่อนท่านพรรษายี่สิบกว่าท่านยังหาบน้ำใช้เองอยู่เลย ท่านบอกว่า ท่านชอบทำอะไรด้วยตัวเองแบบนี้มากกว่า
ข้อวัตรปัจจุบันของหลวงปู่ ท่านมักชอบจะอยู่แบบสันโดษไม่คลุกคลีกับผู้ใดมาก และใช้เวลาเดินจงกรมอยู่เสมอ แม้ว่าสังขารจะไม่เอื้ออำนวยนัก ท่านก็ยังทำความเพียรต่อเนื่องครั้งละครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ท่านบอกว่าเดินนานๆไม่ไหวแล้ว ขามันอ่อน และนั่งภาวนานานก็ไม่สะดวกเช่นแต่ก่อน
ท่านเล่าว่า ทุกวันนี้เวลาท่านภาวนาแล้วจิตสงบ แต่พอออกจากสมาธิ ท่านล้มหงายศรีษะฟาดขอบเตียงเลย ท่านบอกว่าพิจารณาแล้วร่างกายคงจะรับไม่ไหว แต่ท่านก็ยังคงภาวนาในอิริยาบถสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน สลับกันไปตลอด ๒๔ ชั่วโมง ท่านบอกว่าท่านทำความเพียรครั้งละหลายชั่วโมงเหมือนในอดีตไม่ไหวแล้ว
ในฐานะความเป็นครูบาอาจารย์ หลวงปู่ท่านเป็นคนพูดน้อย ปฏิบัติมาก ท่านมักจะปฏิบัติให้ดูมากกว่าจะออกคำสั่งให้ทำ และมีความละเอียดละออในทุกเรื่อง
หลวงปู่เป็นครูบาอาจารย์ที่สมควรแก่การเคารพกราบไหว้ ท่านเป็นเนื้อนาบุญที่สมบูรณ์ยิ่ง ท่านปฏิบัติตามมรรคาที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้เป็นแบบอย่าง และดำเนินตามแนวทางที่พ่อแม่ครูอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นพระสุปฏิปันโนโดยแท้จริง
ปฏิปทาของหลวงปู่ที่ทำให้ซาบซึ้งและเคารพในตัวท่านเป็นอย่างยิ่งก็คือ ท่านเป็นผู้รักษาธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติโดยเคร่งครัด ความสมบูรณ์ในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ยากที่จะบรรยายออกมาเป็นตัวอักษร ต้องมาอยู่ใกล้ชิดกับท่านถึงจะประจักษ์ในสิ่งที่ได้บรรยายอย่างครบถ้วน




ดับที่จิต ดับขณะที่ใจของเรา หยั่งเข้าหาจิต ถึงเมื่อไหร่ดับทันที
ความรู้ก็ไม่ใช่ของตน รู้แล้วให้ปล่อยวาง
นิพพานแปลว่าดับไป ดับทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นอะไรก็ช่าง ถูกทั้งนั้น ผิดทั้งนั้น
ราคะยังชุ่มอยู่ ราคะเกิดขึ้น หาตัวราคะ ธรรมทั้งหลายเกิดที่จิต หาที่จิต ธรรมทั้งหลายเกิดที่จิต ดับที่จิต ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ดับที่เหตุ เหตุเกิดจากจิต
ธรรมที่เป็นฝ่ายไหนก็ตาม เกิดจากจิตทั้งนั้น จิตเป็นเหตุของการเกิดธรรมทั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมทั้งนั้น
ธรรม คือ ธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วดับไป
เพ่งเข้าหาจิต ดูเข้าหาจิต หยั่งเข้าหาจิต เข้าหาจุดที่ไฟมันเกิด ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ (เหตุคือจิต) ดับมันทันทีที่มันเกิดมา ธรรมทั้งหลายเกิดจากจิต หยั่งเข้าหาจิต หยั่งเข้าหาจิตขณะใด ธรรมนั้นจะเป็นส่วนใดก็ช่าง ธรรมนั้นดับทันที
ดับขณะที่ใจของเรา หยั่งเข้าหาจิต ถึงเมื่อไหร่ดับทันที
เป็นหลักที่ต้องยึดเป็นหลักการ อย่าไปลูบคลำ ลูบไปคลำไป ลูบอย่างนั้นลูบอย่างนี้ เหมือนกับเอาเชื้อไฟไปใส่มัน ดับไปดับไปตายซ้ำ
ดับไม่ถูกจุดเป็นอย่างนั้น ดับถูกจุด จุดที่ไฟจะดับก็คือสวิสต์ไฟ เพราะไฟมันจะเกิดเกิดตรงนั้น
* จิตของเราเป็นจุดที่เกิดของธรรมทั้งหลาย จิตของเราเป็นสถานที่ดับของธรรมทั้งหลาย *
ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ดับเพราะเหตุนั้นดับ พระศาสดาแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นดับ
* จิต ตัวนั้นแสดงเหตุเป็นตัวเหตุ เป็นมหาเหตุ *
หลวงปู่ แบน ธนากโร





"ทวนกระแสน้ำเป็นภาระหนัก"
"ดูจิต" ทวนกระแสน้ำเป็น "ภาระหนักตลอดกาล" ลามือลาเท้าจะต้องถูก "กระแสน้ำพัดสู่ที่ต่ำ" ทันที ต้อง "ตะเกียกตะกาย" ทุกอริยาบท ยืนเดินนอนนั่ง.
"ใจไม่สงบ" ก็เพียงแต่ใจไม่สงบ "ใจสงบ"ก็เพียงแต่ใจสงบเท่านั้น
"ต้องมีสติ" อยู่ในขณะนั้น "ยินดียินร้ายไม่ได้" อย่าไปเสวย "สักแต่ว่า"
ท่านสอนให้รู้ "ความไม่สงบ" อะไรเป็นเหตุ ความไม่รู้แจ้งในจิตของเรา ท่านหมายถึง "อวิชชา" คือ "ความไม่รู้ชัด"ใน "จิต" ของเจ้าของ
เมื่อ "ไม่รู้ชัดในจิต" อะไรเกิดขึ้นที่จิต มันยึดติดทั้งนั้น "อุปาทาน" ยึดทั้งนั้น ยึดสิ่งที่เกิดขึ้น ๆ ๆ ๆ
ถ้าหาก "เห็นชัดในจิต" แล้ว อะไรเกิดขึ้นในจิต ก็ "สักแต่ว่า" ของเกิดมาดับ ก็มันเห็นชัดๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วดับไป
แล้วเราจะไป "ยึดสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรา" ได้อย่างไร ?
หลวงปู่ แบน ธนากโร
ตอบกระทู้