"พอเห็นคนเขานั่งรถเก๋งคันงาม.. สาธุ ท่านมีบุญ ท่านจึงมีรถเก๋งงามๆ นั่ง เห็นเขามีบ้านสวย.. สาธุ ท่านมีบุญ ท่านจึงมีบ้านสวย ๆ อยู่ เห็นเขาร่ำรวย.. สาธุ ท่านมีบุญ ท่านจึงร่ำรวย ถ้าเขารวยเพราะโกงมา จะยังสาธุอยู่ไหม? ก็สาธุซิ เขามีบุญ เขาจึงโกงแล้วรวย เราโกงทีเดียว ติดตารางจ้อย นี่.. ที่จริงเขารวย เพราะบุญเก่าของเขา" -:- หลวงพ่อพุธ ฐานิโย -:-
"เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ ธรรมะเป็นได้แค่ คำพูด ที่น่าสนใจ พอกิเลสเกิด เราก็ทนต่อกิเลสไม่ได้ ปัญญาความรู้เรา หายไปไหน?" -:- พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ -:-
กลางคืนวันหนึ่ง หลังงานฉลองกึ่งพุทธกาลจบลง ณ กุฏีปุณณสถาน ที่วัดอโศการาม ท่านพ่อลียังร่างกายแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า ท่านได้ปรารภกับพระอาจารย์แดง ธมฺมรกฺขิโต ซึ่งเป็นพระลูกศิษย์ เรื่องอายุขัยคือการสิ้นสุดแห่งชีวิตว่า “ท่านแดง อายุ ๕๕ ปี ผมต้องตาย ชีวิตถึงคราวสิ้นสุด ให้ท่านอยู่ช่วยดูแลหมู่คณะที่วัดอโศฯ เมื่อผมตายไปแล้ว ขอให้ท่านเป็นที่พึ่งพาอาศัยของหมู่เพื่อน” การกล่าวในครั้งนี้ ท่านกล่าวก่อนมรณภาพเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านพ่อลีได้ไปนอนป่วยอยู่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า ธนบุรี ท่านเรียกพระอาจารย์แดงมาหาแล้วกล่าวย้ำว่า “เราอายุ ๕๕ จะลาตายแล้ว” “ตายยังไงครับ...ท่านพ่อ” “ก็ตายขาดลมหายใจ นะสิถามได้ ก็เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือ” “ผมลืมไปแล้ว แต่เมื่อท่านพ่อทักขึ้นผมก็จำได้ ทำไมท่านพ่อจะต้องตายด้วย ไม่ตายไม่ได้หรือ?” “เราได้รับนิมนต์เขาแล้ว เสียดายที่จะอยู่ต่อไปอีกไม่ได้นาน เกิดมาได้มีโอกาสช่วยพระศาสนาน้อยเหลือเกิน คิดแล้วก็ยังไม่อยากตายเลย เพราะเห็นแก่ประโยชน์คนอื่น ส่วนเราเองไม่สู้มีปัญหาในการเกิดการตาย” “รับนิมนต์ใคร” “รับนิมนต์เทวดา เขาอาราธนา” “เขาอาราธนาไปทำไม” “เขาอาราธนาไปสอนมนต์ให้” “ไปสอนมนต์อะไรครับ ช่วยสอนให้ผมด้วย” “มนต์ก็ไม่มีอะไรมาก พรหมวิหาร ๔ ของเรานี้แหละ แต่คนอื่นสอนมันไม่ขลัง ต้องให้เราสอนมันถึงขลัง เขาบอกอย่างนี้” “ผมขออาราธนาท่านพ่อไว้ อย่าเพิ่งตายเลย” “เราได้ตกลงรับอาราธนาเขาแล้ว อยู่ไมได้” “ท่านพ่อครับ ไม่มีวิธีอื่นบ้างเลยหรือ ที่จะสามารถต่ออายุไปได้อีก” ท่านพ่อลีเล่าถึงรอยต่อแห่งชีวิตอันมีความเป็นความตายเป็นเครื่องเดิมพันว่า.. “วิธีนั้นมี แต่เรื่องมันผ่านเป็นอดีตไปแล้ว เราจะหวนกลับมาเป็นอย่างเดิมไม่ได้ หลักธรรมหลักความจริงท่านใช้ปัจจุบันเป็นเครื่องตัดสิน พวกเธอจำได้ไหม? ในสมัยประชุมคณะกรรมการจะสร้างเจดีย์ และโบสถ์ เราปรารภให้สร้างพระเจดีย์เสียก่อน แต่ไม่มีลูกศิษย์คนใดกล้ารับงานนี้ บางคนเขาคิดเอาเองว่า ถ้าสร้างเสร็จแล้วเราจะหนีเข้าป่าบ้าง ตายบ้าง (เพราะท่านไม่ได้บอกพวกเขาถึงเหตุว่าการสร้างพระเจดีย์จะต่ออายุท่านได้) กรรมการที่ประชุมมีความเห็นว่า สร้างโบสถ์ก่อน ก็เป็นอันตกลง ซึ่งเขาไม่รู้จักจุดลึกในชีวิตของเรา การที่จะมาแก้ในสิ่งที่ล่วงเลยมา มันก็สายเสียแล้วแล้ว” ท่านพ่อลีกล่าวย้ำว่า “...ก็พวกเธอเกาไม่ตรงที่คัน ต่อให้มีโบสถ์ตั้ง ๒๐ หลัง ก็ไม่เท่ากับสร้างพระเจดีย์เพียงหนึ่งองค์...ท่านเอ๊ย!” เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมดหวังในชีวิตของท่านพ่ออีกต่อไป พระอาจารย์แดงจึงเรียนท่านว่า “เมื่อตายไปแล้ว ก็ขอให้ท่านพ่อมาช่วยเหลือวัดอโศการาม” ท่านพ่อลีก็หัวเราะ ฮึๆ ตอบวา “เราก็เป็นห่วงเหมือนกันคิดว่าจะคายอะไรไว้ให้เขากินกัน แต่ชีวิตก็จวนเสียแล้ว ก็ให้พวกยังอยู่หากินกันไป ถ้าไม่มีปัญญาก็ช่างมัน” และได้เรียนถามท่านอีกว่า “ท่านพ่อมีคาถาอะไรดีๆ ก็สอนให้ผมด้วย” ท่านพ่อลีตอบว่า “คาถานั้นมีอยู่ แต่สู้ใจเราไม่ได้ ให้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรให้สำเร็จคุณธรรม เมื่อเราทำความเพียรอย่างสูงสุด เสียสละชีวิตแล้ว จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีของแต่ละคน” ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ วัดอโศการาม ในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. สิริอายุรวมได้ ๕๕ ปี พรรษา ๓๓ หลังจากมรณภาพ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) มีพระบัญชาให้เก็บศพท่านไว้ยังไม่ถวายเพลิง เอาอย่างพระมหากัสสปะเถระ ที่ในวันหนึ่งในอนาคตกาลจะมีพระศรีอริยเมตไตรย มาเผาศพพระมหากัสสปะอย่างสมศักดิ์ศรี “ผู้มีบุญกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่านในวันข้างหน้า จะได้มาถวายเพลิงสรีระร่างของท่านอย่างสมศักดิ์ศรีที่เป็นอัศวินนักรบธรรมกรรมฐานผู้มีพลังจิตแก่กล้า สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”
" เมตตา ความมีจิตเย็นสนิทด้วยความปรารถนาสุขแก่ผู้อื่นสัตว์อื่น เป็นความรักที่เย็นสนิทไม่ใช่ร้อนรน เหมือนอย่างมารดาบิดารักบุตรธิดาถ้าได้อบรมเมตตาให้มีประจำจิตใจ ก็จะเป็นอาหารใจที่วิเศษ เพราะเมื่อใจได้บริโภคเมตตาอยู่เสมอ จะเป็นจิตใจที่ระงับโทสะพยาบาท มีความสุขเย็นทำให้ร่างกายมีความสุขเย็นไปด้วย ได้ในคำว่า ทำใจให้สบาย ร่างกายก็สบาย แม้จะขาดวัตถุไปมากหรือน้อย ก็ไม่เป็นทุกข์ " . ---พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อเราสร้างสติปัญญาของเรา ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา แล้วสติปัญญานี้ จะมากำจัดเสีย ซึ่งกระแสแห่งความอยาก คือ ตัณหา และความมืดบอด ที่ปิดบังสติปัญญาของเราไว้ มิให้เห็นซึ่งมรรคผลนิพพาน ให้มันสว่างไสวขึ้นในจิตใจของเรา ต่อไปเราก็จะได้อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยการที่เราได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน. พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)
|