Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อุบายเพื่อความเพียร

อังคาร 19 ธ.ค. 2017 10:19 am

“คนที่จดจำความไม่ดีของคนอื่น
เอาไว้เยอะๆ มักหาความสุข ไม่ค่อยได้”
-:- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล -:-




"สักวันหนึ่ง ความตายจะมาถึงเรา
มาบีบบังคับให้เรา ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง
ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้า
ให้มันเคย ไม่อย่างนั้น พอถือเวลาไป
จะลำบากนะ จะบอกให้"
-:- ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก -:-




"เปลี่ยนจาก เคยเมาข้ามปี
มาสวดมนต์ข้ามปี ทำดีตลอดทั้งปี
แล้วเราก็จะมีพร โดยไม่ต้องไปขอพร
จากใครเลย"
-:- พระอาจารย์พยอม กัลยาโณ -:-



โยมแม่ท่านไม่ชอบกิริยาของพระลูกชาย บางทีโยมแม่ท่าน ก็พูดว่า
“เรียบร้อยหน่อยซิลูก คนเขาจะว่าเอา เราบวชมาแล้ว แม่อายเขา คำว่า ไอ้ควาย... เย็ดแม่งมึง... ไอ้ห่า... ไอ้เหี้ย... ไม่พูดไม่ได้เหรอ...ลูก ยิ่งเวลาอาจารย์ถวิลมาหา ยิ่งพูดจนญาติโยมเขาหนีกันหมด แม่ก็รู้อยู่ว่าเป็นคนคอเดียวกัน พวกเดียวกัน บ้านเกิดเดียวกัน แต่แม่กลัวคนเขาจะว่าเอา แม่รู้อยู่ว่ากิริยาท่าทางเป็นอย่างงี้ แต่จิตใจดี ทำกายวาจาให้ดีด้วยไม่ได้หรือ...ลูก?”
โยมแม่ท่านพูดอย่างนั้น ท่านก็นิ่งไปพักหนึ่ง ท่านก็พูดว่า
“โยมแม่ นิสัยนี้มันติดมาตั้งแต่ยังไม่เกิดโน่น มิใช่มันเพิ่งจะอุตริมาเป็นเอาตอนเกิดแล้ว จะให้แก้ยังไง ก็มันเป็นมาก่อนเกิด ถ้ามันเป็นหลังเกิด ก็พอแก้ได้อยู่ แต่นิสัยนี้มันติดมาในขันธสันดานเสียแล้ว แก้ไม่ได้หรอก”
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท




ให้เอาอย่างพระพุทธเจ้า
ที่ท่านฝึกตนเองมา ๖ ปีโน่น
ถึงได้ตรัสรู้ ท่านเปลี่ยนอยู่อย่างนั้น
พระพุทธองค์ท่านแค่บอกทางเท่านั้น
แต่ตรงที่เราจะเดิน เราต้องทำเอาเอง
ถ้าจะให้ครูบาอาจารย์ท่านทำให้น่ะ
โอ๊ย...ไม่มีล่ะ มีแต่เราทำเอาเองนะ
ผมว่าหากจะทำเอาจริงๆมันก็ต้องได้แน่ล่ะ
ยากแสนยากแค่ไหนมันก็ไม่พ้นความพยายามไปได้
เปรียบเหมือนเช่นภูเขานี่ สูงแสนสูงยังไง
มันก็อยู่ใต้ฝ่าเท้าของผู้ที่ขึ้นไปเหยียบมันนั่นล่ะ
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
เทศน์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๙




เราหวังพระนิพพานด้วยความเพียรเท่าฝ่ามือ!
ลองคิดดูสิ กิเลสเท่ามหาสมุทรแต่ความเพียรเท่าฝ่ามือ
มันห่างไกลกันขนาดไหน คนสมัยนี้
เพียงใช้ฝ่ามือแตะมหาสมุทร ทำความเพียรเพียงเล็กน้อย
แต่หมายมั่นปั้นมือว่าจะข้ามโลกสงสาร
.
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต




“หนังตัวอย่าง"
ถ้ายังไม่เห็นว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ก็จะปล่อยรสอื่นไม่ได้ ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้ ปล่อยลาภยศสรรเสริญไม่ได้ แต่ถ้าได้สัมผัสกับรสแห่งธรรม ที่เกิดจากความสงบเพียงครั้งเดียวแล้ว รับรองได้ว่าจะสละได้ จะมุ่งไปที่รสแห่งธรรมเพียงอย่างเดียว
ขอให้พวกเราพยายามภาวนาทำจิตให้สงบให้ได้ ให้รวมให้ได้ ให้ได้เห็นหนังตัวอย่าง ถ้าเห็นหนังตัวอย่างของพระนิพพานแล้ว รับรองได้ว่าจะไม่อยากได้อะไร จะอยากได้พระนิพพานเพียงอย่างเดียว พยายามศึกษาให้มาก ภาวนาให้มาก เจริญสติให้มาก รักษาศีลทำบุญให้ทานให้มาก แล้วสักวันหนึ่งภายในชาตินี้จะได้พบกับความสุขนี้ เพราะมีผู้ที่ได้พบมาแล้วเป็นจำนวนมาก ที่เรากราบไหว้บูชาเป็นสังฆรัตนะ
ก่อนหน้านั้นท่านก็เป็นเหมือนพวกเรา ยังหลงติดอยู่กับรสของรูปเสียงกลิ่นรส รสของลาภยศสรรเสริญ แต่พอได้สัมผัสกับรสของพระธรรม ได้เห็นหนังตัวอย่าง ก็ติดใจ เกิดฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เกิดอิทธิบาท ๔ ขึ้นมา ถ้ามีอิทธิบาท ๔ แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
นี่คือทางที่พวกเราจะต้องไปกัน พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์ไม่สามารถเดินแทนพวกเราได้ ได้แต่คอยบอกคอยเตือน คอยลากคอยจูง ด้วยการพร่ำสอนเท่านั้น ถ้าพวกเราไม่ทำก็จะไปไม่ถึง ขอให้พวกเราเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขที่แท้จริง และการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้อย่างแน่นอน.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




“เชือกมัดจิต”
ถาม : กระผมยังนั่งสมาธิยังไม่เป็นครับ ก็คือนั่งแล้วมันก็กระดุกกระดิกยุกยิกไปเรื่อยๆ ก็เลยไม่รู้ว่าการกระดุกนี้ มันเป็นข้อห้ามในการนั่งสมาธิหรือเปล่า
พระอาจารย์ : ก็เราเอาเชือกที่จะไปมัดจิตมันไม่มีกำลัง หรือมัดไม่แน่น อย่างในเวลาเราไปจับสัตว์แล้วเราต้องการให้มันนิ่งเราก็ต้องมัดให้มันแน่น หรือเชือกที่เรามัดนี่มันต้องแข็งแรง ไม่ใช่พอมันดิ้นปั๊บมันก็จะขาด มันก็จะดิ้นได้ เราต้องมีเชือกมัดจิตเรา เชือกที่จะมัดจิตเราเรียกว่า สติ ถ้าเราไม่ฝึกสติเวลานั่งมันก็จะดุ๊กดิ๊กดุ๊กดิ๊ก ฉะนั้นต้องฝึก ต้องมีสติก่อนที่จะมานั่ง ต้องมีเชือกก่อนที่จะมาจับลิงได้ ถ้าไม่มีเชือกจับลิงไม่ได้ จับลิงให้มันนั่งนิ่งๆ เฉยๆ ไม่ได้ ฉะนั้นต้องฝึกสติให้มาก วิธีฝึกสติก็คือให้ใจเราอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือถ้าไม่บริกรรมก็ดูร่างกายเราไปเรื่อยๆ เฝ้าดูว่าตอนนี้ร่างกายเรากำลังทำอะไรอยู่ เวลาทำก็อย่าไปคิดเรื่องอื่น อยู่กับเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ กำลังเดินก็อยู่กับการ
เดิน กำลังอาบน้ำก็อยู่กับการอาบน้ำ แปรงฟัน ล้างหน้า แต่งตัว รับประทานอาหารก็ให้อยู่กับงานที่ร่างกายกำลังทำอยู่ อย่าไปคิดถึงที่ใกล้ที่ไกล อย่าไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ ถ้าคิดก็แสดงว่าไม่มีสติ เวลานั่งจิตมันก็จะไม่นิ่ง.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐
อาจารย์สุชาติ อภิชาโต




"ตัวอย่างของผู้ที่มีสมาธิแล้ว"
ผู้ที่มีสมาธิแล้ว พอได้ปัญญา พอได้ฟังอริยะสัจ ๔ พอได้รู้ว่าทุกข์เกิดจากความอยาก อยากในสิ่งที่ไม่เที่ยง ให้มันเที่ยง
อยากในสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา ให้เป็นของเรานั้น พอเห็นแล้วก็พิจารณาตามความเป็นจริง ก็เห็นว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ก็ไม่เที่ยง จะให้มันเที่ยงได้อย่างไร สิ่งที่มันไม่ใช่ของเรา จะให้มันเป็นของเราได้อย่างไร พอเห็นความจริงอันนี้ก็เลยหยุดความอยากได้ หยุดความอยากเพราะมีสมาธิ มีอุเบกขา มีสติที่จะหยุดความอยากนั่นเอง ก็เลยสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ ที่เกิดจากความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย อยากไม่พลัดพรากจากกันได้ เพราะสิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมีการเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา มีร่างกายแล้ว ก็ย่อมมีการแก่ มีการเจ็บ
มีการตายไปเป็นธรรมดา มีสมบัติข้าวของเงินทองแล้ว ก็ต้องมีวันสิ้นสุดลงไปเป็นธรรมดา ต้องมีการพลัดพราดจากกันไปเป็นธรรมดา พอเห็นความจริงอันนี้ ก็เลยรู้ว่าอยากไปก็ทุกข์ไปเปล่าๆ อยากไปทำไม อยากไปก็ไม่สามารถทำสิ่งที่ไม่เที่ยง มันเที่ยงได้ อยากไปแล้วก็ไม่สามารถทำให้สิ่งที่ไม่ใช่เป็นของเรา
เป็นของเราได้ ก็เลยหยุดความอยาก ความทุกข์ก็เลยหมดไปในใจ ความทุกข์ที่เกี่ยวกับร่างกาย ความทุกข์ที่เกี่ยวกับข้าวของเงินทอง เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆ ก็จะหมดไปทันที.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




"อุบายเพื่อความเพียร"
ถาม : กราบเรียนขออุบาย
ให้มีความเพียรในการปฏิบัติ
เพื่อมิให้ย่อหย่อนและท้อถอยก่อนที่เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติเจ้าคะ
พระอาจารย์ : หนึ่ง เราควรคิดว่าเวลา
ของการปฏิบัติของเรานี้จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะวันเวลามันก็จะผ่านไปทุกวันๆ ไม่หยุดไม่ยั้ง แล้วชีวิตของเราก็จะเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ เราควรที่จะรีบทำงานต่างๆ เสียก่อนที่เวลาของเราจะหมด อันนี้อันหนึ่ง แล้วคิดถึงคุณประโยชน์ของการได้รับจากการปฏิบัติว่า เราจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ ที่มันกดดันจิตใจสร้างความทุกข์สร้างความทรมานให้กับเรามาอย่างต่อเนื่องนี้ ถ้าเราหมั่นเพียรปฏิบัติไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งในเวลาอันไม่ช้านี้ เราก็จะได้หลุดพ้นจากความทุกข์กัน นึกถึงคำสอนคำรับประกันของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าเพียรปฏิบัติอย่างเต็มที่นี้ ไม่เกินเจ็ดปี
ถ้าไม่เจ็ดปีก็เจ็ดเดือน ไม่เจ็ดเดือนก็เจ็ดวัน ถ้ามีความเพียรแล้วจะสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ภายในภพนี้ชาตินี้เลย.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ตอบกระทู้