"มีเมตตาต่อเขาผู้เป็นทุกข์ นั้นดีนัก แต่อย่าลืมเมตตาตน ตนเองปล่อยให้ใจตัวเองเป็นทุกข์ เพราะเมตตาเขา ไม่มีอำนาจใด จะไปสู้กับอำนาจกรรม ของใครได้ เมื่อเชื่อในเรื่องอำนาจกรรม เช่นนี้ ใจที่มีเมตตา ก็จะเป็นการมีเมตตา อย่างถูกต้อง อย่างมีปัญญา ไม่พาใจตนเอง ไปสู่ความเร่าร้อน ด้วยความเมตตา ที่ไม่ถูกต้อง" -:- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ -:-
"คนมั่งมีศรีสุข เงินทองข้าวของ กองเป็นล้านๆ เท่าภูเขา แต่ไม่มีศีลธรรม ภายในใจเลย คนนี้ สู้คนจนๆ แต่มีธรรมในใจไม่ได้" -:- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน -:-
“ของที่ถวายให้กับพระ” ถาม : ที่ผมพยายามจะใส่บาตร แต่ที่คอนโดมีข้อห้ามไม่ให้ทำกับข้าวในห้อง ของที่ใส่บาตรส่วนใหญ่ก็เป็นของแห้ง เช่น หมูหยอง นมกล่อง อานิสงค์นี้จะต่างจากการใส่กับข้าวหรือไม่ครับ ถ้ามูลค่าของเท่าๆ กัน พระอาจารย์ : อ๋อไม่ต่างหรอก ถ้าของถวายแล้วพระฉันได้ในวันนั้น ถ้าจะใส่บาตรน่ะ ถ้าของถวายแล้วพระฉันไม่ได้ เช่น เนื้อดิบหรือว่าผักดิบ ยังไม่ได้มีการผสมมีการปรุงมีการกระทำให้เป็นอาหาร พระเอาไปฉันไม่ได้มันก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่บุญก็ยังได้อยู่ เพียงแต่ว่าพระท่านก็รับกรรมไปเท่านั้นเอง ได้ของแต่ของเอาไปกินไม่ได้ อย่างหลวงปู่มั่นท่านเคยเล่าให้ฟังว่าท่านบิณฑบาตกับชาวเขา แล้วชาวเขาบางทีเขาทำปลาร้าดิบใส่บาตร ทีนี้อาหารของพระต้องเป็นอาหารที่สุขแล้ว ปลาร้าดิบนี้ก็ถือว่ายังไม่สุก ต้องสุกด้วยไฟ แต่ท่านก็ไม่บอกเขาเพราะว่าเป็นพระบอกไม่ได้ ท่านก็เลยกินข้าวเปล่าไป ฉันข้าวเปล่าไป เพราะว่ามันเป็นของดิบ ของดิบฉันไม่ได้ หรือของเมาอย่างพวกข้าวเมาข้าวอะไรนะข้าวหมากก็ไม่ได้ มันก็เป็นมันมีสุราล่ะ เขาหมักแล้วมันกลายเป็นสุราขึ้นมา ถวายพระพระก็ฉันไม่ได้ หรืออาหารที่ไม่สุกเต็มที่ ไข่ดาวที่เป็นเหลวๆ อยู่ยังไม่แข็งนี้ก็ไม่ได้ เนื้อที่ยังมีเลือดซิบๆ อยู่นี้ก็ยังถือว่าเป็นของดิบอยู่ ฉะนั้นจะทำของที่ถวายให้กับพระนี้ต้องเป็นของสุกแล้ว พระถึงจะฉันได้ พระรับได้แต่บอกโยมไม่ได้เท่านั้นเอง บอกได้ก็ต่อเมื่อมีคนถามอย่างนี้ถึงจะบอกได้ ถ้าไม่ถามก็บอกไม่ได้เดี๋ยวหาว่าจู้จี้จุกจิก อยากจะกินนู่นกินนี่เดี๋ยวไปใส่ให้มัน (หัวเราะ). ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๑ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดนี้เราไม่ปฏิบัติตามความรู้ ความเห็น ความต้องการ ของคน แต่เราปฏิบัติเพื่อหลักธรรมวินัย หลักศาสนาเป็นส่วนใหญ่ . เพื่อประชาชนทั้งแผ่นดิน ซึ่งอาศัยศาสนาอันเป็นหลักปกครองที่ถูกต้องดีงามที่เนื่องมาจากการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยดีของพระเณร ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาของประชาชนชาวพุทธ . เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สนใจที่จะปฏิบัติต่อผู้ใดเพราะความเกรงใจเป็นใหญ่ ให้นอกเหนือจากธรรม จากวินัย อันเป็นหลักศาสนาไป หากใจเกิดโอนเอนไปตามความรู้ ความเห็น ของผู้หนึ่งผู้ใด หรือของคนหมู่มากซึ่งหาประมาณไม่ได้แล้ว . วัดและศาสนา ก็จะหาประมาณหรือหลักเกณฑ์ไม่ได้ . วัดที่เอนเอียงไปตามโลกโดยไม่มีเหตุผลเป็นเครื่องยืนยันรับรอง ก็จะหาเขตแดนหาประมาณไม่ได้ และจะกลายเป็นวัดไม่มีเขต ไม่มีแดน ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีเนื้อหนังแห่งศาสนาติดอยู่บ้างเลย . ผู้หาของดีมีคุณค่าไว้เทิดทูนสักการะก็คือคนฉลาด จะหาของดีเนื้อแท้ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ ก็จะหาไม่ได้เลย . เพราะมีแต่สิ่งจอมปลอม เหลวไหล เต็มวัดเต็มวา เต็มพระเต็มเถรเณรชีเต็มไปหมดทุกแห่งทุกหน ตำบลหมู่บ้าน ไม่ว่าวัดไม่ว่าบ้านไม่ว่าทางโลกทางธรรม คละเคล้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความจอมปลอมหลอกลวงหาสาระสำคัญไม่ได้ . ด้วยเหตุนี้ จึงต้องแยกแยะออกเป็นสัดเป็นส่วน ว่าศาสนาธรรมกับโลกแม้อยู่ด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน . พระ เณร วัดวา อาวาสศาสนา ตั้งอยู่ในบ้าน ตั้งอยู่นอกบ้าน หรือตั้งอยู่ในป่าก็ไม่เหมือนบ้าน คนมาเกี่ยวข้องก็ไม่เหมือนกัน ต้องเป็นวัด เป็นพระ เป็นธรรมวินัย อันเป็นตัวของตัวอยู่เสมอ ไม่เป็นน้อย ไม่ขึ้นกับผู้ใดสิ่งใด . หลักนี้จึงเป็นหลักสำคัญที่จะสามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจของคนที่มีความเฉลียวฉลาด หาหลักความจริงไว้เป็นที่สักการบูชา หรือเป็นขวัญใจได้ . เราคิดในแง่นี้มากกว่าแง่อื่นๆ . พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน
"..ธรรมะไม่ต้องไปหา ที่ป่า ที่เขา ไม่ต้องไปหาที่ไหน ให้หาที่ใจเจ้าของ..." หลวงปู่แบน ธนากโร
ทุกคนผ่านชีวิตในอดีตชาติมาแล้วเป็นอันมาก นับภพชาติไม่ถ้วน มีความคุ้นเคยกับเรื่องราวกับอารมณ์ต่าง ๆ มาแล้วมากมาย คุ้นเคยกับเรื่องราวหรืออารมณ์ใดมาก ใจยึดมั่นผูกพันข้องติดอยู่กับเรื่องใดอารมณ์ใดมากมาแต่อดีต . ผลของความยึดมั่นถือมั่นผูกพันนั้นจะนำมาสู่ภพปัจจุบัน ดูภพชาติของตนในปัจจุบัน ก็พอจะเข้าใจว่า อดีตนั้นตนผูกพันกับเรื่องใดอารมณ์ใดมามาก ดีหรือว่าไม่ดี . ผู้ที่มีใจผูกผันอยู่กับการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทำทานการกุศลมามากในอดีตชาติ ก็จะรู้ได้จากปัจจุบันชาติ คือปัจจุบันชาติจะสมบูรณ์พูนสุขด้วยทรัพย์สินเงินทอง . ผู้ที่มีใจผูกพันกับการเอื้ออาทรดูแลรักษาให้ข้าวปลาอาหาร ยารักษาไข้ และเงินทองเพื่อผู้เจ็บไข้ได้ป่วยมามากในอดีตชาติ ไม่เบียดเบียนชีวิตร่างกายผู้อื่นสัตว์อื่น ก็จะรู้ได้จากปัจจุบันชาติ คือปัจจุบันชาติจะสมบูรณ์แข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีพลานามัยดีอันนับเป็นลาภอย่างยิ่ง . ผู้ที่มีใจผูกพันอยู่กับการระวังรักษากายวาจาใจของตนให้สุภาพอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมยกย่อง ไม่ล่วงเกิดดูหมิ่น ผูกพันเช่นนี้มามากในอดีตชาติ . ก็จะรู้ได้จากปัจจุบันชาติ คือปัจจุบันชาติจะเป็นผู้อยู่ในตระกูลสูง อันผู้อยู่ในตระกูลสูงย่อมเป็นผุ้ได้รับความอ่อนน้อมยกย่อง ไม่ถูกล่วงเกินดูหมิ่นเป็นไปเช่นเดียวกับที่ตนเองได้ปฏิบัติไว้ต่อผู้อื่นเป็นอันมากในอดีตชาติ . ผู้ที่มีใจผูกพันอยู่กับการช่วยประคับประคอง รักษาชีวิตผู้อื่นสัตว์อื่นมามากในอดีตชาติ ไม่เบียดเบียนตัดรอนทำลายชีวิตอื่น ก็จะรู้ได้จากปัจจุบันชาติ คือปัจจุบันชาติจะเป็นผู้มีอายุยืน ไม่ถูกตัดรอนเบียดเบียนทำลายด้วยเหตุใดทั้งสิ้น ไม่ให้ต้องเป็นผู้มีชีวิตน้อยชีวิตสั้น . ผู้ที่มีใจผูกพันอยู่กับการรักษากาย วาจา ใจ อยู่ในศีลบริสุทธิ์มามากในอดีตชาติ มีจิตใจผ่องใส่ไม่เศร้าหมอง ก็จะรู้ได้จากปัจจุบันชาติ คือ ปัจจุบันชาติจะเป็นผู้มีผิวพรรณงดงาม หน้าตาผ่องใส เป็นที่เจริญตาเจริญใจผู้พบเห็นทั้งหลาย . ผู้ที่มีใจผูกพันอยู่กับการปฏิบัติธรรมมามากในอดีตชาติ ก็จะรู้ได้จากปัจจุบันชาติ คือปัจจุบันชาติจะเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ศึกษาปฏิบัติธรรมเข้าใจง่าย เจริญดีในธรรม . ผู้ที่กำลังเสวยผลของกรรมดีในอดีตชาติต่าง ๆ กัน เช่นได้เกิดในตระกูลสูง หรือสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง หรือมีร่างกายแข็งแรงไม่ถูกเบียดเบียนด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรืออายุยืนหรือหน้าตาผิวพรรณงามผ่องใส หรือมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด . พึงน้อมใจเชื่อว่าเป็นผลแห่งกรรมดีที่ได้ประกอบกระทำไว้แล้วเป็นอันมากในอดีตชาติแน่นอน และแม้ปรารถนาจะเสวยผลดีแห่งกรรมดีนั้นสืบต่อไปในอนาคต ทั้งในอนาคตของปัจจุบันชาติและทั้งในอนาคตของภพชาติเบื้องหน้าที่พ้นจากภพชาติปัจจุบันไปแล้ว ก็พึงตั้งใจประกอบกรรมดีอันเป็นเหตุดี ต่อไปให้มั่นคงสม่ำเสมอ . ผลของกรรมดีที่ได้กระทำกันมา ที่เป็นความคุ้นเคยกันมา แม้จะสงวนรักษาไว้ให้สืบต่อกันนานแสนนานต่อไป ก็ต้องพยายามหนีผลของกรรมไม่ดี ที่ต้องได้กระทำมาแล้วทุกคนในอดีตชาติซึ่งมากมายนับภพชาติไม่ถ้วน และกรรมนั้นกำลังตามมา . สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
เราก็จะเห็นได้ว่า สิ่งที่สกปรกนั้นก็คือจิตของเรา ถ้าหากว่า เราทำความถูกต้องดีแล้ว ของที่สะอาดมันก็ยังมีอยู่ เหมือนพื้นศาลา มันสกปรก หรืออะไรต่างๆ ที่มันสกปรกนั้น . เมื่อมาเช็ดมาล้างสิ่งที่มันสกปรกออก ความสะอาดมันก็พ้นขึ้นมา อยู่ที่นั้นที่ของสกปรกมันปก ปิดอยู่นั่นเอง ความชั่วและความดีของเราทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น ความชั่วอยู่ตรงไหนความดีก็อยู่ตรงนั้น ความผิดอยู่ตรงไหนความถูก ก็อยู่ตรงนั้น ความสกปรกอยู่ที่ไหนความสะอาดก็อยู่ที่นั้น จิตใจเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น . ธรรมชาติของจิตเราจริงๆ นั้นน่ะ มันเป็นจิตที่สม่ำเสมอ เป็นจิตที่ไม่เศร้าหมอง เป็นจิตที่ผ่องใสขาวสะอาดอยู่อย่างนั้น ที่เศร้า หมองนั้นเพราะมันไปพบกับอารมณ์ พบกับธรรมารมณ์ที่ไม่ชอบของเรา . นั่นแหละก็ทำใจของเราให้ขุ่นมัว ทำใจของเราให้เศร้าหมอง ทำ ใจของเราให้ไม่สะอาด ทำใจของเราให้สกปรก นี่เพราะอะไร? ไม่ใช่จิตของเรามันสกปรก . เพราะจิตของเรายังไม่แน่นอน ไม่เชื่อมั่นในธรรมทั้งหลายนั่นเอง เมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ใจเราก็เศร้าหมอง ได้อารมณ์ที่ชอบใจ ใจเราก็ผ่องใส มันก็เป็นอย่างนั้น . หลวงพ่อชา สุภัทโท
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท เล่าว่า....ตลอดเวลาเกือบ ๑๐ ปีที่ปรนนิบัติครูบาอาจารย์สายพระป่า ทำให้ซึมซับวิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แต่สู้ตายเพื่อธรรมะ ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบรูปแบบกรรมฐาน ๒ แบบคือ - แบบแรก กรรมฐานแบบหลวงปู่มั่น แบบนี้ยอมตายเพื่อธรรมะไม่ทำอะไรเพื่อเห็นแก่ปากท้อง - แบบที่สอง กรรมฐานแบบขุนนาง ติดลาภสักการะก่อนติดธรรมะ วนๆ เวียน ในขอบนรก ถูกมันผูกเอาไว้ภาวนาไม่ได้ ยิ่งพระภิกษุรุ่นใหม่บางรูป คิดว่าการปฏิบั้ติธรรมคือตารางเวลา เช้านั่งสมาธิ ตกบ่ายเดินจงกรม พอพ้นตารางปฏิบัติธรรม ก็นั่งจับกลุ่มคุยกัน จนบางครั้งต้องไปเอ็ดตะโรสอนว่า..."กูไปนั่งเยี่ยวอยู่นี่ เท่ากับพวกมึงพิจารณากันทั้งคือมั้ง" ทำเอาวงพระแตกเลย.
“ปฏิจจสมุปบาท ความสุขแบบตะครุบเงา” พ่อแม่นี่พอเราโตขึ้นออกมาจากท้องแม่ พ่อแม่ก็สอนให้หาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ป้อนเอาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายให้ ซื้อตุ๊กตามาให้นี้ก็ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ซื้อตุ๊กตาซื้อของเล่น ซื้อขนมซื้อลูกอม ซื้ออะไรให้กินมันก็เป็นรูปเสียงกลิ่นรสทั้งนั้น ไม่มีพ่อแม่คนไหนสอนให้หนูนั่งสมาธินะ หนูรักษาศีล ความสุขอยู่ตรงนี้ อย่าไปเอาตุ๊กตา อย่าไปเอาขนม อย่าไปเอาของเล่น แล้วเด็กก็ไม่ขออะไร ขอแต่ของเล่น เห็นไหม ปีใหม่อย่างี้ คริสต์มาสนี้ขอของขวัญกัน ขอตุ๊กตาขอของเล่นอะไรต่างๆ ปีไหนของเล่นกำลังฮิตก็อยากจะได้อย่างงั้นกัน เอามาเล่นแล้วก็เพลิดเพลิน สุขเดี๋ยวเดียว เวลาได้มาก็ดีใจ เล่นกับมันไปสักพักก็เบื่อ หายตื่นเต้นหายสุข ก็อยากจะหาของเล่นใหม่ นี่แหละเราอยู่ในโลกของคนที่หลงทุกคน พ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติสนิทมิตรสหายพี่น้องเพื่อนฝูงเหมือนกันหมดเลย หลงกันเหมือนกัน หาความสุขไม่เจอกัน มีแต่ความสุขแบบตะครุบเงา รู้จักเหงาไหม เคยเห็นเหงาไหม เวลามันทอดไปข้างหน้าเราลองไปตะครุบเงาดูสิ จับมันได้ไหม พอจะไปจับหัวมัน มันไปโน่นแล้ว หัวมันก็หนีไปแล้ว นั่นแหละความสุขแบบลาภยศสรรเสริญ แบบรูปเสียงกลิ่นรสก็เหมือนแบบตะครุบเงา คิดว่าได้มาแล้วจะมีความสุข พอได้มาปั๊บ อ้าว! หายไปแล้ว สุขเดี๋ยวเดียว ไปเที่ยวสุขเดี๋ยวเดียว กลับมาบ้านหมดไปแล้ว ไปดูหนังฟังเพลง ไปกินไปดื่ม ไปทำอะไรเสร็จ สุขเดี๋ยวเดียว พอกลับมาบ้านหายไปแล้ว นี่แหละคือความหลงที่เรียกว่า อวิชชา คือความไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อวิชชามันถึงหลอกเรา มันหลงมันคิดว่าความสุขอยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส มันก็ปั่นใจให้เราคิด ปั่นใจให้คิดถึงรูปเสียงกลิ่นรส อวิชชาปัจจะยา สังขารา สังขารก็ส่งไปหาวิญญาณ เพื่อจะได้ไปที่ตาหูจมูกลิ้นกายร่างกายเรา ตาหูจมูกลิ้นกายเนี่ยมันเชื่อมกับใจ เป็นสะพานเชื่อมด้วยวิญญาณ หรือถ้าแบบโทรศัพท์มือถือเนี่ย เวลาที่เราจะใช้สายเสียบเพื่อจะได้ฟังเพื่อจะได้พูดโดยที่ไม่ต้องไปพูดที่เครื่อง แล้วใช้สายเสียบมัน เสียบไปที่เครื่องโทรศัพท์ เราก็สามารถพูดได้ฟังได้ฟังเสียงได้ ใจเรานี้ไม่มีตาหูจมูกลิ้นกาย แต่ใจเราอยากจะสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรส ใจเราเลยต้องมีสะพานเชื่อมระหว่างใจกับร่างกาย ใจเป็นคนหนึ่ง ร่างกายเป็นอีกคนหนึ่ง ร่างกายมีตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เลยส่งสะพานมาเชื่อมที่ตาหูจมูกลิ้นกาย พอเชื่อมกันปั๊บ ใจก็สามารถรับรูปจากตาได้ ตาของร่างกายพอลืมตาเห็นรูปขึ้นมา รูปก็จะวิ่งเข้าไปที่ใจ ใจก็จะรู้ว่าอ๋อตอนนี้เห็นรูปแล้ว เห็นรูปที่ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยนรูปหันไปหารูปที่ชอบ รูปที่ไม่ชอบก็หนีมัน นี่คืออวิชชา ความไม่รู้ว่าความสุขอยู่ที่ใจ อยู่ในตัวเอง อยู่ที่ความสงบ กลับไปคิดว่าอยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส ก็เลยต้องคิดไปหารูปเสียงกลิ่นรส คิดไปที่ตา ส่งไปที่ตา ให้ตาช่วยหารูป ให้หูช่วยหาเสียงรับเสียงให้ พอได้รับแล้วก็เกิดเวทนาขึ้นมา พอได้เห็นได้สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา ความรู้สึกทุกข์หรือสุข ถ้าสัมผัสกับรูปที่ชอบก็สุข สัมผัสกับรูปที่ไม่ชอบก็ทุกข์ เห็นคนที่เรารักนี้ก็สุขดีใจ เห็นคนที่เราไม่รักก็ไม่สุขทุกข์ขึ้นมา แล้วพอเกิดความรู้สึกก็เกิดความอยาก อยากให้สิ่งที่เราชอบอยู่กับเราไปนานๆ ถ้าเห็นสิ่งที่เราไม่ชอบก็อยากจะให้มันหายไปเร็วๆ พอเกิดความอยากก็เกิดอุปทาน ความยึดมั่นยึดติดกับสิ่งที่เราชอบ ไม่อยากให้เขาจากเราไป อยากจะให้เขาอยู่กับเราไปตลอด พอเขาหรือเราต้องจากไป เพราะเราก็ไม่เที่ยงเขาก็ไม่เที่ยง เราก็ต้องไปหาใหม่ ก็ไปเกิดภพใหม่ ไปภพใหม่ ภว ก็คือ ภพ อยู่ภพนี้แล้วเดี๋ยวภพนี้จบ พอร่างกายนี้ตายไปภพก็จบ ก็เลยไปหาไปภพใหม่ เพื่อจะได้ร่างกายอันใหม่ เพื่อจะได้เกิดใหม่ พอเกิดแล้วก็ต้องมาแก่มาเจ็บมาตายใหม่ นี่คือการดำเนินชีวิตของพวกเรา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ใน ปฏิจจสมุปบาท. สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๑ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
|