Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ผู้เห็นคุณค่าของตัว

พฤหัสฯ. 08 ก.พ. 2018 4:31 am

ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่น
ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน
ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์
ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน
จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์
ธรรมก็สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง
จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน
.
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต




พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีความว่า ตนรักชีวิตของตน สะดุ้งกลัวความตายฉันใด
สัตว์อื่นก็รักชีวิตของตน สะดุ้งกลัวความตายฉันนั้น
ฉะนั้น จึงไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า
อนึ่งตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด สัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
จึงไม่ควรสร้างความสุขให้แก่ตน ด้วยการก่อทุกข์ให้แก่คนอื่น
.
อาศัยหลักพระพุทธภาษิต ดังกล่าวนี้จึงเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๑ ด้วยอาศัยหลักยุติธรรมและหลักเมตตากรุณา
.
หลักยุติธรรม คือหลักการให้ความยุติธรรม คุ้มครองชีวิตสัตว์ทั้งหลาย โดยเที่ยงธรรมเสมอหน้ากันทั้งหมด ทั้งมนุษย์ทั้งเดรัจฉานทุกชนิด มิใช่บัญญัติด้วยลำเอียงเข้ากับมนุษย์ ว่ามนุษย์ควรจะฆ่าดิรัจฉานกินได้ หรือลำเอียงเข้ากับสัตว์ดิรัจฉาน เพราะทั้งมนุษย์ทั้งดิรัจฉาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องหายใจอยู่เหมือนกัน และต่างก็รักชีวิตรักสุขเกลียดทุกข์อยู่เหมือนๆ กัน ฉะนั้น การให้ความคุ้มครองชีวิตโดยเสมอหน้ากันหมด ไม่เลือกว่าเราว่าเขา ไม่เลือกว่าตนว่าผู้อื่น ไม่เลือกว่ามนุษย์ว่าดิรัจฉานชนิดไหน จึงเป็นการยุติธรรม ปราศจากความลำเอียงอย่างแท้จริง
.
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก




บางคนเกิดมามีชีวิตเหมือนไก่ตัวหนึ่งเท่านั้น ไก่เกิดมาโตขึ้นมีลูก พาลูกๆ คุ้ยเขี่ยหากินไปตามเรื่องราว ตกเย็นนอน เช้ามาก็กระโจนลงดินร้องกุ๊กๆ ออกหากินไป ตอนเย็นก็กลับมานอนอีกวันๆ หนึ่งทำอยู่อย่างนี้ ถ้ามนุษย์ใช้ชีวิตแบบนี้ ชีวิตจะมีประโยชน์อะไรไหม? ไม่มีประโยชน์ ก็เหมือนกับสัตว์ที่ไม่มีปัญญาเท่านั้นเอง คนเลี้ยงไก่ เขาจับมันยกขึ้นดูทุกวันๆ เอาอาหารให้กินเรื่อยๆ ไก่ก็นึกว่าเขารักเรา แต่เจ้าของเขาคิดว่านี่มันหนักเท่าไหร่แล้ว? พอจะเอาไปขายได้หรือยัง? เจ้าไก่ไม่รู้เรื่อง พอสอง-สามเดือนต่อมา เอาแล้ว...เขาเอาไปตลาดแล้ว
.
คนเราอยู่กันทุกวันนี้ก็คล้ายๆ อย่างนั้น ไม่ค่อยได้นึกถึงอันตรายชีวิต เพราะมัวแต่หลงไม่รู้เรื่องชีวิตตัวเอง จึงเหมือนกับไก่ในเข่งที่เขากำลังเอาไปขาย เขายกขึ้นรถก็ยังขันโอ๊กๆ สนุกสนาน ไปถึงที่แล้วเขาจับถอนขน ก็นึกว่าเขาทำความสะอาดให้ มันโง่ขนาดนั้น พอมีดเชือดเข้าไป โอ้!...มันตายนี่นะ ไม่เห็นชีวิตตัวเองไม่รู้จักแก้ไข จึงตายไปโดยไม่มีประโยชน์
.
หลวงปู่ชา สุภัทโท




“ทิฏฐิเสมอกัน”
..ฉะนั้น พระพุทธเจ้า พระอริยะเจ้า ท่านจึงมีทิฏฐิเสมอกันหมด ความเห็นอันเดียวกัน เพราะจิตใจไปเห็นเหมือนกัน พูดกันไม่ยากสักนิด พูดคำเดียวเท่านั้นหละ รู้เรื่องกันเลย นี้ถ้าหากธรรมะในด้านการปฏิบัติของเราปรากฏเกิดขึ้นแล้ว พวกเทวดานิยม พรหมก็สรรเสริญหละ เป็นของพิเศษ มีอำนาจไปในตัว มีคุณเพราะเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ จิตใจไม่ได้ไปพัวพันยุ่งเหยิงอยู่กับสัญญาอารมณ์ แบบนั้นวิธีนี้ ซึ่งมันเป็นการอ่อนกำลัง หนักเข้า ก็ไปกันหลายรูปแบบ เหมือนอย่างทางโลกที่เป็น หากินของมึนของเมา เอ๊ะ ๆ อ๊ะๆ อยู่อย่างนั้น ไม่มีการงานอะไร เดือดร้อนแก่สังคมทั่วไป ตั้งกฎหมายเท่าไหร่ก็ยังป้องกันไม่ได้ ไปกันอยู่อย่างนั้น จับเข้าคุกเข้าตะราง เข้าเรือนจำไม่รู้กี่ปี กี่ครั้ง เข้าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดื้อไปเท่านั้น..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร



...อย่าประมาทนะ อย่าชะล่าใจ
ปฏิบัติแล้ว "อย่าหยุด"
.
ถ้ายังไม่ถึงเป้าหมายอย่าเพิ่งหยุด
ถ้าหยุดแล้ว เดี๋ยวมันจะทำให้
เวลากลับมาปฏิบัติใหม่มันจะยาก
.
ปฏิบัติไปเรื่อยๆ
ถ้ายังมีกิเลสอยู่อย่าเพิ่งหยุด
"สติ สมาธิ ปัญญานี้อย่าไปหยุด"
.........................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 7/2/2561
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี






ให้ "กลั้นลมหายใจ" มันจะ "จุก" อยู่ประมาณ "กลางทรวงอก" ให้ "จดจ่อ" ความรู้สึกไว้ที่ "จุดรู้" เอา "จุดรู้" เป็นที่ตั้งของใจ
ประคองความรู้สึกไว้ที่ "จุดรู้" ให้มันอยู่ ให้มันติดตรง "จุดรู้" นั้นให้ได้. ทำ "ใจ" ให้สงบให้รู้อยู่ใน "จุดรู้" อยู่อย่างเดียว. ประคองเข้าสู่ "จุดรู้" รักษา "ความรู้สึก" ไว้ใน "จุดเดียว" ถือเอา "ความรู้สึกนั้น" ให้ "ไปรวม" อยู่ในที่ "จุดเดียว"
เมื่อได้ "ที่ตั้ง" แล้ว ให้ "จำตรง" นั้น ประคองความรู้สึกไว้ที่ตรงนั้น ให้มันอยู่ ให้มัน "ติดตรงจุดนั้น" ให้ได้
* เมื่อตั้งจนชำนิชำนาญ จิตมันจะติดตรงนั้น *
เมื่อใจมันติดตรงจุดนั้นได้ มันก็วางข้างนอก มันไม่ไปต่อข้างนอก มันจะ "ต่อจุดนั้นอย่างเดียว" เมื่อมันแน่วอยู่ในจุดเดียวแล้ว. "รักษาจิต" ให้อยู่ใน "จุดนั้น" มากขึ้นเท่าใด. ใจก็จะ "มั่นคง" มากขึ้นเท่านั้น. เป็น "เอกัคตาจิต"
"ผู้รู้" อยู่นั้นแหละเป็น "ใจ"
ไม่ต้องไป "ละเวทนา" มันหรอก เข้าไปสู่จุด "ดวงรู้" ประคองใจให้มัน "รู้" อยู่เพียง "จุดเดียว" เท่านั้น
"ใจ" คือ "รู้" เท่านั้น
หลวงพ่อชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี




"เรื่องทุกข์ มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดล่ะ
ถึงมันจนมันก็ทุกข์ ถึงมันรวยมันก็ทุกข์
เป็นเด็กมันก็ทุกข์ แก่แล้วมันก็ทุกข์
ถ้าคนไม่รู้จักทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้รู้จักทุกข์
รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์
รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
แต่ว่าเราก็รู้ทุกคนทุกข์ แต่ว่ารู้ไม่ถึง รู้ไม่ถึงทุกข์
รู้ทุกอย่าง แต่มันรู้ไม่ถึง
ถ้าเรารู้ถึงมันซะแล้ว เป็นต้น มันก็ไม่มีอะไรจะเป็นทุกข์
อย่างเราเห็นตนเช่นนี้เป็นต้น
ตน ตนเราที่นั่งอยู่นี้ เป็นต้น
ก็นึกว่าเห็นตนกันแล้ว น่ะ ที่ว่าเราเห็นตน
ที่เห็นอยู่นี่ขาฉันนี่ นี่แขนฉันนี่ นี่เพื่อนฉันนี่
เห็นอยู่ เค้าเรียกว่าเห็นอย่างนี้เชื่อว่าเห็นตน
ไอ้ความจริงที่ว่าเห็นตนนั้นไม่ใช่อย่างนี้
ตามธรรมะเห็นตนคือเห็นว่าตนนั้นน่ะ มิใช่ตน"
พระโพธิญาณเถร
(หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี




"คนเราทุกข์เพราะความมี
ไม่ใช่ทุกข์เพราะความจน
สิ่งใดที่เรามี สิ่งนั้นแหละ
จิตไปยึดไปถือ ไม่มั่นไปหมาย
จะจากไปก็ห่วงหวงในสิ่งนั้นๆ
ถ้าเราไม่มีอะไร เราก็ไม่ห่วงไม่หวง
ไม่ยึดไม่ถือ ไม่ติดไม่ข้อง
ยิ่งมีมากเท่าไรก็ยิ่งใจไปยึดไปถือไปติดไปข้อง
ไม่ว่าวัตถุข้าวของ หรือพรรคพวกเพื่อนฝูงต่างๆ
มันยึดมันติด มันคิดมันปรุงในสิ่งที่เรามีอยู่
ถ้าหากเราไม่มี เราก็ไม่ได้คิดได้ติดได้ข้อง
ในสิ่งนั้นๆ"
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร




"การปฎิบัติธรรม ก็คือการปฏิบัติเราเอง
การปฏิบัติตัวของเรานี้ล่ะ เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
การรักษาเรานี้ล่ะ เรียกว่าเป็นการรักษาธรรม
การพิจารณาเรานี้ล่ะ เรียกว่าเป็นการพิจารณาธรรม
การรู้เรานี้ล่ะ เรียกว่า รู้ธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม
พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้องค์พระพุทธเจ้า
พระสาวกรู้ธรรมเห็นธรรม ก็รู้องค์สาวกนั้นเอง
บรรดาเราๆ จะปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติตัวเรานี้
พิจารณาธรรมก็พิจารณาตัวของเรานี้
ในเมื่อเราพิจารณาแล้วรู้ธรรมเห็นธรรมขึ้นมา
ก็รู้ในตัวของเรานี้
ตำรับตำราทั้งหมดอันนั้นเป็นตำราธรรม
ตำรายากับตัวยาเป็นคนละอย่างเป็นคนละอัน
ธรรมะกับตำราธรรมก็เป็นคนละอันเป็นคนละอย่างกัน
การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ไปปฏิบัติตำรา
การรู้ธรรมไปรู้ตำรา ก็เรียกว่ารู้ตำรา
ไม่ใช่เป็นการรู้ธรรม
การเห็นตำราก็เป็นการเห็นตำรา
จะเรียกว่าเป็นการรู้ธรรมไม่ถูก
การปฏิบัติธรรมก็คือการปฏิบัติเรานี้เอง
เดิน ก็ให้มีสติในการเดิน
นั่ง ก็ให้มีสติในการนั่ง
ยืน ก็ให้มีสติในการยืน
แม้นแต่นอน ก็ให้มีสติในการนอน เว้นไว้แต่เวลาหลับ
ขณะใดเรามีสติประจำใจประจำจิต
ขณะนั้นเรียกว่า เราเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอยู่"
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร
(หลวงปู่แบน ธนากโร)
วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร




“ขึ้นอยู่กับเหตุคือการปฏิบัติ”
..ในสวากขาโต ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ท่านสอนไว้ดีแล้ว ให้ปฏิบัตินั้นหละ รู้ขึ้นเอง รู้ขึ้นในจิตใจมันจึงค่อยลง ได้ยินจากคนอื่นมันไม่ค่อยลงเท่าไหร่หละ อกาลิโก เป็นของไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุ เหตุคือการประพฤติปฏิบัติ ผลมันก็เกิดขึ้นเท่านั้นหละ ไม่ได้ว่า เช้า สาย บ่าย เที่ยง คนเฒ่า คนแก่ คนหนุ่ม ไม่ได้ว่าทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุ คือการประพฤติปฏิบัติ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร




“เห็นเหมือนกันหมด”
..พระพุทธองค์ท่านเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ พระองค์มาค้นคว้า หาหลักการ วิธีการ จนรู้ชัดหมด ท่านจึงว่า เป็นผู้รู้ยิ่ง แล้วก็เป็นผู้เห็นจริง รู้ไม่ใช่รู้ธรรมดานะ รู้ยิ่ง เห็นก็เห็นไปตามหลักความเป็นจริง ในอริยสัจทั้ง ๔ ไม่มีอะไรจะจริงไปกว่านี้หรอก ถ้าเกินความเป็นจริงไป มันก็ไม่จริง ถ้าไม่ถึงความจริง มันก็ไม่จริงอยู่อย่างนั้น แต่ลงถึงความจริงแล้ว ใคร ๆ ก็เห็นเหมือนกันหมด..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร




"หากยามใดท้อถอย
เหนื่อยหน่าย ต่อการปฏิบัติ
ก็ให้ระลึกถึง ภัยข้างหน้า
ที่จะมีมา ต้องตระหนักว่า ขณะนี้
เรายังอยู่ในมรสุม อยู่ท่ามกลาง
คลื่นภัยนั้นมีอยู่รอบด้าน
เอาไว้ให้ถึงฝั่งเสียก่อน
อย่ามัวเที่ยวเก็บ
เที่ยวชมดอกไม้ มืดค่ำแล้ว
เดี๋ยวจะหาทางออกไม่พบ "
-:- หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ -:-




"พ่อแม่เป็นผู้ให้เกิด เป็นผู้เลี้ยงดู
เป็นผู้ให้วิชาความรู้ เป็นผู้ให้ทรัพย์สมบัติ
เป็นผู้ให้น้ำจิตน้ำใจทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น ใครยังมีพ่อแม่อยู่
รีบอุปถัมภ์อุปัฏฐาก รีบทำบุญกับท่าน
อย่าปล่อยให้ท่านลำบาก"
-:- หลวงพ่อพุธ ฐานิโย -:-




"ให้พากันสร้างความดีงาม
ความดีงามทั้งหลาย ที่เราสร้างนี้แหละ
เก็บเล็กผสมน้อยไปทุกวัน เข้าในจิต
ไม่สูญหายไปไหน ก็คือ บาปและบุญ
บาปทำลงไป ว่าไม่มีบาป
ก็เป็นบาปตลอดไป
บุญก็เป็นบุญตลอดไป
เพราะฉะนั้น ให้หมุนมาทางบุญ
ตามทางของศาสดาสอนไว้"
-:- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน -:-
ตอบกระทู้