“ต้องไปละเหตุที่ทำให้เรามาเกิด” คำถาม : ขอกราบเรียนนะครับ ความอยากไม่เกิดอีกแล้ว ถือเป็นกิเลสด้านดีใช่ไหมครับท่าน แล้วเราควรจะพิจารณาตรงนี้อย่างไร เพื่อจะให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปครับ พระอาจารย์ : อ๋อ ก็ต้องไปละเหตุที่ทำให้เรามาเกิดไง เหตุที่ทำให้เรามาเกิดก็คือตัณหาทั้ง ๓ ประการ ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ความอยากมีอยากเป็น และความอยากไม่มีอยากไม่เป็น และเครื่องมือที่จะทำให้เราละความอยากได้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะไม่มีกำลังสู้กับความอยากได้ ฉะนั้นก็ต้องไปรักษาศีล เริ่มต้นที่ศีล ๕ แล้วก็ไปที่ศีล ๘ แล้วก็ฝึกเจริญสติ นั่งสมาธิทำใจให้สงบ พอใจสงบ หลังออกจากสมาธิก็ให้คิดทางปัญญาว่าทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา อย่าไปอยากได้ อยากมีอยากเป็น มันก็จะหยุดความอยากได้ อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็นได้ มันก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดได้. ธรรมะบนเขา วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
เรื่องดีขนาดไหน เรื่องไม่ดีขนาดไหน ผ่านไปแล้ว จะเป็นอดีตไปเสีย ถึงเรื่องปัจจุบันทั้งหมด ที่สุดก็จะต้องกลายเป็นเรื่องอดีตไป ผ่านไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะไม่เป็นอดีต จึงว่าอะไรที่เป็นปัจจุบันนี่ อะไรที่คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว หากเป็นอกุศล อันนั้นให้หลีก อันนั้นให้ระวัง คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว เกิดความเศร้าหมอง อย่าไปคิด อย่าไปพูด อย่าไปทำ ทำแล้วเกิดความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองนี้ฝังลึก ทั้ง ๆ ที่เรื่องทุกเรื่อไม่ได้มีอะไร เกิดขึ้นแล้วผ่านไป เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป นาย ก. นาย ข. นายอะไรต่ออะไร อีกไม่เกิด 100 ปี เป็นอดีตไปหมด คนเดี๋ยวนี้อีกสัก 100 ปี ไม่มีในโลก เรา ๆ นี่ก็ไม่รู้เป็นอดีตมาแล้วกี่ครั้งกี่หน หาประมาณมิได้ จึงว่าแผ่นดินอันนี้ก้อนโลกอันนี้ เพียงแต่ว่าเป็นทางผ่านทางเดิน เต็มไปด้วยขวากด้วยหนาม คนไหนที่ตาดีหูดี คนนั้นไม่บาดเจ็บ คนไหนตาไม่ดีหูไม่ดี ไม่มีสติปัญญา คนนั้นจะมีแต่บาดแต่แผล คือมีอกุศลธรรมฝังแน่นอยู่ในจิตในใจ อกุศลธรรมจะหลุดไปได้ ไม่ใช่เพราะมีการเกิดการตายยาวนาน จะหลุดจะสิ้นจะหมดไปได้ ต้องอาศัย มีข้อปฏิบัติ มีสติ มีปัญญา ข้อปฏิบัติจึงมีความจำเป็น สติปัญญาจึงมีความจำเป็น ขาดข้อปฏิบัติไม่มีข้อปฏิบัติแล้ว สติปัญญาที่จะแก้อกุศลความเศร้าหมอง ที่เป็นอยู่ในจิตในใจนี่ ไม่มีทางที่จะแก้ให้หลุดไปได้ พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่แบน ธนากโร) เรื่อง ชีวิตนี้ ไม่นาน โลกอันนี้เพียงแต่เป็นทางผ่าน เทศน์เมื่อ 4 เมษายน 2541
ถาม : เมตตา กรุณา กับรักนั้น เหมือนกันหรือต่างกัน . หลวงปู่มั่น ตอบ : ต่างกันมาก อย่างละอริยสัจทีเดียว ความรักนั้นเป็นสมุทัย เมตตานั้นเป็นมรรค . ถาม : เช่นรักบุตรหลาน ญาติมิตร คิดให้เป็นสุขและให้พ้นทุกข์หรือสงสารจะว่าเป็นสมุทัยได้อย่างไร รู้สึกรสชาติของใจประกอบด้วยความเอ็นดูปราณี . หลวงปู่มั่น ตอบ : ความรักและความสงสารบุตรหลานญาติมิตร ประกอบด้วยฉันทะ ราคะ อาลัย ห่วงใย กังวล พัวพัน ยึดถือ หนังใจไม่โปร่ง เมื่อคนรักเหล่านั้นวิบัติไป เช่น ตาย เป็นต้น ก็เกิดทุกข์โทมนัสเศร้าโศกเสียใจอาลัยคิดถึง ถ้ารักมากก็โศกมาก ด้วยพระพุทธสุภาษิตคาถาธรรมบทปิยวรรคที่ ๑๖ ว่า . เปมะโต ชายะเต โสโก ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก เปมะโต ชายะเต ภะยัง ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก เปมะโต วิปปะมุติ ตัสสะ ความโศกไม่มีแก่ผู้พ้นแล้ว นัตถิ โสโก กุโต ภะยัง ภัยจะมีมาแต่ที่ไหน.
พูดถึงว่าความรัก บางคนก็ว่าฉันตายแทนได้ฉันตายแล้วนั่นน่ะ แต่ความจริงน่ะอันนั้นนะมันพูด มันคล้าย ๆ ส่วนลึกของใจมันเป็นอย่างนั้น เคยให้เขาทดสอบ ผัวนั่งอยู่ตรงนี้เมียนั่งอยู่ตรงนี้นั่งอยู่นี่หละ อันนี้เอาไม้ขีดมาสองก้านจุดจี้ใส่ผมผัวจี้ใส่ผมเมีย เมียจะดับผัวก่อนหรือจะดับไฟที่ไหม้หัวเจ้าของก่อน ผัวก็เหมือนกันนี่ รักเมียนี่รักจริงๆ เอ้า จี้ลงไปพร้อม ๆ กันนี่ หัวเจ้าของต้องดับก่อน . อันนี้คล้าย ๆ ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งหมด แต่เวลาเพิ่นนะบอกเพิ่นตายแทนได้ก็จะตายเท่านั้น นี่ในเมื่อรักของเจ้าของมากนะ คนอื่นตายก็ยังทุกข์ เจ้าของตายจะทุกข์นาดไหน...พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ระลึกถึงบ่อย ๆระลึกถึงบ่อย ๆ จะได้เคยชิน คิดนึกจนกระทั่งเรานี่เป็นของเกิดมาตายจริง ๆ ของเกิดมาตาย เขายังไม่ทันได้ตาย แต่ถึงยังไม่ตายก็ของตายก็คืออันนี้อันนี้อันนี้อันนี้ของตายทั้งนั้น และถ้าหากว่าของตายเขาก็ตายทุกวันตายทุกวัน ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั่น มันตายไปชั่วลมหายใจเข้าออกแล้ว แต่เช้ามาสว่างค่ำมาตะวันตกดินมืดอย่างนี้นะ อันนี้ก็ตายไปแล้วสิบสองชั่วโมง สว่างมาแล้วตายไปอีกสิบสองชั่วโมงกลางคืน ตายอยู่และตายทุกขณะ แต่อย่างเราเราไม่คิดกันนะ พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ . หลวงปู่แบน ธนากโร
“จิตไม่เที่ยง อารมณ์ของจิตไม่เที่ยง” ถาม : ขอถามพระอาจารย์ค่ะ คือที่เขาบอกว่านิพพานนี้สูญ คือแสดงว่าจิตของคนเรานี้มีเกิดมีดับตลอดเวลา แต่ว่าไปเวียนว่ายในภพภูมิต่างๆ อยู่ใช่ไหมคะ หนูเข้าใจถูกไหมคะ พระอาจารย์: ใช่ จิตไม่สูญ แต่จิตมีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวดีใจเดี๋ยวเสียใจ เกิดดับ คือ อารมณ์ในจิตมันเกิดดับ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ตัวจิตเองไม่ดับ เหมือนตัวหิ่งห้อยน่ะ หิ่งห้อยมันมีอยู่แต่แสงหิ่งห้อยมันเกิดดับๆ แต่จิตมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวก็ดีใจเดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็วุ่นวายใจ เดี๋ยวก็สงบ เรียกว่าจิตไม่เที่ยง อารมณ์ของจิตไม่เที่ยง แต่ตัวจิตเองไม่ตาย พอร่างกายนี้ตายไป จิตก็ไปมีร่างกายอันใหม่ เหมือนคนใช้มือถือนี่ พอมือถือเสีย คนเสียไปกับมือถือหรือเปล่า คนใช้เสียไปกับมือถือหรือเปล่า ใช่ไหม มือถือเสียเราก็ไปซื้อมือถือเครื่องใหม่ อันนี้ก็เหมือนกัน พอร่างกายนี้เสียไป คนใช้ร่างกายนี้ก็ไปเอาร่างกายอันใหม่ เราเปลี่ยนร่างกายมาเหมือนเปลี่ยนมือถือเนี่ย เปลี่ยนมามากยิ่งกว่ามือถืออีก เพราะร่างกายที่เราเปลี่ยนนี้เป็นร้อยล้านพันล้านร่างกาย เชื่อไหม น้ำตาที่เราร้องไห้ในแต่ละภพแต่ละชาตินี้ ถ้าเอามารวมกัน พระพุทธเจ้าบอกมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร คิดดูว่าจะต้องมีร่างกายกี่ร่างกาย มาร้องไห้กี่ครั้งถึงจะได้น้ำตามากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร นั่นคือจำนวนภพชาติที่พวกเราได้เกิดแก่เจ็บตายกันมา แล้วยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตของเราไปถึงนิพพาน ถึงนิพพานก็คือจิตหมดอยาก ไม่อยากจะไปมีร่างกายอีกต่อไป ก็จะไม่ต้องมาร้องห่มร้องไห้อีกต่อไป เข้าใจนะ ฉะนั้นทุกอย่างที่เราทำนี้เราทำให้กับจิต ทำบุญรักษาศีลภาวนานี้เป็นเครื่องมือที่จะส่งให้จิตไปนิพพาน ถึงแม้ว่าร่างกายนี้ตายไป จิตยังไม่ถึงนิพพาน แต่บุญที่เราได้ทำไว้ มันเหมือนกับน้ำมันที่เราใส่รถไว้เนี่ย ถ้ารถพังเราก็เปลี่ยนรถใหม่ได้ ย้ายน้ำมันไปถ่ายน้ำมันไปใส่อีกคันได้ แต่จิตมันไม่ตาย ฉะนั้นบุญที่เราใส่น้ำมันที่เราให้กับจิตเพื่อส่งไปนิพพานมันก็ไม่หาย มันไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ฉะนั้นทำไป ทำไปเรื่อยๆ ยิ่งทำมากมันก็จะได้ไปถึงเร็ว ทำน้อยก็ไปถึงช้า. สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
“รักษาศีล ๕” ..ขั้นแรกท่านก็ให้ถือศีล ๕ ปาณาฯ อทินนาฯ กาเมฯ มุสาฯ สุราฯ ๕ ข้อเท่านั้นหละไม่มาก ๕ ข้อนี้เป็นสิกขาบท ท่านเรียกว่าศีล ๆ ๕ บรรดาฆราวาสญาติโยมเราก็มีศีล ๕ ประจำแล้ว จะไปอยู่ที่ไหนก็สบาย ไม่มีภัย ไม่มีเวร ถ้ารักษาไม่ได้ ก็เกิดยุ่งเหยิงกันหละ เดือดร้อนวุ่นวายกันไป จะไปอยู่กลุ่มไหนที่ไหนก็ตาม อย่างโลกนี้เขาเป็นกันอยู่ระยะนี้ ก็เนื่องจากศีล ๕ ไม่มีประจำตัวของบุคคลทุกคน ก็เกิดฆ่ากัน อิจฉาตาร้อนกัน เดี๋ยวก็ดื่มสุรายาเมาเข้า ฝิ่น เฮโรอีน หนักเข้า ก็สารละเหย ระหายอะไรหลายอย่าง เดี๋ยวก็เสียสติ สตังไปหละ เดือดร้อนวุ่นวายยุ่งเหยิง แก่บรรดาผู้ปกครอง ถ้าเรารักษาศีล ๕ อยู่ที่ไหนก็สบาย.. หลวงปู่ศรี มหาวีโร เทศนา เรื่อง ธรรมะเป็นของยอดเยี่ยม
"..เราทำงานในหน้าที่เรา เราจะต้องรับผิดชอบ เราจะไปทำงานอื่นก็ได้ ถ้าหากการงานอันนั้นมันเป็นประโยชน์ แต่เราต้องทำการงานที่เรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบให้ดีเสียก่อน.. ถึงทำงานมาก แต่ก็ไม่สำเร็จเป็นผลงานให้สักที ก็เพราะมันมีแต่งานที่คั่งค้าง.. หนักเข้าก็เป็นเรื่องรกรุงรัง..ไม่สำเร็จเป็นผลประโยชน์ขึ้นมาได้ ในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นคนทำงานไม่แล้ว ถ้างานอันนี้ยังไม่แล้ว เราขี้เกียจเสีย ไม่อยากทำ ว่าใจมันไม่รัก ใจมันไม่ชอบ แล้วไปทำงานใหม่ นี่ล่ะจะเป็นคนที่ไม่มีความจริงจัง เป็นคนจับจด ผลออกมาเอาดีไม่ได้สักอย่าง จะเอาดีหลายอย่าง เลยไม่ได้สักอย่าง ได้แต่ความไม่ดี.. อย่างนี้เป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ แล้วไม่ค่อยดีด้วย แล้วไปทำตรงไหนก็เหมือนกัน เพราะคนๆเดียวกันนั้นทำ ต้องฝึกเราให้มีความรับผิดชอบทุกอย่าง ทำให้ดีที่สุด.." หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร
มงคลสมรส "..คำว่ามงคลสมรส คือการอยู่ร่วมกันโดยสวัสดี ความหมายเป็นอย่างนั้นนี่.. ทำอย่างไรเราจะอยู่ร่วมกันโดยสวัสดี สามีก็เป็นสามีที่ดีของภรรยา ภรรยาก็เป็นภรรยาที่ดีของสามี จึงเรียกว่าเป็นมงคลสมรส.. ถ้าหากว่าสามีไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีที่ถูกต้อง ภรรยาก็เหมือนกัน ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาที่ถูกต้อง การอยู่ร่วมกันนี้ ไม่เป็นไปด้วยความสวัสดี ไม่เป็นไปซึ่งความเป็นมงคลซึ่งกันและกัน.." หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร
"..ถึงว่าเขาจะอยู่ในวัยเด็ก อยู่ในวัยศึกษาเรียนรู้ ก็ต้องมีธรรมะ ถ้าหากว่าไม่มีธรรมะเสียแล้ว จะไม่มีความอ่อนน้อม ไม่มีความดีใดๆ..เด็กที่มีความอ่อนน้อม..มีศีลธรรม เด็กนั้นมีความน่ารัก.. เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม เป็นผู้ที่น่าให้ความเคารพนับุถือ.." หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร
"กรรมเขามีกำลัง กรรมดีก็มีกำลัง แต่งคนแต่งสัตว์ให้ไปเกิดในทางที่ดี กรรมไม่ดีก็มีกำลัง แต่งคนแต่งสัตว์ให้ไปเกิดในทางที่ไม่ดี สัตว์ในโลกแต่ละรูปแต่ละร่างต่างก็เป็นที่อยู่อาศัยของจิตวิญญาณทั้งนั้น จิตวิญญาณเหมาะสมควรที่จะไปอยู่ในรูปร่างอย่างไร กรรมเขาหากผลักดันไปหรือจูงให้ไปปฏิสนธิในที่นั้นๆ สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดมา จึงไม่เหมือนกัน" หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร
"..การคิด การพูด การทำ การเกี่ยวข้องต่อกัน การอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ให้ยิ่ง ไม่ให้หย่อน ให้มีความเป็นมัชฌิมา สม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย การจะทำให้มีความพอดีในเจ้าของ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ลืมตัว ความไม่ลืมตัวอันนี้ล่ะ เรียกว่าเป็นผู้มีสติ ฝึกสติเอาไว้ให้เป็นผู้ที่มีสติอยู่เสมอ ไม่ลืมตัว การมีสติคือการไม่ลืมตัว การขาดสติคือการลืมตัว.." หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร
"..จึงว่าอย่าทำเอาแต่งาน ต้องเอาเราด้วย ถ้าทำงานอย่าง แค่นี้ก็เอาเถอะ แค่นี้ก็เอาเถอะ เราก็กลายเป็นคนประเภท เอาเถอะ เอาเถอะ กลายเป็นคนหยาบ ไม่ละเอียดรอบคอบ เป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ เป็นคนทำงานมักคั่งค้าง ทำงานตรงไหนก็ไม่แล้ว เมื่อตรงไหนก็ไม่แล้ว แล้วก็จะเกิดความว้าวุ่นขึ้นในใจ ทำงาน ต้องทำเป็นการฝึกเรา ถ้าหากว่าเราดีแล้ว ผลงานออกมา ดีหมด" หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร
|