Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

มั่นคงในศีลธรรม

ศุกร์ 16 ก.พ. 2018 7:41 am

สอบอารมณ์
มีครั้งหนึ่งอาตมาไปพักอยู่ในเมือง ไปพักอยู่วัดที่กรุงเทพ ฯ นั่นแหละ แล้วมันบังเอิญจะพักอยู่หลายวันด้วย จะพักอยู่ ๓-๔ วัน พอพักได้ ๒ วันผ่านไป มีโยมทางชลบุรีนี่แหละเขาไปหา ก็ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ เจ้าอาวาสท่านก็ให้พักอยู่ที่ห้องกรรมฐาน แต่ข้างล่างโยมก็พักอยู่เต็ม พักถาวรเลยนะ มีครอบครัวมีลูกมีเต้าอยู่ใต้ถุนนั่นแหละ พอเข้ามาก็ตื่นแต่เช้า ตี ๔ ตี ๕ เขาก็ไปทำภารกิจ ขายของ โช้งเช้ง โช้งเช้ง เสียงสนั่นหวั่นไหว เสียงคน
พอโยมไปถึงก็ โอ๊ย อาจารย์อยู่ยังไง มันวุ่นวาย อยู่ได้ยังไง เขาไม่เข้าใจ เขาคิดว่าจะต้องอยู่ในที่สงบอย่างเดียว แต่ถ้าเรามีสติรู้จักมันนะ สิ่งนั้นมันยิ่งให้ความรู้
ไปนั่งพิจารณาก็ดีเหมือนกันนะ ถ้าเราตั้งสติไว้ดูมันก็ให้ความรู้เหมือนเดิม สิ่งที่เราได้สัมผัส ทำให้เราเกิดความรู้ได้เหมือนกัน เราจะได้รู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร
มันไม่ได้เป็นภัยอะไรเลยถ้าเรารู้จักมัน เรื่องของเขากับเรื่องของเรา เรื่องภายนอกกับเรื่องภายใน มันคนละส่วนกัน ถ้าคนภาวนารู้จักแยกแยะจิตใจกับอารมณ์ มันจะจับได้ตรงนี้ ถ้าไม่เช่นนั้น ร้อนนะ
อย่างหลวงพ่อชาท่านบอกว่า
“ถ้าผู้มีปัญญาน่ะ สิ่งที่มันกระทบยิ่งทำให้ปัญญามันคมขึ้น” ท่านว่ามันคมขึ้น แต่ก็ต้องฟังให้ดีนะ ไม่ได้หมายความว่าจะให้ไปนั่งสมาธิกลางตลาด มันคนละอย่างกัน คนละขั้น คนละตอนกัน
คนฝึกกับคนไม่ฝึก มันก็ไม่เหมือนกัน จะจับสัตว์ป่ามาใช้งานเลยมันก็ไม่ได้ มันยังไม่ได้ฝึก ต้องฝึกมันก่อน เมื่อฝึกพอสมควรแล้วก็เอามาใช้งาน ดูว่ามันไปในร่องในรอยไหม ลองทดสอบดู เหมือนกับเรามีครู มีอาจารย์ที่ท่านคอยให้ปัญญา เวลาเราเห็น เราได้สัมผัสอะไรก็ตาม เลยนึกได้ โอ้ สิ่งนี้เองที่ท่านบอกว่าสอบอารมณ์
++++
เรื่อง : ธรรมในสวนธรรม พระอาจารย์จันดี วัดป่าอัมพวัน ชลบุรี หน้าที่ ๒๕๕-๒๕๖





พระอาจารย์จันดี วัดป่าอัมพวัน ชลบุรี เล่าถึงญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรม มักจะต้องการให้พระสอบอารมณ์การปฏิบัติของตัวเองว่า
พอมีโยมมาปฏิบัติธรรมก็มีหลายคนมาถาม
“อาจารย์ที่นี่มีสอบอารมณ์ไหม แล้วมีใครสอบอารมณ์ให้ไหม”
สอบแบบไหนล่ะ สอบอารมณ์แบบไปนั่ง ๒ ต่อ ๒ ไม่ไหวนะ ไม่มีหรอกสอบอารมณ์น่ะ
หลวงพ่อชาท่านบอกว่า
“อารมณ์น่ะ มันถูกสอบอยู่ตลอดเวลา ที่ตาเราเห็น ที่หูเราได้ยิน ทุกอย่างน่ะ ที่มันได้สัมผัส มันสอบอารมณ์เราอยู่ แต่เราไม่รู้นะ คิดแต่ว่าจะให้ท่านอาจารย์มาตั้งคำถาม ถามอย่างนู้นถามอย่างนี้ โอ๊ย มันคนละอย่างกัน อารมณ์ที่มันกระทบนี่แหละ พอมีอารมณ์มากระทบ เกิดความพอใจไม่พอใจมันบอกอยู่แล้ว เราก็เรียนศึกษาตรงนี้”
++++
เรื่อง : ธรรมในสวนธรรม พระอาจารย์จันดี วัดป่าอัมพวัน ชลบุรี หน้าที่ ๒๕๖




"คนเราหากปฏิบัติมั่นคงในศีลธรรม ถ้าบ่มีกรรมหนักเข้าแทรก เมื่อถึงคราวคับขันอำนาจศีล อำนาจธรรม จะแสดงปาฏิหาริย์ออกมาให้เห็น ปาฏิหาริย์ธรรมบ่ได้เกิดขึ้นทุกเวลา ธรรมมาปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นกับผู้มีบุญที่ยังบ่ถึงฆาตเท่านั้น ถ้าอยากรู้ว่าตนเองมีบุญบารมีแค่ไหนให้ดูในเวลาที่ตนเองตกอยู่ในภาวะคับขัน เมื่อนั้นจะเห็นปาฏิหาริย์แสดงออกมา บุญบันดาลคุ้มภัย"
....หลวงปู่ชอบ ฐานสโม




“มนุษย์สมบูรณ์แบบ”
..ของมึนของเมา เขามีเขาเป็น ไปตามธรรมชาติของเขา รสชาติเขาเป็นแบบนั้น เราต้องการ เราไปดื่ม ไปกินเข้า มันก็เป็นไปตามธรรมชาติของเขาหละ คล้ายกับของอย่างอื่น ซึ่งเราใช้อยู่นี้หละ มันก็รสชาติของเขา มีประจำอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ อย่างเกลือมันก็เค็ม ใครไปดื่มไปกิน มันก็เค็มหละ อย่างพริกนี้ มันก็เผ็ด อย่างบอระเพ็ดมันขม เราไปกินเข้า มันก็ขมอยู่อย่างนั้นหละ แต่เราจะไปตำหนิเขาก็ไม่ได้ ต้องตำหนิตัวของเรา ของอย่างอื่นก็เหมือนกัน ฉะนั้น ในศีล ๕ นี้ ท่านจัดว่าเป็นมนุสสธรรม ถ้าใครมีศีล ๕ ประจำ เรียกว่า เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์แบบ ถ้าใครขาดศีล ๕ ก็เรียกว่า ยังขาดตกบกพร่อง เป็นมนุษย์ ยังไม่เต็มที่..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ธรรมะเป็นของยอดเยี่ยม




พระหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พูดเรื่องความขลังไว้ดังนี้.....
"ทุกวันนี้พระองค์ไหนมีคนแห่ มันถึงจะขลัง ไปที่ไหนมีคนห้อมล้อม แล้วขลัง
ถ้าไม่มีคนห้อมล้อมแล้วจืดชืด ใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นของขลัง อยู่ที่ไหนก็ขลังหมด อยู่คนเดียวก็ขลัง อยู่กับใครก็ขลัง ขลังตลอดเวลา
เพราะเรื่องของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นเรื่องของโลกของกิเลส ไปไหนต้องแห่กันไป
ขลังนะ อาจารย์องค์นั้น มีลูกศิษย์ บริษัท บริวารมาก ขลังในตัวเองไม่ดู ทำตัวให้ดีสิ
คนมีพุทโธ นั่นแหละ
คนขลังอยู่ตรงนี้
พุทโธ คือพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
พอพุทโธแย็บขึ้นมาภายในใจ นั่นแหละ! ความขลังอยู่ตรงนั้น"




"ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปแค่นั้นเอง"
....โลกอันนี้เป็นโลกต่อสู้ ชีวิตอันนี้เป็นชีวิตต่อสู้ ให้ทำจิตทำใจของเราให้เป็นนักต่อสู้ ทุกข์ยาก อดอยาก เหน็ดเหนื่อยสักเพียงใด ต่อสู้เอา
โลกอันนี้ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง
โลกอันนี้ไม่ใช้ที่อยู่ของเราหรอก เราเพียงเดินผ่านมา แล้วเราก็กำลังจะผ่านไป.
"หลวงปู่แบน ธนากาโร




"..เรื่องกามกิเลส
ต้นเหตุแห่งกามกิเลสต้นตอมันอยู่ตรงไหน
ให้พิจารณาตรงนั้น อย่าอ้อมค้อม
ให้ตีให้แตกด้วยอริยสัจ
ชนะอันนี้ได้ ชนะได้หมดท่านว่า
ไม่ชนะอันนี้อย่ามาคุย คุยได้ก็ไม่รู้เรื่อง
นี้แหละสุดยอดแห่งกรรมฐาน
มนุษย์สร้างภพสร้างชาติก็เพราะตัวนี้แหละ
ไม่พิจารณาตัวนี้จะพิจารณาอะไร.."
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท




"..คนจะบรรลุธรรมะ จะได้เห็นธรรมะ ต้องรู้จักว่าธรรมะอยู่ตรงไหนเสียก่อน ถ้าธรรมะอยู่ที่กาย ก็ต้องมาดูที่กายของเรา ดูตั้งแต่นี้ลงไป เอาอะไรมาตรวจดูตรงนี้ เอานามธรรมคือตัววิญญาณธาตุดูกายนี้ ไปดูที่อื่นไม่พบ เพราะความสุขความทุกข์เกิดจากที่นี่
หรือใครเห็นความสุขเกิดจากต้นไม้มีไหม เกิดจากแม่น้ำมีไหม เกิดจากดินฟ้าอากาศมีไหม ความสุขความทุกข์เป็นความรู้สึกทางกายทางใจของเรานี่เอง
ฉะนั้น พระพุทธองค์ท่านให้รู้จักธรรมะ ให้มาดูธรรมะที่กายของเรานี้ คือธรรมะอยู่ที่นี่ จงมาดูที่นี่ อย่างท่านอาจารย์ท่านสอนนี้ ท่านให้มาดูที่ตัวธรรมะ แต่เราเข้าใจว่าตัวธรรมะอยู่ที่หนังสือ จึงไม่เจอ
ถ้าดูหนังสือก็ต้องน้อมเข้ามาในนี้อีก จึงจะรู้จักธรรมะ อย่างนี้ให้เข้าใจว่า ธรรมะที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่ อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจนี้ ให้เอาใจนี้พิจารณากาย นี้เป็นหลักการพิจารณา.."
๘๔ พระธรรมเทศนา
หลวงปู่ชา สุภัทโท




"เจริญสติ"
การปฏิบัติจึงมองข้ามเรื่องของการเจริญสติไปไม่ได้ เจริญสติเพื่อให้เกิดสมาธิ เพื่อให้ใจสงบ เมื่อใจสงบแล้ว ก็จะสามารถพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ว่าไม่สวยไม่งามได้ ถ้าไม่มีความสงบก็จะไม่สามารถพิจารณาได้ เพราะจะไม่มีกำลังที่จะพิจารณา จะถูกกำลังของกิเลสตัณหาดึงไปให้เห็นว่าเที่ยง ให้เห็นว่าสวยงาม ให้เห็นว่าสุข ให้เห็นว่าเป็นของเรา เป็นตัวเรานั่นเอง
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในสติปัฏฐาน ๔ นี้ ก็คือการเจริญสติ การเจริญสมาธิ และการเจริญปัญญานี่เอง ผู้ที่ศึกษาอ่านพระสูตรนี้ จึงต้องรู้จักแยกแยะว่า ทรงแสดงหลักธรรมนี้ในส่วนไหน.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




“ตำหนิตัวเอง”
..ส่วนพระพุทธองค์ท่านรู้แล้ว ทรงห้ามไว้หลายพันปีมาแล้ว มุสาฯนี้ ก็คือความไม่ซื่อสัตย์สุจริต อันนี้มันก็ผิดกันอยู่แล้ว ผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งศีลธรรมด้วย ก็ส่วนสุราฯนี้ ของมึนเมาต่าง ๆ ยาพิษต่าง ๆ พระพุทธองค์ก็ห้ามไว้หลายพันปีมาแล้ว แต่คนก็ยังไม่เชื่อ ทำกันอยู่อย่างนั้นหละ อันนี้เราจะไปตำหนิติโทษใครทีนี้ ตำหนิพระพุทธเจ้าหรือ พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามไว้แล้ว แต่เราก็ทำเอง ความจริง ก็น่าจะตำหนิตัวเอง ถ้าเราไม่ดื่ม ไม่กิน ไม่ใช้ มันก็ไม่เป็นอะไร เราก็อยู่เฉย ๆ แต่แล้วบางทีก็ไปตำหนิของเหล่านั้นหละ ยาพิษ ยาเบื่อ ยาเมา อย่างโน้นอย่างนี้ ยามันก็ไม่เป็นอะไรหรอก เอามาไว้ เอามาถือไว้ นอนทับอยู่ มันก็ไม่เมา ไม่มืนหรอก อย่างเหล้าอยู่ในขวดเอามาถือไว้ ถือตลอดวัน ตลอดเวลา มันก็ไม่เมา ถ้าเราไม่ดื่มมัน ความจริง ก็คงจะตำหนิตัวเองนั้นหละ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ธรรมะเป็นของยอดเยี่ยม



"จะเชื่อใคร"
วันนี้มีโยมมาถามเรื่องภาวนาเสร็จ เธอก็บ่นว่า บางทีภาวนาไปก็เบื่อๆ
พระอาจารย์ : พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ไม่เห็นท่านเบื่อเลย จะเชื่อใคร เชื่อกิเลสหรือเชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อพระพุทธเจ้า
มันส์จะตาย ภาวนานี้สนุกนะ ท่านภาวนาทุกวันทั้งวันทั้งคืน ท่านสงบของท่าน เรากลับเบื่อ ไปเชื่อมันทำไมกิเลส เราต้องนึกถึงพระพุทธเจ้ามั่งซิ
นึกถึงครูบาอาจารย์ ทำไมชอบนึกถึงแต่กิเลสอยู่เรื่อยๆ เวลากิเลสโผล่ขึ้นมาก็ต้องเอาพระพุทธเจ้าขึ้นมาสู้มัน เราเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าไม่ใช่ศิษย์กิเลส เราไม่ฟังกิเลส เดี๋ยวไม่ชนะมันนะ ถ้าเชื่อมันก็จบ เชื่อมัน มันก็เอาไปเลย ทีเวลาดูทีวีนี้มันส์เหลือเกิน ต้องฝืนมันอย่าไปทำตามมัน ต้องสู้มัน ต้องเห็นว่ามันเป็นข้าศึกของเรา ทำตามกิเลสก็เท่ากับให้มันมาฆ่าเรา เปิดประตูให้ข้าศึกเข้าเมือง.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





"พิธีการอะไรต่ออะไรทั้งหมดนี่
นี่ จะเข้าบ้านจะอะไรก็ต้องมีพิธีการ
จะยกบ้านก็ต้องมีพิธีการ ต้องดูฤกษ์ดูยาม
ดูไปแล้วถ้าหากว่าได้รับความสะดวกสบายในการ
อยู่อาศัย นี่ ก็เรียกว่าได้ทำอย่างนั้นมันถูกต้อง
เป็นเพราะอันนั้น ไม่ได้คิดถึงว่าบุญกุศล
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ไม่คิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า
ฤกษ์ดีคืออะไร คือมีการทำความดีอยู่
เว้นจากความชั่วด้วยประการทั้งปวงนั้นแหละ
ในขณะใดขณะนั้นเรียกว่าฤกษ์ดี นี่
ไม่เห็นว่าต้อง 9 นาฬิกา 9 นาที
9 นาฬิกา 39 นาที ไม่เห็นมี
นาฬิกามันจะเป็นฤกษ์เป็นยามอะไร
ไม่ไขลานมันก็หยุด
ฤกษ์งามยามดีมันอยู่กับการกระทำของเรานี่
ฤกษ์มันไม่งามยามมันชั่ว
ก็อยู่กับการกระทำของเรานี่เหมือนกัน
ความเป็นมงคลหรือความเป็นอัปมงคล
อยู่ในเรานี่ทั้งนั้น
เพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนา
เรื่องฤกษ์งามยามดีเอาไว้ นี่
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
คือการกระทำที่ดีทางกาย
การกระทำที่ดีทางวาจา
การกระทำที่ดีทางใจ
อันนี้ล่ะฤกษ์ดี
ขณะใดมีการกระทำความดี
ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
นั่นล่ะ ขณะนั้นฤกษ์ดีของเรา
ขณะใดมีการทำความไม่ดี
ทำความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ
นั่นล่ะ ฤกษ์ชั่ว"
หลวงปู่แบน ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร





ขอความไม่มี จงอย่ามีแก่ข้าพเจ้า
.
ครั้งหนึ่งในสมัยก่อน หลวงปู่ลี ได้พาลูกศิษย์ในวัดไปเก็บมะกอกป่า เอาถังเหลืองไปด้วยเพื่อใส่มะกอกป่า ปรากฏว่า ได้มะกอกป่ากลับมาเยอะพอสมควร จากนั้นองค์หลวงปู่ก็บอกกับลูกศิษย์ว่า เอ้า อยากได้อะไรก็อธิษฐานเอา ลูกศิษย์เกิดความสงสัยว่า แค่เก็บมะกอกป่า อุตส่าห์มาเก็บ ก็ไม่ได้เตรียมอะไรให้ยุ่งยากสักเท่าไหร่ มะกอกเราก็ไม่ได้ปลูก แล้วจะได้บุญมากขนาดไหนหนอ จึงได้กราบเรียนถามองค์หลวงปู่ว่า อย่างเช่นอะไรครับ?
.
หลวงปู่ลี เมตตาสอนว่า เช่น”ขอความไม่มี จงอย่ามีแก่ข้าพเจ้า”
.
(การทำบุญ ไม่ใช่ลักษณะทุนนิยม ไม่ใช่การลงทุน ผลบุญจะได้มากหรือน้อย สำคัญที่เจตนาคือแรงศรัทธาและความตั้งใจเป็นใหญ่ ผลบุญที่สนองกลับมานั้นมากมายมหาศาลแค่ไหน เหตุการณ์นี้จึงทำให้ลูกศิษย์ได้คติเตือนใจว่า องค์หลวงปู่ท่านเคยให้สร้างกระต๊อบเล็กๆไว้สำหรับให้พระพักภาวนาบนภูผาแดง บางทีอานิสงส์ผลบุญอาจจะได้มากกว่าคนที่สร้างตึกสูง ๑๐ ชั้น แต่แรงศรัทธาของเขาอาจจะยังไม่เต็มร้อยก็ได้)
ตอบกระทู้