"ถ้าหากอยากจะเห็นพาลและบัณฑิตแล้ว ให้เอากระจกส่องหน้าของเรา ก็จะพบได้ มันมีครบอยู่ในตัวเรานี่เอง" -:- หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี -:-
"การแผ่เมตตา ต้องแผ่เป็นอัปปมัญญา ถ้ามีว่าคนนี้รักให้มากๆ คนไม่ชอบใจไม่ให้ แสดงถึงความมีอคติ ต้องให้เท่าเทียม ไม่เจาะจงให้หมดใจ จึงเป็นกลาง ให้หมดแหละ แผ่เมตตาให้เต็มดวง พ่อแม่จะได้บุญน้อยลงไปไหม ไม่หรอก เหมือนพระอาทิตย์ส่องโลก มันก็สว่างไปหมด ทั่วทุกมุมโลก ทุกคนก็เห็นความสว่างเท่ากันหมด" -:- หลวงปู่ท่อน ญาณธโร -:-
ให้ปฏิบัติให้มันเกิดขึ้นในใจตัวเอง มันจะรู้ขึ้นมาเอง จิตสว่างขึ้น ๆ มันจะมีให้เห็น เรื่องภายในผุดขึ้นมา ไม่ว่าเรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง จิตมันจะฟอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา การภาวนาหากไม่มีหลักแล้ว มันมักจะไปตามสัญญา ตามหนังสือ ตามครูบาอาจารย์ว่า หากรู้ได้ด้วยตัวเองจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย มันจะไปตามเรื่องของสมาธิ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงให้เอาศีล สมาธิ ปัญญา เพราะสติสำคัญมาก ยึดคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่าทำเล่น แล้วมันจะเห็นความจริง ส่วนคำพูดใครก็พูดได้...ถ้าพูดตามหนังสือ แต่ใจของเรามันโลเลอยู่นั่น ยังกับไม้ปักรั้ว ลมพัดมาก็ล้มไปหมด แต่โอชารสที่ซึมซาบเข้าในจิตใจแล้วไม่รับรู้เลย การปฏิบัติมีแยบคายหลากหลายกว่านั้น ให้ปฏิบัติอย่าทำเล่น ...................................................................... หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี คัดจากหนังสือ เศรษฐีธรรม
ถ้าตั้งใจทำจริงๆ ทำไมมันจะไม่เห็น เพราะของมันมีอยู่อย่างนั้น ของดีของชั่วก็มี หากตั้งใจปลดเปลื้องความทุกข์ออกมันก็ต้องได้ มันไม่เห็นล่ะ ขนาดความคิดที่คิดอยู่ในแต่ละวันหนี่งๆ เรายังจำไม่ได้ จะพูดไปไกลทำไมถึงเรื่องขนาดข้ามภพข้ามชาติ วันหนี่งๆ คิดดีคิดชั่ววันละกี่ครั้ง ให้นำมาใคร่ครวญดู นี่หากกิเลสขึ้นจับจองอยู่บนหัวแล้ว มันจะคิดล่ะว่า บาปไม่มี บุญไม่มี มันเป็นเช่นนั้นทุกวันนี้ มันมักพาวนเวียนอยู่แต่เรื่องสกปรก ดูอย่างเป็ด มันไม่เคยเห็นหรอกแม่น้ำใหญ่สมุทรสาครน่ะ พอเห็นแค่น้ำครำมันก็ตีปีกพรึ่บๆ ล่ะ อันนี้เหมือนกัน จิตใจคนเราไม่ต่างกัน มักจะวิ่งอยู่แถวนี้ล่ะ ที่ๆจะทำให้เกิดมันก็อยู่ตรงนี้ หากไม่แก้แล้ว ก็จะเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่นั่น แก้ไม่ได้หรอก ให้เร่งความพากความเพียร หัดสติ หัดให้เป็นมหาสติมหาปัญญา พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ อธิจิต อธิปัญญา ไปอย่างนั้น... ให้มันลงดูสิ ให้มันคิดให้ทันดูสิใจตนเอง ความนึกความคิดตนเองน่ะ ให้คิดพิจารณาใคร่ครวญดู ........................................................................... หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เทศน์ในพรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๑
“เหล่ามารทั้งหลายไม่เท่ากับมารในหัวใจคนหรอก มารข้างนอกไม่ต้องกลัว ให้มันมาเถอะ กลัวแต่มารในตัวเรานี่แหละ ให้เอาออกเสีย” หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก
"การเจริญมรรค" การทำความเพียรนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ต่อผลต่างๆที่เราต้องการกัน สิ่งที่เราตัองการทำความเพียรนี้ คือการเจริญมรรคดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนไว้ ในกิจพระอริยสัจ ๔ ว่า มรรคต้องเจริญให้สมบูรณ์ ตอนนี้มรรคของพวกเรายังไม่สมบูรณ์กัน เราจึงต้องมาเร่งความเพียร มาเจริญมรรคให้สมบูรณ์ เพราะวันเวลาของเราจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่รีบเร่งทำความเพียรเสียแต่บัดนี้ ต่อไปเวลาจะไม่มี เวลาหมดแล้ว เราก็จะไม่สามารถทำความเพียรได้ เราจึงต้องคอยเตือนใจอยู่เรื่อยๆ ว่าเรากำลังเดินเข้าหาความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญมรรค ถ้าเราไม่มีมรรค เราจะไม่มีเครื่องมือที่จะมาใช้ในการดับทุกข์ได้ ดังนั้น เราจึงต้องพยายามใช้เวลาอันมีค่าของเรานี้ ให้ไปกับการเจริญมรรค ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างพระภิกษุ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอน ให้เจริญมรรคตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย มรรคที่สำคัญข้อแรกก็คือ “สติ” เพราะก่อนจะมีสมาธิ มีปัญญาได้ จำเป็นจะต้องมีสติก่อน ถ้ามีสติแล้ว เวลานั่งสมาธิใจก็จะสงบ พอใจสงบแล้ว เวลาใจเกิดความอยาก เกิดความทุกข์ขึ้นมาก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน แล้วก็จะสามารถนำเอาปัญญามาละความอยาก มาดับความทุกข์ได้ มรรคจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ในการที่จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์. ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
“ไปไหนให้มีวัด” อย่าให้ปราศจากวัด ..อย่างท่านอาจารย์ฝั้นเคยว่า วัดที่นั่น วัดที่นี่ วัดอยู่ภายในใจ นั่นท่านพูดก็ถูก ให้มีวัดอยู่ภายในจิตใจเสมอ วัตรปฏิบัติ มีสติ มีปัญญา ศรัทธา ความเพียร ใคร่ครวญดูเหตุดูผล นั่งรถไป ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ใครจะว่าบ้าก็ตาม ว่าบอก็ตาม ข้อสำคัญ ผู้รับผิดชอบเรานี่ คือเราเอง อย่าเป็นบ้าก็แล้วกัน ถ้าเราไม่เป็นบ้าล่ะ เป็นร้อยๆ คนจะมาว่าก็ตาม มันบ้าทั้งนั้นล่ะคนร้อยคนนั้น ร้อยๆ คนนั้นน่ะ เราไม่บ้าซะคนเดียว เราก็สบาย อันนี้เป็นจุดสำคัญ พากันนำไปประพฤติปฏิบัติ.. ............................................................................. โอวาทคติธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์ (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
“พวกเปรตนี้” เวลามีชีวิตอยู่..ไม่ชอบทำบุญ ..ชอบทำบาป โลภมาก ถ้ามาวัดก็เอาของมานิดหนึ่ง แต่ขากลับนี่เอาของ..เต็มปิ่นโตกลับไป อย่างนี้ลักษณะของพวกเป็นเปรต เข้าใจไหม คือเอาแต่ได้อย่างเดียว แล้วเอาโดยวิธีไม่ถูกต้องคือไปโกงเขา ไปขโมยของๆเขา คนมาวัดนี้ ถ้าเอาของกลับจะเอาไปได้ ถ้าเป็นของที่วัดให้แล้ว พระให้แล้ว อย่างนี้ไม่เป็นเปรต เป็นเปรตก็ต่อเมื่อเขาไม่ได้ให้ แล้วก็ไปหยิบของๆเขา ไปแย่งของคนอื่นเขา อย่างนี้ถึงจะไปเป็นเปรต นี่คือลักษณะของเปรต แต่ถ้าทำบุญ ทำทาน รักษาศีล รับรองได้ว่าตายไป ไม่ไปเป็นเปรตอย่างแน่นอน ไปเป็นเทวดาร้อยเปอร์เซ็นต์ อานิสงส์ของผู้ท่ีได้ทำบุญ ไม่ทำบาป ตายไปก็ได้กลับมาเป็นคนร่ำคนรวย มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณผ่องใส มีอาการครบ ๓๒ มีร่างกาย สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีอายุยืนยาวนาน นี่คืออานิสงส์ที่เกิดจากการทำบุญ ไม่ทำบาป.. ............................................................................. โอวาทคติธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์ (พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต)
“เสมอเหมือนกัน” ..ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่มีสังขารปรุงแต่ง มีรูปมีนามแล้ว ก็ต้องแปรปรวนอยู่อย่างนั้น เกิดแล้วก็ต้องแก่ แก่แล้วก็เจ็บ เจ็บแล้วก็ตาย แม้ไม่เจ็บก็ตาย เมื่อสรุปความย่อ ๆ แล้วเมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ก็บ่ายหน้าไปสู่ความตาย หรือความฉิบหาย อยู่อย่างนี้ทุกรูปทุกนาม ของบรรดาผู้เป็นมนุษย์ ผู้มีชีวิต แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นหละ.. หลวงปู่ศรี มหาวีโร
“การฉัน” ..ระยะเวลาที่เราฉัน บางรูปไม่รู้อะไร พูดโหวกเหวกไม่รู้จักความ การฉัน ท่านก็ให้ฉันเงียบ ๆ ไม่ให้เคี้ยวมีเสียงจั๊บ ๆ แจ๊บ ๆ ไม่ให้อ้าปากสูง ไม่ให้แลบลิ้น ไม่ให้อะไรต่ออะไร เพื่อรักษากิริยามารยาท ให้ฉันด้วยความสำรวมระมัดระวัง อันไหนไม่ควรฉัน ก็ไม่ต้องฉันหละ ของทั้งหลายที่ฉันนั้น ของที่พอจะกะเทาะ จะฉีก หรือเป็นเครือ เป็นเถา อย่างผักต่าง ๆ ที่มันจะเกิดขึ้นอีกได้ อันนี้ ท่านให้มีการ กัปปิยะ ก่อน ให้มีโยมมาว่าเป็นสักขีพยาน ว่ากัปปิยะแล้ว ว่าเป็นของควรแล้ว จึงฉันได้ ขนาดนั้นนะ เรื่องการฉัน ฉะนั้น บาตรท่านจึงว่าเป็นคู่ชีวิตของพระ ต้องรักษาให้ดี ตั้งไว้ใกล้ ๆ จะตกก็ไม่ได้ ให้กระทบกระเทือนของอื่นก็ไม่ได้ ตอนค่ำก็ต้องรักษาไว้เป็นคู่ นี้เรียกว่าเป็นการครองบาตร ครองผ้า ผ้า ๓ ผืนนี้ ก็รักษาไว้ให้ดี เจ้าของอยู่ที่หนึ่ง ผ้าอยู่ที่หนึ่ง ไปแจ้งอยู่ที่อื่นไม่ได้ ต้องเสียสละใหม่ แสดงอาบัติใหม่ แสดงว่าผ้าล่วงราตรี ไม่ได้อยู่กับตัวเองจนแจ้ง ยกตัวอย่าง บางครั้ง อาจจะมีเหตุเกี่ยวกับเข้าห้องน้ำ ผ้าก็ต้องเอาไปด้วย ผ้าสังฆาฏิ สบง จีวร ถ้าเราจะไปแจ้งก่อน เมื่อเราเข้าห้องน้ำ ถ้าไม่พอจะแจ้งก็เอาไว้ก็ได้ หรือถ้าหากมีฟ้ามีฝน ก็ต้องเก็บเอาไว้ให้ดี ทิ้งไม่ได้ บาตร สบง จีวร สังฆาฏิ เหล่านี้ อันนี้พระพุทธองค์ พระองค์ท่านสอนนักสอนหนา คืออยากให้รักษาให้ถูกต้องตามระเบียบ แบบแผน ตามพระวินัย.. หลวงปู่ศรี มหาวีโร เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน
"การถอนตัว" ออกจาก "สมมุติ" ด้วย "สมถะ" ให้พิจารณา "สังขารร่างกาย" พิจารณา "จิตใจ" นี้เท่านั้น ว่าทั้งสองอย่างนี้มัน "ไม่ใช่ของเรา มันเป็น ของสมมติ "ให้แยก กาย กับ จิต" "กาย" เป็นที่อยู่ที่อาศัยของ "จิต" มันเป็น "รูปธรรม" เมื่อ "รูปธรรม" มี "นามธรรม" ก็อาศัยอยู่ "ความเป็นจริง" มัน "กลมกลืน" เป็นอันเดียวกัน ให้ภาวนาว่า "พุทโธ" ทำ "จิต" ให้อยู่กับ "ลมหายใจ" ให้เอา "จิต" มารวมอยู่ที่ "จิต" ให้เอา "จิต" ให้รู้จัก "ลม" ภาวนา "พุทโธๆๆๆๆ" "ปล่อยวาง" ข้างนอก ให้หมด อย่าไปเกาะกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งนั้น ให้ปล่อย ให้เป็น "อันเดียว" รวมจิต ลงที่ "อันเดียว" เมื่อมันไม่ ส่งจิตไปทางอื่นแล้ว มัน "จะรวม" อยู่ที่นั่น เมื่อพบเช่นนี้ เราก็มี "อันเดียว" เท่านั้น เหลือแต่ "ความรู้อันเดียว" ให้ "รวมจิต" เข้ามาเป็น "หนึ่ง" นี้คือธุระหน้าที่ของเรา... พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน กล่าวไว้ว่า .... "ทำอะไรมีปัญหาไม่ราบรื่น มีอุปสรรคเสมอ เนื่องมาจากกรรมเก่าด้วยและกรรมใหม่ผสมด้วย กรรมใหม่ตั้งขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตามถ้าเราเป็นนักสู้ ทางขรุขระก็ไปตรงนี้ ทางสะดวกก็ไปตรงนี้ ถึงสายทางไปตรงนี้ จะว่าอย่างไร ถึงเวลาระยะที่ควรจะผ่าน มันก็ผ่านได้เอง ก้าวไม่หยุดนะ ต้องเป็นนักสู้สิ"
“สำรวม ระมัดระวัง” ..ฉะนั้น เรื่องข้อวัตรต่าง ๆ เหล่านี้ ให้เราพยายามสังวรระมัดระวังไว้ ทั้งพระใหม่พระเก่านั้นหละ ต้องดูกัน ต้องสังเกตกัน ผู้ใดทำไม่ดี ก็ต้องให้แนะนำกัน บอกกัน แต่ว่า เมื่อมีผู้แนะนำแล้ว ระวัง อย่ากริ้วอย่าโกรธให้กัน ถ้าตัวเองผิดแล้ว ก็ให้ยอมแก้ไข โชคดีนะ ที่ท่านไปแนะให้ ไปบอกให้ เราไม่ได้จ้างท่านสักสตางค์ เอ้า.. เราไม่ดีแล้ว เราก็ยอมแก้ไขเลย ถ้าหากท่านไปพูดแล้ว สำคัญว่าตัวเองดีมาก่อน ก็เลยเกิดโกรธเกลียดแค้น เกิดไม่ดีขึ้นมา คล้าย ๆ กับว่าตัวเองนี้แย่ ทำไมมาพูดว่าแบบนั้นแบบนี้ นั่น..เป็นลักษณะของความเห็น ของทิฏฐิ ซึ่งสัมปยุตไปด้วยอำนาจฝ่ายต่ำ ที่ดึงเราไปในทางต่ำ.. หลวงปู่ศรี มหาวีโร เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน
"เรานั้นแล เป็นผู้ก่อเรื่องให้ตัวเราเอง ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อะไรมาเป็นผู้ก่อเรื่องให้เรา อันนั้นเป็นแต่เพียงต้นเหตุอันหนึ่ง ที่จะให้จิตไปคิดไปยึดเอาสิ่งนั้น แล้วมาเกิดอารมณ์เป็นข้าศึกแก่ตนเท่านั้น ความเป็นข้าศึกอันแท้จริงก็คือ ความคิด ความปรุง ความสำคัญมั่นหมายไปในทางที่ผิดของจิตนั้นแล จึงเป็นการสั่งสมความทุกข์ขึ้นในขณะที่จิต คิดไปในทางที่เป็นกิเลส ที่ท่านเรียกว่า สมุทัย เป็นเครื่องผลิตทุกข์" พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
|