พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
เสาร์ 17 มี.ค. 2018 5:36 am
"อะไรที่ผ่านไปแล้ว
ก็อย่าเก็บเอามาคิด
เมื่อหาบทเรียนจากมันได้แล้ว
ก็ปล่อยให้มันผ่านเลยไป"
-:- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล -:-
"ผู้มีกุศลในใจ คือมีบุญในใจ หนักแน่น
ใครด่าว่าติเตียน ก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ
ไม่เกลียด เพราะว่าใจมีบุญเป็นเครื่องอยู่
ตรงกันข้ามกับใจที่มีกิเลสเป็นเครื่องอยู่
กิเลสอยู่ในใจใคร ก็มีแต่ ปั่นจิตใจให้เดือดร้อน
วุ่นวาย"
-:- หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ -:-
"ความพอใจในสิ่งที่มีอยู่
เป็นทรัพย์อันประเสริฐ"
-:- หลวงปู่ขาว อนาลโย -:-
ที่ให้ภาวนาพุทโธนั้น
เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ
ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้ว
มันสงบวูบลงไป นิ่ง สว่าง รู้ตื่น เบิกบาน
พอหลังจากนั้นคำว่า พุทโธ มันก็หายไป
แล้วทำไมมันจึงหายไป เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว
จิตกลายเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ
เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา
.
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
“ไม่มีใครรอดพ้น”
..ถ้าพูดถึงเรื่องว่าธรรมดา มันเป็นของตายตัว หรือเรียกว่าเป็นของจริง ตั้งแต่เรายังไม่ทันเกิดมาก็เป็นอยู่อย่างนี้ เกิดมาแล้ว ก็จะเจออยู่อย่างนี้หละ เรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย แม้เราหนีไปแล้ว ตายไปแล้ว ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เท่าไหร่กัป เท่าไหร่กัลป์ ก็เรียกว่าไม่มีใครแก้ไขได้ ท่านจึงให้พิจารณาในเรื่องของธรรมดา ไม่มีใครรอดพ้นไปได้..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
คนจะก้าวล่วงทุกข์ได้เพราะวิริยะความเพียร เพียรทำทุกสิ่งทุกอย่าง
ความดีความงามทุกสิ่งทุกอย่างควรทำความเพียร ชื่อว่าคนไม่ประมาท
ผู้ที่ข้ามมหานรกพ้นสมมติได้ก็เพราะไม่เป็นผู้ประมาทในคุณงามความดี
ทางบุญทางกุศล คนประมาทมันมักทำบาปทำกรรมใส่ตน
คนประมาทชีวิตจะยาวร้อยปีก็ตาม ก็เหมือนกันกับคนตายแล้ว
คนไม่ประมาทชีวิต เขาจะเป็นอยู่วันเดียว
ก็ยังดีกว่าผู้ประมาทเป็นอยู่ร้อยปี นั่นประเสริฐกว่า
.
หลวงปู่ขาว อนาลโย
“ต้องระมัดระวังไว้”
..ในระยะที่เรามาประพฤติปฏิบัติความดี แม้รู้จักเท่าไหร่ ก็ต้องให้ปรึกษาหารือหมู่คณะเสียก่อน ว่าใช่หรือไม่ใช่อย่างไร สำหรับผู้ฉลาด ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าสำคัญว่าตัวเองโง่ ยังดีอยู่นะ เพื่อจะได้ศึกษาหารือตัวเองให้ดี ให้ฉลาดต่อไป แต่ถ้าสำคัญว่าตัวเองดีแล้ว หรือตัวเองรู้แล้ว ตื่นแล้ว นั่น..หาโอกาสยาก จะต้องอยู่อย่างนั้นตลอดไป ถ้าสำคัญว่าตัวเองดีแล้ว ไม่มีอะไรมาเพิ่มอีก แสดงว่าดีเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากใครไปว่าบ้าง ไปตำหนิบ้าง อะไรบ้าง ว่ารูปนั้นวิธีนี้ ก็แสดงอาการขึ้นมาเลย ยกคอเป่า เหมือนงูเห่า งูสา หรือถ้าหาก ไม่แสดงอาการออกมาทางปาก ก็แสดงอาการอยู่ภายใน เร่าร้อนอยู่ภายใน เรื่องเหล่านี้ ต้องระมัดระวังไว้นะ เรารักษาจิตใจเรานะเดี๋ยวนี้ อย่าให้มันวิ่งไปหาเรื่องคนอื่น อย่าให้มันวิ่งไปกระทบคนอื่น..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน
คนเราที่มันทุกข์อยู่นี้
เพราะไม่ยอมรับความจริง
ความจริงมันมีอยู่ แต่มองไม่เห็น
ตามันไม่ได้บอดหรอก...ใจมันบอด
.
หลวงปู่ชา สุภัทโท
“เครื่องมือก็คือสติ”
ถาม : ฝึกดูอารมณ์ตัวเองได้ไหมครับ
พระอาจารย์ : การฝึกดูอารมณ์นี้ถ้าหยุดมันไม่ได้ก็อย่าไปดูมัน การดูอารมณ์เพื่อหยุดมัน เช่นเวลาโกรธเราหยุดมันได้หรือเปล่า ถ้าหยุดมันไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปดูมัน ฝึกวิธีหยุดมันดีกว่า ต้องฝึกวิธีหยุดอารมณ์ วิธีจะหยุดอารมณ์ได้ก็ต้องใช้สติ พุทโธพุทโธพุทโธไป ดังนั้นก่อนที่เราจะไปดูอารมณ์ได้ เราต้องมีเครื่องมือไปหยุดมันให้ได้ก่อน ถ้าเราไม่มีเครื่องมือไปดูมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนจะไปจับลิงน่ะ แต่ถ้าไม่มีเชือกไปจับมัน ไปวิ่งไล่จับมันได้หรือเปล่า ไปหาเชือกก่อน ถ้าอยากจะจับลิงต้องไปหาเชือกก่อน หรือหากับดักก่อน แล้วล่อให้มันเข้าไปในกรงก่อน ต้องมีเครื่องมือ จะดูจิตได้ต้องมีเครื่องมือ เครื่องมือก็คือสติ ผู้ที่จะดูจิตได้นี้ต้องเป็นผู้ที่มีสติ สามารถหยุดจิตได้ก่อน เข้าสมาธิได้แล้ว อันนั้นน่ะถึงจะไปขั้นดูจิตได้ พอเวลาโกรธปั๊บก็หยุดมันได้ทันที เวลาโลภปั๊บก็หยุดมันได้ทันที แต่ถ้าไม่มีสติ หยุดมันไม่ได้เหมือนไม่มีเชือกน่ะ พอลิงมันจะวิ่งเราก็หยุดมันไม่ได้ ไปตามจับมันก็จับมันไม่ทัน มันเร็วกว่าเรา อารมณ์มันจะเร็วกว่าเรามาก ดังนั้นการดูจิตนี้ มันเป็นขั้นวิปัสสนา เป็นขั้นหลังจากสมาธิแล้ว ถึงจะดูจิตดูเวทนาได้ ดูกายได้เพื่อปล่อยวาง เพื่อหยุดความโลภ เพื่อหยุดความยึดติดในร่างกายในเวทนาในจิตได้ ดังนั้นต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นนี่ พระพุทธเจ้าท่านฉลาด ท่านสอนให้เรามีเครื่องมือก่อน ก่อนที่เราจะไปสู้กับกิเลสนี่ ให้หาอาวุธก่อน อาวุธที่จะฆ่ากิเลสทำลายกิเลส ขั้นแรกก็คือสติ ฝึกสติให้มาก แล้วเวลากิเลสโผล่ขึ้นมาก็หยุดมันได้ ถึงแม้มันจะไม่ตายก็หยุดมันก่อน แล้วขั้นที่ ๒ ถึงค่อยมาใช้ปัญญาฆ่ามันอีกที.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑
อาจารย์สุชาติ อภิชาโต
...เรื่องของการปฏิบัตินี้
ถ้าเราไม่เป็นคนกดปุ่ม
เป็นคนจุดชนวน มันจะไม่ไป
จะไม่ขับเคลื่อน
.
เหมือนกับรถยนต์
ถ้าเราไม่ใส่กุญแจ
และสตาร์ทเครื่องยนต์
รถยนต์มันจะไม่วิ่ง
มันก็จะจอดอยู่อย่างนั้น
.
นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ
ที่พวกเรายังเข้าไม่ถึงกัน
ก็เพราะว่าพวกเรา
"ยังไม่บังคับตัวเองให้ปฏิบัตินั่นเอง"
การปฏิบัตินี้มันต้องบังคับ
...................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา15/3/2558
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
“...ผู้ที่ภาวนาได้ยาก เพราะมองออกแต่ข้างนอก
ไม่ได้ดูใจตัวเอง จิตจึงไม่สงบ...”
คุณแม่จันดี โลหิตดี
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตแสดงธรรมโปรดหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
นักปฏิบัติสำคัญที่สุดต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ พยายามรักษาจิตให้เสมอ อย่าให้ขึ้นลงตามกิเลสที่มาก่อกวนการรักจิตให้เป็นปกติได้จะมีความสุขในการปฏิบัติ
จิตนี้เมื่อเราปฏิบัติถึงจุดแห่งผล อานิสงส์นั้นจะหาประมาณไม่ได้ การปฏิบัติทางจิตจึงเป็นความจำเป็นแห่งบุคคลผู้มีปัญญา
และไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ใด ธรรมะข้อหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ลึกลับที่สุด เป็นที่พึ่งถาวรแก่เราได้นั้น ก็คือ "อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ" พึ่งตน รู้ตน แล้วก็จะรู้ในสิ่งทั่วไป เพราะตัวตนนั้นแหละเป็นต้นเหตุของทุกสิ่ง"
คนโง่ถูกกิเลสกั้นใจไว้รอบด้าน
ย่อมไม่รู้จักธรรมภายใน ทั้งไม่เห็นธรรมภายนอกที่แท้จริง
ใจย่อมลอยไปตามเสียงที่โลกโฆษณา
แม้บุคคลผู้เห็นภายนอก แต่ไม่รู้เรื่องภายใน
ก็ลอยไปตามความนิยมที่โลกโฆษณา
ส่วนผู้ใดใจไม่ถูกกั้นด้วยกิเลส
ย่อมรู้จริงทั้งภายใน เห็นชัดทั้งภายนอก
ผู้นั้นเป็นตัวของตัวเอง ไม่ลอยไปตามเสียงโฆษณาที่โลกแต่งเติม
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมรู้จักเราอย่างแท้จริง
.
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
“หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง”
..เรื่องนามธรรม ได้แก่ด้านจิตใจ เขาก็ไม่ได้ตาย เขาก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ไปก่อใหม่ เกิดใหม่อยู่อย่างนั้น ก็เรียกว่าไม่มีของตาย เป็นแต่เพียงว่าแปรสภาพ ถ้าผู้ที่ท่านพิจารณาลงไปแล้ว เห็นชัดลงไปแล้ว หายสงสัย ท่านไม่ได้ตื่นเต้นหวาดเสียวอะไร ถือว่าเป็นธรรมดา..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพันและหมายมั่นให้สิ่งนั้น
กลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว
โดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคต ที่ยังมาไม่ถึงนั้น
เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีต ปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคต ปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้น จะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย
.
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
คนอื่นไม่ดี เราพอรู้ได้
แต่เราเป็นคนไม่ดีในการคิด การพูดและการทำ
ไม่ค่อยจะรู้เรื่องของตัว จึงหาทางแก้ไขยาก
ทำนองเรามองดูขนตาคนอื่นเห็นได้ชัด
แต่พอย้อนกลับมามองดูขนตาของเราเองเลยไม่เห็น
ต้องใช้กระจกเงาเข้าช่วยมองจึงเห็นได้
การมองดูความผิด ถูก ชั่ว ดีของตัวก็ต้องใช้ปัญญา
ซึ่งเปรียบกับกระจกเงาส่องเข้าหาตัวเราเสมอ
เราสังเกตคนอื่นอย่างไร ควรจะใช้ความสังเกตตัวเราในทำนองเดียวกัน
หรือมากกว่านั้น ถ้าใช้ความสังเกตสอดรู้ตัวเองดังที่ว่านี้
จะต้องเห็นจุดดีชั่ว ซึ่งแสดงอยู่ภายในตัวได้ชัด
และพอมีทางแก้ไขและส่งเสริมได้เป็นลำดับ
ในธรรมที่กล่าวมานี้คือ ธรรมที่ชี้บอกให้ค้นหาของดีในตัวของเราแต่ละราย ๆ
พยายามถอดถอนสิ่งที่ชั่วออกไป
.......................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
จากหนังสือ คำถาม คำตอบ ปัญหาธรรม
ตั้งใจดูสิ โลกนี้ว่าไม่อยู่ ถึงจะดีก็ไม่อยู่ ถึงจะชั่วก็ไม่อยู่
มันต้องเห็นธรรมเป็นแน่ มันจะผุดขึ้นมาในจิตเอง
เหมือนชาวนาเขาไปปลูกต้นไม้ หมากผลมันก็เกิดขึ้นเอง
เดินจงกรมภาวนาหรือนั่งสมาธิภาวนาบ่อย ๆ
ก็เกิดความเคยชินขึ้นเองเหมือนกัน เป็นธรรมดา
มันก็เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ เริ่มจากยากไปหาง่าย
เวลานี้พระกรรมฐานเหมือน “กรรมฐานนกเอี้ยง”
ร่าเริงเหมือนนกเอี้ยง เอาแต่เรื่องทางโลกมาคุยกัน
........................................................................
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ “ธรรมลี เศรษฐีธรรม” หลวงปู่ลี กุสลธโร
พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีธรรม โดยพระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร
...คือเรารู้เหตุผลของการ
ทำไมเราไม่ทำตามความอยาก
ทำไมเราต้องคิดไปในทางที่
ทำให้เราไม่อยาก
เช่นเราอยากได้อะไร
เห็นมันสวยมันงาม
เราก็ดูตอนที่มันเก่า
ของทุกอย่างที่เราซื้อมา
เวลาใหม่ๆอยู่ในร้านก็สวย
ซื้อมาสักพักก็เก่าแล้ว
.
เดี๋ยวมันก็กลายเป็นเศษขยะไป
กองเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด
ของพวกนี้ ..”กองขยะนี้”
เป็นของสวยๆทั้งนั้นแหละ
ถ้าลองมองย้อนกลับดู
ของต่างๆที่อยู่กองขยะนี้เป็นของที่
เขาขายในร้านทั้งนั้นแหละ
เสียเงินซื้อมากันทั้งนั้น
สวยงามต่างกันทั้งนั้น
น่าซื้อน่าดูน่าชมทั้งนั้น
.
พอซื้อมาเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป
เปลี่ยนกลายเป็นกองขยะไป
เป็นเศษขยะไป...
เราต้องมองในมุมกลับ
เราถึงจะสามารถทำให้เรา
ไม่อยากได้สิ่งต่างๆ
แต่ถ้าเราไม่มองในมุมกลับ
เราจะคิดว่า
มันจะสวยจะงามจะดี
มันจะเป็นของเราไปตลอด
.
แต่มันเป็นของเรา..เดี๋ยวเดียว
ถ้ามันสวยก็สวย..เดี๋ยวเดียว
หรือถูกใจก็ถูกใจ..เดี๋ยวเดียว
.......................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา14/3/3561
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
วัน คืน ปี เดือน กินไปทุกวัน ๆ ชีวิตใครจะมีมากน้อยเพียงไรก็ตาม วินาทีกินไป นาทีกินไป ชั่วโมงกินไป กินทุกวี่ทุกวันทุกเวล่ำเวลา หลับตื่นลืมตากินไปตลอดสาย แม้จะมีอายุกี่ล้านปีก็เถอะ เพราะมันถูกกินไปอยู่เสมอไม่หยุดไม่ถอยอย่างนี้มันต้องหมดไปได้ ชีวิตเป็นล้าน ๆ ก็เถอะ เพราะความกินอยู่เสมอ เวลานาทีกินไปอยู่เรื่อย ๆ กินไม่หยุดไม่ถอยก็ถึงจุดหมายปลายทางน่ะซิ แล้วก็สลายหรือทำลายไปได้
.
เวลานี้ชีวิตยังไม่หมด แม้กาลจะกินไปทุกวันทุกเวลา แต่ยังเหลืออยู่พอที่จะได้แบ่งทำคุณงามความดี หาสาระเป็นที่พึ่งของใจเราได้ในขณะนี้ จึงควรตื่นตัว ตายแล้วไปหาทำบุญทำทานที่ไหนกัน ตายแล้วถึงจะตื่นตัวมันตื่นไม่ได้ จึงเรียกว่า “คนตาย” รักษาศีลไม่ได้ ภาวนาไม่ได้ นอกจากจะเสวยผลที่เราได้ทำแล้วตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
.....................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
“ผลที่เกิดจากเหตุ”
ถาม: นมัสการพระอาจารย์ ใจของผมมันติดผลการเรียนมากครับ พระอาจารย์ ถ้าผลสอบออกมาเมื่อไหร่ และวิชาไหนมันไม่ได้ท๊อป ใจมันจะทุกข์มากเลยครับ ขอความเมตตาพระอาจารย์แนะคติ เพื่อเป็นการแก้ใจปุถุชนคนหนาอย่างผมด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
พระอาจารย์: คือเราไปตั้งใจที่ผลซึ่งเป็นจุดที่ไม่แน่นอน เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับผลได้ พอมันไม่ได้ดังที่เราตั้งเป้าไว้เราก็จะเสียใจได้ งั้นเราควรจะเปลี่ยนใจเราไปตั้งที่เหตุดีกว่า เหตุก็คือการเรียนของเรา การตั้งใจเรียน ทำการบ้าน ดูหนังสือของเรา อันนี้เราสามารถควบคุมได้ ทำให้มันเต็มที่ได้ ทำให้มันเต็มร้อยได้ อันนี้เอาใจเราไปตั้งที่เหตุก็แล้วกัน แล้วผลมันจะตามมาจากเหตุ ถ้าเหตุมันเต็มร้อย ผลมันก็ต้องเต็มร้อย ถ้าเหตุมันไม่เต็มร้อย ต่อให้อยากให้ผลเต็มร้อย มันก็ไม่เต็มร้อย แล้วเราก็อาจจะเสียใจได้ แต่ถ้าเราตั้งที่เหตุ เราจะไม่เสียใจ เพราะเรารู้ว่าผลเป็นผลที่เกิดจากเหตุที่เราทำไว้เท่านั้นเอง.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"ความกตัญญู"
ความกตัญญูเป็นบุญเป็นกุศลเป็นรากเหง้าของความดีของจิตใจ คนเราจะดีมันก็ต้องรู้จัก"บุญคุณ" เมื่อมีบุญคุณแล้วมันก็จะได้ทดแทนบุญคุณ ทำสิ่งที่ดี แล้วจิตใจก็จะเจริญรุ่งเรืองไป
คนที่ไม่มีความกตัญญูนี้เป็นคนที่เจริญยาก พระพุทธเจ้านี้ ท่านก็ยังขนาดแม่ตายไป ท่านก็ยังคิดถึงพระคุณของแม่อยู่ ก็ทรงไปสอนถึงสวรรค์ สอนให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
พระพุทธเจ้าทรงเห็นความสำคัญของความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณทั้งหลาย
ความกตัญญูจะทำให้จิตใจของคนเรามีความอ่อนโยน ไม่มีความเเข็งกระด้าง มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว ดังนั้นขอให้เราพยายามทดแทนบุญคุณผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย มันทำให้จิตใจเรามีความสุข แล้วจิตใจเราก็จะไม่คิดร้ายไม่ทำร้ายใคร ทำให้เราทำบุญทำทานได้ รักษาศีลได้ ทำให้เราภาวนาได้
สนทนาธรรมะบนเขา วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
“อยาก ก็อย่าไปทำตามความอยาก”
เวลาอยู่ในสมาธิไม่มีความอยาก พอออกจากสมาธิมา ความอยากมาแล้ว อยากดูอยากฟัง อยากลิ้มรสดมกลิ่น พอมันมาใจก็กระเพื่อม ใจก็สั่น ใจก็ไม่สบายขึ้นมา แล้วถ้าไม่ไปทำตาม พอมันอยาก ก็หยุดความอยากเสีย พอหยุดความอยากเสีย ความสงบก็กลับมาใหม่ ความสบายใจก็กลับมาใหม่ พระพุทธเจ้าก็เลยค้นพบวิธี ที่จะทำให้ใจนี้มีความสุขตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสมาธิหรือไม่อยู่ในสมาธิก็สุข ออกจากสมาธิมา ถ้าเกิดความอยาก ก็หยุดมัน อย่าไปทำตามความอยาก อยากดูอยากฟังอะไร ก็ไม่ต้องดูมันไม่ต้องฟังมัน พอไม่ดูไม่ฟังมัน ฝืนมันไป เดี๋ยวความอยากนั้นมันก็หมดกำลังไป หายไป ก็จะไม่มีตัวคอยมากวนใจให้ไปดูไปฟัง
เหมือนคนที่ติดสุราหรือติดบุหรี่อย่างนี้ พอคิดถึงสุราคิดถึงบุหรี่ก็ต้องไปดื่มไปสูบ พอได้ดื่มได้สูบ มันก็ใจก็สบายขึ้นมา ขณะที่อยากดื่มอยากสูบใจก็ไม่สบาย แต่ถ้าเอาอีกวิธีหนึ่ง เวลาอยากจะดื่มอยากจะสูบ ก็ไม่สูบมันไม่ดื่มมัน ใช้สติหยุดความคิด อย่าไปคิดถึงมัน หยุดความคิดอย่าไปคิดถึงบุหรี่อย่าไปคิดถึงสุรา หรือถ้าจะคิดก็คิดไปในทางที่ทำให้ไม่อยากจะดื่มไม่อยากจะสูบ ก็คิดถึงโทษที่จะตามมา สูบบุหรี่แล้วเดี๋ยวต่อไปก็เป็นโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย ดื่มสุราก็จะต้องมีพิษสุราตามมา ก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย เสียชีวิตก่อนวัยอันควร พอคิดอย่างนี้มันก็จะทำให้เปลี่ยนใจได้ว่า เรากำลังทำลายร่างกายเราอยู่ เราไปสูบบุหรี่นี้เราไปทำลายร่างกาย ควันพิษเข้ามา เราไปดื่มสุราเราก็เอาน้ำพิษเข้ามา เอายาพิษเข้ามา เราอย่าไปดื่มไม่ดีกว่าหรือ เราอย่าไปสูบไม่ดีกว่าหรือ
พอเห็นด้วยเหตุผลด้วยปัญญา มันก็เลยได้ทีจะต้องเลิก ก็ต้องเลิกด้วยที่เห็นเหตุผล ว่าเป็นการนำไปสู่ความทุกข์ ไม่ใช่นำไปสู่ความสุข มันเป็นการดับความทุกข์หรือสร้างความสุขเพียงชั่วคราว แล้วเดี๋ยวความอยากใหม่มันก็จะกลับมา ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น แล้วเราไปทำตามความอยาก เดี๋ยวความอยากใหม่ก็โผล่ขึ้นมาอีก อยากดื่มสุราถ้วยนี้แล้วความอยากดื่มก็หายไป เดี๋ยวซักระยะหนึ่งความอยากดื่มก็โผล่ขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่ได้ดื่มก็ทุกข์ ถ้าได้ดื่มก็หายทุกข์ชั่วคราว อันนี้ต้องใช้ปัญญาสอนใจให้เห็นว่าการไปทำตามความอยากนี้ มันไม่ได้เป็นวิธีแก้ความทุกข์ใจ แต่เป็นการเพิ่มความทุกข์ใจให้มีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เพราะจะมีความอยากตามมาอยู่เรื่อยๆ เพราะนิสัยของใจ ทำอะไรแล้วมันจะติดนิสัย ทำอะไรแล้วมันก็จะทำต่อ ถ้าไม่ทำมันก็จะไม่ทำ เปลี่ยนนิสัยจากทำเป็นนิสัยไม่ทำเสีย อยากจะทำอะไรก็ไม่ทำมัน พอเราไม่ทำมันไปเรื่อยๆ ต่อไปนิสัยไม่ทำมันก็จะเป็นนิสัยของเรา มันก็จะไม่อยากทำอะไร มันก็อยากจะอยู่เฉยๆดีกว่า อยู่เฉยๆสบายกว่า ถ้าเราหยุดความอยากได้อยู่เฉยๆจะไม่ทุกข์ ที่ทุกข์กันเพราะว่าหยุดความอยากไม่ได้ ไม่รู้ว่าความอยากเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์กัน .
สนทนาธรรมมะบนเขา
วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"มงคลของชีวิต"
ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจมาวัดเพื่อมาเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นมงคลตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ในมงคล ๓๘ ประการ ถ้าพวกเราสามารถปฏิบัติตามได้ครบทั้ง ๓๘ ข้อ พวกเราจะไปถึงพระนิพพานกันอย่างแน่นอน
แต่ก่อนที่เราจะถึงนิพพาน ก่อนที่เราจะสามารถทำมงคลทั้ง ๓๘ ข้อให้ได้ครบถ้วน เราต้องเริ่มทำทีละข้อสองข้อไป เราก็จะก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ ทางสู่พระนิพพานนี้ก็จะผ่านสวรรค์ชั้นต่างๆ สวรรค์ชั้นเทพ สวรรค์ชั้นพรหม สวรรค์ชั้นพระอริยเจ้า จนไปถึงสวรรค์พระนิพพาน ที่เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุดซึ่งเกิดจากการกระทำที่เป็นมงคลทั้ง ๓๘ ประการ
มงคลนี้คืออะไร มงคลก็คือความร่มเย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน มีความสุขกายสบายใจ ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลาย นี่คือความหมายของความเป็นสิริมงคล ถ้าพวกเราอยากจะได้ความเป็นสิริมงคล เราต้องสร้างเหตุที่ทำให้เกิดผล เหตุที่จะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลก็คือการกระทำมงคลทั้ง ๓๘ ข้อ
ในวันนี้จะฝากไว้ ๓ ข้อแรก คือ อะเสวะนา จะ พ า ล า นั ง ปั ณ ฑิ ต า นั ญ จ ะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง
ข้อที่ ๑. คือการไม่คบคนพาลคนไม่ดีเป็นมิตร ๒. การคบบัณฑิตคนดีเป็นมิตร ๓. การบูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชา นี่คือสิ่งที่พวกเราควรจะหัดทำกันให้ได้ ถ้าทำได้แล้วจะได้รับมงคลสามข้อแรกไป.
ธรรมะในศาลา วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๘
"มงคลชีวิต"
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"ความอยาก"
"ความอยาก" เป็น "อาการของจิต" มันออกมาจาก "ผู้รู้" เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เป็นอจินไตย.
"ความอยาก" และ "ความไม่อยาก" ที่ “ไม่มีปัญญา” เป็น “ตัณหา” ทั้งคู่เป็นตัวเดียวกัน. เป็นเพียง “อาการของจิต”เฉยๆ มันวูบเดียวเท่านั้นก็หายไป มันมีอยู่ตลอดเวลา.
“ผู้มีปัญญา" อยากก็ “ไม่มีอุปาทาน” ไม่อยากก็ “ไม่มีอุปาทาน”
มันเป็นแต่ “อาการของจิต” มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง
“ธรรมชาติของจิต” มันมีของมันอยู่แล้ว จะไปเรียนรู้มัน, มันก็มีอยู่ ไม่ไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่ "ความอยากและความไม่อยาก" มันประสมประเสกันอยู่ มันเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
“มันสักแต่ว่า” มันเป็น “ความรู้สึก” ขึ้นมาแล้ว, ไม่มีตัวตน แล้วมันก็หายไป มันจะติดต่อกันเป็นลำดับ
"สติ" มันก็ไม่แน่นอน, ลืมได้เหมือนกัน "สัมปชัญญะ" ความรู้ตัว นี้ก็ไม่แน่นอน เมื่อได้รับ “อารมณ์” เหล่านี้มา ให้ยกเอา “ความไม่เที่ยง” เป็นหลักวินิจฉัย
หลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ แสดงธรรมโปรดหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
"การพิจารณาธรรมให้เห็นปัจจุบันธรรม อย่าส่งจิตถึงอดีตอนาคตจะเป็นความกังวลและฟุ้งซ่านไป เพราะว่าธรรมทั้งหมดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงออกมาจากจิตคือพระทัยที่บริสุทธิ์ทั้งนั้น
การดับทุกข์นั้นก็คือการรู้เท่าทันทุกข์ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย การพิจารณากายให้รู้เท่าทันทุกข์ ให้รู้ตามความเป็นจริง
เวลาพิจารณาอย่าใส่สิ่งที่ไม่มีเข้ามา และอย่านำสิ่งที่มีอยู่ออกหรือตัดออก อันนี้จะเป็นความไม่ละเอียดในการพิจารณา
การปฏิบัติตามมรรค ๘ นั้น สมาธิมรรคเป็นสำคัญมาก นอกจากนั้นเป็นส่วนปริยาย เมื่อเราปฏิบัติสังเกตด้วยธรรม และอาการของธรรมที่จิตตภาวนา
ถ้าจิตเราส่งออกนอกวงกาย จิตนั้นยังไม่เป็นมหาสติ มหาปัญญา จิตนั้นจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เป็นทางดำเนินอันชอบ
“เราไม่ได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า
เราปรารถนาเอาตัวรอดเป็นยอดดีเท่านั้น
หน้าที่พระโพธิสัตว์เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ส่วนหน้าที่พระสาวกอย่างพวกเรา
เอาตัวให้รอดให้มันสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเถอะ”
...............................................................
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ “ธรรมลี เศรษฐีธรรม” หลวงปู่ลี กุสลธโร
พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีธรรม โดยพระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร
“เป็นอยู่อย่างนั้น”
..คำว่าธรรมดาคือหมายความว่า มันเป็นอยู่อย่างนี้หละ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา คนในยุคไหนคราวไหน คนชั้นไหน ชั้นสูง ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ก็เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เรื่องเหล่านี้หละ เป็นสิ่งที่เราควรพินิจพิจารณาดู บรรดานักปฏิบัติธรรมะ เรื่องความตาย ซึ่งเรามองเห็นกันอยู่ทั่ว ๆ ไป ว่าจะปรากฏขึ้นแก่เรา ไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
“เกิดที่ใจ แก้ที่ใจ”
..เสียงอันไหน มากระทบกระเทือนก็ตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในอายตนะทั้ง ๖ พอเห็นชัด มันเดือดร้อน ก็ต้องแก้ใจซิ แก้ตรงที่มันร้อน มันจึงจะดับนะ ไปหาสิ่งอื่นมาเพิ่ม มีแต่จะลุกขึ้นเท่านั้นหละ เหมือนไฟนี้หละ เอาขี้ฝอย เอาฟืนมาใส่ มันยิ่งจะลุกขึ้นแรง มันร้อนอยู่ในนี้ อยากจะให้มันเย็น ก็ต้องแก้ตรงมันร้อน ต้องเอาน้ำใส่ แล้วดับ จึงหมดปัญหาไป แต่มันจะร้อน ก็เนื่องจากความไม่รู้จริง คือความสงสัย นึกว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น นึกว่าตัวเองเป็นอย่างนี้ เขาว่าอย่างนั้น เขาผิดอย่างนั้น เขาผิดอย่างนี้ ตัวเองไม่ผิดสักครั้ง มันก็ร้อนเท่านั้นหละ ผู้ที่ร้อน มันร้อนมาจากตัวไหน แก้เข้ามาภายในตัวเอง มันก็หมดปัญหาไปเท่านั้น..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน
" #ยังออกจากกิเลสไม่ได้อยู่ตราบใด
#ก็ชื่อว่ายังไม่ถึงพระนิพพาน
#จะต้องทนทุกข์น้อยใหญ่ทั้งหลาย
#เกิดๆไปกลับมาหาที่สุดมิได้อยู่ตราบนั้น "
องค์หลวงปู่ลี กุสลธโร
วัดป่าเกษรศีลคุณ ธรรมเจดีย์ (ภูผาแดง)
อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
"ไฟเผาใจ"
ทุกข์นี้มันเหมือนไฟที่เผาร่างกาย ทุกข์ใจของเรานี้ มันทารุณรุนแรงกว่าไฟที่เผาร่างกายมากมายหลายร้อยเท่า แต่เรากลับมองไม่เห็นว่ามันเป็นภัยสำหรับเรา
เรากลับสร้างความทุกข์ให้กับเราอยู่เรื่อยๆ ทุกข์กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ มีใครมาบอกให้หยุดก็ไม่หยุดจะเอาแต่ใจของตนเอง อยากจะให้ได้สิ่งที่ตัวเองอยากได้ ถ้าไม่ได้ก็ทุกข์อย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่แหล่ะคือ ความโง่เขลา เบาปัญญา อวิชา โมหะ ที่หลอกให้ใจผลิตความทุกข์เผาใจตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่เจริญปัญญา ไม่พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เห็นอริยสัจ 4 เพราะไม่บำเพ็ญ ไม่เจริญสติ ไม่นั่งสมาธิ ไม่ทำทาน ไม่รักษาศีล
อยากจะได้สิ่งต่างๆตามความอยากของตน ความอยากในกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาเท่านั้น แล้วก็ไปสร้างทุกข์ให้กับตนไม่พอ ยังไปสร้างทุกข์ให้กับคนอื่นด้วย ไปเบียดเบียนคนอื่น ไปรังแกคนอื่น อันนี้ก็เป็นเพราะว่า ไม่สนใจเรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องของการทำทาน รักษาศีล ภาวนา สนใจเเต่เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สนใจความสุขทางตาหูตาลิ้นจมูกกายใจ ก็เลยผลิตแต่ไฟนรกมาเผาตัวเองอยู่โดยไม่รู้สึกตัว จะเผาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แต่ชาตินี้ชาติเดียว เผาแล้วนับไม่ถ้วน พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ไม่รู้กี่พระองค์ ก็ผ่านมาแล้ว ไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเลย ก็ยังผลิตกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มาคอยเผาใจตนเอง และเผาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ไม่ปฏิบัติ ไม่เร่งความเพียร ไม่ทำทาน ไม่รักษาศีล ไม่ภาวนา
และให้ทำตามขั้นตามลำดับ ไม่ให้ติดอยู่ขั้นใดขั้นหนึ่ง ทำทานแล้วก็ต้องก้าวเข้าสู่ขั้นศีล ขั้นศีลแล้วก็ต้องก้าวเข้าสู่ขั้นภาวนา อย่าไปคิดว่า ทำทานแล้วพอแล้วได้ทำบุญแล้ว อันนี้เป็นเสี้ยวหนึ่งของบุญ เสี้ยวใหญ่ยังไม่ได้ทำกัน เสี้ยวใหญ่ก็คือการภาวนา ต้องภาวนาต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะหลุดพ้น จนกว่าจะทำลายกิเลสตัณหาอุปทาน ความยึดมั่นถือมั่นทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้เท่านั้น ถึงเรียกได้ว่า ได้ทำบุญเต็มที่ในโลกนี้แล้ว.
ธรรมะบนเขา
วันที่ 10 ธันวาคม 2556
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"บรรพชิตไม่พึงเสพ" คือ “กามสุขัลลิกา” และ “อัตตกิลมถา”
"กามสุขัลลิกา" เป็นส่วนแห่ง "ความรัก" "อัตตกิลมถา" เป็นส่วนแห่ง"ความชัง" ผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งส่วนทั้งสองนี้ ชื่อว่ายังไม่เข้า "ทางกลาง"
"ความดีใจ" ก็เป็น "ราคะ"
"ความเสียใจ" ก็เป็น "โทสะ"
"ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ" ทั้งสองนี้เป็น "โมหะ"
พระองค์มาดำเนิน "ทางกลาง" ทำจิตอยู่ "ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์" ได้ญาณ ๒ ในสองยามเบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ ๓ กล่าวคือ "อาสวักขยญาณ" ในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูก "ทางกลางอันแท้จริง"
พ้นจาก "สมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี" ถึงความเป็น "อริยโคตร อริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ และอริยประเพณี"
"ส่วนเราผู้ปฏิบัติ" เมื่อยังมี "ดีใจเสียใจ" ในการ "บำเพ็ญบุญกุศล" อยู่ ก็ตกอยู่ใน "โลกธรรม" จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะ "ความดีใจเสียใจ" นั่นแหละ ชื่อว่า "ความหวั่นไหว"
"เครื่องแก้" ก็มี "มรรค ๘" แก้ "โลกธรรม ๘" ผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง ๒ (ความรัก ความชัง) แล้ว ก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโยคะ ไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล
หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร
“อนุสัย” ครอบงำจิต จนหลงเชื่อไปตาม "สังขาาร" จึงเป็นเหตุให้ "ก่อภพก่อชาติ" ด้วย “อาการของจิต” เข้าไปยึด
"ธาตุทั้งหลาย" เขาหากมี หากเป็น อยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา "เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไป" อยู่อย่างนี้ มาก่อนเราเกิด ตั้งแต่ "ดึกดำบรรพ์" ก็เป็นอยู่อย่างนี้
“อาการของจิต" นั่นแล "ไม่เที่ยง” เป็น "ทุกข์" จึงหลงตาม "สังขาร”
“สังขาร” เป็น “อาการของจิต” เปรียบเหมือน “พยับแดด”
ส่วน "สัตว์" เขาก็อยู่ "ประจำโลก" แต่ไหนแต่ไรมา “สัตว์โลกเขาเที่ยง” คือ “มีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น”
เมื่อรู้โดย “เงื่อน ๒ ประการ” คือ
รู้ว่า “สัตว์" ก็มีอยู่อย่างนั้น”
“สังขาร" ก็เป็น "อาการของจิต” เข้าไป "สมมติ" เขาเท่านั้น
“ฐีติภูตํ" จิตตั้งอยู่เดิม "ไม่มีอาการ” เป็น “ผู้หลุดพ้น”
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
“คำว่าสายหลวงปู่มั่นนี้มีทั้งมหานิกายมีทั้งธรรมยุตนะ ทางฝ่ายมหานิกายที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นนี้น้อยเมื่อไร รวมเรียกว่าสายหลวงปู่มั่นด้วยกัน ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น เราก็เปิดให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบว่า หลวงปู่มั่นท่านคิดกว้างขวางขนาดไหนสำหรับประโยชน์ให้โลกนะ
ลูกศิษย์ของท่านฝ่ายมหานิกายไปศึกษาอบรมกับท่านน้อยเมื่อไร เป็นลูกศิษย์ ๆ ไปศึกษาอบรมกับท่านมีเยอะนะ นับตั้งแต่ อาจารย์ทองรัตน์ อาจารย์กินรี เราจำไม่ได้ สำหรับท่านบรรยายให้ฟังหมดนะหลวงปู่มั่น ก็ลูกศิษย์ของท่านนี่ ท่านไม่ได้ว่าธรรมยุตไม่ได้ว่ามหานิกายนี่ ท่านถือเป็นลูกศิษย์ศากยบุตรด้วยกันทั้งนั้น ขอให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเถิดท่านว่างั้น ไอ้ชื่อนี้แต่ไก่มันก็มี ฟังซิท่านพูด แย้งท่านได้ที่ไหน นี่หลวงปู่มั่นพูดเอง เราฟังด้วยหูของเรา ท่านเหล่านั้นที่เป็นฝ่ายมหานิกายเข้ามารับการอบรมจากท่าน เกิดความเชื่อความเลื่อมใส พอใจที่จะญัตติ ๆ นะ
ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ๆ ที่มาพอใจแล้วจะญัตติ พาหมู่คณะญัตติอะไร ๆ นี้ท่านห้ามทันทีเลย ไม่ต้องญัตติ ขึ้นอย่างเด็ดด้วยนะ พวกท่านเป็นศากยบุตรเหมือนกัน ไม่ว่าธรรมยุต มหานิกาย เรียกว่าศากยบุตร ท่านว่างั้น ธรรมยุต มหานิกายอะไรนี้เป็นชื่อแยกออก เพราะความแตกแยกเนื่องจากการปฏิบัติยิ่งหย่อนในธรรมวินัยต่างกันก็เป็นธรรมดา แต่เมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้วไม่มีธรรมยุตมหานิกาย เรียกว่าศากยบุตรอย่างเดียว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นจะต้องญัตติ ขอให้ปฏิบัติเถิด”
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๔
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ท่านสอนว่า..."อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไร้ประโยชน์"
....ผู้ฉลาดย่อมไม่ปล่อยให้กาลของปี ของเดือน และของวันดังกล่าวมานี้ผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ เพราะเป็นกาลสำคัญในพระพุทธศาสนา ซึ่งเราทุกคนควรจักต้องกระทำความดีให้แก่ตนของตนให้ยิ่งกว่าในกาลใดอื่น
กาลของชีวิต ก็แบ่งออกเป็น ๓ ตอน
ตอนแรกเรียกว่า ปฐมวัย คือนับแต่วันแรกเกิดจนอายุ ๒๐ ปี บริบูรณ์ วัยนี้เป็นวัยเด็ก ก็จะต้องมีการศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆ ไว้เป็นเครื่องประดับตัว
ตอนกลางเรียกว่า มัชฌิมวัย นับแต่อายุ ๒๐ ปี ขึ้นไปจนถึง ๔๐ ปีบริบูรณ์เป็นวัยของผู้ใหญ่ที่จะต้องประกอบการอาชีพเป็นหลักฐานสำหรับตัวเองและครอบครัว
ตอนปลายเรียกว่า ปัจฉิมวัย คือนับตั้งแต่อายุ ๔๑ ปี ขึ้นไปจนถึง ๗๐ ปีบริบูรณ์ตลอดจนตายเป็นวัยของคนแก่ที่จะต้องมุ่งหน้าบากบั่นบำเพ็ญกุศลใส่ตน มีการให้ทาง รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา เพื่อเป็นความสุขแก่ตนทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต
ถ้าในกาลชีวิต ๓ ตอนนี้ได้ผ่านมาถึง ก็ไม่ควรละโอกาสที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีตามวัยและหน้าที่ของตนๆ นี้จึงนับว่าเป็นบุคคลที่รู้จักกาลของชีวิต.
จิต มัน เกิดมา มัน อาศัยอยู่ มันไม่เกิด ไม่ดับอะไร
ไอ้ตัวที่ จิต มัน เกิดมา มัน อาศัยอยู่ มันไม่เกิด ไม่ดับอะไร มันอาศัย สัญญา สังขารความปรุงแต่ง ไอ้นี่เป็นสัญญา ไอ้นี่เป็นปัญญาที่มาจากสังขาร นี่เป็นปัญญา ไม่ใช่ปัญญาแท้จริงถ้า ปัญญาแท้จริง มันหมดเรื่อง มันหมดเรื่องมันรู้แล้วมันหมดเรื่อง
แต่ว่า สังขารความปรุงแต่ง มัน มีอยู่ เราไม่ตามมันไป เราไม่ตามมัน ความรู้สึก รู้มัน แต่เราไม่ตามมัน อันนั่นมิใช่ทางแหละ มันรู้อยู่อย่างนี้
(ถาม)” เราจะหา จุดนี้ ได้อย่างไร? ครับ”
(หมายถึง : จุดที่มัน เกิดดับ อยู่อย่างนี้ จุดที่ มันเป็นความรู้สึกอันหนึ่ง แต่ตัวที่มันเป็นความจริงนั้น มัน ไม่เกิด ไม่ดับ ของมัน มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น : ความหมาย หมายถึงจุดนี้)
(หลวงพ่อตอบ) “เราก็ตามจิตนี้ไปก่อน เห็นว่ามันไม่แน่ ไม่เที่ยง ให้มันเห็นชัดๆของมัน มันไม่มีที่เอา มันก็วางอันนี้.....จิตอันนี้ มันก็ วางจิตอันนี้.... รู้เรื่องของมัน มันก็วางจิตอันนี้ หมดจิตที่จะต้องปรุงแต่งมันแล้ว มันก็ไม่ได้สงสัยอะไรทั้งหลายเหล่านี้ อันนั้นท่านเรียกว่า....(จิตเดิม)...
ไอ้ที่เรียกชื่อมันขึ้นมา (ที่เราเรียกว่า “จิต” )มันเป็น ชื่อสมมุติบัญญัติขึ้นมาทั้งนั้น สมมุติให้คนรู้จัก ธรรมชาติของมันมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น
อย่างที่มัน เป็นพืด ที่ไอ้ตัวนั้น ไม่เกิดไม่ดับ มัน เป็นพืด อยู่อย่างนี้
จะบอกว่า ไอ้นี่(หมายถึงจิตหนึ่ง) เป็น จิตมั่ง เป็น สัญญามั่ง เป็น สังขารมั่ง พูดเพื่อ ให้รู้ ง่ายๆ ว่า เวทนา สัญญา สังขารนี่ ไม่มี หมดละ
หลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ศาสนามิจฉาทิฐิ" ก็นับวันจะแสดง "ปาฏิหาริย์"
คนที่ "โง่เขลา" ก็จะถูกจูงไปอย่าง "โคและกระบือ" ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย พวกเราทั้งหลาย จงรีบเร่ง "ปฏิบัติธรรม" ให้สมควรแก่ธรรม "ดังไฟที่กำลังไหม้เรือน" จงรีบดับเร็วพลันเถิด พวกเราจะ "ปฏิบัติลำบาก" ในอนาคต ที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนา จะไม่วิเวกวังเวง
“ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ” ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ
มนุษย์ ก็นับวันมากขึ้น “นโยบายในทางโลกีย์” ก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น
ขอให้พวกเราทั้งหลาย “จงรีบเร่ง ปฏิบัติธรรม” ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คือ "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" พิจารณา "ติดต่อ" อยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด
“พระธรรม” เหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ ใน “ปัจจุบันจิต” ให้ “สติปัญญา” อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ...
โอวาทครั้งสุดท้ายของอาจารย์มั่น
(บันทึกโดยหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต) จากหนังสือ “เพชรน้ำหนึ่ง พระอาจารย์มั่น”
หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร
ทำไมมันถึง "วางไม่ได้"
คือมันยัง “ไม่เห็นโทษ” อย่างแน่ชัด ยัง “ไม่รู้แจ้ง” นี่แหละ “ไม่ถึง” หรือ “รู้มืด” มันจึง “ละไม่ได้”
หู เราได้ยิน เสียง ก็ให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันสิ ตา ทำงานทาง รูป ก็ให้มันทำสิ จมูก ทำงานทาง กลิ่น ก็ให้มันทำสิ ร่างกาย ทำงาน ถูกต้องโผฏฐัพพะ ก็ให้มันทำงานตามเรื่องของมันสิ
ถ้าแบ่งให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันแล้ว มันจะมีอะไรมาแย้งกัน มันไม่ได้ขัดขวางกันเลย
อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ มันก็ เป็น “สมมุติ” เราก็ให้มันสิ
สิ่งเหล่านั้น ก็ เป็น “วิมุตติ” เราก็ แบ่ง มันสิ
“อารมณ์” มาทาง ตาก็มี หูก็มี จมูกก็มี ลิ้นก็มี กายก็มี เกิดมาทาง จิตเฉยๆ ก็มี
คือมี “ความรู้สึก” เกิดขึ้นมา “เดี๋ยวนั้น” ทั้งๆ ในเวลานั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่สัมผัสถูกต้องอะไร
แต่ว่ามันเป็น “ธรรมารมณ์” เป็น “ธรรมเก่า” ที่เก็บไว้ ในเวลานั้นมัน ระเบิด ขึ้นมาอยู่ที่ “ใจ” เพราะว่าในเวลานั้นไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ไม่อะไรก็ตามทีเถอะ แต่ว่า “อันนั้น” มัน “มีอยู่” เป็น “ของเก่า” เป็น “ธรรมารมณ์” เป็น “ธรรมะ + อารมณ์”นั่นเอง
มันฝังแน่นอยู่ในใจเรียกว่า “อุปธิธรรม” เมื่อได้ช่องเมื่อไร มันก็ระเบิดขึ้นมา เกิดความ “ยินดี” เกิดความ “ยินร้าย” ขึ้นมา อันนี้คือ “ของเก่า” ที่มีอยู่แล้ว ใน “ปัจจุบัน”นั้น
ตาก็ไม่ต้องเห็น หูก็ไม่ต้องได้ยิน จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่ได้รส กายก็ไม่ถูกต้อง
แต่ว่า มี “อารมณ์ทางจิต” เกิดขึ้นมาเฉยๆ มีอารมณ์ทางจิตเกิดขึ้นมาเฉยๆ ที่เกิดขึ้นมาที่จิตนั้น “จิต” ก็ยัง “หลง” ของมันอยู่เรื่อยๆ ยังไป “หลงรัก” ยังไปหลงใคร่อยู่ในสถานที่นั้นอีก
ถ้าเราเห็นเช่นนี้ ถ้าเราดูเช่นนี้ เราทำสมาธิเห็นชัดอยู่อย่างนี้ เราก็พยายามดูซิว่า
“เกิด แล้วมันก็ ดับ” “ดับ แล้วมันก็ เกิด” เกิดแล้วมันก็ดับ “มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น”
พระผู้มีพระภาคท่านให้เห็น “จิต” อันนี้ เป็นของ “ เกิด-ดับ” อยู่เท่านั้น
“จิตอันนี้” เป็นของ “เกิดดับ” อยู่เท่านั้น “มันไม่เป็นไปอย่างอื่นอีก”
เราก็ไม่ต้องไป “เพิ่ม” อะไรขึ้นอีก ไม่ต้องไป “ถอน” อะไรมันอีก “ปล่อยมันอยู่ตามเช่นนั้นเสมอ” คนที่ไปเพิ่มอะไรเข้ามา ไปถอนอะไรออกไป ก็คือคน “หลงอารมณ์”
อันนี้ “เป็นอารมณ์” อันนี้ “มันเป็นจิต”
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
" ขั่นผู้ใด๋มันบารมีแก่กล้ามาแล้ว.มันบ่นอนใจในวัฏฏะสงสารดอก.ตื่นพึบๆๆ อยู่ล่ะ.
เฮ็ดจั่งใด๋กูจั่งสิได้กินหลายได้นอนหลาย.
เฮ็ดจั่งใด๋กูสิได้มีเงินหลายแข่งกับหมู่นอ...ว่ะซั่น.
ยังบ่ทันแม่น.อือ...
ยังบารมียังสร้างอ่อนอยู่.ให้รีบสร้าง.
ฮู้จักว่ามันอ่อนอยู่.สิอ่อนนำมันกะบ่ได้ล่ะรีบสร้างฮานี่.
อ่อนกะแม่นเฮาล่ะเป็นผู้เฮ็ดอ่อน.แข็งกะแม่นเฮาล่ะเป็นผู้เฮ็ดแข็งว่าฮั่นเถาะ.
มันเป็นจั่งซั่นอยู่.รีบสร้างเข้าบารมี.
ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน.
ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล.
ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา.นั่น."
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต