นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 1:59 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ดูใจของตัวเอง
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 22 มี.ค. 2018 5:08 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
“ธรรมที่จะทำให้ใจนี้ไม่เสื่อม”
การกระทำอะไรต่างๆทั้งหมดที่เราทำกันนี้ เราก็ทำเพื่อร่างกายของเรา แต่ร่างกายของเราก็อยู่ได้ไม่นาน อย่างมากก็ ๑๐๐ ปีก็ต้องตายไป และผลต่างๆที่เราได้ทำให้กับร่างกาย มันก็หมดความหมายไป แต่การกระทำต่างๆที่เราทำให้กับใจของเรานี้ เป็นสิ่งที่จะอยู่กับใจไปได้ตลอด เช่นถ้าเราดับความทุกข์ของใจได้ ความทุกข์นั้นก็จะหมดไป สร้างความสุขให้กับใจ ความสุขนั้นก็จะอยู่กับใจต่อไป หลังจากที่ร่างกายนี้ตายไปแล้ว การสร้างความสุขดับความทุกข์ของใจ ก็อยู่ใน ๒ ระดับด้วยกัน ระดับที่ถาวรและระดับที่ไม่ถาวร
ถ้าสร้างความสุขดับความทุกข์ให้กับใจ ด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการเจริญสมถภาวนา ทำใจให้สงบ ก็จะได้รับผลชั่วคราว คือผลเหล่านี้มีวันที่จะเสื่อมหมดไปได้ เช่นถ้าเราทำทานรักษาศีล ๕ ได้ เราก็จะได้ความสุขระดับเทพ ดับความทุกข์ในระดับของเทพได้ แต่บุญหรือผลที่เราได้สร้างไว้นี้ มันเสื่อมได้ มันหมดได้ พอบุญที่เราได้สร้างกันขึ้นมา จากการทำทาน จากการรักษาศีล เสื่อมลงไป เราก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ แล้วเราก็ต้องกลับมาทำบุญทำทานใหม่ รักษาศีลใหม่ ถ้าเราไปถึงขั้นภาวนาได้ เจริญสมถภาวนาทำใจให้สงบได้ เวลาร่างกายนี้ตายไป ใจของเรานี้ก็ยังมีความสุขระดับสมถภาวนาอยู่ คือระดับพรหม ก็จะไปเกิดบนพรหมโลก แต่บุญที่ได้จากการภาวนาทำใจให้สงบ ก็เสื่อมได้ พอเสื่อมลงมาก็จะเลื่อนลงมาสู่เทวโลก แล้วจากเทวโลกก็จะเลื่อนลงมาสู่มนุษยโลกต่อไป นี่คือบุญกุศลที่ยังอยู่ในขั้นที่เสื่อมได้ แล้วก็มีบุญกุศลที่เรียกว่าไม่เสื่อม เรียกว่าโลกุตตรธรรม ธรรมที่จะทำให้ใจนี้ไม่เสื่อม คือความสุขในใจไม่เสื่อม ความทุกข์ที่ได้ดับไปแล้วไม่หวนกลับคืนมาอีก อันนี้ก็ต้องปฏิบัติธรรมขั้นที่สูงต่อจากขั้นภาวนาขึ้นไป ขั้นสมถภาวนาขึ้นไป ต้องเจริญขั้นวิปัสสนาภาวนา คือต้องเจริญปัญญา ต้องพิจารณาให้เห็นสัจจธรรมความจริง คืออริยสัจ ๔ พิจารณาให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าเห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใจก็จะสามารถดับความทุกข์ในระดับต่างๆได้ ซึ่งมีอยู่ ๔ ระดับด้วยกัน คือระดับของพระโสดาบัน ระดับของพระสกิทาคามี ระดับของพระอนาคามี และระดับของพระอรหันต์ ก็จะเจริญขึ้นไปตามลำดับขั้นของปัญญาที่สามารถพิจารณา เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ หรือเห็นความไม่สวยไม่งามของร่างกาย ใจก็จะก้าวขึ้นไปตามลำดับ.
ธรรมะบนเขา จุลธรรมนำใจ๔๑
วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




"บุคคลใด" ยึดถือ "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" เป็นที่พึ่ง บุคคลนั้นย่อม "ไปสู่สุขคติ" ตลอด "แสนกัปป์"
เมื่อละอัตภาพร่างกายของมนุษย์ไปแล้ว, จะได้เป็นผู้ถือว่า "มีกายทิพย์, กายเทวดา, กายเทพบุตร, และบุคคลผู้นั้น ได้เข้าถึง
"พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" ด้วยความมั่นแม่นแล้ว, สำหรับอันตรายต่างๆเป็นต้นว่ายาพิษ, ศาสตรวุธ, หรือ ไฟไหม้, บุคคลผู้นั้นจะไม่ตายเพราะสัตว์กัดต่อย หรือสงคราม, ไม่ตายด้วยยาพิษ ยาเบื่อ, เว้นเสียแต่ "ผลกรรมของบุคคลผู้นั้น" ที่ทำไว้ในสมัยก่อนจะตามมาทันเอง นั่นเป็นสิ่งที่เหลือวิสัย.
ถ้าตายไปแล้ว, ก็ไปเกิดบนสวรรค์, ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก, ก็เป็นมนุษย์ที่ดี, มีตาดี, มีหูดี, ปากดี, จมูกดี, ลิ้นดี, กายดี, และ บำเพ็ญคุณงามความดี, ให้เกิดขึ้น บำเพ็ญทาน, ศีล, ภาวนาให้เกิดขึ้น, มีนิสัยบารมีสร้างไว้, บำเพ็ญไปเรื่อยๆ, พอแก่กล้าก็สำเร็จ "พระนิพพาน"
หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ




พระให้เร่งภาวนานะ ที่จะให้รอว่างานการเบาบางแล้วค่อยภาวนา ตายทิ้งเปล่าๆ นะ เห็นไหมหนังสืออาจารย์เจี๊ยะท่านเขียนไว้นั่น ขึ้นเบื้องบนว่า สู้ตาย แล้วท่านว่า ไอ้ห่า.มึงเป็นพระให้เขากราบไหว้ แล้วมึงภาวนานั่งสู้ญาติโยมแก่ๆ ไม่ได้ แล้วมึงจะมาบวชทำไม. ไปอ่านดูก็รู้ นี่ไม่ใช่ความหยาบนะ โลกเขาถือเป็นความหยาบทั้งหมด แต่ธรรมถือเป็นธรรมบทหนักกระเทือนใจ กระทุ้งเข้าไปในใจให้ใจได้ตื่นตัว ความหมายว่างั้น นั่นละภาษาของธรรมกับภาษาของโลกจึงสวนทางกัน
.
โลกเขามีแต่นิ่มนวลอ่อนหวาน อะไรๆ นี้หวานมากกิเลส กิเลสหวานมาก แล้วพวกบ้ากิเลสก็ชอบมาก ถ้าเป็นธรรมแล้วอย่างอาจารย์เจี๊ยะนั่น นั่นละเราถึงใจนะ คือการปฏิบัติตัวของเราก็อย่างนั้น ท่านก็ปฏิบัติตัวของท่านมาอย่างนั้น ท่านจึงนำอย่างนี้ออกมา ท่านได้ผลเพราะเหตุนี้ เป็นอย่างนั้นนะ ขึ้นไอ้ห่า.... เราถึงใจเลย คือเคยอยู่ในสนามรบกับกิเลสมาแล้วแบบนี้ จะไปอ่อนๆ แอๆ ไม่ได้นะ ต้องเด็ดกันๆ เด็ดจนกิเลสเป็นของดีเยี่ยมแล้วเรียกว่าธรรม ไม่เด็ดกับกิเลสก็เป็นกิเลสไปด้วยกันเลย ใช่ไหมล่ะ พวกนี้จะเป็นกิเลสไปด้วยกันหรือจะเด็ดแบบว่า ไอ้ห่า....เราฟังแล้วเราถึงใจนะ นี่ท่านเป็นภาษาธรรมล้วนๆ แสดงออกมาจากความใจเด็ดของท่าน เด็ดอันนี้เด็ดฆ่ากิเลสของท่าน ได้ผลมาแล้วออกมาใช้
......................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๘
"ตัวทำลายศาสนาทั้งทางอ้อมและทางตรง"




“ทำให้เป็นประโยชน์”
..โดยมากคนเราไม่ค่อยได้คิดหรอก มาตามเพื่อนตามฝูง มาวัดมาวาก็มา วันพระวันศีลมาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ฟังไปอย่างนั้นหละ แต่แล้วบางคนก็ไม่ได้เอาไปพินิจพิจารณาใคร่ครวญ ให้เข้าอกเข้าใจ ไปแก้ไขตัวเอง ก็ปล่อยเวลาทิ้งไป เฒ่าไป แก่ไป ตามเรื่อง เรื่องเหล่านี้ ต้องพยายามทำให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองนะ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร


“บุญ บารมี”
ถาม : กราบเรียนถามพระคุณเจ้า คำว่าบุญกับบารมีแตกต่างกันอย่างไรครับ ขอพระคุณเจ้าช่วยเปรียบเทียบให้เห็นนิดหนึ่งครับ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
พระอาจารย์ : คำว่าบารมีก็คือบุญที่เราสร้างไว้ไง พอเราสร้างบุญไว้ มันก็เป็นบารมี มันติดมากับเราจากชาติก่อนนี้ เราเคยทำบุญทำทานรักษาศีลมา พอเรามาเกิดชาตินี้มันก็กลายเป็นบารมี คือเป็นบุญที่ติดตัวกับเรามา เราก็เรียกว่าบารมี ส่วนบาปที่เราทำเราก็เรียกว่ากรรม เรามีกรรมติดตัวมา ทำบาปก็มีเวรมีกรรมติดตามมา ทำบุญก็มีบารมีติดตามมา เท่านั้นเอง คำว่าบุญก็คือการทำความดีต่างๆ พอทำแล้วมันก็จะกลายเป็นบารมี มันจะติดมากับเรา มันจะไปกับเราเป็นบารมีขึ้นมา เช่น ทานบารมี ก็เกิดจากการทำทานอยู่เรื่อยๆ ศีลบารมีก็เกิดจากการรักษาศีลอยู่เรื่อยๆ เนกขัมมะบารมีก็เกิดจากการถือศีล ๘ ไปบวชกัน นั้นเรียกเนกขัมมะบารมี พอมันมีอย่างนี้ พอมาเกิดมันก็จะมา คนที่เคยบวชมันก็จะมาบวชต่อ คนที่เคยทำบุญทำทานก็จะทำบุญทำทานต่อ คนที่รักษาศีลก็จะรักษาศีลต่อ เรียกว่าบารมี คนที่มีปัญญามีความรู้ความฉลาดก็จะมีความรู้ความฉลาดต่อไป กลายเป็นบารมีขึ้นมา.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต



เอามาเป็นคติบ้าง
เมื่อวานไปนาสีดา พระก็เยอะ คนก็เยอะ ดูว่าฟ้าชายเสด็จตอน ๕ โมงเย็น เราพอเสร็จดูว่าบ่ายโมงออกมา พอเสร็จแล้วออกเลย นี้จะเป็นทางชาวบ้านหรือทูลฟ้าชายเสด็จ จะเป็นทางชาวบ้านหรือเป็นทางวัด (ทางวัดเขาขอพระราชทานเพลิงไปครับ) ที่ถามเพราะกรรมฐานเราไม่อยากให้ไปยุ่งทางบ้านทางเมืองท่านลำบากหมด กรรมฐานยุ่งอะไร ขอพระราชทานเพลิงศพอะไรๆ ทูลเชิญเสด็จบ้างอะไรบ้าง กรรมฐานเรา พูดตรงๆ อย่างนี้ละ บ้ายศบ้ายอพวกนี้น่ะ กรรมฐานบ้ายศ กรรมฐานบ้ายอ ยกยอในหัวใจขึ้นสง่างาม ไปที่ไหนงามหมดนะ พระพุทธเจ้าเสด็จไปพระองค์เดียวก็งาม สาวกทั้งหลายไปในป่าในเขาที่ไหนงาม เอามาเป็นคติบ้างซินี่เป็นบ้าตั้งแต่ลมปากภายนอก ได้ชื่อได้เสียงได้แต่ลมปากก็เอา ธรรมแห้งผาก ภายในหัวใจ ใช้ไม่ได้นะ ให้ธรรมสง่างามในหัวใจไปไหนสง่าหมด เราพูดอย่างนี้ก็ไม่มีใครพูด ไม่มีใครกล้าพูดแต่มันกล้าทำ มันไม่กล้าพูด กล้าทำทุกแห่งทุกหน เป็นบ้ากันไปหมด ไม่มีใครกล้าพูด หลวงตานี้กล้า ถ้าว่ากล้าก็เลยกล้า เพราะรวมลงแล้วไม่มีกล้าไม่มีกลัว ไปตามธรรมเลย พูดอย่างตรงไปตรงมากรรมฐานอย่าตื่นเต้น พระพุทธเจ้าท่านไม่พาให้ตื่นเต้น กรรมฐานเป็นเจดีย์ของโลก ให้เขาได้ถือเป็นคติตัวอย่าง อย่าเอนอย่าเอียง ให้ตรงไปตรงมาตามอรรถตามธรรม ที่ไหนสงบสบายตามอรรถตามธรรมให้อยู่ให้ไปที่นั่น อย่าเสือกนู้นเสือกนี้ ใช้ไม่ได้กรรมฐานเรา ไม่มีอะไรที่จะเลิศเลอยิ่งกว่าธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน เลิศอยู่ที่นั่น เลิศเลออยู่ที่นั่น อัศจรรย์อยู่ที่นั่น ไปที่ไหนสง่าไปหมดเลย มนุษย์ไม่เห็น เทวบุตรเทวดากราบไหว้บูชา รุกขเทวดา อากาสเทวดา พวกนี้เขาตาแหลมคมเขาเห็น
จิตใจของท่านผู้ปฏิบัติธรรม มีธรรมในใจและธรรมกับใจเป็นอันเดียวกันไปไหนสง่างามไปหมดนั่นแหละ นั่นละธรรมพระพุทธเจ้า ให้ดูภายในอย่างนั้น อย่าดูแต่เรื่องนอกๆ กรรมฐานเรานี่ให้เป็นหลักธรรมชาติ ถ้าจะเป็นขึ้นเอง เช่นอย่างพระราชทานเพลิงก็ให้เป็นเอง อย่าไปขอ คนหิวคนโหย คนกิเลสตัณหามาก หิวมาก ขอมาก กวนมาก นั่น ธรรมแล้วท่านไม่กวน ให้สง่าอยู่ภายใน พอ อยู่ที่ไหนพอ ไปที่ไหนพอ ธรรมเป็นอย่างนั้นละ ไม่บกพร่อง ถ้าลงธรรมมีในใจแล้วอะไรจะบกพร่อง ธรรมไม่บกพร่องเสียอย่างเดียว พอจะเป็นโลกไปแล้วนะกรรมฐานเรา นี่ปฏิบัติมาตลอดจนทุกวันนี้ พูดตรงๆ นี้ไม่ตื่น ถึงจะอย่างไรก็ไม่ตื่น พูดตรงๆ นะ เข้าสถานที่อะไรจะสูงต่ำขนาดไหนไม่มีเอนมีเอียง เป็นอยู่ในหัวใจ เสมออยู่ตรงนั้นตลอด นั่นละธรรมกับใจเป็นอันเดียวกันเสมอ กิริยาท่าทางที่จะเป็นไปกับโลกสมมุติก็เป็น ทำไมไม่เป็น อย่างเห็นที่หน้าวัดกูจะฟ้องท่านเปา มันมาเที่ยวเพ่นพ่าน นั่นมันก็มีเห็นไหมล่ะ เมื่อเช้านี้มาเห็นพวกโยมยั้วเยี้ยๆ เห็นเรามันมารุมใส่เรา อย่ามารุมใส่นี่ รุมใส่นั้น อ่านนั้น เราก็ว่าให้ไปอ่าน อ่านออกไหมนั่นน่ะ ถ้าอ่านไม่ออกเราจะอ่านให้ฟัง กูจะฟ้องท่านเปามันมาเที่ยวเพ่นพ่าน พออ่านให้เขาฟังแล้วก็เข้ามา เป็นอย่างนั้น
ถ้าจะเป็นกิริยาอะไรก็เป็น เป็นเท่านั้นแล้วเลย ไม่มีอารมณ์ ใครจะไปขยี้ขยำทำไมท่านว่าอย่างนั้น เป็นบ้าไปๆ เราไม่เป็นบ้า พูดแล้วแล้วเลย หายเงียบๆ ตลอดนะ ไม่มีอารมณ์ ว่าพูดดุพูดด่า พูดนิ่มนวลอ่อนหวาน เป็นธรรมล้วนๆ ออก พูดแล้วหมดๆๆ ไปเลย
เมื่อวานไปนาสีดาคนมาก พระก็มาก คนก็มาก เราไปธรรมดาไม่ได้มีอะไรแหละ ก็ถูกเทศน์จนได้ละเมื่อวานนี้ เราไปในฐานกันเอง ท่านจันทร์โสมนี้ท่านเป็นรุ่นน้องอยู่วัดหนองผือด้วยกัน ท่านเป็นรุ่นน้องเรา แล้วก็เป็นกันเองมานาน คุ้นกันมานานแล้ว เพราะฉะนั้นเวลางานศพท่านเขาก็มานิมนต์ นิมนต์ไม่นิมนต์ก็ไม่จำเป็นอะไร เมื่อเราทราบแล้วเราจะไปเอง เราก็ไปเมื่อวาน ไม่ได้ไปธุระอะไร ตั้งใจไปในงานเป็นกันเอง เขาก็จับเทศน์จนได้เมื่อวาน อย่างนั้นละไปไหน พอเทศน์จบแล้วก็มาเลย ไม่อยู่
วันนี้ดูว่าว่างวันนี้ ว่างสำหรับธรรมดาๆ แต่งานเราไม่ว่าง เราจะไปของเราทุกวัน สงเคราะห์โลก ไม่ใช่อะไรละความเมตตาครอบโลกธาตุในหัวใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่อยู่ มีแต่อำนาจความเมตตา จตุปัจจัยไทยทานมีเท่าไรหมดๆ อำนาจความเมตตากวาดออกๆๆ มันอยู่ในใจนี่ มันเป็นอย่างนั้น คำว่าพอก็เรียกว่าพอ ความเมตตาล้นพ้น ไปที่ไหนเป็นอย่างนั้น วันนี้ก็ไม่ทราบจะไปไหน ส่วนมากมักจะไปตามโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลอดอยากขาดแคลน แต่มักจะเข้าไปที่อดอยากขาดแคลนมากๆ เช่นอย่างทางชัยภูมิ ทางอำเภอภูเขียว ทางเกษตรสมบูรณ์ เข้าไปลึกๆ นะ ที่อยู่ตามถนนหนทางอยู่ใกล้ตลาดเราก็ไม่ค่อยไป ไปที่ลึกๆ สงสาร ไปแล้วก็มอบให้โรงพยาบาลโรงละสองหมื่นๆๆ ให้ทุกโรงต้นเหตุที่จะได้เอาเงินให้เขานี่หมอละพูดเอง ว่า เอ้อได้ของหลวงตามา หลวงตาเอามาสงเคราะห์นี้รายจ่ายก็จะลดลงมาก ตามธรรมดาโรงพยาบาลนี้จ่ายเดือนละหมื่น เป็นโรงพยาบาลเล็กอยู่ในป่า หลวงปู่เอามานี้จะได้เข้าไปถึงสี่พันนะ จะจ่ายเพียงหกพัน มันก็สะดุดใจเรากึ๊ก ตั้งแต่นั้นมาก็ให้โรงละสองหมื่นๆ เขาไม่ได้เจตนาจะขอเรา เขาพูดถึงเรื่องว่าการจับจ่ายในโรงพยาบาลของเขามีจำกัดจำเขี่ยมาก อดอยากขาดแคลนมาก เราไปนี้เพิ่มเข้าไปตั้งสี่พัน เขาว่าอย่างนั้นในเดือนหนึ่ง เพราะของเต็มรถ ค่าใช้จ่ายประมาณหกพัน ในนี้ปรกติจ่ายเดือนละหมื่น เขาว่าอย่างนั้น ตั้งแต่นั้นมาเราก็ให้โรงละสองหมื่นๆ ไปหมดทุกโรง สงสารจะว่าอย่างไรเราไปให้โรงละสองหมื่นๆ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ ๕ วันนี้ไป ๕ โรง ถ้าไม่มีงานอย่างอื่นแทรกก็ไป ๕ โรง เรียกว่าอาทิตยละหนึ่งแสน การจ่ายเงินวัดนี้เปิดโล่งไปหมดนะ เหมือนตะกร้าตักน้ำ พอยกขึ้นซ่าหมด อันนี้ก็เหมือนกันมาทางนี้ซ่าทีเดียวหมดเลย ไม่มีเหลือ ออกเพื่อประโยชน์แก่โลก เราเองไม่เคยสนใจนะ ไม่สนใจ เพราะเราบอกเราพอแล้วไปสนใจกับอะไร ไม่เอา อะไรมาก็ออกเพื่อโลกๆ ทั้งนั้น เราเป็นที่สบายใจ ไปเพื่อโลกๆไฟเขียวไฟแดงพวกขายดอกม้งดอกไม้อะไรอย่างนี้ ไปก็จอดรถให้เขา ไฟเขียวไฟแดงให้คนละสามร้อยๆ มี่กี่คนให้คนละสามร้อยๆ แม้เราจะมีรถนำผ่านบึ่งๆเลยก็ตามเราสั่งรถนำไว้แล้วข้างหน้า ไปถึงไฟเขียวไฟแดงให้หยุด ไปถึงนั้นเขาก็หยุดกึ๊กเรียกพวกดอกไม้มา มีกี่คนเรียกมาหมด ให้คนละสามร้อยๆ แล้วไป มันหากเป็นอยู่ในจิต แต่ก่อนมันหากเป็นธรรมดาเราๆ ท่านๆ ทั่วๆ ไป แต่เวลามาปฏิบัติธรรม ปฏิบัติจนถึงขั้นเต็มภูมิในหัวใจแล้วทีนี้มีตั้งแต่ความเมตตาออก กระจายออกหมดเลย เอาละทีนี้ให้พร
เอามาเป็นคติบ้าง
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐




“ปฏิบัติให้เห็นจริง”
..เราอย่าไปว่าตัวเองรู้มากนะ รู้เฉย ๆ พูดเฉย ๆ มันไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่นะ เรื่องความรู้ กับความเห็น มันไกลกันเหมือนฟ้ากับดิน หรือไกลกว่านั้น ไกลมากกว่านั้น รู้ชื่อมันเฉย ๆ ตามสมมุติของโลก พูดว่าศีลธรรม ใครจะไม่รู้ ใครก็พูดว่าได้นะ พูดว่าศีล ว่าธรรม ว่ามรรค ว่าผล ว่านิพพาน ใครก็รู้ แต่พูดแล้ว มันไม่ได้นี้สิสำคัญมัน เหมือนเงินทางโลก เงินล้าน สองล้าน ร้อยล้าน พันล้าน ใครจะพูดไม่ได้ พูดได้หมดทุกคนนั้นหละ แต่มีไหมหละ เงินร้อยล้าน พันล้าน ไม่มีนะ พูดแล้วก็ทิ้งเปล่า ปล่อยไปตามลมเฉย ๆ ลมปาก นี้ท่านว่ารู้ รู้ตามชื่อสมมุติ มันไม่เหมือนเห็นนะ ต้องให้เห็นเกิดขึ้นจากจิตใจของเรา มันจึงเป็นการเห็น และเป็นของ ๆ เรา..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน




ฆ่าสัตว์
แน่นอนคนเราต้องผิดเสียก่อนแล้วจึงค่อยถูก ต้องเคยฆ่ามาก่อน มารู้ถูกรู้ผิดถึงจะเลิกละ การฆ่านั้นเสียได้ อย่างองค์ท่านหลวงปู่ลีเอง สมัยท่านเป็นฆราวาสท่านก็เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทำผิดมาก่อน ท่านทำเพื่อปากเพื่อท้อง
ภาษาองค์พ่อแม่ครูจารย์หลวงตามหาบัว ท่านเรียกว่า “พุงหลวง” คือ กินเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม อิ่มวันนี้พรุ่งนี้ก็ต้องกินอีก กินจนตายถึงจะเลิกกิน เมื่อต้องกินก็ต้องฆ่า เว้นแต่ว่าเป็นผู้รู้จักศีลธรรม
ย่างเข้าฤดูฝนในปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ ป่าแห่งภูผาแดงที่เขียวขจีอยู่แล้วยิ่งเขียวขจียิ่งขึ้น เสียงน้ำหยดตามผาหินกระทบพื้นดินดังเป๊าะแปะ! ๆ วันนั้น ผู้เขียนเข้าไปถวายอุปัฏฐาก องค์ท่านและสนทนากับท่าน
วันนั้นฝนฟ้าตกแรง เสียงอึ่งร้องสนั่นวัด องค์ท่านจึงปรารภขึ้นว่า...
“อึ่งมันอยู่ตามธรรมชาติของมัน มันมาอาศัยพระ คนเขาเอาไฟไปส่องจับเอามากิน เขาขายกิโลกรัมละ ๒๐๐ บาท พวกล่าอึ่งมันไม่เข้ามาแต่ในวัดเท่านั้นเพราะพระรักษา ถ้ามี คนมาล่า พระก็ลงมาบอก ถ้าพระไม่ดูแลฉิบหายสูญพันธุ์หมด พันธุ์สัตว์ประเทศนอกเขารักษา ประเทศไทยไม่รักษา ลองมองดูให้ดี นกที่บินอยู่บนท้องฟ้า ไม่มีแล้วเวลานี้ ภาคอีสานนี้มันกิน กันจนฉิบหาย”
กราบเรียนท่านว่า “คนน่ากลัวมากนะขอรับ กินได้ทุกอย่าง”
ท่านกล่าวว่า
“กินสุแนวโลด จุดจี่ขี้หมู่นั่น มันกินเบิดหล่ะ ยามแล้งนี่กะไข่มดแดงแล่ว โอ๊ย! อยากไข่มดแดง กินสุแนว ...คนกินทุกอย่างจริง ๆ แมงกุดจี่ขี้ก็กินกันจนเกลี้ยง ถึงฤดูแล้งก็กิน ไข่มดแดง โอ้ย!...อยากกินทุกอย่าง”
“มนุษย์กินทุกอย่างจริง ๆ สมัยก่อนที่หลวงปู่เป็นหนุ่มอึ่งร้องอย่างนี้ หลวงปู่เคยไปหาอึ่ง หากบมากินบ้างมั้ย?”
ท่านตอบพร้อมหัวเราะว่า
“โอ๊ย! กะคักโพด ...โอ้ย!...มันจะไปเหลืออะไร”
“หลวงปู่ก็ว่าแต่เขา ตอนยังไม่บวช หลวงปู่ก็เคยฆ่าเหมือนกันมั้ง”
ท่านกล่าว่า “ขณะที่ยังไม่บวช เรื่องล่าสัตว์นี้เก่งนัก ฆ่ากบ ฆ่าเขียดมากมาย ฆ่าปลาก็มิใช่ 62 น้อย ส่วนสัตว์ใหญ่มีช้างเป็นต้นไม่เคยฆ่า แต่พี่ชายเคยฆ่า”
แล้วองค์ท่านก็ให้โอวาทว่า
“อย่างช้างเขาเอามาจากในดงในป่านู่น เอามันมาฝึกให้ทำประโยชน์ ใช้ลากนั่นลากนี้ให้ได้เงินได้ทอง จิตใจก็เหมือนกันฝึกให้เป็นศีล สมาธิ ปัญญา มันก็ได้ ครบนะ
แต่ก่อนยังไม่ได้บวช การฆ่าสัตว์มันมีแต่ดึงกันลงไป จะมีอะไร เว้นไว้แต่ผู้มีสมบัติเป็นเจ้า ฟ้าเจ้านายไปอย่างนั้น การฆ่าสัตว์เขาไม่มีหรอก มีแต่ซื้อสัตว์มาปล่อยเท่านั้นแหละ แต่ชาวนา นี้เหมือนเฉือนเอาเนื้อตัวเองมากินอยู่อย่างนั้น
โลกสมัยปัจจุบันนี้ โลกเจริญ มันมีแต่เจริญเรื่องนี้แหละ มันขาดศีลธรรมขาดความเมตตา เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันมันไม่มีเลย ไม่มีธรรมในใจ มีแต่คำว่า “กูเอาแน่!...” เรื่องโลกมัน เป็นอย่างนั้น
เรื่องกิเลสตัณหามันไม่ยอมใครหล่ะ น่าสลดสังเวชมาก วัตถุแย่งกันอยู่อย่างนี้ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่อย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายไปทนทุกขเวทนาอยู่ในอบายภูมิโพ้นก็เพราะ จิตเพราะใจอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงอันจะเกิดมีนั้นก็เพราะอาศัยจิตนี่เอง
พวกเราเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอย่างนั้น เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ เปลี่ยนพ่อเปลี่ยนแม่ กันอยู่อย่างนั้น จิตมันกองอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น เหมือนกับควายที่เขาลากจูง เขาใช้เชือกผูก มันไว้ มันก็กองอยู่นั่นแหละ ถ้าคนไม่มาก็ตายอยู่นั่นแหละ
อันนี้เหมือนกัน อารมณ์มันครอบงำจิตอยู่ นอนหลับก็ฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่อย่างนั้น ถ้าไปนั่งภาวนาก็อยากเห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้ ก็ตัวกิเลสนั่นแหละที่อยากเห็นอยากให้มันทันอกทันใจ เขาปลูกต้นไม้ต้นไร่ กว่าจะได้รับผล ใช้เวลากี่ปี คิดดู!”
เมื่อองค์ท่านกล่าวธรรมอันวิจิตรจบลง องค์ท่านนั่งนิ่ง เหมือนพระบูชาที่อยู่บนหิ้งไม่ ไหวติง พระทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นั้น ก็พลอยนิ่งไปด้วยเช่นกัน ความนิ่งขององค์ท่านนั้น ซ่อนไว้ ซึ่งความน่าเกรงขามและน่าศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนัก!
------
คัดลอกบางตอนจาก หนังสือธรรมลี เศรษฐีธรรม (หลวงปู่ลี กุสลธโร)




อดีตที่ล่วงผ่านมาแล้ว อย่าไปคำนึงถึงเลย มันก็ออกไปจากปัจจุบันนี้แหละ
อนาคตก็เหมือนกัน มันก็ออกไปจากปัจจุบันนี้แหละ อย่าไปคำนึงถึงเลย
คุมมันเข้า ให้ดูหัวใจตัวเอง อย่าไปดูหัวใจคนอื่น เรื่องของเขา เรามีหน้าที่ของเรา
นักปฏิบัติต้องตัดอย่างนั้นนะ ถ้าไม่ตัดออกอย่างนั้น ก็จะโลเลอยู่อย่างนั้นแหละ
เดี๋ยวก็วิ่งไปนั่น ไปนี่ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะต้องให้ถูกใจตัวเองหมด
อยู่อย่างนั้นเป็นอย่างนั้นก่อนที่จะเป็นบ้านะ มันบ้าตัวนี้แหละ
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี





พ่อแม่เป็นเหมือนกระดานดำ
..หลวงปู่ลีเล่าเรื่องในสมัยพ่อแม่ของท่านให้ฟังว่า.. “โลกนี้ดินฟ้าอากาศมันทรมานคน ตั้งแต่ สมัยพ่อแม่ไม่มีหรอกโรงพยาบาล สมัยนี้โรงพยาบาลยิ่งมีมาก โรคก็ยิ่งมีมาก มันทันกัน สมมุติ เอาทั้งหมดนะร่างกายนี้ โรคนี้แต่ก่อนมีแต่ปวดหัวเจ็บท้อง แล้วก็เป็นไข้เท่านั้น เดี๋ยวนี้แต่งขึ้น สมมุติขึ้นมามากมาย ไม่รู้โรคอะไรต่อโรคอะไร แล้วก็ยังมาหลงกันอยู่นั่นแหละ สมมุติขึ้นแล้วก็ หลงกัน
..ของจริง ๆ แท้ ๆ นั้นมีแต่มืดกับสว่างเท่านั้นแหละ เดือนนั้นเดือนนี้มีแต่สมมติทั้งหมด แล้วนี่เรามาวิ่งไปกับสมมติ ถ้าใครพูดไม่ถูกใจ โกรธแล้วเหมือนจุดไฟมาเผาตัวเอง มันเป็นอยู่ อย่างนั้นนะ
...โลกใบนี้เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจเป็นอยู่อย่างนั้น ..ชีวิตของคนคิด ๆ แล้วน่าสลดใจ
.. เราก็มีพ่อแม่เหมือนกัน พ่อแม่นะเป็นกระดานหรือ ภาพสะท้อนให้ลูก ๆ ได้ดู เป็นกระดานดำให้ลูก ๆ ได้ดูทั้งหมดนั้นแหละ ทั้งพูดทั้งด่า ทั้งอิจฉาริษยากัน ทั้งนอกใจกัน เราเห็นมาหมดแล้ว
.. แต่ก่อนไม่ได้ใคร่ครวญ เหมือนหนอนที่เห็นมัน อยู่ในส้วมในถานนั่นแหละ แต่มันก็รู้นะว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าขี้คืออาหารอันโอชะของมัน มันคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับมัน..
..จิตใจของคนเราก็เหมือนกัน มันหลงอยู่นั่นแหละ ต้องพิจารณา ใคร่ครวญจริง ๆ จัง ๆ จึงจะรู้ ..
..สมัยนี้เขาว่าโลกเจริญ มันเจริญอะไร? โลกฟืนโลกไฟมันเผากันอยู่อย่างนั้น ครอบครัว หนึ่ง ๆ ก็แย่งกันเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้มีอำนาจ ถ้าคนในครอบครัวนิสัยไม่ดี ไม่เหมือนกัน นิสัย เข้ากันไม่ได้ก็ยิ่งไม่น่าอยู่นะ อยู่ไปก็ไม่มีความสุข..
..ถ้าพวกเราสงสัย ยังไม่เข้าใจ ให้ดูพ่อแม่เรา เดี๋ยวผิดใจกัน เดี๋ยวดีกันอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่ถูกใจกันก็เอาอีกแล้ว แต่อยู่ด้วยกันได้ บางครอบครัว ถึงขนาดฆ่ากัน แย่งกันเป็นใหญ่ แย่งกันเป็นผู้ปกครอง ตรงไหนที่ว่าเป็นความสุข...พิจารณาดูซิ
..เอาเรื่องกิเลสมาพูด ก็เชื่อมันนะ เชื่อมันมาหลายภพหลายชาติ เชื่ออยู่อย่างนั้น เพราะ ตัวเองไม่อยากออกจากโลก
..ที่จริงทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ ..ถ้าอย่างนั้นคนมั่งคนมีคนยาก คนจน ความสุขความทุกข์ต้องเห็นกันอยู่อย่างนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่ตั้งเที่ยง ข้าวเกิดในจานก็มี ข้าวเกิดในหม้อก็มี
..ความสุขของมนุษย์ดูมันให้ชัด ๆ อาบเหงื่อต่างน้ำ เหมือนพวกเรานี้ก็มี หรือจนถึงขนาดที่ว่าไม่มีอะไรเลย ทั้งหมดนี้เพราะบุญกุศลนั่นแหละ ที่ทำให้เป็นไป
..คิดดูซิโลกใบนี้ ลองคิดอ่านดูดี ๆ มันเกิดขึ้นด้วยการกระทำนะ ท่านถึงพูดว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
..ถ้าไม่สร้างสมบารมีเอาไว้ ก็มีแต่ทุกข์ตาย เกิดภพหน้า พบหน้าเห็นกัน อยู่อย่างนั้นหละ แค่ขนาดคลอดออกมาจากพ่อจากแม่เดียวกัน การทำอยู่ทำกิน เราสังเกต สังกาดูซิต่างกันสุด ๆ
..ท่านถึงว่าอกุศลกับกุศล กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพพะยากะตา ธัมมา
..ตั้งแต่เราเป็นเด็กน้อยมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงมาตลอด พอเฒ่าแก่ชรามาแล้วไม่เห็นมีอะไรเหมือนเก่าสักอย่าง สังเกตสังกาดูตัวเองซิ มันไม่เหมือนเก่าสักอย่าง แต่เก่าแต่ก่อนนี้ขึ้นภู ขึ้นเขา หมู่พวกได้วิ่งตามหลัง ทุกวันนี้ไปไม่ไหวมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว จากฝ่ามือเป็นหลังมือไป หมด ความเจ็บความปวดมันบีบคั้นอยู่อย่างนั้น เกาหยอกแหยก ๆ เพราะมีแต่ตัวหนอนซ่อนอยู่ กินเนื้อกินหนังอยู่นั่น ของกินของเขานะ”
------------
คัดลอกบางตอนจาก:- ธรรมลี เศรษฐีธรรม (หลวงปู่ลี กุสลธโร)




" เรื่องของบุญ
..ท่านเปรียบเหมือนกับว่าฝนตกลงในโอ่งใหญ่ๆ เรื่องทำบุญก็เหมือนกัน เรามีน้อย เราก็ใส่ตามที่เรามี ตามฐานะที่เราหามาได้ด้วยความบริสุทธิ์ เราก็ได้บุญมาก
..เหมือนเม็ดฝนที่ตกลงในโอ่ง มันตกที่ละเม็ด แต่มันตกตลอดทั้งวันทั้งคืน มันก็เต็มโอ่งใหญ่ๆ ได้.."
-----------------------
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร



.#มีสติรู้ตัว_พูดจาให้น้อยลง พูดเท่าที่จำเป็น จะต้องพูดด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่ ..การพูดมาก มีโอกาสพูดผิดได้มาก ไม่เกิดประโยชน์ แล้วยังเป็นโทษอีกด้วย
. ..เป็นผู้ฟัง แล้วตามคิด เลือกจำสิ่งดีๆ มาใช้ จะได้ประโยชน์กว่า
. ..คนพูดมาก มักขาดสติง่าย เป็นผู้ฟังที่โทษน้อย หรือไม่มีเลย แต่เป็นผู้ได้รู้มากกว่าผู้พูด"
---------------------
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร




#ถือไตรสรณคมน์แล้วไม่ฆ่าสัตว์
ขณะที่ผู้เขียนเข้าไปทำข้อวัตรต้นพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๕๙
ท่านบอกว่า “เปื่อย! ขึ้นมา เช็ดหลังแน่ โพดเด้หมู่เนี่ย โอย! หนักหน้า ชีวิตมันอยู่ได้จังใด๋ว่า ...ผิวหนังเปื่อย ขึ้นมา เช็ดหลังให้หน่อย ไขมันมากจริง ๆ โอ๊ย!...หนักไปข้างหน้า ไม่รู้ว่าชีวิตของเรามันอยู่ได้อย่างไรกัน”
“แล้วองค์หลวงปู่อยู่ได้อย่างไร? ขอรับ” กราบเรียนถามองค์ท่าน
“กรรม กรรมบ่เบิดมันบ่ไปดอก เสวยอยู่นี่...กรรม ...กรรมไม่หมด มันก็ไม่ตายหรอก เสวยกรรมอยู่เช่นนี้” ท่านกล่าวสอนเรื่องกรรม
แม้พระอริยะยังต้องเสวย แต่เป็นเพียงกรรมทาง กายเท่านั้น ส่วนทางด้านจิตของท่านสบาย
กราบเรียนท่านว่า
“เมื่อหลวงปู่เป็นเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ให้พระลูกหลานได้มาอุปัฏฐาก จักได้อานิสงส์อันใหญ่หลวง อาจจะไม่ดีกับธาตุขันธ์ขององค์หลวงปู่ แต่เป็นโอกาสทองของ พระอุปัฏฐาก หมู่พระกล่าวกันว่า หลวงปู่ไม่กลับมาเกิดให้พวกเราเช็ดถูอีกแล้ว ส่วนพวกเรา ยังต้องท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร ผู้ใดได้อุปัฏฐากเช็ดเนื้อตัวองค์หลวงปู่ ผู้นั้นก็ถือว่าได้ทำสิ่งที่ สุดยอดแล้ว”
“อีกเรื่องหนึ่งขอกราบเรียนองค์หลวงปู่ สมัยเป็นเด็กน้อยเด็กหนุ่ม ได้ฟังธรรมจากท่าน ผู้ใดมาบ้าง?”
“...เอ้า! กะหลวงปู่ชอบ หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ขาว แต่เป็นเด็กน้อย พระกรรมฐาน เพิ่นมาจำพรรษาที่หนองบัวบาน ที่ห้วยหนอง หลวงปู่ชอบ เพิ่นไป เฮ็ดไว้ ...เอ้า! สมัยเป็นเด็ก เราได้ฟังเทศน์จากหลวงปู่ชอบ (ฐานสโม) หลวงปู่เทสก์ (เทสฺรงฺสี) หลวงปู่ขาว (อนาลโย) พระกรรมฐานท่านมาพักจำพรรษาที่บ้านหนองบัวบาน (วัดขันธเสมาราม ปัจจุบัน) หลวงปู่ชอบ ท่านได้สร้างวัดนี้เอาไว้”
จริงทีเดียว ท่านผู้มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้า ย่อมมีจำนวนน้อย จะมีสักกี่คน ที่พระอริยเจ้ามาโปรดถึงหน้าบ้าน ท่านทั้งหลาย! ผู้ครองเรือนที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ย่อมมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ ๑. ความสัตย์ ๒. ความข่มใจ ๓. ความอดทน และ ๔. ความเสียสละ
ผู้มีสติปัญญาเข้าใกล้ท่านผู้รู้ แม้เพียงชั่วระยะเวลาเล็กน้อย ก็สามารถรับรู้ธรรมได้โดยพลัน เปรียบดังลิ้นที่รับรสแกง
ฉะนั้น หลวงปู่ลีในวัยหนุ่มผมดำสนิท ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้โอกาสอันเลิศนี้ พระพุทธเจ้าเปรียบ เหมือนแสงสว่างที่ส่องโลก พระสาวกเป็นผู้คอยนำแสงสว่างนั้นมาแจกจ่ายแก่ปุถุชนคนผู้มืดบอด ทั้งหลาย
การฟังธรรมนับว่าเป็นการสร้างความดีให้เกิดขึ้นในตน ด้วยว่าโลกคือหมู่สัตว์ไม่คงที่ เป็นปกติอยู่เสมอได้ โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มีนิมิตเครื่องหมายว่ามันจะมาเมื่อไหร่ ถึงแม้เราอยู่ ต่อไป ๆ เราก็ไม่รู้ว่าจะได้รับความทุกข์ความสุขสักเพียงไร
เหตุภายในคือโรคภัยไข้เจ็บ เหตุภายนอก คือการเบียดเบียนกันและกัน แม้ที่สุดสัตว์เหาะไปได้ในอากาศก็ไม่พ้นการเบียดเบียนกัน ถ้าคน ไม่มีศีลธรรม โลกก็แตก จะอยู่ดีมีความสุขก็ด้วยความเมตตาปราณี คือประพฤติตามคำสอนของ พระพุทธเจ้านั้นเอง
แลแล้วองค์หลวงปู่ลีจึงปรารภธรรมขึ้นว่า พระพุทธเจ้ามีแต่บอกทางเท่านั้น เราจะเดิน หรือไม่ นั้นเป็นเรื่องของเรา ท่านชี้ต้นทางให้ ไม่มีใครทำแทนให้กันได้
ความเจ็บความป่วย ความเป็นไข้เหล่านี้ มีแต่เราได้เสวยด้วยตัวของตัวเราเองนี่แหละ อาหารการอยู่การกิน ถ้าเรา ไม่กิน มันก็ไม่รู้สึกอิ่ม แล้วก็ไม่รู้รสชาติว่าเป็นอย่างไร ใครจะไปกินแทนกันได้ มีแต่เราต้อง เสวยด้วยตัวเราเอง
เราต้องทำด้วยตัวของเราเองทั้งหมด จะทำชั่วก็ทำเอาเอง จะเป็นลูกศิษย์ เทวทัตต์ก็ทำเอาเอง จะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าก็ทำเอาเอง
ขณะนั้นองค์ท่านกำลังนั่งดูสารคดีเรื่องงูอยู่ องค์ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า
“พุ่นนะงู! มีแต่โต บักใหญ่ งูหยังบุเนี่ย อ้วนกะด้อกะเดี้ย ...ดูนั่นสิ งูมีแต่ตัวใหญ่ ๆ งูอะไรตัวอ้วนพิลึก”
เมื่อได้โอกาสจึงกราบเรียนถามท่านทันทีว่า “หลวงปู่ในสมัยเป็นหนุ่มเคยฆ่างูบ้างหรือไม่?”
“เคยอยู่แหล่ว ...เคยฆ่าอยู่”
“บางแห่งเขากินเนื้องู ชาวบ้านหนองบัวบานกินเนื้องูหรือไม่?”
“โอ้ย! งูเหลือม งูสิงห์ขาว งูจงอาง เขานิยมกินกัน งูอย่างอื่นไม่ค่อยกิน เวลาจะกินงูจงอาง เขาตัดหัวออกแล้วเอาเชือกผูกหางห้อยไว้ให้เลือดและน้ำในตัวมันไหลออกให้หมด ถ้าไม่ทำ อย่างนั้นกลิ่นมันฉุน กินไม่อร่อย”
“โอ้ย! คนมันกินฉิบหายจริง ๆ เมื่อถือไตรสรณคมน์แล้วเราไม่เคยกินเนื้องู เพราะพระพุทธเจ้า ห้ามกินเนื้อ ๑๐ อย่าง ๑. เนื้อมนุษย์ ๒. เนื้อช้าง ๓. เนื้อม้า ๔. เนื้อสุนัข ๕. เนื้องู ๖. เนื้อ ราชสีห์ ๗. เนื้อหมี ๘. เนื้อเสือโคร่ง ๙. เนื้อเสือดาว ๑๐. เนื้อเสือเหลือง”
กราบเรียนท่านว่า
“สมัยก่อนคงลำบากมาก ถ้าเทียบกับสมัยนี้ หยูกยาก็ไม่มี รถยนต์ก็ ไม่มี เครื่องบินก็ไม่มี โรงพยาบาลก็ไม่มี ฯลฯ”
ท่านตอบว่า
“ฮ่วย!... แต่ก่อนนี่แสนจะสบายไม่ได้ยุ่งยากเหมือนทุกวันนี้ ป่วยก็ป่วย แต่ชีวิตอยู่ได้ยืนนานไม่ตายง่าย ๆ เหมือนสมัยทุกวันนี้ แต่ก่อนคนตายโดยส่วนมากก็มีแต่คน เฒ่าคนชราตายกัน ไม่เหมือนทุกวันนี้ เด็กอายุ ๓ ถึง ๔ ปีก็ตายกันแล้ว เผากันแล้ว”
“บ่อึด บ่อยากแหล่ว แต่เป็นเด็กน้อย” ท่านเล่าบรรยากาศให้ฟังด้วยความเพลิดเพลิน
แต่ละคำประกอบด้วยรอยยิ้มที่สลักอยู่ในใจผู้ฟังแบบมิรู้ลืม ทุกถ้อยประโยคล้วนออกมาจากสติวินัย จึงงามหาที่ต้องติมิได้
แม้ในวันที่ท่านเล่านั้นความดันของท่านวัดได้สูงถึง ๒๒๑ ถ้าเป็นคนธรรมดาอย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ เส้นโลหิตในสมองแตกตายไปแล้ว คงไม่มีลมหายใจอยู่ได้ข้ามวันเป็นแน่แท้
แต่นี่องค์ท่านยังคงเล่าประวัติระงับเวทนาที่ท่านพูดเสมอว่า
“เราอยู่ได้อย่างไร? จะตายก็ไม่ตาย ทรมานสังขารแท้ ๆ เป็นโรคกรรม”
ท่านว่าอย่างนี้บ่อย ๆ แลแล้วองค์ท่านก็สรุปให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขารว่า ร่างกายเราไม่ไหว เป็นลมวิงเวียนศีรษะ เปื่อยตามร่างกาย จะตายก็ไม่ตายทรมานอยู่อย่างนั้น เป็นคำพูดที่ได้ยินแทบทุกวัน
นั้นแสดงให้เห็นธรรมอย่างเอก คือ ธรรมดา นั่นเอง!
-------
คัดลอกบางตอนจาก หนังสือธรรมลี เศรษฐีธรรม (หลวงปู่ลี กุสลธโร)




“ให้ฝึกหัดดัดแปลง แก้ไขตัวเอง”
..ถ้าไปหาเพื่อน ได้พูดกันบ้าง คำสองคำก็ดีใจ นั้นหละมันเป็นนิสัย เป็นสิ่งที่มาปกปิดความสงบของเรา มาปกปิดสมาธิของเรา ทำให้ห่างเหินจากธรรมะวินัย ทำให้ห่างเหินจากคุณธรรมอันวิเศษ ที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเรา ให้ระมัดระวังไว้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ อย่าไปหากัน ให้ฝึกหัดดัดแปลงแก้ไขตัวเองให้มันได้ ให้เห็นคุณธรรมอันพิเศษ ให้เกิดขึ้นในใจตัวเองจริง ๆ ลอง ๆ ดูบ้าง พระพุทธเจ้า พระอริยะเจ้า ท่านปฏิบัติมาพอแรงแล้วนะ จนเห็นผลแล้วนะ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน



" ฝึกให้ตัวเองพ้นไป
จากความเป็นขี้ข้าของเงิน
หมายความว่า
เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่
รถยนต์ใช้อะไร
ก็หัดพอใจกับมัน
นาฬิกาใช้อะไรอยู่
ก็หัดพอใจกับมัน
เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่
ก็หัดพอใจกับมัน
การที่คนเรา
จะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้
ต้องเริ่มจาก
การรู้จักเพียงพอก่อน
เมื่อรู้จักพอแล้ว
ก็ไม่ต้องหาเงินมาก
เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก
ชีวิตก็มีโอกาส
ทำอะไรมากกว่า
การหาเงิน "
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก




“มีอยู่ในตัวเองนั่นละธรรม ไม่ต้องไปวิ่งหาฟังที่ไหน ครูบาอาจารย์พูดไปสอนไป ฟังแล้วไม่ทำมันก็ไม่มีประโยชน์หรอก มันก็เหมือนฟังเพลงฟังลำนั่นล่ะ เข้าใจไหม ฟังแล้วทิ้งไปเปล่าๆ ไม่ได้อะไร ให้มันทำจริงสิ”
หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร




“เป็นผัวเมียกัน” นั่นแหละมันทุกข์..เข้าใจบ่
..ทุกข์ทั้งนั้นแหละ เป็นผัวเมียกัน
บอกฮักกันๆ มันกะดีแต่..ตอนใหม่ๆ นั่นละ
กินข้าวเปล่า..ใส่น้ำปลา มันยังว่า..อร่อยเลย
พอนานไป ทีนี้บ่..อร่อยแล้ว ทำมาแค่ไหน
กะบ่อร่อยแล้ว เข้าใจไหม..มันเบื่อ มันนาน
จิตดวงนี้มัน..บ่ตายเด้อมันออกจากร่างนี้กะไปสิงอยู่กับร่างใหม่..มนุษย์เฮาบ่ว่ารวยหรือจนกะกินข้าววันละสามครั้งคือกัน..กินกะได้แค่อิ่ม..ตอนเป็นมนุษย์อยู่นี้ให้พากันสร้างไว้หลายๆกรรมดี เพราะว่าตอนเป็นมนุษย์นี้คนบ่มีกะยืมกันกินได้ ขอกันกินได้ หาเก็บผัก หาปลา มากินได้..เดินบ่ได้กะแบกกะหามกันไปนั้นมานี้ได้..แต่ข้างหน้านั้นมันขอกันกินบ่ได้ ยืมกันกินบ่ได้เป็นไปตามกรรมไผมันเด้อ..
เป็นฆราวาสมีครอบครัวบ่ต้องเอาหยังหลาย..สวดมนต์ไหว้พระทุกวันก่อนนอนแล้วกะตอนเช้าตื่นนอน..นั่งภาวนาเช้าแลงให้ได้วันละ 20 นาทีแค่นี้เหลือกินแล้ว...เฮ็ดไปทุกวันๆแบบนี้คือเฮากินข้าวทุกวัน บางวันกะกินกับพริกกับกินเกลือ..กินไปทุกๆวันมันสิเจอเองของดี..
.............................................................................
โอวาทคติธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
(หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร)




"ก็เมื่อเราค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา
ตามสัจธรรมที่เป็นความจริงล้วนๆ อยู่แล้ว
ด้วยสติ ปัญญา
ไม่ลดละความเพียร
ความจริงต้องปรากฏขึ้นมาโดยลำดับๆ
จนกระทั่งเป็นความจริงเต็มส่วน
ภายในจิตใจของเรา
ตอนนั้นล่ะ
ภาระทั้งหมดที่เต็มไปด้วยความตะเกียกตะกาย
ความอยาก ความฝืน
ความทรมานตนเองเพื่อแก้กิเลส
จะหมดไป"
พระธรรมวิสุทธิมงคล
(หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
วัดป่าบ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี




บางคน..เกิดมา ทำชีวิตมีค่าเทียบเท่ากับ “ไก่ตัวหนึ่ง” เท่านั้น

“บางคนเกิดมา..มีชีวิตเหมือนไก่ตัวหนึ่งเท่านั้น ไก่เกิดมาโตขึ้นมีลูก พาลูกๆคุ้ยเขี่ยหากินไปตามเรื่องราว ตกเย็นนอน เช้ามาก็กระโจนลงดินร้องกุ๊กๆ ออกหากินไป ตอนเย็นก็กลับมานอนอีก วันๆ หนึ่งทำอยู่อย่างนี้

ถ้ามนุษย์ใช้ชีวิตแบบนี้ ชีวิตจะมีประโยชน์อะไรไหม? ไม่มีประโยชน์ ก็เหมือนกับสัตว์ที่ไม่มีปัญญาเท่านั้นเอง

คนเลี้ยงไก่ เขาจับมันยกขึ้นดูทุกวันๆ เอาอาหารให้กินเรื่อยๆ ไก่ก็นึกว่าเขารักเรา แต่เจ้าของเขาคิดว่านี่มันหนักเท่าไหร่แล้ว? พอจะเอาไปขายได้หรือยัง? เจ้าไก่ไม่รู้เรื่อง พอ 2-3 เดือนต่อมา เอาแล้ว...เขาเอาไปตลาดแล้ว

คนเราอยู่กันทุกวันนี้ก็คล้ายๆ อย่างนั้น ไม่ค่อยได้นึกถึงอันตรายชีวิต เพราะมัวแต่หลงไม่รู้เรื่องชีวิตตัวเอง จึงเหมือนกับไก่ในเข่งที่เขากำลังเอาไปขาย เขายกขึ้นรถก็ยังขันโอ๊กๆสนุกสนาน ไปถึงที่แล้วเขาจับถอนขน ก็นึกว่าเขาทำความสะอาดให้ มันโง่ขนาดนั้น พอมีดเชือดเข้าไป โอ้!...มันตายนี่นะ ไม่เห็นชีวิตตัวเองไม่รู้จักแก้ไข จึงตายไปโดยไม่มีประโยชน์

เราทุกคนก็เหมือนกัน ไม่รู้จักพอ ดิ้นรนไปทุกสิ่งทุกอย่าง ดิ้นรนในการทำมาหากิน หาชื่อเสียงเกียรติยศ แต่หาในทางที่ชอบก็ยังดีนะ บางคนดิ้นรนไปอิจฉาพยาบาทเขา มันไม่ค่อยดี

คนขาดการฟังธรรมก็เป็นอย่างนั้น มันโง่ไปเรื่อยแหละ เราอิจฉาคนอื่นอยู่ ก็หาว่าเขาอิจฉาเรา คนพวกนี้ไม่ค่อยรู้จักตนเอง...เป็นคนใช้ไม่ได้ เพราะขาดธรรมะ ไม่สนใจธรรมะ”

#_หลวงพ่อชา_สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร )




การเริ่มต้นการพิจารณากาย
.
จะใช้บทพุทโธ เป็นบทบริกรรม สำหรับผูกจิตก็ได้ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วให้วางบทบริกรรมเสีย แล้วพิจารณากาย ต่อไป
.
ในการพิจารณากาย เริ่มแรกให้พิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เราสามารถที่จะเพ่งพิจารณาได้อย่างสะดวกในอาการ ๓๒
.
เมื่อพิจารณาจนเกิดความชัดเจน กลับไปกลับมา หรือที่เรียกกันว่าโดยอนุโลมปฏิโลม จนหายสงสัยในจุดที่พิจารณานั้นแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นจุดอื่นต่อไป
.
อย่าพิจารณาเป็นวงกว้างทั้งร่างกาย เพราะปัญญายังไม่แก่กล้า
.
ถ้าพิจารณาพร้อมกันทีเดียวทั้งร่างกาย ความชัดเจนจะไม่ปรากฏ ต้องค่อยเป็นค่อยไป
.
เมื่อพิจารณาจนเกิดความชำนาญแล้ว ถ้าเราเพ่งปัญญาลงไปจุดใจจุดหนึ่ง ความชัดเจนจากจุดอื่นๆ ก็จะปรากฏเป็นนัยเดียวกัน
.
เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้ว ให้น้อมจิตเข้าพักอยู่ความสงบ เมื่อพักอยู่ในความสงบพอสมควรแล้ว ให้ย้อนกลับออกมาพิจารณาร่างกายอีก
.
ให้เจริญอยู่อย่างนี้ จึงจะเจริญทางด้านปฏิบัติ
.
เมื่อจิตมีความชำนาญเพียงพอแล้ว คำบริกรรมพุทโธก็ไม่จำเป็น เพียงกำหนดจิตก็จะสงบเข้าสู่สมาธิได้ทันที
.
• พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต •




“ดูใจของตัวเอง สติมีดูมันคิดไปเรื่องอะไร เรื่องที่คิดเหล่านั้นเราเคยคิดเคยปรุงมาเสียพอแล้ว และเคยนำความทุกข์มาบีบบังคับให้เราได้รับความทุกข์ทรมานมามากต่อมากแล้ว ทำไมจะไม่เข็ดหลาบ
.
การปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ทำไมจะถือว่าเป็นของลำบากลำบนไป นี่ก็ถูกกลมายาของกิเลสมันหลอกให้จมอยู่อีกแล้วนั่น จะไม่มีทางพ้นไปได้ ถ้าไม่ตั้งใจอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกายจะไม่มีวันพ้นไปได้นะ เราอย่าเข้าใจว่าจิตนี้มีวันมีคืนมีปีมีเดือนมีสิ้นมีสุดโดยไม่ต้องชำระสะสางกัน "
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 224 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO