Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน

ศุกร์ 23 มี.ค. 2018 4:41 am

"บุคคลที่ทนในสิ่งที่คนอื่นทนได้ยาก
ทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก
บุคคลนั้น จะเข้าถึงความสำเร็จของชีวิต
ความอดทน ความขมขื่น จะเกิดขึ้น
ในเบื้องต้นของการทำความดี
แต่จะได้รับความชื่นชม ในบั้นปลาย"
-:- หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ -:-



"โลกนี้ อยู่ยากขึ้นทุกวัน
ต้องอาศัยการควบคุมตนให้ได้
ใจให้สงบระงับ มั่นคง บริสุทธิ์อยู่
ไม่เบียดเบียนใครผู้ใด เช่นนี้
ก็พอจะอยู่ได้บ้างอย่างมีสุข"
-:- หลวงปู่จาม มหาปุญโญ -:-



"บุญ บาป เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน
ใครจะมาว่าเรา เป็นเรื่องปากเขา
จิตเรามีหน้าที่ภาวนา ยืนมีสติ
เดินให้มีสติ ทำอะไร พูดอะไร ให้มีสติ
รู้ภายนอก รู้ไปทำไม รู้ภายใน รู้กาย
รู้จิตของตัวเองดีกว่า"
-:- หลวงปู่สิม พุทธาจาโร -:-



"จงทำกับเพื่อนมนุษย์ โดยคิดว่า
เขาก็ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส เหมือนเรา
ย่อมพลั้งเผลอไปบ้าง"
-:- ท่านพุทธทาสภิกขุ -:-




“พิจารณาให้มาก”
..ในระยะที่เรายังไม่ตาย เราจะมีวิธีการแก้ไขยังไง ในการเตรียมตัวขั้นแรก ที่จะทำให้ตัวเองเป็นคนดี ไม่ทุกข์ จนเดือดร้อนวุ่นวาย ในกาลต่อไป พระพุทธเจ้าท่านค้นพบแล้ว และได้วางหลักศาสนาไว้ วางคำสั่งหรือคำสอนไว้ ให้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงระยะพวกเรา แต่ว่าพวกเราจะประพฤติปฏิบัติกันได้เพียงไหน แค่ไหน เป็นหน้าที่ ๆ จะต้องพินิจพิจารณาให้มาก..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร




นักปฏิบัติใดที่ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นจากการปฏิบัติบ้างเลยนับแต่ขั้นสมาธิเป็นต้นไป นักปฏิบัตินั้นมิได้ปฏิบัติเพื่อปัญญาความรู้แจ้งในสัจธรรมทั้งหลายอย่างแท้จริง และย่อมจะหาทางหลุดพ้นไปไม่ได้ เพราะสัจธรรมฝ่ายผูกมัดจิตอันมีสมุทัยเป็นสำคัญนั้น คือแหล่งแห่งปัญหาเครื่องปลุกหรือเขย่าทั้งมวล และมรรคมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะเป็นสำคัญ เป็นแหล่งแห่งปัญญาทุกขั้นซึ่งเป็นเครื่องแก้ปัญหาที่เกิดจากสมุทัยสัจ ธรรมทั้งสองนี้ต้องทำหน้าที่ต่อกันอย่างเต็มภูมิก่อนจะผ่านไปได้แต่ละขั้นละภูมิ การที่สติปัญญาทำหน้าที่ต่อสมุทัยอันเป็นต้นเหตุแห่งปัญหานั้น เรียกว่าปัญหาเกิด และเรียกว่าแก้ปัญหาในวงปฏิบัติของนักภาวนาทั้งหลาย ดังนั้นผู้ก้าวเข้าสู่ความสงบบ้างแล้ว จึงควรใช้ปัญญาหาเหตุผลในลำดับต่อไป หรือเรียกว่าเริ่มต้นหาเรื่องให้เกิดปัญหา เพื่อปัญญาจะได้มีงานทำต่อไปไม่ว่างงาน อันเป็นลักษณะของคนขี้เกียจ ทำความสนิทติดจมอยู่กับความนอนใจที่เรียกว่าโมหะ กล่อมให้หลับตลอดเวลาไม่มีวันตื่นเอาเลย ซึ่งมิใช่ทางเดินของสมาธิ ปัญญา อันเป็นทางหลุดพ้นตามหลักของผู้แก้กิเลสด้วยสติปัญญา
.
แต่จะอธิบายระบุว่าปัญหาที่เกิดต้องเป็นปัญหานั้น ต้องเกิดในลักษณะนั้น และปัญญาที่จะนำมาแก้ไขปัญหาต้องเป็นปัญญาเช่นนั้น ต้องใช้อุบายอย่างนั้นดังนี้ย่อมไม่ได้ เรื่องทำนองนี้ต้องเป็นเทคนิค คือความแยบคายของแต่ละรายจะคิดผลิตขึ้นเพื่อเหมาะแก่กรณีนั้น ๆ เป็นข้อ ๆ และเป็นราย ๆ ไป เพราะคำว่าปัญหาก็ดี ปัญญาก็ดี มีมากมายและสลับซับซ้อนไปตามกลมารยาของกิเลสสมุทัย และความแยบคายของสติปัญญา ดังนั้นจึงลงไว้เท่าที่ควร ไม่ฟั่นเฝือเรื้อรังเกินไปจนทำให้ท้อถอยน้อยใจก่อนจะลงมือปฏิบัติ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติทางใจเพื่อเหตุเพื่อผลจริง ๆ จำต้องมีปัญหาและปัญญาเป็นข้าศึกศัตรูกันตลอดไป จนถึงที่สุดของเหตุและผลโดยสมบูรณ์แล้วนั่นแล ปัญหาเกี่ยวกับสมุทัยก็ดี ปัญหาเกี่ยวกับมรรคเครื่องแก้ก็ดี ย่อมหมดไปตาม ๆ กัน
.
ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายจึงกรุณาหนักแน่นในสติกับปัญญา ที่จะพิสูจน์ปัญหาแง่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวในทางสมาธิ และทางความรำพึงไตร่ตรองหรือทางปัญญา ให้ลุล่วงไปด้วยความมีเหตุผลเป็นเครื่องดำเนิน กิเลสที่แทรกอยู่กับปัญหานั้น ๆ จะหลุดลอยไปด้วยขณะที่ปัญหาสิ้นสุดลงแต่ละข้อ
.............................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ "ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะ"
เรียบเรียงโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน






เหตุว่าผู้ที่ไม่มีศีลนั้น ยังห่างไกลจากพระนิพพานมาก
ผู้ที่มีศีลชื่อว่าใกล้ต่อพระนิพพานอยู่แล้ว ถึงจะไม่รู้อะไร
รู้แต่เพียงศีลเท่านั้น ก็ยังดีกว่าผู้ไม่มีศีลนั้นอยู่นั่นเอง
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีธรรม โดยพระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร




สตินี่ ทำให้มันมีกำลังดีแล้วจิตมันจึงจะล่วง
เพราะสติคุ้มครองจิต ตัวสติก็คือจิตนั่นแหละ แต่ว่าลุ่มลึกกว่า
สตินั่นอบรมจิต ครั้นอบรมจนขั้นจิตรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้ว
มันจึงหายความหลง พบความสว่าง ความหลงนั้นก็คือไม่มีสติ
ครั้นมีสติคุ้มครองหัดไปจนแน่วแน่แล้ว ให้มันแม่นยำ
ให้มันสำเหนียกแล้ว มันจะรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง
สติแก่กล้าจิตย่อมทนไม่ได้ เมื่อทนไม่ได้ก็สงบลง
ครั้นสงบลงแล้วมันก็รู้ เดี๋ยวนี้มันไม่มีปัญญา มันก็ส่ายไปมา
เพราะมันไปหลายทาง จิตไปหลายทางเพราะเป็นอาการของมัน
เมื่อผู้วางภาระ คือว่าง ไม่ยึดถือว่าขันธ์ห้านี้เป็นตัวเป็นตนแล้ว
ไม่ยึดถือแล้วปลงเป็นผู้วางภาระก็มีความสุข
จะยืน เดิน นั่ง ก็มีความสุข ไม่ยึดถือ
เพราะรู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว
.
หลวงปู่ขาว อนาลโย




หลงเห็น "กงจักรเป็นดอกบัว"
ปุจฉา : ที่ท่านอาจารย์บอกว่าพระพุทธเจ้าสร้างถนนราดยางไว้เสร็จนี่ คนที่ได้เห็นถนนแล้วทำไมยังไปไม่ได้หมด ยังหลงทางกันอีก
วิสัชนา : ไปถามเขาซี่ มาถามอาตมาไม่ได้หรอก ถมไปที่คนเห็นถนนราดยางแล้วไม่เดิน ก็เดินเข้าป่าเข้ารกเข้าพงไป ไม่งั้นเขาจะว่า หลงเห็นกงจักรเป็นดอกบัวหรือ
ท่านอาจารย์มั่นท่านก็บอกว่าท่านเองก็หลงมาพอแรงแล้ว เรื่องนี้น่ะเรามันเพียงแต่เป็นสติ เป็นปัญญา พระพุทธเจ้าท่านเป็นมหาสติมมหาปัญญา
อาตมาไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ภาวนาแล้วจิตมันลงสู่ฐีติจิตตลอดคืนยันรุ่ง ถอนขึ้นมามีนิมิตขึ้นมา จากนิมิตก็ไปตามอารมณ์และก็เพลินอยู่ในฐีติจิตว่ามันสุข มันไปติดอยู่ในอดีต มันไม่ดูปัจจุบัน มันไม่วางไปเลย สบายไปเลย ไปกราบเรียนถามท่านว่า
"บุคคลผู้พิจารณาควรต้องมีสติให้ได้ทุกลมหายใจไม่ใช่หรือครับ ถ้าไม่ได้ทุกลมหายใจ สติมันเผลออยู่อย่างนี้จะไม่เป็นไรหรือครับ"
ท่านนั่งสงบจิตพิจารณาครู่หนึ่งแล้วก็ตอบว่า
"ไม่ได้หรอก ผมก็ไม่ได้ทุกลมหายใจ พวกสาวกไม่ได้ทุกลมหายใจดอก
มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นแหละที่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านเป็นมหาสติ มหาปัญญา ส่วนพระสาวกนั้นเปนแต่เพียงสติ เป็นแต่เพียงปัญญา ไม่ได้ทุกขณะจิต ต้องมีการพลั้งเผลอเป็นธรรมดา
แต่ถ้าการเผลอนี้ไม่เพลิดเพลินไม่จัดเป็นเสียหาย แต่การพลั้งเผลอด้วยความเพลิดเพลินลุ่มหลงยินดีนั้นเสียหาย ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ยินดีในสิ่งนั้น ต่อไปจะเกิดเป็นมานะขึ้นได้"
หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ




“ถ้าเหตุมันเต็มร้อยผลมันก็ต้องเต็มร้อย”
ถาม : นมัสการพระอาจารย์ ใจของผมมันติดผลการเรียนมากครับพระอาจารย์ ถ้าผลสอบออกมาเมื่อไหร่ และวิชาไหนมันไม่ได้ท๊อป ใจมันจะทุกข์มากเลยครับ ขอความเมตตาพระอาจารย์แนะคติ เพื่อเป็นการแก้ใจปุถุชนคนหนาอย่างผมด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
พระอาจารย์ : คือเราไปตั้งใจที่ผลซึ่งเป็นจุดที่ไม่แน่นอน เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับผลได้ พอมันไม่ได้ดังที่เราตั้งเป้าไว้เราก็จะเสียใจได้ ฉะนั้นเราควรจะเปลี่ยนใจเราไปตั้งที่เหตุดีกว่า เหตุก็คือการเรียนของเรา การตั้งใจเรียน ทำการบ้าน ดูหนังสือของเรา อันนี้เราสามารถควบคุมได้ ทำให้มันเต็มที่ได้ ทำให้มันเต็มร้อยได้ อันนี้เอาใจเราไปตั้งที่เหตุก็แล้วกัน แล้วผลมันจะตามมาจากเหตุ ถ้าเหตุมันเต็มร้อย ผลมันก็ต้องเต็มร้อย ถ้าเหตุมันไม่เต็มร้อย ต่อให้อยากให้ผลเต็มร้อย มันก็ไม่เต็มร้อย แล้วเราก็อาจจะเสียใจได้ แต่ถ้าเราตั้งที่เหตุ เราจะไม่เสียใจ เพราะเรารู้ว่าผลเป็นผลที่เกิดจากเหตุที่เราทำไว้เท่านั้นเอง.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




"เราควรที่จะฝึกสติกัน"
พวกเราโชคดีที่ได้มาเกิดในเมืองพุทธศาสนาที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะสอนให้เรามาหาความสุขที่แท้จริงกัน ให้เราเลิกหาความสุขปลอมกัน ความสุขปลอมก็คือความสุขที่จะกลายเป็นความทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยงมันไม่ถาวร เป็นความสุขชั่วคราว เวลาเสียความสุขนี้ไป ไม่สามารถหาความสุขนี้ได้ มันก็จะทำให้เราทุกข์กัน
ฉะนั้นเราควรที่จะมาฝึกสติกัน เพื่อที่จะทำให้ใจเราสงบ ใจเราถ้าไม่มีสตินี้มันไม่สงบหรอก สงบเองไม่ได้ มันเหมือนกับรถที่วิ่ง ถ้าไม่มีเบรคมันหยุดเองไม่ได้ ถ้าจะให้รถหยุดนี้ต้องมีเบรค ต้องเหยียบเบรครถถึงจะหยุด ใจของเราก็วิ่ง วิ่งด้วยความคิด คิดตั้งแต่ตื่นขึ้นมา คิดตั้งแต่ก่อนตื่น เวลานอนก็คิด เวลาเราฝันนี้มันก็เป็นความคิด ความฝันมันมาจากความคิด ใจเราคิดไปในเวลาที่เราหลับมันก็เลยเป็นความฝันขึ้นมา เวลาเราตื่นเราก็ฝันต่อ ฝันแบบลืมตา เพราะใจเราก็ยังคิดต่อ คิดอยากไปที่นั่นคิดอยากทำโน่นอยากทำนี่ คิดอยากเห็นคนนั้นเห็นคนนี้ อยากเจอสิ่งนั้นอยากเจอสิ่งนี้ จะเรียกว่าเพ้อฝันไง ความเพ้อฝันก็เกิดจากความคิดของเรา คิดแล้วก็ทำให้อารมณ์เสียอารมณ์ไม่ดี คิดแล้วก็อยากได้ พออยากได้ใจก็ไม่เป็นปกติ ใจก็เริ่มกระวนกระวาย กระสับกระส่าย หงุดหงิดรำคาญใจ ก็เลยต้องไปหาสิ่งที่อยากได้มา เพื่อที่จะให้ความหงุดหงิดรำคาญใจหายไป ก็เลยคิดว่าเป็นความสุข พออยากได้อะไรก็ต้องไปหาสิ่งที่อยากได้ พอได้มาความหงุดหงิดรำคาญใจก็หายไป ก็เลยรู้สึกว่าสุขขึ้นมา ความจริงมันไม่ได้สุขหรอก มันดับความกระวนกะวายกระสับกระส่ายความหงุดหงิดรำคาญใจที่เกิดจากความอยากนี่เอง ถ้าไม่มีความอยากตอนนี้ก็ไม่มีความหงุดหงิดรำคาญใจ สบาย ตอนนี้ไม่มีความอยากแล้วกระวนกระวายกระสับกระส่าย เฉยๆ แต่พอเกิดความอยากใหม่นี้ เริ่มแล้ว เริ่มกระวนกระวาย กระสับกระส่าย หงุดหงิดรำคาญใจ ก็เลยต้องไปทำตามความอยาก พอได้ทำเสร็จแล้ว ความหงุดหงิดก็หายไป แต่หายไปชั่วคราว เดี๋ยวความอยากก็มาอีก ก็ยังคิดต่อ เดี๋ยวคิดถึงคนนั้นคิดถึงคนนี้ คิดถึงสิ่งนั้นคิดถึงสิ่งนี้ คิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสก็อยากได้แล้ว
ฉะนั้นเราต้องใช้สติมาหยุดความอยากเหล่านี้ หยุดความคิด ถ้าเรามีสติเราสั่งให้หยุดความคิดได้ ถ้าเราสั่งให้มันหยุดคิดไม่ได้ แสดงว่าเรายังไม่มีสติ ถ้าเรายังไม่มีสติเราก็ต้องสร้างสติขึ้นมา วิธีสร้างสติก็คือบริกรรม พุทโธ พุทโธ ไป ถ้าเราบริกรรมพุทโธอยู่กับพุทโธ เราก็จะไปคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้คนนั้นคนนี้ไม่ได้ พอเราไม่คิดเราก็จะไม่อยาก พอไม่อยากใจเราก็จะไม่กระวนกระวาย ไม่กระสับกระส่าย ใจเราก็มีความสุข นี่แหละไม่ต้องไปมีอะไร ที่มีกันก็เพราะอยาก ถ้าไม่อยากก็ไม่ต้องมี.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




การภาวนา จิตยังไม่ถึง
สัปปายะจิตมันก็ลุ่มๆดอนๆอยู่นั่นแหละ
เหมือนกับไม้พาดรั้ว แล้วแต่แรงลมจะมาจากไหน
ก็ไปทางนั้นตามแรงลม
อันนี้ก็เหมือนกัน เพราะหลักจิตไม่มี
หลักจิตไม่มีมันก็เลยไปตามอารมณ์ที่กิดขึ้น
อารมณ์มาทางไหน ก็ไปตามมัน เอียงไปกับมัน
ท่านว่าหลักสมาธิไม่มี
สมาธิ แปลว่าความตั้งมั่นไม่เอนเอียง
เหมือนหลักที่ปักไว้ ถึงลมจะมาก็ไม่เอนเอียง
จิตใจของเรามันวิ่งอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะไปเห็นอะไร
เหมือนกันกับคนเดินหรือคนวิ่ง
ถ้าคนยืนอยู่กลางแจ้งใครจะมาทางไหนก็เห็นหมด
จะมาจากทางซ้ายทางขวา อันนี้เปรียบเทียบ
จิตมันไม่เห็นหลักธรรมอะไร
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
เทศนาธรรม เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๘





“เดินจงกรม”
..ถ้าอยากไปเดิน ก็ไปเดินจงกรม เดินก็ประนมมือขึ้นอย่างนี้ แล้วก็นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ว่าสัก ๒-๓-๔ ครั้ง แล้วก็แผ่เมตตาก่อนก็ได้ เมตตาสัตว์ ผู้ใดได้ หรือไม่ได้คำบาลี ก็ว่าธรรมดานี้หละ ว่า สัตว์ทั้งหลาย อย่ามาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างเกิดขึ้นมาในโลก ผู้ใดก็ต้องการความสุขความเจริญ ว่าไปอย่างนี้ก็ได้ หรือจะใช้ตามภาษาบาลีอยู่ในหนังสือนั้นก็ได้ สัพเพ สัพตา สุขิตา โหนตุ เป็นต้น พอว่าแล้วก็เอามือลง แล้วก็มาจับอย่างนี้ เอามือขวาทับมือซ้ายวางตามธรรมดา แล้วก็เดิน ก็ค่อย ๆ เดินไปตามกำลังของเรานั้นหละ ช้า ๆ เดินตรงไปไปช้า ไปเร็ว แล้วแต่กำลัง แต่ใจ ถ้าหากนึก พุทโธ ก็นึก พุทโธ อยู่อย่างนั้น ถ้ากำหนด ลม ก็ให้กำหนดลมไปด้วย อย่าให้เผลอ จะกำหนดหนทางเดินสั้นยาวแค่ไหน ก็ประมาณเอา ไปถึงตรงที่กำหนดนั้น ก็ค่อย ๆ หันกลับ แล้วก็กำหนดอยู่อย่างเดิมนั้นหละ แล้วเดินกลับไป กลับมา แต่ว่า ให้สังเกตดูเรากำหนดนั้น พยายามอย่าให้เผลอได้เท่าไหร่ยิ่งดี กำหนดลมหายใจเข้าออกก็เหมือนกัน หรือนึกบริกรรม พุทโธ ก็เหมือนกัน นี้พูดถึงเดินจงกรม เดินได้นานเท่าไหร่ก็แล้วแต่กำลังของเรา แล้วเวลาขึ้นที่นั่ง ก็ต้องล้างเท้าให้ดี อย่าให้มีอะไรเปื้อนผ้า ให้ไปกราบพระเสียก่อน ถ้าอยากนั่งต่อ ก็นั่งต่อไป..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน





“เบรคของใจ”
ถาม : โปรดเมตตาสั่งสอนเรื่องความฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ ไม่ค่อยมีสมาธิครับ
พระอาจารย์ : ก็ไม่มีสติคอยควบคุมใจไง ถ้าเป็นรถก็ไม่มีเบรค มีแต่คันเร่ง เหยียบให้มันวิ่งอย่างเดียว หยุดมันไม่เป็น เราต้องติดเบรค เบรคของใจก็คือสติ วิธีสร้างสติก็ให้บริกรรมพุทโธไป พุทโธพุทโธไป เวลาที่เราไม่ต้องคิดอะไรก็หมั่นพุทโธ อย่าปล่อยให้มันคิด ทำงานที่เราไม่ต้องใช้ความคิด ก็พุทโธไป กวาดบ้านถูบ้าน ซักเสื้อผ้า ล้างหน้าล้างตา แปรงฟัน หวีเผ้าหวีผม รับประทานอาหาร พุทโธไป อย่าปล่อยให้คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วต่อไปเราก็จะมีสติ มีสมาธิ จิตก็จะตั้งมั่น.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




“สร้างพระในใจ”
เราต้องมาสร้างพระกัน สร้างพระในใจ อย่าไปสร้างพระนอกใจ พระนอกใจไม่ใช่พระ คุ้มครองเราไม่ได้พูดง่ายๆ พระพุทธรูปยังคุ้มครองตัวเองไม่ได้เลย ถูกโจรมาตัดเศียรไปขายเยอะแยะไปหมดเห็นไหมเห็นพระพุทธรูปไม่มีคอ ไม่มีศรีษะไหม ถ้าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จริงจะต้องคุ้มครองตัวเองได้ก่อนใช่ไหม ตัวเองยังคุ้มครองตัวเองไม่ได้จะไปคุ้มครองคนอื่นได้อย่างไร เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งศักดิ์อะไร มันเป็นเพียง เหมือนกับภาพที่ให้เรารำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นเอง เป็นภาพเห็นพระพุทธรูปแล้วเราจะได้ระลึกถึงพระในใจ พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราสร้างพระในใจ
มีพระอยู่รูปหนึ่งทำพระพุทธรูปมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกนี่ไม่ใช่เรา เราคือธรรมะ สร้างธรรมะขึ้นมาในใจ สร้างสติขึ้นมา สร้างปัญญาขึ้นมา แล้วจะมีพระอยู่ในใจคุ้มครองเรา พระที่มีคนแกะสลักมาด้วยไม้นี้ไม่ใช่พระเป็นแค่วัตถุมงคล มีไว้เพื่อเตือนสติให้เรามาสร้างพระในใจ เวลาเราเห็นพระ เวลาเราไปกราบพระนี้ เราเคยคิดบ้างไหมว่า เรามากราบอะไร กราบทำไม การมีพระนี้เพื่อให้เตือนใจเรา เพื่อให้เรามาสร้างพระในใจกัน ทำใจเราให้เหมือนกับพระพุทธเจ้า ทำใจของเราให้เหมือนกับใจของพระพุทธเจ้า หน้าที่พระพุทธรูปมีแค่นี้แหละ มีเป็นเครื่องเตือนใจเรา เป็นเครื่องสอนใจเราเวลาเห็นพระกราบพระ ต้องย้อนเข้ามาว่า เราต้องมาทำใจเราให้เป็นพระให้ได้ ใจจะเป็นพระต้องมาฆ่ากิเลส ถึงจะเป็นพระได้ ถ้าใจยังโลภยังอยากอยู่นี้ ยังไม่เป็นพระ เป็นพระไม่ได้ จะเป็นพระนี้ต้องกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง กำจัดกิเลสตัณหาต่างๆให้มันหมดไปจากใจ จะกำจัดมันได้ต้องไปอยู่ที่เงียบๆ แล้วต้องทำใจให้สงบ ใจจะสงบไม่ได้ถ้าอยู่ในที่วุ่นวาย ถ้ามีเสียงอึกทึกครึกโครมอะไรต่างๆ
เหมือนกับน้ำในสระนี่ น้ำในสระถ้าปล่อยให้คนไปเล่นไปว่าย จะให้มันนิ่งได้อย่างไร ถ้าอยากจะให้มันนิ่ง ต้องห้ามไม่ให้ลงไป เข้าไปในสระ น้ำมันถึงจะนิ่งได้ ใจของพวกเราก็เหมือนน้ำในสระไม่เคยนิ่งเลยใช่ไหม วันนึงมีแต่กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา วุ่นวายกับเรื่องนั้น วุ่นวายกับเรื่องนี้ หนักอกหนักใจกับเรื่องนั้นกับเรื่องนี้กับคนนั้นกับคนนี้อยู่ตลอดเวลา
นานๆอาจจะมีเป็นช่วงที่อาจจะว่างบ้างเวลาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร แต่ก็ไม่ถึงกับนิ่งทีเดียว เบาลงหน่อยเท่านั้นเอง เราต้องการให้ใจมันนิ่งเต็มที่ เพราะว่าความนิ่งของใจนี่แหละที่จะเป็นตัวดับความทุกข์ใจได้ เวลาใจไม่นิ่งถ้าเราทำให้มันนิ่งได้ ความทุกข์ก็จะหายไป เวลาใจไม่นิ่ง ความทุกข์ก็จะโผล่ขึ้นมา.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




“คนเราไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าจึงเบิกทางให้พวกเราทั้งหลาย สร้างความดีจะได้มีความรู้อันกว้างขวางออกไป เท่าที่ความรู้เราอยู่เป็นอยู่เวลานี้ มองเห็นตั้งแต่ตัวของเรา มักจะไม่มองเห็นคนอื่น จึงมักจะเอารัดเอาเปรียบกันเสมอ พอได้แง่ใดมุมใดก็เอา นี่ตาเรามันสายตาสั้น แต่สายตาธรรมแล้วไม่เอารัดเอาเปรียบ นอกจากการช่วยเหลือกัน นี่ธรรมท่านสอนให้มีสายตาอันยืดยาว
นอกจากนั้นก็สอนในเรื่อง การทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา เพื่อทางก้าวเดินในภพชาติต่างๆ ของเราสืบต่อไป ถ้าให้กิเลสความชั่วช้าลามกพาก้าวเดินแล้ว มันจะพาก้าวเดินไป ตกหลุม ตกบ่อ ตกเหว ตกนรกอเวจี เป็นเปรต เป็นผี ไม่มีที่สิ้นสุด นี้คือไปด้วยความตาบอด ตาบอดทางใจ ไม่ยอมเชื่ออรรถธรรม ที่เป็นแสงสว่างส่องทางให้ไป เพื่อความปลอดภัย ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมส่งเสริม หรือส่องแสงสว่างให้สัตว์โลกได้ดำเนิน เพื่อความถูกต้องดีงาม“
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนราชานุสรณ์ อ.เมือง จ.ลพบุรี
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
ตอบกระทู้