๖. เวทคูปัญหา ๕๔
พระราชาตรัสถามว่า "เจตภูตมีอยู่หรือ พระผู้เป็นเจ้า ?" พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร เจตภูตไม่มีโดยพระปรมัตถ์." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๗. อิมัมหากายาอัญญกายสังกมนปัญหา ๕๕
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า สภาพอันใดอันหนึ่งที่เลื่อนออก จากกายนี้แล้ว ไปสู่กายอื่นมีอยู่หรือ ?" พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร ไม่มีเลย." ร. "ถ้าว่าไม่มี สัตว์จักพ้นจากบาปกรรมได้มิใช่หรือ ?" ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าสัตว์ไม่ต้องปฏิสนธิ ก็พ้นจากบาปกรรมได้; เพราะเหตุใดเล่า สัตว์ยังต้องปฏิสนธิอยู่, เพราะเหตุนั้น จึงยังไม่พ้นจาก บาปกรรมได้." ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง." ถ. "เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้หนึ่ง จะลักมะม่วงของบุรุษอีกคนหนึ่ง เขา จะต้องโทษหรือไม่ ?" ร. "ต้องซิ พระผู้เป็นเจ้า" ถ. "เขาไม่ได้ลักมะม่วงที่บุรุษนั้นเพาะไว้ ทำไมจึงต้องโทษเล่า ?" ร. "มะม่วงที่บุรุษลักนั้น อาศัยมะม่วงที่เพาะ จึงได้บังเกิดเพราะเหตุ นั้น เขาจึงต้องโทษ." ถ. "ข้อนั้นฉันใด, บุคคลทำกรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ด้วยนามรูปนี้. นาม รูปอื่นย่อมปฏิสนธิด้วยกรรมอันนั้น, เพราะเหตุนั้น สัตว์จึงไม่พ้นจาก บาปกรรมได้." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ช่างฉลาดจริง ๆ."
๘. กัมมผลอัตถิภาวปัญหา ๕๖
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า กรรมที่เป็นกุศลก็ตาม อกุศลก็ ตาม ที่นามรูปอันนี้ทำแล้ว, กรรมเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหน ?" พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "กรรมเหล่านั้นต้องติดตามไป เหมือนกะเงาติด ตามตัวไปฉะนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้าจะสามารถชี้กรรมเหล่านั้นว่า 'อยู่ที่นี่ หรือที่นี่' ได้ หรือ ?" ถ. "อาตมภาพไม่สามารถ." ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง." ถ. "พระองค์จะทรงพระดำริเห็นความข้อนั้นเป็นไฉน: ต้นไม้เหล่าใดยัง ไม่ออกผล พระองค์จะทรงสามารถชี้ผลของต้นไม้เหล่านั้นว่า 'อยู่ที่นี้หรือที่นี่' ได้หรือ ?" ร. "ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ข้อนั้นฉันใด, ถึงอาตมภาพก็ไม่สามารถที่จะชี้กรรมเหล่านั้นได้ว่า 'อยู่ที่นี่หรือที่นี่' เหมือนฉะนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๙. อุปัชชนชานนปัญหาที่ ๕๗
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า สัตว์ใดจะบังเกิด สัตว์นั้นจะรู้ได้ หรือว่า 'เราจักบังเกิด' ดังนี้." พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร." ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง." ถ. "เหมือนอย่างว่า ชาวนาหว่านพืชลงในแผ่นดินแล้ว เมื่อฝนตกดี ย่อมรู้ได้ว่า 'ธัญญชาติทั้งหลายจักออกรวง' ดังนี้ หรือไม่ ?" ร. "เขารู้ได้ซิ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ข้อนั้นฉันใด, สัตว์ที่จะบังเกิดก็รู้ได้ว่า 'เราจักบังเกิด' ฉันนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๑๐. พุทธนิทัสสนปัญหาที่ ๕๘
พระราชาตรัสถามว่า "พระพุทธเจ้ามีหรือ พระผู้เป็นเจ้า ?" พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร มีอยู่." ร. "พระผู้เป็นเจ้าสามารถจะชี้ได้หรือว่า 'พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี้ หรือที่นี้." ถ. "พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ดับ หมดสิ้นเชื้อไม่มีเหลือ), อาตมภาพไม่สามารถที่จะชี้ได้ว่า 'อยู่ที่นี้หรือที่นี้." ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง." ถ. "พระองค์จะทรงพระดำริเห็นความข้อนั้นเป็นไฉน: เปลวแห่งกองไฟ อันใหญ่ที่ลุกโพลงอยู่ดับไปแล้ว พระองค์จะทรงสามารถชี้ได้หรือว่า 'อยู่ที่นี้ หรือที่นี้." ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง." ถ. "พระองค์จะทรงพระดำริเห็นความข้อนั้นเป็นไฉน: เปลวแห่งกองไฟ อันใหญ่ที่ลุกโพลงอยู่ดับไปแล้ว พระองค์จะทรงสามารถชี้ได้หรือว่า 'อยู่ที่นี้ หรือที่นี้." ร. "ไม่สามารถเลย เพราะว่าเปลวไฟนั้นดับแล้ว ถึงความไม่มีบัญญัติ เสียแล้ว." ถ. "ข้อนั้นฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาติ, ใคร ๆ ไม่สามารถจะชี้ได้ว่า 'อยู่ที่นี้หรือที่นี้' ดัง นี้. ก็แต่ว่าสามารถจะชี้ได้ด้วยธรรมกาย, เพราะว่าพระธรรม พระผู้มีพระภาค เจ้าทรงแสดงไว้แล้ว." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
วรรคที่หก ๑. กายอัปปิยปัญหา ๕๙
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า กายเป็นที่รักของบรรพชิตทั้ง หลายหรือ ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร กายซึ่งจะเป็นที่รักของ บรรพชิตทั่งหลายหามิได้." ร. "เมื่อไม่มีความรัก เหตุไฉนบรรพชิตทั้งหลายจึงต้องทะนุบำรุง ต้อง หวงกันเล่า ?" ถ. "เมื่อพระองค์เสด็จไปสู่งานพระราชสงคราม บางคราวเคยต้อง อาวุธของข้าศึกบ้างหรือไม่ ?" ร. "เคยบ้าง." ถ. "แผลที่ต้องอาวุธนั้น พระองค์ทรงพอกยาสำหรับพอก ทรงทาน้ำมัน ทรงพันไว้ด้วยผ้าเนื้อละเอียดมิใช่หรือ ?" ร. "อย่างนั้น." ถ. "แผลเป็นที่รักของพระองค์หรือ, จึงต้องทรงทำอย่างนั้น ?" ร. "หามิได้ เพราะว่าข้าพเจ้าทำไว้อย่างนั้น ก็เพื่อจะให้เนื้องอกขึ้นดัง เก่า." ถ. "ข้อนั้นฉันใด, กายไม่เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย, ก็แต่ว่า บรรพชิตทั้งหลายซึ่งไม่หมกมุ่นทะนุบำรุงกายไว้ ก็เพื่อจะอนุเคราะห์แก่ พรหมจรรย์ ข้อนี้ก็ฉันนั้น. เออก็ กายนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเปรียบ ประดุจแผล, เหตุนั้น บรรพชิตทั้งหลายไม่หมกมุ่นทะนุบำรุงกายเหมือนรักษา แผล, ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า 'กายนี้มีทวารเก้า มีแผลอัน ใหญ่ มีหนังอันสดปกปิดไว้ คายของโสโครกออกโดยรอบ ไม่สะอาดมีกลิ่น เหม็น' ดังนี้." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๒. สัมปัตตกาลปัญหา ๖๐
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรู้อะไรหมด ทรง เห็นอะไรหมด มิใช่หรือ ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร." ร. "เมื่อเป็นอย่างนั้น เหตุไฉนพระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ สาวกทั้งหลายโดยลำดับ." ถ. "หมอผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รู้จักยาในแผ่นดินนี้หมด มีอยู่บ้างหรือ ?" ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "หมอนั้น ต่อเมื่อถึงกาลจึงให้คนไข้ดื่มยา หรือยังไม่ทันถึงกาล ก็ให้ ดื่ม." ร. "ต่อถึงกาล จึงให้ดื่ม ยังไม่ถึงกาล ก็ยังไม่ให้ดื่ม." ถ. "ข้อนั้นฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้อะไรหมด ทรงเห็นอะไร หมด ยังไม่ถึงกาล ก็ยังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย, ต่อถึงกาล แล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ให้เป็นพระบัญญัติที่ไม่ควรจะล่วงตลอดชีพไว้ แก่สาวกทั่งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๓. ทวัตติงสมหาปุริสลักขณปัญหา ๖๑
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธเจ้าประกอบด้วย มหา ปุริสลักษณะสามสิบสอง รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะแปดสิบ มีพระพรรณดุจทอง มีพระฉวีดุจทอง มีพระรัศมีประมาณวาหนึ่งหรือ ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร." ร. "พระพุทธมารดาและพระพุทธบิดาทั้งหลาย ประกอบด้วย มหา ปุริสลักษณะสามสิบสอง รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะแปดสิบ มีพระพรรณดุจทอง มีพระฉวีดุจทอง มีพระรัศมีประมาณวาหนึ่ง เหมือนพระองค์หรือ ?" ถ. "หามิได้." ร. "ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น คำว่า 'พระพุทธเจ้าประกอบด้วยมหาปุริส ลักษณะสามสิบสอง รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะแปดสิบ มีพระพรรณดุจทอง มี พระฉวีดุจทอง มีพระรัศมีประมาณวาหนึ่ง' ดังนี้ นี้จะชอบหรือ; พระผู้เป็นเจ้า เพราะธรรมดาบุตรฝ่ายข้างมารดา ก็คล้ายมารดา บุตรข้างฝ่ายบิดา ก็คล้าย บิดา." ถ. "บัวบางอย่างมีกลีบร้อยหนึ่ง มีหรือไม่ ?" ร. "มีซิ." ถ. "บัวนั้นเกิดที่ไหน ?" ร. "เกิดในเปือกตมแช่อยู่ในน้ำ." ถ. "บัวนั้น มีสี มีกลิ่น มีรส เหมือนดังเปือกตมหรือ ?" ร. "หามิได้." ถ. "ถ้าเช่นนั้น บัวนั้นมีสี มีกลิ่น มีรส เหมือนน้ำหรือ ?" ร. "หามิได้." ถ. "ข้อนั้นฉันใด. พระผู้มีพระภาคเจ้าประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ สามสิบสอง รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะแปดสิบ มีพระพรรณดุจทอง มีพระฉวี ดุจทอง มีพระรัศมีประมาณวาหนึ่ง, ส่วนพระพุทธมารดาและพระพุทธบิดา ของพระองค์ มิได้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะสามสามสิบ และมิได้รุ่งเรือง ด้วยอนุพยัญชนะแปดสิบ หามีพระพรรณและพระฉวีดุจทองไม่ และหามีพระ รัศมีประมาณวาหนึ่งไม่ ข้อนี้ก็ฉันนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๔. พรหมจารีปัญหา ๖๒
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธเจ้าทรงประพฤติอย่าง พรหมหรือ ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร." ร. "ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้ามิเป็นศิษย์ของพรหมหรือ ?" ถ. "ช้างพระที่นั่งของพระองค์มีมิใช่หรือ ?" ร. "มีซิ." ถ. "ช้างพระที่นั่งนั้น บางคราวเคยร้อยเสียงดังดุจนกกะเรียนบ้างมิใช่ หรือ ?" ร. "เคยบ้าง พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ก็ถ้าอย่างนั้น ช้างมิเป็นศิษย์ของนกกะเรียนหรือ ?" ร. "หามิได้." ถ. "พรหมเป็นผู้มีความรู้ หรือเป็นผู้หาความรู้มิได้ ?" ร. "เป็นผู้มีความรู้ซิ." ถ. "ถ้าอย่างนั้น พรหมเป็นศิษย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๕. อุปสัมปันนปัญหา ๖๓
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า อุปสัมปทาดีหรือ ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร." ร. "พระผู้เป็นเจ้า อุปสัมปทาของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีหรือไม่ ?" ถ. "พระผู้มีพระภาคเจ้าอุปสมบทที่โคนแห่งต้นโพธิ์ พร้อมกันกับเวลา ที่พระองค์ตรัสรู้สัพพัญญุตญาณ, อุปสัมปทาของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่คนอื่น ให้ เหมือนพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท ให้เป็นพระบัญญัติ ไม่ควรล่วงตลอด ชีพไว้แก่พระสาวกทั้งหลายมิได้มี." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ." ๖. อัสสุปัญหา ๖๔
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ผู้หนึ่งมารดาตายแล้วร้องไห้, ผู้ หนึ่งร้องไห้เพราะความรักในธรรม, น้ำตาของคนทั่งสองที่ร้องไห้อยู่ น้ำตาของ ใครเป็นเภสัช ของใครหาเป็นเภสัชไม่." พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร น้ำตาของคนหนึ่งขุ่น ร้อน เพราะราคะโทสะโมหะ, น้ำของคนหนึ่งใสเย็น เพราะปิติดโสมนัส; น้ำตา เย็นนั่นแหละเป็นเภสัช, น้ำตาขุ่นนั่นแหละหาเป็นเภสัชไม่." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๗. รสปฏิสังเวทีปัญหา ๖๕
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า คนที่ยังมีราคะกับคนที่ปราศจาก ราคะแล้วต่างกันอย่างไร ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร ผู้หนึ่งยังหมกมุ่น ผู้หนึ่ง ไม่หมกมุ่น." ร. "ข้อที่ว่าหมกมุ่นและไม่หมกมุ่นนั้นอย่างไร ?" ถ. "คือ คนหนึ่งยังมีความต้องการ, ผู้หนึ่งไม่มีความต้องการ." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ว่า 'บุคคลที่ยังมีราคะและบุคคล ที่ปราศจากราคะแล้ว ย่อมปรารถนาแต่ของเคี้ยวของกินที่ดีด้วยกันหมดทุก คน ไม่มีใครปรารถนาของเลว." ถ. "บุคคลที่ยังไม่ปราศจากราคะ บริโภคโภชนะ ทั้งรู้สึกรส ทั้งรู้สึก ความกำหนัดในรส, ส่วนบุคคลที่ปราศจากราคะแล้ว บริโภคโภชนะ รู้สึกแต่ รส หารู้สึกความกำหนัดในรสไม่." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๘. ปัญญายปติฏฐานปัญหา ๖๖
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ปัญญาอยู่ที่ไหน ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร มิได้อยู่ที่ไหน." ร. "ก็ถ้าอย่างนั้น ปัญญามิได้มีหรือ ?" ถ. "ลมอยู่ที่ไหน ?" ร. "มิได้อยู่ที่ไหน." ถ. "ถ้าอย่างนั้น ลมมิไม่มีหรือ ?" ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๙. สังสารปัญหา ๖๗
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'สงสาร ๆ' ดังนี้นั้น, สงสารนั้นคืออย่างไร ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร บุคคลเกิดแล้วในที่นี้ ตายแล้วในที่นี้, ตายแล้วในที่นี้ เกิดขึ้นในที่อื่น เกิดแล้วในที่นั้น ตายแล้วในที่ นั้นแหละ. ตายแล้วในที่นั้น เกิดขึ้นในที่อื่น, ความเกิด ๆ ตาย ๆ นี้แหละชื่อว่า สงสาร." ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง." ถ. "เหมือนบุรุษคนหนึ่งได้บริโภคมะม่วงอันสุกแล้ว เพาะเมล็ดไว้, หน่อแตกจากเมล็ดนั้นเกิดเป็นต้นมะม่วงใหญ่จนถึงเผล็ดผล, บุรุษนั้นได้ บริโภคอีก แล้วก็เพาะเมล็ดไว้, หน่อแตกจากเมล็ดนั้นเกิดเป็นต้นมะม่วงใหญ่ จนถึงเผล็ดผลเป็นลำดับ ๆ มาดังนี้, ที่สุดของต้นมะม่วงทั้งหลายนั้นมิได้ ปรากฏด้วยประการดังนี้ ข้อนี้ฉันใด; บุคคลเกิดแล้วในที่นี้ ตายในที่นี้, ตาย แล้วในที่นี้ เกิดขึ้นในที่อื่น เกิดแล้วในที่นั้น ตายในที่นั้นแหละ, ตายแล้วในที่ นั้น เกิดขึ้นในที่อื่น. ความเกิด ๆ ตาย ๆ นี้แหละชื่อว่าสงสาร ข้อนี้ก็ฉันนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๑๐. จิรกตสารณปัยหา ๖๘
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า บุคคลจะระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และสิ่งที่ทำไว้นาน ๆ ได้ด้วยอะไร ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร ระลึกได้ด้วยสติ." ร. "ระลึกได้ด้วยจิต มิได้ระลึกได้ด้วยสติมิใช่หรือ ?" ถ. "พระองค์ทรงระลึกถึงราชกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พระองค์ได้ทรง ทำไว้แล้วลืมเสีย ได้บ้างหรือ ?" ร. "ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ในสมัยนั้น พระองค์ไม่มีจิตหรือ ?" ร. "ในสมัยนั้น มิใช่ว่าข้าพเจ้าจะไม่มีจิตหามิได้ แต่ในสมัยนั้นไม่มี สติ." ถ. "ก็เมื่ออย่างนั้น เหตุไรพระองค์จึงตรัสว่า 'ระลึกได้ด้วยจิต, มิได้ ระลึกได้ด้วยสติเล่า ?" ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๑๑. สติอภิชานนปัญหา ๖๙
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ความระลึกทั้งปวง ย่อมเกิดขึ้น แต่ความรู้เองหรือต่อผู้อื่นเตือนจึงจะเกิด." พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร เกิดแต่ความรู้เองบ้าง ต่อผู้อื่นเตือนจึงเกิดขึ้นบ้าง." ร. "ความระลึกทั้งปวง ต้องมีเพราะความรู้เอง มีเพราะผู้อื่นเตือนหามิ ได้." ถ. "ถ้าว่าไม่มีเพราะผู้อื่นเตือนจริงดังนั้น กิจที่จะควรทำด้วยการงาน ด้วยศิลปะ ด้วยวิทยามิไม่มีหรือ, บุคคลผู้เป็นอาจารย์มิไม่มีประโยชน์อะไร หรือ; เพราะเหตุใด สติมีอยู่เพราะผู้อื่นเตือน เพราะเหตุนั้น กิจที่จะควรทำด้วย การงาน ด้วยศิลปะ ด้วยวิทยาของผู้มีศิลปะจึงมี, และจึงต้องการอาจารย์ทั้ง หลาย." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
วรรคที่เจ็ด ๑. สติอาการปัญหา ๗๐
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า สติย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการเท่าไร ?" พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร สติย่อมเกิดขึ้นด้วย อาการสิบหกอย่าง คือ: เกิดขึ้นแก่ผู้รู้บ้าง เกิดขึ้นเพราะความเตือนบ้าง เกิด ขึ้นเพราะวิญญาณอาศัยนิมิตอันสำคัญบ้าง เกิดขึ้นเพราะวิญญาณอาศัยสิ่ง ที่เป็นประโยชน์บ้าง เกิดขึ้นเพราะวิญญาณอาศัยสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์บ้าง เกิดขึ้นเพราะนิมิตอันเหมือนกันบ้าง เกิดขึ้นเพราะนิมิตอันผิดกันบ้าง เกิดขึ้น เพราะลักษณะบ้าง เกิดขึ้นเพราะความระลึกบ้าง เกิดขึ้นเพราะความสังเกต บ้าง เกิดขึ้นเพราะความนับบ้าง เกิดขึ้นเพราะความจำบ้าง เกิดขึ้นเพราะ ภาวนาบ้าง เกิดขึ้นเพราะแก้ตำรับออกดูบ้าง เกิดขึ้นเพราะความเก็บไว้บ้าง เกิดขึ้นเพราะความเคยพบบ้าง. สติเกิดขึ้นแก่ผู้รู้อย่างไร ? ท่านผู้รู้ทั้งหลายผู้ระลึกชาติได้ เช่น พระ อานนท์และอุบาสิกาขุชชุตตราหรือท่านผู้อื่น ย่อมระลึกชาติได้, สติเกิดขึ้นแก่ ท่านผู้รู้อย่างนี้." สติเกิดขึ้นเพราะความเตือนอย่างไร ? ผู้มีสติฟั่นเฟือนโดยปกติผู้อื่น เตือนให้ระลึกได้, สติเกิดขึ้นเพราะความเตือนอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะวิญญาณอาศัยนิมิตอันสำคัญอย่างไร เมื่อใดได้ อภิเษกในสมบัติก็ดี ได้บรรลุโสดาปัตติผลก็ดี เมื่อนั้นสติกำหนดจำก็เกิดขึ้น. สติเกิดขึ้นเพราะวิญญาณอาศัยนิมิตอันสำคัญอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะวิญญาณอาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างไร ? คนได้ ความสุขในที่ใด ก็ระลึกถึงที่นั้นว่า 'เราได้ความสุขในที่โน้น,' สติเกิดขึ้นเพราะ วิญญาณอาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะวิญญาณ อาศัยสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อย่างไร ? คนได้ ความทุกข์ในที่ใด ก็ระลึกถึงที่นั้นว่า 'เราเคยได้ความทุกข์ในที่ที่โน้น,' สติย่อม เกิดเพราะวิญญาณอาศัยสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะนิมิตที่เหมือนกันอย่างไร ? ได้เห็นคนที่คล้ายกันแล้ว ระลึกถึงมารดาก็ดี บิดาก็ดี พี่ชายน้องชายก็ดี พี่หญิงน้องหญิงก็ดี, ได้เห็นอูฐ ก็ดี โคก็ดี ลาก็ดี ที่คล้ายกันแล้ว ระลึกถึงสัตว์เช่นนั้นตัวอื่น, สติเกิดขึ้นเพราะ นิมิตที่เหมือนกันอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะนิมิตที่ไม่เหมือนกันอย่างไร ? ระลึกได้ว่า 'สีของสัตว์ ตัวโน้น เช่นนี้, เสียงของคนโน้น เช่นนี้, กลิ่นรสสัมผัสของวัตถุโน้น เช่นนี้ ๆ, สติเกิดขึ้นเพราะนิมิตที่ไม่เหมือนกันอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะลักษณะอย่างไร ? เจ้าของเห็นโคของตัวแล้วรู้ได้จำได้ เพราะตำหนิ เพราะลักษณะ, สติเกิดขึ้นเพราะลักษณะอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะความระลึกอย่างไร ? ผู้มีสติฟั่นเฟือนโดยปกติ ผู้อื่น เตือนว่า 'ระลึกดูเถิด ๆ' ดังนี้ ให้ระลึกได้บ่อย ๆ, สติเกิดขึ้นเพราะความระลึก อย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะความสังเกตอย่างไร ? เพราะเราได้เคยเรียนหนังสือรู้ ได้ว่า 'ต่ออักษรตัวนี้.' จะต้องเขียนอักษรตัวนั้น', สติเกิดขึ้นเพราะความสังเกต อย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะความนับอย่างไร ? เพราะเคยได้เรียนความนับผู้นับ จึงนับได้มาก, สติเกิดขึ้นเพราะความนับอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะความจำอย่างไร ? เพราะได้เคยเรียนความจำ ผู้จำจึง จำได้มาก, สติเกิดขึ้นเพราะความจำอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะภาวนาอย่างไร ? ภิกษุในศาสนานี้ ระลึกถึงขันธ สันดานที่ตนอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายอย่างต่าง ๆ กัน คือ ระลึกได้ชาติ หนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบ ชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติ บ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปป์ (คือ กัปป์ที่เสื่อม) เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปป์ (คือ กัปป์ที่เจริญ) เป็นอันมากบ้าง ว่าในที่โน้น เราได้เป็นผู้ มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นมีที่สุดอายุเท่านั้น ครั้นเลื่อนไปจากที่นั้นแล้ว ได้ไปเกิดในที่ โน้น แม้ในที่นั้น เราได้เป็นผู้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีพรรณอย่างนั้น มี อาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น มีที่สุดอายุเท่านั้น ครั้นเลื่อนไป จากนั้นแล้ว มาเกิดขึ้นในที่นี้, ท่านระลึกขันธสันดานที่ตนเคยอาศัยอยู่ในกาล ก่อนหลายอย่างต่าง ๆ กัน พร้อมทั้งอาการและเพศพรรณฉะนี้, สติเกิดขึ้น เพราะภาวนาอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะแก้ตำรับออกดูอย่างไร ? เหมือนพระเจ้าแผ่นดินทรง ระลึกถึงพระราชกำหนดสำหรับปกครองแผ่นดิน ตรัสสั่งให้นำคัมภีร์ที่จารึก พระราชบัญญัติมาทอดพระเนตรแล้ว ทรงระลึกพระราชกำหนดข้อนั้นได้, สติ เกิดขึ้นเพราะแก้ตำรับออกดูอย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะความเก็บไว้อย่างไร ? ได้เห็นของที่เก็บไว้แล้ว ระลึก ขึ้นได้, สติเกิดขึ้นเพราะความเก็บไว้อย่างนี้. สติเกิดขึ้นเพราะเคยพบอย่างไร ? เพราะได้เห็น ระลึกถึงรูปได้ เพราะ ได้ฟัง ระลึกถึงเสียงได้ เพราะได้ดม ระลึกถึงกลิ่นได้ เพราะได้ชิม ระลึกถึงรส ได้ เพราะได้ถูกต้อง ระลึกถึงสัมผัสได้ เพราะได้รู้แจ้ง ระลึกถึงธัมมารมณ์ได้, สติเกิดขึ้นเพราะเคยพบอย่างนี้. สติเกิดขึ้นด้วยอาการสิบหกอย่างเหล่านี้แล ขอถวายพระพร." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๒. วัสสสตปัญหา ๗๑
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'ผู้ใดทำอกุศล กรรม ถึงร้อยปี ในเวลาจะตาย กลับได้สติระลึกถึงพุทธคุณดวงเดียว ผู้นั้นจะเกิดขึ้น ในเทวดา;' ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่เชื่อ. อนึ่ง พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'คนจะเกิดใน นรกเพราะทำปาณาติบาตคราวเดียว;' แม้ข้อนี้ข้าพเจ้าก็ไม่เชื่อ." พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "พระองค์จะทรงสำคัญเห็นความนั้นเป็นไฉน: ศิลาแม้เล็กนอกจากอยู่ในเรือ จะลอยน้ำได้หรือไม่ ?" ร. "ลอยไม่ได้." ถ. "ศิลาแม้ร้อยเกวียน บรรทุกลงในเรือแล้ว จะลอยน้ำได้หรือไม่ ?" ร. "ลอยได้ซิ." ถ. "กุศลกรรมทั้งหลาย ควรเห็นเหมือนเรือ ฉะนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
๓. อนาคตปัญหา ๗๒
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า พยายามเพื่อจะละทุกข์ที่ล่วงไป แล้วหรือ ?" ถ. "หามิได้." ร. "พระผู้เป็นเจ้า พยายามเพื่อจะละทุกข์ที่ยังไม่มาถึงหรือ ?" ถ. "หามิได้." ร. "พระผู้เป็นเจ้า พยายามเพื่อจะละทุกข์ที่เกิดขึ้นบัดนี้หรือ ?" ถ. "หามิได้." ร. "ถ้าว่าพระผู้เป็นเจ้า มิได้พยายามเพื่อจะละทุกข์ที่ล่วงไปแล้ว ที่ยัง ไม่มาถึง ที่เกิดขึ้นบัดนี้, ถ้าเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าพยายามเพื่อประโยชน์อะไร เล่า ?" ถ. "อาตมภาพ พยายามเพื่อประโยชน์ว่า 'ทำอย่างไรหนอทุกข์นี้จะพึง ดับไปด้วย ทุกข์อื่นจะไม่พึงเกิดขึ้นด้วย." ร. "ทุกข์ที่ยังไม่มาถึงมีหรือ พระผู้เป็นเจ้า ?" ถ. "ขอถวายพระพร ไม่มี." ร. "พระผู้เป็นเจ้าก็ฉลาดเหลือเกิน จึงพยายามเพื่อจะละทุกข์ซึ่งไม่มี อยู่." ถ. "ขอถวายพระพร พระเจ้าแผ่นดินที่เป็นปฏิปักษ์ข้าศึกปัจจามิตร เคยยกมาประชิดพระนครมีบ้างหรือ ?" ร. "มีบ้าง." ถ. "พระองค์ตรัสสั่งให้ขุดคู ก่อกำแพง ปักเสาระเนียด ถมเชิงเทิน รวบ รวมเสบียงอาหารในเวลานั้นหรือ ?" ร. "หามิได้ ของเหล่านั้นต้องตระเตรียมไว้ก่อน." ถ. "พระองค์หัดทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ทรงธนู ทรงพระแสงในเวลา นั้นหรือ ?" ร. "หามิได้ ต้องหัดไว้ก่อน." ถ. "การที่ทำดังนั้น เพื่อประโยชน์อะไร ?" ร. "เพื่อประโยชน์จะกันภัยที่ยังไม่มาถึง." ถ. "ภัยที่ยังไม่มาถึงมีหรือ ขอถวายพระพร ?" ร. "ไม่มี." ถ. "พระองค์ก็ฉลาดเหมือนกัน จึงตระเตรียมเพื่อจะกันภัยที่ยังไม่มา ถึง." ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก." ถ. "พระองค์จะทรงสำคัญเห็นความนั้นเป็นไฉน: เมื่อใด พระองค์ทรง ระหาย เมื่อนั้น จึงตรัสสั่งให้ขุดสระ ด้วยพระราชประสงค์จะเสวยน้ำ ดังนั้น หรือ ?" ร. "หามิได้ ต้องตระเตรียมไว้ก่อน." ถ. "เพื่อประโยชน์อะไร ?" ร. "เพื่อประโยชน์จะกันความระหายที่ยังไม่มาถึง." ถ. "ความระหายที่ยังไม่มาถึงมีหรือ ขอถวายพระพร ?" ร. "ไม่มี." ถ. "พระองค์ก็ฉลาดเหลือเกิน จึงตระเตรียมเพื่อประโยชน์จะกันความ ระหายที่ยังไม่มาถึง." ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก." ถ. "พระองค์จะทรงสำคัญเห็นความนั้นเป็นไฉน: เมื่อใด พระองค์ทรง หิวอยากจะเสวยพระอาหาร เมื่อนั้น จึงตรัสสั่งให้ไถนา หว่านข้าวสาลี ด้วย พระราชประสงค์จะเสวยพระอาหาร ดังนั้นหรือ ?" ร. "หามิได้ ต้องตระเตรียมไว้ก่อน." ถ. "เพื่อประโยชน์อะไร ?" ร. "เพื่อประโยชน์จะกันความหิวที่ยังไม่มาถึง." ถ. "ความหิวที่ยังไม่มาถึงมีหรือ ขอถวายพระพร ?" ร. "ไม่มี." ถ. "พระองค์ก็ฉลาดเหลือเกิน จึงได้ตระเตรียมเพื่อจะกันความหิวที่ยัง ไม่มาถึง." ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ."
|