นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 2:00 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 25 มี.ค. 2018 5:10 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
๑๘. อรูปววัตถภาวทุกกรปัญหา ๘๗

พระเถรเจ้ากล่าวขึ้นว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรง
กระทำการที่กระทำได้ยากนัก."
พระราชาตรัสถามว่า "การอะไร พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "พระองค์ตรัสจำแนกอรูปธรรม คือ จิตและเจตสิกทั้งหลายเหล่านี้
ที่เป็นไปในอารมณ์อันเดียวกันว่า นี้ผัสสะ นี้เวทนา นี้สัญญา นี้เจตนา นี้จิต
ดังนี้."
ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง."
ถ. "ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้หนึ่งหยั่งลงสู่มหาสมุทร
ด้วยเรือแล้ว กอบเอาน้ำขึ้นมาด้วยอุ้งมือแล้ว ชิมรสด้วยลิ้นแล้ว เขาจะพึงรู้ได้
หรือว่า 'นี้น้ำแห่งน้ำแม่คงคา นี้น้ำแห่งแม่น้ำยมุนา นี้น้ำแห่งแม่น้ำอจิรวดี นี้
น้ำแห่งแม่น้ำสรภู นี้น้ำแห่งแม่น้ำมหี' ดังนี้ ฉันใด."
ร. "ยากที่จะรู้ได้."
ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการที่กระทำได้
ยากกว่านั้น คือ ตรัสจำแนกอรูปธรรม คือ จิตและเจตสิกทั้งหลายเหล่านี้ ที่
เป็นไปในอารมณ์อันเดียวกันว่า นี้ผัสสะ ฯลฯ นี้จิต ดังนี้."
พระราชาทรงอนุโมทนาว่า "ชอบละ."

๑๙. ทุกกรปัญหา ๘๘

พระเถรเจ้าทูลถามว่า "ขอถวายพระพร พระองค์ทรงทราบอยู่หรือ
เดี๋ยวนี้เวลาเท่าไรแล้ว ?"
พระราชาตรัสบอกว่า "ทราบอยู่ เดี๋ยวนี้ประถมยามล่วงไปแล้วกำลัง
เป็นมัชฌิมยาม, เจ้าพนักงานตามคบสว่าง และสั่งให้ประโคมแตรสี่คัน, พวก
ข้าราชการจักกลับไปจากพระลาน."
พวกโยนกอมาตย์กราบทูลว่า "ขอเดชะ ภิกษุรูปนี้เป็นบัณฑิตแท้."
พระราชาตรัสตอบว่า "เออ พนาย พระเถรเจ้าเป็นบัณฑิตแท้, ถ้า
อาจารย์จะพึงเป็นเหมือนท่าน และอันเตวาสิกจะพึงเป็นเหมือนเราไม่ช้าอันเต
วาสิกจะพึงเป็นบัณฑิตรู้ธรรมทั่วถึง."
พระราชาทรงพระปราโมทย์ ด้วยปัญหาพยากรณ์ของพระนาคเสนเถร
เจ้าแล้ว ทรงถวายผ้ากัมพลราคาแสนกระษาปณ์ให้ครองแล้ว ตรัสปวารณา
ว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะแต่งภัตตาหารไว้
ถวายพระผู้เป็นเจ้าร้อยแปดภาค และสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็ฯกัปปิยะอันมีในวังนี้
ข้าพเจ้าปวารณาด้วยสิ่งนั้น."
ถ. "อย่าเลย ขอถวายพระพร อาตมภาพพอเลี้ยงชีพได้."
ร. "ข้าพเจ้าก็ทราบอยู่ว่า 'พระผู้เป็นเจ้าพอเลี้ยงชีพได้' ก็แต่ขอพระผู้
เป็นเจ้าจงรักษาตนด้วย, จงรักษาข้าพเจ้าไว้ด้วย; พระผู้เป็นเจ้าจะรักษาตน
อย่างไร: ความครหาของผู้อื่นจะพึงมีมาว่า 'พระนาคเสนกระทำมิลินทราชา
ให้เลื่อมใสได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้อะไรสักหน่อย' ดังนี้, เหตุฉะนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้า
จงรักษาตนให้พ้นปรัปปวาทอย่างนี้; พระผู้เป็นเจ้าจะรักษาข้าพเจ้าอย่างไร:
คำครหาของผู้อื่นจะพึงมีมาว่า 'มิลินทราชาเลื่อมใสแล้ว แต่หากระทำอาการ
ของผู้เลื่อมใสไม่' ดังนี้, เหตุฉะนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรักษาข้าพเจ้าให้พ้น
จากปรัปปวาทอย่างนี้."
ถ. "ขอถวายพระพร อย่างนั้นเอาเป็นได้กัน."
ร. "มีอุปมาว่า ราชสีห์อันเป็นพญาเนื้อ แม้ต้องขังอยู่ในกรงทอง ก็หัน
หน้าออกอย่างเดียว ฉันใด, ถึงว่าข้าพเจ้าอยู่ครองเรือนก็จริง แต่ก็อยู่หันหน้า
ออกนอกเป็นนิตย์ ฉันนั้น; ถ้าข้าพเจ้าจะพึงออกบวชบ้าง ก็คงจะมีชีวิตอยู่ได้
ไม่นาน เพราะศัตรูของข้าพเจ้ามีมาก."
ลำดับนั้น พระนาคเสนผู้มีอายุ ครั้นถวายวิสัชนาปัญหาแก่พระเจ้ามิ
ลินท์เสร็จแล้ว ลุกจากอาสน์กลับไปสู่สังฆาราม. และเมื่อพระเถรเจ้าหลีกไป
แล้วไม่ช้า ท้าวเธอทรงพระอนุสรถึงปัญหาที่พระองค์ได้ตรัสถามแล้วเป็นอย่าง
ไร และพระเถรเจ้าถวายวิสัชนาแล้วเป็นอย่างไร. แต่นั้นทรงพระราชดำริเห็น
ว่า "พระองค์ตรัสถามชอบแล้วทุกข้อ และพระเถรเจ้าก็ได้ถวายวิสัชนาชอบ
แล้วทุกข้อ." ฝ่ายพระนาคเสนเถรเจ้า ก็คำนึงถึงและดำริเห็นเหมือนกันเช่น
นั้น. ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้วถึงเวลาเช้า พระเถรเจ้าครองผ้าตามสมณวัตรแล้ว
ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่พระราชนิเวศน์แห่งพระเจ้ามิลินท์ นั่งบนอาสน์ที่แต่ง
ถวาย. ขณะนั้น ท้าวเธอถวายนมัสการแก่พระเถรเจ้าแล้ว เสด็จพระประทับ ณ
ที่สมควรแห่งหนึ่งแล้ว ตรัสแก่พระเถรเจ้าว่า "ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าได้ดำริเห็น
ว่า 'ข้าพเจ้าดีใจว่า ได้ถามปัญหากะพระผู้เป็นเจ้าแล้วนอนหลับตลอดราตรี
ซึ่งยังเหลืออยู่นั้น, ขอพระเป็นผู้เจ้าอย่าได้เห็นดังนี้เลย; ข้าพเจ้าได้คำนึงถึง
ปัญหาที่ข้าพเจ้าได้ถามเป็นอย่างไร และพระผู้เป็นเจ้าได้วิสัชนาแล้วเป็น
อย่างไร ตลอดราตรีซึ่งยังเหลืออยู่นั้น; เห็นว่าข้าพเจ้าได้ถามชอบแล้วทุกข้อ
และพระผู้เป็นเจ้าก็ได้วิสัชนาชอบแล้วทุกข้อ." แม้พระเถรเจ้าก็ถวายพระพร
ว่า "ขอถวายพระพร ขอพระองค์อย่าได้ทรงพระราชดำริเห็นว่า 'อาตมภาพดี
ใจว่า ได้ถวายวิสัชนาปัญหาแก่พระองค์แล้ว กระทำราตรีซึ่งยังเหลืออยู่นั้นให้
ล่วงไปด้วยความโสมนัสนั้น, ขอพระองค์อย่าได้ทรงเห็นดังนั้นเลย' อาตมภาพ
ก็ได้คำนึงถึงปัญหาที่พระองค์ได้ตรัสถามเป็นอย่างไร และอาตมภาพได้ถวาย
วิสัชนาเป็นอย่างไร ตลอดราตรีซึ่งยังเหลืออยู่นั้น; เห็นว่าพระองค์ตรัสถาม
ชอบแล้วทุกข้อ และอาตมภาพก็ได้ถวายวิสัชนาชอบแล้วทุกข้อ เหมือนกัน."
พระมหานาคทั้งสองนั้นต่างอนุโมทนาสุภาสิตของกันและกัน ด้วยประการ
ฉะนี้แล.
ปุจฉาวิสัชนา มิลินทปัญหา จบ.


ปรารภเมณฑกปัญหา


พระเจ้ามิลินท์ผู้ช่างตรัส ทรงสันทัดในการเถียงปัญหา ทรงพระ
ปัญญาล่วงสามัญชน มีพระปรีชาญาณลบล้น เห็นแจ้งในเหตุผลเสด็จเข้าไป
หาพระนาคเสนเถรเจ้า เพื่อความแตกฉานแห่งพระปรีชาเสด็จอยู่ในฉายาที่
เป็นร่มเงาของพระเถรเจ้า เฝ้าตรัสถามปัญหา ได้พระปัญญาแตกฉาน ทรง
พระไตรปิฎกธรรมแล้ว ในส่วนแห่งราตรีวันหนึ่ง เสด็จอยู่ ณ ที่สงัด ทรง
พิจารณาถึงนวังคสัตถุศาสนา คือ พระพุทธวจนะมีองค์เก้าประการ ทรงพระ
ญาณเล็งเห็นเมณฑกปัญหา คือ ปริศนาสองเงื่อนดุจเขาแกะ ซึ่งวิสัชนาแก้ได้
เป็นอันยาก และประกอบไปด้วยอุบายเครื่องจะยดโทษขึ้นกล่าวได้ อันมีใน
พระศาสนาของสมเด็จพระธรรมราชา ที่ทรงภาสิตไว้โดยบรรยายก็มี ทรง
หมายภาสิตไว้ก็มีทรงภาสิตไว้ตามสภาพก็ดี. เพราะไม่รู้แจ้งอรรถาธิบายแห่ง
ภาสิตทั้งหลายในเมณฑกปัญหาที่สมเด็จพระชินพุทธเจ้าทรงภาสิตไว้นั้น ใน
อนาคตกาลไกล จักมีความเข้าใจผิดในเมณฑกปัญหานั้นแล้วเถียงกันขึ้น.
เอาเถิดเราจักให้พระธรรมกถึกเลื่อมใสเห็นชอบด้วยแล้ว จักอาราธนาให้ตัด
สินเมณฑกปัญหาทั้งหลายเสีย, ในอนาคตกาล ชนทั้งหลายจักได้แสดงตาม
ทางที่ท่านได้แก้ไว้แล้วนั้น.
ครั้นราตรีสว่าง อรุณขึ้นแล้ว ทรงสนานพระเศียรเกล้าแล้วทรงประณม
พระหัตถ์เหนือพระเศียร ทรงพระอนุสรถึงสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้า ทั้ง
อดีต อนาคต ปัจจุบันแล้ว ทรงสมาทานพรตบทแปดประการ โดยทรงพระราช
ปณิธานตั้งพระราชหฤทัยว่า "เราจักสมาทานองคคุณแปดประการ บำเพ็ญ
ตบะธรรม คือ จำศีลให้ถ้วนเจ็ดวัน ข้างหน้าแต่วันนี้ไป, ครั้นบำเพ็ญตบะธรรม
ครบกำหนดนั้นแล้ว จักอาราธนาพระอาจารย์ให้เต็มใจแล้ว จักถามเมณฑก
ปัญหาท่าน."
ขณะนั้น ท้ายเธอทรงผลัดคู่พระภูษากาสาวพัสตร์ ทรงสวมลองพระ
สกอันโล้นไว้บนพระเศียร ถือเพศมุนีแล้ว ทรงสมาทานองคคุณแปดประการ
ดังต่อไปนี้ ถ้วนเจ็ดวันนี้.
๑. เราจะหยุดว่าราชการ
๒. เราจะไม่ยังจิตอันประกอบด้วยราคะให้เกิดขึ้น
๓. เราจะไม่ยังจิตยังประกอบด้วยโทสะให้เกิดขึ้น
๔. เราจะไม่ยังจิตอันประกอบด้วยโมหะให้เกิดขึ้น
๕. เราจะเป็นผู้ประพฤติสุภาพ แม้แก่พวกบุรุษชนซึ่งเป็นทาสกรรมกร
๖. เราจักรักษากายกรรมและวจีกรรม ให้บริสุทธิ์ปราศจากโทษ
๗. เราจะรักษาอายตนะทั้งหกไม่ให้มีส่วนเหลือ
๘. เราจะตั้งจิตไว้ในเมตตาภาวนา
ครั้นทรงสมาทานองคคุณแปดประการเหล่านี้แล้ว ทรงตั้งพระหฤทัยอยู่ใน
องคคุณแปดประการนั้นอย่างเดียว ไม่เสด็จออกข้างนอกถ้วนเจ็ดวันแล้ว ใน
วันที่แปด พอเวลาราตรีสว่างแล้ว รีบเสวยพระกระยาหารแต่เช้าแล้ว เสด็จเข้า
ไปหาพระนาคเสนเถรเจ้า มีดวงพระเนตรอันทอดลง ตรัสแต่พอประมาณ มี
พระอิริยาบถสงบเสงี่ยม มีพระหฤทัยแน่วไม่ส่ายไปส่ายมา ทรงพระปราโมทย์
เบิกบานพระราชหฤทัย สดใสชุ่มชื่นแล้วเป็นอย่างยิ่ง ทรงถวายนมัสการแทบ
บาทของพระเถรเจ้า ด้วยพระเศียรเกล้าแล้ว เสด็จยืน ณ ที่สมควรส่วนข้าง
หนึ่งแล้ว ตรัสดังนี้:-
"พระผู้เป็นเจ้า ข้อความบางเรื่องที่ข้าพเจ้าจะต้องหารือกับพระผู้เป็น
เจ้ามีอยู่. ใคร ๆ อื่นไม่ควรปรารถนาให้มาเป็นที่สามในข้อความเรื่องนั้นเข้า
ด้วย, ปัญหานั้นจะต้องถามได้แต่ในป่าอันเป็นโอกาสว่างสงัดประกอบด้วย
องค์แปดประการ เป็นสมณสารูป, ในที่นั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องกระทำให้เป็นข้อที่
จะต้องปกปิด ไม่ต้องกระทำให้เป็นข้อลี้ลับซึ่งจะต้องซ่อนเร้น, เมื่อความหารือ
กันด้วยความประสงค์อันดีมีอยู่ ข้าพเจ้าก็คงจะฟังความลับได้. ความข้อนั้น
ควรพิจารณาเห็นโดยข้ออุปมา. เหมือนอะไรเล่า ? เหมือนอย่างมหาปฐพี เมื่อ
การจะต้องผั่งมีอยู่ ก็ควรเป็นที่ผั่ง ฉันใด, ข้อนี้ก็ฉันนั้น."
เสด็จเข้าไปสู่ป่าอันสงัดกับพระอาจารย์แล้ว ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้า
บุรุษในโลกผู้จะใคร่หารือการณ์ ควรเว้นสถานแปดตำบลเสีย บุรุษผู้เป็นวิญญู
ขน ไม่หารือข้อความในสถานเหล่านั้น, สถานแปดตำบลนั้นเป็นไฉน สถาน
แปดตำบลนั้น คือ :
๑. สถานที่ไม่สม่ำเสมอ ควรเว้นเสีย
๒. สถานที่มีภัย ควรเว้นเสีย
๓. สถานที่ลมพัดจัด ควรเว้นเสีย
๔. สถานที่มีของกำบัง ควรเว้นเสีย
๕. เทวสถาน ควรเว้นเสีย
๖. ทางเปลี่ยว ควรเว้นเสีย
๗. ตะพานที่เดินข้าม ควรเว้นเสีย
๘. ท่าน้ำ ควรเว้นเสีย
สถานแปดตำบลนี้ควรเว้นเสีย."
พระเถรเจ้าทูลถามว่า "มีโทษอะไร ในสถานแปดตำบลนั้น ขอถวาย
พระพร.
ร. "ข้อความที่หารือกันในสถานที่ไม่สม่ำเสมอ ย่อมแพร่งพรายเซ็งแซ่
อื้อฉาวไม่มีดี; ในสถานที่มีภัย ใจย่อมหวาด คนหวาด พิจารณาเห็นความได้
ถูกต้องหามิได้: ในสถานที่ลมพัดจัดนัก เสียงฟังไม่ถนัด: ในสถานที่มีของ
กำบัง คนทั้งหลายไปแอบฟังความได้: ข้อความที่หารือกันในเทวสถาน กาย
เป็นหนักไป: ข้อความที่หารือกันในทางเปลี่ยวเป็นของเสียเปล่า: ที่ตะพาน
เขย่าอยู่เพราะฝีเท้า; ที่ท่าน้ำ ข่าวย่อมปรากฏทั่วไป."
พระราชาตรัสต่อไปว่า "บุคคลแปดจำพวกเหล่านี้ ใครหารือด้วยย่อม
กระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย, บุคคลแปดจำพวกนั้นเป็นไฉน ?
๑. คนราคจริต
๒. คนโทสจริต
๓. คนโมหจริต
๔. คนมานจริต
๕. คนโลภ
๖. คนเกียจคร้าน
๗. คนมีความคิดแต่อย่างเดียว
๘. คนพาล
บุคคลแปดจำพวกเหล่านี้ ย่อมกระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย."
ถ. "เขามีโทษอะไร."
ร. "คนราคจริต ย่อมกระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย ด้วยอำนาจ
ราคะ, คนโทสจริต ด้วยอำนาจโทสะ, คนโมหจริต ด้วยอำนาจโมหะ, คนมาน
จริต ด้วยอำนาจมานะ, คนโลภ ด้วยอำนาจความโลภ, คนเกียจค้าน ด้วย
อำนาจความเกียจคร้าน, คนมีความคิดแต่อย่างเดียวด้วยอำนาจความเป็น
คนมีความคิดแต่อย่างเดียว, คนพาล ด้วยอำนาจความเป็นพาล."
พระราชาตรัสต่อไปว่า "บุคคลเก้าจำพวกเหล่านี้ ย่อมเปิดความลับที่
หารือด้วย หาปิดไว้ไม่, บุคคลเก้าจำพวกนั้นเป็นไฉน?
๑. คนราคจริต
๒. คนโทสจริต
๓. คนโมหจริต
๔. คนขลาด
๕. คนหนักในอามิส
๖. สตรี
๗. คนขี้เมา
๘. บัณเฑาะก์
๙. เด็กเล็ก ๆ."
ถ. "เขามีโทษอะไร."
ร. "คนราคจริต ย่อมเปิดความลับที่หารือด้วย ไม่ปิดไว้ ด้วยอำนาจ
ราคะ, คนโทสจริต ด้วยอำนาจโทสะ, คนโมหจริต ด้วยอำนาจโมหะ, คนขลาด
ด้วยอำนาจความกลัว, คนหนักในอามิส ด้วยเหตุแห่งอามิส, สตรี ด้วยความ
เป็นคนอ่อนความคิด, คนขี้เมา ด้วยความเป็นคนโลเลในสุรา, บัณเฑาะก์
ด้วยความเป็นคนไม่อยู่ในฝ่ายอันเดียว, เด็กเล็ก ๆ ด้วยความเป็นผู้มักคลอน
แคลน."
พระราชาตรัสต่อไปว่า "ปัญญาย่อมแปรถึงความแก่รอบด้วยเหตุแปด
ประการ, ด้วยเหตุแปดประการนั้นเป็นไฉน ?
๑. ด้วยความแปรแห่งวัย
๒. ด้วยความแปรแห่งยศ
๓. ด้วยการไต่ถาม
๔. ด้วยการอยู่ในสถานที่เป็นท่า คือ ทำเล
๕. ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ ความกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ
๖. ด้วยความสังสนทนากัน
๗. ด้วยอำนาจความเข้าไปเสพ
๘. ด้วยสามารถแห่งความรัก
๙. ด้วยความอยู่ในประเทศอันสมควร."
พระราชาตรัสต่อไปว่า "ภูมิภาคนี้ เว้นแล้วจากโทษแห่งการหารือแปด
ประการ, และข้าพเจ้าก็เป็นยอดสหายคู่ปรึกษาในโลก, และข้าพเจ้าเป็นคน
รักษาความลับไว้ได้ด้วย ข้าพเจ้าจักมีชีวิตอยู่เพียงใด ข้าพเจ้าจักรักษาความ
ลับไว้เพียงนั้น, และปัญญาของข้าพเจ้าถึงความแปรมาด้วยเหตุแปดประการ,
เดี๋ยวนี้อันเตวาสิกเช่นข้าพเจ้าหาได้เป็นอันยาก.
อาจารย์พึงปฏิบัติชอบในอันเตวาสิกผู้ปฏิบัติชอบ ด้วยคุณของ
อาจารย์ยี่สิบห้าประการ, คุณยี่สิบห้าประการเป็นไฉน ?
๑. อาจารย์พึงเอาใจใส่จัดความพิทักษ์รักษาอันเตวาสิกเป็นนิตย์
๒. พึงรู้ความภักดีหรือไม่ภักดีของอันเตวาสิก
๓. พึงรู้ความที่อันเตวาสิกเป็นผู้ประมาทหรือไม่ประมาท
๔. พึงรู้โอกาสเป็นที่นอนของอันเตวาสิก
๕. พึงรู้ความที่อันเตวาสิกเป็นผู้เจ็บไข้
๖. พึงรู้โภชนาหารว่าอันเตวาสิกได้แล้ว หรือยังไม่ได้แล้ว
๗. พึงรู้วิเศษ
๘. พึงแบ่งของอยู่ในบาตรให้
๙. พึงปลอบให้อุ่นใจว่า อย่าวิตกไปเลย ประโยชน์ของเจ้ากำลังเดิน
ขึ้นอยู่
๑๐. พึงรู้ความเที่ยวของอันเตวาสิกว่า เที่ยวอยู่กับบุคคลผู้นี้ ๆ
๑๑. พึงรู้ความเที่ยวอยู่ในบ้าน
๑๒. พึงรู้ความเที่ยวอยู่ในวิหาร
๑๓. ไม่พึงกระทำการเจรจากับอันเตวาสิกนั้นพร่ำเพรื่อ
๑๔. เห็นช่อง คือ การกระทำผิดของอันเตวาสิกแล้ว พึงอดไว้
๑๕. พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ โดยเอื้อเฟื้อ
๑๖. พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ไม่ให้ขาด
๑๗. พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ไม่ซ่อนเร้น
๑๘. พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ให้หมดไม่มีเหลือ
๑๙. พึงตั้งจิตว่าเป็นชนก โดยอธิบายว่า ตนยังเขาให้เกิดในศิลปทั้ง
หลาย
๒๐. พึงตั้งจิตคิดหาความเจริญให้ว่า ไฉนอันเตวาสิกผู้นี้จะไม่พึงเสื่อม
เลย
๒๑. พึงตั้งจิตไว้ว่า เราจะกระทำอันเตวาสิกผู้นี้ให้แข็งแรงด้วยกำลัง
ศึกษา
๒๒. พึงตั้งเมตตาจิต
๒๓. ไม่พึงละทิ้งเสียในเวลามีอันตราย
๒๔. ไม่พึงประมาทในกิจที่จะต้องกระทำ
๒๕. เมื่ออันเตวาสิกพลั้งพลาด พึงปลอบเอาใจโดยทางที่ถูกเหล่านี้แล
คุณของอาจารย์ยี่สิบห้าประการ, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงปฏิบัติชอบในข้าพเจ้า
ด้วยคุณเหล่านี้เถิด. ความสงสัยเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า, เมณฑกะปัญหาที่พระชิน
พุทธเจ้าทรงภาสิตไว้มีอยู่ ในอนาคตกลางไกลจักเกิดความเข้าใจผิดในเมฆฑ
กะปัญหานั้นแล้วเถียงกันขึ้น, และในอนาคตกาลไกลโน้น ท่านผู้มีปัญญา
เหมือนพระผู้เป็นเจ้า จักหาได้เป็นอันยาก, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้ดวงจักษุใน
ปัญหาเหล่านั้นแก่ข้าพเจ้า สำหรับข่มถ้อยคำของผู้อื่นเสีย."
พระเถรเจ้ารับว่าสาธุแล้ว ได้แสดงองคคุณของอุบาสกสิบประการว่า
"ขอถวายพระพร นี้องคคุณของอุบาสกสิบประการ, องคคุณของอุบาสกสิบ
ประการนั้นเป็นไฉน: องคคุณของอุบาสกสิบประการนั้น คือ
๑. อุบาสกในพระศาสนานี้ เป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กับสงฆ์
๒. เมื่อประพฤติอะไร ย่อมถือธรรมเป็นใหญ่
๓. เป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันให้แก่กันตามสมควรแก่กำลัง
๔. เห็นความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมพยายามเพื่อความ
เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๕. เป็นผู้มีความเห็นชอบ
๖. ปราศจากการถือมงคลตื่นข่าว แม้ถึงกับจะต้องเสียชีวิตก็ไม่ถือ
ท่านผู้อื่นเป็นศาสดา
๗. มีกายกรรมและวจีกรรมอันรักษาดีแล้ว
๘. เป็นผู้มีสามัคคีธรรมเป็นที่มายินดี และยินดีแล้วในสามัคคีธรรม
๙. เป็นผู้ไม่อิสสาต่อผู้อื่น และไม่ประพฤติในพระศาสนานี้ ด้วย
สามารถความล่อลวงไม่ซื่อตรง
๑๐. เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ. ขอถวายพระ
พร นี้แลองคคุณของอุบาสกสิบประการ, คุณเหล่านี้มีอยู่ในสมเด็จบรมบพิตร
พระราชสมภารเจ้าครบทุกประการ, การที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความ
เสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว มีพระประสงค์จะให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปนั้น เป็น
การควรแล้ว ชอบแล้ว เหมาะแล้ว สมแล้วแก่พระองค์. อาตมภาพถวาย
โอกาส พระองค์จงตรัสถามอาตมภาพตามพระราชอัธยาศัยเถิด."



เมณฑกปัญหา
วรรคที่หนึ่ง
๑. วัชฌาวัชฌปัญหา ๑

ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ ครั้งได้โอกาสที่พระเถรเจ้าถวายแล้ว ดังนั้น
ทรงถวายนมัสการแทบบาทแห่งพระอาจารย์แล้ว ประฌมพระหัตถ์ ตรัสว่าดัง
นี้ "พระผู้เป็นเจ้า เดียรถีย์เหล่านี้พูดอยู่ว่า 'ถ้าพระพุทธเจ้าทรงยินดีบูชาอยู่ ได้
ชื่อว่าไม่ปรินิพพานแล้ว ยังเกี่ยวข้องด้วยโลกอยู่ ยังเป็นผู้จะต้องเวียนอยู่ใน
ภายในแห่งพิภพ เสมอสัตว์โลกในโลก, เหตุนั้น การบูชาที่ทายกกระทำแล้ว
แด่พระพุทธเจ้านั้น ย่อมเป็นหมันไม่มีผล, ถ้าพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่
เกี่ยวข้องด้วยโลก ออกไปจากภพทั้งปวงแล้ว การบูชาพระองค์หาควรไม่
เพราะท่านผู้ปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ยินดีอะไร การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแก่
ท่านผู้ไม่ยินดีอะไร ย่อมเป็นหมันไม่มีผลเหมือนกัน' ดังนี้. นี่ปัญหาสองเงื่อน
ไม่เป็นวิสัยของคนผู้ไม่ได้บรรลุพระอรหัตต์ เป็นวิสัยของท่านผู้ใหญ่เท่านั้น ขอ
พระผู้เป็นเจ้าจงทำลายข่าย คือ ทิฏฐิเสีย ตั้งไว้ในส่วนอันเดียว, นี่ปัญหามา
ถึงพระผู้เป็นเจ้าเข้าแล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้ดวงจักษุแก่พุทธโอรสทั้งหลาย
อันมีในอนาคตกาลไว้สำหรับข่มถ้อยคำแห่งผู้อื่น."
พระเถรเจ้าถวายพระพรว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเสด็จ
ปรินิพพานแล้ว และไม่ทรงยินดีบูชา, ความยินดีพระตถาคตเจ้าทรงละเสียได้
แล้วที่ควงพระศรีมหาโพธิ์, จักกล่าวอะไรถึงเมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว
ด้วนอนุปาทิเสสนิพพานธาตุเล่า. ข้อนี้มีที่อ้างให้เห็นจริง คำนี้พระธรรม
เสนาบดีสารีบุตรเถรเจ้ากล่าวว่า "พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ทรงพระคุณเสมอ
ด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ หมู่มนุษย์พร้อมทั้งหมู่เทวดาพากันบูชา พระ
องค์ไม่ทรงยินดีสักการบูชา, นี่เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาบุตรย่อมกล่าวยกคุณบิดาบ้าง บิดาย่อม
กล่าวยกคุณบุตรบ้าง, ข้อนี้ไม่ใช่เหตุสำหรับข่มวาทะผู้อื่น, ข้อนี้ชื่อว่าเป็น
เครื่องประกาศความเลื่อมใส, ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้ากล่าวเหตุในข้อ
ปัญหานั้นให้ชอบ เพื่อแก้ข่าย คือ ทิฏฐิออกเสีย เพื่อตั้งวาทะของตนไว้."
ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว และ
พระองค์มิได้ทรงยินดีบูชา, เทวดามนุษย์ทั้งหลายกระทำรัตน คือ พระธาตุ
ของพระตถาคตเจ้า ผู้ไม่ยินดีโดยแท้ให้เป็นที่ตั้งแล้ว เสพสัมมาปฏิบัติด้วย
อารมณ์อันมุ่งอยู่ในรัตน คือ พระญาณของพระตถาคตเจ้า ย่อมได้สมบัติสาม
ประการ, เหมือนอย่างว่า กองไฟใหญ่ลุกโพลงแล้วจะดับไป, กองไฟนั้น ยินดี
เชื้อคือหญ้าและไม้บ้างหรือ ขอถวายพระพร."
ร. "กองไฟใหญ่ ถึงกำลังลุกอยู่ ก็ย่อมไม่ยินดีเชื้อ คือ หญ้าและไม้, ก็
กองไฟใหญ่นั้นดับสงบแล้ว หาเจตนามิได้ จักยินดีด้วยเหตุอะไรเล่า พระผู้
เป็นเจ้า ?"
ถ. "ก็เมื่อกองไฟนั้นดับสงบแล้ว ไฟในโลกชื่อว่าสูญหรือ ขอถวายพระ
พร ?"
ร. "หาเป็นดังนั้นไม่ ไม้เป็นวัตถุเป็นเชื้อของไฟ. มนุษย์จำพวกไหน
ต้องการไฟ เขาสีไม้ด้วยเรี่ยวแรงกำลังพยายาม ด้วยความกระทำของบุรุษ
เฉพาะตัวของเขาแล้ว ยังไฟให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมกระทำกิจที่จะต้องกระทำด้วย
ไฟได้ด้วยไฟนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำของพวกเดียรถีย์ว่า 'การบูชาที่
ทายกกระทำแล้วแก่ท่านผู้ไม่ยินดีอะไร ย่อมเป็นหมันไม่มีผล' ดังนี้ ย่อมเป็น
ผิด. ขอถวายพระพร กองไฟใหญ่ลุกโพลงอยู่ ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
รุ่งเรืองอยู่ในหมื่นโลกธาตุด้วยพระพุทธสิริ ก็ฉันนั้น; กองไฟใหญ่นั้น ครั้นลุก
โพลงแล้วก็ดับไป ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงรุ่งเรืองในหมื่นโลกธาตุ
ด้วยพระพุทธสิริแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ฉันนั้น;
กองไฟที่ดับแล้วไม่ยินดีเชื้อ คือ หญ้าและไม้ ฉันใด, การยินดีเกื้อกูลของโลก
พระองค์ละเสียแล้ว สงบแล้ว ก็ฉันนั้น; มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อกองไฟดับแล้วไม่
มีเชื้อ สีไม้ด้วยเรี่ยวแรงกำลังพยายามด้วยความกระทำของบุรุษเฉพาะตัว
ของเขาแล้ว ยังไฟให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมกระทำกิจที่จะต้องกระทำด้วยไฟได้ด้วย
ไฟนั้น ฉันใด; เทวดามนุษย์ทั้งหลาย กระทำรัตน คือ พระธาตุของพระตถาคต
เจ้าผู้ไม่ยินดีโดยแท้ให้เป็นที่ตั้งแล้ว เสพสัมมาปฏิบัติ ด้วยอารมณ์อันมุ่งอยู่ใน
รัตน คือ พระญาณ ของพระตถาคตเจ้า ย่อมได้สมบัติสามประการ ก็ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร แม้เพราะเหตุนี้ การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคต
เจ้าผู้เสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ จึงชื่อว่า มีผลไม่เป็นหมัน."
ถ. "ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุแม้อื่นยิ่งขึ้นเป็นเครื่องให้
เห็นว่า การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตเจ้าผู้ปรินิพพานแล้ว ไม่ทรง
ยินดีอยู่โดยแท้ มีผลไม่เป็นหมัน: เหมือนอย่างว่า พายุใหญ่พัดแล้วจะสงบไป,
ลมที่สงบไปแล้วนั้น ยินดีการให้เกิดอีกบ้างหรือขอถวายพระ ?"
ร. "หามิได้ ความคำนึงก็ดี ความกระทำในใจก็ดี ของลมที่สงบไปแล้ว
เพื่อการกระทำให้เกิดอีก ไม่มี, เหตุอะไรเล่า เหตุว่าวาโยธาตุนั้นไม่มีเจตนา."
ถ. "เออก็ ชื่อของลมที่สงบไปแล้วนั้นว่า 'ลม' ดังนี้ ยังเป็นไปบ้างหรือ
ขอถวายพระพร ?"
ร. "หามิได้" พัดใบตาลและพัดโบกเป็นปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งลม,
มนุษย์จำพวกไหน ต้องร้อนเผาแล้ว ต้องความกระวนกระวายบีบคั้นแล้ว เขา
ยังลมให้เกิดขึ้น ด้วยพัดใบตาลหรือด้วยพัดโบกตามกำลังเรี่ยวแรงพยายาม
ตามความกระทำของบุรุษเฉพาะตัวของเขาแล้ว ยังความร้อนให้ดับ ยังความ
กระวนกระวายให้สงบ ด้วยลมนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำของพวกเดียรถีย์ว่า 'การบูชาที่
ทายกกระทำแล้วแก่ท่านผู้ไม่ยินดีอะไร ย่อมเป็นหมันไม่มีผล' ดังนี้ ย่อมเป็น
ผิด. ขอถวายพระพร พายุใหญ่พัดแล้ว ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระพือ
ในหมื่นโลกธาตุ ด้วยลม คือ พระเมตตาอันเย็นชื่นใจละเอียดสุขุมแล้ว ก็ฉัน
นั้น; พายุใหญ่ครั้นพัดแล้ว สงบไปแล้วฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรง
กระพือในหมื่นโลกธาตุ ด้วยลม คือ พระเมตตาอันเย็นชื่นใจละเอียดสุขุมแล้ว
เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ฉันนั้น; ลมอันสงบไปแล้ว
ย่อมไม่ยินดีความให้เกิดขึ้นอีก ฉันใด การยินดีเกื้อกูลของโลก พระองค์ละเสีย
แล้ว สงบแล้ว ก็ฉันนั้น; มนุษย์ทั้งหลายนั้น ต้องร้อนเผาแล้ว ต้องความกระวน
กระวายบีบคั้นแล้ว ฉันใด, เทวดามนุษย์ทั้งหลาย ต้องความร้อนกระวน
กระวายเหตุไฟสามประการบีบคั้นแล้ว ก็ฉันนั้น;พัดใบตาลและพัดโบกเป็น
ปัจจัย เพื่อความเกิดแห่งลม ฉันใด, พระธาตุและพระญาณรัตนของพระ
ตถาคตเจ้าเป็นปัจจัย เพื่อความได้สมบัติสามประการ ก็ฉันนั้น; มนุษย์ทั้ง
หลาย ต้องร้อนเผาแล้ว ต้องความกระวนกระวายบีบคั้นแล้ว ยังลมให้เกิดขึ้น
ด้วยพัดใบตาลหรือด้วยพัดโบกแล้ว ยังความร้อนให้ดับ ยังความกระวน
กระวายให้สงบด้วยลมนั้น ฉันใด, เทวดามนุษย์ทั้งหลาย บูชาพระธาตุและ
พระญาณรัตนของพระตถาคตเจ้า ผู้เสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีโดยแท้
แล้ว ยังกุศลให้เกิดขึ้นแล้ว ยังความร้อนความกระวนกระวายเหตุไฟสาม
ประการให้ดับ ให้สงบด้วยกุศลนั้นฉันนั้น. ขอถวายพระพร แม้เพราะเหตุนี้
การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตเจ้าผู้เสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่ทรง
ยินดีอยู่โดยแท้ จึงชื่อว่า มีผลไม่เป็นหมัน."
ถ. "ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุแม้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อ
ข่มวาทะผู้อื่นเสีย: เหมือนอย่างว่า บุรุษตีกลอง ยังเสียงให้เกิดขึ้น และเสียง
กลองอันบุรุษให้เกิดขึ้นนั้น แล้วก็อันตรธานหายไป, เออก็ เสียงนั้น ยินดีความ
ให้เกิดขึ้นอีกบ้างหรือ ขอถวายพระพร."
ร. "หามิได้ เสียงนั้นอันตรธานไปแล้ว, ความคำนึงก็ดี ความกระทำใน
ใจก็ดี ของเสียงนั้น เพื่ออันเกิดขึ้นอีกมิได้มี, ครั้นเมื่อเสียงกลองเกิดขึ้นคราว
เดียวแล้ว อันตรธานไปแล้ว เสียงกลองนั้นก็ขาดสูญไป, ส่วนกลองเป็นปัจจัย
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งเสียง, ครั้นเมื่อเป็นอย่างนั้น บุรุษเมื่อปัจจัยมีอยู่ ตีกลอง
ด้วยพยายามอันเกิดแต่ตนแล้ว ยังเสียงให้เกิดขึ้นได้."
ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งพระธาตุรัตนอันพระ
องค์อบรมแล้วด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณ ทัสสนะ กับพระ
ธรรมวินัยคำสอน ให้เป็นต่างพระศาสดาแล้ว ส่วนพระองค์เสด็จปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน
แล้ว ความได้สมบัติขาดสูญไปตามแล้วก็หาไม่, สัตว์ทั้งหลายต้องทุกข์ในภพ
บีบคั้นแล้วกระทำพระธาตุรัตนกับพระธรรมวินัยคำสอนให้เป็นปัจจัย แล้ว
อยากได้สมบัติ ก็ย่อมได้ฉันเดียวกัน. ขอถวายพระพร แม้เพราะเหตุนี้ การ
บูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตเจ้าผู้เสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดี
อยู่โดยแท้ จึงชื่อว่า มีผลไม่เป็นหมัน. ขอถวายพระพร ข้อนี้พระผู้มีพระภาค
เจ้าทรงเห็นและตรัสบอกล่วงหน้าไว้นานแล้วว่า "อานนท์ สักหน่อยความวิตก
จะมีแก่ท่านทั้งหลายว่า 'พระศาสนามีพระศาสดาล่วงไปเสียแล้ว พระศาสดา
ของเราทั้งหลายไม่มี' ดังนี้, ข้อนี้ท่านทั้งหลายอย่าเห็นไปอย่างนั้น, ธรรม
และวนัยอันเราแสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่ท่านทั้งหลายโดยกาลที่ล่วงไป
แล้วแห่งเรา จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายแทน" ดังนี้. คำของพวกเดียรถีย์
ว่า 'การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตผู้ปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดี
อยู่ เป็นหมันไม่มีผล' ดังนี้นั้น ผิด ไม่จริง เท็จ สับปลับ พิรุธ วิปริต ให้ทุกข์เป็น
ผล มีทุกข์เป็นวิบาก ยังผู้พูดและผู้เชื่อถือให้ไปสู่อบาย."
ถ. "ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุแม้อื่นให้ยิ่งขึ้นไป เป็น
เครื่องให้เห็นว่า 'การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตเจ้าผู้เสด็จ
ปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ มีผลไม่เป็นหมัน: มหาปฐพีนี้ยินดีบ้าง
หรือหนอแลว่า 'ขอสรรพพืชจงงอกขึ้นบนเรา' ดังนี้."
ร. "หามิได้."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็เหตุไฉนพืชทั้งหลายเหล่านั้น งอกขึ้นบนมหา
ปฐพีอันไม่ยินดีอยู่แล้ว ตั้งมั่นด้วยรากอันรึงรัดกันแน่นแข็งแรงด้วยแกนในลำ
ต้นและกิ่ง ทรงดอกออกผลเล่า ?"
ร. "มหาปฐพีแม้ไม่ยินดีอยู่ ก็เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งพืชทั้งหลายเหล่านั้น
ย่อมให้ปัจจัยเพื่องอกขึ้น, พืชทั้งหลายนั้นอาศัยมหาปฐพีนั้นเป็นวัตถุแล้ว
งอกขึ้นด้วยปัจจัยนั้นแล้ว ตั้งมั่นด้วยรากอันรึงรัดกันแน่น แข็งแรงด้วยแก่นใน
ลำต้นและกิ่ง ทรงดอกออกผลได้."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น พวกเดียรถึย์ฉิบหาย ต้องถูกกำจัด
เป็นพิรุธในถ้อยคำของตัว, ถ้าเขาขืนกล่าวว่า 'การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแก
ท่านผู้ไม่ยินดี เป็นหมันไม่มีผล' ดังนี้. ขอถวายพระพร มหาปฐพีนี้ ฉันใด, พระ
ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ฉันนั้น; มหาปฐพีไม่ยินดีอะไร ๆ ฉันใด,
พระตถาคตเจ้าไม่ทรงยินดีอะไร ๆ ก็ฉันนั้น; พืชเหล่านั้นอาศัยปฐพี งอกขึ้น
แล้ว ตั้งมั่นด้วยรากอันรึงรัดกันแน่นแข็งแรงด้วยแก่นในลำต้นและกิ่ง ทรงดอก
ออกผลได้ฉันใด, เทวดามนุษย์ทั้งหลาย อาศัยพระธาตุและพระญาณรัตนข
องพระตถาคตเจ้าผู้เสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ ตั้งมั่นด้วย
กุศลมูลอันแน่นหนาแล้ว แข็งแรงด้วยแก่น คือ พระธรรม ในลำต้น คือ สมาธิ
และกิ่ง คือ ศีล ทรงดอก คือ วิมุตติ ออกผล คือ สามัญผล ก็ฉันนั้น. ขอถวาย
พระพร แม้เพราะเหตุนี้ การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตเจ้าผู้เสด็จ
ปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ จึงชื่อว่า มีผลไม่เป็นหมันแล."
ถ. "ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุแม้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไป เป็น
เครื่องให้เป็นว่า การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตเจ้าผู้เสด็จ
ปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ มีผลไม่เป็นหมัน: สัตว์ที่เขาเลี้ยง คือ
อูฐ โค ลา แพะ และหมู่มนุษย์เหล่านี้ ยินดีให้หมู่หนอนเกิดในท้องบ้างหรือ
ขอถวายพระ."
ร. "หามิได้."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็เหตุไฉน หนอนเหล่านั้นจึงเกิดในท้องของมนุษย์
และดิรัจฉานเหล่านั้นผู้ไม่ยินดีอยู่แล้ว มีลูกหลานเป็นอันมาก ถึงความ
ไพบูลย์ขั้นเล่า ?"
ร. "เพราะบาปกรรมมีกำลังซิ พระผู้เป็นเจ้า ถึงสัตว์เหล่านั้นไม่ยินดีอยู่
หมู่หนอนเกิดขึ้นภายในท้องแล้ว มีลูกหลายมาก ถึงความไพบูลย์ขึ้น."
ถ. "เพราะพระธาตุและพระญาณรัตนของพระตถาคตเจ้าผู้เสด็จ
ปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้มีกำลัง การบูชาที่ทายกกระทำแล้วใน
พระตถาคตเจ้า จึงมีผลไม่เป็นหมัน ฉันเดียวกันแล ขอถวายพระพร."
ถ. "ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุแม้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไปอีก
เป็นเครื่องให้เห็นว่า การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตเจ้าผู้เสด็จ
ปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ มีผลไม่เป็นหมัน: หมู่มนุษย์เหล่านี้ยินดี
อยู่ว่า 'ขอโรคเก้าสิบแปดเหล่านี้ จงเกิดในกายเถิด' ดังนี้ บ้างหรือ ขอถวาย
พระพร."
ร. "หามิได้."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็เหตุไฉน โรคเหล่านั้นจึงเกิดในกายของหมู่
มนุษย์ผู้ไม่ยินดีอยู่เล่า ?"
ร. "ขอถวายพระ ถ้าว่าอกุศลที่เขากระทำไว้ในกาลก่อนเป็นกรรมที่จะ
ต้องเสวยในภพนี้, ถ้าอย่างนั้น กุศลกรรมก็ดี อกุศลกรรมก็ดี ที่เขากระทำไว้
แล้วในภพก่อนก็ดี ในภพนี้ก็ดี ย่อมมีผลไม่เป็นหมัน. ขอถวายพระพร แม้
เพราะเหตุนี้ การบูชาที่ทายกกระทำแล้ว แด่พระตถาคตเจ้าผู้เสด็จ
ปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ ย่อมมีผลไม่เป็นหมัน. ขอถวายพระพร
พระองค์ได้เคยทรงสดับบ้างหรือว่านันทกยักษ์ประทุษร้ายพระสารีบุตรเถรเจ้า
แล้ว เข้าไปสู่แผ่นดินแล้ว."
ร. "ข้าพเจ้าเคยได้ฟัง เรื่องนี้ปรากฏแล้วในโลก."
ถ. "เออก็ พระสารีบุตรเถรเจ้ายินดีการที่มหาปฐพีกลืนนันทกยักษ์เข้า
ไปไว้ด้วยหรือ ขอถวายพระพร."
ร. "แม้โลกนี้กับทั้งเทวโลกเพิกถอนไปอยู่ แม้ดวงจันทร์และดวง
อาทิตย์ตกลงมาที่แผ่นดินอยู่ แม้พญาเขาสิเนรุบรรพตแตกกระจายอยู่ พระ
สารีบุตรเถรเจ้าก็ไม่ยินดีทุกข์ของผู้อื่น, ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ? เป็น
เพราะเหตุเครื่องที่พระสารีบุตรเถรเจ้าจะโกรธก็ดี จะประทุษร้ายก็ดี ท่านถอน
เสียแล้ว ท่านตัดขาดเสียแล้ว, เพราะท่านถอนเหตุเสียได้แล้ว พระสารีบุตรเถร
เจ้าไม่พึงกระทำความโกรธ แม้ในผู้จะผลาญชีวิตของท่านเสีย."
ถ. "ถ้าว่า พระสารีบุตรเถรเจ้าไม่ยินดีการที่มหาปฐพีกลืนนันทกยักษ์
เข้าไปไว้แล้ว เหตุไฉน นันทกยักษ์จึงได้เข้าไปสู่แผ่นดินเล่าขอถวายพระพร ?"
ร. "เพราะเหตุอกุศลกรรมเป็นโทษมีกำลังนะซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าหากนันทกยักษ์เข้าไปสู่แผ่นดินแล้ว เพราะ
อกุศลกรรมเป็นโทษแรง, ความผิดที่เขากระทำแล้วต่อท่านผู้ไม่ยินดีอยู่ ก็มีผล
ไม่เป็นหมัน, ถ้าอย่างนั้น การบูชาที่ทายกระทำแล้วแก่ท่านผู้ไม่ยินดีอยู่ ก็
ย่อมมีผลไม่เป็นหมัน เพราะกุศลกรรมเป็นคุณแรงกล้า. ขอถวายพระพร แม้
เพราะเหตุนี้ การบูชาที่ทายกกระทำแล้วแด่พระตถาคตเจ้าผู้เสด็จปรินิพพาน
แล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ ย่อมมีผลไม่เป็นหมัน. ขอถวายพระพร เดี๋ยวนี้
มนุษย์ผู้เข้าไปสู่แผ่นดินมีผลเท่าไรแล้ว, พระองค์ได้เคยสดับเรื่องนี้บ้างหรือ ?"
ร. "เคยได้ฟัง"
ถ. "ขอถวายพระพร เชิญพระองค์ตรัสให้อาตมภาพฟัง."
ร. "ข้าพเจ้าได้ฟังว่า มนุษย์ผู้เข้าไปสู่แผ่นดินแล้วนี้ห้าคน คือ : นาง
จิญจมาณวิกาหนึ่ง สุปปพุทธะสักกะหนึ่ง เทวทัตตเถระหนึ่ง นันทกยักษ์หนึ่ง
นันทมาณพหนึ่ง."
ถ. "เขาผิดในใคร ขอถวายพระพร."
ร. "ในพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง ในพระสาวกบ้าง."
ถ. "เออก็ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี ยินดีการที่คนเหล่านี้
เข้าไปสู่แผ่นดินแล้วหรือ ขอถวายพระพร ?"
ร. "หามิได้."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น การบูชาที่ทายกกระทำแล้ว แด่พระ
ตถาคตเจ้าผู้เสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงยินดีอยู่โดยแท้ ย่อมมีผลไม่เป็น
หมัน."
ร. "พระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหาให้เข้าใจได้ดีแล้ว ข้อที่ลึกกระทำให้ตื้นแล้ว
ที่กำบังพังเสียแล้ว ขอดทำลายเสียแล้ว ชัฏกระทำไม่ให้เป็นชัฏแล้ว วาทะของ
คนพวกอื่นฉิบหายแล้ว ทิฏฐิอันน่าชังหักเสียได้แล้ว พวกเดียรถีย์ผู้น่าเกลียด
มาจดพระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐกว่าคณาจารย์ที่ประเสริฐเข้าแล้ว ย่อมสิ้น
รัศมี."

๒. สัพพัญญูภาวปัญหา ๒

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูหรือ ?"
ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสัพพัญญู, ก็แต่พระ
ญาณที่เป็นเหตุรู้เห็น หาปรากฏแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าฉับไวทันทีไม่, พระสัพ
พัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเนื่องด้วยการนึก พระองค์ทรงนึกแล้ว
ย่อมรู้ได้ตามพระพุทธประสงค์."
ร. "ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่สัพพัญญูซิ, ถ้าพระสัพพัญญุต
ญาณของพระองค์ย่อมมีได้ด้วยการค้นหา."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้าวเปลือกร้อยวาหะ กับกึ่งจุฬา เจ็ดอัมมณะ
สองตุมพะ ข้าวเปลือกมีประมาณถึงเพียงนี้ คนมีจิตเป็นไปในขณะเพียงแต่
อัจฉระ คือชั่วดีดนิ้วมือครั้งเดียว ยังสามารถตั้งเป็นคะแนนนับให้ถึงความสิ้น
ไปหมดไปได้. นี้จิตเจ็ดอย่างเป็นไปอยู่ในขณะชั่วอัจฉระเดียวนั้น: ขอถวาย
พระพร คนจำพวกใด มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ มีกิเลส มีกายไม่ได้อบรมแล้ว มี
ศีลไม่ได้อบรมแล้ว มีจิตไม่ได้อบรมแล้ว มีปัญญาไม่ได้อบรมแล้ว จิตของเขา
นั้นเกิดขึ้นช้า เป็นไปเนือย, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะจิตเป็นสภาพไม่ได้อบ
รมแล้ว. ขอถวายพระพร มีอุปมาว่า ลำไม้ไผ่อันสูงดวดลำอวบแข็งแรง เกี่ยว
พันกันเป็นสุมทุมด้วยเซิงกิ่ง คนฉุดลากมา ก็ค่อยมาช้า ๆ ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ
? เพราะกิ่งเป็นของเกี่ยวพันกัน ฉันใด, คนจำพวกใด มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ
มีกิเลส มีกายไม่ได้อบรมแล้ว มีศีลไม่ได้อบรมแล้ว มีจิตไม่ได้อบรมแล้ว มี
ปัญญาไม่ได้อบรมแล้ว จิตของเขานั้นเกิดขึ้นช้า เป็นไปเนือย, ข้อนี้มีอะไรเป็น
เหตุ ? เพราะจิตเป็นสภาพอันกิเลสทั้งหลายเกี่ยวพันแล้ว ฉันนั้น. นี้จิตที่หนึ่ง."
ในจิตเจ็ดอย่างนั้น จิตนี้ถึงความจำแนกเป็นจิตที่สอง. คนจำพวกใด
เป็นพระโสดาบันผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน มีอบายอันละเสียได้แล้ว พร้อม
มูลแล้วด้วยความเห็นชอบ มีคำสอนของพระศาสดาอันรู้แจ้งแล้ว จิตของท่าน
นั้นเกิดขึ้นไว เป็นไปไว ในสามสถาน เกิดขึ้นช้า เป็นไปเนือย ในภูมิเบื้องบน
ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะจิตเป็นสภาพบริสุทธิ์ในสามสถาน และเพราะ
กิเลสทั้งหลายในเบื้องบนเป็นสภาพอันท่านยังละไม่ได้แล้ว. มีอุปมาเหมือน
ลำไม้ไผ่โล่งหมดจากการเกี่ยวพันกันเพียงสามปล้อง แต่ข้างบนยังเป็นสุมทุม
ด้วยเซิงกิ่งคนฉุดลากมา ย่อมคล่องเพียงสามปล้อง สูงขึ้นไปจากนั้นย่อมขัด
ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะข้างล่างโล่งหมด และเพราะข้างบนยังเป็นสุมทุม
ด้วยเซิงกิ่ง ฉะนั้น. นี้จิตที่สอง
จิตนี้ถึงความจำแนกเป็นจิตที่สาม. คนจำพวกใด เป็นพระสกทาคามี
มีราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จิตของท่านนั้น เกิดขึ้นไว เป็นไปไว ในที่ห้าสถาน
เกิดขึ้นช้า เป็นไปเนือย ในภูมิเบื้องบน, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะจิตเป็น
สภาพบริสุทธิ์ในที่ห้าสถาน และเพราะกิเลสเบื้องบนเป็นสภาพอันท่านยังละ
ไม่ได้แล้ว. มีอุปมาเหมือนลำไม้ไผ่โล่งหมดจากการเกี่ยวพันกันเพียงห้าปล้อง
แต่ข้างบนยังเป็นสุมทุมด้วยเซิงกิ่ง คนฉุดลากมา ย่อมมาคล่องเพียงห้าปล้อง
สูงขึ้นไปจากนั้น ย่อมขัด, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะข้างล่างโล่งหมด และ
เพราะข้างบนยังเป็นสุมทุมด้วยเซิงกิ่ง ฉะนั้น. นี้จิตที่สาม.
จิตนี้ถึงความจำแนกเป็นจิตที่สี่. คนจำพวกใด เป็นพระอนาคามีมี
สังโยชน์เบื้องต่ำห้าประการละได้แล้ว จิตของท่านนั้น เกิดขึ้นไว เป็นไปไว ใน
ที่สิบสถาน เกิดขึ้นช้า เป็นไปเนือย ในภูมิเบื้องบน, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
เพราะจิตเป็นสภาพบริสุทธิ์ในที่สิบสถาน และเพราะกิเลสเบื้องบนเป็นสภาพ
อันท่านยังละไม่ได้แล้ว. มีอุปมาเหมือนลำไม้ไผ่โล่งหมดจากการเกี่ยวพันกัน
เพียงสิบปล้อง แต่ข้างบนยังเป็นสุมทุมด้วยเซิงกิ่ง คนฉุดลากมา ย่อมมา
คล่องเพียงสิบปล้อง สูงขึ้นไปจากนั้น ย่อมขัด, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะ
ข้างล่างโล่งหมด และเพราะข้างบนยังเป็นสุมทุมด้วยเซิงกิ่ง ฉะนั้น. นี้จิตที่สี่.
จิตนี้ถึงความจำแนกเป็นจิตที่ครบห้า. คนจำพวกใด เป็ฯพระอรหันต์
สิ้นอาสวะแล้ว ชำระมลทินหมดแล้ว ฟอกกิเลสแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มี
กิจที่จะต้องทำอันได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียได้แล้ว มีประโยชน์ตนได้บรรลุ
ถึงแล้ว มีธรรมอันจะประกอบไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว มีพระปฏิสัมภิทาได้บรรลุ
แล้ว บริสุทธิ์แล้วในภูมิแห่งพระสาวก, จิตของท่านนั้น เกิดขึ้นไว เป็นไปไว ใน
ธรรมเป็นวิสัยของพระสาวก เกิดขึ้นช้า เป็นไปเนือย ในภูมิแห่งพระปัจเจก
พุทธะ และในภูมิแห่งพระสัพพัญญูพุทธะ, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะท่าน
บริสุทธิ์แล้วเพียงในภูมิแห่งพระสาวก และเพราะไม่บริสุทธิ์แล้วในปัจเจกพุทธ
ภูมิและสัพพัญญูพุทธภูมิ. มีอุปมาเหมือนลำไม้ไผ่มีปล้องโล่งหมดจากการ
เกี่ยวพันกันทุกปล้อง คนฉุดลากมา ก็มาได้คล่อง ไม่ช้า, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
เพราะไม้ไผ่นั้นโล่งหมดจากการเกี่ยวพันกันทุกปล้อง และเพราะไม่เป็นสุมทุม
ฉะนั้น. นี้จิตที่ครบห้า.
จิตนี้ถึงความจำแนกเป็นจิตที่ครบหก. คนจำพวกใด เป็นพระปัจเจก
พุทธะ คือตรัสรู้จำเพาะตัว เป็นพระสยัมภู คือ ผู้เป็นเองในทางตรัสรู้ ไม่มีใคร
เป็นอาจารย์ ประพฤติอยู่แต่ผู้เดียว มีอาการควรกำหนดเปรียบด้วยนอแรด มี
จิตบริสุทธิ์ปราศจากมลทินในธรรมเป็นวิสัยของท่าน, จิตของท่านนั้น เกิดขึ้น
ไว เป็นไปไว ในธรรมเป็นวิสัยของท่าน เกิดขึ้นช้า เป็นไปเนือย ในภูมิของพระ
สัพพพัญญูพุทธะ, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะท่านบริสุทธิ์แต่ในวิสัยของ
ท่าน และเพราะพระสัพพัญญูพุทธวิสัย เป็นคุณอันใหญ่ยิ่ง, มีอุมาเหมือน
บุรุษผู้เคยไม่พึงคร้าม จะลงลำน้ำน้อยอันเป็นวิสัยของตัว ในคืนก็ได้ ในวันก็
ได้ ตามปรารถนา, ครั้นเห็นมหาสมุทรทั้งลึกหยั่งไม่ถึง ทั้งกว้างไม่มีฝั่งในที่
ตำบลอื่นแล้ว จะกลัวย่อท้อไม่อาจลง, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะวิสัยของ
เขา ๆ ได้เคยประพฤติแล้ว และเพราะมหาสมุทรเป็นชลาลัยอันใหญ่ ฉะนั้น.
นี้เป็นจิตที่ครบหก.
จิตนี้ถึงความจำแนกเป็นจิตที่เจ็ด. คนจำพวกใด เป็นพระสัมมาสัม
พุทธคือตรัสรู้ชอบเอง เป็นสัพพัญญูคือรู้ธรรมทั้งปวง ทรงญาณอันเป็นกำลัง
สิบประการ กล้าหาญปราศจากครั่นคร้าม เพราะเวสารัชชธรรมสี่ประการ
พร้อมมูลด้วยธรรมของพระพุทธบุคคลสิบแปดประการมีชัยชนะหาที่สุดมิได้
มีญาณหาเครื่องขัดขวางมิได้, จิตของท่านนั้นเกิดขึ้นไว เป็นไปไว ในที่ทุก
สถาน, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะท่านบริสุทธิ์แล้วในที่ทุกสถาน.
ขอถวายพระพร พระแสงศรที่ชำระดีแล้ว ปราศจากมลทินหาสนิมมิได้
คมกริบ ตรงแน่ว ไม่คด ไม่งอ ไม่โกง ขึ้นบนแล่ง อันมั่นแข็งแรง แผลงให้ตกลง
เต็มแรง ที่ผ้าโขมพัสตร์อันละเอียดก็ดี ที่ผ้ากัปปาสิกพัสตร์อันละเอียดก็ดี ที่
ผ้ากัมพลอันละเอียดก็ดี จะไปช้าไม่สะดวกหรือติดขัดมีบ้างหรือ ?"
ร. "หาเป็นเช่นนั้นไม่, ข้อนี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะผ้าเป็นของละเอียด
ศรก็ชำระดีแล้ว และการแผลงให้ตกก็เต็มแรง."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น คนจำพวกใด เป็นพระสัมมา
สัมพุทธะ ฯลฯ จิตของท่านนั้น เกิดขึ้นไว เป็นไปไว ในที่ทุกสถาน. นี้จิตที่เจ็ด.
ขอถวายพระพร ในจิตเจ็ดอย่างนั้น จิตของพระสัพพัญญูพุทธะทั้ง
หลายบริสุทธิ์และไวโดยคุณที่นับไม่ได้ ล่วงคณนาแห่งจิตแม้ทั้งหกอย่าง. ขอ
ถวายพระพร เหตุใด จิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าบริสุทธิ์และไว เหตุนั้น พระ
องค์จึงทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ได้, ในยมกปาฏิหาริย์นั้น พระองค์พึงทรง
ทราบเถิดว่า 'จิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายเป็นไปไวถึงอย่างนั้น,' อา
ตมภาพไม่สามารถกล่าวเหตุในข้อนั้นให้ยิ่งขึ้นไปได้. แม้ปาฏิหาริย์เหล่านั้น
เข้าไปเปรียบจิตของพระสัพพัญญูพุทธะทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่ถึงการคณานา
นับสักเสี้ยวก็ดี สักส่วนของเสี้ยวก็ดี พระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระ
ภาคเจ้าเนื่องด้วยการนึก, พระองค์ทรงนึกแล้วก็รู้ได้ตามพระพุทธประสงค์.
ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษจะวางของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งวางอยู่ในมือ
ข้างหนึ่ง ไว้ในมืออีกข้างหนึ่งก็ดี, จะอ้าปากขึ้นเปล่งวาจาก็ดี, จะกลืนโภชนะ
ซึ่งเข้าไปแล้วในปากก็ดี, ลืมอยู่แล้วและจะหลับจักษุลง หรือหลับอยู่แล้วจะ
ลืมจักษุขึ้นก็ดี, จะเหยียดแขนที่คู้แล้วออกหรือจะคู้แขนที่เหยียดแล้วเช้าก็ดี,
กาลนั้นช้ากว่า, พระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าไวกว่า, ความ
นึกของพระองค์ไวกว่า, พระองค์ทรงนึกแล้วย่อมรู้ได้ตามพระพุทธประสงค์,
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายได้ชื่อว่าไม่ใช่สัพพัญญู ด้วยสักว่าความบก
พร่อง เพราะต้องนึกเพียงเท่านั้น ก็หามิได้."
ร. "แม้ความนึกก็ต้องทำด้วยความเลือกหา, ขออาราธนาพระผู้เป็น
เจ้า อธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจในข้อนั้นโดยเหตุเถิด."
ถ. "ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้มั่งมี มีทรัพย์มาก มีสมบัติ
มาก มีทองเงินและเครื่องมืออันเป็นอุปการแก่ทรัพย์มาก มีข้าวเปลือกไว้เป็น
ทรัพย์มาก และข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวสาร งา ถั่วเขียว ถั่วขาว บุพ
พัณณชาติและอปรัณณชาติอื่น ๆ เนยใส เนยข้น นมสด นมส้ม น้ำมัน น้ำผึ้ง
น้ำตาล น้ำอ้อย ของเขาก็มีพร้อมอยู่ในไห ในหม้อ ในกระถาง ในยุ้ง และใน
ภาชนะอื่น ๆ, และจะมีแขกมาหาเขา ซึ่งควรจะเลี้ยงดู และต้องการจะบริโภค
อาหารอยู่ด้วยล ก็แต่โภชนะที่ทำสุกแล้วในเรือนของเขา หมดเสียแล้ว เขาจึง
นำเอาข้าวสารออกจากหม้อแล้วและหุงให้เป็นโภชนะ; บุรุษผู้นั้น จะได้ชื่อว่า
คนขัดสนไม่มีทรัพย์ ด้วยสักว่าความบกพร่องแห่งโภชนะเพียงเท่านั้น ได้บ้าง
หรือ ?"
ร. "หาอย่างนั้นไม่ แม้ในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ความ
บกพร่องแห่งโภชนะ ในสมัยซึ่งมิใช่เวลาก็ยังมี, เหตุอะไรในเรือนของคฤหบดี
จักไม่มีบ้างเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น พระสัพพัญญุตญาณของพระ
ตถาคตเจ้า บกพร่องเพราะต้องนึก, แต่ครั้นทรงนึกแล้ว ก็รู้ได้ตามพระพุทธ
ประสงค์. ขอถวายพระพร อนึ่ง เหมือนอย่างว่า ต้นไม้จะเผล็ดผล เต็มด้วย
พวงผลอันหนักถ่วงห้อยย้อย, แต่ในที่นั้น ไม่มีผลอันหล่นแล้วสักน้อยหนึ่ง; ต้น
ไม้นั้น จะควรได้ชื่อว่าหาผลมิได้ ด้วยความบกพร่องเพราะผลที่ยังไม่หล่นแล้ว
เพียงเท่านั้น ได้บ้างหรือ ?"
ร. "หาอย่างนั้นไม่ เพราะผลไม้เหล่านั้นเนื่องด้วยการหล่น, เมื่อหล่น
แล้ว คนก็ย่อมได้ตามปรารถนา."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น, พระสัพพัญญุตญาณของพระ
ตถาคตเจ้า บกพร่องเพราะต้องนึก, แต่ครั้นทรงนึกแล้ว ก็รู้ได้ตามพุทธ
ประสงค์."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธเจ้าทรงนึกแล้ว ๆ รู้ได้ตามพระพุทธ
ประสงค์หรือ ?"
ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนึกแล้ว ๆ รู้ได้ตามพระ
พุทธประสงค์; เหมือนอย่างว่า พระเจ้าจักรพรรดิราชทรงระลึกถึงจักรรัตนขึ้น
เมื่อใดว่า 'จักรรัตนจงเข้ามาหาเรา' ดังนี้ พอทรงนึกขึ้นแล้ว จักรรัตนก็เข้าไป
ถึง ข้อนี้ฉันใด; พระตถาคตเจ้าทรงนึกแล้ว ๆ ก็รู้ได้ตามพระพุทธประสงค์ ฉัน
นั้น."
ร. "เหตุมั่นพอแล้ว, พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูแท้, ข้าพเจ้ายอมรับว่า
'พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูจริง."


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 238 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO