Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะจากหนังสือมิลินทปัญหา หน้า ๑๑๓ - ๑๒๘

จันทร์ 26 มี.ค. 2018 12:23 pm

๓. เทวทัตตปัพพาชิตปัญหา ๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระเทวทัตอันใครบวชให้แล้ว."
พระเถรเจ้าถวายวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร ขัตติยกุมารหกพระองค์
ทรงพระนามว่า ภัททิยกุมารหนึ่ง อนุรุทธกุมารหนึ่ง อานันทกุมารหนึ่ง ภัคคุ
กุมารหนึ่ง กิมพิลกุมารหนึ่ง เทวทัตตกุมารหนึ่ง นี้มีนายอุบาลิชาวภูษามาลา
เป็นที่เจ็ด, ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเจ้าตรัสรู้พระอภิสัมโพธิญาณแล้ว
ยังความยินดีให้บังเกิดแก่ศากยตระกูลได้, ต่างองค์ต่างออกทรงผนวชตาม
พระผู้มีพระภาคเจ้า; พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดให้ทรงผนวชแล้ว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า พระเทวทัตบวชแล้วทำลายสงฆ์แล้ว มิใช่หรือ ?"
ถ. "ขอถวายพระพร พระเทวทัตบวชแล้ว ทำลายสงฆ์แล้ว. คฤหัสถ์
ทำลายสงฆ์มิได้ ภิกษุณีก็ทำลายสงฆ์มิได้ สิกขมานาก็ทำลายสงฆ์มิได้
สามเณรก็ทำลายสงฆ์มิได้ สามเณรีก็ทำลายสงฆ์มิได้, ภิกษุมีตนเป็นปกติ
ร่วมสังวาสเดียวกัน ร่วมสีมาเดียวกัน ย่อมทำลายสงฆ์ได้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ ย่อมต้องกรรมอะไร ?"
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ทำลายสงฆ์นั้น ย่อมต้องกรรมอันจะให้
ตกนรกสิ้นกัปป์หนึ่ง."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่หรือว่า 'พระเทวทัตบวช
แล้วจักทำลายสงฆ์ ครั้นทำลายสงฆ์แล้ว จักไหม้อยู่ในนรกสิ้นกัปป์หนึ่ง."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทรงทราบอยู่."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่ เมื่อเป็นอย่างนั้น คำว่า
'พระพุทธเจ้าประกอบด้วยพระกรุณาเอ็นดูสัตว์ ทรงแสวงหาธรรมที่เป็น
ประโยชน์เกื้อกูลสัตว์ นำสิ่งซึ่งมิใช่ประโยชน์เสีย ตั้งสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ไว้แก่
สัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้น' ดังนี้ ผิด. ถ้าและพระองค์ไม่ทรงทราบเหตุอันนั้นแล้ว ให้
บวชเล่าไซร้, เมื่อเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระสัพพัญญูนะซิ. ปัญหา
สองเงื่อนแม้นี้มาถึงท่านแล้ว ขอท่านจงสะสางเงื่อนอันยุ่งใหญ่นั้นเสีย ขอ
ท่านจงทำลายปรับปปวาทเสีย, ในอนาคตกาลไกล ภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญา
เช่นท่าน จักหาได้ยาก, ขอท่านจงประกาศกำลังปัญญาของท่านในปัญญาข้อ
นี้."
ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ประกอบด้วยพระกรุณา ทั้ง
เป็นพระสัพพัญญูด้วย. ขอถวายพระพร เพราะความที่พระองค์ทรงพระกรุณา
พระองค์ทรงพิจารณาดูคติของพระเทวทัต ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ทอด
พระเนตรเห็นพระเทวทัต ผู้จะสะสมกรรมอันจะให้ผลในภพสืบ ๆ ไปไม่สิ้นสุด
หลุดจากนรกไปสู่นรก หลุดจากวินิบาตไปสู่วินิบาต สิ้นเสนโกฏิแห่งกัปป์เป็น
อันมาก, พระองค์ทรงทราบเหตุนั้นแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ทรงพระ
ดำริว่า 'กรรมของเทวทัตผู้นี้ เจ้าตัวทำแล้วหามีที่สุดลงไม่ เมื่อเธอบวชแล้วใน
ศาสนาแห่งเรา จักทำให้มีที่สุดลงได้, เทียบกรรมก่อนเข้าแล้ว ทุกข์ยังจักทำให้
มีที่สุดลงได้, โมฆบุรุษผู้นี้ ถ้าบวชแล้ว จักสะสมกรรมอันจะให้ตกนรกสิ้นกัปป์
หนึ่ง' ดังนี้ จึงโปรดให้พระเทวทัตบวชแล้ว ด้วยพระกรุณา."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น พระตถาคตเจ้าได้ชื่อว่าทรงตีแล้วทาให้
ด้วยน้ำมัน, ทรงทำให้ตกเหวแล้วยื่นพระหัตถ์ประทานให้, ทรงฆ่าให้ตายแล้ว
แสวงหาชีวิตให้, เพราะทรงก่อทุกข์ให้ก่อนแล้ว จึงจัดสุขไว้ให้ต่อภายหลัง."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตได้ชื่อว่าทรงตีบ้าง ได้ชื่อว่าทรงทำให้
ตกเหวบ้าง ได้ชื่อว่าทรงฆ่าให้ตายบ้าง ด้วยอำนาจทรงเห็นแก่ประโยชน์แห่ง
สัตว์ทั้งหลายอย่างเดียว, อนึ่ง ได้ชื่อว่าทรงตีก่อนบ้าง ทรงทำให้ตกเหวก่อน
บ้าง ทรงฆ่าให้ตายก่อนบ้าง แล้วจึงจัดประโยชน์ให้อย่างเดียว, เหมือนมารดา
บิดาตีก่อนบ้าง ให้ล้มก่อนบ้าง แล้วจึงจัดประโยชน์ให้แก่บุตรทั้งหลายอย่าง
เดียวฉะนั้น. ความเจริญแห่งคุณจะพึงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยความประกอบ
อย่างใด ๆ, ย่อมทรงจัดสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ไว้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้น ด้วยนั้น
ๆ.
ขอถวายพระพร ถ้าพระเทวทัตนี้ไม่บวชแล้ว เป็นคฤหัสถ์อยู่จะกระทำ
บาปกรรมอันให้ไปเกิดในนรกเป็นอันมาก แล้วจะไปจากนรกสู่นรก ไปจาก
วินิบาตสู่วินิบาต เสวยทุกข์เป็นอันมาก สิ้นแสนโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมาก.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุอันนั้นอยู่ ด้วยกำลังพระกรุณา ทรงพระดำริ
เห็นว่า 'เมื่อพระเทวทัตบวชแล้วในพระศาสนาของเรา ทุกข์จักเป็นผลอันเจ้า
ตัวกระทำให้มีที่สุดลงได้' ดังนี้แล้ว ได้โปรดพระเทวทัตให้บวชแล้ว ได้ทรง
กระทำทุกข์ของพระเทวทัตอันหนักนั้นให้เบาลงได้แล้ว.
ขอถวายพระพร เหมือนหนึ่งบุรุษมีกำลังทั้งทรัพย์สมบัติอิสสริยยศสิริ
และเครือญาติ รู้ว่าญาติหรือมิตรสหายของตนจะต้องรับพระราชอาชญาอัน
หนักแล้ว ด้วยความที่ตนเป็นผู้สามารถ โดยความคุ้นเคยกับคนเป็นอันมาก
ได้กระทำโทษอันหนักนั้นให้เบาลงได้ ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดให้พระ
เทวทัต ผู้จะต้องเสวยทุกข์สิ้นแสนโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมากให้บวชแล้ว ด้วย
ความที่พระองค์เป็นผู้สามารถด้วยพระกำลัง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และ
วิมุตติ ทรงกระทำทุกข์ของพระเทวทัตอันหนักนั้นให้เบาได้ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร อนึ่ง เหมือนหมอบาดแผล ย่อมกระทำพยาธิอันหนัก
ให้เขาได้ด้วยอำนาจโอสถมีกำลัง ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพระเทว
ทัตผู้จะต้องเสวยทุกข์สิ้นแสนโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมากให้บวชแล้ว ความที่
พระองค์ทราบเหตุเครื่องประกอบแก้ แล้วทรงกระทำทุกข์อันหนักให้เบาได้
ด้วยกำลังโอสถคือธรรมอันเข้มแข็งด้วยกำลังพระกรุณา ฉันนั้นแล. พระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงกระทำพระเทวทัตผู้จะต้องเสวยทุกข์มากให้ได้เสวยแต่น้อย
จะต้องอกุศลอะไร ๆ บ้างหรือ ขอถวายพระพร."
ร. "ไม่ต้องเลย แม้โดยที่สุดสักว่าจะติเตียนด้วยวาจา."
ถ. "ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงรับรองเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพระเทวทัตให้บวชนี้ โดยข้อความเหล่านี้แล.
ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุอื่นอีกยิ่งกว่านี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพระเทวทัตให้บวช. เหมือนหนึ่งว่า ราชบุรุษจับโจรผู้กระทำความผิดได้แล้ว จะพึงกราบทูลแด่พระเจ้าแผ่นดินว่า 'โจรผู้นี้กระทำความผิดอย่างนี้ ๆ พระองค์จงลงพระราชอาญาแก่โจรนั้นตามพระราชประสงค์' ดังนี้, พระเจ้าแผ่นดินจะพึงรับสั่งให้ลงโทษโจรผู้นั้นว่า 'ถ้าอย่างนั้น ออเจ้าทั้งหลายจงนำโจรนี้ออกไปนอกเมือง จงตัดศีรษะมันเสียในที่ฆ่าโจร;' ราชบุรุษเหล่านั้นจะพึงรับ ๆ สั่งอย่างนั้นแล้วนำโจรนั้นออกนอกเมืองไปสู่ที่ฆ่าโจร, ยังมีบุรุษข้าราชการผู้หนึ่ง อันได้รับพระราชทานพระไว้แต่ราชสำนักแล้ว ได้รับพระราชทานฐานันดรยศ เงินประจำตำแหน่งและเครื่องอุปโภค เป็นผู้มีวาจาควรเชื่อถือ มีอำนาจทำได้ตามปรารถนา, เขาจะพึงทำความกรุณาแก่โจรนั้น แล้วกล่าวกะราชบุรุษเหล่านั้นว่า 'อย่าเลยนาย, ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยการตัดศีรษะเขา, อย่ากระนั้นเลย ท่านจงตัดแต่มือหรือเท้าของเขา รักษาชีวิตไว้เถิด, เราจักไปเฝ้าทูลทัดทานด้วยเหตุโจรผู้นี้เอง' เขาจะพึงตัดแต่มือหรือเท้าของโจรและรักษาชีวิตไว้ ตามถ้อยคำของราชบุรุษผู้มีอำนาจนั้น; บุรุษผู้กระทำอย่างนี้นั้น จะพึงชื่อว่ากระทำกิจการโดยเห็นแก่โจรนั้นบ้างหรือ ขอถวายพระ."
ร. "บุรุษผู้นั้น ชื่อว่าให้ชีวิตแก่เขาน่ะซี เมื่อให้ชีวิตแก่เขาแล้ว มีกิจการอะไรเล่าได้ชื่อว่าบุรุษนั้นไม่ได้กระทำแล้วโดยเห็นแก่เขา."
ถ. "ขอถวายพระพร ด้วยทุกขเวทนาในเพราะให้ตัดมือและเท้าเขานั้น ผู้บังคับนั้นจะพึงต้องอกุศลอะไรด้วยหรือ ?"
ร. "โจรนั้นย่อมเสวยทุกขเวทนา ด้วยกรรมอันตนกระทำแล้ว, ส่วนบุรุษผู้ให้ชีวิตไม่ควรต้องอกุศลอะไรเลย."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนี้ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระเทวทัตให้บวชแล้วด้วยทรงเห็นว่า 'เมื่อพระเทวทัตบวชในศาสนาของเราแล้ว ทุกข์จักเป็นผลอันเจ้าตัวกระทำให้มีที่สุดลงได้' ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ทุกข์ของพระเทวทัตอันเจ้าตัวกระทำให้มีที่สุดลงได้แล้ว, พระเทวทัต ในเวลาเมื่อจะตาย ได้เปล่งวาจาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะตราบเท่าสิ้นชีวิต ดังนี้ว่า 'ข้าพเจ้าทั้งกระดูกทั้งชีวิตทั้งหลายนี้ ขอถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นยอดบุรุษ เป็นเทวดาเลิศล่วงเทวดา เป็นผู้ฝึกบุคคลควรฝึก ทรงพระญาณจักษุรอบคอบ มีพระลักษณะกำหนดด้วยบุญร้อยหนึ่ง พระองค์นั้น เป็นสรณะ."
ขอถวายพระพร พระเทวทัต เมื่อภัททกัปป์แบ่งแล้วเป็นหกส่วนส่วนที่ล่วงไปแล้ว ได้ทำลายสงฆ์แล้ว จักไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลประมาณห้าส่วน แล้วจักพ้นจากนรกนั้นมาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพระนามว่าอัฏฐิสสระ. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอย่างนี้ พึงชื่อว่ากระทำกิจการโดยเห็นแก่พระเทวทัตบ้างหรือ ขอถวายพระพร."
ร. "พระตถาคตเจ้าได้ชื่อว่าประทานคุณอันเป็นที่ปรารถนาของเทวตามนุษย์ทั้งปวงแก่พระเทวทัต, เพราะพระองค์ทรงกระทำพระเทวทัตให้สำเร็จความเป็นเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้, มีอะไรได้ชื่อว่าพระองค์ไม่ได้กระทำโดยเห็นแก่พระเทวทัตเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร ด้วยการที่พระเทวทัตทำลายสงฆ์ แล้วเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้น พระตถาคตเจ้าจะต้องอกุศลอะไรบ้างหรือ ?"
ร. "ไม่ต้องเลย พระเทวทัตไหม้อยู่ในนรกกัปป์เดียว เพราะกรรมอันตนเองกระทำแล้ว, พระศาสดาผู้กระทำให้ถึงที่สุดทุกข์ จะพึงต้องอกุศลอะไรหามิได้."
ถ. "ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงรับรองเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพระเทวทัตให้บวชแล้วแม้นี้ ด้วยข้อความนี้เถิด.
ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุแม้อื่นอีกยิ่งกว่านี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดให้พระเทวทัตบวชแล้ว. เหมือนหนึ่งหมอบาดแผล เมื่อจะรักษาแผลอันเกิดเพราะ ลม ดี เสมหะ แต่ละอย่างก็ดี เจือกันก็ดี ฤดูแปรก็ดี รักษาอิริยาบถไม่เสมอก็ดี เกิดเพราะพยายามแห่งผู้อื่น (มีต้องประหารเป็นต้น) ก็ดี อากูลด้วยกลิ่นเหม็น ดุจกลิ่นแห่งศพกำลังเน่า ให้ปวดดุจแผลอันต้องลูกศร เข้าไปติดอยู่ข้าใน อันน้ำเหลืองนั้นชอนไปให้เป็นโพลง เต็มไปด้วยบุพโพและโลหิต เขาย่อมพอกปากแผลด้วยยากัดอันแรงกล้าแสบร้อน เพื่อจะบ่มแผลก่อน, พอแผลน่วม เขาก็เชือดด้วยศัสตราแล้ว นาบด้วยซี่เหล็ก, พอเนื้อสุกแล้ว ก็ล้างด้วยน้ำด่างแล้วพอกยา เพื่อให้แผลงอกเนื้อ ให้คนไข้ได้ความสุขโดยลำดับ ดังนี้; จะว่าหมอนั้นคิดร้าย พอกยา เชือดด้วยศัสตรา นาบด้วยซี่เหล็ก ล้างด้วยน้ำด่าง ได้บ้างหรือ ?"
ร. "หามิได้ หมอเขามีจิตคิดเกื้อกูลหวังให้หาย จึงทำเช่นนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร หมอนั้นจะต้องอกุศลอะไร เพราะทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นแก่คนไข้ ด้วยเหตุทำการรักษาของเขาด้วยหรือ ?"
ร. "หมอเขามีจิตเกื้อกูลหวังจะให้หาย จึงทำเช่นนั้น, ไฉนจะต้องอกุศลเพราะข้อนั้นเป็นเหตุเล่า, เขากลับจะไปสวรรค์อีก."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนี้ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพระเทวทัตให้บวชแล้ว เพื่อปลดเปลื้องทุกข์ด้วยกำลังพระกรุณา ก็ฉันนั้นแล.
ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุอื่นอีกอันยิ่งกว่านี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพระเทวทัตให้บวชแล้ว. เหมือนหนึ่งบุรุษผู้ต้องหนามเข้าแล้ว, ทีนั้น บุรุษอื่นมีจิตคิดเกื้อกูลจะให้หาย จึงเอาหนามแหลมหรือปลายมีดกรีดตัดแผลโดยรอบแล้ว นำหนามนั้นออกด้วยทั้งโลหิตไหล; ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้นชื่อว่าคิดร้ายจึงนำหนามนั้นออกบ้างหรือ ?"
ร. "หามิได้ เขามีจิตคิดเกื้อกูลหวังจะให้หาย จึงนำหนามนั้นออก, ถ้าเขาไม่ช่วยนำหนามนั้นออก บางทีผู้ต้องหนามนั้นก็จะถึงความตายหรือได้ทุกข์ปางตาย."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนี้ฉันใด, พระตถาคตเจ้าโปรดพระเทวทัตให้บวชแล้ว เพื่อปลดเปลื้องทุกข์ด้วยกำลังพระกรุณา, ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้โปรดพระเทวทัตให้บวช เธอก็จักไหม้อยู่ในนรกโดยลำดับ ๆ ขุม แม้ตลอดแสนโกฏิแห่งกัปป์ ฉันนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคตเจ้าได้ชื่อว่าให้พระเทวทัตผู้ตกไปตามกระแสขึ้นสู่ที่ทวนกระแสได้แล้ว, ให้พระเทวทัตผู้เดินผิดทางขึ้นในทางได้แล้ว, ได้ประทานวัตถุเป็นที่ยึดเหนี่ยวแก่พระเทวทัตผู้ตกลงในเหวแล้ว, ให้พระเทวทัตผู้เดินในทางไม่สม่ำเสมอขึ้นสู่ทางที่สม่ำเสมอได้แล้ว. พระผู้เป็นเจ้า เหตุการณ์อันนี้ ผู้อื่นนอกจากผู้มีปัญญาเช่นท่าน ไม่อาจแสดงได้."

๔. มหาภูมิจาลนปาตุภาวปัญหา ๔

พระเจ้ามิลินท์ ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสแล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่เหล่านี้แปดอย่าง ปัจจัยเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่แปดอย่าง' ดังนี้. พระพุทธพจน์นี้ กล่าวเหตุปัจจัยหาส่วนเหลือมิได้ พระพุทธพจน์นี้ กล่าวเหตุปัจจัยไม่มีส่วนเหลือ, พระพุทธพจน์นี้ กล่าวเหตุปัจจัยโดยตรง ไม่มีปริยาย, เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่เป็นที่เก้าอันอื่นไม่มี; พระผู้เป็นเจ้า นาคเสน ถ้าเหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่ที่เก้า อันอื่นยังมีไซร้, พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสเหตุแม้นั้น, ก็เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่ที่เก้า อันอื่นย่อมไม่มี เพราะเหตุใดแล, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสเหตุนั้นแล้ว. ก็แต่ว่า เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวของแผ่นดินใหญ่ที่เก้านี้ ยังปรากฏอยู่, พระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทาน แผ่นดินใหญ่นี้ไหวแล้วเจ็ดครั้งด้วยเหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้า นาคเสน. ถ้าเหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่แปดอย่างเท่านั้น ปัจจัยเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่แปดอย่างเท่านั้นไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำอันใดที่ว่า 'เมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทาน แผ่นดินใหญ่นี้ ไหวเจ็ดครั้ง' คำแม้นั้นผิด. ถ้าเมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทาน แผ่นดินใหญ่นี้ไหวเจ็ดครั้งแล้วไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินแปดอย่างเท่านั้น ปัจจัยเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินแปดอย่างเท่านั้น'แม้คำนั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน เป็นปัญหาละเอียด ใคร ๆ แก้ยาก ทำบุคคลให้มืดมนธ์ดังบุคคลตาบอดด้วย ลึกด้วย, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้น ผู้อื่นที่มีปัญญาน้อย นอกจากบุคคลผู้มีความรู้เช่นพระผู้เป็นเจ้า ไม่อาจเพื่อจะวิสัชนาได้."
พระเถรเจ้าถวายพระพรว่า "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ได้ตรัสแล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เหตุปัจจัยทั้งหลายเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ แปดอย่าง ๆ' ดังนี้. แม้เมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทานอยู่ แผ่นในใหญ่นี้ ไหวแล้วเจ็ดครั้ง. ก็แลการที่แผ่นดินใหญ่ไหวนั้นไม่เป็นไปดินกาลทุกเมื่อ มีความเกิดขึ้นในกาลบางคราว, พ้นแล้วจากเหตุทั้งหลายแปดอย่าง, เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่นับแล้วโดยเหตุทั้งหลายแปด.
ขอถวายพระพร เมฆทั้งหลายสามอย่าง คือ: เมฆชื่อวัสสิกะหนึ่ง เมฆชื่อเหมันติกะหนึ่ง เมฆชื่อปาวุสสกะหนึ่ง เท่านั้น ท่านย่อมนับว่าเมฆ, ถ้าเมฆอื่นพ้นจากเมฆทั้งหลายที่สมมติแล้ว, เมฆนั้น ย่อมถงซึ่งความนับว่าอกาลเมฆเท่านั้น ฉันใด; สมัยเมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทานอยู่ แผ่นดินใหญ่นี้ไหวแล้วเจ็ดครั้ง ด้วยเหตุอันใดเหตุนั้น ไม่มีในกาลทุกเมื่อ มีความเกิดขึ้นในกาลบางคราว, พ้นจากเหตุทั้งหลายแปดอย่าง, เหตุนั้น ท่านจึงไม่นับโดยเหตุทั้งหลายแปดอย่าง ฉันนั้นนั่นเทียว.
ขอถวายพระพร อีกนัยหนึ่ง เหมือนแม่น้ำห้าร้อย ไหลมาแต่ภูเขาชื่อหิมวันต, แม่น้ำห้าร้อยเหล่านั้น แม่น้ำทั้งสิบเท่านั้น ท่านย่อมนับโดยอันนับว่าแม่น้ำ, แม่น้ำทั้งสิบนี้อย่างไร แม่น้ำทั้งสิบนี้ คือ แม่น้ำคงคาหนึ่ง แม่น้ำยมุนาหนึ่ง แม่น้ำอจิรวดีหนึ่ง แม่น้ำสรภูหนึ่ง แม่น้ำมหีหนึ่ง แม่น้ำสินธุหนึ่ง แม่น้ำสรัสสดีหนึ่ง แม่น้ำเวตรวดีหนึ่ง แม่น้ำวีตังสาหนึ่ง แม่น้ำจันทภาคาหนึ่ง แม่น้ำทั้งสิบเหล่านี้ ท่านนับว่าแม่น้ำแท้, แม่น้ำทั้งหลายเศษนอกนั้น ท่านไม่นับโดยอันนับในแม่น้ำ, ความนับนั้นมีอะไรเป็นเหตุ? แม่น้ำทั้งหลายเท่านั้น ไม่เป็นแดนเกิดแห่งน้ำ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงนับโดยอันนับรวมลงในแม่น้ำใหญ่ แม้ฉันใด สมัยเมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญมหาทานอยู่ แผ่นดินใหญ่นี้ไหวแล้วเจ็ดครั้ง ด้วยเหตุใด เหตุนั้น ท่านไม่นับโดยเหตุทั้งหลายแปดอย่าง ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอมาตย์ทั้งหลายของมหากษัตริย์มีอยู่ ร้อยหนึ่งบ้าง สองร้อยบ้าง, อมาตย์ทั้งหลายเหล่านั้นชนทั้งหลายหกคน ท่านย่อมนับโดยอันนับว่าอมาตย์, ชนทั้งหลายหกคนนี้ อย่างไร ชนทั้งหลายหกคนนี้ คือ เสนาบดีหนึ่ง ปุโรหิตหนึ่ง อักขทัสสะ ผู้พิพากษาหนึ่ง ภัณฑาคาริกะชาวพระคลังหนึ่ง ฉัตตคาหกะผู้เชิญพระกลดหนึ่ง ขัคคคาหกะผู้เชิญพระแสงหนึ่ง ชนหกคนเหล่านี้เท่านั้นท่านนับโดยอันนับว่าอมาตย์แท้, ข้อซึ่งนับมีอะไรเป็นเหตุเล่า ? ข้อซึ่งนับนั้น เพราะความที่ชนทั้งหกนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยคุณต่อพระมหากษัตริย์, ชนทั้งหลายเหลือนั้น ท่านมิได้นับแล้ว, ชนทั้งหลายเหล่านั้นย่อมถึงซึ่งความกล่าวรวมลงว่าอมาตย์ทั้งสิ้นนั่นเทียว ฉันใด, เมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญมหาทานอยู่ แผ่นดินใหญ่นี้ ไหวแล้วเจ็ดครั้ง ด้วยเหตุใด เหตุนั้น ไม่มีมีในกาลทุกเมื่อ มีความเกิดขึ้นในกาลบางคราว, พ้นจากเหตุทั้งหลายแปดอย่าง, เหตุนั้น ท่านจึงไม่นับโดยเหตุแปดอย่าง ฉันนั้นนั่นแหละ.
ขอถวายพระพร กรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเสวยสุขในทิฏฐธรรมเป็นเหตุยิ่งอันบุคคลกระทำแล้วในศาสนา แห่งพระพุทธเจ้าผู้ชนะมารทั้งปวงแล้ว ณ กาลนี้, อนึ่ง เกียรติศัพท์ความสรรเสริญคุณของบุคคลทั้งหลายเหล่าไร ฟุ้งทั่วไปในเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย, บรมบพิตรได้ทรงฟังบ้างหรือไม่ ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินอยู่ กรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเสวยสุขในทิฏฐธรรม เป็นเหตุยิ่งอันบุคคลกระทำแล้วในชินศาสนา ณ กาลนี้, ทั้งเกียรติศัพท์ความสรรเสริญคุณของบุคคลทั้งหลายเหล่าไรฟุ้งทั่วไปในเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย, บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นเจ็ดคนข้าพเจ้าเคยได้ยินมา."
ถ. "ใครบ้าง ใครบ้าง ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า บุคคลทั้งเจ็ด คือ นายมาลาการชื่อสุมนะหนึ่ง พราหมณ์ชื่อเอกสาฎก หนึ่ง ลูกจ้างชื่อปุณณะ หนึ่ง เทวีชื่อ มัลลิกา หนึ่ง เทวีโคปาลมารดา หนึ่ง อุบาสิกาชื่อ สุปปิยา หนึ่ง นางทาสีชื่อ ปุณณา หนึ่ง ชนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีกุศลเป็นที่ตั้งแห่งความเสวยสุขในทิฏฐธรรม, อนึ่ง เกียรติความสรรเสริญคุณของชนทั้งหลายเหล่านี้ ฟุ้งทั่วไปในเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย."
ถ. "ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายแม้อื่นอีก บรมบพิตรได้ทรงฟังหรือไม่ว่า ในกาลล่วงแล้ว ชนทั้งหลายไปสู่พิภพชื่อตรีทศทั้งสรีรกายเป็นของแห่งมนุษย์นั่นเทียว."
ร. "ข้าพเจ้าได้ยินอยู่."
ถ. "ใครบ้าง ใครบ้าง ไปสู่พิภพชื่อตรีทศทั้งสรีรกายเป็นของแห่งมนุษย์ ขอถวายพระพร."
ร. "ชนทั้งหลายสี่ คือ คนธรรพราชนามว่าคุตติลาหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สาธีนราช หนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่านิมิราชหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่ามันธาตุราชหนึ่ง เหล่านี้ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า 'ไปสู่พิภพชื่อตรีทศแล้ว ทั้งสรีรกายเป็นของแห่งมนุษย์นั้นนั่นเทียว,' พระผู้เป็นเจ้า กรรมอันบุคคลนั้นกระทำแล้ว ข้าพเจ้าได้ฟังมาแม้สิ้นกาลนมนานว่า 'เป็นกรรมดี ไม่ใช่กรรมชั่ว."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็บรมบพิตรเคยได้ทรงฟังแล้วหรือว่า 'ในกาลยืดยาวที่ล่วงแล้ว หรือในกาลซึ่งเป็นไปอยู่ ณ บัดนี้ ครั้นเมื่อทานของบุคคลผู้มีชื่ออย่างนี้ อันบุคคลนั้นให้อยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวแล้วคราวหนึ่งบ้าง สองคราวบ้าง สามคราวบ้าง."
ร. "ข้าพเจ้าไม่เคยได้ฟังเลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร นิกายเป็นที่มา และมรรคผล ปริยัตติ และการฟัง และกำลังแห่งความศึกษา และความปรารถนาจะฟัง และปริปุจฉา และความเข้าไปนั่งใกล้อาจารย์ของอาตมภาพมีอยู่, แม้อาตมภาพไม่เคยได้ฟังว่า 'ครั้นเมื่อทานของบุคีคลผู้มีชื่ออย่างนี้ อันบุคคลนั้นให้อยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวแล้ว คราวหนึ่งบ้าง สองคราวบ้าง สามคราวบ้าง' ดังนี้, ยกเว้นทานอันประเสริฐของพระเวสสันดรบรมกษัตริย์เสีย.
ขอถวายพระพร โกฏิแห่งปีทั้งหลายเป็นไปล่วงแล้วซึ่งคลองแห่งการนับ ล่วงไปแล้วในระหว่างแห่งพระพุทธเจ้าสองพระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสักยมุนีหนึ่ง. การได้ฟังของอาตมภาพในโกฏิแห่งปีทั้งหลายนั้นไม่มีว่า 'ครั้นเมื่อทานของบุคคลผู้มีชื่ออย่างนี้ อันบุคคลนั้นให้อยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวแล้ว คราวหนึ่งบ้าง สองคราวบ้าง สามคราวบ้าง.' แผ่นดินใหญ่ซึ่งจะหวั่นไหว ด้วยความเพียรประมาณเท่านั้น ด้วยความบากบั่นประมาณเท่านั้น หามิได้.
ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่เต็มแล้วด้วยภาระ คือ คุณแห่งความกระทำซึ่งความเป็นผู้สะอาดโดยอาการทั้งปวง ไม่อาจเพื่อจะทรงคุณนั้นไว้ได้ ย่อมเขยื้อนสะเทือนหวั่นไหว. อุปมาเหมือนเกวียนที่เต็มด้วยภาระหนักเกิน ดุมและกงทั้งหลายของเกวียนนั้นย่อมแยกเพลาของเกวียนนั้นย่อมแตก ฉันใด, แผ่นดินใหญ่เต็มแล้วด้วย ภาระ คือ คุณแห่งความกระทำซึ่งความเป็นผู้สะอาดโดยทั้งปวง เมื่อไม่อาจเพื่อจะทรงภาระ คือ คุณนั้นไว้ได้ ย่อมเขยื้อนสะเทือนหวั่นไหวมีอุปไมยฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร อีกนัยหนึ่ง อากาศดาดไปด้วยเรี่ยวแรงแห่งลมและน้ำ เต็มแล้วด้วยภาระ คือ น้ำหนาขึ้นแล้ว ย่อมบันลือลั่นกระทำเสียงครืนครัน เพราะความที่อากาศนั้นเป็นของอันลมกล้าถูกต้องแล้วฉันใด, แผ่นดินใหญ่เต็มไปแล้วด้วยภาระอันหนาขึ้น ไพบูลย์คือกำลังแห่งทานของพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าเวสสันดร ไม่อาจเพื่อจะทรงภาระนั้นไว้ได้ ย่อมเขยื้อนสะเทือนหวั่นไหว ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ก็จิตของพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า เวสสันดร ย่อมไม่เป็นไปด้วยอำนาจแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และวิตกย่อมไม่เป็นไปด้วยอำนาจแห่ง อรติ, จิตนั้นย่อมเป็นไปโดยอำนาจแห่งทานโดยแท้แล; จิตนั้นเป็นไปโดยอำนาจแห่งทานว่ากะไร ? พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าเวสสันดรนั้น ทรงตั้งพระหฤทัยไว้ให้เป็นเจ้าแห่งทานเนือง ๆ เป็นไปในกาลทุกเมื่อว่า 'ยาจกทั้งหลายที่ยังไม่มาแล้ว พึงมาในสำนักของเรา ส่วนยากจกทั้งหลายที่มาแล้ว พึงได้ตามความปรารถนา แล้วมีใจยินดีเต็มไปด้วยปีติ, ดังนี้ พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าเวสสันดร ทรงตั้งพระหฤทัยไว้เนือง ๆ เป็นไปในกาลทุกเมื่อในที่ทั้งหลายสิบ คือ: ในความทรมานหนึ่ง ในความระงับหนึ่ง ในความทนหนึ่ง ในความระวังหนึ่ง ในความสำรวมหนึ่ง ในความสำรวมโดยไม่เหลือหนึ่ง ในความไม่โกรธหนึ่ง ในความไม่เบียดเบียนหนึ่ง ในสัจจะหนึ่ง ในโสเจยยะความเป็นผู้สะอาดหนึ่ง. ความแสวงหากามอันพระเวสสันดรมหากษัตริย์ละแล้ว, ความแสวงหาภพของพระองค์สงบรามแล้ว, พระองค์ถึงแล้วซึ่งความขวนขวายในการแสวงหาพรหมจรรย์ถ่ายเดียว. พระองค์ละความรักษาตน ถึงแล้วซึ่งความขวนขวายเพื่อความรักษาผู้อื่น; พระองค์ถึงซึ่งความขวนขวาย เพื่อความรักษาผู้อื่น ว่ากระไร? ความขวนขวายในพระหฤทัยของพระองค์ว่า 'สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้ไม่มีโรค เป็นผู้เป็นไปด้วยทรัพย์ เป็นผู้มีอายุยืนเถิด' ดังนี้ ย่อมเป็นไปมากถ่ายเดียว. พระเวสสันดรมหากษัตริย์ ก็เมื่อทรงบริจาคทานนั้น บริจาคเพราะปรารถนาภวสมบัติก็หาไม่, จะบริจาคเพราะเหตุปรารถนาจะให้เขาให้ตนบ้าง และปรารถนาจะให้ตอบแก่เขา และปรารถนาจะเกลี้ยกล่อมเขาก็หาไม่, จะบริจาคเพราะเหตุปรารถนาอายุ พรรณ สุข กำลัง ยศ และบุตรและธิดาละอย่าง ๆ ก็หาไม่, พระองค์ได้ให้แล้วซึ่งทานน่าเลือกสรรทั้งหลายไม่มีทานอื่นเสมอ และเป็นทานไพบูลย์ ไม่มีทานอื่นยิ่งกว่าเห็นปานฉะนี้ เพราะเหตุแห่งสัพพัญญุตญาณ คือ เพราะเหตุแห่งรัตนะ คือ สัพพัญญุตญาณ. ครั้นพระองค์บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว ได้ทรงภาสิตพระคาถานี้ มีเนื้อความว่า "เราเมื่อสละบุตรชื่อชาลี และธิดา ชื่อ กัณหาชินา และเทวีชื่อ มัทรี มีความประพฤติดีในภัสดา มิได้เสียดายแล้ว, เราคิดแต่เหตุแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ถ่ายเดียว" ดังนี้. พระเวสสันดร มหากษัตริย์ทรงชนะบุคคลผู้โกรธ ด้วยความไม่โกรธ, ชนะบุคคลผู้ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ด้วยการกระทำประโยชน์ให้สำเร็จ, ชนะบุคคลผู้ตระหนี่ ด้วยทานการบริจาค, ชนะบุคคลกล่าวคำเหลาะแหละ ด้วยคำจริง, ชนะอกุศลทั้งปวง ด้วยกุศล, เมื่อพระเวสสันดร นั้นบริจาคอยู่อย่างนั้นไปตามธรรมแล้ว มีธรรมเป็นประธานด้วยนิสสันทผลแห่งทาน และความเพียรมีกำลัง และวิหารธรรมเครื่องอยู่ไพบูลย์ของพระองค์, ลมใหญ่ทั้งหลายในภายใต้แผ่นดิน ย่อมเขยื้อนกระจาย ๆ พัดไปน้อย ๆ คราวหนึ่ง ๆ น้อมลงฟูขึ้น น้อมไปต่าง ๆ, ต้นไม้ทั้งหลายมีใบสลดแล้วล้มไป, วลาหกทั้งหลายเป็นกลุ่ม ๆ แล่นไปในอากาศ, ลมทั้งหลายเจือด้วยธุลีเป็นของหยาบ, อากาศอันลมทั้งหลายเบียดเสียดแล้ว, ลมทั้งหลายย่อมพัดเป่าไป ๆ, เสียงน่ากลัวใหญ่เปล่งออก, ครั้นเมื่อลมทั้งหลายเหล่านั้นกำเริบแล้ว น้ำกระเพื่อมน้อย ๆ, ครั้นเมื่อน้ำกระเพื่อมแล้ว ปลาและเต่าทั้งหลายย่อมกำเริบ, คลื่นทั้งหลายเป็นคู่ ๆ กันเกิดขึ้น, สัตว์ทั้งหลายที่สัญจรในน้ำย่อมสะดุ้ง, ละลอกแห่งน้ำเนื่องเป็นคู่กันไป, เสียงบันลือแห่งละลอกย่อมเป็นไป, ต่อมน้ำทั้งหลายอันหยาบตั้งขึ้น, ระเบียบแห่งฟองทั้งหลายย่อมแล่นไป, มหาสมุทรย่อมขึ้น, น้ำย่อมไหลไปสู่ทิศและทิศเฉียง, ธารแห่งน้ำทั้งหลายมีหน้าเฉพาะทวนกระแสไหลไป, อสูร ครุฑ นาค ยักษ์ทั้งหลายสะดุ้งหวาดด้วยคิดว่า 'สาครพลิกหรืออย่างไรหนอแล' มีจิตกลัวแล้วแสวงหาทางไป, ครั้นเมื่อธารแห่งน้ำกำเริบขุ่นมัวแล้ว แผ่นดินทั้งภูเขาทั้งสาครหวั่นไหว, ภูเขาสิเนรุมียอดและชะง่อนเป็นวิการแห่งศิลาเป็นของน้อมไปต่าง ๆ, ครั้นเมื่อแผ่นดินใหญ่หวั่นไหวอยู่ งูและพังพอนและแมวและสุนัขจิ้งจอก สุกร มฤค และนกทั้งหลายย่อมตกใจ, เหล่ายักษ์ที่มีศักดาน้อยร้องไห้, ยักษ์ทั้งหลายที่มีศักดาใหญ่ ย่อมหัวเราะ. มีอุปมาว่า เมื่อกะทะใหญ่ตั้งอยู่บนเตาแล้ว เต็มแล้วด้วยน้ำ มีข้าวสารอันบุคคลรวบรวมลงแล้ว ไฟโพลงอยู่ข้างใต้ คราวแรกกระทำกะทะให้ร้อนก่อน, กะทะร้อนแล้วกระทำน้ำให้ร้อน, น้ำร้อนแล้วกระทำข้าวสารให้ร้อน, ข้าวสารร้อนแล้วผุดขึ้นและจมลง, มีต่อมเกิดขึ้นแล้ว, ระเบียบแห่งฟองผุดขึ้น ฉันใด; พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าเวสสันดร สิ่งใดที่บุคคลสละโดยยากในโลก ทรงสละสิ่งนั้น, ครั้นเมื่อพระองค์ทรงสละของพระองค์นั้น ลมใหญ่ทั้งหลายในภายใต้ ไม่อาจเพื่อจะทรงคุณ คือ ความสละนั้นไว้ได้ กำเริบแล้ว, ครั้นเมื่อลมใหญ่ทั้งหลายกำเริบแล้ว น้ำก็ไหว, ครั้นเมื่อน้ำไหวแล้ว แผ่นดินใหญ่ก็ไหว ฉันนั้น นั่นเทียวแล. ของสามอย่าง คือ ลมใหญ่ด้วย น้ำด้วย แผ่นดินด้วยเหล่านี้ เป็นของดุจมีใจเป็นอันเดียวกัน แม้ในกาลนั้น ด้วยประการ ฉะนี้, อานุภาพแห่งทานของบุคคลอื่นซึ่งจะเหมือนอานุภาพแห่งมหาทานของพระเวสสันดรมหากษัตริย์ โดยนิสสันทผลแห่งมหาทาน โดยความเพียรมีกำลังไพบูลย์เช่นนี้ ไม่มี.
อนึ่ง แก้วทั้งหลายมากอย่างซึ่งมีในแผ่นดิน, แก้วมากอย่างนี้อย่างไร แก้วมากอย่างนี้ คือ แก้วอินทนิล แล้วมหานิล แก้วโชติรส แก้วไพฑูรย์ แก้วดอกผักตบ แก้วสีดอกไม้ซึก แก้วมโนหร แก้วสุริยกานต แก้วจันทรกานต แก้ววิเชียร แก้วกโชปักกมกะ แก้วปุสราค แก้วทับทิม แก้วลาย, แก้วจักรวัตติ อันโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอด ก้าวล่วงเสียซึ่งแก้วทั้งปวงเหล่านี้, แก้วจักรวัตติ ยังที่ให้สว่างลงตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบ ฉันใด; ทานอันใดอันหนึ่ง แม้อสทิสทานเป็นอย่างยิ่ง มีอยู่ในแผ่นดิน, มหาทานของพระเวสสันดรมหากษัตริย์ บัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นยอดทาน ก้าวล่วงทานทั้งปวงนั้นเสีย ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ครั้นเมื่อมหาทานของพระเวสสันดรมหากษัตริย์ อันพระองค์บริจาคอยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวแล้วเจดครั้ง."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคตเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นผู้มีขันติความอดทนอย่างนี้ มีจิตอย่างนี้ มีความน้อมไปเพื่อคุณอันยิ่งอย่างนี้ มีความประสงค์อย่างนี้ ไม่มีใครเสมอทั้งโลกด้วยเหตุใด, เหตุนั้น ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายน่าอัศจรรย์ เหตุนั้น ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายน่าพิศวง ไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว. พระผู้เป็นเจ้า ความพยายามก้าวไปสู่คุณยิ่งของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าให้ข้าพเจ้าเห็นแล้ว, อนึ่ง พระบารมีของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระผู้เป็นเจ้าให้สว่างลงโดยยิ่งแล้ว, ความที่พระตถาคต แม้เมื่อประพฤติจริยาเท่านั้น ยังเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลกกับทั้งเทพดา พระผู้เป็นเจ้ามาแสดง โดยลำดับแล้ว; ดีละ พระผู้เป็นเจ้า ศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระผู้เป็นเจ้าชมแล้ว, พระบารมีของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระผู้เป็นเจ้าให้รุ่งเรืองแล้ว, ขอดแห่งวาทะของเดียรถีย์ทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าตัดเสียแล้ว, หม้อแห่งปรัปปวาทความติเตียนทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าต่อยเสียแล้ว, ปัญหาลึก พระผู้เป็นเจ้ามากระทำให้ตื้นได้แล้ว, ชัฏรกพระผู้เป็นเจ้ามากระทำไม่ให้เป็นชัฏได้แล้ว, คำเครื่องขยายออกอันพระชินบุตรทั้งหลายได้แล้วโดยชอบ, พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐกว่าคณาจารย์ที่ประเสริฐ ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับอย่างนั้น."

๕. สิวิราชจักขุทานปัญหาที่ ๕

ร. "พระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งหลายกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า 'จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานแล้วแก่ยาจก, ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วใหม่แก่พระเจ้าสิวิราชนั้น เมื่อเป็นบุคคลบอด.' คำแม้นั้นกับทั้งกากเป็นไปด้วยนิคคหะ เป็นไปกับด้วยโทษ. คำท่านกล่าวไว้แล้วในสูตรว่า 'ความเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุ ไม่มีในสิ่งที่มิใช่วัตถุมีเหตุอันถอนขึ้น มิได้มีเหตุ.' ถ้าจักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานแล้วแก่ยาจก, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วใหม่' นั้นผิด. ถ้าทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วไซร้, ถ้าอย่างนั้น แม้คำที่ว่า 'จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชพระราชทานแล้วแก่ยาจก' นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้ มีเงื่อนสอง มีขอดยิ่งแม้กว่าขอดโดยปกติ, มีความฟั่นเฝือยิ่งแม้กว่าฟั่นเฝือโดยปกติ, เป็นชัฏยิ่งแม้ว่าชัฏโดยปกติ, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าจงยังฉันทะให้เกิดยิ่งในปัญหานั้น เพื่อความขยาย เพื่อความข่มปรัปปวาททั้งหลายเสีย."
ถ. "ขอถวายพระพร จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชพระราชทานแล้วแก่ยาจก, พระองค์อย่ายังความสงสัยให้เกิดขึ้นในข้อนั้นเลย; อนึ่ง จักษุทั้งหลายเป็นทิพย์เกิดขึ้นแล้วใหม่, พระองค์อย่ายังความสงสัยให้เกิดในข้อแม้นั้น."
ร. "เออก็ ความเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุ ในสิ่งที่มีเหตุอันถอนขึ้นแล้ว ในสิ่งที่ไม่มีเหตุ ไม่มีวัตถุหรือ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "หามิได้ ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า สิ่งไรเป็นเหตุในเรื่องนี้เล่า ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นในสิ่งมีเหตุอันถอนขึ้นแล้ว ไม่มีเหตุ ไม่มีวัตถุ ด้วยเหตุไรเล่า ? พระผู้เป็นเจ้าจงให้ข้าพเจ้าทราบชัดในเรื่องนี้โดยเหตุก่อน."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้กล่าวคำจริงทั้งหลาย ย่อมกระทำสัจจกิริยาด้วยคำสัตย์ใด คำสัตย์นั้นมีอยู่ในโลกหรือไม่ ขอถวายพระพร."
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาคำสัตย์ย่อมมีในโลก, ผู้กล่าวคำสัตย์ทั้งหลาย ทำสัจจกิริยาด้วยคำสัตย์ให้ฝนตก ให้ไฟดับ กำจัดยาพิษ ย่อมกระทำกิจที่จะพึงกระทำต่าง ๆ แม้อย่างอื่นบ้าง."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วแด่พระเจ้าสิวิราชด้วยกำลังสัจจะ' นี้ ย่อมชอบ ย่อมสม, ทิพยจักษุย่อมเกิดขึ้นในสิ่งไม่มีวัตถุนั้น ด้วยกำลังแห่งสัจจะ, สัจจะนั่นเทียว เป็นวัตถุเพื่อความเกิดทิพยจักษุ ในสิ่งที่ไม่มีวัตถุนั้น.
ขอถวายพระพร ผู้สำเร็จสัจจเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พร่ำขับคำสัตว์ว่า 'เมฆใหญ่จงให้ฝนตก' ดังนี้, เมฆใหญ่ให้ฝนตกพร้อมด้วยความพร่ำขับคำสัตย์ของผู้สำเร็จสัจจะเหล่านั้น; เออก็ มหาเมฆให้ฝนตกด้วยเหตุใด เหตุนั้น เป็นเหตุแห่งฝนสะสมอยู่แล้ว มีในอากาศหรือ ขอถวายพระพร."
ร. "หามิได้ สัจจะนั่นเทียวเป็นเหตุ ณ อากาศนั้น เพื่อความที่มหาเมฆจะกระทำฝนให้ตก พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, เหตุโดยปกติของความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นนั้นไม่มี, สัจจะนั่นเทียว เป็นวัตถุเพื่อความที่ทิพยจักษุเกิดขึ้นในสิ่งที่ไม่มีวัตถุ ก็ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง ผู้สำเร็จสัจจะพวกใดพวกหนึ่งพร่ำขับคำสัตย์ด้วยตั้งใจว่า 'กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลอยู่แล้ว จงกลับคืนดับไป' ดังนี้, กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้ว กลับคืนดับไปโดยขณะหนึ่ง พร้อมด้วยความพร่ำขับคำสัตย์ของผู้สำเร็จสัจจะเหล่านั้น, เออก็ กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้วกลับคืนดับไปโดยขณะหนึ่งโดยเหตุใด เหตุนั้น เป็นเหตุสะสมอยู่ในกองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้วนั้น มีอยู่หรือ ขอถวายพระ."
ร. "หามิได้ สัจจะนั่นเทียว เป็นวัตถุในสิ่งที่ไม่มีวัตถุ เพื่อความที่กองไฟใหญ่โพลงชัชวาลแล้วนั้นจะกลับคืนดับไป."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, เหตุโดยปกติของความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นนั้นไม่มี, สัจจะนั่นเที่ยวเป็นวัตถุในที่ไม่มีวัตถุ เพื่อความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้น ฉันนั้นนั่นเที่ยวแล.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง ผู้สำเร็จสัจจะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พร่ำขับคำสัตย์ด้วยตั้งใจว่า 'พิษแรงกล้า จงกลายเป็นยาไป,' พิษแรงกล้ากลายเป็นยาไปโดยขณะหนึ่ง พร้อมด้วยความพร่ำขับคำสัตย์ของผู้สำเร็จสัจจะเหล่านั้น, เออก็ พิษอันแรงกล้ากลายเป็นยาไปโดยขณะหนึ่งด้วยเหตุอันใด เหตุนั้น เป็นเหตุสะสมในพิษอันแรงกล้านั้นมีอยู่หรือ ขอถวายพระพร."
ร. "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า สัจจะนั่นเทียว เป็นเหตุในสิ่งที่ไม่มีเหตุนั้น เพื่อความกำจัดคืนพิษแรงกล้าโดยขณะ."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนี้ฉันใดล สัจจะนั่นเทียว เว้นเหตุโดยปกติ เป็นวัตถุในข้อนี้ เพื่อความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้น ฉันนั้นโดยแท้.
ขอถวายพระพร วัตถุอื่นเพื่อความแทงตลอดอริยสัจจะทั้งหลาย แม้สี่ไม่มี, การกบุคคลทั้งหลาย กระทำสัจจะให้เป็นวัตถุ แทงตลอดตรัสรู้อริยสัจจะทั้งหลายสี่ประการ.
ขอถวายพระพร มีพระเจ้าจีนราชอยู่ในจีนวิสัย พระองค์ใครจะทรงกระทำพลีกรรมในทะเลใหญ่ ทรงกระทำสัจจะกิริยาแล้วเสด็จเข้าไปในภายในมหาสมุทรโยชน์หนึ่ง โดยรถเทียมแล้วด้วยราชสีห์สี่เดือนเสด็จครั้งหนึ่ง ๆ, ห้วงแห่งน้ำใหญ่ข้างหน้าแห่งศีรษะรถของพระเจ้าจีนราชนั้นเท้อกลับ, เมื่อพระองค์เสด็จออกแล้ว ห้วงแห่งมหาวารีท่วมเต็มที่ดังเก่า, เออก็ มหาสมุทรนั้น อันโลกแม้กับทั้งเทพดาและมนุษย์อาจให้เท้อกลับได้หรือ ขอถวายพระ."
ร. "น้ำในสระน้อย ๆ อันโลกแม้ทั้งเทพดาและมนุษย์ไม่อาจเพื่อจะให้เท้อกลับได้ ด้วยกำลังแห่งกายปกติเลย, จะป่วยกล่าวอะไรถึงความกระทำน้ำในมหาสมุทรให้เท้อกลับเล่า พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร เพราะเหตุแม้นี้ พระองค์พึงทรงทราบกำลังของสัจจะ, สถานใด ที่ใคร ๆ จะพึงถึงด้วยสัจจะไม่ได้ สถานนั้นย่อมไม่มี ขอถวายพระพร.
อนึ่ง พระเจ้าอโศกราชในเมืองปาฏลิบุตร อันชาวนิคมและชาวชนบท และอมาตย์น้อยและราชภัฏหมู่พลและมหาอมาตย์ทั้งหลาย แวดล้อมเป็นราชบริวาร ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำคงคาสมบูรณ์ด้วยน้ำใหม่เต็มเสมอขอบ เต็มเปี่ยมไหลไปอยู่ จึงตรัสกะอมาตย์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า 'พนาย ผู้ใดใคร ๆ ซึ่งสามารถจะยังคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสได้ มีหรือไม่.'
อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม ข้อซึ่งจะกระทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสนั้น ยากที่ใคร ๆ จะกระทำได้.
นางคณิกาชื่อว่าพินทุมดี ยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั้นนั่นเที่ยว ได้ฟังแล้วว่า 'ได้ยินว่า พระมหากษัตริย์ตรัสแล้วอย่างนี้ว่า 'ใคร ๆ อาจเพื่อจะยังแม่น้ำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสได้หรือไม่.' นางพินทุมดีนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า 'ข้าพเจ้านั่นเทียว เป็นนางคณิกา อาศัยซึ่งรูปเป็นอยู่ มีการเลี้ยงชีพด้วยกรรมอันเลว ในเมืองปาฏลิบุตรนี้, พระมหากษัตริย์จงทอดพระเนตรสัจจกิริยาของข้าพเจ้าก่อน.' พระมหากษัตริย์จงทอดพระเนตรสัจจกิริยาของข้าพเจ้าก่อน.' ลำดับนั้น นางพินทุมดีนั้นได้กระทำสัจจกิริยาแล้ว. เมื่อประชุมแห่งชนหมู่ใหญ่เห็นอยู่ คงคาใหญ่นั้นป่วนไหลกลับทวนกระแสโดยขณะพร้อมด้วยสัจจกิริยาของนางพินทุมดีนั้น.
ลำดับนั้น พระเจ้าอโศกราชได้ทรงฟังเสียงพิลึกกึกก้อง อันกำลังแห่งคลื่นในวังวนให้เกิดแล้วในคงคาใหญ่ จึงมีความพิศวง เกิดอัศจรรย์ขึ้นในพระหฤทัย ตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า 'พนาย คงคาใหญ่นี้ไหลทวนกระแสได้เพราะเหตุไร?'
อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม นางคณิกาชื่อ พินทุมดี ได้ฟังพระราชโองการของพระองค์แล้ว ได้กระทำสัจจกิริยา, คงคาใหญ่ไหลขึ้นไปในเบื้องบน ด้วยสัจจกิริยาของนางพินทุมดีนั้น.'
ลำดับนั้น พระเจ้าอโศกราชสลดพระหฤทัย รีบเสด็จไปเอง แล้วจึงตรัสถามนางคณิกานั้นว่า 'นางสาวใช้ ได้ยินว่า แม่น้ำคงคานี้เจ้าให้ไหลทวนกระแสแล้วด้วยสัจจกิริยาของเจ้า จริงหรือ?
นางพินทุมดีทูลว่า 'พระพุทธเจ้าข้า คงคาใหญ่นี้ไหลทวนกระแสด้วยสัจจกิริยาของหม่อมฉัน'
พระเจ้าอโศกราชตรัสถามว่า 'อะไรเป็นกำลังของเจ้าในสัจจกิริยานั้น, หรือใครที่ไม่ใช่บ้าจะเชื่อถือคำของเจ้า, เจ้ากระทำแม่น้ำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแสด้วยกำลังอะไร?'
นางพินทุมดีทูลว่า 'หม่อมฉันกระทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแสแล้วด้วยกำลังแห่งสัจจะ พระพุทธเจ้าข้า.'
พระเจ้าอโศกราชตรัสว่า 'กำลังแห่งสัจจะอะไร จะมีแก่เจ้าผู้เป็นโจร เป็นหญิงนักเลง ไม่มีสติ มีหิริอันขาดแล้ว เป็นหญิงลามกทำลายแดนเสียแล้ว ล่วงเกินปล้นชนตาบอด.'
นางพินทุมดีกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม หม่อมฉันเป็นหญิงเช่นนั้นจริง, หม่อมฉันจะปรารถนา พึงเปลี่ยนโลกแม้กับทั้งเทพดา ด้วยสัจจกิริยาอันใด, สัจจกิริยานั้นของหม่อมฉันแม้เช่นนั้นมีอยู่.'
พระเจ้าอโศกราชตรัสถามว่า 'สัจจกิริยานั้นเป็นอย่างไรเล่า ? เชิญเจ้าเล่าให้เราฟัง.'
นางพินทุมดีทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม บุรุษใด เป็นกษัตริย์ หรือเป็นพราหมณ์ หรือเป็นเวศย์ หรือเป็นศูทร หรือเป็นบุรุษอื่นใคร ๆ ให้ทรัพย์แก่หม่อมฉัน หม่อมฉันบำรุงบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นเสมอกันเป็นอย่างเดียว, ความแปลกว่า กษัตริย์ไม่มี ความดูหมิ่นว่าศูทรไม่มี, หม่อมฉันพ้นจากความเอ็นดูและปฏิฆะ บำเรอบุรุษผู้เป็นเจ้าของแห่งทรัพย์, หม่อมฉันทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแส แล้วด้วยสัจจกิริยาใด, สัจจกิริยานี้เป็นสัจจะของหม่อมฉัน' ดังนี้.
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในสัจจะแล้ว ซึ่งจะไม่ได้ประโยชน์หน่อยหนึ่ง หามิได้ ด้วยประการฉะนี้. พระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานจักษุทั้งหลายแก่ยาจกด้วย ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นด้วย, ก็แหละ ความที่ทิพยจักษุเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะสัจจกิริยา. ก็คำอันใดที่ท่านกล่าวไว้ในพระสูตรว่า 'ครั้นเมื่อมังสจักษุฉิบหายแล้ว ความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นในสถานไม่มีเหตุ ไม่มีวัตถุ' ดังนี้ คำนั้นท่านหมายเอาจักษุสำเร็จแล้วด้วยภาวนากล่าวแล้ว ขอถวายพระพร. บรมบพิตรจงทรงจำไว้ซึ่งความข้อนี้ ด้วยประการอย่างนี้" ดังนี้.
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้า ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าแก้ดีแล้ว, นิคคหธรรมพระผู้เป็นเจ้าแสดงออกดีแล้ว, ปรับปวาททั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าย่ำยีแล้ว, ข้อวิสชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านี้ สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ารับรองอย่างนั้น."
ตอบกระทู้