๖ คัพภาวัคกันติปัญหา ๖
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสแล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลาย ความหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมี ก็เพราะความที่ปัจจัยทั้งสามประชุมพร้อมกันแล : ในโลกนี้ มารดาบิดาเป็นผู้ประชุมกันแล้วด้วย มารดาเป็นหญิงมีระดูด้วย คนธรรพ์เป็นสัตว์เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าด้วย; ภิกษุทั้งหลาย ความหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมี เพราะความที่ปัจจัยทั้งสามเหล่านี้ประชุมพร้อมกันแล.' พุทธพจน์นี้ตรัสปัจจัยหาส่วนเหลือมิได้ ฯลฯ ตรัสปัจจัยไม่มีส่วนเหลือ ฯลฯ ตรัสปัจจัยไม่มีส่วนเหลือ ฯลฯ ตรัสปัจจัยไม่มีปริยาย พระพุทธพจน์นี้ตรัสปัจจัยไม่มีข้อลี้ลับ พระพุทธพจน์นี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จนั่ง ณ ท่ามกลางแห่งบริษัทกับทั้งเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตรัสแล้ว. ก็แต่ว่า ความหยั่งลงสู่ครรภ์เพราะความที่ปัจจัยทั้งสองประชุมพร้อมกัน ยังปรากฏอยู่ว่า 'พระดาบสชื่อ ทุกุละลูบคลำนาภีแห่งนางตาปสีชื่อ ปาริกา ด้วยนิ้วแม่มือเบื้องขวา ในกาลแห่งนางตาปสีเป็นหญิงมีระดู, กุมารขื่อ สามะ เกิดแล้ว เพราะความที่พระดาบสนั้นลูบคลำนาภีนั้น. แม้พระฤษีชื่อ มาตังคะ ลูบคลำนาภีแห่งนางพราหมณีกันยาด้วยนิ้วแม่มือเบื้องขวา ในกาลที่นางเป็นหญิงมีระดู, มาณพ ชื่อ มัณฑัพยะ เกิดขึ้น เพราะความที่ฤษีชื่อ มาตังคะ นั้นลูบคลำนาภีนั้น.' พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลายความหยั่งลงสู่ครรภ์ ย่อมมีก็เพราะความที่ปัจจัยทั้งสามประชุมพร้อมกันโดยแท้' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'สามกุมารด้วยมัณฑัพยมาณพด้วย แม้ทั้งสองอย่างนั้น เกิดแล้วเพราะความลูบคลำนาภี' ดังนี้นั้น ผิด. ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'สามกุมารด้วยมัณฑัพยมาณพด้วย เกิดแล้วเพราะความลูบคลำนาภี.' ถ้าอย่างนั้นแม้คำที่ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย ความหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมี ก็เพราะความที่ปัจจัยทั้งสามประชุมพร้อมกันโดยแท้' ดังนี้ นั้นผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน ลึกด้วยดี ละเอียดด้วยดี เป็นวิสัยของบุคคลผู้มีปัญญาเครื่องรู้ทั้งหลาย, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าจงตัดทางแห่งความสงสัย จงชูประทีปอันโพลงทั่วแล้วคือญาณอันประเสริฐ." ถ. "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลาย ความหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมีก็เพราะความที่ปัจจัยทั้งสามประชุมพร้อมกันแล : ในโลกนี้ มารดาและบิดาเป็นผู้ประชุมกันแล้วด้วย มารดาเป็นหญิงมีระดูด้วย คนธรรพ์เป็นสัตว์เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าด้วย, ความหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมีเพราะความที่ปัจจัยทั้งสามประชุมกันอย่างนั้น.' อนึ่ง พระตถาคตเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'สามะกุมารด้วย มัณฑัพยมาณพด้วย เกิดแล้วเพราะความลูบคลำนาภี." ร. "ถ้าอย่างนั้น ปัญหาจะเป็นของอันพระผู้เป็นเจ้าตัดสินด้วยดีแล้ว ด้วยเหตุใด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงยังข้าพเจ้าให้หมายรู้ด้วยเหตุอันนั้น." ถ. "ขอถวายพระพร ก็บรมบพิตรได้เคยทรงสดับหรือว่า 'กุมารชื่อ สังกิจจะ ด้วย ดาบสชื่อ อิสิสิงคะ ด้วย พระเถระชื่อ กุมารกัสสป ด้วย เหล่านั้น เกิดแล้วด้วยเหตุชื่อนี้." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินอยู่, ความเกิดของชนเหล่านั้นเลื่องลือไปว่า แม่เนื้อสองตัวมาสู่ที่ถ่ายปัสสาวะของดาบสสองรูปแล้ว จึงดื่มปัสสาวะกับทั้งสัมภวะในกาลแห่งแม่เนื้อนั้นมีระดู, สังกิจจกุมารด้วย อิสิสิงคดาบสด้วย เกิดแล้วด้วยสัมภวะเจือด้วยปัสสาวะนั้นก่อน เมื่อพระเถระชื่อ อุทายี เข้าไปสู่สำนักของนางภิกษุณี มีจิตกำหนัดแล้วเพ่งดูองค์กำเนิดของนางภิกษุณีอยู่ สัมภวะเคลื่อนแล้วในผ้ากาสาวะ; ครั้งนั้นแล พระอุทายีผู้มีอายุกล่าวคำนี้กะนางภิกษุณีนั้นว่า "น้องหญิงท่านจงไปนำน้ำมา เราจักซักผ้าอันตรวาสก." นางภิกษุณีกล่าวว่า "อะไรพระผู้เป็นเจ้า ดิฉันจะซักเอง." ลำดับนั้น นางภิกษุณีนั้น ได้ถือเอาสัมภวะนั้นส่วนหนึ่งด้วยปาก, ให้สัมภวะส่วนหนึ่งเข้าไปในองค์กำเนิดของตน, พระเถระชื่อ กุมารกัสสปเกิดแล้วด้วยเหตุนั้น ชนกล่าวเหตุนั้นแล้วอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้." ถ. "ขอถวายพระพร เออก็ บรมบพิตรทรงเชื่อคำนั้นหรือไม่ ?" ร. "พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าย่อมเชื่อว่า 'ชนเหล่านั้นเกิดแล้ว ด้วยเหตุนี้' ดังนี้ ด้วยเหตุใด, ข้าพเจ้าได้เหตุมีกำลังนั้นในข้อนั้น." ถ. "อะไรเป็นเหตุในข้อนี้เล่า ขอถวายพระพร?" ร. "พืชตกลงแล้ว ในเทือกอันบุคคลกระทำให้มีบริกรรมดีแล้ว ย่อมงอกงามเร็วพลันหรือไม่ พระผู้เป็นเจ้า?" ถ. "ขอถวายพระพร พืชนั้นย่อมงอกงามเร็วพลัน." ร. "นางภิกษุณีนั้นเป็นหญิงมีระดู ครั้นเมื่อกลละตั้งแล้ว เมื่อระดูขาดสายแล้ว เมื่อธาตุตั้งแล้ว ถือเอาสัมภวะนั้นเติมเข้าในกลละนั้นแล้ว, ครรภ์ของนางภิกษุณีนั้นตั้งแล้วด้วยเหตุนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล; ข้าพเจ้าเชื่อเหตุเพื่อความเกิดของชนเหล่านั้น ในข้อนั้น อย่างนี้." ถ. "ขอถวายพระพร ข้อซึ่งบรมบพิตรตรัสนั้น สมดังตรัสแล้วอย่างนั้น อาตมภาพรับรองอย่างนั้นว่า 'ครรภ์ย่อมเกิดพร้อมด้วยอันยังสัมภวะให้เข้าไปในปัสสาวะมรรค.' บรมบพิตรทรงรับรองความหยั่งลงสู่ครรภ์ของพระกุมารกัสสปหรือเล่า ขอถวายพระ." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเชื่ออย่างนั้น." ถ. "ขอถวายพระพร ดีละ บรมบพิตรทรงกลับมาสู่วิสัยของอาตมภาพแล้ว, บรมบพิตรตรัสความหยั่งลงสู่ครรภ์ จักเป็นกำลังของอาตภาพแม้โดยส่วนอันหนึ่ง; ก็อีกอย่างหนึ่ง แม่เนื้อทั้งสองนั้นดื่มปัสสาวะแล้วจึงมีครรภ์แล้ว บรมบพิตรทรงเชื่อความหยั่งลงสู่ครรภ์ของแม่เนื้อเหล่านั้นหรือ ?" ร. เชื่อสิ สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันบุคคลบริโภคแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว สิ่งทั้งปวงนั้นย่อมประชุมลงสู่กลละ ถึงที่แล้ว ย่อมถึงความเจริญ, เหมือนแม่น้ำเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม่น้ำทั้งปวงเหล่านั้นย่อมประชุมลงสู่มหาสมุทร, ถึงที่แล้ว ย่อมถึงความเจริญ ฉันใด, สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคลบริโภคและดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้ว สิ่งทั้งปวงนั้นย่อมประชุมลงสู่กลละ, ถึงที่แล้ว ย่อมถึงความเจริญ ฉันนั้นนั่นแล. เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่า 'ความหยั่งลงสู่ครรภ์ แม้ด้วยสัมภวะเข้าไปแล้วทางปาก." ถ. "ขอถวายพระพร ดีละ บรมบพิตรยิ่งเข้าไปสู่วิสัยของอาตมภาพหนักเข้า, สันนิบาตของชนทั้งสองย่อมมี แม้ด้วยอันดื่มด้วยปาก, บรมบพิตรทรงเชื่อความหยั่งลงสู่ครรภ์ของ สังกิจจกุมาร และอิสิสิงคดาบส และพระเถระชื่อ กุมารกัสสป หรือ ?" ร. "ข้าพเจ้าเชื่อ สันนิบาตย่อมประชุมลง." ถ. "ขอถวายพระพร แม้สามกุมาร แม้มัณฑัพยมาณพ ก็เป็นผู้หยั่งลงในภายในสันนิบาตทั้งสามนั้น มีรสเป็นอันเดียวกัน โดยนัยมีในก่อนทีเดียว; อาตมภาพจักกล่าวเหตุในข้อนั้นถวาย. ทุกุลดาบสและนางปาริกาตาปสี แม้ทั้งสองนั้นเป็นผู้อยู่ในป่า น้อมไปเฉพาะในวิเวก แสวงหาประโยชน์อันสูงสุด, ทำโลกเท่าถึงพรหมโลกให้เร่าร้อนด้วยเดชแห่งตปธรรม. ในกาลนั้น ท้าวสักกะผู้เป็นจอมของเทพดาทั้งหลาย ย่อมมาสู่ที่บำรุงของทุกุลดาบสและนางปาริกาตาปสีเหล่านั้นทั้งเช้าทั้งเย็น. เป็นผู้มีเมตตามาก ได้เห็ฯความเสื่อมแห่งจักษุทั้งหลายของชนทั้งสองแม้เหล่านั้นในอนาคต, ครั้นเห็น จึงกล่าวกะชนทั้งสองนั้นว่า "ผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงกระทำตามคำอันหนึ่งของข้าพเจ้า, ขอให้สำเร็จประโยชน์เถิด, ท่านทั้งหลายพึงยังบุตรคนหนึ่งให้เกิด, บุตรนั้นจักเป็นผู้บำรุงและเป็นที่ยึดหน่วงของท่านทั้งหลาย." ชนทั้งหลายนั้นห้ามเสียว่า "อย่าเลยท้าวโกสีย์, ท่านอย่าได้ว่าอย่างนี้เลย" ดังนี้ ไม่รับคำของท้าวสักกะนั้น. ท้าวเธอเป็นผู้เอ็นดูผู้ใคร่ประโยชน์ กล่าวอย่างนั้นกะชนทั้งสองนั้นอีกสองครั้งสามครั้ง.แม้ในครั้งที่สาม ชนทั้งสองนั้นกล่าวว่า "อย่าเลยท้ายโกสีย์, ท่านอย่ายังเราทั้งหลายให้ประกอบในความฉิบหายไม่เป็นประโยชน์เลย, เมื่อไรกายนี้ จักไม่สลาย กายนี้มีความสลายเป็นธรรมดา จงสลายไปเถิด, แม้เมื่อธรณีจะแตก แม้เมื่อยอดเขาจะตก แม้เมื่ออากาศจะแยก แม้เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์จะตกลงมา เราทั้ง หลายจักไม่เจือด้วยโลกธรรมทั้งหลายเลยทีเดียว, ท่านอย่ามาพบปะกับเราอีกเลย, เมื่อท่านมาพบปะกันเข้า ความพบปะกันนั้นก็จะเป็นความคุ้นเคย; ชะรอยท่านจะเป็นผู้ประพฤติความฉิบหายไม่เป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลาย." ลำดับนั้น ท้าวสักกะเมื่อไม่ได้ความนับถือแต่ชนทั้งสองนั้น ถึงความเป็นผู้หนักใจ ประคองอัญชลีวิงวอนอีกว่า "ถ้าท่านทั้งหลายไม่อาจกระทำตามคำขอของข้าพเจ้าไซร้, เมื่อใด นางตาปสีมีระดู มีต่อมเลือด เมื่อนั้น ท่านพึงลูกคลำนาภีของนางตาปสีนั้น ด้วยนิ้วแม่มือเบื้องขวา, นางตาปสีนั้นจักได้ครรภ์ด้วยความลูบคลำนาภีนั้น, ความลูบคลำนาภีนั้นเป็นสันนิบาตของความหยั่งลงสู่ครรภ์." ชนทั้งสองนั้นรับว่า "ดูกรท้าวโกสีย์ เราอาจเพื่อจะกระทำตามคำนั้นได้, ตปธรรมของเราทั้งหลายย่อมไม่แตกด้วยความลูบคลำนาภีเท่านั้น ช่างเถิด" ดังนี้. ก็แหละ ในเวลานั้น เทพบุตรผู้มีกุศาลมูลอันแรงกล้าสิ้นอายุแล้ว มีอยู่ในพิภพของเทพดา, เทพบุตรนั้นถึงความสิ้นอายุแล้ว อาจเพื่อจะหยั่งลงตามความปรารถนา, และอาจเพื่อจะหยั่งลงแม้ในตระกูลของพระเจ้าจักรพรรดิ. ครั้งนั้น ท้าวสักกะไปหาเทพบุตรนั้นวิงวอนว่า "แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านมาเถิด, วันของท่านสว่างชัดแล้ว, ความสำเร็จประโยชน์มาถึงแล้ว เรามาสู่ที่บำรุงของท่าน เพื่อประโยชน์อะไรเล่า, การอยู่ในโอกาสน่ารื่นรมย์ จักมีแก่ท่าน, ปฏิสนธิในตระกูลสมควร จักมีแก่ท่าน ท่านจักเป็นผู้อันมารดาและบิดาทั้งหลายที่ดี พึงให้เจริญ, ท่านจงมา ท่านจงกระทำตามคำของเรา." ท้าวสักกะวิงวอนแล้ว ดังนี้ ประคองอัญชลีเหนือเศียร วิงวอนถึงสองครั้งสามครั้งแล้ว. ลำดับนั้น เทพบุตรนั้นตอบว่า "แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านสรรเสริญความไปสู่ตระกูลใดบ่อย ๆ ตระกูลนั้นคือตระกูลไหน." ท้ายสักกะกล่าวว่า "ตระกูลนั้น คือ ทุกุลดาบสและนางปาริกาตาปสี." เทพบุตรนั้น ฟังคำของท้าวสักกะนั้นแล้ว ยินดีรับว่า "แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ความพอใจใดของท่าน ความพอใจนั้นจงสำเร็จประโยชน์เถิด; เราพึงจำนงเกิดในตระกูลที่ท่านปรารถนาแล้ว, เราจะเกิดในตระกูลไหน คือเป็นอัณฑชะเกิดในฟองฝักหรือ หรือเป็นชลาพุชะเกิดในครรภ์มารดา หรือเป็นสังเสทชะเกิดในเถ้าไคล หรือเป็นโอปปาติกะเกิดผลุดขึ้นเล่า." ท้าวสักกะกล่าวว่า "แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านจงเกิดในกำเนิดเป็นชลาพุชะ." ลำดับนั้น ท้าวสักกะกำหนดวันเกิดแล้ว จึงบอกแก่ ทุกลดาบสว่า "นางตาปสีจักมีระดู มีต่อมเลือด ในวันชื่อโน้น, ท่านผู้เจริญ ท่านพึงลูบคลำนาภีของนางตาปสีด้วยนิ้นแม่มือเบื้องขวา ในกาลนั้น." นางตาปสีเป็นหญิงมีระดู มีต่อมเลือดด้วย เทพบุตรผู้จะเข้าไปในที่นั้น ได้ไปปรากฏเฉพาะหน้าแล้วด้วย ดาบสลูบคลำนาภีของนางตาปสีด้วยนิ้วแม่มือเบื้องขวาด้วย ในวันนั้น ประชุมนั้นได้เป็นสันนิบาตสามอย่างด้วยประการฉะนี้. ความกำหนัดของนางตาปสีเกิดขึ้นแล้วด้วยความลูบคลำนาภี; ก็แลความกำหนัดของนางตาปสีนั้นอาศัยความลูบคลำนาภีเกิดขึ้นแล้ว, บรมบพิตรอย่าสำคัญว่าอัธยาจารอย่างเดียวเป็นสันนิบาต, แม้ความเข้าไปเพ่งก็ชื่อว่าสันนิบาต, สันนิบาตความประชุมพร้อมย่อมเกิดด้วยความจับต้อง เพื่อความเกิดราคะโดยความเป็นบุรพภาค, ความหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมีเพราะสันนิบาต, เพราะฉะนั้น ความหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมีแม้ในที่ไม่มีอัธยาจาร ด้วยการลูบคลำ เหมือนไฟที่โพลงอยู่ ถึงใคร ๆ จะไม่ลูบคลำ ก็กำจัดความหนาวของบุคคลผู้เข้าไปใกล้แล้วได้ฉันใด, ความหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมีในที่แม้ไม่มีอัธยาจาร เพราะความลูบคลำ ฉันนั้นโดยแท้. ขอถวายพระพร ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยอำนาจแห่งเหตุสี่ประการ คือ กรรมหนึ่ง กำเนิดหนึ่ง ตระกูลหนึ่ง ความอ้อนวอนหนึ่ง; เออก็สัตว์ทั้งหลายแม้ทั้งปวง ล้วนมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นสมุฏฐานด้วยกันทั้งสิ้น. ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยอำนาจแห่งกรรมอย่างไร? สัตว์ทั้งหลายที่มีกุศลมูลแก่กล้า ย่อมเกิดได้ตามความปรารถนา, ปรารถนาจะเกิดในตระกูลกษัตริยมหาศาล หรือในตระกูลพราหมณมหาศาล คฤหบดีมหาศาลก็ดี หรือในเทพดาทั้งหลายปรารถนาจะเกิดในกำเนิดเป้นอัณฑชะ ชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะละอย่าง ๆ ก็ดี ย่อมเกิดได้ตามความปรารถนา. เหมือนบุรุษมั่งคั่ง มีทรัพย์โภคะเงินและทองมาก มีวัตถเครื่องทำความอุดหนุนแก่ทรัพย์เครื่องปลื้มมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีฝ่ายญาติมาก จะให้ทรัพย์สองเท่าแม้สามเท่า ช่วยทาสีและทาส หรือซื้อนาและสวน หรือบ้านนิคมชนบท ละอย่าง ๆ ก็ดี สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนปรารถนายิ่งแล้วด้วยใจ ได้ตามปรารถนา ฉันใด, สัตว์ทั้งหลายที่มีกุศลมูลแรงกล้าปรารถนาจะเกิดในตระกูลกษัตริยมหาศาล พราหมณมหาศาล คฤหบดีมหาศาลก็ดี หรือปรารถนาจะเกิดในเทพดาทั้งหลาย หรือปรารถนาจะเกิดในกำเนิดเป็นอัณฑชะ ชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ ละอย่าง ๆ ก็ดี ย่อมเกิดได้ตามความปรารถนา ฉันนั้น. ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกรรมอย่างนี้. ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกำเนิดอย่างไร? ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของไก่ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยลม, ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของนกยางทั้งหลาย ย่อมมีด้วยเสียงเมฆ, เทพดาทั้งหลายแม้ทั้งปวง ไม่ใช่สัตว์นอนในครรภ์นั่นเทียว, ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของเทพดาทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปโดยเพศต่าง ๆ ดังมนุษย์ทั้งหลายเที่ยวไปในแผ่นดินโดยเพศต่าง ๆ, มนุษย์ทั้งหลายพวกหนึ่งปิดข้างหน้า พวกหนึ่งปิดข้างหลัง พวกหนึ่งเปลือยกาย พวกหนึ่งศีรษะโล้น พวกหนึ่งนุ่งผ้าขาว พวกหนึ่งเกล้าผมมวย พวกหนึ่งศีรษะ โล้นนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด พวกหนึ่งนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดเกล้าผมมวย พวกหนึ่งมีชฎาทรงกาบไม้กรอง พวกหนึ่งนุ่งหนัง พวกหนึ่งนุ่งเชือก, มนุษย์ทั้งหลายแม้ทั้งปวง เที่ยวอยู่ในแผ่นดินโดยเพศต่าง ๆ ฉันใด; เทพดาเหล่านั้นเป็นสัตว์เหมือนกัน, ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของเทพดาเหล่านั้น ย่อมเป็นไปโดยเพศต่าง ๆ ฉันนั้น. ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปโดยอำนาจแห่งกำเนิด ด้วยประการฉะนี้. ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งตระกูลอย่างไร? ชื่อตระกูลมีสี่ตระกูล คือ เป็น อัณฑชะ ชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ; ในตระกูลทั้งสี่นั้น ถ้าคนธรรพ์มาแต่ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง เกิดในตระกูลเป็นอัณฑชะ คนธรรพ์นั้นเป็นสัตว์เกิดในฟองในตระกูลนั้น, ถ้าเกิดในตระกูลเป็นชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะคนธรรพ์เป็น ชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ ละอย่าง ๆ ในตระกูลนั้น ๆ. สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดเป็นสัตว์เช่นนั้นอย่างเดียวกันในตระกูลนั้น ๆ. อนึ่ง เนื้อและนกทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เข้าไปถึงภูเขาสิเนรุในป่าหิมพานต์ เนื้อและนกทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมละพรรณของตนเป็นสัตว์มีพรรณต่างๆ ดังพรรณแห่งทอง ฉันใด, คนธรรพ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งมาแล้วแต่ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง เข้าไปถึงกำเนิดเป็นอัณฑชะ แล้วละเพศโดยสภาวะเสีย เป็นสัตว์เกิดในฟอง เข้าไปถึงกำเนิดเป็นชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ แล้วละเพศโดยสภาวะเสีย เป็นชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ ละอย่าง ๆ ฉันนั้น. ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปโดยอำนาจแห่งตระกูลด้วยประการ ฉะนี้. ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งความอ้อนวอนอย่างไร? ในโลกนี้ตระกูลไม่มีบุตร มีทรัพย์สมบัติมาก มีศรัทธาเลื่อมใสแล้ว มีศีลมีธรรมอันงาม อาศัยตปคุณ, ก็เทพบุตรมีกุศลมูลแรงกล้า มีความจุติเป็นธรรมดา, ครั้งนั้น ท้าวสักกะอ้อนวอนเทพบุตรนั้น เพื่อความเอ็นดูแก่ตระกูลนั้นว่า "ท่านจงปรารถนาพระครรภ์ของพระมเหสีแห่งตระกูลโน้น," เทพบุตรนั้นปรารถนาตระกูลนั้น เหตุความอ้อนวอนของท้าวสักกะนั้น. อุปมาเหมือนมนุษย์ทั้งหลายใคร่บุญ อ้อนวอนพระสมณะผู้ยังใจให้เจริญ แล้วนำเข้าไปสู่เรือน ด้วยคิดว่า "พระสมณะนี้เข้าไปสู่เรือนแล้ว จักเป็นผู้นำความสุขมาแก่ตระกูลทั้งปวง" ฉันใด, ท้าวสักกะอ้อนวอนเทพบุตรนั้นแล้ว นำเข้าไปสู่ตระกูลนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความหยั่งลงสู่ครรภ์ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งความอ้อนวอน ด้วยประการฉะนี้. ขอถวายพระพร สามกุมาร ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพดาทั้งหลาย อ้อนวอนแล้ว หยั่งลงสู่ครรภ์ของนางตาปสีชื่อ ปาริกา แล้ว. สามกุมารได้ก่อสร้างบุญไว้แล้ว, มารดาและบิดาทั้งหลายเป็นคนมีศีลมีธรรมอันงาม, ผู้อ้อนวอนเป็นคนสามารถแล้ว, สามกุมารเกิดแล้วตามความปรารถนาแห่งใจของชนทั้งหลายสาม, เหมือนในโลกนี้ มีบุรุษผู้ฉลาดในอุบายเครื่องนำไป ปลูกพืชลงไว้ในไร่นาใกล้ที่ไถดีแล้ว, นั้นเว้นอันตราย อันตรายอะไรจะพึงมีแก่ความเจริญของพืช เมื่อพืชนั้นบ้างหรือ? ขอถวายพระพร." ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า พืชไม่มีอันตรายเข้าไปกระทบกีดกั้นพึงงอกงามเร็วพลัน พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร สามกุมารพ้นแล้วจากอันตรายเกิดขึ้นแล้วทั้งหลาย เกิดแล้วตามความปรารถนาแห่งจิตของชนทั้งสาม ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร บรมบพิตรเคยได้ทรงฟังแล้วบ้างหรือ ชนบทใหญ่เจริญแพร่หลายแล้ว กับทั้งประชุมชน ขาดสูญแล้ว ด้วยความประทุษร้ายแห่งใจแห่งฤษีทั้งหลาย." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ฟังอยู่ ป่าชื่อทัณฑกะ ป่าชื่อเมชฌะ ป่าชื่อกาลิงคะ ป่าชื่อมาตังคะ ป่าทั้งปวงนั้นเป็นป่าแล้ว, ชนบททั้งหลายแม้ทั้งปวงเหล่านี้ ถึงความสิ้นไปด้วยความประทุษร้ายแห่งใจของฤษีทั้งหลาย" ถ. ขอถวายพระพร ถ้าชนบททั้งหลายที่เจริญแล้วด้วยดี มาขาดสูญไปด้วยความประทุษร้ายแห่งใจฤษีทั้งหลายเหล่านั้น, อะไร ๆ พึงเกิดขึ้นโดยความเลื่อมใสแห่งจิตของฤษีทั้งหลายเหล่านั้นบ้างหรือไม่." ร. "พึงเกิดขึ้นได้ซิ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น สามกุมาร เป็นอิสินิรมิตเป็นเทพนิมิต เป็นบุญนิรมิต เกิดแล้วโดยความเลื่อมใสแห่งจิตของชนผู้มีกำลังทั้งหลายสาม, เพราะเหตุนั้น บรมบพิตรจงทรงความข้อนี้ไว้ด้วยประการฉะนี้. ขอถวายพระพร เทพบุตรทั้งหลายสามเหล่านี้ เข้าถึงแล้วซึ่งตระกูลที่ท้าวสักกะผู้เป็นจอมของเทพดาทั้งหลายได้อ้อนวอนแล้ว, เทพบุตรทั้งสาม คือ เทพบุตรองค์ไรบ้าง เทพบุตรทั้งสามคือ สามกุมารหนึ่ง มหาปนาทะ หนึ่ง กุสราชา หนึ่ง เทพบุตรแม้ทั้งสามเหล่านี้เป็นพระโพธิสัตว์." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ความหยั่งลงสู่ครรภ์ พระผู้เป็นเจ้านำมาแสดงด้วยดีแล้ว, เหตุพระผู้เป็นเจ้ากล่าวด้วยดีแล้ว, มืดทำให้มีแสงสว่างแล้วล ชัฏพระผู้เป็นเจ้าสางแล้ว, ปรับปวาทพระผู้เป็นเจ้าห้ามกันเสียได้แล้ว, เหตุนั้นสมดังพระผู้เป็นเจ้ากล่าวอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๗. สัทธัมมอันตรธานปัญหา ๗
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงภาสิตพุทธพจน์แม้นี้ไว้แก่พระอานนทเถระว่า 'ดูก่อนอานนท์ สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ในกาลต่อไป เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้. ส่วนในสมัยเป็นที่ปรินิพพาน สุภัททปริพพาชกทูลถามปริศนา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบในกาลทั้งปวง, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้อีก; พระพุทธพจน์นี้กล่าวกาลหาส่วนเหลือมิได้ ฯลฯ กล่าวกาลไม่มีส่วนเหลือ ฯลฯ กล่าวกาลไม่มีปริยาย. ถ้าพระตถาคตเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ ในกาลต่อไป พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าพระตถาคตเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนอานนท์ ในกาลต่อไป พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้นั้นเป็นผิด. ปัญหาแม้นี้มีเงื่อนสอง เป็นชัฏยิ่งแม้กว่าชัฏโดยปกติ, มีกำลังยิ่งแม้กว่าปัญหาที่มีกำลังโดยปกติ, มีขอดยิ่งแม้กว่าขอดโดยปกติ, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าจงเป็นผู้ดังมังกรไปแล้วในภายในแห่งสาคร แสดงความแผ่ไพศาลแห่งกำลังญาณของพระผู้เป็นเจ้าในปัญหานั้น." พระนาคเสนเถระถวายพระพรว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์แม้นี้แก่พระอานนทเถระแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ ในกาลต่อไป พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น'ดังนี้. ส่วนในสมัยเป็นที่ปรินิพพาน ได้ตรัสแล้วแก่สุภัททปริพพาชกว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบ ในกาลทั้งปวงไซร้. โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้. ก็แหละ พระพุทธพจน์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระพุทธพจน์มีเนื้อความต่างกันด้วย มีพยัญชนะต่างกันด้วยแท้. ส่วนทั้งสอง คือ ส่วนพระพุทธพจน์นี้กำหนดศาสนา พระวาจานี้แสดงความปฏิบัติเหล่านั้น เว้นไกลกันและกัน. ขอถวายพระพร มีอุปมาเหมือนฟ้าเว้นไกลแต่แผ่นดิน นรกเว้นไกลแต่สวรรค์ กุศลเว้นไกลแต่อกุศล สุขเว้นห่างไกลแต่ทุกข์ ฉันใด ส่วนพระพุทธภาสิตทั้งหลายสองเหล่านั้น เว้นห่างไกลจากกันและกัน มีอุปไมยฉันนั้นนั่นเทียวแล. เออก็ ปุจฉาของบรมบพิตรอย่าเป็นของเปล่าเลย, อาตมภาพจักเปรียบเทียบโดยรสแสดงแก่บรมบพิตร, พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพุทธพจน์ใดว่า 'ดูก่อนอานนท์ ในกาลต่อไป พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้. เมื่อพระองค์ตรัสพุทธพจน์นั้น ทรงแสดงกาลที่สิ้นไป ทรงกำหนดกาลที่เหลือว่า 'ดูก่อนอานนท์ ถ้านางภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงบรรพชาไซร้ พระสัทธรรมจักพึงตั้งอยู่ได้หนึ่งพันปี, ดูก่อนอานนท์ กาลต่อไปนี้ พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น.' เออก็ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ จะตรัสตามอันตรธานแห่งพระสัทธรรมหรือ หรือทรงคัดค้านอภิสมัยความตรัสรู้ เป็นไฉน ? ขอถวายพระพร." ร. "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระบุกาลที่ฉิบหายไปแล้ว ทรงแสดงกาลที่เหลืออยู่ ทรงกำหนดแล้ว. เหมือนบุรุษมีของหาย หยิบภัณฑะที่เหลืออยู่ทั้งสิ้น แสดงแก่ประชุมชนว่า 'ภัณฑะเท่านี้ของข้าพเจ้าหายไปแล้ว ภัณฑะนี้เหลืออยู่' ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกาลที่ฉิบหายไปแล้ว ตรัสกาลที่เหลืออยู่แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายว่า 'ดูก่อนอานนท์ กาลต่อไปนี้ พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้. ก็พระพุทธพจน์อันใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ กาลต่อไปนี้ พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้, พระพุทธพจน์นี้กำหนดศาสนกาล; ส่วนพระองค์ทรงระบุสมณะทั้งหลายตรัสพุทธพจน์ใด แก่สุภัททปริพพาชกว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบ ในกาลทั้งปวง, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย'ดังนี้, พระวาจานั้นแสดงความปฏิบัติ. ส่วนบรมพิตรมาทรงกระทำความกำหนดนั้นด้วยพระวาจาเครื่องแสดงนั้นด้วย ให้เป็ฯของมีรสเป็นอันเดียวกัน. ก็ถ้าว่าเป็นความพอพระหฤทัยของบรมบพิตรอาตมภาพจักกล่าวกระทำให้มีรสเป็นอันเดียวกัน, บรมบพิตรจงเป็นผู้มีพระหฤทัยไม่วิปริต ทรงสดับกระทำไว้ในพระหฤทัยให้สำเร็จประโยชน์. ขอถวายพระพร ถ้าในที่นี้ มีสระเต็มแล้วด้วยน้ำใหม่ใสสะอาด น้ำขึ้นเสมอกำหนดเพียงขอบ, เมื่อสระนั้นยังไม่ทันแห้ง เมฆใหญ่เนื่องประพันธ์กันให้ฝนตกเติมซ้ำ ๆ ลงบนน้ำในสระนั้น, น้ำในสระนั้นพึงถึงความสิ้นไปและแห้งไปหรือเป็นไฉน?" ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระ?" ร. "เพราะความที่เมฆเป็นของเนื่องประพันธ์กันเป็นเหตุ น้ำในสระนั้นจึงไม่ถึงความสิ้นไปแห้งไปซิ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร สระ คือ พระสัทธรรมในศาสนาอันประเสริฐ ของพระพุทธเจ้าผู้ชนะมารทั้งปวง เต็มแล้วด้วยดีด้วยน้ำใหม่ปราศจากมลทิน คือ อาจาระและศีลคุณและวัตรปฏิบัติ น้ำปราศจากมลทินนั้นขึ้นไปท่วมที่สุดแห่งภพตั้งอยู่แล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ถ้าพระพุทธโอรสทั้งหลาย ยังฝนแห่งเมฆ คือ อาจาระและศีลคุณและวัตรปฏิบัติ ให้เนื่องประพันธ์กัน ให้ตกเติมร่ำไปในสระ คือ พระสัทธรรมนั้นไซร้, สระ คือ พระสัทธรรมในศาสนาอันประเสริฐ ของพระชินพุทธเจ้านี้ พึงตั้งอยู่สิ้นกาลนานยืดยาวได้, อนึ่ง โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันนั้น, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเนื้อความนี้ ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบในกาลทั้งปวง, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้. ขอถวายพระพร อนึ่ง ในที่นี้มีกองแห่งไฟใหญ่ ๆ โพลงอยู่, ชนทั้งหลายพึงนำหญ้า และไม้ และโคมัยแห้งแล้วทั้งหลายเข้าไปเติมซ้ำ ๆ ลงในกองไฟใหญ่นั้น, กองไฟนั้นพึงดับไปหรือไฉน?" ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า กองไฟนั้นพึงโพลงยิ่ง ๆ ขึ้นไป พึงสว่างยิ่ง ๆ ขึ้นไป. ขอถวายพระพร พระศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว ย่อมชัชวาลอยู่ในโลกธาตประมาณหมื่นหนึ่ง ทำโลกธาตุให้สว่างทั่วด้วยอาจาระ และศีลคุณ และวัตรปฏิบัติ. ก็ถ้าว่าพระพุทธโอรสทั้งหลาย มาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ของบุคคลผู้ตั้งความเพียร ห้าประการ พึงเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วพากเพียรเนือง ๆ, พึงเป็นผู้มีฉันทะเกิดแล้วศึกษาอยู่ในสิกขาสาม, พึงบำเพ็ญจารีตศีลและวารีตศีลให้บริบูรณ์ ไม่บกพร่องยิ่งกว่านั้นไซร้, พระชินศาสนาอันประเสริฐนี้พึงตั้งอยู่สิ้นกาลนานยืดยาวได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเนื้อความนี้ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบ, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้. อนึ่ง ในโลกนี้ ชนทั้งหลาย พึงขัดแว่นปราศจากมลทินสนิทเสมอ และขัดดีแล้ว กระจ่างด้วยดีด้วยจุรณ์แห่งหรดาลอันละเอียดสุขุมเนือง ๆ, มลทินและเปือกตมละอองธุลีพึงเกิดขึ้นในแว่นนั้นได้หรือไม่ ขอถวายพระพร ?" ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า แว่นนั้นพึงปราศจากมลทิน ผ่องใสวิเศษหนักขึ้นโดยแท้." ถ. "ขอถวายพระพร แว่นนั้นพึงปราศจากมลทินผ่องใสวิเศษหนักขึ้น ฉันใด, ศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ไม่มีมลทินโดยปกติปราศจากมลทินละอองธุลี คือ กิเลสแล้ว; ถ้าพระพุทธบุตรทั้งหลายพึงขูดเกลาพระศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้านั้น ด้วยอาจาระและศีลคุณ และวัตรปฏิบัติ และสัลเลขธรรม และธุดงคคุณ, ศาสนาอันประเสริฐของพระชินพุทธเจ้านี้ พึงตั้งอยู่ได้สิ้นกาลนานยืดยาว, อนึ่ง โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันนั้นนั่นเทียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายเนื้อความนี้ ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงอยู่ คือ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้. พระศาสนาของพระบรมศาสดามีความปฏิบัติเป็นมูลราก มีความปฏิบัติเป็นแก่นสาร เมื่อความปฏิบัติยังไม่อันตรธานแล้ว พระพุทธศาสนาย่อมตั้งอยู่ได้." ร. "พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้ากล่าว 'สัทธรรมอันตรธาน' ว่า ดังนี้ สัทธรรมอันตรธานนั้นอย่างไร ?" ถ. "ขอถวายพระพร ความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาเหล่านี้มีสามประการ, ความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาสามประการนี้อย่างไร ? ความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาสามประการนี้ คือ: อธิคมอันตรธานความเสื่อมมรรคและผลที่บุคคลจะพึงได้พึงถึงหนึ่ง ปฏิปัตติอันตรธานความเสื่อมปฏิบัติหนึ่ง ลิงคอันตรธาน ความเสื่อมเพศนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์หนึ่ง. เมื่ออธิคม คือ มรรคและผลที่บุคคลจะพึงได้พึงถึงอันตรธานเสื่อมสูญแล้ว แม้เมื่อบุคคลปฏิบัติดีแล้ว ไม่มีธรรมาภิสมัยความถึงพร้อมเฉพาะ คือ ความตรัสรู้ธรรม, เมื่อความปฏิบัติอันตรธานเสื่อมสูญแล้ว สิกขาบทบัญญัติก็อันตรธาน ยังเหลืออยู่แต่เพศนุ่งเหลืองอย่างเดียวเท่านั้น, เมื่อเพศนุ่งเหลืออันตรธานแล้ว ก็ขาดประเพณี. อันตรธานสามประการดังพรรณานามานี้แล้ว ขอถวายพระพร." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาลึกพระผู้เป็นเจ้ามากระทำให้ตื้น ให้ข้าพเจ้ารู้แจ้งด้วยดีแล้ว, ขอดพระผู้เป็นเจ้าทำลายเสียแล้วปรัปปวาททั้งหบายพระผู้เป็นเจ้าหักรานให้ฉิบหายแล้ว กระทำให้เสื่อมรัศมีแล้ว, ปรัปปวาททั้งหลายมากระทำ พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐกว่าคณาจารย์ผู้ประเสริฐ, พระผู้เป็นเจ้าหักราน ปรัปปวาททั้งหลายเหล่านั้นให้หายเสื่อมสูญไปได้แล้ว."
๘. สัพพัญญุตปัตตปัญหา ๘
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงละอกุศลธรรมทั้งปวงแล้ว จึงบรรลุความเป็ฯพระสัพพัญญูหรือว่าละอกุศลธรรมเป็นสาวะเศษมีส่วนเหลือ บรรลุความเป็นพระสัพพัญญู?" พระนาคเสนเถระถวายพระพรว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละอกุศลทั้งปวงแล้ว จึงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูอกุศลเป็นส่วนเหลือของพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้มี." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ทุกขเวทนาเคยเกิดขึ้นแล้วในพระกายของพระตถาคตหรือ?" ถ. "ขอถวายพระพร เคยเกิดขึ้น พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันสะเก็ดศิลากระทบแล้วที่เมืองราชคฤห์ ประชวรลงพระโลหิตเกิดขึ้นแล้ว เมื่อพระกายหนาขึ้นหนักแล้ว หมอชีวกเชิญให้เสวยพระโอสถรุน เมื่อประชวรลมเกิดขึ้นแล้ว พระเถระผู้อุปฐากแสวงหาน้ำร้อนถวาย." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระตถาคตทรงละอกุศลทั้งปวงแล้ว จึงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญู, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันสะเก็ดศิลากระทบแล้ว ประชวรลงพระโลหิตเกิดขึ้นแล้ว' นั้นผิด. ถ้าพระบาทของพระตถาตอันสะเก็ดศิลากระทบแล้วประชวรลงพระโลหิตเกิดขึ้นแล้ว ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตทรงละอกุศลทั้งปวงแล้ว จึงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญ' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ความเสวยเวทนาซึ่งจะเว้นแล้วจากกรรมมิได้มี, ความเสวยเวทนาทั้งปวงนั้น มีกรรมเป็นมูลที่ตั้ง, บุคคลย่อมเสวยเวทนาเพราะกรรมนั่นเทียว, ปัญหาแม้นี้มีเงื่อนสอง มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายปัญหานั้นให้แจ่มแจ้ง." ถ. "ขอถวายพระพร เวทนา ความเสวยอารมณ์ทั้งปวงนั้น จะมีกรรมเป็นมูลเป็นที่ตั้งก็หาไม่. เวทนาความเสวยอารมณ์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุแปดประการ สัตว์เป็นอันมากย่อมเสวยเวทนาทั้งหลายด้วยเหตุไรเล่า. เวทนาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยเหตุทั้งหลายแปดเป็นไฉน? ในกายนี้ เวทนาทั้งหลายบางเหล่ามีลมเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้นบ้าง, เวทนาทั้งหลายบางเหล่ามีดีเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้นบ้าง, เวทนาทั้งหลายบางเหล่ามีเสมหะเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้นบ้าง, เวทนาทั้งหลายบางเหล่ามีสันนิบาตเป็นเหตุเกิดขึ้นบ้าง, เวทนาทั้งหลายบางเหล่าเกิดแต่ความเปลี่ยนฤดูเกิดขึ้นบ้าง, เวทนาทั้งหลายบางเหล่าเกิดแต่การบริหารอิริยาบถไม่เสมอเกิดขึ้นบ้าง, เวทนาทั้งหลายบางเหล่ามีความเพียรเป็นเหตุเกิดขึ้นบ้าง, เวทนาทั้งหลายบางเหล่าเป็นกรรมวิปากชาเกิดขึ้นบ้าง. สัตว์เป็นอันมากย่อมเสวยเวทนาทั้งหลาย ด้วยเหตุทั้งหลายแปดประการเหล่านี้แล. ในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้นอ้างกรรม สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้นั้นย่อมค้านเหตุเสีย, คำนั้นของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นผิด." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เวทนาที่มีลมเป็นสมุฏฐานอันใดก็ดี ที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐานอันใดก็ดี ที่มีสันนิบาตเป็นเหตุอันใดก็ดี ที่มีสันนิบาตเป็นเหตุอันใดก็ดี ที่เกิดแต่ความเปลี่ยนฤดูอันใดก็ดี ที่เกิดแต่การบริหารไม่เสมออันใดก็ดี ที่มีความเพียรเป็นเหตุเหตุอันใดก็ดี, เวทนาทั้งปวงเหล่านั้นล้วนมีกรรมเป็นสมุฏฐานทั้งสิ้น เวทนาทั้งปวงเหล่านั้นย่อมเกิดเพราะกรรมอย่างเดียว." ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอาพาธทั้งหลายเหล่านั้นแม้ทั้งปวง พึงเป็นอาพาธมีกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว, ลักษณะทั้งหลายของอาพาธเหล่านั้นไม่พึงมีโดยส่วน. ขอถวายพระพร ลมเมื่อกำเริบ ย่อมกำเริบด้วยเหตุสิบอย่าง คือ ด้วยหนาวหนักหนึ่ง ด้วยร้อนหนักหนึ่ง ด้วยความอยากข้าวหนึ่ง ด้วยความระหายน้ำหนึ่ง ด้วยความบริโภคมากหนึ่ง ด้วยความยืนนานนักหนึ่ง ด้วยความเพียรเหลือเกินหนึ่ง ด้วยความวิ่งมากหนึ่ง ด้วยอุปักกมะความเพียรของตนบ้างของผู้อื่นบ้างหนึ่ง ด้วยกรรมวิบากหนึ่ง; ในอาพาธทั้งหลายเหล่านั้น อาพาธเก้าอย่างเหล่าใดนั้น อาพาธเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วในอดีตก็หาไม่ จะเกิดขึ้นในอนาคนก็หาไม่ ย่อมเกิดขึ้นในภพปัจจุบัน, เพราะเหตุนั้น อาพาธทั้งหลายเหล่านั้น บัณฑิตไม่พึงกล่าวว่า "เวทยาทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นแดนเกิดพร้อม." น้ำดีเมื่อจะกำเริบย่อมกำเริบด้วยเหตุสามอย่าง คือ: ด้วยหนาวหนักหนึ่ง ด้วยร้อนหนักหนึ่งด้วยบริโภคไม่เสมอหนึ่ง. เสมหะเมื่อจะกำเริบ ย่อมกำเริบด้วยเหตุสามอย่าง คือ: ด้วยหนาหนักหนึ่ง ร้อนหนักหนึ่ง ด้วยข้าวและน้ำหนึ่ง. ลมอันใดก็ดี น้ำดีอันใดก็ดี เสมหะอันใดก็ดี สามอย่างนี้ กำเริบแล้วด้วยปัจจัยเครื่องกำเริบทั้งหลายเหล่านั้น ๆ เป็นของเจือกัน พาเวทนาของตน ๆ มา. เวทนาที่เกิดแต่ความเปลี่ยนฤดู ย่อมเกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนฤดู, เวทนาที่เกิดแต่ความบริหารไม่เสมอ ย่อมเกิดขึ้นด้วยความบริหารอิริยาบถไม่เสมอ, เวทนาที่มีความเพียรเป็นปัจจัย เป็นกิริยาก็มี เป็นกรรมวิบากก็มี, เวทนาที่เกิดแต่กรรมวิบากย่อมเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ตนกระทำแล้วในกาลก่อน. เวทนาที่เกิดแต่กรรมวิบากน้อย เวทนานอกนั้นมากกว่าด้วยประการฉะนี้. ชนพาลทั้งหลายย่อมแล่นล่วงไปในเวทนานั้นว่า 'เวทนาทั้งปวงเกิดแต่กรรมวิบากอย่างเดียว,' กรรมนั้นอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำความกำหนดเว้นจากพุทธญาณ. ก็พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันสะเก็ดศิลากระทบแล้วด้วยเหตุใด ด้วยเหตุนั้น เวทนานั้นจะเป็นเวทนามีลมเป็นสมุฏฐานก็ไม่ใช่ มีดีเป็นสมุฏฐานก็ไม่ใช่ มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็ไม่ใช่ มีสันนิบาตคือ ประชุมธาตุสี่เป็นปัจจัยก็ไม่ใช่ จะเป็นเวทนาเกิดแต่ความเปลี่ยนฤดูก็ไม่ใช่ จะเป็นเวทนาเกิดแต่การบริหารอิริยาบถไม่เสมอก็ไม่ใช่ จะเป็นเวทนาเกิดแต่กรรมวิบากก็ไม่ใช่ เวทนานั้น เป็นเวทนามีอุปักกมะความเพียรของผู้อื่นเป็นปัจจัยนั่นเทียว. จริงอยู่ เทวทัต ผูกอาฆาตในพระตถาคตหลายแสนชาติแล้ว. เทวทัตนั้น หยิบศิลาหนักใหญ่ปล่อยแล้วด้วยคิดว่า 'เราจักยิงศิลานี้ให้ตกเหนือกระหม่อม' ด้วยอาฆาตนั้น. ครั้งนั้น ศิลาสองก้อนอื่นมารับศิลานั้นเสียแต่ยังไม่ทันถึงพระตถาคตเลย, กะเทาะศิลาแตกเพราะกระทบที่ศิลานั้นแล้ว จึงตกลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกระทำพระโลหิตให้ห้อขึ้นแล้ว. เวทนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดแล้ว แต่กรรมวิบากบ้าง แต่กิริยาบ้าง, เวทนาอื่นยิ่งขึ้นไปกว่าเวทนานั้น ย่อมไม่มี. เหมือนพืชย่อมไม่เกิดพร้อมเพราะความที่นาเป็นของอันโทษประทุษร้ายแล้วบ้าง เพราะความที่พืชเป็นของซึ่งอันตรายประทุษร้ายแล้วบ้าง ฉันใด, เวทนานั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะเป็นเวทนาเกิดแล้ว แต่กรรมวิบากบ้าง แต่กิริยาบ้างฉันนั้น, เวทนาอื่นยิ่งไปกว่าเวทนานั้น ย่อมไม่มีแด่พระตถาคตเลย. อีกนัยหนึ่ง โภชนะแปรไม่เสมอ เพราะความที่ลำไส้เป็นของอันโทษประทุษร้ายแล้วบ้าง เพราะความที่อาหารเป็นของอันโทษประทุษร้ายแล้วบ้าง ฉันใด, เวทนานั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเวทนาเกิดแล้วแต่กรรมวิบากบ้าง แต่กิริยาบ้าง ฉันนั้น, เวทนาอื่นยิ่งขึ้นไปกว่าเวทนานั้น ย่อมไม่มีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเลยทีเดียว. ขอถวายพระพร "เออก็ เวทนาที่เกิดแต่กรรมวิบาก ย่อมไม่มีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า, เวทนาที่เกิดแต่การบริหารไม่เสมอ ย่อมไม่มีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า, เวทนาย่อมเกิดขึ้นแด่พระผู้มีพระภารเจ้าด้วยสมุฏฐานทั้งหลายนอกนั้น. ก็แหละ เวทนานั้นไม่อาจเพื่อจะปลงพระผู้มีพระภาคเจ้าจากพระชนมชีพได้. เวทนาทั้งหลายเป็นที่พึงใจและไม่เป็นที่พึงใจ งามและไม่งาม ย่อมตกลงในกายสำเร็จแล้วด้วยมหาภูตทั้งสี่นี้. ณ ที่นี้มีก้อนดินอันใคร ๆ โยนขึ้นไปในอากาศ ย่อมตกลงในแผ่นดินใหญ่. ก้อนดินนั้นย่อมตกลงในแผ่นดินใหญ่ เพราะกระทำกรรมอันใดอันหนึ่งไว้แล้วในกาลก่อนบ้างหรือ ขอถวายพระพร." ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า มหาปฐวีพึงเสวยวิบากเป็นกุศลและอกุศลด้วยเหตุใด เหตุนั้น ย่อมไม่มีแก่แผ่นดินใหญ่, พระผู้เป็นเจ้า ก้อนคนนั้นย่อมตกลงในแผ่นดินใหญ่ ด้วยเหตุเป็นปัจจุบันไม่ใช่กรรม." ถ. "ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่ อันใด พระตถาคตเจ้า บรมบพิตรพึงทรงเห็นว่าเหมือนแผ่นดินใหญ่ ฉะนั้น, ก้อนดินตกลงในแผ่นดินใหญ่ โดยไม่ได้กระทำกรรมไว้แล้วในกาลก่อน ฉันใด สะเก็ดนั้นตกลงแล้วที่พระบาทของพระตถาคตเจ้า โดยไม่ได้กระทำกรรมอันใดอันหนึ่งไวแล้วในกาลก่อน ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อนึ่ง ในโลกนี้ มนุษย์ทั้งหลายย่อมทำลายแผ่นดินใหญ่ด้วย ย่อมขุดแผ่นดินใหญ่ด้วย; มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมทำลายแผ่นดินใหญ่ด้วย ย่อมขุดแผ่นดินใหญ่ด้วย เพราะกรรมอันแผ่นดินกระทำไว้แล้วในกาลก่อนบ้างหรือเป็นไฉน?" ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า." ถ."ขอถวายพระพร สะเก็ดใดนั้น ที่ตกลงแล้วที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า สะเก็ดนั้นจะได้ตกลงแล้วที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะกรรมที่ได้ทรงกระทำไว้แล้วในกาลก่อนหามิได้ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อาพาธมีความอาเจียนโลหิตเป็นปัจจัยแม้ใด ที่เกิดขึ้นแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า อาพาธแม้นั้น จะได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะกรรมที่ได้ทรงกระทำไว้แล้วในกาลก่อน หามิได้, อาพาธนั้นเกิดขึ้นแล้วโดยอาพาธมีสันนิบาตเป็นปัจจัยอย่างเดียว. อาพาธทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีในพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดขึ้นแล้วอาพาธทั้งหลายเหล่านั้น จะเกิดขึ้นแล้วเพราะกรรมหามิได้, สมุฏฐานทั้งหลายหกเหล่านี้ อาพาธทั้งหลายเหล่านั้นเกิดขึ้นแต่สมุฏฐานอันใดอันหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเทพดาล่วงเทพดา แม้ได้ทรงภาสิตพุทธพจน์นี้ ในเวยยากรณ์ชื่อโมลิยสิวกา ดังดวงตราประทับไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า ดูก่อนสิวก ในกายนี้ เวทนาทั้งหลายบางเหล่า แม้มีดีเป็นสมุฏฐาน ย่อมเกิดขึ้นแล; ดูเกิดขึ้นด้วยประการใด เวทนานั้น ท่านพึงรู้แจ้งแม้เองด้วยประการนั้น, ดูก่อนสิวก ในกายนี้เวทนาทั้งหลายบางเหล่า แมี้ดีเป็นสมุฏฐาน ย่อมเกิดขึ้นอย่างใดความรู้แจ้งอย่างนั้นนั่นเป็นสัจจะสมมติแม้ของโลกแล. ดูก่อนสิวก ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า 'บุรุษบุคคลนี้ ย่อมเสวยเวทนาอันใดอันหนึ่ง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขเป็นแต่กลาง ๆ เวทนาทั้งปวงนั้น มีกรรมที่กระทำไว้แล้วในกาลก่อนเป็นเหตุ' ดังนี้, สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ก็สิ่งใดที่ตนรู้แล้วเอง ย่อมแล่นล่วงสิ่งนั้นด้วย, เพราะเหตุนั้น เราผู้ตถาคตย่อมกล่าวว่า 'ความเห็นของสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นผิด.'ดูก่อนสิวก ในกายนี้ เวทนาทั้งหลายบางเหล่า แม้มีเสมหะเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้น ฯลฯ แม้มีลมเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้น ฯลฯ แม้มีสันนิบาตเป็นปัจจัยเกิดขึ้น ฯลฯ แม้เป็นอุตุปริณามชาเกิดขึ้น ฯลฯ แม้เป็นวิสมปริหารชาเกิดขึ้น ฯลฯ แม้เป็นโอปักกมิกาเกิดขึ้น ฯลฯ เวทนาทั้งหลายบางเหล่า แม้เป็นกัมมวิปากชาเกิดขึ้นแล; ดูก่อนสิวกในกายนี้ เวทนาทั้งหลายบางเหล่า แม้เป็นกัมมวิปากชาเกิดขึ้นด้วยประการใด เวทนานั้น ท่านพึงรู้แจ้งแม้เองด้วยประการนั้น, ดูก่อนสิวกในกายนี้ เวทนาทั้งหลายบางเหล่า แม้เป็นกัมมวิปากชา ย่อมเกิดขึ้นอย่างใด ความรู้อย่างนั้นนั่นบัณฑิตสมมติแล้วว่า เป็นของจริงแม้ของโลกแล. ดูก่อนสิวก ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า 'บุรุษบุคคลย่อมเสวยเวทนาอันใดอันหนึ่ง เป็นสุขหรือ หรือเป็นทุกข์ หรือไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข เป็นแต่กลาง ๆ เวทนาทั้งปวงเหล่านั้น มีกรรมที่กระทำไว้แล้วในกาลก่อนเป็นเหตุ' ดังนี้, ก็สิ่งใดที่ตนรู้แล้วเอง สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมแล่นล่วงสิ่งนั้นเสียด้วย, ก็แหละ สิ่งใดที่เขาสมมติแล้วว่าเป็นของจริงในโลก สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมแล่นล่วงสิ่งนั้นเสียด้วย, เพราะเหตุนั้น เราผู้ตถาคตย่อมกล่าวว่า 'ความเห็นของสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นผิด' ดังนี้. ขอถวายพระพร เวทนาทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นของเกิดแต่กรรมวิบากทั้งสิ้น หามิได้ ด้วยประการฉะนี้. บรมบพิตรจงทรงปัญหาข้อนี้ไว้อย่างนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละอกุศลทั้งปวงแล้ว จึงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญู' ขอถวายพระร." ร. ดีละ พระผู้เป็นเจ้า ข้อวิสัชนาปัญหานี้สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
|