"ผู้เห็นแสงสว่าง คือ ผู้เห็นธรรม ความทุกข์นั้น มิได้อยู่กับผู้จนทรัพย์ หากอยู่กับ ผู้อับปัญญา
จะมีทรัพย์นับล้าน ยังเป็นคนพาล สันดานหยาบ ก็ไหลลงสู่อเวจีนรก หมกไหม้ เหมือนพระเทวทัต เนื่องด้วย กิเลสหนา ปัญญาหยาบ"
-:- หลวงปู่สิม พุทธจาโร -:-
"ถ้าเรารู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา ดูให้ดีเถอะว่า ได้ไปยึดอะไรเข้าให้แล้ว" -:- ท่านพุทธทาสภิกขุ -:-
“คนเราจะมีความสุข มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า มีเท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเรา พอเมื่อไหร่" -:- หลวงปู่ชา สุภัทโท -:-
...ดังนั้น การกระทำอะไรก็ดี ทำอะไรให้กับ.."สิ่งต่างๆในโลกนี้" ทำได้มากได้น้อยเท่าไหร่ ก็เป็นผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น
. เพราะว่าร่างกายนี้เป็นของชั่วคราว การกระทำอะไรต่างๆทั้งหมด ที่เราทำกันนี้ เราก็ทำเพื่อร่างกายของเรา แต่ร่างกายของเราก็อยู่ได้ไม่นาน อย่างมากก็ ๑๐๐ ปีก็ต้องตายไป และผลต่างๆที่เราได้ทำให้กับร่างกาย มันก็หมดความหมายไป
. แต่การกระทำต่างๆ "ที่เราทำให้กับใจของเรานี้" เป็นสิ่งที่จะอยู่กับใจไปได้ตลอด
. เช่น ถ้าเราดับความทุกข์ของใจได้ ความทุกข์นั้นก็จะหมดไป สร้างความสุขให้กับใจ ความสุขนั้นก็จะอยู่กับใจต่อไป หลังจากที่ร่างกายนี้ตายไปแล้ว. .................................... . คัดลอกหนังสือ (จุลธรรมนำใจ ๔๑) ธรรมะบนเขา27/12/2557 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
เหนื่อยจนตาย...ไม่ได้อะไร ???
"...ที่ไหนๆ ในโลก ไม่ว่าประเทศไทย หรือในต่างประเทศ จะพบว่ามีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่หรูหราใหญ่โตสวยงามให้เห็นกันอยู่มากมาย และถ้าจะถามว่า จิตใจของบุคคลที่อยู่ที่อาศัยในบ้านเรือนที่สวยงามเหล่านั้น จะมีความเยือกเย็นเป็นสุขกว่าใจของคนอื่นๆ ที่มีฐานะต่ำกว่าเขาหรือไม่ ก็คงจะตอบได้ว่า ไม่แน่เสมอไป
ทั้งนี้ก็คงเพราะว่าเรื่องของวัตถุนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความสงบที่แท้จริงให้กับคนเราได้ วัตถุไม่ใช่สิ่งที่จะมาชำระล้างจิตใจของมนุษย์ได้ บ้านเรือนที่หรูหราจึงไม่ใช่เครื่องหมายที่จะบอกได้ว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นมีจิตใจสงบมากน้อยเพียงไร
สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจ อยู่ที่ไหน ถ้าใจมันสงบระงับได้ มันก็เป็นสุขได้ ฉะนั้น การฝึกอบรมใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด ถ้าจิตใจมีแต่ความยึดถือหลงใหลในสิ่งต่างๆ อยู่อย่างถอนตัวไม่ขึ้น จิตใจก็จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ตลอดไป ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเรื่องของกาย เรื่องของใจทำงานอะไรก็เพื่อกาย เพื่อใจ ทั้งนั้น วิ่งวุ่นกันอยู่ตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย ก็เพราะเรื่องของกายกับใจ
คนเรามัวแต่วุ่นวายในงานต่างๆ ทั้งกลางวันกลางคืน โดยส่วนใหญ่ก็เป็นงานภายนอก งานสะสมสร้างฐานะของแต่ละบุคคลทั้งนั้น วุ่นวายจนนั่งไม่ติด เดินไม่ตรง หรือนอนไม่หลับกันไปก็มี เหล่านี้ก็เพราะความยึดถือนั่นแหละเป็นตัวการสำคัญ เช่น เกิดยึดถือว่า เราจะมีฐานะสู้เขาไม่ได้ ถ้าจะถามว่าสู้ใคร มันก็มีคนที่มีฐานะดีกว่าเราให้เปรียบเทียบเสมอนั่นแหละ
เมื่อไรจะรู้สึกว่าฐานะตัวดีพอที่จะหาความสุขกับมันได้จริงๆ บ้าง ใครมีความพอได้ คนนั้นก็จะมีความสุขได้ พอจริงก็สุขจริง พอได้มากก็สุขได้มาก หัดวางเสียบ้าง หัดวางเสียหน่อย ก่อนที่สังขารจะบังคับให้วางก่อนที่ความเฒ่าชรา และความตาย หรือโรคร้ายจะเป็นผู้บังคับให้วาง ถ้ายังไม่หัดวางจะเป็นผู้ที่เหนื่อยจนตาย แล้วก็ขนอะไรไปด้วยไม่ได้เลยในที่สุด..."
เทศนาธรรมคำสอน..พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
"ใจไม่ดี ใจไม่รู้เท่า ใจโง่ มนสา เจ ปทุฏเฐน ใจอันมีโทษประทุษร้ายมันอยู่แล้ว เพราะราคะ โทสะ โมหะ ประทุษร้ายอยู่ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุขสบาย มีแต่ความเดือดร้อนเผาผลาญ ท่านเปรียบไว้เหมือนโคที่เข็นภาระอันหนักไปอยู่ ใจไม่ดีแล้ว ผู้ไม่ฝึกฝนอบรมใจของตนแล้ว ทำไปตามความพอใจ ความชอบใจ ใจเศร้าหมอง ไม่มีความสุข ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไม่มีความสุข
ใจที่อบรมดีแล้ว ฝึกฝนทรมานดีแล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุข พูดอยู่ก็เป็นสุข ยืน เดิน นั่ง นอน ทำอะไรอยู่ก็เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน มนสา เจ ปสันเนน บุคคลผู้ฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้ดีแล้ว จิตผ่องใสแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ไปที่ไหนก็ตาม ความสุขย่อมติดตามไปอยู่ ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู
ใคร่ครวญใจ ใคร่ครวญธรรม
การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อทดสอบให้ตนและอนุชนรุ่นหลังนี้ ย่อมไม่นิยมกาลเวลาของวัยอ่อน ปานกลาง หรือแก่ชรา แม้ถึงจะเดินไม่ได้ ไปไม่เป็น นอนคาที่ ก็ต้องมีธรรมเป็นเครื่องคำนึง ด้วยใจอันพอพึงเท่าที่ควรแก่ตน
ข้อวัตรของใจภายใน กับธรรมภายในนี้ ถ้าห่างเหินกันแล้วย่อมเหลิงเจิ้ง เวลาของกายเป็นเวลาภายนอกก็ว่าได้ไม่ผิด เวลาของใจกับธรรมเป็นเวลาภายใน สังสรรค์กันอยู่อย่างละเอียดลึกซึ้ง สติปัญญาแก่กล้าจึงจะมองตามเห็นได้ จึงจะรู้จักเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรและไม่ควรอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนได้ สติปัญญาอันชอบจึงจะเลือกใจเลือกธรรมที่ชอบได้ โดยเฉพาะของส่วนใจ ของส่วนกรรมที่ชอบ มิฉะนั้นแล้วก็จะกลืนทั้งกระดูกและก้างแบบไม่มีการเลือก
การเฟ้นและการใคร่ครวญ ก็มีความหมายอันเดียวกัน คือเลือกเฟ้นใจ เลือกเฟ้นธรรม ใคร่ครวญใจ ใคร่ครวญธรรม ไม่ว่าสิ่งใด ๆ ในโลก หรือในธรรม ถ้าเอาธรรมเป็นแว่นใคร่ครวญลงมิให้ ปีนเกลียวของธรรมหลาย ๆ รอบแล้ว ไม่ค่อยผิดพลาดในตอนนั้น ๆ แม้จะผิดพลาดบ้างก็มีประตูแก้
ที่ผิดไม่มีประตูแก้นั้น เพราะขาดการพิจารณาก่อนลงมือทำ การลงมือทำมิได้หมายแต่เฉพาะมือภายนอก อันเป็นมือเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น หนัง หมายเอามือสติปัญญา อันสมดุลกับใจกับธรรม การพิจารณา จะตัดสินใจเอาตามอัตโนมติไป โดยไม่มองดูธรรมแท้ของพระองค์ที่กล่าวไว้ดีแล้วก็ไม่ได้ ถ้ากิเลสเจ้าตัวยังหนาแน่นอยู่ ความตกลงใจจะตัดสินเอาเองก็เข้าข้างกิเลสอีกไม่รู้ตัวด้วย
คัดลอกจากหนังสืออัตตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
เพื่อนของเราส่วนใหญ่ มักจะเป็นศัตรูในคราบของเพื่อนโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เขาจะชวนเราไปทางลาภ ยศ สรรเสริญ ไปหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเราเองก็มีความยินดีอยู่แล้ว พอมีใครมาชวนไปในทางนี้ ก็เลยมีข้ออ้างทันทีว่ากลัวจะเสียเพื่อน ยินดีที่จะเสียมรรค ผล นิพพาน มรรค ผล นิพพาน นี้ ถ้าได้มาแล้วมันจะเป็นของที่อยู่กับเราอย่างถาวร แต่เพื่อนที่เรากลัวจะเสียนี้ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตายจากกันอยู่ดี แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรในทางธรรมเลย
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
" สมบัตินี่กะนิยมว่าดีอยู่ แต่ฮั่งอยู่ใต้อู่ของอนิจจัง. บ่มั่นบ่เที่ยงแตกสลายไป. บ่แมนของผู้ใด๋.บัดไปบัดมาอยู่ซำนั่น.( เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ) ขั่นเฮาสิมาสร้างโลกให้ได้รับความสุข.จนลืมตนลืมตัวบ่สร้างกุศลศีลทานซะเลย. กะเรียกว่าเฮานี่ปั้นน้ำให้เป็นตัว.เป็นไปบ่ได้. เพราะบ่อยู่ในความหวังของเฮา. เฮาอาศัยหรือว่าสัตว์ทั้งหลายภายนอก. กะอุปมาคืออาศัยเฮือ ( เรือ ) อาศัยแพขี่ข้ามฟากไปแล้วเฮากะถิ่ม ( ทิ้ง ) ล่ะเฮือ. บ่ได้คืนมาขี่กลับคืนมาอีก. สกลกายกะคือกัน.อาศัยชั่วคราว. พระยาจิตราชกะมาอาศัยชั่วคราว. สกลกายนี่ล่ะเป็นเฮือนพระยาจิตราช. เฮือนของกายภายนอกกะแม่เฮือนแม่นซานเฮา.( เรือนชาน ) ยังมั่นกว่าเฮือนภายในอีก.เพราะเอาตะปูตีไว้. เพราะเอาไม้มาเฮ็ดมาทำ. เฮือนของพระยาจิตราชนี่.แอ้มด้วยหนัง. หนังหุ้มอยู่.แล้วเนื้อนั่นพอกไว้คือดินทาฝา. เส้นเอ็นเหนี่ยวรัดรึงไว้.เป็นตอกเป็นหวาย.แทนตะปู. แล้วจักได้แตกจักได้สลายไป. ขั่นสิ้นลมหายใจแล้ว.ฮอดขวบมากะถืกกลิ่น.( ถึงเวลาก็เน่าเหม็น ) เพราะเน่ามาแต่ในท้องพุ้น. ฮอดเจ็ดมื้อมากะเป็นน้ำยางเหลืองไหล.ต่อไปฮั่นอีกกะเปื่อยเพ. นี่เรียกว่าเฮือนพระยาจิตราช. พระยาจิตราชต้องเบิ่งให้มันคั๊ก. มาสร้างเฮือนอันบ่มั่นบ่เที่ยง. ผู้สิโศกเศร้านำเฮือนนำซานที่มันเพมันพังลงไป กะแม่นพระยาจิตราช. ผู้สร้างขึ้นกะแม่นพระยาจิตราช. พระยาจิตราชจงทำความเข้าใจให้มันถืกซะ. อย่าสุมาสร้างเฮือนหลังนี้อีก.หลังหนังหุ้มนี่. ตายมื้อใด๋กะขอให้เข้าสู่พระนิพพานเลย. อย่าได้มาท่องเทียวในวัฏสงสาร."
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
“เจริญหรือเสื่อมอยู่ที่จิตใจ” ..เราได้ประพฤติปฏิบัติกันทั่วโลก เกือบทั่วโลก ก็เลื่อมใสกันอยู่อย่างนั้นหละ แต่ถือเพียงแค่เปลือกนอก ๆ หรือกระพี้นอก ๆ แค่ชื่อสมมติ หนักเข้าก็เอาความรู้ธรรมะ ซึ่งเป็นสมมุติบัญญัติอันนั้น เอามาเทียบเคียงทางโลก พอได้ไปทำงานทำการ เอาเงินเดือน อาศัยเงินภายนอก เลยตามเลย อย่างเห็นกันอยู่ในระยะนี้ แต่ธรรมะของจริงซึ่งเป็นธรรมชาติเดิม ก็เลยไม่ได้เอามาใช้ ถูกนอนอยู่นี้ ไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์มาแล้ว ถ้าหากไม่ประพฤติปฏิบัติ เข้าไปหาใจแล้ว ไม่มีทางจะเห็นหรอก แม้จะเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ก็ตาม เรียนรู้หมดทั้งสากลโลกนี้ก็ตาม นี้หลักการประพฤติปฏิบัติ จะต้องเข้ามาถึงหลักเดิมนี้ก่อน ถ้าไม่เข้ามานี้แล้ว ก็ไม่มีทาง เพราะว่าตัวนี้ ตัวที่ให้เจริญ ตัวที่ให้เสื่อม มันอยู่ที่จิตใจ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน
เมื่อคนใกล้ตายหลวงปู่เล่าว่า การตายมันก็ตายกันทุกคน “คำว่าตายนี้นะ” กิเลสมันไม่ได้ตาย มันก็หดเข้าๆ มารวมกันไว้ ความโกรธ ความโลภ ความหลง มันก็หดเข้ามารวมกัน พอตายไปก็เอามันไปด้วย ถ้าขาดสติมันจะเห็นเป็นภาพมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ล้วนแล้วจะเกิดความกลัว ความเจ็บปวดทุรนทุราย ถ้าหากเราไม่เคยฝึกสมาธิเเล้วมันยิ่งทุรนทุรายไปกันใหญ่แล้วรวมเอาสิ่งเหล่านี้ไปเกิดภพเกิดชาติก็วนอยู่อย่างนี้แหละ เกิดเเล้วตายตายเเล้วเกิด ที่เรียกว่าเรามีกรรมเป็นเเดนเกิด เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล ธรรมเทศนาองค์หลวงปู่เผย วิริโย วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย
"อาศัยซากศพข้ามแม่น้ำ"...ปฏิบัติจน จิตรวมลงเป็น "หนึ่ง".. ไม่มีการติด “คิดปรุง” “วิ่งไปโน่นวิ่งไปนี่” สถานที่นั้นสถานที่นี่ “จิตตัวเก่า” “กิเลสตัวเก่า” เหมือนกันกับแล่น “ไล่เงา” งมในสิ่งที่ไม่ควรงมไม่มีการ “สงสัย” อย่าไปเอา “เรื่องอื่น” มายุ่งเกี่ยวกับ”จิตใจ” ให้ “จิต” “รู้เห็นตามเป็นจริง” รักษา “จิต” ต้องรักษาด้วย “สติ” การ “ชำระใจ” ก็ต้องอาศัย “ปัญญา” เป็นเครื่องชำระ จนให้ “ใจ” “รู้เห็นเป็นจริง” “ใจ”ของเราเพลิดเพลินแต่”สิ่งภายนอก” ไม่ได้กำหนด”ดูลม” ว่ามันหยาบ มันละเอียด มันเข้า มันออก สั้นยาวขนาดไหนเป็นอย่างไร “สติ” ไม่อยู่กับลม คิดปรุงฟุ้งไปหาเรื่องต่างๆ ก็เลยไม่เห็น “ธรรม” ถ้าเรา ”ฝึกใจ” ของเราให้เป็น “ธรรม” อยู่ป่าอยู่เขาก็เป็น “ธรรม” อยู่บ้านก็เป็น “ธรรม”เพราะทุกอย่างเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ใจรู้เห็นตามเป็นจริงในสิ่งต่างๆ ถ้าเรา “กำหนด” “ลมหายใจ” ตั้งมั่นอยู่ในลมหายใจ อารมณ์อื่นเกิดขึ้นหรือผ่านมา ไม่ต้องติดตามเกี่ยวข้อง กำหนดอยู่กับลมเรื่อยไป จนลมละเอียดเข้าไป สงบลงรวมได้ จิตละเอียด ลมละเอียด ต่อจากนั้นก็จะรวมลงเป็น “หนึ่ง” เป็น “เอกัคตารมณ์” “จิต” อยู่เฉพาะเรื่องของมัน ตัดอารมณ์สัญญา อดีต อนาคต หมดไป ซึ่งไม่ติดข้องกับ “ลม” กับ “กาย” ไม่มีการเกี่ยวข้องกับ “อารมณ์สัญญา”อะไร มีแต่ “สติ” “รู้” อยู่เท่านั้น ว่า “ใจ” ของเรา “รวม” ไม่ได้คาดหมายถึงเรื่องของ “กาย” พอ “จิตรวม” ลงอย่างนั้น มันไม่ได้คาดหมายว่า เรานั่ง เรายืน เราเดิน ไม่ได้ “เกี่ยวข้อง” กับอะไร ระยะที่ “จิต” เป็น “หนึ่ง” อยู่นั้น มันไม่ได้ “ยึดถือ” อะไร ไม่มี “เวทนา” “สัญญา” คือ “ไม่เกี่ยวข้อง” กับเรื่องของ “กาย” ของ “เวทนา” “สุข” “ทุกข์” เป็น “หนึ่ง” อยู่เฉพาะ มัน “สุข” ขนาดไหน ประเสริฐวิเศษขนาดไหนมีอะไรในโลกที่จะเทียบเท่าความสุขของ “ใจ” ที่ลง “รวม” ทราบได้เข้าใจดี ในตัวของตัว เมื่อเป็นอย่างนั้น ถอดถอนขึ้นมาพิจารณา “ธาตุ” “ขันธ์” หรือพิจารณาอะไร ก็มีกำลัง สามารถที่จะรู้จะเข้าใจ หรือบางที่ก็เกิดความรู้ผุดขึ้น จากตนเอง แล้วแต่วาสนา อุปนิสัย บางท่านก็เป็น “บาลี” ขึ้นมา บางท่านก็ออกภาษาของเราเอง บอกให้รู้เรื่องต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยนึกเคยฝัน เคยศึกษามาจากใคร แต่มันก็บอกขึ้น เป็นขึ้น ให้เราเข้าใจ ทางผิดก็บอก ทางถูกก็บอก เมื่อ “จิต” ของเราเข้าถึง “ธรรม” มีความสงบสงัดภายใน การฟังธรรมจากใจตัวเอง ฟังได้ เพราะมันผุดบอก ผิด ถูก ดี ชั่ว ต่างๆ ประพฤติปฏิบัติง่าย สะดวกสบาย จิตจะเป็นอย่างนั้นก็ต้องอาศัย การขยันหมั่นเพียร กระทำบำเพ็ญ ไม่ทำเล่นพอเป็นพิธี หากทำจริงทำจัง จะต้องเห็น ต้องเป็นทุกคนไป เมื่อถึงระยะเวลา ถึงคราว “มันจะเป็น” มันก็เป็นลงไปอีก “รวมลง” ไปอีก
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
"เราท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด นับภพนับชาติไม่ได้ นับไม่ถ้วน แล้วไม่ได้อะไรดีสักอย่าง เกิดมามีแต่แก่ไปๆ ทับแผ่นดิน หาประโยชน์อันใดมิได้"
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู
• อุณหิสสวิชัย ชัยชนะที่ไม่มีวันแพ้ •
อัตถิ อุณหิสสะ วิชะโย ธัมโม โลเก อะนุตตะโร สัพพะ สัตตะ หิตัตถายะ ตัง ตวัง คัณหาหิ เทวะเต ปะริวัชเช ราชะทัณเฑ อะมะนุสเสหิ ปาวะเก พยัคเฆ นาเค วิเสภูเต อะกาละ มะระเณนะ วา สัพพัสมา มะระณา มุตโต ฐะเปตวา กาละมาริตัง ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา สุทธะสีลัง สะมาทายะ ธัมมัง สุจะริตัง จะเร ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา ลิกขิตัง จินติตัง ปูชัง ธาระณัง วาจะนังคะรุง ปะเรสัง เทสะนัง สุตวา ตัสสะ อายุ ปะวัฑฒะตีติ ฯ
เรื่องการยืดอายุการตายออกไป พระพุทธองค์ทรงประทานพระคาถาให้เทวดาองค์หนึ่ง ชื่อ “เทพอุณหิส” ซึ่งตระหนักถึงเวลาต้องจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์ แต่ไม่อยากลงมา ใคร่อยู่ในเทวโลกต่อ และกราบทูลขอต่อพระพุทธเจ้า
ซึ่งพระองค์ก็ทรงเมตตาประทานพระคาถายืดอายุให้ เทพอุณหิสจึงมีชีวิตยืนยาวอยู่ในเทวโลก
"คาถาอุณหิสวิชัย" แปลใจความว่า พระธรรมอันชื่อว่า อุณหิสวิชัยมีอยู่ เป็นธรรมอันยอด เยี่ยมในโลก
"ดูก่อนเทวดา! ท่านจงเรียนอุณหิสวิชัยธรรมนั้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ พึงหลีกเว้นเสียได้ ซึ่งราชทัณฑ์ อมนุษย์ทั้งหลาย เพลิงไฟ เหล่าเสือ นาค สัตว์มีพิษร้าย รอดพ้น จากอกาลมรณะ (ความตายในเมื่อยังไม่ถึงเวลาอันสมควร) จากความตายทุกอย่าง ทุกประการ เว้นแต่กาลมรณะ (ความตายในเมื่อถึงกาลอันสมควร)
ด้วยอานุภาพแห่งอุณหิสวิชัยธรรมนั้น ขอเทพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุขทุกเมื่อ
(พระธรรมนี้) เอามาเขียนก็ดี นึกคิดก็ดี บูชาก็ดี ทรงจำก็ดี บอกกล่าวเคารพก็ดี ฟังที่ท่านแสดงแก่ผู้อื่นก็ดี จะทำให้มีอายุจำเริญแล"
หลวงปู่ลี ท่านบันทึก และอธิบายความว่า
“ผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ผู้นั้นย่อมชนะได้ซึ่งความร้อน”
"อุณหิสสะ" คือ ความร้อนอันเกิดแก่ตน มีทั้งภายในและภายนอก
"ภายนอก" มี เสือ สาง คางแดง ภูตผี ปีศาจ
"ภายใน" คือ กิเลส เป็นต้น
"วิชัย" คือ ความชนะ
ผู้ที่มาน้อมสรณะทั้ง 3 นี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมจะชนะความร้อนเหล่านั้นไปได้หมดทุกอย่าง ที่เรียกว่า อุณหิสสะวิชัย
อุณหิสสะวิชโย ธัมโม โลเก อนุตตะโร
พระธรรมเป็นของยิ่งในโลกทั้ง 3 สามารถชนะซึ่งความร้อนอกร้อนใจ อันเกิดแต่ภัยต่างๆ จะเว้นห่างจากอันตรายทั้งหลาย คืออาชญาของ พระราชา เสือ สาง นาค ยาพิษ ภูตผี ปีศาจ
หากว่ายังไม่ถึงคราวถึงกาลที่จักตายแล้ว ก็จักพ้นไปได้จากความตาย ด้วยอำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ตนน้อมเอาเป็นสรณะที่พึ่งที่นับถือนั้น
ลิขิตธรรม: หลวงปู่ลี กุสลธโร
"พิธีการอะไรต่ออะไรทั้งหมดนี่ นี่ จะเข้าบ้านจะอะไรก็ต้องมีพิธีการ จะยกบ้านก็ต้องมีพิธีการ ต้องดูฤกษ์ดูยาม ดูไปแล้วถ้าหากว่าได้รับความสะดวกสบายในการ อยู่อาศัย นี่ ก็เรียกว่าได้ทำอย่างนั้นมันถูกต้อง เป็นเพราะอันนั้น ไม่ได้คิดถึงว่าบุญกุศล ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่คิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ฤกษ์ดีคืออะไร คือมีการทำความดีอยู่ เว้นจากความชั่วด้วยประการทั้งปวงนั้นแหละ ในขณะใดขณะนั้นเรียกว่าฤกษ์ดี นี่ ไม่เห็นว่าต้อง 9 นาฬิกา 9 นาที 9 นาฬิกา 39 นาที ไม่เห็นมี นาฬิกามันจะเป็นฤกษ์เป็นยามอะไร ไม่ไขลานมันก็หยุด ฤกษ์งามยามดีมันอยู่กับการกระทำของเรานี่ ฤกษ์มันไม่งามยามมันชั่ว ก็อยู่กับการกระทำของเรานี่เหมือนกัน ความเป็นมงคลหรือความเป็นอัปมงคล อยู่ในเรานี่ทั้งนั้น
เพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนา เรื่องฤกษ์งามยามดีเอาไว้ นี่ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม คือการกระทำที่ดีทางกาย การกระทำที่ดีทางวาจา การกระทำที่ดีทางใจ อันนี้ล่ะฤกษ์ดี ขณะใดมีการกระทำความดี ทางกาย ทางวาจา ทางใจ นั่นล่ะ ขณะนั้นฤกษ์ดีของเรา ขณะใดมีการทำความไม่ดี ทำความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ นั่นล่ะ ฤกษ์ชั่ว"
หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
|