๔. มัจจุปาสามุตติกปัญหา ๑๔
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสิตแล้วว่า 'บุคคลตั้งอยู่ในอากาศ ไม่พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุ คือความตาย, บุคคลตั้งอยู่ในสมุทร ไม่พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุ, บุคคลเข้าไปสู่ช่องแห่งภูเขาทั้งหลายแล้ว ไม่พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุ, บุคคลตั้งอยู่ในประเทศแผ่นดินใด พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุได้ ประเทศแผ่นดินนั้นไม่มี' ดังนี้. ส่วนปริตรทั้งหลาย อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขึ้นแล้วอีก; ปริตรทั้งหลายอย่างไรนี้? ปริตรทั้งหลาย คือ รตนสูตรหนึ่ง ขันธปริตรหนึ่ง โมรปริตรหนึ่ง ธชัคคปริตรหนึ่ง อาฏานาฏิยปริตรหนึ่ง อังคุลามาลปริตรหนึ่ง. ถ้าว่าบุคคล แม้ไปในอากาศแล้ว แม้ไปในท่ามกลางแห่งสมุทรแล้ว แม้ไปในปราสาท และกุฎี และที่เป็นที่เร้น และถ้ำ และเงื้อมเขา และซอกเขา และปล่อง และช่องเขา และระหว่างภูเขาย่อมไม่พ้นจากบ่วงแห่งมัจจุได้, ถ้าอย่างนั้น ความกระทำปริตรเป็นผิด. ถ้าว่าความพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุได้ ด้วยความกระทำปริตรย่อมมีไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บุคคลตั้งอยู่แล้วในอากาศ ตั้งอยู่แล้วในท่ามกลางแห่งสมุทร เข้าไปสู่ช่องแห่งภูเขาทั้งหลายแล้ว ไม่พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุ, บุคคลตั้งอยู่แล้วในประเทศแผ่นดินใด พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุได้ ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น ย่อมไม่มี' ดังนี้ แม้นั้นก็เป็นผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มีขอดยิ่งกว่าขอดโดยปกติ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้น พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขให้จะแจ้งเถิด." พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'บุคคลตั้งอยู่แล้วในอากาศ พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุไม่ได้, บุคคลตั้งอยู่แล้วในท่ามกลางแห่งสมุทร พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุไม่ได้, บุคคลเข้าไปแล้วสู่ช่องแห่งภูเขาทั้งหลาย พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุไม่ได้, บุคคลตั้งอยู่ในประเทศแผ่นดินใด พึงพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุได้ ประเทศแผ่นดินนั้นย่อมไม่มี' ดังนี้. อนึ่งปริตรทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยกขึ้นแสดงแล้ว. ก็แหละความยกปริตรขึ้นแสดงนั้น พระองค์ทรงกระทำเพื่อบุคคลมีอายุยังเหลืออยู่ เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวัย มีกรรมเครื่องห้ามกันไปปราศจากสันดานแล้ว, ความกระทำหรือ หรือความพากเพียรเพื่อความตั้งมั่นของบุคคลผู้สิ้นอายุแล้วย่อมไม่มี, เหมือนต้นไม้ตายแล้ว แห้งแล้วผุไม่มียาง มีความเป็นอันตรายกั้นแล้ว มีอายุสังขารไปแล้ว เมื่อบุคคลพรมน้ำแม้สักพันหม้อ ความเป็นของชุ่มหรือ หรือความเป็นไม้มีใบอ่อน และเป็นของเขียวของต้นไม้นั้น ไม่พึงมี ฉันใด, ความกระทำหรือความเพียรด้วยเภสัช และความกระทำปริตรเพื่อความตั้งมั่นแห่งบุคคลผู้สิ้นอายุแล้ว ไม่มี. โอสถและยาทั้งหลายในแผ่นดินเหล่าใดนั้น แม้ยาทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของไม่กระทำกิจของบุคคลผู้สิ้นอายุแล้วปริตรย่อมรักษาคุ้มครองได้แต่บุคคลผู้มีอายุยังเหลืออยู่ ถึงพร้อมแล้วด้วยวัยปราศจากกรรมเครื่องห้ามแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปริตรทั้งหลายขึ้นแล้ว เพื่อประโยชน์แก่บุคคลมีอายุยังเหลืออยู่. เปรียบเหมือนชาวนา เมื่อข้าวเปลือกสุกแล้ว เมื่อซังข้าวตายแล้ว พึงกั้นน้ำไม่ให้เข้าไปในนา, แต่ข้าวกล้าใด ที่ยังอ่อนอาศัยเมฆ ถึงพร้อมแล้วด้วยวัย ข้าวกล้านั้น ย่อมเจริญโดยความเจริญด้วยน้ำ ฉันใด, เภสัชและความกระทำปริตร เพื่อบุคคลผู้สิ้นอายุแล้ว พระองค์ยกห้ามแล้ว, ก็แต่ว่า มนุษย์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้มีอายุยังเหลืออยู่ ยังถึงพร้อมด้วยวัยอยู่ พระองค์ตรัสปริตรและยาทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น, มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น เจริญอยู่ด้วยปริตรและเภสัชทั้งหลาย ขอถวายพระพร." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ถ้าบุคคลสิ้นอายุแล้ว ย่อมตาย บุคคลที่ยังมีอายุเหลืออยู่ ย่อมเป็นอยู่, ถ้าอย่างนั้น ปริตรและเภสัชทั้งหลายเป็นของไม่มีประโยชน์น่ะซิ." ถ. "ขอถวายพระพร ก็บรมบพิตรเคยทอดพระเนตรเห็นโรคอะไร ๆ ที่คืนคลายไป เพราะเภสัชทั้งหลายบ้างหรือไม่?" ร. "เคยเห็นซิ พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้เห็นมาหลายร้อยแล้ว." ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ความทำปริตรและเภสัชหาประโยชน์มิได้' ดังนี้นั้น ย่อมเป็นคำผิด." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ความดื่มและชะโลมยาทั้งหลายเพราะความเพียรของหมอทั้งหลายปรากฏอยู่, โรคคืนคลายเพราะความเพียรนั้นของหมอทั้งหลายเหล่านั้น." ถ. "ขอถวายพระพร แม้เสียงของบุคคลทั้งหลาย เมื่อยังปริตรทั้งหลายให้เป็นไปอยู่ คือ สวดปริตรอยู่ ชนทั้งหลายอื่นย่อมได้ยินอยู่, ชิวหาของบุคคลผู้สวดปริตรเหล่านั้นย่อมแห้ง ใจย่อมวิงเวียน คอย่อมแหบ; พยาธิทั้งปวงย่อมระงับไป ความจัญไรทั้งหลายทั้งปวงย่อมปราศจากไป ด้วยความเป็นไปแห่งปริตรทั้งหลายเหล่านั้น ๆ. บรมบพิตรเคยทอดพระเนตรเห็นแล้วหรือ ใคร ๆ ที่อสรพิษกัดแล้ว ผู้มีวิชชาปริตรขับพิษขจัดปัดเป่าพิษให้เสื่อมคลาย มีชีวิตรอดอยู่ได้." ร. "อย่างนั้นซิ พระผู้เป็นเจ้า ข้อนั้นย่อมเป็นไปในโลก แม้ในทุกวันนี้." ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ความกระทำปริตรและเภสัชหาประโยชน์มิได้' ดังนี้นั้นผิด. เพราะอสรพิษใคร่จะกัด ก็กัดบุรุษผู้กระทำปริตรแล้วไม่ได้, ปากของอสรพิษที่อ้าขึ้นแล้วย่อมหุบลง, แม้ตะบองที่โจรทั้งหลายเงื้อขึ้นแล้ว ย่อมตีไม่ลง, โจรทั้งหลายเหล่านั้นปล่อยตะบองเสีย กระทำความรักใคร่, คชสารประเสริฐ แม้โกรธแล้วเข้ามาใกล้แล้ว กลับยินดี, กองไฟใหญ่โพลงชัชวาลแล้วเข้ามาใกล้แล้วดับไป, ยาพิษแรงกล้าอันบุรุษผู้กระทำปริตรนั้นเคี้ยวแล้วกลับกลายเป็นยาบำบัดโรคไปบ้าง แผ่ไปเพื่ออาหารกิจบ้าง, ข้าศึกทั้งหลายใคร่จะฆ่า ครั้นเข้าไปใกล้แล้ว กลับยอมตัวเป็นทาส, บ่วงแม้บุรุษผู้กระทำปริตรนั้นเหยียบแล้ว ย่อมไม่รูด. อนึ่ง บรมบพิตรเคยทรงสดับแล้วหรือ เมื่อนกยูงกระทำปริตรอยู่ พรานนกไม่อาจเพื่อจะนำบ่วงเข้าไปใกล้นกยูงนั้นถึงเจ็ดร้อยปี, มาวันหนึ่ง นกยูงนั้นประมาทไปหาได้กระทำปริตรไม่ พรานนกจึงได้นำบ่วงเข้าไปใกล้นกยูงนั้นได้ในวันนั้น." ร. "ข้าพเจ้าเคยได้ฟังซิ กิตติศัพท์นั้นฟุ้งทั้งไปในโลกทั้งเทวดา." ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ความกระทำปริตรและเภสัชหาประโยชน์มิได้' ดังนี้นั้นเป็นผิด. อนึ่ง บรมบพิตรเคยทรงสดับแล้วหรือ ทานพ (อสูรบุตรของอสูรมารดาชื่อ ทนุ) เมื่อจะรักษาภริยา เก็บภริยาไว้ในผอบแล้วกลืนผอบเข้าไว้ในท้อง บริหารรักษาด้วยท้อง, ครั้งนั้น วิทยาธรเข้าไปทางปากของทานพนั้น อภิรมย์กับด้วยภริยาของทานพนั้น, ในกาลที่ทานพนั้นได้รู้แล้ว ได้คายผอบนั้นออกเปิดดู, ขณะเปิดผอบนั้น วิทยาธรหลีกหนีไปได้ตามความปรารถนา." ร. "ข้าพเจ้าเคยได้ฟังซิ พระผู้เป็นเจ้า แม้กิตติศัพท์นั้นฟุ้งทั่วไปในโลกกับทั้งเทวดา." ถ. "ขอถวายพระพร วิทยาธรนั้นพ้นแล้วจากการจับไป ด้วยกำลังแห่งปริตรไม่ใช่หรือ?" ร. "อย่างนั้นซิ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น กำลังแห่งปริตรมีอยู่." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ปริตรรักษาชนทั้งหลายปวงทั่วไปหรือ?" ถ. "ขอถวายพระพร ปริตรรักษาชนทั้งหลายบางจำพวก ไม่รักษาคนทั้งหลายบางจำพวก." ร. "ถ้าอย่างนั้น ปริตรไม่เป็นประโยชน์แก่ชนทั้งหลายทั้งปวงทั่วไปนั่นซิ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร โภชนะย่อมรักษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงหรือหนอแล?" ร. "โภชนะย่อมรักษาชนทั้งหลายบางพวก ไม่รักษาชนทั้งหลายบางพวก." ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ณ กาลใด ชนทั้งหลายบางพวกบริโภคโภชนาหารนั้นมากเกินประมาณ ย่อมจุกตาย ในกาลนั้น. เพราะเหตุนั้น จึงว่า 'โภชนะรักษาชนทั้งหลายบางพวก ไม่รักษาชนทั้งหลายบางพวก." ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น โภชนะไม่รักษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทั่วไป." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน โภชนะย่อมนำ คือ ทอนชีวิตสัตว์ทั้งหลายด้วยเหตุสองอย่าง คือ ความบริโภคมากเกินอย่างหนึ่ง, คือ ความที่สัตว์ผู้บริโภคนั้นมีธาตุไฟหย่อนหนึ่ง; โภชนะเป็นของให้อายุแก่สัตว์ทั้งหลาย มานำไป คือ ทอนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย เพราะความบำรุงไม่ดี." ถ. "ขอถวายพระพร ปริตรย่อมรักษาชนทั้งหลายบางพวกย่อมไม่รักษาชนทั้งหลายบางพวก ฉันนั้นนั่นเทียว. ขอถวายพระพร ปริตรรักษาไว้ไม่ได้ ด้วยเหตุสามอย่าง คือ กัมมวรณ กรรมเป็นเครื่องกั้นหนึ่ง, กิเลสาวรณ กิเลสเป็นเครื่องกั้นหนึ่ง, อสัททหนตา ความไม่เชื่อถือปริตรนั้นให้มั่นคงหนึ่ง. ปรตรเป็นเครื่องตามรักษาสัตว์ ละการรักษาเสีย เพราะเหตุเครื่องกั้นซึ่งสัตว์ทั้งหลายกระทำแล้วด้วยตน. อุปมาเหมือนมารดาเลี้ยงบุตรที่เกิดในครรภ์อุ้มทรงครรภ์มาจนคลอด ด้วยเครื่องบำรุงเป็นประโยชน์เกื้อกูล, ครั้นคลอดแล้ว นำของไม่สะอาด และมลทิน และน้ำมูก เสียจากอวัยวะชำระให้หมดจด ฉาบทาสุคนธ์อันอุดมประเสริฐ, เมื่อบุคคลอื่นด่าอยู่หรือตีอยู่ มารดามีหฤทัยหวั่นไหว ฉุดจูงไปหาเจ้าบ้าน; ถ้าบุตรของมารดานั้นเป็นผู้มีโทษผิดล่วงเขตแดน, เมื่อเป็นเช่นนั้น มารดานั้นย่อมติย่อมโบยบุตรนั้นด้วยท่อนไม้ และตะบอง และเข่า และกำมือทั้งหลาย; มารดาของบุตรนั้นได้เพื่อจะกระทำความฉุดมาฉุดไป และความจับและจูงไปหาเจ้าบ้านหรือเป็นไฉน?" ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร." ร. "เพราะโทษผิดของบุตรนั้นกระทำแล้วเองนะซิ." ถ. "ขอถวายพระพร มารดามิอาจรักษาป้องกันบุตรนั้นไว้ได้ เพราะโทษที่บุตรนั้นกระทำผิดเอง ฉันใด, ปริตรเป็นเครื่องรักษาสัตว์ทั้งหลาย กระทำความรักษาสัตว์ทั้งหลายไว้ไม่ได้ เพราะโทษผิดที่สัตว์ทั้งหลายกระทำด้วยตน ฉันนั้นนั่นเทียวแล." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ดีละ ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าวินิจฉัยดีแล้ว, ชัฏพระผู้เป็นเจ้ากระทำไม่ให้เป็นชัฏแล้ว, มืดพระผู้เป็นเจ้ากระทำให้เป็นแสงสว่างแล้ว, ร่างข่ายคือทิฐิมากระทบพระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเจ้าคณะผู้ประเสริฐแล้ว คลี่คลายไปแล้ว."
๕. ภควโต ลาภันตรายปัญหา ๑๕
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'พระตถาคตรวย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาเป็นปัจจัยแก่คนไข้เป็นบริกขารทั้งหลาย' ดังนี้. อนึ่ง พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอีกว่า พระตถาคตเสด็จเข้าไปสู่บ้านแห่งพราหมณ์ชื่อ ปัญจสาลคามเพื่อบิณฑาหาร ไม่ได้วัตถุอันใดอันหนึ่งเลย มีบาตรล้างแล้วอย่างไร คือ ทรงแต่บาตรเปล่า เสด็จออกแล้ว.' ถ้าว่าพระตถาคตรวยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาเป็นปัจจัยแก่คนไข้เป็นบริกขารทั้งหลาย, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระองค์ได้เสด็จเข้าไปสู่บ้านแห่งพราหมณ์ชื่อปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑาหาร ไม่ได้วัตถุอันใดอันหนึ่งเลยทีเดียว มีบาตรล้างแล้วอย่างไร คือ ทรงแต่บาตรเปล่าเสด็จออกแล้ว' ดังนี้นั้นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตเสด็จเข้าไปสู่บ้านแห่งพราหมณ์ชื่อ ปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑาหาร ไม่ได้วัตถุอันใดอันหนึ่งเลยทีเดียว ทรงบาตรล้างแล้วอย่างไร เสด็จออกแล้ว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตรวย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาเป็นปัจจัยแก่คนไข้เป็นบริขารทั้งหลาย' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อนใหญ่ด้วยดี บัณฑิตพึงแทงตลอดโดยยาก มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงขยายออกให้แจ้งชัดเถิด." พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระตถาคตรวยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาเป็นปัจจัยแก่คนไข้เป็นบริขารทั้งหลาย. อนึ่ง พระองค์เสด็จเข้าไปสู่บ้านแห่งพราหมณ์ชื่อ ปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑาหาร ไม่ได้วัตถุอันใดอันหนึ่งเลยทีเดียวแล้ว ทรงบาตรล้างแล้วอย่างไร เสด็จออกแล้ว. ก็แหละ ความที่พระองค์ไม่ได้วัตถุอันใดอันหนึ่ง ทรงแต่บาตรเปล่าเสด็จออกแล้วนั้น เป็นไปเพราะเหตุแห่งมารผู้มีบาป." ร. "พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น กุศลที่พระองค์ทรงก่อสร้างไว้แล้วสิ้นกัปป์ทั้งหลาย ล่วงคลองแห่งการนับแล้ว จะสำเร็จผลอะไร, มารผู้มีบาป ตั้งขึ้นแล้วในกาลนี้ จะพึงปิดกุศลนั้น เป็นธรรมเครื่องอยู่มีกำลังและเรี่ยวแรงแล้วว่ากระไร. ถ้าอย่างนั้น อุปวาทจะมาในสองสถานเพราะวัตถุนั้นว่า 'อกุศลเป็นของกำลังวิเศษแม้กว่ากุศล, กำลังของมาย่อมมีกำลังวิเศษแม้กว่ากำลังของพระพุทธเจ้า.' ถ้าอย่างนั้นยอดไม้เป็นของหนักวิเศษแม้กว่าโคนแห่งต้นไม้, บาปที่สุดจะเป็นของมีกำลังวิเศษแม้กว่าบุคคลที่สะพรั่งแล้วด้วยคุณ." ถ. "ขอถวายพระพร อกุศลซึ่งจะเป็นของมีกำลังวิเศษแม้กว่ากุศล และกำลังของมารซึ่งจะเป็นของมีกำลังวิเศษแม้กว่ากำลังของพระพุทธเจ้า. เพราะเหตุมีประมาณเท่านั้น หามิได้. เออก็ บรมบพิตรพึงปรารถนาเหตุในข้อนี้. ขอถวายพระพร เหมือนมีบุรุษนำน้ำผึ้งหรือ หรือรวงแห่งน้ำผึ้ง หรือเครื่องบรรณาการอื่นทูลเกล้า ฯ ถวายแด่พระเจ้าจักรพรรดิ, บุรุษผู้รักษาพระทวารของพระเจ้าจักรพรรดิ พึงว่ากะบุรุษนั้นนั่นอย่างนี้ว่า 'สมัยนี้ ไม่ใช่กาลเพื่อจะเฝ้าพระมหากษัตริย์, เหตุนั้นแล ท่านจงถือเครื่องบรรณาการของท่านกลับไปเสียเร็ว ๆ เถิด อย่าทันให้พระมหากษัตริย์ลงพระราชอาชญาแก่ท่านเสียก่อนเลย, ลำดับนั้น บุรุษนั้นสะดุ้งหวาดเสียวแล้ว เพราะกลัวแต่พระราชอาชญา พึงถือเครื่องบรรณาการนั้นกลับไปเร็ว ๆ ฉันใด; พระเจ้าจักรพรรดินั้น ชื่อว่าเป็นผู้เสื่อมโดยวิเศษ เพราะบุรุษผู้รักษาซึ่งพระทวาร ก็หรือไม่พึงได้เครื่องบรรณาการหน่อยหนึ่งอันอื่น ด้วยเหตุสักว่าขาดแคลนเครื่องบรรณาการ มีประมาณเท่านั้นบ้างหรือแล ขอถวายพระพร." ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า บุรุษผู้รักษาพระทวารนั้น เป็นผู้อันความริษยาครอบงำแล้ว ห้ามเครื่องบรรณาการเสียแล้ว, ก็แต่ว่า เครื่องบรรณาการแม้แสนเท่า ย่อมเข้าถึงแด่พระเจ้าจักรพรรดิโดยพระทวารอื่น." ถ. "ขอถวายพระพร บุรุษผู้รักษาพระทวารนั้น อันความริษยาครอบงำแล้ว ห้ามเครื่องบรรณาการของพระเจ้าจักรพรรดิเสียแล้วถึงกระนั้น เครื่องบรรณาการแม้แสนเท่า ย่อมเข้าถึงแด่พระเจ้าจักรพรรดิโดยพระทวารอื่น ฉันใด, มารผู้มีบาปอันความริษยาครอบงำแล้ว สิงพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายชาวบ้านปัญจสาลคามแล้ว, ถึงกระนั้น แสนแห่งเทพดาทั้งหลายเหล่าอื่นมิใช่แสนเดียว ถือโอชาทิพย์อมฤตเข้าไปใกล้แล้ว เป็นผู้ประคองอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้ายืนอยู่ ด้วยคิดว่า 'เราทั้งหลายจักแทรกทิพยโอชาลงในพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า' ฉันนั้นนั่นเทียว ขอถวายพระพร." ร. "ข้อนั้นจงยกไว้เถิด พระผู้เป็นเจ้า ปัจจัยทั้งหลายสี่ เป็นลาภดีของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้บุรุษสูงสุดในโลก หรือพระองค์อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายวิงวอนเชิญบริโภคปัจจัยทั้งหลายสี่ เออก็แหละความประสงค์อันใดของมาร ความประสงค์นั้น สำเร็จแล้วด้วยเหตุมีประมาณเท่านั้น มารนั้นได้กระทำอันตรายแก่ความเสวยของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเหตุไรเล่า. ความสงสัยในข้อนี้ของข้าพเจ้ายังไม่ขาด, ข้าพเจ้ามีความสงสัยในข้อนั้นเกิดแล้ว แล่นไปสู่ความสงสัยแล้ว, ใจของข้าพเจ้าย่อมไม่แล่นไปในเหตุนั้น มารได้กระทำอันตรายแก่ลาภเลวทรามเล็กน้อย เป็นบาป ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า แด่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอัครบุคคลประเสริฐ มีบุญเป็นกุศลประเสริฐเป็นแดนเถิด ไม่มีใครเสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอในโลกกับทั้งเทวดา เพราะเหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร อันตรายมีอยู่สี่ประการ คือ อทิฏฐันตราย อันตรายด้วยความไม่เห็นหนึ่ง อุททิสสกตันตราย อันตรายกะโภชนะอันบุคคลเฉพาะกระทำแล้วหนึ่ง อุปักขตันตราย อันตรายกะของอันบุคคลเตรียมไว้แล้วหนึ่ง ปริโภคันตราย อันตรายในของเครื่องใช้สอยหนึ่ง. ในอันตรายทั้งสี่นั้น ชื่อ อทิฏฐันตราย คือใคร ๆ กระทำอันตรายกะของที่บุคคลปรุงไว้แล้วไม่เฉพาะ ด้วยอันไม่เห็น ด้วยคิดว่า 'ประโยชน์อะไรด้วยอันให้แล้วแก่บุคคลอื่น.' นี้ชื่อ อทิฏฐันตราย. อุททิสสกตันตรายเป็นไฉน? ในโลกนี้ โภชนะเป็นของอันใคร ๆ อ้างบุคคลบางคนแล้ว ตกแต่งเฉพาะแล้ว ใคร ๆ กระทำอันตรายกะโภชนะ นั้น, นี้ชื่อ อุททิสสกตันตราย. อุปักขตันตรายเป็นไฉน? ในโลกนี้ วัตถุ อันใดอันหนึ่งเป็นของอันบุคคลเตรียมไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ประเคนแล้ว ใคร ๆ กระทำอันตรายในวัตถุที่เขาเตรียมไว้แล้วนั้น, นี้ชื่อ อุปักขตันตราย. ปริโภคันตราย เป็นไฉน? ในโลกนี้ วัตถุอันใดอันหนึ่งเป็นเครื่องใช้สอยใคร ๆ กระทำอันตรายในวัตถุเครื่องใช้สอยนั้น, นี้ชื่อเป็น ปริโภคันตราย. อันตรายทั้งหลายสี่เหล่านี้แล. ขอถวายพระพร ก็มารผู้มีบาปสิงพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านปัญจสาลคามทั้งหลายแล้ว เพราะเหตุใด, ที่นั้นจะเป็นที่บริโภคของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ใช่เลย จะเป็นวัตถุอันบุคคลตระเตรียมแล้ว ก็ไม่ใช่ จะเป็นโภชนะอันบุคคลกระทำเฉพาะแล้ว ก็ไม่ใช่, วัตถุยังไม่มาแล้ว ยังไม่ถึงพร้อมแล้ว มารกระทำอันตรายด้วยความเห็น; ก็ความกระทำอันตรายนั้น เฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์เดียวเท่านั้นหามิได้, ชนทั้งหลายเหล่าใดออกแล้ว มาเฉพาะแล้วโดยสมัยนั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้นแม้ทั้งปวงไม่ได้โภชนะแล้วในวันนั้น. บุคคลใด พึงกระทำอันตรายกะเครื่องบริโภคอันบุคคลกระทำเฉพาะแล้ว เตรียมไว้แล้วเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อาตมภาพไม่เห็นบุคคลนั้นในโลกทั้งเทพดาทั้งมารทั้งพรหม ในหมู่สัตว์กับทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทพดาและมนุษย์; ถ้าใคร ๆ พึงกระทำอันตรายกะเครื่องบริโภคอันบุคคลกระทำเฉพาะแล้ว เตรียมไว้แล้ว เพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยความริษยา, ศีรษะของบุคคลนั้น พึงแตกโดยร้อยภาค หรือพันภาค ขอถวายพระพร. ขอถวายพระพร คุณทั้งหลายของพระตถาคตสี่ประการเหล่านี้อันใคร ๆ ห้ามกันไม่ได้, คุณทั้งหลายสี่ประการที่ใคร ๆ ห้ามกันไม่ได้เป็นไฉน? ลาภอันบุคคลกระทำแล้วเฉพาะ เตรียมไว้แล้ว เพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำอันตรายหนึ่ง, แสงสว่างมีวาหนึ่งเป็นประมาณ ไปตามพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำอันตรายหนึ่ง, รัตนะ คือ พระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำอันตรายหนึ่ง, พระชนมชีพของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำอันตรายหนึ่ง, คุณทั้งหลายของพระตถาคตเจ้าสี่ประการเหล่านี้แล อันใคร ๆ พึงห้ามกันไม่ได้. คุณทั้งหลายแม้ทั้งปวงเหล่านี้ มีรสเป็นอันเดียว ไม่มีโรค ไม่กำเริบ ไม่มีความเพียรแห่งผู้อื่น กิริยาทั้งหลายเป็นของไม่หยาบ. มารผู้มีบาปแอบสิงพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายชาวบ้านปัญจสาลคาม ด้วยความไม่เห็น, โจรทั้งหลายซุ่มอยู่ในชัฏในประเทศที่สุดแห่งแดนของพระมหากษัตริย์ ประทุษร้ายชนเดินทาง ก็ถ้าว่า พระมหากษัตริย์พึงทอดพระเนตรเห็นโจรทั้งหลายเหล่านั้นไซร้, โจรทั้งหลายเหล่านั้นพึงได้ความสวัสดี หรือเป็นไฉนเล่า? ขอถวายพระพร" ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระมหากษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นโจรทั้งหลายเหล่านั้นไซร้, พระองค์พึงทรงบัญชาให้ราชบุรุษผ่าโจรทั้งหลายเหล่านั้นร้อยภาคบ้าง พันภาคบ้าง." ถ. "ขอถวายพระพร โจรทั้งหลายซุ่มอยู่ในชัฏในประเทศเป็นที่สุดแห่งแดนของพระมหากษัตริย์ ประทุษร้ายชนเดินทางได้ ด้วยความที่พระมหากษัตริย์ไม่ทอดพระเนตรเห็น ฉันใด, มารผู้มีบาปแอบสิงพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายชาวบ้านปัญจสาลคามได้ ด้วยความที่ใคร ๆ ไม่เห็น ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนสตรียังพร้อมด้วยสามี ลอบเสพบุรุษอื่นด้วยความที่สามีไม่เห็น ฉันใด, มารผู้มีบาปแอบสิงพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายชาวบ้านปัญจสาลคามได้ ด้วยความที่ใคร ๆ ไม่เห็นฉันนั้นโดยแท้; ถ้าสตรีเสพบุรุษอื่นในที่เฉพาะหน้าของสามีไซร้, สตรีนั้นพึงได้ความสวัสดีบ้างหรือเป็นไฉน? ขอถวายพระพร" อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนสตรียังพร้อมด้วยสามี ลอบเสพบุรุษอื่นด้วยความที่สามีไม่เห็น ฉันใด, มารผู้มีบาปแอบสิงพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายชาวบ้านปัญจสาลคามได้ ด้วยความที่ใคร ๆ ไม่เห็นฉันนั้นโดยแท้;ถ้าสตรีเสพบุรุษอื่นในที่เฉพาะหน้าของสามีไซร้, สตรีนั้นพึงได้ความสวัสดีบ้างหรือเป็นไฉน? ขอถวายพระพร" ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสตรีนั้นเสพบุรุษอื่นต่อหน้าสามีไซร้, สามีพึงทุบสตรีนั้นบ้าง พึงฆ่าสตรีนั้นบ้าง พึงจำสตรีนั้นไว้บ้าง พึงนำสตรีนั้นเข้าไปสู่ความเป็นทาสีบ้างซิ." ถ. "ขอถวายพระพร มารผู้มีบาปแอบสิงพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายชาวบ้านปัญจสาลคามได้แล้ว ด้วยความที่ใคร ๆ ไม่เห็นฉันนั้นนั่นเทียวแล. ถ้าว่ามารผู้มีบาป พึงกระทำอันตรายกะเครื่องเสวยที่บุคคลอุทิศเฉพาะกระทำแล้ว เตรียมไว้แล้ว เพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าไซร้, ศีรษะของมารนั้น พึงแตกโดยร้อยภาคบ้าง โดยพันภาคบ้าง ขอถวายพระพร." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ความแอบสิงอย่างนั้นนั่น มารผู้มีบาปกระทำแล้วด้วยความเป็นโจร, มารผู้มีบาปแอบสิงพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายชาวบ้านปัญจสาลคามได้แล้ว. ถ้าว่ามารผู้มีบาปนั้นพึงกระทำอันตรายกะเครื่องเสวยที่บุคคลเฉพาะกระทำแล้ว เตรียมไว้แล้ว เพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าไซร้, ศีรษะของมารนั้นพึงแตกร้อยภาคบ้างพันภาคบ้าง, กายของมารนั้น พึงเรี่ยรายไปเหมือนดังกำแห่งเถ้าบ้าง. ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๖. สัพพสัตตหิตจรณปัญหา ๑๖
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'พระตถาคตนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลออกเสีย เข้าไปตั้งประโยชน์เกื้อกูลไว้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง, ดังนี้. อนึ่ง พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่อีกว่า 'เมื่อธรรมปริยายเปรียบด้วยกองแห่งไฟ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอยู่ โลหิตร้อนพลุ่งขึ้นแล้วจากปากภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบ' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคต เมื่อทรงแสดงธรรมปริยายมีกองแห่งไฟเป็นเครื่องเปรียบ นำประโยชน์เกื้อกูลของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบออกเสียแล้ว เข้าไปตั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. ถ้าว่าพระตถาคตนำสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูลออกเสีย เข้าไปตั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ธรรมปริยายมีกองไฟเป็นเครื่องเปรียบ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอยู่ โลหิตร้อนพลุ่งออกแล้วจากปากของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบ นั้นผิด. ถ้าเมื่อธรรมปริยายมีกองไฟเป็นเครื่องเปรียบ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอยู่ โลหิตร้อนพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบจริง, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตนำสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูลออกเสีย เข้าไปตั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. แม้ปัญหานี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด" พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระตถาคตนำสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ออกเสีย เข้าไปตั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง, เมื่อธรรมปริยายมีกองไฟเป็นเครื่องเปรียบ พระองค์ตรัสเทศนาอยู่ โลหิตร้อนพลุ่งออกแล้วจากปากของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบด้วยจริง, ก็และโลหิตนั้นจะได้พลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะกิริยาของพระตถาคต ก็หาไม่ โลหิตนั้นพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะกิริยาของตนของภิกษุทั้งหลายนั่นเอง." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระตถาคตไม่ทรงภาสิตธรรมปริยายมีกองไฟเป็นเครื่องเปรียบ โลหิตร้อนจะพึงพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นหรือ?" ถ. "หาไม่ ขอถวายพระพร ความเร่าร้อนเกิดขึ้นแล้วในกายของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติผิดแล้ว เพราะได้ฟังธรรมปริยายของพระผู้มีพระภาคเจ้า, โลหิตร้อนพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะความเร่าร้อนนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าอย่างนั้น โลหิตร้อนพลุ่งออกแล้วจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะกิริยาของพระตถาคตนั้นเอง พระตถาคตทีเดียวเป็ฯอธิการในความที่โลหิตร้อนพลุ่งออกจากปากนั้นเพื่อความฉิบหายของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. อุปมาเหมือนกะว่า งูเข้าไปสู่จอมปลวก, มีบุรุษผู้ต้องการฝุ่นคนใดคนหนึ่ง ทำลายจอมปลวกนำฝุ่นไป, พึงปิดโพรงแห่งจอมปลวกนั้นเสียด้วยความนำฝุ่นไป, ทีนั้นงูในจอมปลวกนั้นนั่นเทียว ไม่ได้ความหายใจ คือ หายใจไม่ได้ ตาย; งูนั้นถึงความตายเพราะกิริยาของบุรุษนั้นไม่ใช่หรือ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร งูนั้นถึงความตายเพราะกิริยาของบุรุษนั้น." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตเป็นอธิการในความที่โลหิตเป็นของร้อนพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายนั้น เพื่อความฉิบหายแห่งภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล." ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตเมื่อทรงแสดงธรรม ไม่ทรงกระทำความเอ็นดูและปฏิฆะ, พระองค์พ้นจากความเอ็นดูและปฏิฆะทรงแสดงธรรม, เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอย่างนี้ บุคคลทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติชอบในธรรมนั้น บุคคลเหล่านี้ย่อมตรัสรู้; ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมตกไป. เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษสั่นต้นมะม่วง หรือต้นชมพู่ หรือต้นมะทราง(น่าจะเป็นมะปรางมากกว่า-ความเห็นส่วนตัว) ผลทั้งหลายในต้นไม้อันใด ที่เป็นสาระมีขั้วมั่น ผลเหล่านั้นไม่เคลื่อนไม่หลุด คงอยู่ในต้นไม้นั้นนั่นเทียว, ส่วนผลทั้งหลายอันใด มีโคนแห่งก้านเน่า มีขั้วทรพล ผลทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมหล่นไป ฉันใด, พระตถาคต เมื่อทรงแสดงธรรม ไม่กระทำความเอ็นดูและปฏิฆะ, พระองค์พ้นแล้วจากความเอ็นดูและปฏิฆะทรงแสดงธรรม, เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่อย่างนี้ บุคคลทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้วในธรรมนั้น บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมตรัสรู้; ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่าใดที่ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมตกไป ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อีกนัยหนึ่ง ชนชาวปรารถนาจะปลูกข้าวกล้า ย่อมไถซึ่งนา, เมื่อชาวนานั้นไถนาอยู่ หญ้าทั้งหลายไม่ใช่แสนเดียวย่อมตายไป ฉันใด;พระตถาคตจะยังสัตว์ทั้งหลายที่มีวิปัสสนาญาณ ซึ่งแก่กล้าแล้วให้ตรัสรู้พระองค์พ้นแล้วจากความเอ็นดูและปฏิฆะทรงแสดงธรรม, เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่อย่างนี้ บุคคลทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้วในธรรมนั้น บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมตรัสรู้; ส่วนว่าบุคคลทั้งหลายเหล่าใด ที่เป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น เหมือนกะหญ้าทั้งหลายที่ตายไปแล้ว ฉันนั้น. อีกนัยหนึ่ง มนุษย์ทั้งหลายหีบอ้อยในยนต์ เหตุจะต้องการรส, เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นหีบอ้อยอยู่ กิมิชาติทั้งหลายเหล่าใด ในยนต์นั้น ที่ไปแล้วในปากแห่งยนต์ กิมิชาติทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมถูกยนต์บีบ ฉันใด; พระตถาคตมีพระประสงค์จะให้สัตว์ทั้งหลายที่มีวิปัสสนาญาณในใจอันแก่กล้าแล้วตรัสรู้ ทรงบีบเฉพาะซึ่งยนต์คือธรรม, สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ที่ปฏิบัติผิดแล้วในธรรมนั้น สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมตายเหมือนกิมิชาติ ฉันนั้นนั่นเทียวแล ขอถวายพระพร." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ตกแล้วด้วยธรรมเทศนานั้น ไม่ใช่หรือ?" ถ. "ขอถวายพระพร ช่างถากเสียดายต้นไม้อยู่ กระทำให้ตรงให้บริสุทธิ์ได้หรือไม่? ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ช่างถากนำไม้ที่ควรเว้นออกเสีย กระทำไม้นี้ให้ตรงให้บริสุทธิ์อย่างเดียว." ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตเมื่อเสียดายบริษัท ไม่อาจเพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้ให้ตรัสรู้ได้, ต้องนำสัตว์ทั้งหลายที่ปฏิบัติผิดออกเสียแล้ว จึงให้สัตว์ทั้งหลายที่ควรตรัสรู้เหล่านี้เท่านั้น ตรัสรู้ได้ ฉันนั้นนั่นเทียว. ก็ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้วย่อมตกไป เพราะกรรมที่ตนกระทำแล้ว. เปรียบเหมือนต้นกล้วย ไม้ไผ่ และนางม้าอัสดร อันผลเกิดแต่ตนย่อมฆ่าเสีย ฉันใด, บุคคลทั้งหลายเหล่าใดนั้นเป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นอันกรรมที่ตนกระทำแล้ว ย่อมฆ่าเสียตกไป ฉันนั้น. อนึ่ง โจรทั้งหลาย ย่อมถึงความควักจักษุเสีย และเสียบด้วยหลาว ตัดศีรษะเสีย เพราะโทษผิดที่ตนกระทำแล้ว ฉันใด, บุคคลทั้งหลายเหล่าใด ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น อันโทษผิดที่ตนกระทำแล้ว ย่อมฆ่าเสีย ย่อมตกลงจากพระชินศาสนา ฉันนั้น. โลหิตร้อนพลุ่งขึ้นแล้วจากปากของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบเหล่าใด โลหิตนั้นของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจะได้พลุ่งออกเพราะกิริยาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็หาไม่ จะได้พลุ่งออกเพราะกิริยาของบุคคลทั้งหลายอื่น ก็หาไม่เลย, โลหิตนั้นพลุ่งออกเพราะโทษผิดที่ตนกระทำแล้วของตนเองโดยแท้แล. เปรียบเหมือนบุรุษ พึงให้อมฤตแก่ชนทั้งปวง, ชนทั้งหลายเหล่านั้นกินอมฤตนั้นแล้วเป็นผู้ไม่มีโรค มีอายุยืน พึงพ้นจากจัญไรทั้งปวงได้, ลำดับนั้น บุรุษคนใดคนหนึ่งกินตอมฤตนั้น ด้วยประพฤติผิดอย่าง จึงถึงความตาย; บุรุษผู้ให้อมฤตนั้น พึงถืออกุศลไม่ใช่บุญหน่อยหนึ่ง มีความให้อมฤตนั้นเป็นเหตุหรือไม่ ขอถวายพระพร" ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร บุรุษผู้ให้อมฤตนั้นไม่ต้องอกุศล ไม่ใช่บุญ เพราะความให้อมฤตนั้นเป็นเหตุ ฉันใด, พระตถาคตทรงให้อมฤตเป็นธรรมทานแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายในโลกธาตุ มีหมื่นหนึ่งเป็นประมาณ, สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นภัพพบุคคลควรตรัสรู้ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมตรัสรู้ด้วยอมฤต คือ ธรรม, ส่วนสัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นอภัพพะไม่ควรจะตรัสรู้ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นอันกิริยาของตน ย่อมฆ่าเสียจากอมฤต ย่อมตกไป ฉันนั้นนั่นเทียวแล." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้า สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น." ๗. เสฏฐธัมมปัญหา ๑๗
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียวเป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ในทิฏฐธรรม คือ ภพเห็นประจักษ์นี้นั่นเทียวด้วย ในภพอันสัตว์พึงถึงในเบื้องหน้าพร้อมเฉพาะด้วย' ดังนี้, ส่วนคฤหัสถ์เป็นอุบาสก เป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว ทราบแจ้งศาสนาแล้วด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่ยังเป็นปุถุชน ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ในทิฏฐธรรมคือภพเห็นประจักษ์นี้นั่นเทียวด้วย ในภาพอันสัตว์พึงถึงในเบื้องหน้าพร้อมเฉพาะด้วย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'คฤหัสถ์เป็นอุบาสกเป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้วด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่ยังเป็นปุถุชน' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าคฤหัสถ์เป็นอุบาสก เป็นโสดบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับ ภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่เป็นปุถุชน, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตรธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ทั้งในทิฏฐิธรรมและอภิสัมปรายะ' ดังนี้ แม้นั้นก็เป็นผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด." พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ แก่มาณพผู้เหล่ากอวาสิฏฐโคตรว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ทั้งในทิฏฐิธรรมด้วย ในอภิสัมปรายะด้วย' ดังนี้, อนึ่ง คฤหัสถ์เป็นอุบาสกเป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาด้วยใจย่อมไหว้ ย่อมลุกรับ ภิกษุและสามเณรที่เป็นปุถุชน ก็แต่ว่า เหตุในปัญหานั้นมีอยู่, เหตุนั้นอย่างไร? ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ เพศทั้งหลายสองด้วย เหล่านี้ซึ่งเป็นเหตุให้พระสมณะเป็นผู้ควรไหว้และลุกรับและความนับถือและบูชา, ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ และเพศทั้งหลายสองอย่างไร? คือ นิยมประเสริฐที่สุด ได้แก่ความมุ่งต่อพระนฤพานหนึ่ง นิยมเลิศ คือ นิยมในพระอรหัตหนึ่ง ความประพฤติหนึ่ง ธรรมเครื่องอยู่หนึ่ง ความสำรวมหนึ่ง ความระวังหนึ่ง ความอดทนหนึ่ง ความเป็นผู้ยินดีในธรรมอันงาม คือ ความเป็นผู้เรียบร้อยหนึ่ง ความประพฤติในความเป็นผู้เดียวหนึ่ง ความยินดียิ่งในความเป็นผู้เดียวหนึ่ง ความหลีกออกเร้นอยู่หนึ่ง หิริโอตตัปปะหนึ่ง ความเพียรหนึ่ง ความไม่ประมาทหนึ่ง ความสมาทานสิกขาหนึ่ง อุทเทสความเรียนพระบาลีหนึ่ง ปริปุจฉา ความเรียนอัฏฐกถาและฎีกาหนึ่ง ความยินดียิ่งในศีลคุณเป็นต้นหนึ่ง ความเป็นผู้ไม่มีอาลัยหนึ่ง ความเป็นผู้กระทำสิกขาบทให้บริบูรณ์หนึ่ง, ความทรงผ้ากาสาวะไว้หนึ่ง ความเป็นผู้มีศีรษะโล้นหนึ่ง; ธรรมทั้งหลายกระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ และเพศทั้งหลายสองเหล่านี้แล. อุบาสกโสดาบันคิดว่า 'ภิกษุมาสมาทานคุณทั้งหลายเหล่านี้ ประพฤติอยู่, ภิกษุนั้น เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของไม่บกพร่อง เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของเต็มบริบูรณ์แล้ว เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของถึงพร้อมแล้ว เพราะความที่ธรรมมาตามพร้อมแล้ว ด้วยธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เธอหยั่งลงสู่อเสขภูมิ อรหันตภูมิ, เธอหยั่งลงสู่ภูมิอื่นที่ประเสริฐ, เธอมาตามพร้อมแล้วด้วยพระอรหัต' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า "ภิกษุนั้นเข้าถึงความเป็นผู้เสมอด้วยพระขีณาสพทั้งหลาย, ความถึงพร้อมนั้นของเราไม่มี' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเข้าถึงบริษัทเลิศ เรามิได้เข้าถึงที่นั้นแล้ว' จึงควรไหว้ ลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นย่อมได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกขุทเทส เราย่อมไม่ได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกขุทเทสนั้น' จึงควรไหว้ ลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นยังกุลบุตรทั้งหลายอื่นให้บวชให้อุปสมบท ยังศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้วให้เจริญ เราย่อมไม่ได้เพื่อจะกระทำกิจทั้งสามนั้น' จึงควรไหว้ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาบททั้งหลายไม่มีประมาณ เราไม่ได้ประพฤติในสิกขาบททั้งหลายเหล่านั้น' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสก โสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเข้าถึงแล้วซึ่งเพศแห่งสมณะ ตั้งอยู่ในความประสงค์ของพระพุทธเจ้า เราหลีกไปแล้วสู่ที่ไกลจากเพศนั้น' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นมีขนในรักแร้รุงรังแล้ว มิได้หยอดประดับมีกลิ่นแห่งศีลฉาบทาแล้ว ส่วนเราเป็นผู้ยินดียิ่งในการประเทืองผิวและประดับ' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, ก็อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะยี่สิบ และเพศเหล่านั้นใด ธรรมทั้งหลายแม้ทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมมีพร้อมแก่ภิกษุ ภิกษุนั้นนั่นเทียว ย่อมทรงธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไว้ ยังกุลบุตรทั้งหลายแม้อื่นให้ศึกษาอยู่ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น นิกายเป็นที่มา และความยังกุลบุตรให้ศึกษานั้นของเราไม่มี' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับภิกษุที่เป็นปุถุชน. ขอถวายพระพร เออก็ ราชกุมารเรียนวิทยาศึกษาธรรมเนียมของกษัตริย์ในสำนักแห่งปุโรหิต, โดยสมัยอื่น ราชกุมารนั้นได้อภิเษกแล้ว จึงควรไหว้ ควรลุกรับอาจารย์ ด้วยความดำริว่า 'ปุโรหิต นี้เป็นอาจารย์ให้ศึกษาของเรา" ดังนี้ ฉันใด; อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ท่านผู้ดำรงวงศ์ เป็นผู้ยังกุลบุตรให้ศึกษา ดังนี้' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน ฉันนั้นนั่นเทียวแล. เออก็ บรมบพิตรจงทรงทราบความที่ภูมิของภิกษุเป็นของใหญ่ ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของไพบูลย์ ไม่มีภูมิอื่นเสมอนั้นโดยปริยายนี้: ถ้าอุบาสกโสดาบันกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต, คติทั้งหลายสองเท่านั้น ไม่มีคติอื่น ย่อมมีแก่อุบาสกผู้กระทำให้แจ้งพระอรหัตนั้น คือ: อุบาสกผู้อรหันต์นั้น พึงปรินิพพานบ้าง พึงเข้าไปถึงความเป็นภิกษุบ้าง ในวันนั้นทีเดียว; เพราะว่าภูมิของภิกษุนี้ใด ภูมิของภิกษุนั้น เป็นบรรพชาไม่เขยื้อน เป็นของใหญ่บริสุทธิ์สูงยิ่ง." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาไปแล้วโดยญาณ พระผู้เป็นเจ้าผู้มีความรู้ยิ่ง มีกำลังคลี่คลายออกด้วยดีแล้ว, บุคคลอื่นนอกจากท่านผู้มีความรู้เช่นพระผู้เป็นเจ้า ไม่อาจเพื่อจะคลี่คลายปัญหานี้ออกให้แจ้งชัดอย่างนี้ได้แล."
๘. ตถาคตอเภชชปริสปัญหา ๑๘
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'พระตถาคตมีบริษัทอันใคร ๆ ให้แตกไม่ได้ ดังนี้. ก็แหละ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่อีกว่า 'ภิกษุห้าร้อย พระเทวทัตทำลายแล้ว ประหารอันเดียว' ดังนี้. ถ้าพระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้แล้วไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภิกษุทั้งหลายประมาณห้าร้อย พระเทวทัตทำลายแล้ว ประหารอันเดียว' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าภิกษุทั้งหลายประมาณห้าร้อย อันพระเทวทัตทำลายแล้ว ประหารอันเดียวไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้ดังนี้ แม้นั้นเป็นผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน ลึก ใคร ๆ ตัดสินโดยยากเป็นขอดวิเศษกว่าขอดโดยปกติ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ชนหมู่นี้อันอวิชชากางกั้น ปกคลุมแล้ว ปิดแล้ว หุ้มห่อแล้ว ในปัญหานี้, พระผู้เป็นเจ้าจงแสดงกำลังแห่งปรีชาญาณ ในปรัปปวาททั้งหลาย ในปัญหานี้เถิด." พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้, ก็แหละ ภิกษุทั้งหลายประมาณห้าร้อย อันพระเทวทัตทำลายแล้ว ประหารอันเดียว. ก็แต่ว่า ความทำลายนั้นด้วยกำลังแห่งเหตุเครื่องทำลาย, ครั้นเมื่อเหตุเครื่องทำลายมีอยู่ ชื่อว่าของอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้ไม่มี. เมื่อเหตุเครื่องทำลายมีอยู่ แม้มารดาย่อมแตกจากบุตร แม้บุตรย่อมแตกจากมารดา แม้บิดาย่อมแตกจากบุตร แม้บุตรย่อมแตกจากบิดา แม้พี่น้องชายย่อมแตกจากพี่น้องหญิง แม้พี่น้องหญิงย่อมแตกจากพี่น้องชาย แม้สหายย่อมแตกจากสหาย, แม้เรือทั้งลายที่ขนานด้วยต้นไม้ต่าง ๆ ย่อมแตกด้วยกำลังแห่งคลื่นประหาร แม้ต้นไม้ที่มีผลถึงพร้อมแล้วด้วยรส อันบุคคลพึงกำหนดด้วยน้ำผึ้งอันเรี่ยวแรงมีกำลังแห่งลมกระทบเฉพาะแล้วย่อมแตก แม้ทองคำมีชาติย่อมแตกด้วยโลหะ เออก็ คำที่ว่า 'พระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายได้ ดังนี้ ไม่ใช่ความประสงค์ของวิญญูชนทั้งหลาย ไม่ใช่ความนึกน้อมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ใช่ฉันทะของบัณฑิตทั้งหลาย. เออก็พระตถาคตอันบัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญว่า 'พระองค์มีบริษัทอันใครทำลายไม่ได้' ดังนี้ ด้วยเหตุใด เหตุนั้น ในความกล่าวสรรเสริญนั้นมีอยู่, เหตุในความกล่าวสรรเสริญนั้นอย่างไร? คือใครไม่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า 'เมื่อพระตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงประพฤติจริยาในภพใดภพหนึ่ง ด้วยการหยิบฉวยทรัพย์ของใคร ๆ อันพระองค์ได้กระทำแล้วหรือ หรือด้วยการเจรจาวาจาที่ไม่น่ารัก หรือด้วยความประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น หรือด้วยความเป็นผู้ไม่มีตนเสมอ บริษัทของพระองค์แตกแล้ว' ดังนี้เลย, เพราะเหตุนั้นบัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวสรรเสริญว่า 'พระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้. 'เหตุนี้ แม้บรมบพิตรพึงทรงทราบว่า 'เหตุอันหนึ่งมาแล้วโดยสูตรมีอยู่ในพุทธพจน์ มีองค์เก้าประการว่า 'บริษัทของพระตถาคตแตกแล้ว เพราะเหตุชื่อนี้ อันพระองค์ยังเป็นโพธิสัตว์กระทำแล้ว." ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ก็เหตุนั้น มิได้ปรากฏในโลก แม้อันข้าพเจ้าก็ไม่ได้ยิน, ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๙. อซานโตปาปกรณอปุญญปัญหา ๑๙
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'ผู้ใดไม่รู้กระทำปาณาติบาต ผู้นั้นยังอกุศลมีกำลังกล้าให้เกิด' ดังนี้. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในวินัยบัญญัติอีกว่า 'ความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้' ดังนี้. ถ้าว่าบุคคลไม่รู้แล้ว กระทำปาณาติบาต ยังอกุศลมีกำลังกล้าให้เกิด, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้, ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บุคคลไม่รู้แล้ว กระทำปาณาติบาตยังอกุศลมีกำลังกล้าให้เกิด' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อนอันบุคคลข้ามยาก ก้าวล่วงยาก มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด." พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'บุคคลใดไม่รู้ กระทำปาณาติบาต บุคคลนั้นย่อมยังอกุศลมีกำลังกล้าให้เกิด,' ก็แม้ในวินัยบัญญัติ พระองค์ตรัสแล้วว่า 'ความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้' ดังนี้อีก, เนื้อความพิเศษในพระพุทธพจน์นั้นมีอยู่, เนื้อความพิเศษเป็นไฉน? เนื้อความพิเศษ คือ อาบัติที่เป็น สัญญาวิโมกข์ พ้นด้วยสัญญาก็มี;ที่เป็นโนสัญญาวิโมกข์ไม่พ้นด้วยสัญญาก็มี อาบัตินี้ใด ที่เป็นสัญญาวิโมกข์ พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภอาบัตินั้น ตรัสแล้ว่า 'ความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้' ดังนี้ ขอถวายพระพร." ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้านี้ สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
|