การภาวนาก็คือ การพุทโธ นั่นล่ะ ท่านว่าบริกรรมพุทโธๆ เข้าเรื่อย จิตสงบเกิดแสงสว่างขึ้น คล้ายกันกับว่าหว่านแหออกมาตาก ท่านก็จับหลักได้ มันเกิดขึ้นอย่างนั้นนะ...อย่างเราๆนี่มันไม่ได้หลักอะไรล่ะ โลเลเหมือนไม้ปักหลัก ลมมาทางไหนก็เซไปทั่ว พอตัวเองทำไม่จริงก็ไปว่าศาสนาเป็นของไม่จริง ตัวเองนั่นล่ะไม่จริง . หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เทศน์ในพรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๒
“ตัวใจ” นี่แหละ “อวิชชา” “เจ้ากรรมนายเวร” คือ “ใจ” ... “ตัวกรรม” แม่น “ใจ” ดวงใจอันเดียว วิญญาณอันเดียว เป็นตัว “กรรม” แต่งกรรมเสียแล้ว ให้เวียนตาย เวียนเกิดที่นี่ ไม่เลิก เรารู้จักแล้วเราต้องควบคุมใจ แนะนำสั่งสอนใจ ทำใจของเราให้ผ่องแผ้ว ว่าเอาย่อ ๆ นี่แหละ กว้างขวางก็ได้ยินมาพอแฮงแล้ว เอาย่อ ๆ “ควบคุม” “ใจ” เท่านั้นและ เดี๋ยวนี้ ใจนี้ เจ้าของนรกก็แม่น “ใจ” นี่แหละ ม่าง (เลิก, ทิ้ง) นรกก็แม่นใจนี่แหละ ครั้นมันไม่ดีละก็ ร้อน เป็นทุกข์เหมือนใจจะขาด ครั้นใจไม่ดีละก็ มันกลุ้ม เป็นทุกข์จนฆ่าตัวตายนี่แหละ ถือว่าเราเป็นเรา นี่ก็เพราะ “ใจ” นี่แหละ ไม่ใช่อื่นดอก เพราะมันไม่รู้ ท่านเรียกว่า “อวิชชา” ... “ตัวใจ” นี่แหละ “อวิชชา”
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดป่าถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำพู จ.อุดรธานี
คนยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ศาสนาก็ยิ่งเสื่อมมากขึ้นเท่านั้น คนก็ไม่มีธรรม มีแต่กิเลสตัณหา นักบวชก็เหมือนกันนั่นแหละ ครูบาอาจารย์ท่านพาดำเนินมา ท่านไม่เคยมีนะ ว่าให้รู้จักนิสัยใจคอกันนะ ให้ฝึกหัดการอยู่คนเดียวนะมันสบาย พวกนักภาวนาคนไหนที่มีภูมิจะรู้เองหรอก พอได้เข้าใกล้มันต้องมีปีติ มีความเกรงๆกลัวๆนะ คนไหนที่ภาวนา จิตมันไม่พลุ่งพล่านคิดนั่นคิดนี่หรอก มันเกรงๆกลัวๆอยู่ คนยิ่งภาวนามาก ผู้ที่ยิ่งพบยิ่งมีความรู้สึกเกรงๆ กลัวๆมาก มันมีนะเรื่องนี้ เพราะวาระจิตมันถึงกัน มันสัมผัสกันได้ คนไหนที่ขี้เกียจมักง่าย อย่าไปอยู่ด้วย อยู่ไปก็ไม่ได้หลักอะไร . หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี “บริกรรมพุทโธๆ อย่าให้เผลอ” เทศน์อบรมพระ ปี ๒๕๕๒
เราจะหนีจากโลกนี้จะหนีไปไหน เพราะเราก็เป็นโลกคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่มีแต่โลกนอก ตัวเราไม่ใช่โลก โลกนอกกับโลกของเรานี้ท่านเรียกว่าโลกอันเดียวกัน อยู่ในแหล่งแห่งโลกนี้เหมือนกัน เราหนีจากโลกเราจะหนีไปไหน ถ้าเราไม่หนีจากตัวของเราได้ เราก็หนีจากโลกไม่ได้ เพราะโลกคือขันธ์ ธาตุ ๔ ข้างนอกก็มีข้างในก็มี เว้นข้างนอกข้างในก็ยังติดตามเราได้ หลีกเลี่ยงหนีจากข้างนอก ข้างในก็ติดตามกันไป เพราะธาตุขันธ์ของเรา ขันธ์คือขันธ์ ๕ ธาตุคือธาตุ ๔ ของเรา ถ้าไม่หลีกเลี่ยงด้วยอุบายปัญญา จาระไนสิ่งภายนอกที่เรียกว่าโลกภายนอก จาระไนสิ่งภายในคือโลกภายใน ธาตุขันธ์ภายใน ให้เห็นตามหลักความจริงโดยทางปัญญา อยู่ที่ไหนก็พอปฏิบัติต่อกันกับโลก อยู่กับโลก โลกก็ไม่ทำให้เดือดร้อน เพราะตนไม่เกี่ยวข้อง หรือตนไม่หาเรื่องราวเอาเรื่องของโลกเข้ามาเผาใจ นี่ผู้มีหลักธรรมะเป็นอย่างนี้
.......................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๐ "หลักของนักรบในสงคราม"
“บ อ ก เ ล่ า ธ ร ร ม ะ”
“คนไทยมาเราก็ต้องพูดภาษาไทย คนฝรั่งมาเราก็ต้องพูดภาษาฝรั่ง เราพูดไปตามที่มีเหตุการณ์ให้พูด พูดไปแบบคุยกัน ไม่ได้มากำหนดข้อความวันนั้นพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอเห็นคนที่มามันก็พูดเองว่าจะพูดเรื่องอะไร คนแต่งตัวมาก็บอกอยู่แล้วเขาอยู่ในระดับไหน ถ้าแต่งกายเสื้อผ้าสีฉูดฉาดก็อยู่ระดับนักบุญ ถ้าแต่งกายเสื้อผ้าสีขาวสีดำก็อยู่ในระดับนักบวช ก็จะรู้ว่าคนที่มาฟังนี้ควรจะรับธรรมะระดับไหน ก็ไม่ได้มากังวลกับการสอนว่าเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เรามีหน้าที่พูด พูดเสร็จแล้วก็จบ เขาจะเอาไปปฏิบัติหรือไม่ไปปฏิบัติ อันนี้เป็นเรื่องของเขา เขาจะหลุดพ้นหรือไม่ก็เรื่องของเขา เขาจะชอบหรือไม่ชอบก็เรื่องของเขา เราพูดความจริงให้เขาฟัง เขาอาจไม่ชอบไม่กลับมาอีกก็ไม่เป็นไร ไม่เห็นต้องกังวล”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ธรรมะบนเขา ณ จุลศาลา เขตปฏิบัติธรรมเขาชีโอน วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑
กลับเสียใหม่นะ ดูคนอื่นเหลือไว้ 10 % ดูเพื่อศึกษาว่า เมื่อเขาทำอย่างนั้น คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร เพื่อเอามาสอนตัวเองนั่นแหละ
ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง 90 % จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่
ธรรมชาติของจิตใจมันเข้าข้างตัวเอง
โบราณพูดว่า เรามักจะเห็น ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดของตนเองเท่ารูเข็ม มันเป็นความจริงอย่างนั้นด้วย เราจึงต้องระวังความรู้สึกนึกคิดของตัวเองให้มาก ๆ
เห็นความผิดของคนอื่น ให้หารด้วย 10 เห็นความผิดตัวเอง ให้คูณด้วย 10 จึงจะใกล้เคียงกับความจริงและยุติธรรม เพราะเหตุนี้เราจะต้องพยายามมองแง่ดีของคนอื่นมาก ๆ และตำหนิติเตียนตัวเองมาก ๆ แต่ถึงอย่างไร ๆ เราก็ยังเข้าข้างตัวเองนั่นแหละ
พยายามอย่าสนใจการกระทำ การปฏิบัติของคนอื่น
ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั่นแหละมาก ๆ เช่น เข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ แล้วก็เกิดอารมณ์ร้อนใจ
ยังไม่ต้องบอกให้เขาแก้ไขอะไรหรอก
รีบแก้ไข ระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่า ใจเย็น ๆ ไว้ก่อน ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่….. ไม่แน่ อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้ เราอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้ สักแต่ว่า….. สักแต่ว่า….. ใจเย็น ๆ ไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด
ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน
เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว จึงค่อยพูด จึงค่อยออกความเห็น พูดด้วยเหตุ ด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น ทำให้เสียความรู้สึกของตัวเอง ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร มักจะเสียประโยชน์ซ้ำไป
เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน
ก็สงบ ๆ ๆ ไม่ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำผิด ๆ ๆ ดูแต่ตัวเรา ระวังความรู้สึก ระวังอารมณ์ของเราเองให้มาก ๆ พยายามแก้ไข พัฒนาตัวเรา….. นั่นแหละ
เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน
เรื่องของคนอื่น พยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งกับเรื่องของคนอื่นไปเรื่อย ๆ หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราหมด มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ทั้งวัน อารมณ์มาก จิตไม่ปกติ ไม่สบาย ทั้งวัน ๆ ก็หมดแรง พยายามตามดูจิตของเรา รักษาจิตของเราให้เป็นปกติให้มาก ใครจะเป็นอะไร ใครจะทำอะไร ดีหรือไม่ดี เรื่องของเขา แม้เขาจะทำกับเรา ว่าเรา….. ก็เรื่องของเขา อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา
ดูใจเรานั่นแหละ
พัฒนาตัวเองนั่นแหละ ทำใจเราให้ปกติ สบาย ๆ มาก ๆ หัด-ฝึก ปล่อยวาง นั่นเอง ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข
คำสอนของ : หลวงปู่ชา สุภัทโท
"เพ่งเข้าไปที่จิต"
"จิต" อันนี้มัน "ปิดบังมรรคผลนิพพาน" ไว้ "ทำลายจิต" ลงไปอีก "จิตแตกสลาย" ออกไปแล้ว "ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพาน" "ทำลาย" ให้เป็น "ของว่าง" ทำลายให้หมดให้สิ้น
"ให้มีสติธรรม" ให้มัน "ว่างไปหมด" จิตก็เป็นอนัตตา ธรรมก็เป็นอนัตตา ให้ มีสติ มีสติ มีสติ ให้มีสติอยู่เสมอ "ไม่เผลอสติ"
"ดูลงไปที่จิต" "เพ่งเข้าไปที่จิต ๆ ๆ" เพราะมันเกิดจากที่นี่ทั้งนั้น "ตัวหลงก็จิตตัวนี้หลง"
หลวงปู่แบน ธนากโร
“ผู้ที่ได้รับโอกาสรับใช้ครูบาอาจารย์ จึงมีโอกาสได้ฝึกสติเป็นอย่างมาก”
ถาม : ในหนังสือปฏิปทาที่หลวงตาเขียนว่า เวลาปูผ้าปูที่นอนให้หลวงปู่มั่นแทบจะเอาดินสอขีดตำแหน่ง และมุมไว้ แต่ขนาดนั้นยังโดนหลวงปู่มั่นตำหนิ แสดงว่าเวลาทำงานถวายครูบาอาจารย์ นอกจากความเรียบร้อยแล้วระหว่างทำต้องมีสติกำกับตลอดใช่ไหมคะ
พระอาจารย์ : คือการที่เราไปรับใช้ครูบาอาจารย์ด้วยการกระทำอะไรต่างๆ นี้เป็นการฝึกสตินั่นเอง เพราะครูบาอาจารย์ท่านจะมีความเข้มงวดกวดขันกับการกระทำทุกอย่าง ทุกอย่างที่ทำนี้ต้องมีเหตุมีผล ทำแล้วก็ต้องเรียบร้อยเหมือนกันทุกครั้งไป เวลาใดที่ทำแล้วไม่เรียบร้อยไม่เหมือนกับทุกครั้งนี้ ก็แสดงว่าใจเราลอยใจเราเผลอ มัวแต่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ในขณะที่เราทำกิจวัตร ทำงานต่างๆ ก็จะทำให้ไม่เกิดความเรียบร้อยไม่เหมือนกับทุกครั้งที่เคยกระทำ พอทำอย่างนี้มันก็ส่งผลฟ้องไปที่ครูบาอาจารย์แล้วว่าสติเราไม่มีแล้ว ท่านก็เลยต้องมาช่วยเราด้วยการตำหนิติเตียนเรา ข่มขู่เรา บางทีถึงกลับไล่ออกไปไม่ให้มาทำหน้าที่นี้ ถ้าเราอยากจะทำหน้าที่เราก็จะต้องมีความระมัดระวัง
ความระมัดระวังนี้ก็คือการเจริญสติดีๆ นี่เอง ผู้ที่ได้รับโอกาสไปรับใช้ครูบาอาจารย์ จึงมีโอกาสที่จะได้ฝึกสติเป็นอย่างมาก พอก้าวเข้าไปสู่หน้าท่านนี้ใจมันต้องอยู่กับปัจจุบันตลอด อยู่กับการเคลื่อนไหวทุกก้าวย่างเลย อยู่กับการเคลื่อนไหวการกระทำอะไรต่างๆ อย่างนี้ก็เรียกว่ามีสติแล้ว และนอกจากมีสติก็จะได้ปัญญาท่านจะคอยสอนคอยแนะวิธีการกระทำอะไรต่างๆ ที่ถูกต้องที่เหมาะที่สมที่ควร อันนี้แหละที่ลูกศิษย์ลูกหาจึงอยากปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์กัน เพราะถ้าอยู่ตามลำพังนี้ จะไม่มีเหตุการมาบังคับให้เจริญสติ จะไม่มีใครสอนให้เกิดปัญญาขึ้นมา.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
“ดับไฟด้วยมรรค”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
พิธีปลุกเสกพระพุทธรูป “...สมมุติเป็นพระพุทธรูปแล้วก็เสร็จกัน เราดีอย่างไรจึงจะไปบวชให้องค์ท่าน องค์ท่านบวชก่อนเราแล้ว เราดีอย่างไรจึงจะไปปลุกท่านให้ตื่น ท่านตื่นก่อนเราเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานแล้ว เราดีอย่างไรจึงจะไปแคะหูแคะตาให้องค์ท่าน ตานอก ตาใน หูนอก หูในขององค์ท่านดีกว่าเราแล้ว จะภิเษกภิษันให้องค์ท่านเป็นอะไรอีก องค์ท่านเป็นพระพุทธเจ้าเต็มภูมิแล้ว จะเอาไสยศาสตร์ไปพอกไปทาองค์ท่านทำไม นั้นแหละ!ตัวบาป นั้นแหละขุมนรก ขุมมิจฉาทิฏฐิเห็นผิดเต็มภูมิ แล้วยังสำคัญว่าเห็นชอบ เข้าข้างตัว แต่ไม่เข้าข้างธรรม-วินัย เพียงเท่านี้ก็ยังไม่รู้จักผิดรู้จักถูก แล้วธรรมอันละเอียดลออ ก็ยังมีขึ้นไปกว่านี้มาก ไฉนจะรู้ได้...”
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
โลกมีเหตุกับผล ผู้ที่รู้เท่า ไม่เข้าไปหาบหามเพียงแค่หิ้วก็ “ เบา ” ผู้ที่ไม่รู้เท่า เข้าหาบหามหรือแบกก็ “ หนัก ”. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
ทำตนให้ผู้อื่นเคารพ รักใคร่ ไว้เนื้อ เชื่อใจ หรือคุ้มครองป้องปกตน ให้พ้นจากปองร้ายของผู้อื่น เท่านี้ก็เป็น “ ผู้ยอดเยี่ยม ”. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
|