Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะจากหนังสือมิลินทปัญหา หน้า ๑๘๘-๒๐๐

เสาร์ 31 มี.ค. 2018 8:56 am

๙. พุทธอาจริยานาจริยปัญหา ๒๙

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคทรงภาสิตว่า 'อาจารย์ของเราตถาคตไม่มี บุคคลเช่นกับด้วยเราตถาคตไม่มี ในโลกกับทั้งเทพดา ไม่มีบุคคลเปรียบด้วยเราตถาคต' ดังนี้แล้ว. ภายหลังพระองค์ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบสกาลามโคตรเป็นอาจารย์ของเราตถาคต ตั้งเราผู้อันเตวาสิกให้เป็นผู้เสมอด้วยตน และบูชาเราด้วยบูชายิ่ง ด้วยประการดังนี้แล' ดังนี้.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระตถาคตตรัสว่า 'อาจารย์ของเราตถาคตไม่มี บุคคลเช่นกับด้วยเราตถาคตไม่มี' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบสกาลามโคตรเป็นอาจารย์ของเราตั้งเราผู้อันเตวาสิกไว้ให้เป็นผู้เสมอด้วยตน และบูชาเราด้วยบูชายิ่งด้วยประการดังนี้แล' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบสกาลามโคตรเป็นอาจารย์ของเรา ตั้งเราไว้ให้เป็นผู้เสมอด้วยตน และบูชาเราด้วยบูชายิ่ง ด้วยประการดังนี้แล' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'อาจารย์ของเราตถาคตไม่มี บุคคลเช่นกับด้วยเราตถาคตไม่มี'ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายออกให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตว่า 'อาจารย์ของเราตถาคตไม่มี บุคคลเช่นกับด้วยเราตถาคตไม่มี ในโลกกับทั้งเทพดา ไม่มีบุคคลเปรียบด้วยเราตถาคต' ดังนี้แล้ว. ภายหลังตรัสว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบสกาลามโคตรเป็นอาจารย์ของเรา ตั้งเราไว้ให้เป็นผู้เสมอด้วยตน และพจน์นั้น พระองค์ทรงหมายเอาความที่อาฬารดาบสกาลามโคตร เป็นอาจารย์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ยังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว ในกาลก่อนแต่ความตรัสรู้เทียวตรัสแล้ว.
ขอถวายพระพร อาจารย์ทั้งหลายของพระโพธิสัตว์ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ยังมิได้ตรัสรู้ยิ่ง ในกาลก่อนแต่ความตรัสรู้เทียว ห้าคนเหล่านี้, พระโพธิสัตว์อันอาจารย์ทั้งหลายเหล่าไรเล่า สั่งสอนแล้วยังวันให้น้อมล่วงไปแล้วในสำนักของอาจารย์นั้น ๆ, อาจารย์ทั้งหลายห้า คือบุคคลไหนบ้าง?
ขอถวายพระพร พราหมณ์ทั้งหลายแปดเหล่าใดนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์พอเกิดแล้วมารับลักษณะทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลายแปดคือใครบ้าง? พราหมณ์ทั้งหลายแปด คือรามพราหมณ์หนึ่ง ธชพราหมณ์หนึ่ง ลักษณพราหมณ์หนึ่ง มันตีพราหมณ์หนึ่ง ยัญญพราหมณ์หนึ่ง สุยามพราหมณ์หนึ่ง สุโภชพราหมณ์หนึ่ง สุทัตตพราหมณ์หนึ่ง รวมเป็นแปดคน, พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นให้พระชนกทรงทราบความสวัสดีของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว ได้กระทำกรรมคือการรักษาแล้ว, ก็พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นอาจารย์ทีแรก.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: พระเจ้าสุทโธทนะผู้พระชนกของพระโพธิสัตว์ ทรงนำพราหมณ์ชื่อ สรรพมิตร เป็นอภิชาติ เป็นผู้สูง มีชาติเป็นผู้กล่าวบท มีเวยยากรณ์ มีองค์หก เช้ามาแล้ว ทรงจับพระเต้าน้ำหล่อมอบถวายให้ศึกษาว่า 'ท่านจงยังกุมารนี้ให้ศึกษา,' สรรพมิตรพราหมณ์นี้ เป็นอาจารย์ที่สอง.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: เทพดาใดนั้นยังพระโพธิสัตว์ให้สังเวช, พระโพธิสัตว์ทรงสดับคำของเทพดาใดแล้ว จึงสังเวชแล้ว หวาดแล้วเสด็จออกแล้ว บรรพชาแล้ว ในขณะนั้นนั่นเทียว, เทพดานี้เป็นอาจารย์ที่สาม.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: อาฬารดาบสกาลามโคตรนี้ เป็นอาจารย์ที่สี่.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: อุททกดาบสรามบุตรนี้ เป็นอาจารย์คำรบห้า.
อาจารย์ทั้งหลายของพระโพธิสัตว์ เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ยังมิได้ตรัสรู้ ในกาลก่อนแต่ความตรัสรู้ทีเดียว ห้าพวกเหล่านี้แล.
ก็แต่ว่า อาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้น เป็นอาจารย์ในธรรมเป็นโลกิยะ. ก็แหละอาจารย์ผู้สั่งสอน เพื่อจะแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ในธรรมเป็นโลกุตตระนี้ ไม่มีใครยิ่งกว่า ของพระตถาคตไม่มี.
ขอถวายพระพร พระตถาคตเป็นสยัมภูไม่มีอาจารย์, เพราะเหตุนั้น พระตถาคตตรัสแล้วว่า 'อาจารย์ของเราตถาคตไม่มี บุคคลเช่นกับด้วยเราไม่มี ในโลกกับทั้งเทพดา ไม่มีบุคคลเปรียบด้วยเรา ดังนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๑๐. อัคคานัคคสมณปัญหา ๓๐

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสิต พระพุทธพจน์นี้ว่า 'บรรพชิตชื่อเป็นสมณะ เพราะความที่อาสวะทั้งหลายสิ้นไป' ดังนี้. แล้วตรัสอีกว่า 'บัณฑิตทั้งหลายกล่าวนระผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยธรรมทั้งหลายสี่นั้นว่า เป็นสมณะแท้ในโลก' ดังนี้ ในคำนั้น ธรรมทั้งหลายสี่เหล่านี้ คือ ขันติ ความอดทน อัปปาหารตา ความเป็นผู้มีอาหารน้อย คือ มักน้อย รติวิปปหาน ความละความยินดีเสีย อากิญจัญญะ ความเป็นผู้ไม่มีความกังวล. คุณธรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมมีแก่บุคคลผู้ยังไม่สิ้นอาสวะแล้ว ยังมีกิเลสนั่นเทียว. ถ้าบรรพชิตชื่อว่าเป็นสมณะ เพราะความที่อาสวะทั้งหลายสิ้นไป, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บัณฑิตทั้งหลายกล่าวนระผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยธรรมทั้งหลายสี่นั้น ว่าเป็นสมณะแท้ในโลก' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าบรรพชิตผู้มีความพร้อมเพรียง ด้วยธรรมทั้งหลายสี่ ชื่อว่าเป็นสมณะ, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บรรพชิตชื่อเป็นสมณะ เพราะความที่อาสวะทั้งหลายสิ้นไป' ดังนี้ แม้นั้นก็เป็นผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้แล้วว่า 'บรรพชิตชื่อว่าเป็นสมณะ เพราะความที่อาสวะทั้งหลายสิ้นไป' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'บัณฑิตทั้งหลายกล่าวนระผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยธรรมทั้งหลายสี่นั้น ว่าเป็นสมณะแท้ในโลก.' พระพุทธพจน์ว่า 'บัณฑิตทั้งหลายกล่าวนระผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยธรรมทั้งหลายสี่นั้น ว่าเป็นสมณะ' นี้นั้น พระองค์ตรัสแล้วด้วยอำนาจแห่งคุณของบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ๆ. ส่วนคำที่ว่า 'บรรพชิตชื่อเป็นสมณะ เพราะความที่อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ดังนี้ ๆ เป็นคำกล่าวไม่มีส่วนเหลือ กล่าวส่วนสุด. เออก็ บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ปฏิบัติแล้วเพื่อความเข้าไประงับกิเลส พระองค์ทรงคัดสรรบุคคลผู้ปฏิบัติทั้งหลายทั้วปวงเหล่านั้น ตรัสสมณะผู้สิ้นอาสวะแล้วว่าเป็นยอด. อุปมาเหมือนดอกไม้ที่เกิดในน้ำและเกิดบนบกทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง มหาชนย่อมกล่าวดอกมะลิว่าเป็นยอดแห่งดอกไม้ทั้งหลายเหล่านั้น, บุบผชาติทั้งหลายต่าง ๆ เหล่าใดเหล่าหนึ่งเหลือนั้น ท่านคัดสรรดอกไม้ทั้งหลายเหล่านั้น ดอกมะลิอย่างเดียวเป็นที่ปรารถนาเป็นที่รักของมหาชน ฉันใด; บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ปฏิบัติแล้วเพื่อความเข้าไประงับกิเลส ย่อมกล่าวสมณะผู้สิ้นอาสวะแล้วว่าเป็นยอด ฉันนั้นนั่นเทียว.
อีกนัยหนึ่ง โลกย่อมกล่าวว่าข้าวสาลีเป็นยอดแห่งข้าวเปลือกทั้งหลายทั้งปวง, ธัญญชาติทั้งหลายต่าง ๆ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง อาศัยธัญญชาติทั้งหลายเหล่านั้นเป็นโภชนะเพื่อยังสรีระให้เป็นไป โลกย่อมกล่าวข้าวสาลีอย่างเดียว ว่าเป็นยอดแห่งธัญญชาติทั้งหลายเหล่านั้นฉันใด; บุคคลทั้งหลายผู้ปฏิบัติแล้ว เพื่อความเข้าไประงับกิเลส บัณฑิตทั้งหลายคัดสรรบุคคลผู้ปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น กล่าวสมณะผู้สิ้นอาสวะแล้วว่าเป็นยอด ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


วรรคที่สี่
๑. วัณณภณนปัญหา ๓๑

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลทั้งหลายอื่น พึงกล่าวสรรเสริญคุณของเราผู้ตถาคต หรือกล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระธรรมแห่งพระสงฆ์ก็ดี, ท่านทั้งหลายไม่ควรจะกระทำความเพลิดเพลิน ไม่ควรจะกระทำโสมนัสดีใจ ไม่ควรจะกระทำความเหิมจิต ในการที่บุคคลทั้งหลายกล่าวสรรเสริญคุณนั้น'ดังนี้. อนึ่ง พระตถาคตเมื่อพราหมณ์ชื่อเสละ กล่าวสรรเสริญคุณตามเป็นจริงแล้วอย่างไร พระองค์มีความเพลิดเพลินและดีพระหฤทัย เหิมพระหฤทัยยิ่ง ตรัสระบุคุณของพระองค์ยิ่งขึ้นไปแก่เสละ
พราหมณ์นั้นว่า 'ดูก่อนเสละ เราผู้ตถาคตเป็นพระราชา เป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีใครจะยิ่งกว่า เราผู้ตถาคตยังจักรโดยธรรมให้เป็นไป จักรอันใคร ๆ พึงให้เป็นไปเทียมไม่ได้' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลทั้งหลายอื่น กล่าวสรรเสริญคุณของเราผู้ตถาคต หรือกล่าวสรรเสริญคุณของพระธรรม ของพระสงฆ์ก็ดี, ท่านทั้งหลายไม่ควรจะกระทำความเพลิดเพลิน ไม่ควร 'จะกระทำความโสมนัสดีใจ ไม่ควรจะกระทำความเหิมจิต ในการที่บุคคลทั้งหลายกล่าวสรรเสริญคุณนั้น' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เมื่อเสละพราหมณ์กล่าวสรรเสริญพระคุณตามเป็นจริงอย่างไร พระองค์มีความเพลิดเพลินแล้ว ดีพระหฤทัย เหิมพระหฤทัย ตรัสระบุคุณของพระองค์แก่เสละพราหมณ์นั้น' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่า เมื่อเสละพราหมณ์กล่าวสรรเสริญพระคุณตามเป็นจริงอย่างไร พระองค์มีความเพลิดเพลินแล้ว ดีพระหฤทัย เหิมพระหฤทัย ตรัสระบุคุณของพระองค์แก่เสละพราหมณ์นั้นยิ่งขึ้นไป,' ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภิกษุทั้งหลายถ้าบุคคลทั้งหลายอื่น กล่าวสรรเสริญคุณของเราผู้ตถาคต หรือกล่าวสรรเสริญคุณของพระธรรมพระสงฆ์ก็ดี, ท่านทั้งหลายไม่ควรจะกระทำความเพลิดเพลิน ไม่ควรจะกระทำความโสมนัส ไม่ควรจะกระทำความเหิมจิต ในการที่บุคคลทั้งหลายกล่าวสรรเสริญคุณนั้น' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายออกให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้แล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายอื่น กล่าวสรรเสริญของเราผู้ตถาคต หรือกล่าวสรรเสริญคุณของพระธรรมพระสงฆ์ก็ดี, ท่านทั้งหลายไม่ควรจะกระทำความเพลิดเพลิน ไม่ควรจะกระทำความโสมนัส ไม่ควรจะกระทำความเหิมจิต ในการที่บุคคลทั้งหลายกล่าวสรรเสริญคุณนั้น' ดังนี้. อนึ่ง เมื่อเสละพราหมณ์กล่าวสรรเสริญพระคุณตามเป็นจริงอย่างไร พระองค์มีความเพลิดเพลินแล้ว ดีพระหฤทัย เหิมพระหฤทัย ตรัสระบุคุณของพระองค์แก่เสละพราหมณ์นั้นยิ่งขึ้นไปว่า 'ดูก่อนเสละ เราเป็นพระราชา เป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีใครยิ่งกว่า เรายังจักรโดยธรรมให้เป็นไป จักรอันใคร ๆ พึงให้เป็นไปเทียมไม่ได้' ดังนี้ จริง. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงลักษณะแห่งความเป็นเองทั้งรสแห่งธรรม ความเป็นเองเป็นของไม่ผิด เป็นของจริงของแท้ ความเป็นอย่างนั้นของพระธรรมก่อน จึงตรัสว่า 'ภิกษุทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายอื่น กล่าวสรรเสริญคุณของเราผู้ตถาคต หรือกล่าวสรรเสริญคุณของพระธรรมพระสงฆ์ก็ดี, ท่านทั้งหลายไม่ควรจะกระทำความเพลิดเพลิน ไม่ควรจะกระทำความโสมนัส ไม่ควรจะกระทำความเหิมจิต ในการที่บุคคลทั้งหลายกล่าวสรรเสริญคุณนั้น ดังนี้. ก็แต่ว่า พระพุทธพจน์ใด เมื่อเสละพราหมณ์กล่าวสรรเสริญพระคุณตามความเป็นจริงแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าซ้ำตรัสระบุพระคุณพระองค์ แก่เสละพราหมณ์นั้นยิ่งขึ้นไปว่า 'ดูก่อนเสละ เราเป้นพระราชา เป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีใครจะยิ่งกว่า' ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้น พระองค์จะได้ตรัสแล้วเพราะเหตุแห่งลาภก็หาไม่ จะได้ตรัสแล้วเพราะเหตุแห่งยศก็หาไม่ จะได้ตรัสแล้วเพราะเหตุแห่งฝักฝ่ายก็หาไม่ จะได้ตรัสแล้วโดยความเป็นผู้ใคร่อันเตวาสิกก็หาไม่พระพุทธพจน์นั้น พระองค์ตรัสแล้วด้วยความไหวตาม ด้วยความกรุณา ด้วยอำนาจแห่งประโยชน์เกื้อกูลว่า 'ความตรัสรู้ธรรมจักมีแก่เสละพราหมณ์นี้ด้วย แก่มาณพทั้งหลายสามร้อยด้วย โดยอุบายอย่างนี้' ดังนี้ โดยแท้แล, เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสสรรเสริญคุณของพระองค์ยิ่งขึ้นไปอย่างนี้ว่า 'ดูก่อนเสละ เราเป็นพระราชา เป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีใครจะยิ่งกว่า ดังนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๒. อหึสานิคคหปัญหา ๓๒

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้แล้วว่า 'ท่านผู้นับถือพระรัตนตรัยว่าของเรา เมื่อไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จักเป็นที่รักในโลก' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'เราตถาคตพึงข่มสภาพที่ควรข่ม พึงยกย่องสภาพที่ควรยกย่อง' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน การตัดมือเสีย ตัดเท้าเสีย ฆ่าเสีย ขังเสียให้กระทำกรรมกรณ์เสีย ให้ตายเสีย กระทำสันตติให้กำเริบ ชื่อความข่ม. คำนั้นไม่ควรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ควรเพื่อจะตรัสคำนั้น. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ท่านผู้นับถือพระรัตนตรัย เมื่อไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จักเป็นที่รักในโลก' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เราผู้ตถาคตพึงข่มสภาพที่ควรข่ม พึงยกย่องสภาพควรยกย่อง' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'เราผู้ตถาคตพึงข่มสภาพซึ่งควรข่ม พึงยกย่องสภาพซึ่งควรยกย่อง' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ท่านผู้นับถือพระรัตนตรัย เมื่อไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จักเป็นที่รักในโลก' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เราผู้ตถาคตพึงข่มสภาพที่ควรข่ม พึงยกย่องสภาพควรยกย่อง' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'เราผู้ตถาคตพึงข่มสภาพซึ่งควรข่ม พึงยกย่องสภาพซึ่งควรยกย่อง' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ท่านผู้นับถือพระรัตนตรัย เมื่อไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จักเป็นที่รักในโลก' แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสตพระพุทธพจน์นี้แล้วว่า 'ท่านผู้นับถือพระรัตนตรัย เมื่อไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จักเป็นที่รักใคร่ในโลก' ดังนี้, ตรัสแล้วว่า 'เราผู้ตถาคตพึงข่มสภาพซึ่งควรข่ม พึงยกย่องสภาพซึ่งควรยกย่อง' ดังนี้ด้วย. พระพุทธพจน์นี้ว่า 'ท่านผู้นับถือพระรัตนตรัย เมื่อไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นจักเป็นที่รักในโลก' ดังนี้ นั่นเป็นอนุมัติของพระตถาคตทั้งหลายทั้งปวง: พระวาจานั้นเป็นเครื่องพร่ำสอน พระวาจานั้นเป็นเครื่องแสดงธรรมของพระตถาคตทั้งหลายทั้งปวง, เพราะว่าธรรมมีความไม่เบียดเบียนเป็นลักษณะ, พระพุทธพจน์นั้นเป็นเครื่องกล่าวความเป็นเอง ก็เพราะพระตถาคตตรัสพระวาจาใดแล้วว่า 'เราผู้ตถาคตพึงข่มสภาพซึ่งควรข่มพึงยกย่องสภาพซึ่งควรยกย่อง' ดังนี้ พระวาจานั้นเป็นเครื่องตรัส.
ขอถวายพระพร จิตที่ฟุ้งซ่านแล้วควรข่ม, จิตที่หดหู่ควรประคองไว้; จิตเป็นอกุศลควรข่ม, จิตเป็นกุศลควรยกย่อง: ความกระทำในใจโดยไม่แยบคายควรข่ม, ความกระทำในใจโดยแยบคายควรยกย่อง: บุคคลผู้ปฏิบัติผิดแล้วควรข่ม, บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วควรยกย่อง; บุคคลไม่ใช่อริยะควรข่ม, บุคคลที่เป็นอริยะควรยกย่อง; โจรควรข่ม, บุคคลที่ไม่เป็นโจรควรยกย่อง."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อนั้นจงยกไว้, บัดนี้พระผู้เป็นเจ้ากลับมาสู่วิสัยของข้าพเจ้าแล้ว, ข้าพเจ้าถามเนื้อความใด เนื้อความนั้นเข้าถึงแก่ข้าพเจ้าแล้ว; พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ก็โจรอันใคร ๆ เมื่อจะข่มควรข่มอย่างไร?"
ถ. "ขอถวายพระพร โจรใคร ๆ เมื่อจะข่มพึงข่มอย่างนี้;โจรที่ควรจะขู่ อันบุคคลผู้ข่มพึงขู่, โจรควรจะปรับสินไหมพึงปรับไหม, โจรควรจะขับไล่ พึงขับไล่เสีย, โจรซึ่งควรจะจำไว้พึงจำไว้, โจรซึ่งควรจะฆ่าพึงฆ่าเสีย."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ก็ความฆ่าโจรทั้งหลายอันใด ความฆ่านั้นเป็นอนุมัติของพระตถาคตทั้งหลายด้วยหรือ?"
ถ. "หาไม่ ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน โจรซึ่งควรจะบังคับควรจะสั่งเป็นอนุมัติของพระตถาคตทั้งหลายด้วย เพื่อเหตุไรเล่า?"
ถ. "ขอถวายพระพร โจรใดนั้นอันราชบุรุษทั้งหลายฆ่าอยู่โจรนั้นอันราชบุรุษทั้งหลายจะฆ่า โดยอนุมัติของพระตถาคตทั้งหลายก็หาไม่, โจรนั้นราชบุรุษทั้งหลายฆ่าเสีย เพราะโทษผิดที่โจรกระทำแล้วเอง, เออก็ พระตถาคตพร่ำสอน ๆ โดยธรรม, ก็ราชบุรุษทั้งหลายอาจเพื่อจะจับบุรุษมิได้กระทำความผิด ไม่มีความผิด เที่ยวอยู่ที่ถนนฆ่าเสียให้ตายโดยอนุมัติหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า.
ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่บุรุษนั้น มิได้กระทำความผิดนะซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร โจรอันราชบุรุษทั้งหลายฆ่าเสีย ตามอนุมัติของพระตถาคตทั้งหลาย หามิได้, โจรนั้นอันราชบุรุษทั้งหลายฆ่าเสียเพราะโทษผิดที่โจรกระทำเอง อย่างนี้นั่นเทียว, ก็ผู้บังคับจะต้องโทษอันหนึ่งเพราะความบังคับนั้นหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น ความพร่ำสอนของพระตถาคตทั้งหลาย ย่อมเป็นความพร่ำสอนโดยชอบ."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้า ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๓. ภิกขุปณามปัญหา ๓๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้ว แม้ซึ่งพระพุทธพจน์นี้ว่า 'เราตถาคตไม่มีความโกรธ เป็นผู้ปราศจากโทสะดังตะปูตรึงจิตแล้ว,' ภายหลังพระตถาคตทรงประณามพระเถระสารีบุตร และพระเถระโมคคัลลานะทั้งหลายกับทั้งบริษัท. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตโกรธแล้วจึงประณามบริษัทหรือ หรือว่าพระตถาคตทรงยินดีแล้ว
ประณามบริษัท; พระผู้เป็นเจ้าจงรู้เหตุนั้นก่อนว่า 'เหตุนี้ชื่อนี้.' ถ้าพระตถาคตโกรธแล้วประณามบริษัท, ถ้าอย่างนั้น ความโกรธของพระตถาคตยังไม่เป็นไปล่วงได้แล้ว. ถ้าว่าพระตถาคตทรงยินดีแล้วประณาม, ถ้าอย่างนั้นพระตถาคตเจ้าไม่รู้ประณามแล้ว เพราะเหตุไม่ใช่วัตถุ. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ได้ภาสิตแล้วซึ่งพระพุทธพจน์นี้ว่า 'เราตถาคตไม่มีความโกรธ เป็นผู้ปราศจากโทสะดังตะปูตรึงจิตแล้ว.' อนึ่งพระองค์ทรงประณามพระเถระสารีบุตรและพระเถระโมคคัลลานะทั้งหลายกับทั้งบริษัท. ก็แหละการประณามนั้นจะทรงประณามด้วยความโกรธก็หาไม่.
ขอถวายพระพร บุรุษในโลกนี้ บางคนพลาดล้มลงที่รากไม้หรือที่ตอ หรือที่ศิลา หรือที่กระเบื้อง หรือที่ภาคพื้นอันไม่เรียบ หรือที่เปือกตมในแผ่นดินใหญ่, เออก็ แผ่นดินใหญ่โกรธแล้วจึงให้บุรุษนั้นล้มลงหรือ?"
ร. "หามิได้ ความโกรธหรือความเลื่อมใสของแผ่นดินใหญ่ไม่มี, แผ่นดินใหญ่พ้นแล้วจากความเอ็นดูและขึ้งเคียด, บุรุษนั้นพลาดล้มแล้วเองนั่นเทียว."
ถ. "ขอถวายพระพร ความโกรธหรือความเลื่อมใส ย่อมไม่มีแด่พระตถาคตทั้งหลาย, พระตถาคตองค์อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายพ้นแล้วจากความเอ็นดูและขึ้งเคียด, พระเถระทั้งหลายเหล่านั้น พระองค์ทรงประณามขับไล่แล้ว เพราะความผิดของตนที่ตนกระทำแล้วเองทีเดียวโดยแท้แลฉันนั้น. อุปมาเหมือนบุคคลที่พลาดจากแผ่นดินล้มลง ฉันใด, บุคคลที่พลาดแล้วในพระศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระองค์ทรงประณามเสีย ฉันนั้น; อนึ่ง ซากศพที่ตายแล้วในมหาสมุทร ๆ ย่อมซัดขึ้น ฉันใด, บุคคลพลาดแล้วในพระศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระองค์ทรงประณามเสีย ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงประณามพระเถระทั้งหลายเหล่านั้นเพราะเหตุไร พระองค์ใคร่ประโยชน์ ใคร่ความเกื้อกูล ใคร่ความสุขใคร่ความหมดจดพิเศษแก่พระเถระทั้งหลายเหล่านั้นว่า 'ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ จักพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ด้วยอุบายอย่างนี้' จึงทรงประณามขับไล่เสีย."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๔. สัพพัญญูสยปณามปัญหา ๓๔

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'พระตถาคตเป็นสัพพัญญู' ดังนี้. และกล่าวอีกว่า 'เมื่อภิกษุสงฆ์มีพระเถระชื่อ สารีบุตร และโมคคัลลานะเป็นประธาน อันพระตถาคตประณามแล้ว ศากยราชผู้อยู่ในเมืองชื่อจาตุมนครด้วย สหัมบดีพรหมด้วย แสดงพีชูปมาเปรียบด้วยพืชอ่อน และวัจฉตรณูปมา เปรียบด้วยลูกโครุ่น ให้พระผู้มีพระภาคเลื่อมใสแล้ว ให้ยกโทษแล้วให้สงบแล้ว' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตงดโทษแล้ว อดโทษแล้ว เข้าไประงับแล้ว สงบแล้ว ด้วยอุปมาทั้งหลายเหล่าใดอุปมาทั้งหลายเหล่านั้น อันพระตถาคตทรงทราบแล้วหรือหนอแล? พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าอุปมาทั้งหลายเหล่านั้น อันพระตถาคตไม่ทรงทราบแล้ว, ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ใช่สัพพัญญู. ถ้าว่าอุปมาเหล่านั้น อันพระตถาคตทรงทราบแล้ว, ถ้าอย่างนั้น พระตถาคตข่มเหงเพ่งความทดลอง ทรงประมาณแล้ว, ถ้าอย่างนั้น ความไม่มีความกรุณา ย่อมเกิดพร้อมแด่พระตถาคตแล้ว. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระตถาคตเป็นสัพพัญญู, และพระผู้มีพระภาคเลื่อมใสแล้ว งดโทษแล้ว อดโทษแล้ว เข้าไประงับแล้ว สงบแล้ว ด้วยอุปมาทั้งหลายเหล่านั้น. พระตถาคตเป็นธรรมสามี, ศากยราชทั้งหลายชาวจาตุมนคร และสหัมบดีพรหมอาราธนาพระตถาคต ให้พระตถาคตทรงยินดีแล้ว ให้เลื่อมใสแล้วด้วยข้ออุปมาทั้งหลายที่พระตถาคตทรงทราบแจ้งชัดแล้วทีเดียว' อนึ่ง พระตถาคตทรงเลื่อมใสแล้ว อนุโมทนายิ่งแล้วว่า สาธุ แก่ศากยราชชาวจาตุมนคร และสหัมบดีพรหมเหล่านั้น.
เหมือนสตรีเชิญสามี ให้สามียินดีเลื่อมใสด้วยทรัพย์เป็นของ ๆ สามีนั่นเทียว, และสามีก็บันเทิงตามยิ่งแล้วซึ่งทรัพย์นั้นฉันใด; ศากยราชชาว จาตุมนครและสหัมบดีพรหม อาราธนาพระตถาคต เชิญพระตถาคตให้ทรงยินดีแล้ว ให้เลื่อมใสแล้ว ด้วยข้ออุปมาทั้งหลายที่พระตถาคตทรงทราบแล้วทีเดียว, และพระตถาคตเลื่อมใสแล้ว ทรงอนุโมทนาแก่ศากยราชชาวจาตุมานครและสหัมบดีพรหมยิ่งแล้ว ด้วยพระพุทธพจน์ว่า สาธุ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างกัลบกประดับพระเศียรของพระมหากษัตริย์ ด้วยสุพรรณอลงกรณ์ของพระมหากษัตริย์นั่นเอง อัญเชิญพระมหากษัตริย์ให้ทรงยินดีเลื่อมใส, และพระมหากษัตริย์เลื่อมใสแล้ว ทรงบันเทิงว่า สาธุ แล้วจึงพระราชทานรางวัลแก่ช่างกัลบกนั้นตามความปรารถนา ฉันใด; ศากยราชชาวจาตุมนครและสหัมบดีพรหมอาราธนาพระตถาคต เชิญพระตถาคตให้ยินดียิ่งแล้ว ให้เลื่อมใสแล้วด้วยข้ออุปมาทั้งหลายที่พระตถาคตทรงทราบแล้วทีเดียว, และพระตถาคตเลื่อมใสแล้ว ทรงอนุโมทนาแก่ศากยราช
ชาวจาตุมนคร และสหัมบดีพรหมยิ่งแล้ว ด้วยพระพุทธพจน์ว่า สาธุ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนสัทธิวิหาริก ถือเอาบิณฑบาตที่อุปัธยายนำมาแล้ว น้อมเข้าไปถวายอุปัธยาย อาราธนาอุปัธยาย ยังอุปัธยายให้ยินดีให้เลื่อมใส อุปัธยายเลื่อมใสแล้ว อนุโมทนากะสัทธิวิหาริกนั้นว่า สาธุ ดังนี้ ฉันใด; ศากยราชชาวจาตุมนครและสหัมบดีพรหม อาราธนาพระตถาคต เชิญพระตถาคตให้ทรงยินดีแล้ว ให้เลื่อมใสแล้ว ด้วยข้ออุปมาทั้งหลายที่พระตถาคตทรงทราบแล้วทีเดียว, และพระตถาคตเลื่อมใสแล้ว อนุโมทนาแล้วว่า สาธุ ดังนี้ ทรงแสดงธรรมแก่ศากยราชชาวเมืองจาตุมนคร และสหัมบดีพรหมทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อความพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๕. อนิเกตานาลยกรณปัญหา ๓๕

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือ ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือ ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้ เป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือ ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี" แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตพระพุทธพจน์แม้นี้แล้วว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้.
ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือ ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้น เป็นคำแสดงสภาวะเป็นคำกล่าวเหตุไม่หลงเหลือ เป็นคำกล่าวเหตุไม่มีส่วนเหลือ เป็นคำกล่าวตรงไม่อ้อมค้อม เป็นคำเหมาะแก่สมณะ เป็นคำสมรูปของสมณะ เป็นคำสมส่วนแก่สมณะ เป็นคำสมควรแก่สมณะ เป็นโคจรของสมณะ เป็นที่ตั้งมั่นของสมณะ. เปรียบเหมือนเนื้อที่อยู่ในป่า เมื่อเที่ยวไปในไพรในป่า ไม่มีอาลัยในที่อยู่ ไม่ติดที่อยู่ ย่อมไปได้ตามความปรารถนาฉันใด, ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่ติดที่อยู่ ไม่มีอาลัย คิดเห็นว่า 'ข้อนั้นแหละเป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ฉันนั้นนั่นแล.
ขอถวายพระพร ส่วนพระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งเห็นอำนาจประโยชน์สองประการจึงตรัสแล้ว, อำนาจประโยชน์สองประการนั้น คือ อะไรบ้าง? คือ: ธรรมดาว่าวิหาร อันพระพุทธเจ้าทั้งปวงทรงสรรเสริญ ชมเชย อนุมัติ ยกย่องแล้ว, ทายกทั้งหลายเหล่านั้น ถวายวิหารทานแล้ว จักพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย; นี้เป็นอานิสงส์ในวิหารทานข้อที่หนึ่ง. คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: เมื่อวิหารมีอยู่ ภิกษุเป็นอันมากจักเป็นผู้ปรากฏ จักเป็นผู้อันชนทั้งหลายผู้ประสงค์จะพบเห็นหาได้ง่าย, ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่มีที่อยู่ จักเป็นผู้อันชนทั้งหลายพบเห็นได้ยาก; นี้เป็นอานิสงส์ในวิหารทานข้อที่สอง.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล็งเห็นอำนาจประโยชน์สองประการนี้ จึงตรัสแล้วว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, พระพุทธโอรสไม่พึงกระทำความอาลัยในที่อยู่นั้น"
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๖. อุทรสํยมปัญหา ๓๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้. และตรัสอีกแล้วว่า 'ดูก่อนอุทายี ก็เราแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'แน่ะอุทายี ก็เราแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่า พระตถาคตเจ้าตรัสแล้วว่า 'แน่อุทายี ก็เราแลในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหาร อันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาพึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้ว แม้ซึ่งพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'แน่ะอุทายี ก็เราตถาคตแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้. พระพุทธพจน์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง" ดังนี้. พระพุทธพจน์นั้นเป็นเครื่องกล่าวโดยสภาวะเป็นเครื่องกล่าวเหตุไม่เหลือ เป็นเครื่องกล่าวเหตุไม่มีส่วนเหลือ เป็นเครื่องกล่าวโดยนิปริยายโดยตรง เป็นเครื่องกล่าวเหตุที่แท้ เป็นเครื่องกล่าวเหตุตามเป็นจริง ไม่วิปริต เป็นคำของฤษีและมุนี เป็นพระพุทธพจน์ของพระผู้มีพระภาค เป็นคำของพระอรหันต์ เป็นคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระพุทธพจน์ของพระชินพุทธเจ้า เป็นพระพุทธพจน์ของพระสัพพัญญู เป็นพระพุทธพจน์ของพระตถาคต พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ขอถวายพระพร บุคลไม่สำรวมแล้วในท้อง ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้แล้วบ้าง ย่อมถึงภริยาของผู้อื่นบ้าง ย่อมกล่าวคำเท็จบ้าง ย่อมดื่มน้ำกระทำผู้ดื่มแล้วให้เมาบ้าง ย่อมฆ่ามารดาบ้าง ย่อมฆ่าบิดาบ้าง ย่อมฆ่าพระอรหันต์บ้าง ย่อมทำลายสงฆ์บ้าง ย่อมกระทำพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้น ด้วยจิตอันประทุษร้ายแล้วบ้าง.
ขอถวายพระพร พระเทวทัตไม่สำรวมท้องแล้ว ทำลายสงฆ์แล้วสร้างกรรมเป็นที่ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ไม่ใช่หรือ? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุทั้งหลายมีอย่างมาก แม้เหล่าอื่นเป็นปานฉะนี้แล้ว จึงตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารที่ตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมท้อง" ดังนี้.
ขอถวายพระพร บุคคลผู้สำรวมท้องแล้ว ย่อมถึงพร้อมเฉพาะคือตรัสรู้อภิสมัย คือ สัจจะสี่ กระทำสามัญญผลทั้งหลายสี่ให้แจ้งย่อมถึงความเป็นผู้ชำนาญในปฏิสัมภิทาทั้งหลายสี่ด้วย ในสมาบัติทั้งหลายแปดด้วย ในอภิญญาทั้งหลายหกด้วย บำเพ็ญสมณธรรมสิ้นเชิงด้วย.
ขอถวายพระพร ลูกนกแขกเต้าเป็นผู้สำรวมท้องแล้ว กระทำโลกให้ไหวแล้ว เพียงไรแต่พิภพชื่อดาวดึงส์ นำท้าวสักกะผู้เป็นจอมของเทวดาทั้งหลาย เข้าไปยังที่บำรุงแล้วมิใช่หรือ? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุทั้งหลายมากอย่างแม้เหล่าอื่นเห็นปานฉะนี้ จึงตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารที่ตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงสำรวมแล้วในท้อง" ดังนี้.
ขอถวายพระพร ก็พระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า "แน่ะ อุทายี ก็เราผู้ตถาคตแล ในกาลบางคราว บริโภคเสมอขอบบาตรบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้" ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้นอันพระตถาคตมีกิจกระทำแล้ว มีกิริยาสำเร็จแล้ว สำเร็จประโยชน์แล้ว มีกาลเป็นที่สุดอยู่แล้ว ห้ามกิเลสได้แล้ว เป็นพระสัพพัญญูผู้เป็นเอง ตรัสหมายเอาพระองค์เอง.
ขอถวายพระพร ความกระทำความสบายแก่บุคคลเป็นไข้ กระสับกระส่ายอยู่ สำรอกแล้ว รุนแล้ว รมแล้ว เป็นกิริยาอันหมอพึงปรารถนาฉันใด, ความสำรวมในท้อง อันบุคคลยังมีกิเลส ยังไม่เห็นสัจจะ พึงกระทำฉันนั้นเทียวแล. กิจที่จะต้องกระทำด้วยความขัดและครู่สี และชำระให้หมดจด ย่อมไม่มีแก่แก้วมณีอันมีความสว่าง มีชาติบริสุทธิ์โดยชาติยิ่ง ฉันใด, ความห้ามในความกระทำกิริยาทั้งหลาย ย่อมไม่มีแด่พระตถาคตเจ้า ผู้บรรลุบารมีในวิสัยของพระพุทธเจ้าแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
ตอบกระทู้