ธรรมทาน คือ อะไร ? มารู้จัก “ธรรมทาน” กันเถิด
ธรรมทานคืออะไร ?
การให้ธรรมะเป็นทาน เช่น ให้วิชาความรู้ ให้คำแนะนำสั่งสอนในทางที่ดี ให้คำตักเตือนเมื่อหลงทางผิด และที่ทำให้ง่ายที่สุดคือการให้หนังสือธรรมะเป็นทาน ในบรรดาการให้ทั้งหลาย ไม่ว่าเป็นข้าวน้ำ วัตถุสิ่งของ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการให้ธรรมะเป็นทานว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และเป็นสุดยอดแห่งการให้ทานทั้งปวง
ควรให้ธรรมทานแก่ใคร ?
เป้าหมายแรกคือคนไทย ๖๙ ล้านคน ใครก็ได้ โดยเฉพาะกับเด็กเยาวชนในโรงเรียน ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน เพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด พ่อแม่ ครูอาจารย์ ลูกศิษย์ บุตรธิดา โรงงาน เรือนจำ โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา สถานพินิจ กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานราชการ บริษัท ห้างร้าน องค์กรต่างๆ แล้วขยายไปทั่วโลก
เหตุใดการให้ธรรมทาน จึงดีกว่าการให้ทั้งปวง ?
พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ให้ข้าวน้ำ ถือว่าให้กำลัง ผู้ให้เสื้อผ้าถือว่าให้ความสวยงาม แต่ ผู้ให้ธรรมะเป็นทานถือว่าเป็นผู้ให้ความเป็นคน ให้สติปัญญา ให้ความพ้นทุกข์ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ได้อ่านหรือฟังธรรมะแล้วย่อมเกิดความ สำนึกที่ดี มีความพากเพียรในการละชั่วทำดี มีสติปัญญาและมีความเพียรในการปฏิบัติตนให้พ้นจากทุกข์ สร้างสุขให้เกิดขึ้นแก่ตน คนรอบข้าง และสังคมต่อๆ ไป ไม่สิ้นสุด
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
…. “อกฺขรา เอกํ เอกญฺจ พุทฺธรูปํ สมํ สิยา สร้างอักขรธรรมหนึ่งอักษร เท่ากับสร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์”
ขอให้สนใจในธรรมทาน
โดย พุทธทาสภิกขุ
ธรรมทานนั้นมีผลมากว่าทานอื่นจริง ๆ วัตถุทานก็ช่วยกันแต่เรื่องมีชีวิตอยู่รอด, อภัยทานก็เป็นเรื่องมีชีวิตอยู่รอด แต่มันยังไม่ดับทุกข์ มีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์น่ะมันดีอะไร, เขาให้มีชีวิตอยู่ แต่เขาได้รับทุกข์ทรมานอยู่ นี้มันดีอะไร มันดีอะไร
เมื่อรอดชีวิตอยู่แล้ว มันจะต้องไม่มีความทุกข์ด้วย จึงจะนับว่าดีมีประโยชน์ ข้อนี้สำคัญกว่าด้วยธรรมทาน มีความรู้ธรรมะแล้ว รู้จำทำให้ไม่มีความทุกข์ รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ รู้จักหยุดความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ ธรรมทานจึงมีผลกว่าในลักษณะอย่างนี้ มันช่วยให้ชีวิตไม่เป็นหมัน
วัตถุทานและอภัยทานช่วยให้เรารอดชีวิตอยู่ บางทีก็อยู่เฉย ๆ มันสักว่ารอดชีวิตอยู่เฉย ๆ แต่ถ้ามีธรรมทานเข้ามาก็จะสามารถช่วยให้มีผลถึงที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้น ขอให้สนใจในเรื่องธรรมทาน
ทีนี้ให้ธรรมทาน มีจิตใจอยู่เหนือกิเลส ไม่ประกอบไปด้วยกิเลสมันก็ไม่มีปัญหา มันก็เสวยความสุขชนิดที่ไม่เกี่ยวกับกิเลส ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นของเหนือกว่า เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนพยายามให้ธรรมทานคือทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะแล้วก็จะได้ผลชนิดที่ ละเอียด ลึกซึ้ง ประณีต ประเสริฐ ยิ่งกว่าให้วัตถุทาน. ให้ วัตถุทาน ชื่อว่าให้กำลังแรงกาย ส่งผลให้ร่ำรวย เป็นสุขในสวรรค์ ให้ อภัยทาน ชื่อว่าให้ความไม่มีเวร ส่งผลให้ชีวิตสงบ เป็นสุขในสวรรค์ ให้ ธรรมทาน ชื่อว่าให้ปัญญา ให้แสงสว่าง ให้ความพ้นทุกข์ ส่งผลให้มีสติปัญญาเห็นแจ้งในมรรค ผล เข้าถึงสุขสูงสุดในนิพพาน
โดย พุทธทาสภิกขุ
อานิสงส์ธรรมทาน ๑๐ ประการ
ธรรม ทาน เป็นเครื่องเตือนสติให้เราระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ ของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต เป็นหนทางหนึ่ง อย่างเช่นการรู้คุณของพ่อแม่ รู้คุณแผ่นดินเกิด คุณธรรมทั้งหลายนี้ ถือว่าเป็นต้นน้ำแห่งพระธรรม(ความเป็นจริง) ที่สามารถฉุดช่วยผู้คนให้พ้นภัยเวียนได้ทัน เพราะการชี้แนะ จะด้วยกุศโลบายใดๆ ถือเป็นเป็นมหากุศลยิ่งกว่าสร้างเจดีย์แก้วเจ็ดชั้น ขอ ให้พระธรรมอันลึกซึ้ง จงสถิตอยู่ทุกดวงจิต คอยติดตามปกป้องคุ้มครอง ช่วยเตือนสติให้บังเกิดความสำนึกรู้คุณของเหตุและรู้คุณของผล จากเจตนาด้วยกาย วาจา ใจ อันเป็นผลตอบแทนแก่บุพการีให้สมกับความเป็นมนุษย์ทั้งหลายอย่างแท้จริง
อานิสงส์ธรรมทาน ๑๐ ประการ
๑. กรรมเวรจากอดีตชาติจะได้ลบล้างมลายหายให้สิ้น ๒. ความเป็นสิริมงคลย่อมจะมีมาสู่ครัวทุกบ้านเรือน ๓. บุตรหลานที่พาลเกเรจะกลับตัวเป็นคนดี ๔. วงศ์สกุลจะมีผู้สืบทอดและเจริญรุ่งเรืองทุกๆ ชั่วอายุ ๕. คิดจะทำการอันใดจะมีคนมาให้ความช่วยเหลือ ๖. ขจัดเคราะห์ภัย ภัยใหญ่จะกลายเป็นภัยเล็ก ๗. คนป่วยเรื้อรังจะหายจากโรคภัย ๘. วิญญาณทุกข์ของบรรพชนจะพ้นจากถูกทรมานไปสู่สุคติ ๙. เป็นบารมีคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ๑๐. บังเกิดบุญวาสนาและให้มีอายุยืนยาว อานิสงส์จากการให้ธรรมทาน จะเป็นไปตามความมุ่งมั่นศรัทธาและความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งผู้ให้จะสัมผัสรับรู้ได้เอง.
ธรรมทาน เหนือการให้ทั้งปวง เพราะเป็นต้นกำเนิดของทาน และความดีทั้งปวง
...ธรรมทานนี้มีอานิสงส์มาก ดังที่มีการพรรณนาคุณไว้ใน อรรถกถาธรรมบท ว่า...
- แม้ทายกจะถวายจีวรอย่างดีที่สุด แด่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ที่นั่งติดๆ กันเต็มห้องจักรวาลนี้ ก็ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าการอนุโมทนาของพระพุทธเจ้า ด้วยพระคาถา(๒) เพียง ๔ บาท และจีวรทานนั้นมีค่าไม่ถึงเศษส่วน ๑๖ แห่งพระคาถาที่พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา
- แม้ทายกจะถวายโภชนะข้าวสาลี กอปร ด้วยสูปะพยัญชนะอันประณีต เป็นต้น ให้เต็มบาตรพระพุทธเจ้าก็ดี จะถวายเภสัชทาน มี เนยใส เนยเหลว น้ำผึ้ง เป็นต้น ให้เต็มบาตรพระพุทธเจ้าที่นั่งติดๆ เต็มห้องจักรวาลก็ดี ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทานที่พระพุทธเจ้า อนุโมทนาด้วยพระคาถาเพียง ๔ บาท
- อนึ่ง ทายกจะถวายเสนาสนะ มีมหาวิหาร หรือโลหปราสาทหลายแสนหลัง ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทานที่พระพุทธเจ้า อนุโมทนาด้วยพระคาถาเพียง ๔ บาท
- การแสดงธรรม การบอกธรรม การฟังธรรม มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่และประเสริฐกว่าจีวรทาน บิณฑบาตทาน เสนาสนทาน ทุกอย่าง เพราะว่าชนทั้งหลายจะทำบุญมากมายขนาด นั้นได้ ก็ต่อเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ถ้าไม่ได้ฟังธรรมมีศรัทธาแล้ว จะถวายข้าวสวยสักทัพพี ข้าวต้มสักกระบวยก็ยังยาก แม้บุคคลสำเร็จมรรคผล จะสำเร็จอัครสาวกภูมิ ก็ต้องอาศัยการฟังธรรม
- อีกประการหนึ่ง ยกเว้นพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แม้พระสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตร เป็นต้น ผู้เป็นเลิศด้วยปัญญาญาณ สามารถนับเม็ดฝนที่ตกอยู่ตลอดกัปได้ ก็ยังไม่สามารถจะบรรลุอริยผล มีโสดาปัตติผล เป็นต้น โดยลำพังตนเองได้ ต่อเมื่อได้ฟังธรรม จากพระอัสสชิเป็นต้นแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และบรรลุธรรมสูงสุด ด้วยพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา เพราะเหตุนี้ "ธรรมทานจึงประเสริฐที่สุด" ดังเรื่องปัญหาของท้าวสักกเทวราช (๓)
ในสมัยหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยเทวดาหมื่นจักรวาลมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นถึงแล้วจึงน้อมนมัสการทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
"การให้อะไร ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งอะไร ชนะรสทั้งปวง ความยินดีในอะไร ชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งอะไร ชนะทุกข์ทั้งปวง"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพยดา ปรากฏใน ตัณหาวรรค ธรรมบท ว่า
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ
การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง ผู้ใดให้ธรรมเป็นทาน ผู้นั้นชื่อว่าให้พระนิพพานแก่คนทั้งหลาย
อ้างอิง ๑) ธรรมบท ขุททกนิกาย พระสูตรและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๔๓ หน้า ๓๒๕ ๒)คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี อัตราของฉันท์ คือ ๔ บาท เรียกว่า คาถาหนึ่ง ๓) ธรรมบท ขุททกนิกาย พระสูตรและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๔๓ หน้า ๓๒๓
|