Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะจากหนังสือมิลินทปัญหา หน้า ๒๐๐-๒๑๑

อาทิตย์ 01 เม.ย. 2018 4:21 am

๗. ธัมมวินยปฏิจฉันนปัญหา ๓๗

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตไว้แล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่พระตถาคตให้รู้แจ้งทั่วไปแล้ว ถ้าบุคคลเปิดแล้ว คือ บอกกล่าวเล่าเรียนอยู่แล้ว ก็จะไพโรจน์รุ่งเรือง ถ้าปิดบังไว้ มิได้บอกกล่าวมิได้แสดง ก็จะลี้ลับไปไม่รุ่งเรือง' ดังนี้. ครั้นมาภายหลังอีกเล่า ปาฏิโมกขุทเทส พระวินัยปิฎกสิ้นเชิงด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปิดกำบังไว้แล้ว. ถ้าว่าพึงได้ความประกอบหรือความสมควร หรือสมัยในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระวินัยบัญญัติอันบุคคลเปิดเผยแล้ว พึงงดงาม, ความศึกษา ความสำรวม ความนิยม สีลคุณ และอาจารบัญญัติ อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส มีในวินัยนั้นสิ้นเชิงเพราะเหตุไร เพราะเหตุนั้น วินัยบัญญัติอันบุคคลเปิดเผยแล้ว พึงงดงาม. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่พระตถาคตให้รู้แจ้งทั่วไปแล้ว บุคคลเปิดเผยแล้ว ย่อมไพโรจน์แจ่มแจ้งรุ่งเรือง ถ้าบุคคลไม่เปิดเผยแล้ว ก็จะลี้ลับกำบังอยู่ไม่ไพโรจน์รุ่งเรือง' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ปาฏิโมกขุทเทสและวินัยปิฏกทั้งสิ้น พระองค์ทรงปกปิดกำบังไว้' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าปาฏิโมกขุทเทสและวินัยปิฎกสิ้นเชิง พระองค์ปิดกำบังไว้แล้ว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่พระตถาคตให้รู้แจ้งทั่วไปแล้ว อันบุคคลเปิดเผยแล้ว ย่อมไพโรจน์รุ่งเรือง' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายออกให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่พระตถาคตให้รู้แจ้งทั่วไปแล้ว ถ้าบุคคลเปิดเผยแล้ว ย่อมไพโรจน์ถ้าบุคคลปกปิดกำบังไว้ ย่อมไม่ไพโรจน์.' และภายหลังพระองค์ทรงปิดกำบัง พระปาฏิโมกขุทเทสและวินัยปิฎกทั้งสิ้นไว้. ก็แหละ ความปิดกำบังนั้น มิได้ทั่วไปแก่ชนทั้งหลายทั้งปวง พระองค์ทรงกระทำให้เป็นเขตแดนปิดไว้แล้ว.
ขอถวายพระพร ปาฏิโมกขุทเทส พระผู้มีพระภาคเจ้ากระทำให้เป็นเขตแดนปิดไว้แล้ว ด้วยเหตุสามประการ คือ: ทรงปิดไว้แล้วด้วยอำนาจแห่งวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อน, ทรงปิดไว้แล้ว เพราะความที่ธรรมเป็นของหนัก, ทรงปิดไว้แล้ว เพราะความที่ภูมิของภิกษุเป็นของหนัก. พระปาฏิโมกขุทเทส พระผู้มีพระภาคเจ้ากระทำให้เป็นเขตแดนปิดไว้แล้ว ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อนอย่างไร? ปาฏิโมกขุทเทสในท่ามกลางของภิกษุ ปิดแก่ชนทั้งหลายนอกนั้นนี้อันใด การปิดบังพระปาฏิโมกขุทเทสนั้น เป็นวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้ว ในกาลก่อนทั้งปวง. เปรียบเหมือนขัตติยมายาของกษัตริย์ทั้งหลาย กษัตริย์จะแสดงได้ก็แต่ในกษัตริย์ทั้งหลายอย่างเดียว, กิริยานี้เป็นประเพณีของโลก ของกษัตริย์ทั้งหลาย ปิดแล้วแก่ชนทั้งหลายอันเหลือนอกนั้น ฉันใด; ปาฏิโมกขุทเทสควรแสดงได้ในท่ามกลางแห่งภิกษุ ปิดไว้แก่ชนทั้งหลายอันเหลือนอกนั้น อันใดนี้ นี้เป็นวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อนทั้งปวง ฉันนั้นนั่นเทียว.
อีกนัยหนึ่ง หมู่ชนทั้งหลายย่อมเป็นไปในแผ่นดิน, หมู่ชนทั้งหลาย ย่อมเป็นไปในแผ่นดินอย่างไรนี้ คือ คนปล้ำทั้งหลาย ช่างทอง ช่างทำกระสวย คนกล่าวถ้อยคำเป็นธรรม และชนทั้งหลายที่รู้วิทยาต่าง ๆ ก็กำบังวิทยาซ่อนวิทยาของตนไว้ตามพวกตามเหล่า แสดงได้แต่พวกเดียวกัน ปิดไว้แก่ชนทั้งหลายเหลือนอกนั้น ฉันใด; ปาฏิโมกขุทเทสควรแสดงในท่ามกลางภิกษุ พระองค์ปิดไว้แก่ชนทั้งหลายอันเหลือนั้น ฉันนั้น, นี้เป็นวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อน. ปาฏิโมกขุทเทส พระองค์กระทำแดนปิดไว้ด้วยอำนาจความเป็นวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อนอย่างนี้. ปาฏิโมกขุทเทสพระองค์ทรงกระทำให้เป็นแดนปิดไว้ เพราะความที่ธรรมเป็นของหนักอย่างไร? ธรรมเป็นของหนักดังภาระ บุคคลผู้กระทำกิจที่จะพึงกระทำในพระปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์ ย่อมกระทำพระอรหัตตผลวิมุตติให้บริบูรณ์ ย่อมบรรลุอรหัตตผลวิมุตตินั้น ด้วยความเป็นผู้กระทำกิจที่จะพึงกระทำ ในพระปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์โดยลำดับ, จะได้บรรลุอรหัตตผลวิมุตตินั้น ด้วยความเป็นผู้ไม่กระทำกิจในปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์ก็หาไม่, พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์ปิดไว้ด้วยพุทธประสงค์ว่า 'ธรรมเป็นแก่นสาร ธรรมประเสริฐนี้ จงอย่าเป็นของไปแล้วในมือของบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่กระทำกิจในปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์ อันบุคคลไม่กระทำกิจในปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์ทั้งหลาย อย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนติเตียนเลย, อนึ่ง ธรรมเป็นสาระ ธรรมประเสริฐนี้ จงอย่าไปในคนชั่ว อันคนชั่วอย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนติเตียนเลย?' พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์กระทำให้เป็นแดนปิดไว้แล้วเพราะความที่ธรรมเป็นของหนักอย่างนี้. พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์ทรงปิดไว้ด้วยทรงพระดำริว่า 'ธรรมดาว่า จันทน์แดงอันเป็นสาระประเสริฐบวร มีชาติเป็นอติชาติ กระจายเรี่ยรายไปแล้ว อันบุคคลย่อมดูหมิ่นติเตียน ฉันใด, ธรรมเป็นสาระธรรมอันประเสริฐนี้ จงอย่าเป็นของไปแล้วในมือของบุคคลทั้งหลายผู้ไม่กระทำกิจในปาฏิโมกขุทเทสให้บริบูรณ์โดยลำดับ อย่าได้เป็นของอันบุคคลดูหมิ่นดูแคลนติเตียนเลย, อนึ่ง ธรรมเป็นสารธรรมอันประเสริฐนี้ จงอย่าเป็นของไปในทุรชน อันทุรชนอย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนนินทาติเตียนเลยฉันนั้น' ดังนี้. พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์ทรงกระทำให้เป็นแดนปิดไว้แล้ว เพราะความที่ธรรมเป็นของหนักอย่างนี้. พระปาฏิโมกขุทเทสพระองค์ทรงกระทำให้เป็นแดนปิดไว้แล้ว เพราะความที่ภูมิของภิกษุเป็นของหนักอย่างไร? ความเป็นภิกษุอันใคร ๆ ชั่งไม่ได้ ไม่มีประมาณหาราคามิได้ อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะตีราคา เพื่อจะชั่ง เพื่อจะกำหนด, พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์ทรงปิดไว้ด้วยพระพุทธประสงค์ว่า 'บุคคลตั้งอยู่แล้วในความเป็นภิกษุ มีคุณอย่างนี้เป็นรูปนี้ จงอย่าเป็นผู้เปรียบเสมอด้วยโลก' ดังนี้, พระปาฏิโมกขุทเทส ย่อมเที่ยวอยู่คือว่า ย่อมควรในระหว่างของภิกษุทั้งหลายเท่านั้น เปรียบเหมือนผ้าหรือเครื่องลาด หรือช้าง ม้า รถ ทอง เงิน แก้วมณี แก้วมุกดา และนางแก้ว เป็นต้น ที่เป็นบวรประเสริฐในโลก ของทั้งปวงเหล่านั้นย่อมเข้าถึงพระมหากษัตริย์ คือ ย่อมควรแก่พระมหากษัตริย์ ฉันใด; สิกขาและนิกายเป็นที่มาและปริยัตติ และคุณ คือ ความสำรวมในอาจาระและศีลสังวรทั้งหลายในโลกประมาณเท่าใด คุณทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมเป็นของเข้าถึงภิกษุสงฆ์ ฉันนั้นแท้. พระปาฏิโมกขุทเทสพระองค์ทรงกระทำให้เป็นแดนปิดไว้แล้ว เพราะความที่ภูมิของภิกษุเป็นของหนักอย่างนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๘. มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา ๓๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วแม้ซึ่งพระพุทธพจน์นี้ว่า 'บุคคลเป็นปาราชิกเพราะสัมปชานมุสาวาท ความเป็นผู้รู้ทั่วพร้อมกล่าวเท็จ' ดังนี้. ครั้นมาภายหลังพระองค์ตรัสแล้วว่า 'ภิกษุต้องอาบัติเบา มีวัตถุควรแสดงในสำนักแห่งบุคคลผู้เดียวได้ เพราะสัมปชานมุสาวาท' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เหตุให้แปลกกันในสัมปชานมุสาวาทนั้นเป็นอย่างไร? อะไรเป็นเหตุกระทำให้ต่างกันในสัมปชานมุสาวาทนั้น? บุคคลขาดมูลด้วยสัมปชานมุสาวาทอันหนึ่ง และเป็นสเตกิจโฉพอเยียวยาได้ ด้วยสัมปชานมุสาวาทอันหนึ่ง สองอย่างนี้จะต้องกันอย่างไร? ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'บุคคลเป็นปาราชิก เพราะสัมปชานมุสาวาท' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภิกษุต้องอาบัติเบา มีวัตถุควรแสดงในสำนักแห่งบุคคลผู้เดียวได้ เพราะสัมปชานมุสาวาท' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ภิกษุต้องอาบัติเบา มีวัตถุควรแสดงในสำนักแห่งบุคคลผู้เดียวได้ เพราะสัมปชานมุสาวาท,' ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บุคคลเป็นปาราชิกเพราะสัมปชานมุสาวาท,' ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บุคคลเป็นปาราชิกเพราะสัมปชานมนุสาวาท' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'บุคคลเป็นปาราชิกเพราะสัมปชานมุสาวาท.' และตรัสแล้วว่า 'ภิกษุต้องอาบัติเบา มีวัตถุควรแสดงในสำนักแห่งบุคคลผู้เดียวได้ เพราะสัมปชานมุสาวาท' ดังนี้จริง. ก็แหละ พระพุทธพจน์ทั้งสองนั้น เป็นคำแสดงโทษหนักและเบาตามอำนาจวัตถุบรมบพิตรจะสำคัญเนื้อความนั้นเป็นไฉน: บุรุษในโลกนี้บางคน พึงให้ประหารแก่บุรุษอื่นด้วยฝ่ามือ, บรมบพิตรพึงปรับสินไหมอะไรแก่บุรุษผู้นั้น?"
ร. "ถ้าว่าบุรุษนั้นกล่าวแล้วว่า ข้าพเจ้าไม่ขมาโทษไซร้, ข้าพเจ้าให้ราชบุรุษปรับกหาปณะหนึ่งแก่บุรุษนั้น เพราะมิได้ขมา."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็ในโลกนี้ บุรุษนั้นนั่นเทียว พึงให้ประหารแก่บรมบพิตรด้วยฝ่ามือ, ก็สินไหมอะไร พึงปรับแก่บุรุษนั้น?"
ร. "ข้าพเจ้าพึงให้ราชบุรุษตัดมือของบุรุษผู้ประหารนั้นเสียบ้างให้ตัดเท้าของบุรุษนั้นเสียบ้าง จนถึงให้ตัดศีรษะดังตัดหน่อไม้ ให้ริบเรือนของบุรุษนั้นแม้ทั้งปวงบ้าง ให้เลิกตระกูลสองฝ่ายถึงเจ็ดชั่วตระกูล."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็เหตุอะไร เป็นเครื่องให้แปลกกันในพระราชอาชญานั้น ด้วยเหตุไร จึงปรับสินไหมกหาปณะเดียวน้อยนัก เพราะประหารบุรุษผู้หนึ่งด้วยฝ่ามือ ด้วยเหตุไรจึงลงอาชญาตัดมือ ตัดเท้า จนถึงตัดศีรษะ และริบเรือนทั้งปวง จนถึงเลิกถอนตระกูลทั้งสองฝ่าย ถึงเจ็ดชั่วตระกูล เพราะประหารบรมบพิตรด้วยฝ่ามือ ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะเนื่องด้วยวัตถุซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร สัมปชานมุสาวาท เป็นโทษหนักและเบาตามอำนาจวัตถุ ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๙. ยาจโยคปัญหา ๓๙

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีระกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้. ก็อาพาธที่เกิดแล้วในพระสรีรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมปรากฏมากครั้ง. ถ้าว่า พระตถาคตไม่มีใครยิ่งกว่า, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้เป็นผิด. ถ้าว่า พระพากุลเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย บรรดาที่มีอาพาธน้อย, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีรกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร จริงอยู่ พระพุทธพจน์นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีระกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้. ก็แหละ พระพุทธพจน์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอานิกายเป็นที่มา และมรรคที่บุคคลจะพึงเรียนซึ่งมีในภายนอก.
ขอถวายพระพร พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เป็นผู้ประกอบการยืนและจงกรมก็มีอยู่, พระสาวกเหล่านั้น ย่อมยังวันให้น้อมล่วงไป ด้วยการยืนและจงกรม, ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังวันและคืนให้น้อมล่วงไป ด้วยการยืน จงกรม นั่ง บรรทม; ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นใด เป็นผู้ประกอบการยืนและจงกรม ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้เอกยิ่ง ด้วยคุณพิเศษนั้น. พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เป็นเอกาสนิกะ คือ ฉันหนเดียวก็มีอยู่, พระสาวกเหล่านี้ ไม่ยอมฉันโภชนะเป็นครั้งที่สอง แม้เพราะเห็นแก่ชีวิต, ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเสวยพระกระยาหารครั้งที่สอง เพราะทรงหิว; ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นใด ที่เป็นเอกาสนิกะ ฉันหนเดียว ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้เอกยิ่ง ด้วยคุณพิเศษนั้น. เหตุทั้งหลายเช่นนั้นมากมายอย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความข้อนั้นตรัสแล้ว. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีใครยิ่งกว่า โดยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตตญาณทัสสนะ และโดยพระกำลัง และเวสารัชชญาณ และโดยพระพุทธธรรมสิบแปดประการ. ก็แหละพระองค์ทรงหมายเอาพระคุณธรรมนั้น ในพุทธวิสัยทั้งมวลตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ฯลฯ เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนในหมู่มนุษย์ บุคคลผู้หนึ่งเป็นผู้มีชาติ ผู้หนึ่งเป็นผู้มีทรัพย์ ผู้หนึ่งเป็นผู้มีวิชชา ผู้หนึ่งเป็นผู้มีศิลปะ ผู้หนึ่งเป็นคนกล้าหาญ ผู้หนึ่งเป็นคนฉลาดเฉียบแหลม, ชนเหล่านั้นแม้ทุกชนิด พึงมีในโลก, พระราชานั่นแล ย่อมเป็นผู้สูงสุดกว่าชนทั้งหลายเหล่านั้น โดยแท้ ข้อนี้ฉันใด; พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเป็นยอดเป็นใหญ่เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้นนั่นแล. ส่วนท่านผู้มีอายุพากุละนี้ ที่เป็นผู้มีอาพาธน้อยนั้น เนื่องด้วยอภินิหาร คือ บุญกุศลที่ได้ก่อสร้างไว้โดยเฉพาะ. ท่านเป็นผู้มีอาพาธน้อย อันพระผู้มีพระภาคเจ้ายกย่องว่าเป็นผู้เลิศ ก็เพราะช่วยบำบัดพยาธินั้น ๆ เสีย."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


วรรคที่ห้า
๑. อิทธิยากัมมวิปากปัญหา ๔๐

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วแม้ซึ่งพระพุทธพจน์ นี้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขันธบัญจกนี้ใด คือ มหาโมคคัลลานะ ขันธบัญจกนั้นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเราผู้ตถาคต บรรดาที่มีฤทธิ์' ดังนี้. ภายหลังได้ยินว่าพระเถระนั้นอันโจรทั้งหลายทุบแล้ว ด้วยตะบองทั้งหลาย มีศีรษะแตกแล้ว มีกระดูกอันโจรให้ละเอียดแล้ว แล่เนื้อและแถวแห่งเอ็นและเยื่อในกระดูกแล้ว ปรินิพพานแล้ว. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระมหาโมคคัลลานเถระ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์แล้ว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระเถระอันโจรทั้งหลายทุบแล้วด้วยตะบองทั้งหลาย ปรินิพพานแล้ว' นั้นเป็นผิด ถ้าพระเถระอันโจรทั้งหลายทุบแล้วด้วยตะบองทั้งหลาย ปรินิพพานแล้วจริง, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระเถระถึงที่สุดแห่งฤทธิ์แล้ว' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. พระ
โมคัลลานเถระนั้น ไม่อาจแล้วเพื่อจะนำความเข้าไปทำร้านตนออกเสียด้วยฤทธิ์, พระเถระนั้นควรเพื่อจะเป็นที่พึ่งอาศัยของโลก แม้ทั้งเทพดาอย่างไรได้? ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วแม้ซึ่งพระพุทธพจน์ นี้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขันธบัญจก นี้ใด คือ ภิกษุชื่อมหาโมคคัลลานะ ขันธบัญจกนั้นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของเราผู้ตถาคตบรรดาที่มีฤทธิ์' ดังนี้. แต่ท่านผู้มีอายุมหาโมคคัลลานะ อันโจรทั้งหลายทุบแล้วด้วยตะบอง ปรินิพพานแล้ว, ก็แลความปรินิพพาน เพราะโจรตีด้วยตะบองนั้น เพราะกรรมครอบงำถือเอา."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้วิสัยแห่งฤทธิ์ของบุคคลผู้มีฤทธิ์ แม้วิบากแห่งกรรมสองสิ่งนี้เป็นอจินไตยไม่ควรคิดไม่ใช่หรือ? บัณฑิตพึงนำสิ่งที่ไม่ควรคิดออกเสียด้วยสิ่งที่ไม่ควรคิด. อุปมาเหมือนว่าชนทั้งหลายใคร ๆ ใคร่จะบริโภคผลไม้ ย่อมทุบผลมะขวิดด้วยผลมะขวิดย่อมทุบผลมะม่วงด้วยผลมะม่วง ฉันใด, บัณฑิตพึงทุบสิ่งที่ไม่ควรคิดด้วยสิ่งที่ไม่ควรคิดนำออกเสีย ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ถ. "ขอถวายพระพร แม้สิ่งที่ไม่ควรคิดทั้งหลาย สิ่งหนึ่ง มีมาตรายิ่ง มีกำลังกว่า. เหมือนพระมหากษัตริย์ในแผ่นดิน มีชาติอันเสมอกัน, แม้พระมหากษัตริย์มีชาติอันเสมอกันเหล่านั้น พระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ยังพระราชอาชญาให้เป็นไป ข่มพระมหากษัตริย์ทั้งหลายทั้งปวงเสียได้ ฉันใด, อจินไตยทั้งหลายเหล่านั้น กรรมวิบากอย่างเดียว มีมาตรายิ่ง มีกำลังกว่า, กรรมวิบากอย่างเดียวยังอาชญาให้เป็นไป ข่มอจินไตยทั้งหลายทั้งปวงเสียได้, กิริยาทั้งหลายนอกนั้นย่อมไม่ได้โอกาสแห่งบุคคลอันกรรมครอบงำแล้ว."
ขอถวายพระพร เหมือนบุรุษคนหนึ่งในโลกนี้ ย่อมผิดในประการสิ่งหนึ่งนั่นเทียว, มารดาหรือบิดาก็ดี พี่หญิงพี่ชายก็ดี สขีและสหายก็ดี ย่อมเป็นที่พึ่งต้านทานแก่บุรุษนั้นไม่ได้, พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ยังพระราชอาชญาให้เป็นไปข่มในความผิดนั้นเสียได้โดยแท้, อะไรเป็นเหตุในความข่มนั้น คือ ความเป็นบุคคลมีความผิดเป็นเหตุ; อจินไตยของไม่ควรคิดทั้งหลายนั้น กรรมวิบากอย่างเดียว มีมาตราหนัก มีกำลังกว่า, กรรมวิบากอย่างเดียว ยังอาชญาให้เป็นไปข่มอจินไตยอื่น ๆ ทั้งปวงเสียได้ ฉันนั้นนั่นเทียว, เมื่อบุคคลอันกรรมครอบงำแล้ว กิริยาอันเหลือนอกนั้น ย่อมไม่ได้โอกาส.
อีกนัยหนึ่ง ครั้นเมื่อไฟป่าตั้งขึ้นพร้อมแล้วในแผ่นดิน น้ำแม้สักพันหม้อ ย่อมไม่อาจเพื่อจะให้ไฟนั้นดับได้, ไฟอย่างเดียวยังอาชญาให้เป็นไปข่มน้ำนั้นเสียได้โดยแท้, อะไรเป็นเหตุในข้อนั้น คือ ความที่ไฟมีกำลังเป็นเหตุ ฉันใด;สิ่งที่เป็นอจินไตยทั้งหลายเหล่านั้น วิบากแห่งกรรมสิ่งเดียวมีมาตราหนัก มีกำลังกว่า, วิบากแห่งกรรมอย่างเดียวยังอาชญาให้เป็นไปข่มอจินไตยทั้งหลายอื่นทั้งปวงเสียได้, เมื่อบุคคลอันกรรมครอบงำแล้ว กิริยาอันเหลือนอกนั้น ย่อมไม่ได้โอกาส ฉันนั้นนั่นเทียวแล. เพราะเหตุนั้น เมื่อท่านผู้มีอายุมหาโมคคัลลานะอันกรรมครอบงำแล้ว อันโจรทุบอยู่ด้วยตะบองทั้งหลาย ความประมวลฤทธิ์มาจึงมิได้มีแล้ว."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๒. โพธิสัตตธัมมตาปัญหา ๔๑

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ไว้ในธรรมปริยายของธรรมดาว่า 'มารดาและบิดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเที่ยงแล้ว อันธรรมดานิยมแล้ว ความตรัสรู้เป็นของอันธรรมดานิยมแล้ว พระอัครสาวกทั้งหลาย อันธรรมดานิยมแล้ว พระอัครสาวกทั้งหลาย อันธรรมดานิยมแล้วพระโอรสอันธรรมดานิยมแล้ว อุปฐากอันธรรมดานิยมแล้วในกาลก่อนเทียว' ดังนี้. ก็พระผู้เป็นเจ้ามากล่าวอีกว่า 'พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในดุสิตพิภพทิพยกาย เลือกมหาวิโลกนะทั้งหลายแปดคือ : เลือกกาลหนึ่ง เลือกทวีปหนึ่ง เลือกประเทศหนึ่ง เลือกตระกูลหนึ่ง เลือกพระชนนีหนึ่ง เลือกอายุหนึ่ง เลือกเดือนหนึ่ง เลือกเนกขัมมะหนึ่ง. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ความตรัสรู้ยังไม่มี, ครั้นเมื่อญาณแก่กล้าแล้ว อันพระโพธิสัตว์ไม่อาจเพื่อจะรอ แม้ตลอดระหว่างพริบตาหนึ่ง, ญาณมีในใจแก่กล้าแล้ว อันใคร ๆ ก้าวเกินไม่ได้; เพราะเหตุไร พระโพธิสัตว์จึงเลือกกาลด้วยความดำริว่า 'เราจะเกิดในกาลไร?' เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ความตรัสรู้ย่อมไม่มี, ครั้นเมื่อญาณแก่กล้าแล้ว อันพระโพธิสัตว์นั้น ไม่อาจเพื่อจะรออยู่ แม้ตลอดระหว่างพริบตาหนึ่ง: เพราะเหตุไร พระโพธิสัตว์จึงเลือกตระกูลด้วยทรงดำริว่า 'เราจะเกิดในตระกูลไร?' พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่ามารดาบริดาทั้งหลายของพระโพธิสัตว์เที่ยงแล้ว อันธรรมดานิยมแล้วในกาลก่อนทีเดียว คือมีเกิดกับสำหรับกัน, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระโพธิสัตว์เลือกตระกูล' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่าพระโพธิสัตว์เลือกตระกูล ถ้าอย่างนั้น คำว่า 'มารดาและบิดาทั้งหลายของพระโพธิสัตว์เที่ยงแล้ว ในกาลก่อนเทียว' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ่มแจ้งเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร มารดาและบิดาทั้งหลายของพระโพธิสัตว์เที่ยงแล้ว อันธรรมดานิยมแล้ว ในกาลก่อนทีเดียว, อนึ่ง พระโพธิสัตว์ย่อมเลือกตระกูลจริง. ก็พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่ากระไรแล้วจึงเลือกตระกูล? พระโพธิสัตว์ดำริว่า 'มารดาบิดาทั้งหลายเหล่าใดนี้ มารดาบิดาทั้งหลายเหล่านั้น เป็นกษัตริย์หรือ หรือว่าเป็นพราหมณ์ ทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงเลือกตระกูล.
ขอถวายพระพร "ของแปดอย่างที่ยังไม่เคยไปเคยมา บุคคลต้องแลดูก่อนทีเดียว, ของแปดอย่างทั้งหลายอย่างไร: พ่อค้าเมื่อจะค้าขายของต้องแลดูภัณฑะที่ตนจะขายนั้นก่อนหนึ่ง, คชสารเมื่อเดินไปถึงทางที่ตนยังไม่เคยมา ต้องเอางวงสอบสวนเสียก่อนหนึ่ง, พ่อค้าเกวียนต้องแลดูท่าเกวียนที่ตนยังไม่เคยไปเคยมาเสียก่อนหนึ่ง, ต้นหนต้องแลดูฝั่งที่ตนยังไม่เคยไปเคยมาเสียก่อน แล้วจึงแล่นเรือไปหนึ่ง, หมอต้องแลดูพิจารณาอายุของคนไข้ แล้วจึงเข้าไปใกล้คนไข้รับเยียวยารักษาหนึ่ง, ตะพานที่จะข้ามอันบุคคลเมื่อจะขึ้นต้องแลดูพิจารณาให้รู้ว่าตะพานนั้นมั่นหรือไม่มั่นเสียก่อนจึงขึ้นข้ามหนึ่ง, ภิกษุเมื่อจะบริโภคโภชนาหารต้องปัจจเวกขณ์พิจารณาอนาคตก่อนแล้วจึงบริโภคโภชนะได้หนึ่ง, พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเมื่อจะหยั่งลงสู่ตระกูลต้องแลดูเลือกตระกูลก่อน ว่าตระกูลนั้นจะเป็นตระกูลกษัตริย์หรือ หรือเป็นตระกูลพราหมณ์หนึ่ง. สิ่งทั้งหลายแปดอย่างนี้ สิ่งที่ยังไม่เคยไปเคยมา บุคคลต้องแลดูพิจารณาก่อนแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๓. อตัตนิปาตนปัญหา ๔๒

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ห้ามไว้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันภิกษุอย่าพึงทำตนให้ตกลง, ถ้าภิกษุรูปใดทำตนให้ตกลง ภิกษุนั้นอันพระวินัยธรพึงให้ทำตามธรรม' ดังนี้. ครั้นมาภายหลัง พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายในที่ใดที่หนึ่ง ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความขาดขึ้นพร้อมแห่ง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โดยปริยายมิใช่อย่างเดียว, ก็สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งก้าวล่วง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เสียด้วยประการทั้งปวง ทรงสรรเสริญผู้นั้นด้วยความสรรเสริญอย่างยิ่ง ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระพุทธบัญญัติห้ามว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุอย่าพึงกระทำตนให้ตกลง, ถ้าภิกษุรูปใดกระทำตนให้ตกลง ภิกษุรูปนั้นอันพระวินัยธรพึงให้กระทำตามธรรม,' ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมเพื่อความขาดขึ้นพร้อมแห่ง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ' นั้นผิด. ถ้าว่าพระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อขาดขึ้นพร้อมแห่ง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ, ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุอย่ากระทำตนให้ตกลง, ถ้าภิกษุรูปใดกระทำตนให้ตกลง ภิกษุรูปนั้นอันพระวินัยธรพึงให้กระทำตามธรรม' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด, ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตซึ่งพระพุทธพจน์นี้ห้ามไว้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุอย่างกระทำตนให้ตกลง, ถ้าภิกษุรูปใดกระทำตนให้ตกลง ภิกษุรูปนั้นอันพระวินัยธรพึงให้กระทำตามธรรม' ดังนี้จริง. และธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงแก่สาวกทั้งหลาย ณ ที่ใดที่หนึ่ง ทรงแสดงแล้วเพื่อความขาดขึ้นพร้อมแห่ง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โดยปริยายมิใช่อย่างเดียว. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงห้ามแล้วด้วย ทรงชักชวนแล้วด้วย ด้วยเหตุใด เหตุนั้นในการแสดงธรรมนั้นมีอยู่.
ขอถวายพระพร ภิกษุผู้มีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล บริบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้เสมอด้วยยาในการที่จะกระทำพิษ คือ กิเลสของสัตว์ทั้งหลายให้พินาศฉิบหายไป, เป็นผู้เสมอด้วยโอสถ ในการเข้าไประงับพยาธิ คือ กิเลสของสัตว์ทั้งหลาย, เป็นผู้เสมอด้วยน้ำในการล้างละอองธุลี คือ กิเลสของสัตว์ทั้งหลาย, เป็นผู้เสมอด้วยแก้วมณี ในการให้สมบัติทั้งปวงแก่สัตว์ทั้งหลาย, เป็นผู้เสมอด้วยเรือในการไปสู่ฝั่ง คือ นิพพานจากห้วงทั้งสี่ ของสัตว์ทั้งหลาย, เป็นผู้เสมอด้วยหมู่ชนพวกขนสินค้าเป็นไปกับด้วยทรัพย์ ในการที่ได้ข้ามทางกันดาร คือ ชาติของสัตว์ทั้งหลาย, เป็นผู้เสมอด้วยลมในการที่จะยังความร้อนพร้อมด้วยไฟสามกอง คือราคะ โทสะ โมหะ ของสัตว์ทั้งหลายให้ดับ, เป็นผู้เสมอด้วยมหาเมฆ ในการที่จะกระทำใจของสัตว์ทั้งหลายให้บริบูรณ์, เป็นผู้เสมอด้วยอาจารย์ให้ศึกษาสิ่งเป็นกุศลของสัตว์ทั้งหลาย, เป็นผู้เสมอด้วยบุคคลชี้ทางดีในการบอกทางเกษมแก่สัตว์ทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุอย่ากระทำตนให้ตกลง, ถ้าภิกษุรูปใดกระทำตนให้ตกลง ภิกษุรูปนั้นอันพระวินัยธรพึงให้กระทำตามธรรม' ดังนี้ ด้วยความไหวตามแก่สัตว์ทั้งหลายว่า 'ภิกษุผู้มีศีล มีรูปอย่างนี้ มีคุณมาก มีคุณมิใช่อันเดียว มีคุณไม่มีประมาณ เป็นคุณราสีกองคุณ เป็นผู้กระทำความเจริญแก่สัตว์ทั้งหลายอย่าฉิบหายเสียเลย' ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามแล้ว ด้วยเหตุใด เหตุนี้เป็นเหตุในเทศนานี้.
ขอถวายพระพร แม้คำนี้ พระเถระกุมารกัสสปผู้กล่าวธรรมวิจิตร เมื่อแสดงปรโลกแก่ปายาสิราชัญญะ ภาสิตแล้วว่า 'ราชัญญะ สมณะ และพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ตั้งอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน ด้วยประการใด ๆ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนมาก เพื่อสุขแก่ชนมาก เพื่อความไหวตามโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูลและความสุขแก่เทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยประการนั้น ๆ, ดังนี้. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชักชวนสาวกทั้งหลายด้วยเหตุไร? พระองค์ทรงชักชวนสาวกทั้งหลาย เพราะว่า แม้ชาติความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความโศกก็เป็นทุกข์ ความร่ำไรรำพันเพ้อด้วยวาจาก็เป็นทุกข์ ความลำบากกายก็เป็นทุกข์ ความลำบากใจก็เป็นทุกข์ ความคับแค้นก็เป็นทุกข์ ความประกอบพร้อมคือประจวบเข้าด้วยสัตว์และสังขารทั้งหลาย ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความประกอบปราศ คือ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งหลายที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ มารดาตายก็เป็นทุกข์ บิดาตายก็เป็นทุกข์ พี่ชายและน้องชายตายก็เป็นทุกข์ พี่หญิงและน้องหญิงตายก็เป็นทุกข์ บุตรตายก็เป็นทุกข์ ภริยาตายก็เป็นทุกข์ ญาติตายก็เป็นทุกข์ ญาติฉิบหายก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่โรคก็เป็นทุกข์ ความฉิบฉายแห่งโภคะก็เป็นทุกข์ ศีลฉิบหายเสียก็เป็นทุกข์ ทิฐิฉิบหายก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่พระมหากษัตริย์ก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่โจรก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่บุคคลมีเวรก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่ข้าวแพงก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่ไฟก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่น้ำก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่คลื่นก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่วังวนก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่จรเข้ก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่ปลายร้ายก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่ติเตียนตนเองก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่บุคคลอื่นเขาติเตียนก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่อาชญาก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่ความครั่นคร้ามแต่บริษัทก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่การเลี้ยงชีพก็เป็นทุกข์ ภัยเกิดแต่มรณะก็เป็นทุกข์ ความตีด้วยหวายก็เป็นทุกข์ ความตีด้วยแส้ก็เป็นทุกข์ ความตีด้วยท่อนไม้กิ่งไม้ก็เป็นทุกข์ ความต้องตัดมือก็เป็นทุกข์ ความต้องตัดเท้าก็เป็นทุกข์ ความต้องตัดมือและเท้าก็เป็นทุกข์ ความตัดหูก็เป็นทุกข์ พิลังคถาลิกะอธิบายว่า เมื่อเขาจะกระทำกรรมกรณ์นั้น เลิกกระบาลศีรษะขึ้น แล้วจึงเอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงวางที่ศีรษะนั่น เยื่อในสมองเดือดขึ้น เพราะเหล็กแดงนั้น กรรมกรณ์ชื่อพิลังคถาลิกะนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อสังขมุณฑิกะ อธิบายว่า เมื่อเขาจะทำกรรมกรณ์นั้นถลกหนังด้วยอันเชือดหมวกแห่งหูทั้งสองข้างและก้านแห่งคอ กระทำผมทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นขอดแห่งเดียวกัน พันด้วยท่อนไม้ หนังกับผมเลิกขั้นด้วยกัน แต่นั้นเขาครู่สีกะโหลกศีรษะด้วยกรวดหยาบทั้งหลายล้างกระทำให้มีสีเหมือนสีแห่งสังข์ กรรมกรณ์ชื่อสังขมุณฑิกะนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อราหุมุขะอธิบายว่า เมื่อเขาจะทำกรรมกรณ์นั้น เปิดปากด้วยขอเหล็ก ให้ประทีปโพลงในภายในปาก หรือเอาสิ่วเจาะปากตั้งแต่หมวกแห่งหูทั้งหลาย โลหิตไหลเต็มปาก กรรมกรณ์ชื่อราหุมุขะนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อโชติมาลิกะ อธิบายว่า คนผู้ทำกรรมกรณ์ทั้งหลาย เขาพันสรีระทั้งสิ้นด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วจุดไฟ กรรมกรณ์ชื่อโชติมาลิกะนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อหัตถปัชโชติกะ อธิบายว่า ชนผู้กระทำกรรมกรณ์ทั้งหลายเขาพันมือทั้งหลายด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้ว ตามไฟให้โพลง ราวกะประทีป กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อเอรกวัฏฏิกะ อธิบายว่า เมื่อเขาจะกระทำกรรมกรณ์นั้นเชือดอวัยวะให้เนื่องด้วยหนัง ตั้งแต่ภายใต้คอจนถึงข้อเท้าทั้งหลาย เอาเชือกทั้งหลายผูกโจรนั้นฉุดไป โจรนั้นเหยียบเชือกทั้งหลายที่เนื่องด้วยหนังของตนล้มลง กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อจีรกวาสิกะ อธิบายว่า เมื่อเขาจะทำกรรมกรณ์นั้น เชือดอวัยวะให้เนื่องด้วยหนังอย่างนั้น หยุดอยู่เพียงเอว เชือดตั้งแต่เพียงเอวหยุดอยู่เพียงข้อเท้าทั้งหลาย สรีระภายใต้แต่สรีระเบื้องบนเหมือนนุ่งผ้ากรอง กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อเอเณยยกะ อธิบายว่า เมื่อเขาจะกระทำกรรมกรณ์นั้น วางห่วงเหล็กทั้งหลายที่ข้อศอกและเข่าทั้งสองแล้วตอกเหลาเหล็กทั้งหลายลง โจรนั้นอาศัยตั้งอยู่ที่พื้นโดยเหลาเหล็กทั้งหลายสี่ บุรุษทั้งหลายผู้ทำกรรมกรณ์จุดไฟล้อมรอบโจรนั้น กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อพลิสมังสิกะ อธิบายว่า ผู้ทำกรรมกรณ์ทั้งหลาย ประหารปากด้วยเบ็ดทั้งหลายมีปากสองข้าง ถลกหนังและเนื้อและเอ็นขึ้นเสีย กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อกหาปณกะ อธิบายว่า ผู้ทำกรรมกรณ์ทั้งหลาย ทำสรีระทั้งสิ้นให้ตกไปประมาณเท่ากหาปณะหนึ่ง ๆ ด้วยพร้าทั้งหลายอันคม ตั้งแต่เอว กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อขาราปฏิจฉกะ อธิบายว่า ผู้กระทำกรรมกรณ์ทั้งหลาย ประการสรีระในที่นั้น ๆ ด้วยอาวุธทั้งหลาย และครู่สีน้ำแสบ ด้วยหญ้าทั้งหลาย หนังและเนื้อและเอ็นทั้งหลายล่อนไป แล้วยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกเท่านั้น กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อว่าปลิฆปริวัตติกะอธิบายว่า ผู้กระทำกรรมกรณ์ทั้งหลายนั้น ให้โจรนั้นนอนลงโดยข้าง ๆ หนึ่ง แล้วตอกเหลาเหล็กลงที่ช่องแห่งหู ทำโจรนั้นให้เนื่องเป็นอันเดียวกันด้วยแผ่นดิน ภายหลังจับโจรนั้นที่เท้าชักหมุนไป กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ กรรมกรณ์ชื่อปลาลปีฐกะ อธิบายว่า ผู้กระทำกรรมกรณ์ผู้ฉลาดไม่ลอกผิวหนังแล้ว ทำลายกระดูกทั้งหลายด้วยลูกหินบดทั้งหลาย จับที่ผมทั้งหลายยกขึ้นยังมีแต่กองเนื้อเท่านั้น ภายหลังจึงรึงรัดกองเนื้อนั้นด้วยผมทั้งหลายนั่นเดียว จับพันผูกทำให้เหมือนเกลียวแห่งฟาง กรรมกรณ์เช่นนี้ก็เป็นทุกข์ ความรดด้วยน้ำมันอันร้อนก็เป็นทุกข์ ความให้สุนัขทั้งหลายกัดก็เป็นทุกข์ ความต้องยกขึ้นสู่เหลาทั้งเป็นก็เป็นทุกข์ ต้องตัดศีรษะก็เป็นทุกข์ สัตว์ผู้ไปแล้วในสงสารย่อมเสวยทุกข์ทั้งหลายมากอย่างมิใช่อย่างเดียว เห็นปานฉะนี้ ๆ. น้ำเชี่ยวที่ภูเขาชื่อหิมวันต์ ย่อมท่วมทับหินและกรวดและทรายและแร่และรากไม้กิ่งไม้ทั้งหลายในแม่น้ำชื่อคงคา ฉันใด, สัตว์ไปแล้วในสงสาร ย่อมเสวยทุกข์ทั้งหลายมากอย่างมิใช่อย่างเดียว ฉันนั้นเทียวแล. ขันธปัญจกเป็นไปแล้วเป็นทุกข์, ความไม่มีขันธปัญจกเป็นไปแล้วเป็นสุข, พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงคุณแห่งความไม่มีขันธปัญจกเป็นไปด้วยภัยในขันธปัญจกเป็นไปแล้วด้วย จึงทรงชักชวนสาวกทั้งหลาย เพื่อกระทำให้แจ้งชื่อพระนิพพานเพื่อความก้าวล่วง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะเสียด้วยประการทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชักชวนสาวกทั้งหลายเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานด้วยเหตุใด ทุกข์ต่าง ๆ นี้เป็นเหตุนั้นในการชักชวนนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าคลี่คลายขยายดีแล้ว เหตุพระผู้เป็นเจ้ากล่าวดีแล้ว ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
ตอบกระทู้