คุณค่าของเวลา “...ถ้าเราไม่ต้องตาย วันแต่ละวัน เวลาแต่ละวินาที ก็จะดูไม่มีค่า เหมือนกับเด็กวัยรุ่นที่ไม่เห็นค่าของเวลา ตรงกันข้ามกับคนป่วยหนักหรือเป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่จะเห็นค่าของวันเวลาที่เหลืออยู่ เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วเห็นเช้าวันใหม่ แค่นี้เขาก็มีความสุขแล้วที่วันนี้ยังไม่ตาย ยังมีเวลาที่จะได้ทำสิ่งที่อยากทำ ความรู้สึกแบบนี้จะไม่มีกับวัยรุ่นหรือแม้แต่คนทั่วไป เพราะเขาคิดว่ายังมีเวลาเหลือเฟือในโลกนี้ ความสุขจะหาได้ง่ายขึ้นมาก ถ้าเราตระหนักว่าเราต้องตายไม่ช้าก็เร็ว มีบางคนที่ทุกเย็นเมื่อได้เห็นหน้าลูก หน้าสามีภรรยา แค่นี้เขาก็มีความสุข และขอบคุณชีวิต ในขณะที่หลายคนกลับมีความสุขยากเหลือเกิน ต้องการโน่น ต้องการนี่ ตัวเองมีอยู่แล้วก็ไม่พอ ก็เพราะเขาลืมว่าสักวันหนึ่งเขาต้องตาย ไม่ว่าจะได้อะไรมา สักวันหนึ่งก็ต้องสูญเสียมันไป...”
โอวาทธรรมคำสอน.. พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
"...ให้ระลึกถึงพ่อของเรา พุทโธ ธัมโม สังโฆ คือพ่ออันเลิศเลอของเรา ก่อนจะหลับจะนอนให้ระลึกราบไหว้ท่านซะก่อนแล้วทำความสงบใจ เช่น เราบริกรรมพุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ แล้วให้ภาวนาจนกระทั่งควรแก่การหลับค่อยหลับไป
ด้วยความมี พุทโธ ธัมโม สังโฆ ติดใจ คนนั้นจะยิ้มแย้มแจ่มใส เวลามีชีวิต พิจารณาเข้ามาทางใจ ใจมีธรรมมีความอบอุ่น พิจารณาไปข้างนอก สมบัติเงินทองเราก็มี พิจารณามาข้างในกุศลไม่มีแห้งผาก เพราะฉะนั้นจึงขอให้พยายามทั้งสองด้าน
การทำมาหาเลี้ยงชีพก็หาเพื่อส่วนร่างกาย การทำบุญกุศลศีลทานเพื่อจิตใจโดยเฉพาะ ที่จะนำเราไปสู่ภพหน้าก็ให้พยายามหา อย่าปล่อยอย่าวางให้เสมอกันนะ จิตใจเป็นเรื่องใหญ่โตยิ่งกว่าร่างกายมากนัก ถ้าจิตใจมีกุศลแล้ว ไปที่ไหนถึงหมด ไปทางดีตั้งแต่สวรรค์ชั้นพรหมถึงนิพพานไม่สงสัยหละ..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
- เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ เทศบาลศาลากลางจังหวัดยโสธร
"...ความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจําโลกอยู่แล้ว
ทีนี้ ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ผู้เชื่อกรรม ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ลับ และที่แจ้ง
"...ผู้เชื่อกรรม ผู้เชื่อผลของกรรม ผู้เชื่อต่อวิบากของกรรม
ผู้เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านไม่ทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยเด็ดขาด
ที่แจ้งคือ ไม่ทำบาปด้วยกาย ไม่ทำบาปด้วยวาจา ที่ลับ คือไม่ทำบาปด้วยใจ
เพราะท่านเชื่อต่อกรรม คำว่ากรรม คือการเชื่อว่า การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เชื่อผลของกรรม เมื่อเหตุ คือ การกระทำมี ผลก็ต้องมี เป็นสิ่งที่เราผู้ทำ ต้องรับเอาผล
ส่วนวิบากต้องติดตามไปเป็นสิ่งที่เรา ผู้ทำกรรมดี หรือกรรมชั่วต้องเสวย เป็นหน้าที่ของเรา พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้
เหตุที่พระองค์ตรัสสอนอย่างนี้ เนื่องจากพระองค์ตรัสรู้ ตามกฎของกรรมอันแท้จริง
ฉะนั้น ผู้เชื่อต่อกรรมและผลของกรรม จึงไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
ท่านทำแต่คุณงามความดี ประพฤติกายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
|