๔. เมตตานิสังสปัญหา ๔๓
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมตตาที่เป็นเจโตวิมุตติ บรรลุได้ถึงฌาน อันบุคคลเสพยิ่งแล้ว ให้เจริญแล้ว ให้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยานแล้ว กระทำให้เป็นวัตถุแล้ว ตั้งขึ้นเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภพร้อมดีแล้ว อานิสงส์ทั้งหลายสิบเอ็ดประการ ให้บุคคลผู้นั้นหวังเถิด คือ ถึงจะไม่ปรารถนาก็พึงมีเป็นแน่อานิสงส์สิบเอ็ดประการเป็นไฉน: บุคคลบรรลุเมตตาเจโตวิมุตตินั้นย่อมหลับเป็นสุขหนึ่ง ย่อมกลับตื่นเป็นสุขหนึ่ง ย่อมไม่เห็นสุบินอันลามกหนึ่ง ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายหนึ่ง ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลายหนึ่ง เทพดาย่อมรักษาบุคคลผู้เจริญเมตตานั้นไว้หนึ่งเพลิง หรือพิษ หรือศัสตราย่อมไม่ก้าวลง คือ ไม่ตกลงในกายของบุคคลผู้เจริญเมตตานั้นได้หนึ่ง จิตของบุคคลผู้เจริญเมตตานั้น ย่อมตั้งมั่นเร็วหนึ่ง พรรณสีแห่งหน้าของบุคคลผู้เจริญเมตตานั้น ย่อมผ่องใสหนึ่ง บุคคลผู้เจริญเมตตานั้นเมื่อจะกระทำกาลกิริยาตาย ย่อมเป็นคนไม่หลงกระทำกาลกิริยาหนึ่ง เมื่อไม่แทงตลอด คือ ไม่ตรัสรู้ธรรมยิ่งขึ้นไปกว่าฌานที่ประกอบด้วยเมตตานั้น ย่อมจะเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกหนึ่ง' ดังนี้. ภายหลังพระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'สามะกุมารเป็นผู้มีเมตตาเป็นธรรมเครื่องอยู่ อันหมู่แห่งเนื้อแวดวงเป็นบริวารเที่ยวอยู่ในป่า อันพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า กปิลยักษ์ ยิงแล้วด้วยลูกศรดื่มยาพิษ สลบแล้วล้มลมในที่นั้นนั่นเทียว' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสนถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมตตาเป็นเจโตวิมุตติ ฯลฯ บุคคลผู้เจริญเมตตานั้น เมื่อไม่ตรัสรู้ธรรมยิ่งกว่าเมตตาฌานนั้น จะเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก' ดังนี้. ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'สามะกุมารเป็นผู้มีเมตตาเป็นธรรมเครื่องอยู่ อันหมู่แห่งเนื้อแวดวงเป็นบริวารเที่ยวอยู่ในป่า อันพระเจ้ากปิลยักษ์ยิงแล้วด้วยลูกศรดื่มยาพิษสลบแล้วล้มลงในที่นั้นนั่นเทียว' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่า สามะกุมารมีเมตตาเป็นธรรมเครื่องอยู่ อันหมู่แห่งเนื้อแวดวงเป็นบริวารเที่ยวอยู่ในป่า อันพระเจ้ากปิลยักษ์ยิงแล้วด้วยลูกศรดื่มยาพิษ สลบล้มลงแล้วในที่นั้นนั่นเทียว, ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมตตาที่เป็นเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพยิ่งแล้ว ฯลฯ อานิสงส์ทั้งหลายสิบเอ็ดประการ อันบุคคลพึงหวังเถิด, อานิสงส์สิบเอ็ดประการเป็นไฉน: บุคลผู้เจริญเมตตาแล้ว ย่อมหลับเป็นสุขหนึ่ง ย่อมกลับตื่นเป็นสุขหนึ่ง ย่อมไม่เห็นสุบินอันลามกหนึ่ง ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายหนึ่ง ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลายหนึ่ง เทพดาย่อมรักษาบุคคลผู้เจริญ เมตตานั้นไว้หนึ่ง เพลิง หรือพิษ หรือศัสตราย่อมไม่ก้าวลง คือ ไม่ตกลงในกายของบุคคลผู้เจริญเมตตานั้นได้หนึ่ง' ฯลฯ ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน ละเอียด สุขุม ลึกซึ้ง จะพึงปล่อยเหงื่อในตัวของมนุษย์ทั้งหลายผู้ฉลาดดีให้ออกบ้าง, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจงสางปัญหานั้น อันยุ่งเหยิงด้วยชัฏใหญ่ จงให้จักษุเพื่อจะขยายแก่ชินโอรสทั้งหลาย." พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมตตาที่เป็นเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพยิ่งแล้ว ให้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ฯลฯ ปรารภพร้อมดีแล้ว อานิสงส์ทั้งหลายสิบเอ็ดประการ อันบุคคลนั้นหวังเถิด คือ ถึงไม่ปรารถนาก็จะพึงมีเป็นแน่, อานิสงส์สิบเอ็ดประการนั้นเป็นไฉน: บุคคลเจริญเมตตาแล้ว ย่อมหลับเป็นสุขหนึ่ง ย่อมกลับตื่นเป็นสุขหนึ่ง ย่อมไม่เห็นสุบินอันลามกหนึ่ง ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายหนึ่ง ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลายหนึ่ง เทพดาย่อมรักษาบุคคลผู้เจริญเมตตานั้นไว้หนึ่ง เพลิง หรือพิษ หรือศัสตรา ย่อมไม่ก้าวลง คือ ไม่ตกในกายของบุคคลผู้เจริญเมตตานั้นได้หนึ่ง' ดังนี้. อนึ่ง สามะกุมารเป็นผู้มีเมตตาเป็นธรรมเครื่องอยู่ อันหมู่แห่งเนื้อแวดวงเป็นบริวารเที่ยวอยู่ในป่า อันพระเจ้า กปิลยักษ์ ยิงแล้วด้วยลูกศรดื่มยาพิษ สลบแล้วล้มลงแล้วในที่นั้นนั่นเทียว. ก็เหตุในข้อนั้นมีอยู่, เหตุในข้อนั้นอย่างไร? เหตุในข้อนั้น คือ คุณทั้งหลายนั้น ไม่ใช่คุณของบุคคล คุณทั้งหลายนั้นเป็นคุณของเมตตาภาวนา ความให้เมตตาเจริญ. สามะกุมารแบกหม้อน้ำไปในขณะนั้น เป็นผู้ประมาทแล้วในเมตตาภาวนา. บุคคลเป็นผู้เข้าถึงพร้อมเมตตาแล้วในขณะใด เพลิง หรือพิษ หรือศัสตราย่อมไม่ก้าวลง คือ ไม่ตกลงในกายของบุคคลนั้นได้ ในขณะนั้น. บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้ใคร่ความฉิบหาย ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลผู้เจริญเมตตานั้น ครั้นเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้เจริญเมตตานั้น ย่อมไม่ได้โอกาสในบุคคลผู้เจริญเมตตานั้น. คุณทั้งหลายเหล่านั้น ไม่ใช่คุณของบุคคลทั้งหลายนั้น เป็นคุณของเมตตาภาวนา. ขอถวายพระพร ในโลกนี้ บุรุษเป็นผู้กล้าต่อสงคราม สอดสวมเกราะและร่างข่ายอันข้าศึกทำลายไม่ได้ แล้วลงสู่สงคราม, ลูกศรทั้งหลายอันข้าศึกยิงไปแล้วแก่บุรุษนั้น ครั้นเข้าไปใกล้แล้วตกเรี่ยรายไป, ย่อมไม่ได้โอกาสในบุรุษนั้น; คุณนั้นไม่ใช่คุณของบุรุษผู้กล้าต่อสงคราม คุณนั้นเป็นคุณของเกราะและร่างข่าย อันลูกศรพึงทำลายไม่ได้ ฉันใด; คุณทั้งหลายนั้น ไม่ใช่คุณของบุคคล คุณทั้งหลายนั้นเป็นคุณของเมตตาภาวนา; บุคคลเป็นผู้ถึงพร้อมเมตตาภาวนาแล้ว ในขณะใด ไฟหรือยาพิษ หรือศัสตรา ย่อมไม่ก้าวลง คือ ไม่ตกต้องในกายของบุคคลนั้น ในขณะนั้น, บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งใคร่ความฉิบหายไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลนั้น ครั้นเข้าไปใกล้แล้วไม่เห็นบุคคลนั้น ไม่ได้โอกาสในบุคคลนั้น; คุณทั้งหลายนั้น ไม่ใช่คุณของบุคคล คุณทั้งหลายนั้น เป็นคุณของเมตตาภาวนา ฉันนั้นแท้แล. อีกประการหนึ่ง ในโลกนี้บุรุษพึงทำรากไม้เครื่องหายตัวดังทิพย์ไว้ในมือ, รากไม้นั้นเป็นของตั้งอยู่ในมือของบุรุษนั้นเพียงใด มนุษย์โดยปกติใคร ๆ คนอื่น ย่อมไม่เห็นบุรุษนั้นเพียงนั้น, ขณะที่ไม่เห็นนั้น ไม่ใช่คุณของบุรุษ เป็นคุณของรากไม้เครื่องหายตัว, บุรุษที่มีรากไม้ในมือนั้น ย่อมไม่ปรากฏในคลองแห่งจักษุของมนุษย์โดยปกติทั้งหลาย ด้วยรากไม้ไรเล่า ฉันใด; คุณทั้งหลายนั้น ไม่ใช่คุณของบุคคลคุณทั้งหลายนั้น เป็นคุณของเมตตาภาวนา ความให้เมตตาเจริญ; บุคคลเป็นผู้เข้าถึงพร้อมเมตตาฌานในขณะใด เพลิง หรือยาพิษ หรือศัสตราวุธ ย่อมไม่ตกลงด้วยกายของบุคคลนั้นได้ในขณะนั้น, บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ใคร่ซึ่งความฉิบหายแก่บุคคลนั้น เข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่เห็นบุคคลนั้น ย่อมไม่ได้โอกาสในบุคคลนั้น; คุณทั้งหลายเหล่านั้น ไม่ใช่คุณของบุคคล คุณทั้งหลายเหล่านั้น เป็นคุณของเมตตาภาวนา ฉันนั้นนั่นเทียวแล ขอถวายพระพร. อีกนัยหนึ่ง มหาเมฆใหญ่ยังฝนให้ตกพรำ ย่อมไม่อาจเพื่อจะยังบุรุษผู้เข้าไปสู่ที่เป็นที่เร้นใหญ่ อันบุคคลกระทำดีแล้ว ให้ชุ่มได้, ความไม่ชุ่มนั้น ไม่ใช่คุณของบุรุษ, มหาเมฆใหญ่กระทำฝนให้ตกพรำกระทำบุรุษนั้นให้ชุ่มไม่ได้ ด้วยที่เป็นที่เร้นใหญ่ใด ความไม่ชุ่มนั้นเป็นคุณของที่เป็นที่เร้นใหญ่นั้น ฉันใด; คุณทั้งหลายนั้น ไม่ใช่คุณของบุคคล คุณทั้งหลายนั้น เป็นคุณของเมตตาภาวนา, บุคคลเป็นผู้เข้าถึงพร้อมเมตตาฌาน ในขณะใด เพลิงหรือยาพิษ หรือศัสตราวุธย่อมไม่ตกต้องกายของบุคคลนั้นได้ ในขณะนั้น, บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ใคร่ความฉิบหายแก่บุคคลนั้น ครั้นเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่เห็นบุคคลนั้น ย่อมไม่อาจเพื่อจะกระทำสิ่งที่ไม่เกื้อกูลแก่บุคคลนั้น. คุณทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่คุณของบุคคล คุณทั้งหลายเหล่านี้ เป็นคุณของเมตตาภาวนา ความให้เมตตาเจริญ ฉันนั้นนั่นเทียวแล." ร. "น่าอัศจรรย์ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน น่าพิศวง พระผู้เป็นเจ้านาคเสน, เมตตาภาวนาเป็นเครื่องห้ามบาปทั้งปวงเสียได้." ถ. "ขอถวายพระพร เมตตาภาวนานำกุศลและคุณทั้งปวงมาแก่บุคคลทั้งหลายผู้เกื้อกูลบ้าง แก่บุคคลทั้งหลายผู้ไม่เกื้อกูลบ้าง. สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น ที่เนื่องด้วยวิญญาณ เมตตาภาวนามีอานิสงส์ใหญ่แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง จึงควรจะส้องเสพไว้ในใจ สิ้นกาลเป็นนิรันดรแล."
๕. กุสลากุสลสมสมปัญหา ๔๔
พระราชาตรัสถามว่า "วิบากของบุคคลกระทำกุศลบ้าง ของบุคคลกระทำอกุศลบ้าง เสมอ ๆ กัน หรือว่าบางสิ่งเป็นของแปลกกัน". พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร วิบากของกุศลก็ดี ของอกุศลก็ดี มีแปลกกัน, กุศลมีวิบากเป็นสุข ยังความเกิดในสวรรค์ให้เป็นไปพร้อม อกุศลมีวิบากเป็นทุกข์ ยังความเกิดในนรกให้เป็นไปพร้อม." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'พระเทวทัตดำโดยส่วนเดียว มาตามพร้อมแล้วด้วยธรรมทั้งหลายดำโดยส่วนเดียว, พระโพธิสัตว์ขาวโดยส่วนเดียว มาตามพร้อมแล้วด้วยธรรมทั้งหลายขาวโดยส่วนเดียว, ก็พระเทวทัตเสมอกันด้วยพระโพธิสัตว์ โดยยศด้วย โดยฝักฝ่ายด้วย ในภพ ๆ บางทีก็เป็นผู้ยิ่งกว่าบ้าง. ในกาลใด พระเทวทัตเป็นบุตรของปุโรหิต ของพระเจ้าพรหมทัตในเมืองพาราณสี, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นคนจัณฑาล ทรงวิทยา ร่ายวิทยายังผลมะม่วงให้เกิดขึ้นแล้วในสมัยมิใช่กาล; พระโพธิสัตว์เลวกว่าพระเทวทัต โดยชาติและยศก่อนในภพนี้. คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: พระเทวทัตเป็นพระราชาเจ้าแห่งปฐพีใหญ่ เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยกามทั้งหลาย ในกาลใด, ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์เป็นคชสาร เครื่องอุปโภคของพระมหากษัตริย์นั้น เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยลักษณะทั้งปวง เมื่อไม่อดทนความเยื้องกรายโดยคติของพระเทวทัตนั้น พระราชาปรารถนาจะฆ่า ได้ตรัสแล้วกะนายหัตถาจารย์อย่างนี้ว่า 'ดูก่อนอาจารย์ คชสารของท่านไม่ชำนาญ ท่านจงกระทำเหตุชื่ออากาสคมนะแก่คชสารนั้น;' แม้ในชาตินั้น พระโพธิสัตว์ยังเลวกว่าพระเทวทัต โดยชาติเป็นดิรัจฉานเลวก่อน. คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: พระเทวทัตเป็นมนุษย์เที่ยวไปในป่าในกาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นวานรชื่อมหากะบี่; แม้ในภพนี้ ยังมีวิเศษแห่งมนุษย์และดิรัจฉานปรากฏอยู่, พระโพธิสัตว์เลวกว่าพระเทวทัตโดยชาติ. คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: พระเทวทัตเป็นมนุษย์ เป็นเนสาทชื่อโสณุตตระ มีกำลังกว่า มีกำลังเท่าช้าง ณ กาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพญาช้างชื่อฉัททันต์, พรานนั้นฆ่าคชสารนั้น; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตยังเป็นผู้ยิ่งกว่า. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นมนุษย์ เป็นพรานเที่ยวไปในป่าไม่อยู่เป็นตำแหน่ง ณ กาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นนกกระทาผู้เพ่งซึ่งมนต์, พรานเที่ยวไปในไพรนั้น ฆ่านกกระทานั้นเสีย ในกาลแม้นั้น; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตดีกว่าโดยชาติบ้าง. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นพระเจ้ากรุงกาสี ทรงพระนามว่า กลาปุ ในกาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เนดาบสชื่อขันติวาที, พระมหากษัตริย์นั้นกริ้วแล้วแก่ดาบสนั้น ยังราชบุรุษให้ตัดมือและเท้าทั้งหลายของดาบสนั้นเสียดังหล่อแห่งไม้ไผ่; แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตผู้เดียวยังภูมิยิ่งกว่า โดยชาติด้วย โดยยศด้วย. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นมนุษย์เที่ยวไปในป่า ณ กาลใด, ในกาลนั้น พระโพติสัตว์เป็นวานรใหญ่ชื่อ นันทิยะ, แม้ในกาลนั้น พรานเที่ยวไปในป่านั้น ฆ่าวานรินทร์นั้นเสีย กบทั้งมารดาและน้องชาย; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งกว่าโดยชาติ. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นมนุษย์ เป็นอเจลก ชื่อ การัมพิยะในกาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นนาคราชาชื่อปัณฑรกะ; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งกว่าโดยชาติ. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นมนุษย์ชฏิลกะในป่าใหญ่ ณ กาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นสุกรใหญ่ชื่อตัจฉกะ; แม้ในภพนั้นพระเทวทัตผู้เดียวยิ่งกว่าโดยชาติ. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตได้เป็นพระราชาชื่อสุรปริจโร ในชนบทชื่อเจดีย์ทั้งหลาย เป็นผู้ไปในอากาศได้ประมาณชั่วบุรุษหนึ่งในเบื้องบน ในกาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์ชื่อกปิละ; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตทีเดียวเป็นผู้ยิ่งกว่าทั้งชาติทั้งยศ. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นมนุษย์ชื่อสามะ ในกาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพญาเนื้อชื่อรุรุ; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตทีเดียวยิ่งกว่าโดยชาติ. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นมนุษย์ เป็นพรานเที่ยวไปในป่าในกาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นช้างใหญ่ พรานนั้นตัดงาทั้งหลายของช้างใหญ่นั้นเสียเจ็ดครั้ง นำไป; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตทีเดียวเป็นผู้ยิ่งกว่าโดยกำเนิด. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นสิคาลขัตติยธรรม, ประเทศราชทั้งหลายในชมพูทวีปโดยที่มีประมาณเท่าใด พระยาสิคาละนั้น ได้กระทำแล้วซึ่งพระราชาทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง ให้เป็นผู้อันตนใช้สอยเนือง ๆ แล้ว ณ กาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นบัณฑิตชื่อ วิธูระ; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตทีเดียวเป็นผู้ยิ่งกว่าโดยยศ อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นช้าง ฆ่าเสียซึ่งลูกนกทั้งหลายแห่งแม่นกชื่อ ละตุกิกา (นกไสร้) ในกาลใด, ในกาลนั้น แม้พระโพธิสัตว์ได้เป็นช้าง เป็นเจ้าแห่งฝูง; แม้ในภพนั้น ชนทั้งสองเหล่านั้นได้เป็นผู้เสมอ ๆ กัน. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นยักษ์ชื่ออธรรม ในกาลใด, ในกาลนั้น แม้พระโพธิสัตว์เป็นยักษ์ชื่อสุธรรม; แม้ในภพนั้น ชนทั้งสองนั้นเสมอกัน. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นนายเรือ เป็นใหญ่กว่าตระกูลห้าร้อย ในกาลใด, ในกาลนั้น แม้พระโพธิสัตว์เป็นนายเรือ เป็นใหญ่กว่าตระกูลห้าร้อย; แม้ในภพนั้น ชนแม้ทั้งสองเป็นผู้เสมอ ๆ กันบ้าง. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นพ่อค้าเกวียน เป็นใหญ่แห่งเกวียนทั้งหลายห้าร้อย ในกาลใด, ในกาลนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็เป็นพ่อค้าเกวียน เป็นใหญ่แห่งเกวียนห้าร้อย; แม้ในภพนั้น ชนทั้งสองเป็นผู้เสมอ ๆ กัน. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นพญาเนื้อชื่อ สาขะ ณ กาลใด, ในกาลนั้น แม้พระโพธิสัตว์เป็นพญาเนื้อชื่อนิโครธ; แม้ในภพนั้น ชนทั้งสองนั้น เป็นผู้เสมอ ๆ กัน. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นเสนาบดีชื่อ สาขะ ณ กาลใด; พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาชื่อนิโครธ ในกาลนั้น; แม้ในภพนั้น ชนแม้ทั้งสองเหล่านั้นเป็นผู้เสมอ ๆ กัน. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นพราหมณ์ชื่อกัณฑหาละ ณ กาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นราชกุมารทรงพระนามว่าจันทะ; พราหมณ์ชื่อ กัณฑหาละนี้นั่นเทียว เป็นผู้ยิ่งกว่าในภพนั้น. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นพระราชาชื่อพรหมทัต ณ กาลใด, ณ กาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นบุตรของพระเทวทัตนั้น เป็นราชกุมารชื่อมหาปทุมะ พระราชานั้น ให้ราชบุรุษทิ้งซึ่งบุตรของตนในเหว ณ กาลนั้น; บิดาแหละเป็นผู้ยิ่งกว่า เป็นผู้วิเศษกว่าโดยชาติใดชาติหนึ่ง; แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตทีเดียวเป็นผู้ยิ่งกว่า. อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเป็นพระราชาชื่อมหาปตาปะ ในกาลใด, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นกุมารชื่อธรรมปาละ เป็นบุตรของพระราชาชื่อมหาปตาปะนั้น พระราชานั้น ให้ราชบุรุษตัดมือและเท้าทั้งหลายและศีรษะของบุตรของตนเสีย ในกาลนั้น; แม้ในภพนั้น พระเทวทัตทีเดียวเป็นผู้ยิ่งกว่า. แม้ชนทั้งสองเกิดในศากยตระกูล แม้ในกาลนี้ในวันนี้, พระโพธิสัตว์จะได้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโลกนายก, พระเทวทัตจะได้บวชแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเทพดาล่วงเทพดานั้น กระทำฤทธิ์ให้เกิดแล้ว ได้กระทำแล้ว ซึ่งอาลัยของพระพุทธเจ้า. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว คำนั้นทั้งปวง จะถูกหรือ ๆ จะผิด" ถ. "ขอถวายพระพร บรมบพิตรตรัสเหตุมีอย่างมากใดนั้น เหตุนั้นทั้งปวงถูก ไม่ผิด." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่ากรรมดำบ้าง กรรมขาวบ้าง มีคติเสมอกัน, ถ้าอย่างนั้น กุศลบ้าง อกุศลบ้าง มีวิบากเสมอกัน." ถ. "ขอถวายพระพร กุศลบ้าง อกุศลบ้าง จะมีวิบากเสมอกันหามิได้, กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งจะมีวิบากเสมอกัน หามิได้, พระเทวทัตผิดแล้วกว่าชนทั้งปวง, พระโพธิสัตว์ไม่ผิดแล้วกว่าชนทั้งปวงทีเดียว, ความผิดในพระโพธิสัตว์ของพระเทวทัตนั้น อันใด ความผิดนั้น ย่อมสุก ย่อมให้ผลในภพนั้น ๆ. แม้พระเทวทัตนั้น ตั้งอยู่ในความอิสระแล้ว ให้ความรักษาทั่วในชนบททั้งหลาย, ให้คนทำสะพานโรงสภาบุญศาลา, ให้ทานเพื่อสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย เพื่อคนกำพร้า คนเดินทางไกล คนวณิพกทั้งหลาย และคนนาถะอนาถะ ทั้งหลายตามความปรารถนา; พระเทวทัตนั้น ได้สมบัติทั้งหลายในภพด้วยวิบากของกรรมเป็นกุศล คือ สร้างสะพานและโรงสภา และศาลาเป็นที่บำเพ็ญบุญ และการบริจาคทั้งหลายนั้น. ใคร ๆ จะอาจเพื่อจะกล่าวคำนี้ว่า 'บุคคลเสวยสมบัตินอกจากทานและการทรมานอินทรีย์และความสำรวมกายวาจาใจ และอุโบสถกรรม' ก็บรมบพิตรตรัสคำใด อย่างนี้ว่า 'พระเทวทัตด้วย พระโพธิสัตว์ด้วย เวียนตามกันฝ่ายเดียว,' สมาคมนั้นไม่ได้มีแล้ว โดยกาลล่วงไปร้อยชาติ สมาคมนั้น ไม่ได้มีแล้ว โดยกาลล่วงไปพันชาติ สมาคมนั้น ไม่ได้มีแล้ว โดยกาลล่วงไปแสนชาติ, ณ กาลบางทีบางคราว สมาคมนั้น ได้มีแล้วโดยวันคืนล่วงไปมากมาย. อุปมาด้วยเต่าตาบอด อันพระผู้มีพระภาคเจ้านำมาแสดงแล้วเพื่อความกลับได้ความเป็นมนุษย์, บรมบพิตร จงทรงจำสมาคมของชนทั้งหลายเหล่านี้ อันเปรียบด้วยเต่าตาบอด. จะได้มีสมาคมกับพระเทวทัตฝ่ายเดียว แก่พระโพธิสัตว์ หามิได้, แม้พระเถระชื่อ สารีบุตร ได้เป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ ได้เป็นมหาบิดา ได้เป็นจุฬบิดา ได้เป็นพี่น้องชาย ได้เป็นบุตร ได้เป็นหลาน ได้เป็นมิตร ของพระโพธิสัตว์ ในแสนแห่งชาติมิใช่แสนเดียว, แม้พระโพธิสัตว์ ได้เป็นบิดาของพระสารีบุตร เป็นมหาบิดา เป็นจูฬบิดา เป็นพี่น้องชาย เป็นบุตร เป็นหลาน เป็นมิตรของพระสารีบุตร ในแสนแห่งชาติมิใช่แสนเดียว. สัตว์ทั้งหลายที่นับเนื่องแล้วในหมู่สัตว์แม้ทั้งปวง ไปตามกระแสแห่งสงสารแล้ว อันกระแสแห่งสงสารพัดไปมาอยู่ ย่อมสมาคมด้วยสัตว์และสังขารทั้งหลายไม่เป็นที่รักบ้าง เป็นที่รักบ้าง. เปรียบเหมือนน้ำกระแสพัดไปอยู่ ย่อมสมาคมด้วยสิ่งสะอาดและไม่สะอาด และสิ่งที่งามและสิ่งที่ลามก ฉันใด; สัตว์ทั้งหลายที่นับเนื่องในหมู่ของสัตว์แม้ทั้งปวง ไปตามกระแสแห่งสงสาร กระแสแห่งสงสารพัดไปอยู่ ย่อมสมาคมด้วยสัตว์และสังขารทั้งหลายเป็นที่รักบ้าง ไม่เป็นที่รักบ้างฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร พระเทวทัตเป็นยักษ์ ตั้งอยู่ในอธรรมด้วยตน ยังมนุษย์บุคคลทั้งหลายอื่นให้ประกอบแล้วในอธรรม ไหม้อยู่ในนรกใหญ่สิ้นปีทั้งหลายห้าสิบเจ็ดโกฏิกับหกล้านปี. แม้พระโพธิสัตว์เป็นยักษ์ ตั้งอยู่ในธรรมด้วยพระองค์ ชักนำบุคคลทั้งหลายอื่นให้ประกอบในธรรม เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยกามสมบัติทั้งปวง บันเทิงแล้วในสวรรค์สิ้นปีห้าสิบเจ็ดโกฏิกับหกล้านปี. เออก็ พระเทวทัตมากระทำพระพุทธเจ้า ผู้ไม่ควรบุคคลจะให้ซูบซีด ให้ซูบซีดแล้ว ทำลายพระสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันแล้วด้วย ในภพนี้ เข้าไปสู่แผ่นดินแล้ว, พระตถาคตตรัสรู้สรรพธรรม เป็นที่สิ้นอุปธิพร้อมแล้ว ดับขันธปรินิพพานแล้ว." ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๖. อมราเทวีปัญหา ๔๕
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ถ้าหญิงพึงได้ขณะ หรือโอกาสอันลับ หรือพึงได้แม้ชายผู้ประโลมเช่นนั้น หญิงทั้งหลายแม้ทั้งปวง อันได้เหตุสามอย่างแล้ว ไม่ได้ชายอื่นแล้ว พึงกระทำกรรมลามกกับด้วยบุรุษเปลี้ย' ดังนี้. และตรัสอยู่อีกว่า 'หญิงชื่ออมรา เป็นภริยาของพระมโหสถ อันพระมโหสถฝากไว้ในบ้าน อยู่ปราศจากสามีมานาน นั่งในที่ลับสงัดแล้ว กระทำสามีให้เป็นผู้เสมอเปรียบด้วยพระราชา อันบุรุษอื่นประโลมแล้ว ด้วยกหาปณะพันหนึ่ง ไม่กระทำกรรมลามก' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ถ้าหญิงพึงได้ขณะ หรือโอกาสอันลับ หรือพึงได้แม้ชายประโลมเช่นนั้น หญิงทั้งหลายแม้ทั้งหวงอันได้เหตุสามอย่างแล้ว ไม่ได้ชายอื่นแล้ว พึงกระทำกรรมลามกกับด้วยบุรุษเปลี้ย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'หญิงชื่ออมรา เป็นภริยาของพระมโหสถ อันพระมโหสถฝากไว้ในบ้าน อยู่ปราศจากสามีนาน นั่งในที่ลับสงัดแล้ว กระทำสามีให้เป็นผู้เสมอเปรียบด้วยพระราชา อันบุรุษอื่นประโลมแล้วด้วยกหาปณะพันหนึ่ง ไม่กระทำกรรมลามก' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าหญิงชื่ออมรา เป็นภริยาของพระมโหสถ' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าหญิงชื่ออมรา เป็นภริยาของพระมโหสถ อันพระมโหสถฝากไว้ในบ้าง อยู่ปราศจากสามีนาน นั่งในที่ลับสงัดแล้ว กระทำสามีให้เป็นผู้เสมอด้วยพระราชา อันบุรุษอื่นประโลมแล้วด้วยกหปณะพันหนึ่งไม่กระทำกรรมลามก' ดังนี้, คำที่ว่า 'ถ้าหญิงพึงได้ขณะ หรือโอกาสอันลับ หรือพึงได้แม้ชายประโลมเช่นนั้น หญิงทั้งหลายแม้ทั้งปวง อันได้เหตุสามอย่างแล้ว ไม่ได้ชายอื่นแล้ว พึงกระทำกรรมลามกกับบุรุษเปลี้ย' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด." พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสแล้วว่า 'ถ้าหญิงพึงได้ขณะ หรือพึงได้โอกาสอันลับ หรือพึงได้แม้ชายประโลมเช่นนั้น หญิงทั้งหลายแม้ทั้งปวง อันใดเหตุสามอย่างแล้ว ไม่ได้ชายอื่นแล้ว พึงกระทำกรรมลามกกับด้วยบุรุษเปลี้ย' ดังนี้. และตรัสอยู่อีกว่า 'หญิงชื่ออมรา เป็นภริยาของพระมโหสถ อันพระมโหสถฝากไว้ในบ้าน อยู่ปราศจากสามีนาน นั่งในที่ลับสงัดแล้ว กระทำสามีให้เป็นผู้เปรียบเสมอด้วยพระราชา อันบุรุษอื่นประโลมแล้วด้วยกหาปณะพันหนึ่ง ไม่กระทำกรรมลามก' ดังนี้ จริง. นางอมรานั้น จะได้กหาปณะพันหนึ่ง จะต้องกระทำกรรมลามกกับบุรุษเช่นนั้น, นางอมรานั้น ไม่พึงกระทำกรรมลามกนั้น, ถ้านางจะไม่พึงได้ขณะหรือโอกาสอันลับ หรือชายผู้ประโลมเช่นนั้น. นางอมรานั้น จะคิดค้นไม่เห็นขณะ หรือโอกาสอันลับ หรือแม้ชายผู้ประโลมเช่นนั้น. นางอมรานั้น เพราะกลัวแต่ความครหาในโลกนี้ ชื่อว่าไม่เห็นขณะ, เพราะกลัวแต่นรกในโลกหน้า ชื่อว่าไม่เห็นขณะ, เพราะคิดว่า 'กรรมลามกมีวิบากเผ็ดร้อน' ชื่อว่าไม่เห็นขณะ, นางอมรานั้น ไม่ละทิ้งสามีเป็นที่รัก ชื่อว่าไม่เห็นขณะ, เพราะกระทำสามีให้เป็นผู้หนักเมื่อประพฤติตกต่ำเคารพธรรม ชื่อว่าไม่เห็นขณะ, เมื่อติดเตียนบุคคลไม่ได้เป็นอริยะ ชื่อว่าไม่เห็นขณะ, นางอมรานั้น ไม่อยากจะละเมิดเสียกิริยา ชื่อว่าไม่เห็นขณะ. นางอมรานั้น ไม่เห็นขณะ ด้วยเหตุทั้งหลายมากเห็นปานนี้, นางอมรานั้น คิดค้นแล้ว, ไม่เห็นแม้โอกาสอันลับ ไม่ได้กระทำกรรมลามกแล้ว ถ้าว่านางอมรานั้น พึงได้โอกาสลับแต่มนุษย์ทั้งหลาย, ไม่พึงได้โอกาสลับแต่อมนุษย์ทั้งหลายโดยแท้, ถ้านางอมรานั้น พึงได้โอกาสลับแต่อมนุษย์ทั้งหลาย, ไม่พึงได้โอกาสลับแต่บัณฑิตทั้งหลายผู้รู้จิตของบุคคลอื่นโดยแท้; ถ้านางอมรานั้น พึงได้โอกาสลับ แต่บัณฑิตทั้งหลายผู้รู้จิตของบุคคลอื่น ไม่พึงได้โอกาสอันลับแต่บาปทั้งหลายด้วยตนเองโดยแท้; ไม่พึงได้โอกาสอันลับแต่อธรรม. นางอมรานั้น ไม่ได้โอกาสอันลับด้วยเหตุทั้งหลาย มีอย่างมากเห็นปานนี้แล้ว จึงไม่ได้กระทำกรรมลามกแล้ว. นางอมรานั้น คิดค้นแล้วในโลก เมื่อไม่ได้ชายผู้ประโลมเช่นนั้น ไม่ได้กระทำกรรมลามกแล้ว. ขอถวายพระพร พระมโหสถเป็นบัณฑิต มาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ทั้งหลายยี่สิบแปดประการ, มาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ทั้งหลายยี่สิบแปดประการเป็นไฉน: มาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ทั้งหลายยี่สิบแปดประการ คือ พระมโหสถเป็นผู้กล้าหนึ่ง เป็นผู้มีหิริละอายต่อบาปหนึ่ง เป็นผู้มีโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปหนึ่ง เป็นผู้มีฝักฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยมิตรหนึ่ง เป็นผู้ทนหนึ่ง เป็นผู้มีศีลหนึ่ง เป็นผู้กล่าววาจาจริงหนึ่ง เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยความเป็นผู้สะอาดหนึ่ง เป็นผู้ไม่มีความโกรธหนึ่ง เป็นผู้ไม่มีมานะล่วงเกินหนึ่ง เป็นผู้ไม่มีความริษยาหนึ่ง เป็นผู้มีความเพียรหนึ่ง เป็นผู้ก่อสร้างบารมีหนึ่ง เป็นผู้สงเคราะห์หนึ่ง เป็นผู้จำแนกทานหนึ่ง เป็นผู้มีถ้อยคำละเอียดหนึ่ง เป็นผู้มีความประพฤติตกต่ำหนึ่ง เป็นผู้อ่อนโยนหนึ่ง เป็นผู้ไม่โอ่อวดหนึ่ง เป็นผู้ไม่มีมายาหนึ่ง เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยความรู้เกินหนึ่ง เป็นผู้มีเกียรติหนึ่ง เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิทยาหนึ่ง เป็นผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลผู้เข้าไปอาศัยทั้งหลายหนึ่ง เป็นผู้อันชนทั้งปวงปรารถนาแล้วหนึ่ง เป็นผู้มีทรัพย์หนึ่ง เป็นผู้มียศหนึ่ง. พระมโหสถเป็นบัณฑิตมาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ทั้งหลายยี่สิบแปดประการเหล่านี้. นางอมรานั้น ไม่ได้บุรุษอื่นเป็นผู้ประโลมเช่นนั้นแล้ว จึงมิได้กระทำกรรมลามกแล้ว." ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๗. ขีณาสวอภายนปัญหา ๔๖
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแม้พระพุทธพจน์นี้ว่า 'พระอรหันต์ทั้งหลาย ปราศจากความกลัวและความสะดุ้งหวาดหวั่นแล้ว, ภายหลังมา พระขีณาสพห้าร้อยเห็นช้างชื่อธนปาลกะ ในเมืองราชคฤห มาใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ละทิ้งพระชินะผู้ประเสริฐเสีย หลีกไปแล้วยังทิศใหญ่ทิศน้อย เว้นไว้แต่พระอานนท์เถระองค์เดียว. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น หลีกไปแล้ว เพราะความกลัว หรือใคร่จะยังพระทศพลให้ล้มด้วยคิดว่า 'พระทศพลจะปรากฏด้วยกรรมของตน' ดังนี้แล้ว จึงหลีกไปแล้ว หรือว่าเป็นผู้ใคร่เพื่อจะเห็นปาฏิหาริย์ ไม่มีอะไรจะเปรียบ และไพบูลย์ ไม่มีอะไรจะเสมอ ของพระตถาคต จึงหลีกไปแล้ว? พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'พระอรหันต์ทั้งหลาย ปราศจากความกลัวและความสะดุ้งหวาดหวั่นแล้ว' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระขีณาสพห้าร้อยเห็นช้างชื่อธนปาลกะ ในเมืองราชคฤห มาใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ละทิ้งพระชินะผู้ประเสริฐแล้ว หลีกไปยังทิศใหญ่ทิศน้อย เว้นไว้แต่พระอานนท์องค์เดียว' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระขีณาสพห้าร้อยเห็นช้างชื่อธนปาลกะ ในเมืองราชคฤหมา ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ละทิ้งพระชินะประเสริฐแล้ว หลีกไปยังทิศใหญ่ทิศน้อย เว้นไว้แต่พระอานนท์องค์เดียว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระอรหันต์ทั้งหลายปราศจากความกลัวและความสะดุ้งหวาดหวั่นแล้ว' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อนมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจงขยายให้แจ้งชัดเถิด" พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้แล้วว่า 'พระอรหันต์ทั้งหลาย ปราศจากความกลัวและความสะดุ้งหวาดหวั่นแล้ว' ดังนี้. พระขีณาสพทั้งหลายห้าร้อยเห็นช้างชื่อธนปาลกะ ในเมืองราชคฤห มาใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วละทิ้งพระชินะผู้ประเสริฐแล้ว หลีกไปยังทิศใหญ่ทิศน้อย เว้นไว้แต่พระอานนท์องค์เดียว. ก็และความหลีกไปนั้น จะได้หลีกไปเพราะความกลัวก็หาไม่ จะได้หลีกไปแม้เพราะความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ล้มลงก็หาไม่. ก็พระอรหันต์ทั้งหลายพึงกลัว หรือพึงสะดุ้งด้วยเหตุใด เหตุนั้น อันพระอรหันต์ทั้งหลายเลิกถอนเสียแล้ว, เพราะเหตุนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายจึงชื่อว่า เป็นผู้ปราศจากความกลัวและความสะดุ้งหวาดหวั่นแล้ว. ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่ เมื่อสมุทรและยอดแห่งภูเขา เมื่อชนแม้ขุดอยู่ แม้ทำลายอยู่ แม้ทรงอยู่ ย่อมกลัวหรือ? ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า?" ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระ?" ร. "มหาปฐวีแผ่นดินใหญ่ พึงกลัวหรือพึงสะดุ้งด้วยเหตุใด เหตุนั้น ไม่มีแก่แผ่นดินใหญ่ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่ พึงกลัวหรือสะดุ้งด้วยเหตุใด เหตุนั้น ไม่มีแก่แผ่นดินใหญ่ ฉันใด, พระอรหันต์ทั้งหลาย พึงกลัวหรือพึงสะดุ้งด้วยเหตุใด เหตุนั้น ไม่มีแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันนั้นนั่นเทียว. ขอถวายพระพร ยอดแห่งภูเขา เมื่อชนตัดอยู่ก็ดี เมื่อทำลายอยู่ก็ดี เมื่อยอดเขานั้นตกลงเองก็ดี เมื่อชนเอาไฟเผาก็ดี ย่อมกลัวหรือ?" ร. "ไม่กลัวเลย พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?" ร. "ยอดแห่งภูเขา พึงกลัวหรือพึงสะดุ้งด้วยเหตุใด เหตุนั้นย่อมไม่มีแก่ยอดแห่งภูเขา พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร ยอดแห่งภูเขา พึงกลัวหรือพึงสะดุ้งด้วยเหตุใด เหตุนั้น ย่อมไม่มีแก่ยอดแห่งภูเขา ฉันใด, พระอรหันต์ทั้งหลายพึงกลัวหรือพึงสะดุ้งเพราะเหตุใด เหตุนั้น ไม่มีแก่พระอรหันต์ทั้งหลายฉันนั้นนั่นเทียว; แม้ถ้าว่า ชนทั้งหลายที่นับเนื่องแล้วในหมู่สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในแสนโลกธาตุทั้งหลาย ชนทั้งหลายเหล่านั้นแม้ทั้งปวง พึงเป็นผู้มีหอกในมือ ล้อมพระอรหันต์องค์หนึ่ง จะกระทำพระอรหันต์นั้นให้สะดุ้ง ก็ไม่สามารถจะกระทำได้, ความแปรปรวนเป็นอย่างอื่น แม้น้อยหนึ่งของจิต ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่พึงมี มีอะไรเป็นเหตุ? ความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแม้น้อยหนึ่งของจิต ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่พึงมี เพราะพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากเหตุแห่งความกลัวและความสะดุ้งแล้ว. เออก็ ความปริวิตกแห่งจิตได้มีแล้วแก่พระขีณาสพทั้งปวงเหล่านั้นอย่างนี้ว่า 'วันนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าผู้บวรประเสริฐ ผู้เป็นพฤษภ คือพระชินะอันประเสริฐ ได้เข้าไปสู่เมืองอันประเสริฐ ช้างชื่อธนปาลกะจักแทงที่ถนน ภิกษุผู้อุปัฏฐากจักไม่ละทิ้งพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเทพดาล่วงเสียซึ่งเทพดา โดยไม่สงสัย ถ้าว่าเราทั้งหลายแม้ทั้งปวง จักไม่ละทิ้งพระผู้มีพระภาคเจ้า คุณของพระอานนท์จักไม่ปรากฏ, ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกถาในเพราะเหตุนั้นจักไม่มี, อนึ่ง คชสารจักไม่เข้าไปใกล้พระตถาคตนั่นเทียว, เอาเถิด เราทั้งหลายจักหลีกไปเสีย ความหลีกไปอย่างนี้นี่ จะเป็นอุบายเครื่องพ้นจากเครื่องผูก คือ กิเลสของหมู่ชนอันใหญ่, อนึ่ง คุณของพระอานนท์จักเป็นคุณปรากฏแล้ว;' พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น เห็นอานิสงส์อย่างนี้แล้ว จึงหลีกไปยังทิศใหญ่ทิศน้อย." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าจำแนกดีแล้ว ข้อจำแนกปัญหานั้นสมอย่างนั้น, ความกลัวหรือความสะดุ้ง ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น เห็นอานิสงส์แล้ว จึงหลีกไปยังทิศใหญ่และทิศน้อยแล."
|