พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อังคาร 03 เม.ย. 2018 5:48 am
๘. สันถวปัญหา ๔๗
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ภัยเกิดแล้วแต่สันถวะละอองธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดแต่อารมณ์เป็นที่กำหนด, ธรรมชาติไม่มีอารมณ์เป็นที่กำหนด ธรรมชาติไม่มีสันถวะ ทั้งสองอย่างนั้น เป็นธรรมชาติอันมุนี คือ พระพุทธเจ้าเห็นแล้วแท้' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'ชายผู้บัณฑิต เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารทั้งหลายให้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ยังภิกษุพหุสุตทั้งหลาย ให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ภัยเกิดแล้วแต่สันถวะ ละอองธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดแต่อารมณ์เป็นที่กำหนด, ธรรมชาติไม่มีอารมณ์เป็นที่กำหนด ธรรมชาติไม่มีสันถวะ ทั้งสองอย่างนั้น เป็นธรรมชาติอันมุนี คือ พระพุทธเจ้าเห็นแล้วแท้' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ชายผู้บัณฑิต เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารทั้งหลายให้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ยังภิกษุพหุสุตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้ คำนั้นผิด. ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ชายผู้บัณฑิต เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารทั้งหลายให้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ยังภิกษุพหุสุทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภัยเกิดแล้วแต่สันถวะ ละอองธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดแต่อารมณ์เป็นที่กำหนด, ธรรมชาติไม่มีอารมณ์เป็นที่กำหนด ธรรมชาติไม่มีสันถวะ ทั้งสองอย่างนั้น เป็นธรรมชาติอันมุนี คือ พระพุทธเจ้าเห็นแล้วแท้' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายแก้ไขให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระพระผู้มีภาคเจ้าทรงภาสิตแล้ว แม้พระพุทธพจน์นี้ว่า 'ภัยเกิดแต่สันถวะ ละอองธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดแต่อารมณ์เป็นที่กำหนด, ธรรมชาติไม่มีอารมณ์เป็นที่กำหนด ธรรมชาติไม่มีสันถวะ ทั้งสองอย่างนั้น เป็นธรรมชาติอันมุนี คือ พระพุทธเจ้าเห็นแล้วแท้' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'ชายผู้บัณฑิต เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารทั้งหลายให้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ยังภิกษุพหุสุตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้.
ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ภัยเกิดแต่สันถวะ ละอองธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดแต่อารมณ์เป็นที่กำหนด, ธรรมชาติไม่มีอารมณ์เป็นที่กำหนด ธรรมชาติไม่มีสันถวะ ทั้งสองอย่างนั้น เป็นธรรมชาติอันมุนี คือ พระพุทธเจ้าเห็นแล้วแท้' ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้น เป็นเครื่องแสดงโดยสภาวะ เป็นเครื่องกล่าวเหตุไม่เหลือ เป็นเครื่องกล่าวเหตุไม่มีส่วนเหลือ เป็นเครื่องกล่าวโดยนิปริยายโดยตรง เป็นคำสมควรแก่สมณะ เป็นคำสมรูปแก่สมณะ เป็นคำเหมาะแก่สมณะ ควรแก่สมณะ เป็นโคจรของสมณะ เป็นปฏิปทาของสมณะ เป็นปฏิบัติของสมณะ.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนมฤคพญาสีหราชอยู่ในป่า เมื่อเที่ยวในไพรในป่า ไม่มีอาลัยในที่อยู่ มีที่เป็นที่อยู่อันบุคคลสังเกตไม่ได้ ย่อมนอนตามความปรารถนา ฉันใด, อันภิกษุพึงคิดว่า 'ภัยเกิดแต่สันถวะ ละอองธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดแต่อารมณ์เป็นที่กำหนด, ธรรมชาติไม่มีอารมณ์เป็นที่กำหนด ธรรมชาติไม่มีสันถวะทั้งสองอย่างนั้น เป็นธรรมชาติอันมุนี คือ พระพุทธเจ้าเห็นแล้วแท้' ดังนี้. ส่วนพระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ชายผู้บัณฑิต เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารให้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ยังภิกษุพหุสุตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์สองประการ จึงตรัสแล้ว, อำนาจประโยชน์สองประการ เป็นไฉน? ธรรมดาว่า วิหารทานอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวง พรรณนาแล้ว อนุมัติแล้ว ชมแล้ว สรรเสริญแล้ว, ทายกทั้งหลายให้วิหารทานนั้นแล้ว จักพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย นี้เป็นอานิสงส์ในวิหารทานที่แรกก่อน.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: ครั้นเมื่อวิหารมีอยู่ นางภิกษุมณีทั้งหลาย จักเป็นผู้อันบุคคลสังเกตได้ง่าย จักเป็นผู้อันบุคคลทั้งหลายผู้ใคร่จะพบเห็น จะเห็นพบเห็นได้โดยง่าย, นางภิกษุณีทั้งหลาย จักเป็นผู้มีการพบเห็นได้โดยยาก ในที่อยู่ไม่เป็นที่กำหนด นี้เป็นอานิสงส์ในวิหารทานที่สอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์สองประการเหล่านี้ จึงตรัสแล้วว่า 'ชายผู้บัณฑิต เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารทั้งหลายให้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ยังภิกษุพหุสุตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, แต่พระพุทธโอรสไม่ทำความอาลัยในที่อยู่นั้น."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๙. ภควโต อัปปาพาธปัญหา ๔๘
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตเป็นพราหมณ์ผู้ควรอันยาจกพึงขอ เป็นผู้มีมืออันชำระแล้วในกาลทั้งปวง เป็นผู้ทรงสรีระกายมีในที่สุดไว้ เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นหมอรักษา เป็นแพทย์ผู้เชือดลูกศร' ดังนี้. และตรัสอีกว่า ขันธบัญจกนี้ใด คือ พักกุลภิกษุ ขันธบัญจกนั้น เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้. ก็อาพาธเกิดขึ้นแล้วปรากฏอยู่ในพระสรีรกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้ามากครั้ง. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีใครจะยิ่งกว่า, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ขันธบัญจกนี้ใด คือ พักกุลภิกษุ ขันธบัญจกนั้น เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่าพระพักกุลเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายบรรดาที่มีอาพาธน้อย, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตเป็นพราหมณ์ เป็นผู้ควรเพื่ออันยาจกจะพึงขอ มีมืออันชำระแล้วในกาลทั้งปวง เป็นผู้ทรงสรีรกายมีในที่สุด ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นหมอรักษา เป็นแพทย์เชือดลูกศร'ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคต เป็นผู้พราหมณ์ควรที่ยาจกจะพึงขอ มีมืออันชำระแล้วในกาลทั้งปวง เป็นผู้ทรงสรีระกายอันมีในที่สุด ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นหมอรักษา เป็นแพทย์ผู้เชือดลูกศร' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'ขันธบัญจกนี้ใด คือ พักกุลภิกษุ ขันธบัญจกนั้น เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของเราบรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้. ก็แหละ คำนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาข้อที่นิกายเป็นที่มา และคุณพิเศษที่บุคคลเรียนแล้ว มีในภายนอก มีอยู่ในพระองค์ ตรัสแล้ว.
ขอถวายพระพร พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ถือการยืนและจงกรมเป็นวัตรก็มีอยู่ พระสาวกทั้งหลายเหล่านั้นทำวันและคืนให้น้อมล่วงไป ด้วยอันยืนและจงกรม, ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำวันและคืนให้น้อมล่วงไป ด้วยอันยืนและจงกรมและนั่งและนอน; ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้ถือการยืนและจงกรมเป็นวัตรภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้เอกยิ่งด้วยองค์นั้น. พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเอกาสนิกะ คือ ฉันหนเดียวก็มีอยู่ พระสาวกทั้งหลายเหล่านั้น ไม่บริโภคโภชนะครั้งที่สอง แม้เพราะเหตุชีวิต, ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า เสวยพระกระยาหารครั้งที่สองบ้างที่สามบ้าง เพียงไร; ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้นที่เป็นเอกาสนิกะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้เอกยิ่งด้วยองค์นั้น. เหตุทั้งหลายเหล่านั้น มิใช่อย่างเดียว เหตุทั้งหลายเหล่านั้น ๆ พระองค์หมายเอาองค์นั้น ๆ ตรัสแล้ว. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีใครยิ่งกว่า โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา โดยวิมุตติ โดยวิมุตติญาณทัสสนะญาณเครื่องรู้เครื่องเห็นในวิมุตติ โดยญาณเป็นกำลังทั้งหลายสิบ โดยเวสารัชขะสี่ด้วยโดยพุทธธรรมสิบแปด โดยอาสารณญาณทั้งหลายหกประการด้วยก็พระองค์อาศัยญาณนั้น ในพุทธวิสัยสิ้นเชิง ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ควรเพื่ออันยาจกจะพึงขอ มีมืออันชำระแล้วในกาลทั้งปวง เป็นผู้ทรงสรีระกายมีในที่สุด ไม่มีใครจะยิ่งกว่าเป็นหมอรักษา เป็นแพทย์ผู้เชือดลูกศร' ดังนี้. บรรดามนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ มนุษย์พวกหนึ่งเป็นผู้มีชาติ มนุษย์พวกหนึ่งเป็นผู้มีทรัพย์ มนุษย์พวกหนึ่งเป็นผู้มีวิทยา มนุษย์พวกหนึ่งเป็นผู้มีศิลป มนุษย์พวกหนึ่งเป็นผู้กล้า มนุษย์พวกหนึ่งเป็นผู้เฉลียวฉลาด พระมหากษัตริย์องค์เดียวนั่นเทียว ข่มมนุษย์ทั้งปวงเหล่านั้น เป็นผู้สูงสุดแห่งมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น ฉันใด; พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ก็ท่านผู้มีอายุพักกุละ ได้เป็นผู้มีอาพาธน้อยใด ความเป็นผู้มีอาพาธน้อยนั้น ด้วยอำนาจแห่งอภินิหาร. แท้จริง เมื่ออาพาธเพราะอุทรวาตเกิดขึ้นแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า
อโนมทัสสี และโรคชื่อติณบุปผกะ เกิดขึ้นแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสีด้วย แก่ภิกษุทั้งหลายหกล้านแปดแสนด้วย ส่วนพระพักกุละเป็นดาบส บำบัดพยาธินั้นเสียให้หายด้วยเภสัชทั้งหลายต่าง ๆ แล้ว จึงถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ขันธบัญจกนี้ใด คือ พักกุลภิกษุ ขันธบัญจกนั้น เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของเราบรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้. ครั้นเมื่อพยาธิเกิดขึ้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง ยังไม่บังเกิดขึ้นแล้วบ้าง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือธุดงค์บ้าง ไม่ทรงถือบ้างก็ดี สัตว์ไร ๆ เป็นผู้เช่นด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มี. แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเทพดาล่วงเสียซึ่งเทพดา ได้ทรงภาสิตไว้แล้ว ในคัมภีร์สังยุตติกาย อันประเสริฐดังพระราชลัญจกรอันประเสริฐว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่หาเท้ามิได้ก็ดี สัตว์สองเท้าก็ดี และสี่เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี ที่มีรูปหรือไม่มีรูปก็ดี ที่มีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ดี ที่จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ดี ประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันต
สัมมาสัมพุทธเจ้า อันบัณฑิตย่อมกล่าวว่า เป็นยอดของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ดังนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๑๐. อนุปปันนมัคคอุปปาทปัญหา ๔๙
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดขึ้น' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตได้เห็นมรรคของเก่าทางของเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย มีแล้วในปางก่อนเสด็จดำเนินแล้วเนือง ๆ.' พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระตถาคตเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น, ถ้าอย่างนั้น พระพุทธพจน์ที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย มีแล้วในกาลก่อน เสด็จดำเนินแล้วเนือง ๆ' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'พระตถาคตได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย มีแล้วในก่อนเสด็จดำเนินแล้วเนือง ๆ,' ถ้าอย่างนั้น พระพุทธพจน์ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้กระทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดขึ้น' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่า อันพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าทั้งหลาย มีแล้วในปางก่อน เสด็จดำเนินแล้วเนือง ๆ' ดังนี้. แม้คำทั้งสองนั้น กล่าวโดยสภาวะทีเดียว. พระตถาคตทั้งหลายแต่ปางก่อน อันตรธาน ไม่มีใครจะสั่งสอน มรรคชื่อว่าอันตรธานแล้ว, พระตถาคตนั้น เมื่อพิจารณาด้วยพระจักษุ คือ ปัญหาได้ทรงเห็นมรรคนั้น ซึ่งชำรุดแล้ว ทรุดโทรมแล้ว รกแล้ว อันมือปิดแล้ว กำบังแล้ว ไม่เป็นที่สัญจร อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ปางก่อนได้เสด็จดำเนินเนือง ๆ แล้ว, เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่าอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายมีแล้วในปางก่อน เสด็จดำเนินเนือง ๆ แล้ว' ดังนี้. พระตถาคตทั้งหลายแต่ปางก่อน อันตรธาน ไม่มีใครจะสั่งสอน พระตถาคตได้ทรงกระทำแล้วซึ่งทางอันชำรุดทรุดโทรมแล้ว อันมือปิดแล้ว กำบังแล้ว ให้เป็นที่สัญจรในกาลนี้ เพราะเหตุใด, เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดแล้วให้เกิดขึ้น' ดังนี้.
ขอถวายพระพร ในโลกนี้ แก้วมณี ซ่อนอยู่ในระวางยอดภูเขาเพราะพระเจ้าจักรพรรดิอันตรธานเสีย, มณีรัตนะนั้น ย่อมเข้าถึงด้วยความปฏิบัติชอบ ของพระเจ้าจักรพรรดิองค์อื่นอีก; มณีรัตนะนั้น จะว่าพระเจ้าจักรพรรดินั้นสร้างขึ้นแล้ว คือ ให้เกิดขึ้นแล้วบ้างหรือเป็นไฉน?"
ร. "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า มณีรัตนะนั้นตั้งอยู่โดยปกติ, ก็แต่ว่ามณีรัตนะนั้น เกิดขึ้นแล้ว เพราะพระเจ้าจักรพรรดินั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร มณีรัตนะนั้น เกิดขึ้นแล้ว เพราะพระเจ้าจักรพรรดินั้น ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพิจารณาด้วยจักษุ คือ ปัญญา ยังมรรคเป็นที่ไปยังพระนิพพานมีองค์แปด ตั้งอยู่โดยปกติอันพระตถาคตทั้งหลาย มีแล้วแต่ปางก่อน ทรงประพฤติสืบมาแล้วเมื่อไม่มีใครจะสั่งสอน ชำรุดแล้ว ทรุดโทรมแล้ว รกแล้ว อันมืดปิดแล้ว กำบังแล้ว ไม่เป็นที่สัญจร ให้เกิดขึ้นแล้ว ได้กระทำมรรคนั้นให้เป็นที่สัญจร ฉันนั้นนั่นแล; เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดขึ้น' ดังนี้.
อีกนัยหนึ่ง มารดายังบุตรมีอยู่นั่นเทียว ให้เกิดแต่กำเนิดแล้วอันโลกย่อมกล่าวว่า ชนิกา ฉันใด, พระตถาคต ทรงพิจารณาด้วยจักษุคือปัญญา ยังมรรคมีอยู่นั่นเทียว ชำรุดแล้ว ทรุดโทรมแล้ว รกแล้ว อันมืดปิดแล้ว กำบังแล้ว ไม่เป็นที่สัญจร ให้เกิดขึ้นแล้ว ได้กระทำมรรคนั้นให้เป็นที่สัญจรแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียว; เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้น' ดังนี้.
อีกประการหนึ่ง บุรุษไร ๆ เห็นภัณฑะอย่างใดอย่างหนึ่งที่หายไป, ชนย่อมกล่าวว่า
'ภัณฑะนั้น อันบุรุษนั้นให้เกิดขึ้นแล้ว' ฉันใด, พระตถาคต เมื่อทรงพิจารณาด้วยจักษุคือปัญญา ยังมรรคมีอยู่นั่นเทียว ชำรุดแล้ว ทรุดโทรมแล้ว รกแล้ว อันมืดปิดแล้ว กำบังแล้ว ไม่เป็นที่สัญจร ให้เกิดขึ้นแล้ว ได้กระทำมรรคนั้นให้เป็นที่สัญจรแล้ว ฉันนั้นนั้นแล; เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดขึ้น' ดังนี้.
อีกประการหนึ่ง บุรุษไร ๆ ชำระป่าแล้ว เปิดเผยพื้นที่, ชนย่อมกล่าว่า 'พื้นนั้นของบุรุษนั้น' ก็แต่ว่าพื้นนั่นอันบุรุษนั้นมิได้ให้เป็นไปแล้ว บุรุษนั้นชื่อว่า ภูมิสามิโก เจ้าของแห่งพื้น เพราะกระทำพื้นนั้นให้เป็นเหตุ ฉันใด, พระตถาคตทรงพิจารณาด้วยจักษุคือปัญญา กระทำมรรคมีอยู่นั่นเทียว ชำรุดแล้ว ทรุดโทรมแล้ว รกแล้ว อันมืดปิดแล้ว กำบังแล้ว ไม่เป็นที่สัญจร ให้เกิดขึ้นแล้ว ได้กระทำมรรคนั้นให้เป็นที่สัญจรแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล; เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดขึ้น' ดังนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
วรรคที่หก
๑. ปฏิปทาโทสปัญหา ๕๐
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ในกาลใด พระโพธิสัตว์ได้ทรงกระทำทุกรกิริยา, ความเพียรเป็นเหตุริเริ่ม ความเพียรเป็นเหตุก้าวหน้าเช่นนั้น ความผจญกิเลสเช่นนั้น ความกำจัดเสนาแห่งมฤตยูเช่นนั้น ความอดอาหารเช่นนั้น ความกระทำกิจที่กระทำได้ยากเช่นนั้น ไม่ได้มีแล้วในที่อื่น, ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ไม่ได้แล้ว ซึ่งอัสสาทะความยินดีน้อยหนึ่ง ในเพราะความบากบั่นอันใหญ่เห็นปานนั้น จึงยังจิตดวงนั้นนั่นแลให้หวนกลับแล้ว ได้ตรัสอย่างนี้ว่า 'ก็ด้วยทุกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ เราก็หาได้บรรลุญาณทัสสนะพิเศษ อันประเสริฐเพียงพอยิ่งกว่าธรรมของสามัญมนุษย์ไม่แล, ชะรอยมรรคาเพื่อความตรัสรู้ จะพึงเป็นทางอื่นแน่แล.' ครั้นทรงดำริตกลงพระทัยฉะนี้แล้ว จึงทรงเบื่อหน่ายจากทุกรกิริยานั้น ได้บรรลุสัพพัญญุตญาณด้วยมรรคาอื่น แต่ก็ทรงพร่ำสอนชักชวนสาวกทั้งหลายด้วยปฏิปทานั้นอีกว่า 'ท่านทั้งหลาย จงปรารภความเพียร จงพากเพียร จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา จงกำจัดเสนาแห่งมฤตยูเสีย เหมือนกุญชรทำลายเรือนไม้อ้อเสียฉะนั้น' พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เพราะเหตุไรเล่า พระตถาคตจึงทรงพร่ำสอน ชักชวนสาวกทั้งหลาย ในปฏิปทาที่พระองค์เองทรงเบื่อหน่าย คืนคลาย ดูหมิ่นแล้ว?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร ปฏิปทานั้นนั่นแล เป็นปฏิปทาทั้งในกาลนั้น ทั้งในกาลบัดนี้, พระโพธิสัตว์ทรงดำเนินปฏิปทานั้นนั่นแล บรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว. ก็แต่ว่า พระโพธิสัตว์กระทำความเพียรเกินไป อดอาหารเสียโดยไม่มีส่วนเหลือ, ข้อที่จิตเป็นธรรมชาติทราม กำลังเกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน เพราะความอดอาหารเสีย, ท่านไม่ได้อาจแล้วเพื่อบรรลุสัพพัญญุตญาณ เพราะความที่จิตเป็นธรรมชาติทรามกำลังนั้น, ท่านเมื่อเสพกวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าวพอประมาณ จึงได้บรรลุสัพพัญญุตญาณ ต่อกาลไม่นานเลยด้วยปฏิปทานนั้นเอง. ปฏิปทานั้นแหละ เป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งสัพพัญญุตญาณ ของพระตถาคตทั้งปวง.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนอาหารเป็นเครื่องอุปถัมภ์สัตว์ทั้งปวง, สัตว์ทั้งปวงได้อาศัยอาหารจึงได้เสวยความสุข ฉันใด; ปฏิปทานั้นแหละ เป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งสัพพัญญุตญาณ ของพระตถาคตทั้งปวง ฉันนั้นนั่นแล. การที่พระตถาคตไม่ได้บรรลุสัพพัญญุตญาณในขณะนั้น มิใช่โทษของความเพียรเป็นเหตุริเริ่ม มิใช่โทษของความเพียรเป็นเหตุก้าวหน้า มิใช่โทษของความผจญกิเลส, โดยที่แท้ เป็นโทษของความอดอาหารเท่านั้น, ปฏิปทานั้น อันธรรมดาเตรียมไว้แล้ว ทุกเมื่อ.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล ด้วยความเร็วเกินไป, เพราะความเร็วเกินไปนั้น เขาพึงเป็นผู้ชาไปแถบหนึ่ง หรือเป็นคนปลกเปลี้ย เดินไม่ได้บนพื้นแผ่นดิน, เออก็ เหตุที่เขาเดินไม่ได้นั้น เป็นโทษของมหาปฐพีหรือ มหาบพิตร?"
ร. "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า, มหาปฐพีเตรียมอยู่แล้วทุกเมื่อ, โทษของมหาปฐพีนั้น จะมีมาแต่ไหน, เหตุที่บุรุษนั้นเป็นผู้ชาไปแถบหนึ่งนั้น เป็นโทษของความพยายามต่างหาก."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, การที่พระตถาคตไม่ได้บรรลุสัพพัญญุตญาณในขณะนั้น มิใช่โทษของความเพียรเป็นเหตุริเริ่ม มิใช่โทษของความเพียรเป็นเหตุก้าวหน้า มิใช่โทษของความผจญกิเลส, โดยที่แท้ เป็นโทษของความอดอาหารต่างหาก, ฉันนั้นนั่นแล, ปฏิปทานั้น อันธรรมดาเตรียมไว้แล้วทุกเมื่อ.
อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษพึงนุ่งผ้าสาฎกอันเศร้าหมอง, เขาไม่พึงซักผ้านั้นในน้ำ, ข้อที่ผ้าเศร้าหมองนั้น ไม่ใช่โทษของน้ำ, น้ำเตรียมอยู่ทุกเมื่อ, นั่นเป็นโทษของบุรุษต่างหาก ข้อนี้ฉันใด; การที่พระตถาคตไม่ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณในสมัยนั้น มิใช่โทษของความเพียรเป็นเหตุริเริ่ม มิใช่โทษของความเพียรเป็นเหตุก้าวหน้า มิใช่โทษของความผจญกิเลส, โดยที่แท้ เป็นโทษของความอดอาหารต่างหาก, ปฏิปทานั้น อันธรรมดาเตรียมไว้แล้วทุกเมื่อ ฉันนั้นนั่นแล. เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงทรงพร่ำสอน ชักชวนสาวกทั้งหลายในปฏิปทานั้น. ปฏิปทานั้นหาโทษมิได้ อันธรรมดานั้นเตรียมไว้แล้วทุกเมื่อ ด้วยประการฉะนี้แล ขอถวายพระ."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๒. นิปปปัญจปัญหา ๕๑
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีนิปปปัญจะเป็นที่มายินดี มีความยินดีในนิปปปัญจธรรมไม่มีเครื่องเนิ่นช้า' ดังนี้. นิปปปัญจะนั้นเป็นไฉน คือ ธรรมพวกไร?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร โสดาปัตติผลก็ชื่อนิปปปัญจะสกทาคามิผลก็ชื่อ
นิปปปัญจะ อนาคามิผลก็ชื่อนิปปปัญจะ อรหัตตผลก็ชื่อนิปปปัญจะ ธรรมไม่มีเครื่องเนิ่นช้า."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าโสดาปัตติผลก็ชื่อนิปปปัญจะสกทาคามิผลก็ชื่อ
นิปปปัญจะ อนาคามิผลก็ชื่อนิปปปัญจะ อรหัตตผลก็ชื่อนิปปปัญจะไซร้, ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมแสดงขึ้น ย่อมไต่ถาม พระสูตร เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตก ชาตก อัพภูตธรรม
เวทัลละ ยังกังวลอยู่ด้วยนวกรรม คือ การให้ด้วย การบูชาด้วย เพื่อประโยชน์อะไร? ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ได้ชื่อว่ากระทำอยู่ซึ่งกรรม ที่พระชินห้ามไว้แล้ว ไม่ใช่หรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น ย่อมแสดงขึ้น ย่อมไต่ถามพระสูตร เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตก ชาตก อัพภูตธรรม เวทัลละ ยังกังวลอยู่ด้วยนวกรรม คือ การให้ด้วย การบูชาด้วย, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง ชื่อว่ากระทำความเพียรเพื่อจะถึงซึ่งนิปปปัญจธรรม ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้บริสุทธิ์แล้วโดยสภาพ มีวาสนาเคยอบรมมาแล้ว, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีนิปปปัญจธรรมโดยขณะแห่งจิตอันเดียว. ฝ่ายว่าภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้มีธุลี คือ กิเสลในนัยน์ตา คือ ปัญญามาก, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีนิปปปัญจธรรม ด้วยประโยคทั้งหลายเหล่านี้. เปรียบเหมือนบุรุษปลูกพืชลงในนาแล้วเก็บข้าวเปลือก ด้วยความเพียรตามกำลังของตน เว้นแล้วจากรั้วเป็นเครื่องป้องกัน, บุรุษอีกคนหนึ่งปลูกพืชลงในนาแล้วเข้าไปสู่ป่า ตัดไม้แห้งด้วย กิ่งไม้ด้วย เรียวหนามด้วย กระทำรั้วแล้วจึงเก็บข้าวเปลือก, ความแสวงหาของบุรุษนั้น ด้วยกั้นรั้วในนานั้น เพื่อประโยชน์แก่ข้าวเปลือก ฉันใด;
ขอถวายพระพร ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้บริสุทธิ์แล้วโดยสภาวะ มีวาสนาเคย
อบรมแล้ว, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้มีเครื่องเนิ่นช้าออกแล้วโดยขณะแห่งจิตอันหนึ่ง เหมือนบุรุษเว้นความกั้นด้วยรั้วเสีย เก็บข้าวเปลือก; ฝ่ายภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้มีธุลี คือ กิเสลในนัยน์ตา คือ ปัญญาใหญ่หลวง, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้มีเครื่องเนิ่นช้าออกแล้ว ด้วยประโยคทั้งหลายเหล่านี้ เหมือนบุรุษกระทำความกั้นด้วยรั้วแล้ว เก็บข้าวเปลือก ฉันนั้นนั้นเทียวแล.
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนช่อแห่งผลไม้ พึงมีที่ยอมแห่งต้นมะม่วงใหญ่, ถ้าว่า ในที่นั้นผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มาแล้ว พึงนำผลแห่งต้นมะม่วงนั้นไปได้, ในที่นั้น ฝ่ายบุคคลผู้ไม่มีฤทธิ์ ตัดไม้แห้งและเถาวัลย์ ผูกให้เป็นพะองแล้วขึ้นสู่ต้นมะม่วงนั้นโดยพะองนั้นนำผลไปได้, จึงควรแสวงหานั้นเพื่อเอาแต่ผล ฉันใด;บุคคลทั้งหลายเหล่าใดนั้น บริสุทธิ์แล้วโดยสภาวะ มีวาสนาอบรมแล้วในปางก่อน, บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าออกแล้วโดยขณะแห่งจิตอันหนึ่ง เหมือนบุคคลมีฤทธิ์ที่นำผลมะม่วงไปได้นั้น; ฝ่ายว่า ภิกษุทั้งหลายใดนั้น เป็นผู้มีธุลี คือ กิเสลในนัยน์ตา คือ ปัญญาใหญ่หลวง, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยประโยคนี้ เหมือนบุรุษนำผลแห่งมะม่วงไปโดยพะอง ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้กระทำความต้องการ คือแสวงหาทรัพย์คนหนึ่งคนเดียวทีเดียว เข้าไปใกล้เจ้านายแล้วยังทรัพย์นั้นให้สำเร็จได้, คนหนึ่งเป็นผู้มีทรัพย์ ยังบริษัทให้เจริญแล้วด้วยอำนาจแห่งทรัพย์ ยังทรัพย์นั้นให้สำเร็จด้วยบริษัท, ความแสวงหาด้วยบริษัทในทรัพย์นั้นของบุรุษนั้น อันใด ความแสวงหาบริษัทนั้น เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์ ฉันใด;บุคคลทั้งหลายเหล่าใดนั้น บริสุทธิ์แล้วโดยสภาวะ มีวาสนาอบรมมาแล้วในปางก่อน, บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมถึงความเป็นผู้ชำนาญในอภิญญาทั้งหลายหก โดยขณะแห่งจิตอันหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่งกระทำซึ่งอันยังทรัพย์ให้สำเร็จ; ฝ่ายภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นใด มีธุลี คือ กิเลสในนัยน์ตา คือ ปัญญาใหญ่หลวง, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมยังทรัพย์ คือ สามัญญคุณให้สำเร็จเฉพาะด้วยประโยคทั้งหลายเหล่านี้ เปรียบเหมือนบุรุษกระทำซึ่งอันยังทรัพย์ให้สำเร็จด้วยบริษัท.
ขอถวายพระพร แม้อุทเทสเป็นของมีอุปการมาก แม้ปริปุจฉาเป็นของมีอุปการมาก แม้
นวกรรมเป็นของมีอุปการมาก แม้การให้เป็นของมีอุปการมาก แม้การบูชาเป็นของมีอุปการมาก ในกิจที่ควรกระทำทั้งหลายเหล่านั้น ๆ.
ขอถวายพระพร บุรุษผู้จะเป็นข้าราชการกระทำแล้วซึ่งราชกิจด้วยชนผู้เป็นราชบริษัททั้งหลาย คือ อมาตย์ราชภัฏกรมวังผู้รักษาพระทวารและราชองครักษ์, ครั้นเมื่อกิจควรกระทำยังไม่เกิดขึ้นแล้ว ราชบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นผู้มีอุปการแก่บุรุษข้าราชการนั้นฉันใด; แม้อุทเทส ปริปุจฉา นวกรรม การให้และการบูชาล้วนเป็นของมีอุปการมาก ในกิจควรกระทำทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้น. ถ้าว่า ชนทั้งหลวงทั้งปวง พึงเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วโดยอภิชาติไซร้, กิจอันผู้พร่ำสอนจะพึงกระทำไม่พึงมี; ก็เพราะเหตุใดแล กิจอันผู้พร่ำสอนจะพึงกระทำด้วยการฟังมีอยู่. พระเถระสารีบุตรผู้มีกุศลมูลสั่งสมแล้ว สิ้นอสงไขยและกัปป์อันนับไม่ได้แล้ว ถึงแล้วซึ่งที่สุดแห่งปัญญา, แม้พระเถระสารีบุตรนั้นเว้นจากการฟัง ไม่อาจแล้วเพื่อจะพึงอาสวักขัย.
ขอถวายพระพร เพราะเหตุนั้น การฟังชื่อมีอุปการมาก, แม้อุทเทสแม้ปริปุจฉามีอุปการมาก ก็เหมือนกัน, เพราะเหตุนั้น อุทเทสปริปุจฉาจึงเป็นนิปปปัญจธรรม มีเครื่องเนิ่นช้าออกแล้วเป็นอสังขตะ."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป้นเจ้าเพ่งดีแล้วข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๓. คิหิอรหัตตปัญหา ๕๒
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'บุคคลเป็นคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตแล้ว มีคติสอง คือ: พระอรหันต์นั้นบวชบ้าง ปรินิพพานบ้าง ในวันนั้นทีเดียว, วันนั้น อันพระอรหันต์นั้นไม่อาจเพื่อจะก้าวเกินได้."
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระอรหันต์นั้นไม่พึงได้อาจารย์หรืออุปัชฌาย์ หรือบาตรและจีวรในวันนั้น, พระอรหันต์นั้น พึงบวชเองหรือพึงล่วงวัน หรือพระอรหันต์อื่นบางรูป เป็นผู้มีฤทธิ์ พึงมาแล้วยังพระอรหันต์นั้นให้บวชบ้างหรือหนอ หรือพระอรหันต์นั้น พึงปรินิพพาน.
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระอรหันต์นั้นไม่พึงบวชเอง เมื่อบวชเอง ย่อมต้องเถยยสังวาส; อนึ่ง ท่านไม่ล่วงวัน ความที่พระอรหันต์องค์อื่นจะมาจะมีหรือไม่มี พระอรหันต์นั้นย่อมดับเสียในวันนั้นทีเดียว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าอย่างนั้น ความที่พระอรหัตมีอยู่ เป็นกิจอันพระอรหันต์นั้นไม่ละแล้ว ความนำชีวิตไป ย่อมมีแก่พระอรหันต์ผู้มีธรรมอันถึงทับแล้วด้วยเหตุไรเล่า?"
ถ. "ขอถวายพระพร เพศแห่งคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตในเพศอันไม่เสมอ ย่อมบวชบ้าง ย่อมปรินิพพานบ้าง ในวันนั้นทีเดียว เพราะความที่เพศเป้นของทุรพล; ส่วนนั้นไม่ใช่โทษของพระอรหัต โทษนั้นเป็นโทษของเพศแห่งคฤหัสถ์ เพราะความที่เพศเป็นของทุรพล. เปรียบเหมือนโภชนะเป็นของเลี้ยงอายุของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นของรักษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไว้ ย่อมผลาญชีวิตแห่งบุคคล ผู้มีกระเพาะอาหารไม่ปกติ เพราะไม่ช่วยย่อยแห่งไฟเผาอาหารซึ่งอ่อนและทรามกำลัง, โทษนั้นไม่ใช่โทษของโภชนะ โทษนั้นเป็นโทษของกระเพาะ เพราะมีไฟธาตุอ่อนกำลังฉันใด; คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตในเพศอันไม่เสมอ ย่อมบวชบ้าง ย่อมปรินิพพานบ้าง ในวันนั้นทีเดียว เพราะความทุรพลด้วยเพศ, โทษนั้นไม่ใช่โทษของพระอรหัต โทษนั้นเป็นโทษของเพศแห่งคฤหัสถ์ เพราะความเป็นเพศทุรพล ฉันนั้นนั่นเทียว.
อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนเส้นหญ้าอันน้อย ครั้นเมื่อหินเป็นของหนักอันบุคคลวางไว้ข้างบนแล้ว หญ้านั้นย่อมแหลกตกไป เพราะความที่แห่งหญ้าเป็นของทุรพล ฉันใด, คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตแล้ว ไม่อาจเพื่อจะทรงพระอรหัตไว้ด้วยเพศนั้น ย่อมบวชบ้าง ย่อมปรินิพพานบ้าง ในวันนั้นทีเดียว ฉันนั้น.
อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษไม่มีกำลังเป็นผู้ทุรพล มีชาติอันเลย มีบุญน้อย ได้ราชสมบัติใหญ่ ย่อมตกต่ำเสื่อมถอยโดยขณะไม่อาจเพื่อจะทรงความเป็นอิสระไว้ได้ ฉันใด; คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตแล้ว ไม่อาจเพื่อจะทรงพระอรหัตไว้ด้วยเพศนั้นได้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล, เพราะเหตุนั้น คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตแล้ว ย่อมบวชบ้าง ย่อมปรินิพพานบ้าง ในวันนั้นทีเดียว."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๔. โลมกัสสปปัญหา ๕๓
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า 'เราได้เกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนทีเดียวได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย' ดังนี้. และพระโพธิสัตว์เป็นฤษีชื่อ โลมกัสสป ได้เห็นนางจันทวดีกัญญา ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว บูชามหายัญชื่อว่าวาชเปยยะ. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'เราเป็นมนุษย์ในกาลก่อนทีเดียว เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้, ถ้ากระนั้น คำว่า 'ฤษีชื่อโลมกัสสป ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียวบูชามหายัญชื่อวาชเปยยะ' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่าฤษีชื่อโลมกัสสป ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว บูชามหายัญชื่อ วาชเปยยะ, ถ้าอย่างนั้น คำทีว่า 'เราเกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนเทียว ได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'เราเกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนเทียว ได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย' ดังนี้, และฤษีชื่อโลมกัสสปฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว บูชามหายัญชื่อวาชเปยยะ; ก็แหละมหายัญนั้นอันฤษีชื่อโลมกัสสปนั้นมีสัญญาวิปลาศแล้ว บูชาแล้วด้วยอำนาจแห่งราคะ จะเป็นผู้มีเจนาเป็นปกติอยู่บูชาแล้วหามิได้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุคคลทั้งหลายแปดเหล่านี้ ย่อมฆ่าสัตว์, บุคคลทั้งหลายแปด เป็นไฉน: บุคคลทั้งหลายแปด คือ บุคคลกำหนัดแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งราคะ บุคคลอันโทสะประทุษร้านแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งราคะ บุคคลอันโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งโทสะ บุคคลหลงแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ ด้วยอำนาจแห่งโมหะ บุคคลมีมานะ ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งมานะ บุคคลโลภแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งความโลภบุคคลไม่มีทรัพย์น้อยหนึ่ง ย่อมฆ่าสัตว์เพื่อประโยชน์แก่การเลี้ยงชีวิตบุคคลพาลย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งความไม่รู้ เพราะเหตุมีสหายเป็นพาล พระมหากษัตริย์ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย บุคคลทั้งหลายแปดเหล่านี้ ย่อมฆ่าสัตว์. มหายัญเป็นปกติทีเดียว อันพระโพธิสัตว์ทำแล้ว.
ถ. "ขอถวายพระพร มหายัญโดยปกติทีเดียว อันพระโพธิสัตว์ทำแล้ว หามิได้. ถ้าว่าพระโพธิสัตว์พึงน้อมลงไปโดยความเป็นปกติเพื่อจะบูชามหายัญไซร้, พระโพธิสัตว์ไม่พึงกล่าวคาถาว่า 'เราไม่พึงปรารถนาแผ่นดินซึ่งมีสมุทรเป็นเครื่องล้อม คือ มีทะเลล้อมอยู่รอบ ดุจกุณฑลซึ่งพันไว้ด้วยเถาวัลย์ดำ พร้อมด้วยนินทา, แน่ะสัยหะ ท่านจงรู้อย่างนี้.'
ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์มีวาทะอย่างนี้ พอเห็นนางราชกัญญาชื่อจันทวดี เป็นผู้มีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่าน กำหนัดแล้ว, ครั้นมีสัญญาผิดแล้ว เป็นผู้อากูลและอากูล ด่วนและด่วน บูชามหายัญชื่อว่า วาชเปยยะ เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ด้วยจิตฟุ้งซ่านแล้ว และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้วนั้น. เปรียบเหมือนคนบ้า มีจิตฟุ้งซ่านแล้ว เหยียบไฟรุ่งเรืองแล้วบ้าง จับอสรพิษอันกำเริบแล้วบ้าง เข้าไปใกล้ช้างซับมันแล้วบ้าง ไม่เห็นฝั่งแล่นไปสู่สมุทรบ้าง ย่อมขยำคูถบ้าง ย่อมลงบ่อคูถบ้าง ย่อมขึ้นไปสู่ที่มีหนามบ้าง ย่อมโดดในเหวบ้าง ย่อมกินอสุจิบ้าง เป็นคนเปลือยเที่ยวไปกลางถนนบ้าง ย่อมทำกิริยาไม่ควรทำมากอย่าง แม้อื่นบ้างฉันใด; พระโพธิสัตว์พอเห็นนางราชกัญญาชื่อ จันทวดี เป็นผู้มีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่าน, ครั้นมีสัญญาผิดแล้วเป็นผู้อากูลและอากูล ด่วนและด่วน, บูชามหายัญชื่อ วาชเปยยะ เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ ๆ ด้วยจิตฟุ้งซ่านแล้ว และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร บาปอันบุคคลมีจิตฟุ้งซ่านแล้ว ทำแล้ว ซึ่งจะเป็นมหาสาวัชชะเป็นไปกับด้วยโทษใหญ่ แม้ในทิฏฐธรรมหามิได้จะเป็นมหาสาวัชชะ แม้โดยวิบากในสัมปรายะก็หาไม่. ในโลกนี้ใคร ๆ เป็นบ้า พึงต้องอาชญาประหารชีวิต บรมบพิตรจะทรงวางอาชญาอะไรแก่เขา?"
ร. "อาชญาอะไร จักพึงมีแกคนบ้าเล่า, พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ายังราชบุรุษทั้งหลายให้โบยแล้วจึงนำคนบ้านั้นออกเสีย, ความให้ราชบุรุษโบยนำออกเสียนั่นแหละ เป็นอาชญาของคนบ้านั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร แม้พระราชอาชญา เพราะความผิดของคนบ้าไม่มี, เพราะเหตุนั้น เมื่อความผิดอันคนบ้าแม้ทำแล้ว ย่อมไม่มีโทษ คนบ้าเป็นสเตกิจโฉ. ฤษีชื่อโลมกัสสปมีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่านแล้ว กำหนัดแล้ว พร้อมด้วยการเห็นนางราชกัญญาชื่อ จันทวดี, ครั้นเป็นผู้มีสัญญาผิดแล้ว มีความกระสับกระส่ายฟุ้งซ่านแล้ว อากูลและอากูล ด่วนและด่วน บูชามหายัญชื่อ วาชเปยยะ เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ ๆ ด้วยจิตฟุ้งซ่าน และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้วนั้น. ก็และพระโพธิสัตว์นั้นมีจิตเป็นปกติกลับได้สติในกาลใด, บวชแล้วอีก ยังอภิญญาทั้งหลายห้าให้เกิดแล้วเป็นผู้เข้าไปสู่พรหมโลกนั่นเทียว ในกาลนั้น."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."