นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 1:44 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 04 เม.ย. 2018 6:05 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
๔. โลมกัสสปปัญหา ๕๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า 'เราได้เกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนทีเดียวได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย' ดังนี้. และพระโพธิสัตว์เป็นฤษีชื่อ โลมกัสสป ได้เห็นนางจันทวดีกัญญา ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว บูชามหายัญชื่อว่าวาชเปยยะ. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'เราเป็นมนุษย์ในกาลก่อนทีเดียว เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้, ถ้ากระนั้น คำว่า 'ฤษีชื่อโลมกัสสป ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียวบูชามหายัญชื่อวาชเปยยะ' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่าฤษีชื่อโลมกัสสป ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว บูชามหายัญชื่อ วาชเปยยะ, ถ้าอย่างนั้น คำทีว่า 'เราเกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนเทียว ได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'เราเกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนเทียว ได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย' ดังนี้, และฤษีชื่อโลมกัสสปฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว บูชามหายัญชื่อวาชเปยยะ; ก็แหละมหายัญนั้นอันฤษีชื่อโลมกัสสปนั้นมีสัญญาวิปลาศแล้ว บูชาแล้วด้วยอำนาจแห่งราคะ จะเป็นผู้มีเจนาเป็นปกติอยู่บูชาแล้วหามิได้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุคคลทั้งหลายแปดเหล่านี้ ย่อมฆ่าสัตว์, บุคคลทั้งหลายแปด เป็นไฉน: บุคคลทั้งหลายแปด คือ บุคคลกำหนัดแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งราคะ บุคคลอันโทสะประทุษร้านแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งราคะ บุคคลอันโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งโทสะ บุคคลหลงแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ ด้วยอำนาจแห่งโมหะ บุคคลมีมานะ ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งมานะ บุคคลโลภแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งความโลภบุคคลไม่มีทรัพย์น้อยหนึ่ง ย่อมฆ่าสัตว์เพื่อประโยชน์แก่การเลี้ยงชีวิตบุคคลพาลย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งความไม่รู้ เพราะเหตุมีสหายเป็นพาล พระมหากษัตริย์ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย บุคคลทั้งหลายแปดเหล่านี้ ย่อมฆ่าสัตว์. มหายัญเป็นปกติทีเดียว อันพระโพธิสัตว์ทำแล้ว.
ถ. "ขอถวายพระพร มหายัญโดยปกติทีเดียว อันพระโพธิสัตว์ทำแล้ว หามิได้. ถ้าว่าพระโพธิสัตว์พึงน้อมลงไปโดยความเป็นปกติเพื่อจะบูชามหายัญไซร้, พระโพธิสัตว์ไม่พึงกล่าวคาถาว่า 'เราไม่พึงปรารถนาแผ่นดินซึ่งมีสมุทรเป็นเครื่องล้อม คือ มีทะเลล้อมอยู่รอบ ดุจกุณฑลซึ่งพันไว้ด้วยเถาวัลย์ดำ พร้อมด้วยนินทา, แน่ะสัยหะ ท่านจงรู้อย่างนี้.'
ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์มีวาทะอย่างนี้ พอเห็นนางราชกัญญาชื่อจันทวดี เป็นผู้มีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่าน กำหนัดแล้ว, ครั้นมีสัญญาผิดแล้ว เป็นผู้อากูลและอากูล ด่วนและด่วน บูชามหายัญชื่อว่า วาชเปยยะ เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ด้วยจิตฟุ้งซ่านแล้ว และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้วนั้น. เปรียบเหมือนคนบ้า มีจิตฟุ้งซ่านแล้ว เหยียบไฟรุ่งเรืองแล้วบ้าง จับอสรพิษอันกำเริบแล้วบ้าง เข้าไปใกล้ช้างซับมันแล้วบ้าง ไม่เห็นฝั่งแล่นไปสู่สมุทรบ้าง ย่อมขยำคูถบ้าง ย่อมลงบ่อคูถบ้าง ย่อมขึ้นไปสู่ที่มีหนามบ้าง ย่อมโดดในเหวบ้าง ย่อมกินอสุจิบ้าง เป็นคนเปลือยเที่ยวไปกลางถนนบ้าง ย่อมทำกิริยาไม่ควรทำมากอย่าง แม้อื่นบ้างฉันใด; พระโพธิสัตว์พอเห็นนางราชกัญญาชื่อ จันทวดี เป็นผู้มีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่าน, ครั้นมีสัญญาผิดแล้วเป็นผู้อากูลและอากูล ด่วนและด่วน, บูชามหายัญชื่อ วาชเปยยะ เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ ๆ ด้วยจิตฟุ้งซ่านแล้ว และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร บาปอันบุคคลมีจิตฟุ้งซ่านแล้ว ทำแล้ว ซึ่งจะเป็นมหาสาวัชชะเป็นไปกับด้วยโทษใหญ่ แม้ในทิฏฐธรรมหามิได้จะเป็นมหาสาวัชชะ แม้โดยวิบากในสัมปรายะก็หาไม่. ในโลกนี้ใคร ๆ เป็นบ้า พึงต้องอาชญาประหารชีวิต บรมบพิตรจะทรงวางอาชญาอะไรแก่เขา?"
ร. "อาชญาอะไร จักพึงมีแกคนบ้าเล่า, พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ายังราชบุรุษทั้งหลายให้โบยแล้วจึงนำคนบ้านั้นออกเสีย, ความให้ราชบุรุษโบยนำออกเสียนั่นแหละ เป็นอาชญาของคนบ้านั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร แม้พระราชอาชญา เพราะความผิดของคนบ้าไม่มี, เพราะเหตุนั้น เมื่อความผิดอันคนบ้าแม้ทำแล้ว ย่อมไม่มีโทษ คนบ้าเป็นสเตกิจโฉ. ฤษีชื่อโลมกัสสปมีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่านแล้ว กำหนัดแล้ว พร้อมด้วยการเห็นนางราชกัญญาชื่อ จันทวดี, ครั้นเป็นผู้มีสัญญาผิดแล้ว มีความกระสับกระส่ายฟุ้งซ่านแล้ว อากูลและอากูล ด่วนและด่วน บูชามหายัญชื่อ วาชเปยยะ เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ ๆ ด้วยจิตฟุ้งซ่าน และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้วนั้น. ก็และพระโพธิสัตว์นั้นมีจิตเป็นปกติกลับได้สติในกาลใด, บวชแล้วอีก ยังอภิญญาทั้งหลายห้าให้เกิดแล้วเป็นผู้เข้าไปสู่พรหมโลกนั่นเทียว ในกาลนั้น."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๕. ฉันททันตโชติปาลอารัพภปัญหา ๕๔

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'พญาฉัททันต์คชสารจับนายพรานได้ด้วยคิดว่าเราจักฆ่ามันเสีย ได้เห็นผ้ากาสาวะเป็นธงของฤษีทั้งหลายแล้ว สัญญาได้เกิดขึ้นแล้วแก่พญาคชสารอันทุกข์ถูกต้องแล้วว่า ธงพระอรหันต์มีรูปแห่งบุคคลอันสัตบุรุษทั้งหลายไม่พึงฆ่า' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'มาณพชื่อโชติปาละ ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสป ด้วยวาจาทั้งหลายอันหยาบเป็นของแห่งอสัตบุรุษโดยวาทะว่า คนโล้น โดยวาทะว่า สมณะ' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระโพธิสัตว์เป็นดิรัจฉานยังบูชาผ้ากาสาวะยิ่ง, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'โชติปาละมาณพ ด่าบริภาษ พระผุ้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ด้วยวาจาทั้งหลายอันหยาบ เป็นของแห่งอสัตบุรุษโดยวาทะว่า คนโล้น โดยวาทะว่า สมณะ' ดังนี้ นั้นเ ป็นผิด. ถ้าว่า โชติปาละมาณพ ด่าบริภาษ พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ด้วยวาจาทั้งหลายอันหยาบ เป็นของแห่งอสัตบุรุษ โดยวาทะว่า คนโล้น โดยวาทะว่า สมณะ, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ผ้ากาสาวะอันพญาฉัททันต์คชสารบูชาแล้ว' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ถ้าว่า พระโพธิสัตว์เป็นสัตว์ดิรัจฉานเสวยเวทนาอันหยาบคายเผ็ดร้อนอยู่ ยังบูชาผ้ากาสาวะที่นายพรานนุ่งแล้ว, พระโพธิสัตว์เป็นมนุษย์มีญาณแก่กล้ามีปัญญาเครื่องตรัสรู้แก่กล้าแล้ว เห็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสป ผู้ทรงทศพลญาณเป็นอัครอาจารย์ในโลก มีแสงสว่างมีวาหนึ่งเป็นประมาณ รุ่งเรืองแล้ว ผู้บวรสูงสุด ทรงคลุมแล้วซึ่งผ้ากาสาวะอันงามประเสริฐแล้ว ทำไมจึงไม่บูชาเล่า? ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจงแก้ไขขยายออกให้แจ้งชัดเถิด."
ถ. "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'พญาฉัททันต์
คชสารจับนายพรานได้ คิดว่า เราจักฆ่ามันเสีย ได้เห็นผ้ากาสาวะเป็นธงของฤษีทั้งหลายแล้ว สัญญาได้เกิดขึ้นแล้วแก่พญาฉัททันต์คชสาร อันทุกข์ถูกต้องแล้วว่า ธงของพระอรหันต์ มีรูปแห่งบุคคลอันสัตบุรุษทั้งหลายไม่พึงฆ่า" ดังนี้.
อนึ่ง มาณพชื่อโชติปาละ ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสป ด้วยวาจาทั้งหลายอันหยาบเป็นของแห่งอสัตบุรุษ โดยวาทะว่า คนโล้น โดยวาทะว่า สมณะ. ความด่าและบริภาษนั้นเป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งชาติและตระกูล. โชติปาละมาณพ เกิดแล้วในตระกูกลไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสแล้ว, มารดาและบิดาทั้งหลาย พี่น้องหญิงและพี่น้องชายทั้งหลาย ทาสีและทาสและเด็กและมนุษย์บริวารทั้งหลาย แห่งโชติปาละมาณพนั้น มีพรหมเป็นเทวดา เป็นผู้หนักในพรหมเป็นผู้เคารพต่อพรหม, ชนทั้งหลายมีมารดาและบิดาเป็นต้นเหล่านั้น คิดว่า 'พราหมณ์ทั้งหลายอย่างเดียว เป็นผู้สูงสุด ประเสริฐ' ดังนี้ ติเตียนเกลียดบรรพชิตทั้งหลาย นอกจากพราหมณ์. โชติปาละมาณพ ฟังคำนั้นของชนทั้งหลายมีมารดาและบิดาเป็นต้นเหล่านั้น อันนายช่างหม้อชื่อฆฎีการเรียกมาแล้ว เพื่อจะเผ้าพระศาสดา จึงกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า 'ประโยชน์อะไรของท่านด้วยสมณะโล้นอ้นท่านเห็นแล้วเล่า?'
พระถวายพระพร อมฤตรสมากระทบพิษแล้วกลายเป็นของขมฉันใด, อนึ่ง น้ำเย็นมากระทบไฟกลายเป็นน้ำร้อน ฉันใด, โชติปาละมาณพเกิดในตระกูลไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสแล้ว, โชติปาละมาณพนั้นเป็นผู้มืดแล้วด้วยอำนาจตระกูลและชาติ จึงด่าแล้ว บริภาษแล้ว ซึ่งพระตถาคต ฉันนั้นนั่นแล. กองแห่งไฟใหญ่รุ่งเรืองแล้ว ชัชวาลแล้วเป็นไปกับด้วยแสงสว่าง มากระทบน้ำแล้วมีแสงสว่างและเตโชธาตุอันน้ำนั้นเข้าไปขจัดแล้ว เป็นของเย็น เป็นของดำ ย่อมเป็นของเช่นกับด้วยผลย่างทรายอันสุกงอมแล้ว ฉันใด, โชติปาละมาณพเป็นผู้มีบุญ มีศรัทธา มีแสงสว่าง อันไพบูลย์ด้วยญาณ เกิดแล้วในตระกูลไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสแล้ว, โชติปาละมาณพนั้น เป็นคนบอดด้วยอำนาจแห่งตระกูล ด่าบริภาษพระตถาคตแล้ว, ครั้นเข้าไปใกล้พระตถาคตแล้ว รู้ทั่วถึงซึ่งคุณแห่งพระพุทธเจ้า เป็นผู้ราวกะเด็กบวชแล้วในพระศาสนาของพระชินพุทธเจ้า ยังอภิญญาทั้งหลายด้วย สมาบัติทั้งหลายด้วย ให้เกิดขึ้นแล้ว ได้เป็นผู้เข้าไปสู่พรหมโลกแล้ว."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๖. ฆฏีการปัญหาที่ ๕๕

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'โรงของนายช่างหม้อชื่อฆฏีการ ได้เป็นโรงมีอากาศเป็นหลังคา ตั้งอยู่แล้วตลอดไตรมาสทั้งปวง และฝนไม่รั่วได้' ดังนี้. และทรงภาสิตแล้วอีกว่า 'กุฎีของพระตถาคตทรงพระนามว่ากัสสป ฝนรั่วได้.' พระผู้เป็นเจ้านาคเสนกุฎีของพระตถาคตผู้มีกุศลมูลอันหนาขึ้นแล้วอย่างนี้ รั่วได้ เพื่อเหตุอะไร? ธรรมดาอานุภาพของพระตถาคตอันบัณฑิตพึงปรารถนา. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าโรงของนางช่างหม้อชื่อฆฏีการอันฝนรั่วไม่ได้ได้เป็นโรงมีอากาศเป็นหลังคา ตั้งอยู่แล้ว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'กุฎีของพระตถาคตอันฝนรั่วได้' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่ากุฎีของพระ
ตถาคตอันฝนรั่วได้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'โรงของนายช่างหม้อชื่อฆฏีการอันฝนรั่วไม่ได้ มีอากาศเป็นหลังคา' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายออกให้แจ้งชัดเถิด."
ถ. ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'โรงของนายช่างหม้อชื่อฆฏีการ ได้เป็นโรงมีอากาศเป็นหลังคา ตั้งอยู่แล้วตลอดไตรมาสทั้งหวง และฝนได้รั่วได้' ดังนี้. และทรงภาสิตแล้วอีกว่า 'กุฎีของพระตถาคตทรงพระนามว่า กัสสปฝนรั่วได้' ดังนี้.
ขอถวายพระพร นายช่างหม้อชื่อฆฏีการเป็นคนมีศีล มีธรรมอันงาม มีกุศลมูลอันหนาหนักแล้ว เลี้ยงมารดาและบิดาทั้งหลายแก่แล้ว เป็นผู้บอดอยู่, ชนทั้งหลายไม่บอกกล่าวแล้วเทียว นำหญ้าในเรือนของนายช่างหม้อนั้น ลับหลังของนายช่างหม้อไปมุงกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น, นายช่างหม้อชื่อฆฏีการนั้น กลับได้ปีติอันไม่หวั่นไหวแล้ว ไม่เขยื้อนแล้ว ตั้งมั่นด้วยดีแล้ว ไพบูลย์แล้ว ไม่มีวัตถุอันใดเสมอ เพราะอันนำหญ้านั้นไป และยังโสมนัสยิ่งอันใคร ๆ ชั่งไม่ได้ให้เกิดขึ้นแล้วว่า 'โอหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา เป็นผู้สูงสุดในโลก เป็นผู้คุ้นเคยด้วยดีแล้ว' ดังนี้ เพราะเหตุนั้น วิบากเป็นไปในทิฏฐธรรมเกิดขึ้นแล้ว แก่นายช่างหม้อชื่อฆฏีการนั้น. พระตถาคตย่อมไม่หวั่นไหว เพราะวิการเท่านั้นเลย. พญาเขาชื่อสิเนรุ ย่อมไม่หวั่นไหวไม่กระเทือน เพราะลมมีแสนมิใช่แสนเดียวประหารบ้าง, สาครอันบวรประเสริฐทรงน้ำใหญ่ไว้ ย่อมไม่เต็ม ย่อมไม่วิการ แม้ด้วยแสนแห่งคงคาใหญ่ มีร้อนแห่งนหุตมิใช่ร้อยเดียว ฉันใด; พระตถาคตย่อมไม่เขยื้อนเพราะวิการมีประมาณเท่านั้น ฉันนั้นนั่นเทียว. กุฎีของพระตถาคตอันฝนรั่วได้ ด้วยเหตุใด เหตุนั้นเป็นไปแล้ว ด้วยความไหวตามแก่หมู่แห่งชนใหญ่. พระตถาคตทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นอำนาจแห่งประโยชน์ทั้งหลายสองเหล่านี้ ไม่ส้องเสพปัจจัยที่พระองค์นิรมิตแล้วเอง ด้วยทรงดำริว่า 'พระศาสดานี้เป็นทักขิเณยยบุคคลอันเลิศ' ดังนี้ เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายถวายแล้วซึ่งปัจจัยแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพ้นจากทุคติทั้งปวง; บุคคลทั้งหลายอื่นอย่าพึงติเตียนว่า 'พระตถาคตทั้งหลายแสดงปาฏิหาริย์ แสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพ' ดังนี้. พระตถาคตทั้งหลายทรงพิจารณาเห็นอำนาจแห่งประโยชน์สองประการเหล่านี้ ย่อมไม่ส้องเสพปัจจัยที่พระองค์นิรมิตแล้วเอง. ถ้าว่า ท้าวสักกะหรือพรหมหรือพระองค์เอง พึงกระทำกุฎีนั้นให้ฝนรั่วไม่ได้ เหตุนั้นเป็นสาวัชชะเป็นไปกับโทษอันบุคคลพึงเว้น เหตุนั้นนั่นแล เป็นไปกับด้วยโทษ เป็นไปกับด้วยนิคคหะว่า 'พระตถาคตทั้งหลาย กระทำกรรมอันหยาบยังโลกให้หลงพร้อม ย่อมกระทำกรรมอันบุคคลกระทำยิ่งแล้ว.' เพราะเหตุนั้น เหตุนั้นอันพระตถาคตทั้งหลายพึงเว้น. พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ขอพัสดุ. พระตถาคตทั้งหลายย่อมเป็นบุคคลไม่ควรบริภาษเพราะไม่ขอพัสดุนั้น."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๗. ภควโต ราชปัญหา ๕๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ควรเพื่อยาจกจะพึงขอ' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'ดูก่อน เสละ เราเป็นพระราชา' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ควรเพื่ออันยาจกจะพึงขอ' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อน เสละ เราเป็นพระราชา' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่า พระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ดูก่อน เสละ เราเป็นพระราชา' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ควรเพื่ออันยาจกจะพึงขอ' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ก็พระตถาคตพึงเป็นกษัตริย์บ้าง พึงเป็นพราหมณ์บ้าง, ในชาติเดียวเป็นได้สองวรรณะ ย่อมไม่มี. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ควรเพื่ออันยาจกจะพึงขอ' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'ดูก่อน เสละ เราเป็นพระราชา' ดังนี้. พระตถาคตเป็นพราหมณ์ด้วย เป็นพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะเหตุไร เหตุในข้อนั้นมีอยู่."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตเป็นพราหมณ์ด้วย เป็นพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะเหตุไร? เหตุนั้นเป็นอย่างไรเล่า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาป เป็นอกุศลทั้งปวง อันพระตถาคตลอยเสียแล้ว ละเสียแล้ว ไปปราศแล้ว ถึงความฉิบหายแล้ว อันพระตถาคตเลิกถอนแล้ว สิ้นไปแล้ว ถึงความสิ้นไปแล้ว ดับไปแล้ว เข้าไประงับแล้ว, เพราะฉะนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่า เป็นพราหมณ์. ธรรมดาว่าพราหมณ์ ล่วงแล้วซึ่งทางแห่งความสงสัย เป็นความสงสัยมีส่วนมิใช่อันเดียว, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าล่วงแล้วซึ่งความสงสัย ทางแห่งความสงสัยมีส่วนมิใช่อันเดียว, เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นพราหมณ์. ธรรมดาว่าพราหมณ์ ออกแล้วจากภพและคติและกำเนิดทั้งปวง พ้นวิเศษแล้วจากมลทินและละออง เป็นผู้ไม่มีสหาย, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ออกไปแล้วจากภพและคติและกำเนิดทั้งปวงพ้นวิเศษแล้วจากมลทินและละออง คือ กิเลส เป็นผู้ไม่มีสหาย, เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นพราหมณ์. ธรรมดาว่าพราหมณ์เป็นผู้เลิศประเสริฐสุด น่าเลือกสรร บวร มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ดังทิพย์มาก, แม้พระมีพระภาคเจ้าเป็นผู้เลิศประเสริฐสุด น่าเลือกสรร บวร มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ดังทิพย์มาก, แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นพราหมณ์. ธรรมดาว่าพราหมณ์เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความเรียน และให้ผู้อื่นเรียน และการให้ และการรับ และความทรมาน และความสำรวม และความนิยม และความสั่งสอนมีแต่ปางก่อน และประเวณีในวงศ์, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งความเรียน และให้ผู้อื่นเรียน และการให้ และการรับ และความทรมาน และความสำรวม และความนิยม และความสั่งสอน และประเวณีในวงศ์ เป็นอาจิณของพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน, แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นพราหมณ์ ธรรมดาว่าพราหมณ์เป็นผู้เพ่งด้วยสุขวิหารอันประเสริฐและฌาน, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เพ่งด้วยสุขวิหารอันประเสริฐและฌาน, แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นพราหมณ์. ธรรมดาว่าพราหมณ์ย่อมรู้ความเป็นไปแห่งอภิชาติและความเที่ยวไปเนือง ๆ ในภพน้อยและภพใหญ่ และคติทั้งปวง, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมรู้ความเป็นไปแห่งอภิชาติ และความท่องไปเนือง ๆ ในภพน้อยและภพใหญ่ และคติทั้งปวง. แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นพราหมณ์.
ขอถวายพระพร ชื่อว่าพราหมณ์ ดังนี้ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่น ไม่ใช่พระนามอันมารดากระทำ ไม่ใช่พระนามอันบิดากระทำ ไม่ใช่พระนามอันพี่น้องชายกระทำ มิใช่พระนามอันพี่น้องหญิงกระทำ มิใช่พระนามอันมิตรและอมาตย์ทั้งหลายกระทำ มิใช่พระนามอันญาติสาโลหิตกระทำ มิใช่พระนามอันสมณะและ
พราหมณ์ทั้งหลายกระทำ ไม่ใช่พระนามอันเทวดาทั้งหลายกระทำแล้ว. พระนามนั้นมีในที่สุดแห่งวิโมกข์ เป็นพระนามของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว, พระนามว่า พราหมณ์ ดังนี้ นั้นเป็นสัจฉิกาบัญญัติเพราะเหตุมาตรว่าได้เฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว พร้อมด้วยอันขจัดมารและเสนาแห่งมาร ลอยแล้วซึ่งธรรมทั้งหลายเป็นบาปเป็นอกุศล เป็นอดีตอนาคตปัจจุบัน ได้เฉพาะสัพพัญญุตญาณที่โคนแห่งไม้โพธิทีเดียว. เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นพราหมณ์."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคต อันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นพระราชา เพราะเหตุไรเล่า?"
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งให้ทำความเป็นพระราชาสั่งสอนโลก บุคคลผู้นั้นชื่อพระราชา, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทำความเป็นพระราชาโดยธรรมในหมื่นแห่งโลกธาตุ สั่งสอนโลกกับทั้งเทวดากับทั้งมารกับทั้งพรหม หมู่สัตว์กับทั้งสมณะและพราหมณ์, เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าพระราชา. ธรรมเนียมพระราชา ย่อมครอบงำหมู่ชนและมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง ยังหมู่แห่งญาติให้เพลิดเพลิน ยังหมู่แห่งบุคคลมิใช่มิตรให้โศกเศร้ายกขึ้นซึ่งเศวตฉัตรอันขาวปราศจากมลทิน มีคันเป็นสาระมั่น ประดับแล้วด้วยร้อยแห่งซี่ไม่พร่อง นำไปซึ่งยศและสิริใหญ่ ๆ, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้ายังมารและเสนาแห่งมาร ผู้ปฏิบัติผิดแล้วให้โศกเศร้า ยังเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ปฏิบัติชอบแล้วให้เพลิดเพลิน ยกเศวตฉัตรอันขาวและปราศจากมลทิน คือ วิมุตติเลิศประเสริฐ มีคันเป็นสาระมั่น คือ ขันตี ประดับแล้วด้วยซี่ร้อยหนึ่ง คือ ญาณอันประเสริฐ นำยศและสิริใหญ่ๆ ในหมื่นแห่งโลกธาตุ, แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าพระราชา. ธรรมเนียมพระราชาต้องเป็นที่ควรถวายบังคมของชนผู้เข้าไปใกล้แล้ว และถึงพร้อมแล้วทั้งหลายมาก, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรไหว้ยิ่งของเทพดาและมนุษย์ผู้เข้าไปใกล้แล้ว และถึงพร้อมแล้วทั้งหลายมาก, แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าว่าพระราชา. ธรรมเนียมพระราชาเลื่อมใสแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งทำให้พอพระหฤทัย จึงพระราชทานพร อันบุคคลนั้นปรารถนาแล้ว ให้เอิบอิ่มตามประสงค์, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเลื่อมใสแล้วแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งให้ทรงยินดีด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ประทานความพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นพระไม่มีพรอื่นจะยิ่งกว่าอันบุคคลนั้นปรารถนาแล้ว ให้เอิบอิ่มตามความใคร่อันประเสริฐไม่เหลือ, แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าพระราชา. ธรรมเนียมพระราชาย่อมติเตียนบุคคลล่วงพระอาณาให้เสื่อม ย่อมกำจัดผู้ล่วงซึ่งอาญานั้น, ผู้ล่วงอาณาในศาสนาอันประเสริฐ แม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้อันบัณฑิตดูหมิ่นดูแคลนแล้ว ติเตียนแล้วโดยความเป็นอลัชชี และเป็นผู้เก้อ เว้นไปจากศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว, แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าพระราชา. อนึ่ง ธรรมเนียมพระราชา แสดงธรรมและอธรรมด้วยความสั่งสอน ประเวณีของพระมหากษัตริย์ทั้งหลาย ผู้สถิตในธรรมแต่ปางก่อนแล้ว จึงให้กระทำความเป็นพระราชาโดยธรรม อันชนและมนุษย์ทั้งหลายทะเยอทะยานรักใคร่ ปรารถนาแล้วย่อมสถาปนาวงศ์แห่งตระกูลของพระราชาไว้ยืนนาน ด้วยกำลังแห่งคุณแห่งธรรม, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมและอธรรมด้วยพร่ำสั่งสอน ประเวณีของสยัมภูพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนเมื่อสั่งสอนโลกโดยธรรม อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายทะเยอทะยานรักใคร่ปรารถนาแล้ว ยังศาสนาให้เป็นไปสิ้นกาลนาน ด้วยกำลังแห่งคุณแห่งธรรม แม้เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอัน
บัณฑิตย่อมกล่าวว่าพระราชา. พระตถาคตพึงเป็นพราหมณ์บ้าง พึงเป็นพระราชาบ้าง ด้วยเหตุใด เหตุนั้น มีประการมิใช่อย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุผู้ฉลาดด้วยดี แม้จะพรรณนาไปตลอดกัลป์หนึ่ง พึงยังเหตุนั้นให้ถึงพร้อม คือให้จบไม่ได้, ประโยชน์อะไรด้วยกล่าวเหตุมากเกินบรมบพิตรพึงรับเหตุที่อาตมภาพย่อพอสมควร."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๘. ทวินนัง พุทธานัง โลเก นุปปัชชนปัญหา ๕๗

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสองพระองค์ พึงเกิดขึ้นไม่ก่อนไม่หลัง พร้อมกันในโลกธาตุอันเดียว ด้วยเหตุใด เหตุนั้นไม่ใช่เป็นที่ตั้งไม่ใช่โอกาส เหตุนั้นอันบุคคลย่อมไม่ได้."
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตทั้งหลายแม้ทั้งปวง แม้เมื่อทรงแสดง ย่อมทรงแสดงธรรมทั้งหลาย มีในฝักฝ่ายแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้สามสิบเจ็ด ก็เมื่อตรัส ย่อมตรัสอริยสัจทั้งหลายสี่ ก็เมื่อให้ศึกษาย่อมให้ศึกษาในสิกขาทั้งหลายสาม ก็เมื่อพร่ำสอน ย่อมพร่ำสอนเพื่อความปฏิบัติในความไม่ประมาท.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าเทศนาของพระตถาคตทั้งหลายแม้ทั้งปวงอย่างเดียวกัน กถาก็อย่างเดียวกัน สิกขาก็อย่างเดียวกัน ความพร่ำสอนก็อย่างเดียวกัน พระตถาคตทั้งหลายสองพระองค์ ย่อมไม่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน, เพราะเหตุไร พระตถาคตสององค์จึงไม่เกิดในคราวเดียวกันเล่า? โลกนี้มีแสงสว่างเกิดแล้ว ด้วยความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าแม้องค์เดียวก่อน, ถ้าว่าพระพุทธเจ้าที่สองพึงมี โลกนี้พึงมีแสงสว่างเกิดแล้วเกินประมาณ ด้วยแสงสว่างแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสอง, และพระตถาคตทั้งหลายสอง เมื่อจะกล่าวสอน พึงกล่าวสอนง่าย. เมื่อจะพร่ำสอน พึงพร่ำสอนง่าย. พระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวเหตุในข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า ๆ พึงสิ้นความสงสัยอย่างไรเล่า?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร หมื่นโลกธาตุนี้ ทรงพระพุทธเจ้าไว้ได้แต่พระองค์เดียว ย่อมทรงคุณของพระตถาคตไว้ได้แต่พระองค์เดียว; ถ้าว่าพระพุทธเจ้าที่สอง พึงเกิดขึ้น หมื่นโลกธาตุนี้ พึงทรงไว้มิได้ พึงเขยื้อน พึงหวั่นไหว พึงเอนไป พึงทรุดลง พึงกวัดแกว่ง พึ่งเรี่ยราย พึงกระจัดกระจาย พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้.
เปรียบเหมือนเรือที่ข้ามได้แต่คนเดียว ครั้นเมื่อบุรุษคนเดียวขึ้นแล้วพอดี, ถ้าว่าบุรุษที่สองพึงมาไซร้ เป็นผู้เช่นนั้นโดยอายุ และวรรณ และวัยและประมาณ โดยอวัยวะใหญ่น้อยผอมและอ้วน, บุรุษนั้นพึงขึ้นสูเรือนั้น, เรือนั้นจะพึงทรงกายของบุรุษทั้งสองไว้ได้หรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า เรือนั้นพึงเขยื้อน พึงหวั่นไหว พึงเอียง พึงเพียบลง พึงกวัดแกว่ง พึงเรี่ยราย พึงกระจัดกระจาย เข้าถึงความคงอยู่ไม่ได้ พึงจมลงในน้ำ."
ถ. "ขอถวายพระพร เรือนั้นพึงทรงบุรุษสองคนไว้ไม่ได้ จมลงในน้ำ ฉันใด, หมื่นโลกธาตุนี้ ทรงไว้ได้แต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ทรงคุณของพระตถาคตไว้ได้แต่พระองค์เดียว ถ้าพระพุทธเจ้าที่สอง พึงเกิดขึ้น หมื่นโลกธาตุนี้ พึงทรงไว้ไม่ได้ พึงเขยื้อนและหวั่นไหวและเอนและทรุดลงและกวัดแกว่ง และเรี่ยราย และกระจัดกระจายไป พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ฉันนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ พึงบริโภคโภชนะตามต้องการเพียงไร บุรุษนั้นยังโภชนะที่ชอบใจให้เต็มยิ่งเพียงคอ อิ่มแล้วชุ่มแล้วบริบูรณ์แล้วไม่มีระหว่าง เป็นผู้แข็งดังไม้เท้าก้มไม่ลง พึงบริโภคโภชนะเท่านั้นอีกนั่นเทียว, บุรุษนั้นพึงมีสุขบ้างหรือหนอ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า บุรุษนั้นพึงบริโภคคราวเดียวเทียวตาย"
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนี้ ฉันใด, หมื่นโลกธาตุนี้ ทรงพระพุทธเจ้าไว้ได้แต่พระองค์เดียว ทรงคุณของพระตถาคตไว้ได้แต่พระองค์เดียว, ถ้าพระพุทธเจ้าที่สอง พึงเกิดขึ้น หมื่นโลกธาตุนี้ พึงทรงไว้ไม่ได้ พึงเขยื้อนหวั่นไหว เอนทรุดลง และกวัดแกว่งเรี่ยรายกระจัดกระจาย เข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเทียว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แผ่นดินย่อมเขยื้อนด้วยหนักธรรมเกินหรือหนอแล?"
ถ. "ขอถวายพระพร เกวียนทั้งหลายสอง เต็มแล้วด้วยรัตนะเสมอขอบ, บุคคลทั้งหลายขนรัตนะแต่เกวียนเล่มหนึ่ง บรรทุกในเกวียนเล่มหนึ่ง, เกวียนนั้นพึงทรงรัตนะแห่งเกวียนทั้งหลาย แม้สองได้หรือไม่?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า แม้ดุมของเกวียนนั้นพึงแยก แม้กำทั้งหลายของเกวียนนั่นพึงทำลาย แม้กงของเวียนนั้นพึงตกลง แม้เพลาของเกวียนนั้นพึงทำลาย."
ถ. "ขอถวายพระพร เกวียนย่อมทำลายด้วยหนักรัตนะเกินหรือหนอแล?"
ร. "อย่างนั้นซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร เกวียนย่อมทำลายด้วยหนักรัตนะเกินฉันใด, แผ่นดินย่อมเขยื้อนด้วยหนักธรรมเกิน ฉันนั้นนั่นเทียว. เออก็เหตุนี้อันอาตมภาพสวดแล้ว เพื่อจะแสดงกำลังของพระพุทธเจ้า. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสองพระองค์ ย่อมไม่เกิดขึ้นในขณะอันเดียวกัน ด้วยเหตุใด บรมบพิตรจงฟังเหตุนั้นอย่างอื่นซึ่งมีรูปยิ่งยิ่งในข้อนั้น.
ขอถวายพระพร ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสององค์ พึงเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน, ความวิวาทพึงเกิดขึ้นแก่บริษัทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นว่า 'พระพุทธเจ้าของท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย' ดังนี้ บริษัททั้งหลายพึงเกิดเป็นสองฝ่าย. เปรียบเหมือนความวิวาท พึงเกิดขึ้นแก่บริษัทของมหาอมาตย์สองคนผู้มีกำลังว่า 'อมาตย์ของท่านทั้งหลาย อมาตย์ของเราทั้งหลาย' ดังนี้ บริษัทย่อมเกิดเป็นสองฝ่าย ฉันใด; ถ้าว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ พึงเกิดขึ้นในขณะอันเดียวกัน ความวิวาทพึงเกิดขึ้นแก่บริษัทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นว่า 'พระพุทธเจ้าของท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย' ดังนี้ บริษัททั้งหลายพึงเป็นสองฝ่ายเกิดขึ้น. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสองพระองค์ ย่อมไม่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันด้วยเหตุใด ความเกิดวิวาทนี้เป็นเหตุนั้น อันหนึ่งก่อน. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสองพระองค์ ย่อมไม่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันด้วยเหตุใด บรมบพิตรจงทรงฟังเหตุนั้น แม้อื่นอีกยิ่งขึ้นไป: ถ้าว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสองพระองค์พึงเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน, คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าผู้เลิศ' ดังนี้ นั้นพึงเป็นคำผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุด' นั้นพึงเป็นคำผิด คำที่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุด' นั้นพึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าผู้วิเศษ' นั้นพึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าเป็นสูงสุด' นั้น' พึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าผู้บวรนั้น' พึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอ' ดังนี้ นั้นพึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าเป็นผู้เสมอด้วยพระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอ' ดังนี้ นั้นพึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าไม่มีใครเปรียบ' นั้นพึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าไม่มีส่วนเปรียบ' นั้นพึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า 'พระพุทธเจ้าไม่มีส่วนเปรียบ' นั้นพึงเป็นคำผิด. คำที่ว่า พระพุทธเจ้าไม่มีบุคคลเปรียบ' นั้นพึงเป็นคำผิด. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสองพระองค์ ไม่เกิดขึ้นในขณะอันเดียวกันด้วยเหตุใด บรมบพิตรจงรับเหตุนี้และว่าเป็นเหตุนั้นโดยเนื้อความก่อน. ก็แหละพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในโลกอันใด ความที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกแล้วองค์เดียวนั้น เป็นปกติโดยสภาวะของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ผู้ตรัสรู้แล้ว, เพราะเหตุไร? ความที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกแล้วองค์เดียวนั้น เป็นปกติของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะความที่คุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้าผู้สัพพัญญูเป็นของใหญ่.
ขอถวายพระพร สิ่งใดแม้อื่นเป็นของใหญ่ในโลก สิ่งนั้นเป็นของอสันเดียวเท่านั้น: แผ่นดินเป็นของใหญ่ แผ่นดินนั่นแผ่นเดียวเท่านั้น;สาครเป็นของใหญ่ สาครนั้นย่อมเป็นสาครเดียวเท่านั้น; พญาเขาสิเนารุเป็นของใหญ่ พญาเขาสิเนรุนั้นลูกเดียวเท่านั้น; อากาศเป็นของใหญ่ อากาศนั้นอากาศเดียวเท่านั้น; ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ ท้าวสักกะนั้นผู้เดียวเท่านั้น; มารผู้เป็นใหญ่ มารนั้นผู้เดียวเท่านั้น;มหาพรหมผู้เป็นใหญ่ มหาพรหมนั้นผู้เดียวเท่านั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ใหญ่ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นองค์เดียวเท่านั้นในโลก แผ่นดินเป็นต้นย่อมเกิดขึ้นในโลกใด โอกาสของแผ่นดินเป็นต้นอื่น ในโลกนั้นย่อมไม่มี. เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวนั่นเทียว ย่อมเกิดขึ้นในโลก."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าแก้ดีแล้ว ด้วยเหตุทั้งหลายเครื่องอุปมา, แม้บุคลไม่ฉลาดได้ฟังข้อแก้ปัญหานั้น พึงชอบใจ, จะป่วยกล่าวอะไรเล่า บุคคลผู้มีปัญญาใหญ่หลวง เช่นข้าพเจ้าจักไม่ชอบใจ; ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๙. คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติปัญหา ๕๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้อันพระผู้มีพระภาค แม้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตย่อมสรรเสริญสัมมาปฏิบัติ ของคฤหัสถ์บ้าง ของบรรพชิตบ้าง, ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้วเป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์ มีสัมมาปฏิบัติเป็นเหตุ' ดังนี้.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าคฤหัสถ์นุ่งขาวบริโภคกามครอบครองที่เป็นที่นอน มีความคับแคบด้วยลูกและเมีย เสวยอยู่ซึ่งจันทน์ในเมืองกาสี ทรงระเบียบและของหอมและเครื่องลูบไล้อยู่ ยินดีเงินและทองอยู่ ผูกเกล้าอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและทองคำ ปฏิบัติชอบแล้ว ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์, แม้บรรพชิตเป็นผู้โล้น นุ่งผ้าอันบุคคลย้อมแล้วด้วยน้ำฝาด เข้าอาศัยบิณฑาหารแห่งบุคคลอื่น ผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลขันธ์ทั้งหลายสี่โดยชอบ สมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลายร้อยห้าสิบ ประพฤติอยู่ในธุดงคคุณทั้งหลายสิบสามไม่เหลือปฏิบัติชอบแล้ว เป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์.
พระผู้เป็นเจ้า ในข้อนั้นใครจะวิเศษกว่ากัน คฤหัสถ์หรือบรรพชิตกรรม คือ ความเพียร ย่อมเป็นของไม่มีผล บรรพชาไม่มีผล ความรักษาสิกขาบทเป็นหมัน ความสมาทานคุณธรรมกำจัดกิเลสเป็นของเปล่า;ประโยชน์อะไรด้วยความประพฤติตามเป็นทุกข์ในบรรพชานั้นสุขอันบุคคลพึงได้โดยง่ายทีเดียวไม่ใช่หรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตย่อมสรรเสริญสัมมาปฏิบัติ ของคฤหัสถ์บ้าง ของบรรพชิตบ้าง, คฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว เป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์ มีสัมมาปฏิบัติเป็นเหตุ.' ข้อนั้นสมอย่างนั้น บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วทีเดียว เป็นผู้ประเสริฐสุด. แม้บรรพชิตมาคิดเสียว่า 'เราเป็นบรรพชิต' ดังนี้แล้ว ไม่พึงปฏิบัติโดยชอบ, บรรพชิตนั้นเป็นผู้ห่างเหินจากความเป็นสมณะเทียว เป็นผู้ห่างเหินจากความเป็นพราหมณ์เทียว;จะป่วยกล่าวอะไรถึงคฤหัสถ์ที่นุ่งผ้าขาว. แม้คฤหัสถ์เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว เป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์ได้ แม้บรรพชิตเป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมเป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์ได้. เออก็ บรรพชิตเทียว เป็นอิสระ เป็นอธิบดีของสามัญ, บรรพชามีคุณมาก มีคุณเป็นอเนก มีคุณไม่มีประมาณ คุณของบรรพชาอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณได้.
เปรียบเหมือนราคาของแก้วมณี ซึ่งให้ความสมประสงค์อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณด้วยทรัพย์ได้ว่า 'มูลค่าของแก้วมณีมีประมาณเท่านี้ ๆ' ดังนี้ ฉันใด; บรรพชามีคุณมาก มีคุณเป็นอเนก มีคุณไม่มีประมาณ คุณของบรรพชาอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณได้ ฉันนั้น.
อีกประการหนึ่ง เปรียบด้วยคลื่นในมหาสมุทร อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณว่า 'คลื่นทั้งหลายในมหาสมุทรเท่านี้' ดังนี้ ฉันใด; บรรพชามีคุณมาก มีคุณเป็นอเนก มีคุณไม่มีประมาณ คุณทั้งหลายของบรรพชาอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณได้ ฉันนั้น. กิจอันใดอันหนึ่งของบรรพชิต ที่บรรพชิตจำต้องกระทำ กิจทั้งปวงนั้นย่อมสำเร็จฉับพลันไม่ช้า; ข้อนั้นมีอะไรเป็นเหตุ? บรรพชิตมีความปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้วิเวกแล้ว เป็นผู้ไม่คลุกคลีแล้ว เป็นผู้ปรารภความเพียรแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาลัย เป็นผู้ไม่มีเรือนเป็นที่กำหนด มีศีลบริบูรณ์แล้ว มีอาจาระเป็นไปเพื่อสัลเลข เป็นผู้ฉลาดในความปฏิบัติกำจัดกิเลส; เพราะเหตุนั้น กิจอันใดอันหนึ่งของบรรพชิต ที่บรรพชิตจะต้องกระทำ กิจทั้งปวงนั้น ย่อมสำเร็จฉับพลันไม่ช้า. เปรียบเหมือนลูกศรที่ไม่มีปมเรียบขัดดีแล้ว ตรง ปราศมลทิน อันบุคคลยิงถนัดดีแล้ว ย่อมแล่นสะดวก ฉะนั้น."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 214 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO