พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
เสาร์ 07 เม.ย. 2018 5:24 am
๔. สุริยตัปปภาวปัญหา ๗๑
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระอาทิตย์ย่อมร้อนกล้าในเหมันตฤดู ในคิมหฤดูไม่ร้อนกล้าเหมือนอย่างนั้น เพื่อประโยชน์อะไร?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร ธุลีและหมอกไม่เข้ากระทบแล้วในคิมหฤดู, ละอองทั้งหลายกำเริบแล้วเพราะลม, ฟุ้งไปในอากาศหมอกทั้งหลายเป็นของหนาในอากาศ และลมใหญ่พัดเหลือประมาณ; อากูลต่าง ๆ ทั้งปวงเหล่านั้นประมวลมาแล้วเสมอ ย่อมปิดรัศมีพระอาทิตย์เสีย; เพราะเหตุนั้น ในคิมหฤดูพระอาทิตย์ย่อมร้อนน้อย.
ขอถวายพระพร แผ่นดินในเบื้องใต้เป็นของเย็น ในเหมันตฤดู, มหาเมฆในเบื้องบนเป็นของปรากฏแล้ว ธุลีและหมอกเป็นของสงบแล้ว, และละอองละเอียด ๆ ย่อมเที่ยวไปในอากาศ อากาศปราศจากมลทินแล้วด้วย ลมในอากาศย่อมพัดไปอ่อน ๆ ด้วย; รัศมีของพระอาทิตย์ทั้งหลายเป็นของสะอาด เพราะความเว้นโทษเหล่านั้น, ความร้อนของพระอาทิตย์พ้นพิเศษแล้วจากเครื่องกระทบ ย่อมร้อนเกินเปรียบ, พระอาทิตย์ย่อมร้อนกล้าในเหมันตฤดู ในคิมหฤดูย่อมไม่ร้อนอย่างนั้น เพราะเหตุอันใด ข้อนี้เป็นเหตุอันนั้นในความร้อนกล้าและร้อนอ่อนนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระอาทิตย์พ้นแล้วจากความจัญไรทั้งปวงย่อมร้อนกล้า, พระอาทิตย์ประกอบด้วยเครื่องเศร้าหมองมีเมฆเป็นต้นย่อมไม่ร้อนกล้า."
๕. เวสสันตรปัญหา ๗๒
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระโพธิสัตว์ทั้งหมดย่อมให้บุตรและภริยา หรือว่าพระโอรสและพระเทวี อันพระราชาเวสสันดรเท่านั้นทรงบริจาคแล้ว?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ทั้งปวง ย่อมให้บุตรและภริยา ไม่แต่พระราชาเวสสันดรองค์เดียวเท่านั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า เออก็ พระโพธิสัตว์เหล่านั้น ย่อมให้โดยความอำนวยตามแห่งบุตรและภริยานั้นหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ภริยาอำนวยตาม ก็แต่ทารกทั้งหลายคร่ำครวญแล้ว เพราะความเป็นผู้ยังเล็ก; ถ้าทารกเหล่านั้น พึงรู้โดยความเป็นประโยชน์ก็จะอนุโมทนา จะไม่รำพันเพ้อ."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน กิจที่ยากอันพระโพธิสัตว์กระทำแล้วคือ พระโพธิสัตว์นั้น ได้ให้บุตรทั้งหลาย อันเกิดแต่อกเป็นที่รักของตนแก่พราหมณ์ เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นทาส. กิจที่กระทำยากกว่านั้นที่สองแม้นี้ อันพระโพธิสัตว์กระทำแล้ว คือ พระโพธิสัตว์เห็นบุตรทั้งหลาย อันเกิดแต่อกเป็นที่รักของตนยังเล็กอยู่ อันพราหมณ์นั้นผูกด้วยเถาวัลย์แล้วหวดด้วยเถาวัลย์ก็เพิกเฉยได้ กิจที่กระทำยากกว่านั้นที่สามแม้นี้ อันพระโพธิสัตว์กระทำแล้ว คือ พระโพธิสัตว์นั้น ผูกทารกทั้งหลายซึ่งหลุดจากเครื่องผูกด้วยกำลังของตน ถึงความครั่นคร้ามแล้วด้วยเถาวัลย์ได้ให้แล้วอีกทีเดียว. กิจที่กระทำยากกว่านั้นที่สี่แม้นี้ อันพระโพธิสัตว์กระทำแล้ว คือ ครั้นเมื่อทารกทั้งหลายรำพันเพ้อว่า 'พระบิดา พราหมณ์นี้เป็นยักษ์ นำหม่อมฉันไปเพื่อจะเคี้ยวกิน' พระโพธิสัตว์นั้น ก็ไม่ได้ตรัสปลอบว่า 'พ่ออย่ากลัวเลย.' กิจที่กระทำยากกว่านั้นที่ห้าแม้นี้ อันพระโพธิสัตว์กระทำแล้ว คือ ชาลีกุมารกันแสงฟุบอยู่ที่พระบาท ทูลวิงวอนว่า 'อย่าเลย พระบิดา ขอพระองค์ให้นางกัณหาชินา อยู่เถิด หม่อมฉันผู้เดียวจะไปด้วยยักษ์, ยักษ์จงเคี้ยวกินหม่อมฉัน' แม้อย่างนั้น พระโพธิสัตว์ก็ไม่ทรงยอมรับ. กิจที่กระทำยากกว่านั้นที่หกแม้นี้ อันพระโพธิสัตว์กระทำแล้ว คือ เมื่อชาลีกุมารบ่นรำพันว่า 'พระบิดา พระหฤทัยของพระองค์แข็งเสมอหินแท้ ๆ , เพราะว่าพระองค์ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันทั้งสองถึงแล้วซึ่งทุกข์ ยักษ์นำหม่อมฉันทั้งสองไปในป่าใหญ่อันไม่มีมนุษย์ ก็ไม่ตรัสห้าม' พระโพธิสัตว์นั้น ก็ไม่ได้กระทำความการุญ. กิจที่กระทำยากกว่านั้นที่เจ็ดแม้นี้ อันพระโพธิสัตว์กระทำแล้ว คือ ครั้นเมื่อทารกทั้งหลายอันพราหมณ์นำไปลับแล้ว หทัยแห่งพระโพธิสัตว์ผู้กรอบเกรียมพรั่นพรึงนั้น ไม่แตกโดยร้อยภาค หรือพันภาค; ประโยชน์อะไรด้วยมนุษย์ผู้อยากได้บุญ ยังบุคคลอื่นให้ถึงทุกข์, มนุษย์ผู้อยากได้บุญ ควรจะให้ตนเองเป็นทานมิใช่หรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร เพราะความที่กิจซึ่งกระทำยากเป็นของอันพระโพธิสัตว์กระทำแล้ว กิตติศัพท์ของพระโพธิสัตว์ฟุ้งไปแล้วในโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ตลอดหมื่นโลกธาตุ, เทวดาย่อมสรรเสริญตลอดเทวพิภพ อสูรทั้งหลายย่อมสรรเสริญตลอดอสูรพิภพ ครุฑทั้งหลายย่อมสรรเสริญตลอดครุฑพิภพ นาคทั้งหลายย่อมสรรเสริญตลอดนาคพิภพ ยักษ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญตลอดยักษพิภพ; สืบ ๆ มาโดยลำดับ กิตติศัพท์ของพระโพธิสัตว์นั้น มาถึงสมัยลัทธิของเราทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้, เราทั้งหลายนั่งสรรเสริญค่อนได้ถึงทานนั้นว่า 'การบริจาคบุตรและภริยาเป็นอันพระโพธิสัตว์ให้ดีแล้วหรือให้ชั่วแล้ว.'
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์นั้นแล ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญาละเอียดรู้วิเศษรู้แจ้ง ย่อมให้เนือง ๆ ซึ่งคุณสิบประการ, คุณสิบประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้ไม่โลภหนึ่ง ความเป็นผู้ไม่มีอาลัยหนึ่ง ความบริจาคหนึ่ง ความละหนึ่ง ความเป็นผู้ไม่เวียนมาหนึ่ง ความเป็นผู้สุขุมหนึ่ง ความเป็นผู้ใหญ่หนึ่ง ความเป็นผู้อันบุคคลรู้ตามโดยยากหนึ่ง ความเป็นผู้อันบุคคลได้โดยยากหนึ่ง ความเป็นผู้มีธรรมรู้แล้วหาผู้อื่นเช่นเดียวกันไม่ได้หนึ่ง; กิตติศัพท์นี้ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญาละเอียดรู้วิเศษรู้แจ้ง ย่อมให้เนือง ๆ ซึ่งคุณสิบประการเหล่านี้แล."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ บุคคลใดยังผู้อื่นให้ลำบากแล้วให้ทาน, ทานนั้นของบุคคลนั้น มีสุขเป็นวิบาก ให้เป็นไปพร้อมเพื่อเกิดในสวรรค์บ้างหรือหนอ?"
ถ. "ขอถวายพระพร เหตุอะไรอันบรมบพิตรจะพึงตรัส"
ร. "เชิญเถิด ขอพระผู้เป็นเจ้าอ้างเหตุ."
ถ. "ขอถวายพระพร สมณะหรือพราหมณ์ไร ๆ ในโลกนี้ เป็นผู้มีศีลมีธรรมอันงาม, หรือถึงพยาธิอันใดอันหนึ่ง; ผู้ใดผู้หนึ่งใคร่ต่อบุญ จึงให้สมณพราหมณ์นั้นขึ้นสู่ยาน แล้วส่งให้ถึงประเทศที่ปรารถนา; สุขหน่อยหนึ่ง มีกรรมนั้นเป็นเหตุ พึงเกิดแก่บุรุษนั้น กรรมนั้นให้เป็นไปพร้อมเพื่อเกิดในสวรรค์ได้บ้างหรือหนอ?"
ร. "ได้ซิ อะไรที่พระผู้เป็นเจ้าจะพึงกล่าวเล่า, บุรุษนั้นพึงได้ยาน คือ ช้าง ยาน คือ ม้า ยาน คือ รถ ยานสำหรับไปในทางบก ยานสำหรับไปในทางน้ำ ยานสำหรับกันฝน หรือยาน คือ มนุษย์, ยานอันสมควรแก่บุรุษนั้น ยานอันเหมาะแก่บุรุษนั้น พึงเกิดทุกภพ ๆ, อนึ่ง ความสุขทั้งหลายอันสมควรแก่บุรุษนั้น พึงเกิดแก่เขา ๆ พึงไปสู่สุคติแต่สุคติ, เพราะผลอันหลั่งไหลมาแต่กรรมนั้นนั่นเทียว บุรุษนั้นพึงขึ้นสู่ยานสำเร็จด้วยฤทธิ์ ให้ถึงนคร คือ นิพพานอันตนปรารถนาแล้ว."
ถ. "ถ้าอย่างนั้น ทานที่บุรุษนั้นให้แล้วด้วยอันยังบุคคลอื่นให้ลำบาก เป็นของมีสุขเป็นวิบาก ให้เป็นไปพร้อมเพื่อเกิดในสวรรค์.
ขอถวายพระพร บุรุษนั้นยังชนทั้งหลายผู้เนื่องด้วยกำลังให้ลำบากแล้ว เสวยสุขเห็นปานนี้ ด้วยทานไรเล่า.
ขอถวายพระพร บรมบพิตรจงทรงฟังเหตุอันยิ่งแม้อื่นอีก: พระราชาองค์ใดองค์หนึ่งในโลกนี้ ทรงบริจาคทานด้วยการให้เก็บซึ่งธรรมิกพลีจากชนบท แล้วยังพระราชอาชญาให้เป็นไป, พระราชานั้น พึงเสวยสุขหน่อยหนึ่งด้วยเหตุนั้น ทานนั้นให้เป็นไปพร้อมเพื่อเกิดในสวรรค์บ้างหรือหนอแล?"
ร. "ได้ซิ ใครจะพึงกล่าวค้าน, พระราชานั้น พึงได้สุขตั้งแสนเป็นอเนกด้วยเหตุนั้น คือ เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชาทั้งหลาย เป็นเทพดายิ่งกว่าเทพดาทั้งหลาย เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหมทั้งหลาย เป็นสมณะยิ่งกว่าสมณะทั้งหลาย เป็นพราหมณ์ยิ่งกว่าพราหมณ์ทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ยิ่งกว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย."
ถ. "ถ้าอย่างนั้น ทานที่พระราชานั้นทรงบริจาคแล้ว ด้วยการให้ผู้อื่นลำบาก เป็นของมีสุขเป็นวิบาก ให้เป็นไปพร้อมเพื่อเกิดในสวรรค์ซิ. ขอถวายพระพร พระราชานั้นเสวยสุขเพราะยศอันยิ่งเห็นปานนี้ด้วยวิบากแห่งทานที่พระองค์บีบคั้นชนบทด้วยพลีแล้ว ทรงบริจาคแล้วไรเล่า."
ร. "ทานยิ่งอันพระเวสสันดรราชฤษีทรงบริจาคแล้ว คือ เธอได้พระราชทานพระเทวีของพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นภริยาแห่งชนอื่น. ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายของพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นทาสแห่งพราหมณ์. ขึ้นชื่อว่า ทานยิ่ง อันนักปราชญ์ ทั้งหลายนินทาแล้ว ติเตียนแล้วในโลก. เปรียบเหมือนเพลาแห่งเกวียนย่อมหักด้วยภาระยิ่ง เรือย่อมจบด้วยภาระยิ่ง โภชนะย่อมน้อมไปสู่ความไม่เสมอด้วยบริโภคยิ่ง ข้าวเปลือกย่อมฉิบหายด้วยฝนยิ่ง บุคคลย่อมถึงความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ด้วยการให้ยิ่ง วัตถุทั้งปวงย่อมไหม้ด้วยความร้อนยิ่ง บุคคลเป็นบ้าด้วยความกำหนัดยิ่ง บุคคลถูกฆ่าด้วยความประทุษร้ายยิ่ง บุคคลย่อมถึงความพินาศด้วยความหลงยิ่ง บุคคลย่อมเข้าถึงความถูกจับว่าเป็นโจรด้วยความโลภยิ่ง บุคคลย่อมผิดด้วยพูดพล่ามนัก แม่น้ำย่อมท่วมด้วยอันเต็มยิ่ง อสนีบาตย่อมตกด้วยลมยิ่ง ข้าวสุกย่อมล้นด้วยไฟยิ่ง บุคคลย่อมไม่เป็นอยู่นาน ด้วยความกล้าหาญเกินนัก; ขึ้นชื่อว่า ทานยิ่ง อันนักปราชญ์ทั้งหลายนินทาแล้ว ติเตียนแล้วในโลก ฉันนั้นนั่นแล. ทานยิ่งอันพระราชาเวสสันดรทรงบริจาคแล้ว ผลหน่อยหนึ่งอันบุคคลไม่พึงปรารถนาในทานยิ่งนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร ทานยิ่งอันนักปราชญ์ทั้งหลายพรรณนาชมเชยสรรเสริญแล้วในโลก, ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ให้ทานเช่นใดเช่นหนึ่ง, ชนผู้ให้ทานยิ่ง ย่อมถึงความสรรเสริญในโลก. รากไม้ในป่าเป็นราวกะทิพย์ที่บุคคลถือเอาแล้ว ด้วยความเป็นของน่าเลือกสรรยิ่ง อันบุคคลนั้นจะไม่ให้แก่ชนทั้งหลายอื่นผู้ยืนอยู่แล้วในหัตถบาสบ้างหรือ? ยาเป็นของกำจัดความเบียดเบียน กระทำที่สุดแห่งโรคทั้งหลาย ด้วยความที่แห่งยาเป็นของเกิดยิ่ง ไฟย่อมไหม้ด้วยความโพลงยิ่ง น้ำย่อมยังไฟให้ดับด้วยความเป็นของเย็นยิ่ง ดอกบัวย่อมไม่ติดเปื้อนด้วยน้ำและเปือกตม ด้วยความที่แห่งดอกบัวเป็นของหมดจดยิ่ง แก้วมณีให้ผลอันบุคคลพึงปรารถนา ด้วยความที่แห่งแก้วมณีมีคุณยิ่ง เพชรย่อมตัดแก้วมณี แก้วมุกดาและแก้วผลึก ด้วยความเป็นของคมยิ่ง แผ่นดินย่อมทรงไว้ ซึ่งคนและนาคเนื้อนกทั้งหลาย ซึ่งน้ำและศิลาภูเขาต้นไม้ทั้งหลาย ด้วยความเป็นของใหญ่ยิ่ง สมุทรมิได้เต็มล้น ด้วยความเป็นของใหญ่ยิ่ง เขาสิเนรุเป็นของไม่หวั่นไหวด้วยความเป็นของหนักยิ่ง อากาศไม่มีที่สุด ด้วยความเป็นของกว้างยิ่ง พระอาทิตย์กำจัดเสียซึ่งหมอก ด้วยความเป็นของสว่างยิ่ง ราชสีห์เป็นสัตว์มีความกลัวไปปราศแล้ว ด้วยความเป็นสัตว์มีชาติยิ่ง คนปล้ำย่อมยกขึ้นซึ่งคนปล้ำคู่ต่อสู้ได้โดยพลัน ด้วยความเป็นผู้มีกำลังยิ่งพระราชาเป็นอธิบดี ด้วยความเป็นผู้มีบุญยิ่ง ภิกษุเป็นผู้อันนาคและยักษ์มนุษย์เทพดาทั้งหลายพึงนมัสการ ด้วยความเป็นผู้มีศีลยิ่ง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่มีใคร ๆ เปรียบ ด้วยความที่พระองค์เป็นผู้เลิศยิ่งฉันใด; ชื่อทานยิ่ง อันนักปราชญ์ทั้งหลายพรรณนา ชมเชยสรรเสริญแล้วในโลก, ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ให้ทานเช่นใดเช่นหนึ่ง, ชนผู้ให้ทานยิ่ง ย่อมถึงความสรรเสริญในโลก ฉันนั้นนั่นเทียวแล. พระราชาเวสสันดรเป็นผู้อันบัณฑิตทั้งหลายพรรณนา ชมเชยสรรเสริญบูชายกย่องแล้ว ด้วยทานยิ่งในหมื่นโลกธาตุ ด้วยทานยิ่งนั้นนั่นแล พระราชาเวสสันดรจึงเป็นผู้ตรัสรู้แล้วเลิศในโลกทั้งเทวโลก ณ กาลนี้. ครั้นเมื่อทักขิเณายยบุคคลมาถึงเข้าแล้ว ทานที่ควรตั้งไว้ไม่ควรให้ มีอยู่ในโลกหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ทานทั้งหลายสิบเหล่านี้ มิใช่ของสมมติว่าทานในโลกมีอยู่, บุคคลใดให้ทานทั้งหลายเหล่านั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มักไปอบาย; ทานทั้งหลายสิบเป็นไฉน? ทาน คือ น้ำเมา บุคคลใดให้ทานนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มักไปอบาย;ทาน คือ มหรสพ ทาน คือ สตรีทาน คือ โคผู้ ทาน คือ จิตรกรรม ทาน คือ ศัสตรา ทาน คือ ยาพิษ ทาน คือ เครื่องจำ ทาน คือ ไก่และสุกร ทาน คือ การโกงด้วยอันชั่งและโกงด้วยอันนับ มิใช่ของสมมติว่าทานในโลก บุคคลใดให้ทานนั้น บุคคลนั้นมักไปอบาย. ทานทั้งหลายสิบเหล่านี้แล มิใช่ของสมมติว่าทานในโลก, บุคคลใดย่อมให้ทานทั้งหลายเหล่านั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มักไปอบาย."
ถ. "ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ได้ทูลถามทานซึ่งมิใช่ของสมมติว่าทานนั้น. อาตภาพทูลถามถึงทานนี้ต่างหากว่า ครั้นเมื่อทักขิเณยยบุคคลมาถึงเข้าแล้ว ทานซึ่งควรตั้งไว้ไม่ควรให้ มีอยุ่ในโลกหรือ?"
ร. "ครั้นเมื่อทักขิเณยยบุคคลมาถึงเข้าแล้ว ทานซึ่งควรตั้งไว้ไม่ควรให้ ไม่มีในโลก; ครั้นเมื่อความเลื่อมใสแห่งจิตเกิดขึ้นแล้ว ชนทั้งหลายบางพวก ย่อมให้โภชนะแก่ทักขิเณยยบุคคล บางพวกให้วัตถุเครื่องปกปิด บางพวกให้ที่นอน บางพวกให้ที่พักอาศัย บางพวกให้เครื่องลาดและผ้าสำหรับห่ม บางพวกให้ทาสและทาสี บางพวกให้นาและที่ดิน บางพวกให้สัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า บางพวกให้ ร้อย พัน แสน กหาปณะ บางพวกให้ราชสมบัติใหญ่ บางพวกแม้ชีวิตก็ย่อมให้."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าว่าบุคคลทั้งหลายบางพวก แม้ชีวิตก็ย่อมให้, เพราะเหตุไร ครั้นพระโอรสและพระเทวี อันพระเวสสันดรก็ทรงบริจาคดีแล้ว บรมบพิตรจึงยังพระเวสสันดรผู้ทานบดีหนักยิ่ง ให้ไปรอบแล้วเล่า?"
ขอถวายพระพร ปกติของโลก ความสั่งสมของโลก มีอยู่บ้างหรือว่า 'บิดาเป็นหนี้เขา หรือทำการอาศัยเลี้ยงชีพ ย่อมได้เพื่อเพาะปลูกหรือซื้อขายซึ่งบุตร?"
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า บิดาเป็นหนี้เขา หรือทำการอาศัยเลี้ยงชีพ ย่อมได้เพื่อจะเพาะปลูกหรือซื้อขายซึ่งบุตร."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าว่าบิดาเป็นหนี้เขา หรือทำการอาศัยเลี้ยงชีพ ย่อมได้เพื่อจะเพาะปลูกหรือซื้อขายซึ่งบุตร, พระเวสสันดรเมื่อยังไม่ได้สัพพัญญุตญาณ เป็นผู้วุ่นวายแล้ว ถึงทุกข์แล้ว จึงได้เพาะปลูกและซื้อขายซึ่งพระโอรสและพระเทวี เพื่ออันได้เฉพาะซึ่งทรัพย์ คือ ธรรมนั้น. เพราะเหตุนั้น ทานที่พระเวสสันดรทรงบริจาคแล้วนั่นแล เป็นอันทรงบริจาคแล้ว, กิจที่พระเวสสันดรทรงทำแล้วนั่นแล เป็นอันทรงทำแล้ว.
ขอถวายพระพร ก็บรมบพิตรไม่ทรงเลื่อมใสต่อพระเวสสันดรผู้ทานบดีด้วยทานนั้นเพื่ออะไร?"
ร. "ข้าพเจ้าไม่ติเตียนทานของพระเวสสันดรผู้ทานบดีดอก, ก็แต่พระเวสสันดรควรจะทรงบริจาคพระองค์แทนพระโอรสและพระเทวีแก่ผู้ขอทั้งหลาย."
ถ. "ข้อซึ่งพระเวสสันดร พึงทรงบริจาคพระองค์ท่านแทนพระโอรสและพระเทวีแก่ผู้ขอทั้งหลาย เป็นกิจอันสัตบุรุษไม่ควรทำเลย; อันที่จริง ข้อซึ่งพระเวสสันดรทรงบริจาคพระโอรสและพระเทวีนั้น แก่ผู้ขอทั้งหลาย เป็นกิจของสัตบุรุษทั้งหลาย.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง พึงให้นำน้ำควรดื่มมา บุคคลใดให้โภชนะแก่บุรุษนั้น บุคคลนั้นน่าจะเป็นผู้กระทำกิจของบุรุษนั้นบ้างหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่เป็นอย่างนั้นเลย บุคคลนั้นให้สิ่งที่เขาให้นำมา จึงจะเป็นผู้มีชื่อว่ากระทำกิจของเขา."
ถ. "ครั้นเมื่อพราหมณ์ทูลขอพระโอรสและพระเทวี พระเวสสันดรจึงพระราชทานพระโอรสและพระเทวี ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร หากว่าพราหมณ์พึงทูลขอพระสรีระแห่งพระเวสสันดร, เธอก็คงไม่ทรงรักษาพระองค์ท่านไว้ และคงไม่ทรงหวาดหวั่น ไม่ทรงยินดี, พระสรีระที่พระราชทานแล้วแก่พราหมณ์นั้นคงเป็นอันทรงบริจาคแล้วแท้.
ขอถวายพระพร หากว่าใคร ๆ เข้าไปเฝ้าพระเวสสันดรผู้ทานบดีทูลขอด้วยคำว่า 'ขอพระองค์ท่าน พึงเข้าถึงซึ่งความเป็นทาสแห่งข้าพระองค์,' พระสรีระที่พระราชทานแล้วแก่ผู้ขอนั้น พึงเป็นของที่ทรงบริจาคแล้วแท้, เธอพระราชทานแล้วไม่ทรงเดือดร้อน. เพราะกายของพระเวสสันดรเป็นของทั่วไปแก่สัตว์เป็นอันมาก เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อสุก เป็นของทั่วไปแก่สัตว์เป็นอันมาก.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนต้นไม้เผล็ดดอกออกผลแล้ว เป็นของทั่วไปแก่นกต่าง ๆ ฉันใด, พระกายของพระเวสสันดรเป็นของทั่วไปแก่สัตว์เป็นอันมาก ฉันนั้นแล. เพราะเหตุไร? เพราะว่าพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า "เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้ จักถึงสัมมาสัมโพธิญาณ."
ขอถวายพระพร บุรุษไม่มีทรัพย์ ต้องการด้วยทรัพย์ เที่ยวแสวงหาทรัพย์ ย่อมไปสู่ทางที่ถึงทรัพย์ ทางที่เป็นหลักฐานแห่งทรัพย์ ทางที่จะได้บำเหน็จเครื่องยินดี, ย่อมกระทำการค้าขายในทางน้ำทางบก ย่อมยินดีทรัพย์ด้วยกายวาจาใจ ย่อมพยายามเพื่อได้เฉพาะซึ่งทรัพย์ฉันใด; พระเวสสันดรผู้ทานบดี ผู้ไม่มีทรัพย์ ทรงบริจาคของควรสงวน ทาสีทาส ยานพาหนะ สมบัติทั้งสิ้น พระโอรส พระเทวี และพระองค์เอง แก่ผู้ขอทั้งหลาย เพื่ออันได้เฉพาะซึ่งรัตนะ คือ สัพพัญญุตญาณโดยความเป็นทรัพย์แห่งพระพุทธเจ้า แล้วทรงแสวงหาสัมมาสัมโพธิญาณอย่างเดียว ฉันนั้นนั่นแล.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง อมาตย์อยากได้ตรา ทรัพย์ควรสงวนเงินทองอันใดอันหนึ่ง เป็นเหตุให้ได้ตรามีอยู่ในเรือน ให้ของนั้นทั้งหมดแล้ว พยายามเพื่ออันได้เฉพาะซึ่งตรา ฉันใด; พระเวสสันดรผู้ทานบดี ทรงบริจาคทรัพย์เป็นภายนอกภายในนั้นทั้งสิ้น และทรงบริจาคแม้พระชนมชีพ ก็ย่อมแสวงหาสัมมาสัมโพธิญาณอย่างเดียวฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง ความปริวิตกอย่างนี้ได้มีแล้วแด่พระเวสสันดรผู้ทานบดีว่า 'พราหมณ์นั่นย่อมขอสิ่งใด เราเมื่อให้สิ่งนั้นนั่นแหละแก่พราหมณ์นั้น จึงเป็นผู้ชื่อว่ากระทำกิจแห่งผู้ขอ,' พระเวสสันดรนั้น จึงได้พระราชทานพระโอรสและพระเทวีแก่พราหมณ์นั้น ด้วยประการอย่างนี้.
ขอถวายพระพร พระเวสสันดรผู้ทานบดี ไม่ได้พระราชทานพระโอรสและพระเทวีแก่พราหมณ์ ด้วยความที่พระโอรสและพระเทวีเป็นที่เกลียดชังเลย ไม่ได้พระราชทานพระโอรสและพระเทวี ด้วยความเป็นผู้ไม่อยากทรงเห็น ไม่ได้พระราชทานพระโอรสและพระเทวี ด้วยทรงพึงว่า 'บุตรและภริยาของเรามากเกิน เราไม่สามารถจะเลี้ยงดูเขา' และจะทรงระอา จึงพระราชทานพระโอรสและพระเทวี ด้วยความเป็นผู้ทรงปรารถนาจะนำออกเสีย ด้วยทรงรำพึงว่า 'บุตรและภริยาไม่เป็นที่รักแห่งเรา' ก็หาไม่; เมื่อเป็นเช่นนี้แล พระเวสสันดรได้ทรงสละบุตรทานอันบวร เป็นของอันบุคคลไม่พึงชั่ง เป็นของไพบูล ไม่มีทานอื่นจะยิ่งกว่า มีราคาสูง เป็นของที่ยังใจให้เจริญเป็นที่รักเสมอด้วยชีวิตเห็นปานนี้แก่พราหมณ์ เพราะเหตุแห่งพระสัพพัญญุตญาณ เพราะความที่แห่งรัตนะ คือ สัพพัญญุตญาณอย่างเดียวเป็นที่รัก.
ขอถวายพระพร แม้คำนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพดาล่วงเทพดาทรงภาสิตแล้ว ในจริยาปิฎกว่า:-
"บุตรทั้งสอง ไม่เป็นที่เกลียดชังแห่งเรา, นางมัทรีเทวี ก็ไม่
พึงเป็นที่เกลียดชังแห่งเรา, สัพพัญญุตญาณ เป็นที่รักของเรา,
เพราะเหตุนั้น เราจึงได้ให้บุตรและภริยาเป็นที่รักของเรา."
ขอถวายพระพร บรรดาพระโอรสและพระเทวีนั้น พระเวสสันดรทรงสละบุตรทานแล้วเสด็จเข้าสู่บรรณศาลาบรรทม, ความโศกมีกำลังเกิดขึ้นแล้วแด่เธอ ผู้ถึงแล้วซึ่งความทุกข์ เพราะความรักยิ่ง, หทัยวัตถุของเธอเป็นของเร่าร้อน, ในเมื่อพระนาสิกของเธอไม่พอ เธอจึงทรงระบายลมอัสสาสะปัสสาสะซึ่งเร่าร้อนด้วยพระโอฐ, พระอัสสุของเธอกลายเป็นธารพระโลหิต ไหลออกแล้วแต่พระเนตรทั้งสอง. พระเวสสันดรได้ทรงสละบุตรทานแก่พราหมณ์โดยยาก ด้วยทรงดำริว่า 'หนทางทานของเรา อย่าฉิบหายเสียเลย.'
อีกประการหนึ่ง พระเวสสันดรได้ทรงสละพระโอรสทั้งสองแก่พราหมณ์ อาศัยอำนาจแห่งประโยชน์ทั้งสอง, ประโยชน์ทั้งสองเป็นไฉน? คือ เธอทรงดำริว่า 'หนทางทานของเรา จักไม่เป็นของเสื่อมรอบประการหนึ่ง, ในเมื่อลูกน้อยทั้งสองของเราถึงแล้วซึ่งความลำบากด้วยรากไม้ผลไม้ในป่า พระอัยกาจักทรงเปลื้องเหตุ แต่ความลำบากนี้เสีย ประการหนึ่ง.' แท้จริง พระเวสสันดรย่อมทรงทราบว่า 'ทารกทั้งสองของเรา อันใคร ๆ ไม่อาจใช้สอยด้วยการใช้สอยอย่างทาส, และพระอัยกาจักทรงไถ่ทารกทั้งสองนี้, เมื่อเป็นเช่นนี้ ความกลับไปพระนคร จักมีแม้แก่เราทั้งหลาย.' พระเวสสันดรได้พระราชทานพระโอรสทั้งสองแก่พราหมณ์ อาศัยอำนาจแห่งประโยชน์ทั้งสองนี้แล.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง พระเวสสันดรทรงทราบอยู่ว่า 'พราหมณ์นี้แล เป็นคนแก่เจริญวัย เป็นผู้ใหญ่ทุรพล เป็นคนหลังโกง มีไม้เท้าจ้องไปข้างหน้า มีอายุสิ้นแล้ว มีบุญน้อย, พราหมณ์นี้ จะไม่สามารถเพื่อจะใช้สอยทารกทั้งสองนี้ ด้วยความใช้สอยอย่างทาส.' ก็บุรุษพึงอาจหรือ? เพื่อจะถือเอาซึ่งพระจันทร์และพระอาทิตย์นี้ ผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ โดยกำลังเป็นปกติ แล้วเก็บไว้ในกระบุงหรือในหีบกระทำไม่ให้มีรัศมี แล้วใช้สอยด้วยการใช้สอยอย่างภาชนะ."
ร. "ไม่อาจเลย."
ถ. "ขอถวายพระพร พระโอรสทั้งสองของพระเวสสันดร ผู้มีส่วนเปรียบด้วยพระจันทร์และพระอาทิตย์ในโลกนี้ อันใคร ๆ ไม่อาจใช้สอยด้วยการใช้สอยอย่างทาส ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
บรมบพิตรจงทรงฟังเหตุอันยิ่งแม้อื่นอีก: อันใคร ๆ ไม่อาจพันแก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งเป็นของงาม มีชาติเป็นแก้วแปดเหลี่ยม อันกระทำบริกรรมดีแล้ว ยาวได้สี่ศอก กว้างเท่าดุมเกวียนด้วยผ้าเก่าแล้ว เก็บไว้ในตะกร้าแล้ว ใช้สอยด้วยความใช้สอยอย่างเครื่องลับศัสตรา ฉันใด; พระโอรสทั้งสองของพระเวสสันดร ผู้มีส่วนเปรียบด้วยแก้วมณีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิในโลก อันใคร ๆ ไม่อาจใช้สอยด้วยการใช้สอยอย่างทาส ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
บรมบพิตรจงทรงฟังเหตุอันยิ่งแม้อื่นอีก: พญาช้างผู้ประเสริฐตระกูลอุโบสถ มีมันแตกทั่วโดยส่วนสาม มีอวัยวะทั้งปวงขาว มีอวัยวะตั้งลงเฉพาะเจ็ด สูงแปดศอก ส่วนยาวใหญ่เก้าศอก นำมาซึ่งความเลื่อมใสน่าดู อันใคร ๆ ไม่อาจปิดด้วยกระด้งหรือขัน เช่นลูกโคอันใคร ๆ ไม่อาจขังรักษาไว้ในศอกฉะนั้น ฉันใด; พระโอรสทั้งสองของพระเวสสันดร ผู้มีส่วนเปรียบด้วยพญาช้าง ตระกูลอุโบสถในโลก อันใคร ๆ ไม่อาจใช้สอยด้วยการใช้สอยอย่างทาส ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
บรมบพิตรจงทรงฟังเหตุอันยิ่งแม้อื่นอีก: พญาเขาหิมพานต์ซึ่งสูงห้าร้อยโยชน์ ยาวและกว้างสามพันโยชน์ในอากาศ ประดับด้วยยอดแปดหมื่นสี่พัน เป็นแดนเกิดก่อนแห่งแม่น้ำใหญ่ห้าร้อย เป็นที่อยู่แห่งหมู่ภูตใหญ่ ทรงไว้ซึ่งของหอมมีอย่างต่าง ๆ ประดับพร้อมด้วยร้อยแห่งโอสถทิพย์ สูงปรากฏราวกะวลาหกในอากาศ ฉันใด; พระโอรสทั้งสองของพระเวสสันดร ผู้มีส่วนเปรียบด้วยพญาเขาหิมพานต์ในโลก อันใคร ๆ ไม่อาจใช้สอยด้วยการใช้สอยอย่างทาส ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
บรมบพิตรจงทรงสดับเหตุอันยิ่งแม้อื่นอีก: กองไฟใหญ่โพลิงอยู่เบื้องบนยอดเขา ย่อมปรากฏในที่ไกล ฉันใด, พระเวสสันดรผู้ราวกะกองไฟใหญ่โพลงอยู่บนยอดเขา ปรากฏในที่ไกล ฉันนั้นนั่นแล, พระโอรสทั้งสองของเธออันใคร ๆ ไม่อาจใช้สอยด้วยการใช้สอยอย่างทาส.
บรมบพิตรจงทรงสดับเหตุอันยิ่งแม้อื่นอีก: ในเมื่อลมพัดตรงพัดไปอยู่ในสมัยดอกนาคบานในหิมวันตบรรพต กลิ่นดอกไม้ย่อมฟุ้งไปสิ้นสิบโยชน์สิบสองโยชน์ ฉันใด, เออก็ กิตติศัพท์ของพระเวสสันดรระบือไปแล้ว และกลิ่นคือศีลอันประเสริฐของเธอฟุ้งไปแล้ว ในพิภพแห่งเทวดา อสูร ครุฑ คนธรรพ์ ยักษ์ รากษส มโหรคะ กินนร และพระอินทร์อันเป็นระหว่างนั้น โดยพันโยชน์ จนถึงอกนิฏฐพิภพ, ด้วยเหตุนั้น พระโอรสทั้งสองของเธอ อันใคร ๆ ไม่อาจใช้สอยด้วยการใช้สอยอย่างทาส ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร พระชาลีกุมารอันพระเวสสันดรผู้พระบิดาทรงพร่ำสอนแล้วว่า "แน่ะพ่อ พระอัยยกาของเจ้าเมื่อจะพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์ไถ่เจ้าทั้งสองไว้ จงพระราชทานทองคำพันตำลึงแล้วไถ่เจ้าไว้, เมื่อไถ่นางกัณหาชินา จงพระราชทานสวิญญาณกทรัพย์อย่างละร้อย คือทาสร้อยหนึ่ง ทาสีร้อยหนึ่ง ช้างร้อยหนึ่ง ม้าร้อยหนึ่ง โคนมร้อยหนึ่ง โคผู้ร้อยหนึ่ง ทองคำร้อยหนึ่ง แล้วไถ่ไว้; หากว่าพระอัยยกาของเจ้า ทรงรับเจ้าทั้งสองไว้เปล่าแต่มือพราหมณ์ด้วยพระราชอาชญาหรือพระกำลัง, เจ้าทั้งสองอย่าทำตามพระกระแสแห่งพระอัยยกาเลย, แต่จงไปกับพราหมณ์" ทรงพร่ำสอนอย่างนี้แล้วส่งไป. แต่นั้นพระชาลีกุมารเสด็จไปแล้วเป็นผู้อันพระอัยยกาตรัสถามแล้วได้กราบทูลว่า "พระบิดาได้พระราชทานกระหม่อมฉัน ผู้มีราคาพันตำลึงทองคำแก่พราหมณ์, อนึ่ง พระราชทานนางกัณหาชินาแก่พราหมณ์ ด้วยร้อยแห่งช้างฉะนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาดีแล้วข่ายคือความเห็น พระผู้เป็นเจ้าทำลายดีแล้ว, ปรัปปวาททั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าย่ำยีดีแล้ว, สมัยลัทธิของตนพระผู้เป็นเจ้าสำแดงดีแล้ว, พยัญชนะพระผู้เป็นเจ้าชำระดีแล้ว, เนื้อความพระผู้เป็นเจ้าจำแนกดีแล้วข้อวิสัชนานั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับองอย่างนั้น."