Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะจากหนังสือมิลินทปัญหา หน้า ๒๗๘-๒๘๙

อาทิตย์ 08 เม.ย. 2018 9:28 am

๖. ทุกกรการิกปัญหา ๗๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระโพธิสัตว์ทั้งสิ้น ย่อมกระทำกิจที่กระทำยาก หรือว่ากิจที่กระทำยากอันพระโพธิสัตว์พระนาคโคดมเท่านั้นทรงกระแล้ว?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร กิจที่กระทำยากย่อมไม่มีแก่พระโพธิสัตว์ทั้งปวง, พระโคดมโพธิสัตว์เท่านั้น ได้ทรงกระทำกิจที่กระยาก."
ร. "ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ ความมีประมาณต่างกันระหว่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย กับพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีละซิ."
ถ. "ขอถวายพระ ความมีประมาณต่างกันด้วยพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย กับพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีโดยเหตุที่ตั้งสี่ประการ, เหตุที่ตั้งสี่ประการเป็นไฉน? คือ ความมีประมาณต่าง คือ ตระกูลหนึ่ง ความมีประมาณต่างคือกาลยืดยาวหนึ่ง ความมีประมาณต่างคืออายุหนึ่ง ความมีประมาณต่าง คือประมาณหนึ่ง. ความมีประมาณต่างกันระหว่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย กับพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีโดยเหตุที่ตั้งสี่ประการเหล่านี้แล.
ขอถวายพระพร ก็แต่ความมีประมาณต่างกัน เพราะรูปศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ความเป็นผู้ไม่ครั่นคร้าม สี่อย่าง กำลังแห่งพระตถาคตสิบประการ ญาณที่ไม่ทั่วไปหกประการพุทธญาณสิบสี่อย่าง พุทธธรรมดาสิบแปดประการ และพุทธธรรมดาทั้งสิ้น ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งปวง, พระพุทธเจ้าแม้ทั้งปวงเป็นผู้เสมอเหมือนกัน โดยพุทธธรรมดาทั้งหลาย."
ร. "ถ้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง เป็นผู้เสมอเหมือนกัน โดยพุทธธรรมดาทั้งหลาย, เพราะเหตุไร กิจที่กระทำยากอันพระโคดมโพธิสัตว์ต้องทรงกระทำแล้ว?"
ถ. "ในเมื่อโพธิญาณยังไม่แก่กล้า พระโคดมโพธิสัตว์จึงออกแล้วเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่, เมื่อพระโคดมโพธิสัตว์จะอบรมญาณซึ่งยังไม่แก่กล้าให้แก่กล้า จึงต้องทรงกระทำกิจที่กระทำยาก."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า เพราะเหตุไร ในเมื่อพระโพธิญาณยังไม่แก่กล้า พระโพธิสัตว์จึงต้องออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่? ควรจะรอให้ญาณแก่กล้าเสียก่อน ครั้นญาณแก่กล้าแล้วจึงออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ไม่ใช่หรือ?"
ถ. "ขอถวายพระ พระโพธิสัตว์เห็นเรือน คือ สตรีเป็นของวิปริต เป็นผู้มีความเดือดร้อน, เมื่อเธอมีความเดือดร้อน ความไม่สบายจิตย่อมเกิดขึ้น เทวบุตรผู้เป็นไปในหมู่มารองค์ใดองค์หนึ่งเห็นจิตไม่สบายของเธอเกิดขึ้น จึงคิดว่า 'กาลนี้เป็นกาลเพื่อจะบรรเทาจิตไม่สบายของเธอ' แล้วจึงสถิตในอากาศได้กล่าวคำอย่างนี้ว่า 'แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ๆ ท่านอย่าเป็นผู้กระสันขึ้นเลย ในวันที่เจ็ดแต่วันนี้ จักรรัตนะเป็นทิพย์มีกำพันหนึ่ง พร้อมด้วยกงพร้อมด้วยดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง จักปรากฏแก่ท่าน, อนึ่ง รัตนะทั้งหลายที่ไปแล้วในปฐพีหรือตั้งอยู่ในอากาศ จักตั้งขึ้นเองแก่ท่าน, ราชอาณาจักรจักเป็นไปโดยมุขเดียว ในทวีปใหญ่ทั้งสี่มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร, และบุตรทั้งหลายของท่านพันกว่า เป็นผู้แกล้วกล้า จักเป็นผู้ย่ำยีเสียซึ่งเสนาแห่งผู้อื่น, ท่านผู้เกลื่อนกล่นด้วยบุตรเหล่านั้น เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยรัตนะเจ็ด จักพร่ำสอนประชุมชนทั้งสี่ทวีป.
ขอถวายพระพร หลาวเหล็กร้อนพร้อมตลอดวันซึ่งร้อนในที่ทั้งปวง พึงเข้าไปสู่ช่องหู ฉันใด, คำนั้นเข้าไปแล้วสู่ช่องโสตแห่งพระโพธิสัตว์ ฉันนั้นนั่นเทียว, ด้วยเหตุนั้น เธอกระสันขึ้นแล้วโดยปกติกลัวแล้ว วุ่นวายแล้ว ถึงความสลดแล้วยิ่งกว่าประมาณ เพราะคำแห่งเทพดานั้น. เปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ที่สุด กำลังโพลงอยู่ อันบุคคลเผาเข้าด้วยไม้แห้งอย่างอื่น พึงโพลงยิ่งกว่าประมาณ.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนมหาปฐพี ซึ่งชุ่มอยู่แล้วโดยปกติ มีหญ้าเขียวเกิดแล้ว มีน้ำอันบุคคลรดแล้ว เกิดเป็นโคลน ครั้นเมื่อมหาเมฆเป็นไปแล้ว พึงเป็นโคลนยิ่งกว่าประมาณอีกนั่นเทียว."
ร. "พระนาคเสน เออก็ ถ้าว่าจักรรัตนะเป็นทิพย์ พึงเกิดแก่พระโพธิสัตว์ในวันที่เจ็ด พระโพธิสัตว์พึงกลับเพราะจักรรัตนะเป็นทิพย์เกิดแล้วหรือหนอ?"
ถ. "ขอถวายพระพร จักรรัตนะเป็นทิพย์ ไม่พึงเกิดแก่พระโพธิสัตว์ในวันที่เจ็ดเลย, ก็แต่คำนั้น อันเทวดานั้นกล่าวแล้วเท็จ เพื่อประโยชน์แก่อันเล้าโลม. แม้ถ้าว่าจักรรัตนะเป็นทิพย์ พึงเกิดในวันที่เจ็ดจริง พระโพธิสัตว์ก็หากลับไม่. เพราะเหตุอะไร? เพราะว่าพระโพธิสัตว์ได้ถือไว้มั่น ว่าเป็นของไม่เที่ยง ได้ถือไว้มั่น ว่าเป็นทุกข์ ว่าเป็นอนัตตา ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งอุปาทาน.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนน้ำ ย่อมเข้าไปสู่แม่น้ำคงคา แต่สระอโนดาต ย่อมเข้าไปสู่มหาสมุทรแต่แม่น้ำคงคา ย่อมเข้าไปสู่ช่องบาดาลแต่มหาสมุทร, เออก็ น้ำนั้นซึ่งไปแล้วในช่องบาดาล พึงเข้าสู่มหาสมุทร พึงเข้าไปสู่แม่น้ำคงคาแต่มหาสมุทร พึงเข้าไปสู่สระอโนดาต แต่แม่น้ำคงคาอีกหรือหนอ?"
ร. "ไม่พึงเข้าไปเลย."
ถ. "ขอถวายพระพร กุศลอันพระโพธิสัตว์อบรมให้แก่กล้าแล้วสิ้นสื่อสงไขยกับแสนกัปป์ เพราะเหตุแห่งภพนี้, พระโพธิสัตว์นี้นั้นมีภพมีในที่สุดถึงแล้ว โพธิญาณของเธอแก่กล้าแล้ว เธอจักเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวง เป็นบุคคลเลิศในโลกโดยหกปี ฉันนั้นนั่นเทียวแล, เออก็ พระโพธิสัตว์จะพึงกลับ เพราะเหตุแห่งจักรรัตนะหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ถึงกลับละซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง แผ่นดินใหญ่ทั้งป่าทั้งเขาพึงกลับกลายได้, ก็แต่พระโพธิสัตว์ ไม่ถึงสัมมาสัมโพธิญาณแล้วไม่พึงกลับเลย. มหาสมุทรทรงไว้ซึ่งน้ำอันบุคคลนับไม่ได้ยังต้องแห้งเหมือนน้ำในรอยเท้าโค ฉะนั้น, ก็แต่พระโพธิสัตว์ไม่ถึงสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ไม่พึงกลับเลย. ภูเขาสิเนรุอันเป็นพญาเขา พึงแตกร้อยเสี่ยงหรือพันเสี่ยง. ก็แต่พระโพธิสัตว์ไม่ถึงสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ไม่พึงกลับเลย. พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งดาว พึงตากราวกะก้อนดินในแผ่นดินฉะนั้น, ก็แต่พระโพธิสัตว์ไม่ถึงสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ไม่พึงกลับเลย, อากาศคงฉิบหายเช่นเสื่อลำแพน ฉะนั้น, ก็แต่พระโพธิสัตว์ไม่พึงสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ไม่พึงกลับเลย. เพราะเหตุไร? เพราะความที่แห่งเครื่องผูกทั้งปวง เป็นอันพระโพธิสัตว์นั้นทำลายเสียแล้ว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เครื่องผูกทั้งหลายในโลกมีเท่าไร?"
ถ. "เครื่องผูกทั้งหลายสิบอย่างเหล่านี้มีอยู่ในโลก ขอถวายพระพร, สัตว์ทั้งหลายอันเครื่องผูกเหล่าไรเล่าผูกไว้แล้ว ย่อมไม่ออกผนวช, ถึงออกก็กลับลาผนวช. เครื่องผูกสิบเหล่าไหน? คือ มารดาเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, บิดาเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, ภริยาเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, บุตรทั้งหลายเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, ญาติทั้งหลายเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, มิตรทั้งหลายเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, ทรัพย์เป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, ลาภสักการเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, อิสริยยศเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง, กามคุณห้าเป็นเครื่องผูกในโลกประการหนึ่ง. เครื่องผูกสิบเหล่านี้แลมีอยู่ในโลก, เป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้มิให้ออกผนวช ถึงออกแล้วก็กลับลาผนวช. เครื่องผูกทั้งสิบประการเหล่านี้ ได้ตัดแล้ว กำจัดแล้ว ทำลายแล้ว. เพราะเหตุนั้นพระโพธิสัตว์จึงไม่กลับ."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าเมื่อจิตไม่ยินดีเกิดขึ้นแล้ว เพราะคำแห่งเทพดา เมื่อโพธิญาณยังไม่แก่กล้า พระโพธิสัตว์ออกแล้วเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่, ประโยชน์อะไรจะพึงมีแก่พระโพธิสัตว์นั้นด้วยกิจที่กระทำยากอันท่านกระทำแล้ว, พระโพธิสัตว์ควรจะรอความแก่กล้าแห่งญาณ ด้วยสิ่งที่เป็นเครื่องเลี้ยงทั้งปวงไม่ใช่หรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ก็บุคคลสิบเหล่านี้แล เป็นผู้อันเขาดูหมิ่นดูถูกต้องอับอายขายหน้า ถูกเสียดแทง ถูกติเตียน ถูกสบประมาณ ไม่มีใครยำเกรง มีอยู่ในโลก, บุคคลสิบเหล่าไหน? คือ หญิงหม้ายหนึ่ง, บุคคลผู้อ่อนแอไม่มีกำลังหนึ่ง, บุคคลไม่มีมิตรและญาติหนึ่ง, บุคคลกิจจุหนึ่ง, บุคคลผู้ไม่อยู่ในสกุลที่เคารพหนึ่ง, บุคคลมีมิตรเลวทรามหนึ่ง, บุคคลผู้เสื่อมจากทรัพย์หนึ่ง, บุคคลผู้มีมรรยาทเลวหนึ่ง, บุคคลผู้เสื่อมจากการงานหนึ่ง, บุคคลผู้คลายความเพียรหนึ่ง; บุคคลสืบจำพวกเหล่านี้แล เป็นผู้อันเขาดูหมิ่นดูถูก ต้องอับอายขายหน้า ถูกเสียดแทง ถูกติเตียน ถูกสบประมาทไม่มีใครยำเกรง มีอยู่ในโลก. เมื่อพระโพธิสัตว์ระลึกถึงฐานะสิบเหล่านี้แล จึงได้เกิดความสำคัญอย่างนี้ว่า 'เราอย่าพึงเป็นผู้เสื่อมจากการงาน อย่าพึงเป็นผู้คลายความเพียร อย่าพึงเป็นผู้อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายติเตียน, ไฉนหนอเราพึงเป็นเจ้าจองแห่งการงาน พึงเป็นผู้แข็งขันในการงาน พึงเป็นผู้ปรารภการงานเป็นใหญ่ พึงเป็นผู้มีการงานเป็นปกติ พึงเป็นผู้ควรแก่ธุระ คือ การงาน พึงเป็นผู้มีการงานเป็นที่อยู่ พึงเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่.' ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์จะทรงยังญาณให้แก่กล้าจึงได้ทรงกระทำกิจที่กระทำได้ด้วยยาก ด้วยประการฉะนี้แล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เมื่อพระโพธิสัตว์กระทำกิจที่กระทำด้วยยาก ได้กล่าวอย่างนี้ว่า 'เราไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนะวิเศษด้วยกิจที่กระทำได้ยากเผ็ดร้อนนี้เลย, หนทางอื่นเพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้จะพึงมีหรือหนอแล.' ก็ความลืมสติเพราะปรารภหนทาง ได้มีแล้วแก่พระโพธิสัตว์ในสมัยนั้นบ้างหรือหนอ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ก็ธรรมยี่สิบห้าประการเหล่านี้แล เป็นเครื่องกระทำจิตให้อ่อนแอ จิตอันธรรมยี่สิบห้าประการกระทำให้อ่อนแอแล้ว ย่อมไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ธรรมยี่สิบห้าประการเป็นไฉน? คือ ความโกรธหนึ่ง ความผูกโกรธหนึ่ง ความลบหลู่คุณท่านหนึ่ง ความตีเสมอท่านหนึ่ง ความริษยาหนึ่ง ความตระหนี่หนึ่ง ความปิดบังโทษตนไว้หนึ่ง ความอวดตัวหนึ่ง ความกระด้างดื้อดึงหนึ่ง ความแข่งดีหนึ่ง ความถือตัวหนึ่ง ความดูหมิ่นท่านหนึ่ง ความมัวเมาหนึ่ง ความเลินเล่อหนึ่ง ความง่วงเหงาหาวนอนหนึ่ง ความเพลินหนึ่ง ความเกียจคร้านหนึ่ง ความเป็นผู้มีชนบาปเป็นมิตรหนึ่ง รูปหนึ่ง เสียงหนึ่ง กลิ่นหนึ่ง รสหนึ่ง โผฏฐัพพะหนึ่ง ความอยากข้าวอยากน้ำหนึ่ง ความไม่สบายใจหนึ่ง เป็นธรรมกระทำจิตให้อ่อนแอ จิตอันธรรมยี่สิบห้าประการเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งกระทำให้อ่อนแอแล้ว ย่อมไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
ความอยากข้าวและอยากน้ำ ครอบงำแล้วซึ่งกายแห่งพระโพธิสัตว์, เมื่อกายอันความอยากข้าวอยากน้ำครอบงำแล้ว จิตย่อมไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
พระโพธิสัตว์ ได้แสวงหาความตรัสรู้อริยสัจทั้งสี่ในชาตินั้น ๆ สิ้นสี่อสงไขยกับแสนกัปป์. ความลืมสติเพราะปรารภหนทาง จักมีแก่พระโพธิสัตว์นั้น ในชาติเป็นที่ตรัสรู้ ในภพนี้ในภายหลังทำไม?
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง คุณชาตสักว่าความสำคัญเกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์ว่า 'มรรคาอื่นเพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ จะพึงมีหรือหนอแล.' ในกาลก่อนพระโพธิสัตว์เมื่อประทับอยู่องค์เดียวได้ทรงนั่งขัดสมาธิบนที่บรรทมอันมีสิริ ภายใต้ร่มไม้หว้า เพราะการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแห่งศักยราชผู้พระชนก สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ทรงเข้าปฐมฌานมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก พร้อมทั้งวิตกวิจารอยู่. ฯลฯ เพราะดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งหลายในกาลก่อน เพราะละเสียซึ่งสุข เพราะละเสียซึ่งทุกข์เข้าจตุตถฌานซึ่งไม่มีสุขไม่มีทุกข์ มีความที่แห่งสติเป้นของบริสุทธิ์เพราะความเพิกเฉยอยู่."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้นว่า พระโพธิสัตว์จะทรงยังญาณให้แก่กล้าจึงได้กระทำกิจที่กระทำโดยยาก."

๗. กุสลากุสลพลวาพลวปัญหา ๗๔

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน กรรมไหนมีกำลังยิ่งกว่า กุศลหรืออกุศล?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร กุศาลมีกำลังยิ่งกว่า อกุศลหาอย่างนั้นไม่."
ร. "ข้าพเจ้ายังไม่ยอมรับตามคำว่า 'กุศลมีกำลังยิ่งกว่า อกุศลหาอย่างนั้นไม่' นั้นดอก. ชนทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้ถือเอาซึ่งสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เป็นผู้มักกล่าวปด เป็นผู้ฆ่าซึ่งชาวบ้าน เป็นผู้ประทุษร้ายในหนทาง เป็นผู้หลอกลวงเขา มีปรากฏอยู่, เพราะกรรมอันเป็นบาปมีประมาณเท่านั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง ย่อมได้ซึ่งกรรมกรณ์ คือ อันตัดมือ ตัดเท้า ตัดทั้งมือทั้งเท้า ตัดหู ตัดจมูก ตัดทั้งหูทั้งจมูก และพิลังคถาลิกะกรรมกรณ์ (คือ ผ่ากบาลศีรษะแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใส่ลงในกบาลศีรษะนั้น มันสมองที่เป็นอยู่ในกบาลศีรษะก็ลอยขึ้นบ้างบน) สังขมุณฑิกะกรรมกรณ์ (คือ เชือดดริมฝีปากข้างบน และหนังที่หุ้มหมวกหูทั้งสองข้าง และหลุมคอ แล้วขมวดผมทั้งหมดให้เป็นขอดในที่เดียวกันแล้วกระชากออก หนังก็หลุดออกพร้อมกับผม แล้วขัดกบาลศีระษะด้วยกรวดอันหยาบแล้วล้าง กระทำกบาลศีรษะให้เหมือนสีสังข์) ราหุมุขะกรรมกรณ์ (คือ เอาขอเกี่ยวปากไว้ให้อ้าแล้วจุดไฟไว้ในปาก แล้วเอาเหล็กหมาดสักตั้งแต่หมวดหูกระทั้งปาก โลหิตก็ไหลออกเต็มปาก) โชติมาลิกะกรรมกรณ์ (คือ พันตัวทั้งหมดด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วจุดไฟเผา) หัตถะปโชติกะกรรมกรณ์ (คือ พันมือทั้งสองด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วเอาไฟเผา) เอรกวัติกะกรรมกรณ์ (คือ เฉือนแผ่นหนังตั้งแต่คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วผูกนักโทษนั้นไว้ด้วยเชือกแล้วกระชากมา นักโทษนั้นก็เหยียบแผ่นหนังของตนล้มลง) จีรกวาสิกะกรรมกรณ์ (คือ เฉือนแผ่นหนังตั้งแต่คอลงไปถึงสะเอว แล้วเฉือนแผ่นหนังตั้งแต่สะเอวลงไปถึงข้อเท้า สรีระมีในเบื้องต่ำของนักโทษนั้น ก็เป็นเหมือนผ้านุ่งที่ทำด้วยเปลือกไม้ เพราะแผ่นหนังมีในเบื้องบนมีอยู่) เอเณยยกะกรรมกรณ์ (คือ สอดซี่เหล็กคาบไว้ที่ข้อศอกทั้งสองและเข่าทั้งสอง แล้วค้ำไว้ด้วยหลาวเหล็ก นักโทษนั้นตั้งอยู่บนพื้นด้วยหลาวเหล็กสี่อันทีหลังเขาล้อมนักโทษนั้นนำไฟเข้าเผา ด้วยเห็นกันเหมือนว่า เผาเนื้อทราย) พลิสมังสิกะกรรมกรณ์ (คือ เอาเบ็ดเกี่ยวปากไว้ทั้งสองข้างแล้วดึงให้หนังเนื้และเอ็นหลุดออก) กหาปณะกรรมกรณ์ (คือเอาพร้าอันคมเถือสรีระทั้งสิ้นของนักโทษนั้นให้ตกลงทีละเท่าแผ่นกหาปณะ) ขาราปฏิจฉกะกรรมกรณ์ (คือ ฟันสรีระของนักโทษนั้นด้วยอาวุธให้ทั่วแล้วถูด้วยน้ำแสบ ให้หนังและเนื้อเอ็นไหลออกเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก) ปลิฆปริวัตติกะกรรมกรณ์ (คือ ให้นักโทษนั้นนอนตะแคง แล้วเอาหลาวเหล็กแทลงลงที่ช่องหูให้ทะลุออกช่องล่างติดเนื่องกับแผ่นดิน ทีหลังเขาจับเท้าทั้งสองของนักโทษนั้นเวียนไป) ปลาสปีฐกะกรรมกรณ์ (คือ ไม่เชือดผิวหนัง ทุบกระดูกทั้งหลายด้วยลูกหินบดแล้วจิกผมทั้งหลายยกขึ้น กองเนื้อเท่านั้นมีอยู่ ทีหลังเขารวบผมทั้งหลายเข้าพันกองเนื้อนั้นไว้ดุจมัดฟาง) รดด้วยน้ำมันอันร้อนบ้าง ยังสุนัขทั้งหลายให้เคี้ยวกินบ้าง เสียบบนหลาวบ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง; ชนทั้งหลายบางพวกทำบาปในราตรี ย่อมเสวยผลของบาปนั้นในราตรีนั้นเอง บางพวกกระทำบาปในราตรี ย่อมเสวยผลในกลางวัน, บางพวกกระทำในกลางวัน ย่อมเสวยผลในราตรี, บางพวกต่อสองวันสามวันล่วงไปจึงเสยผล;ชนทั้งหลายเหล่านั้น แม้ทั้งปวง ย่อมเสวยผลในทิฏฐธรรมทีเดียว. มีหรือ พระผู้เป็นเจ้าใคร ๆ ให้ทานทั้งบริวารแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือสองคน สามคน สี่คน ห้าคน สิบคน ร้อยคน พันคน แสนคน แล้วได้เสวยโภคทรัพย์ ยศ หรือความสุขซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม หรือได้เสวยโภคทรัพย์เป็นต้นนั้น ด้วยศีลหรืออุโบสถกรรม?"
ถ. "มีอยู่ ขอถวายพระพร บุรุษสี่คนให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถธรรม ถึงซึ่งยศในเทวโลกชื่อไตรทศ (ชั้นดาวดึงส์) โดยอัตภาพนั้นนั่นเอง ในทิฏฐธรรมทีเดียว."
ร. "ใครบ้าง?"
ถ. "พระเจ้ามันธาตุราชหนึ่ง พระเจ้านิมิราชหนึ่ง พระเจ้าสาธีนราชหนึ่ง คุตติลคนธรรพ์หนึ่ง."
ร. "ข้อที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวนั้นเป็นข้อลี้ลับ โดยพันแห่งพิภพมิใช่อันเดียว, และข้อนั้นปรากฏแก่จักษุของเราทั้งสองไม่ได้; ถ้าพระผู้เป็นเจ้าสามารถ ก็จงกล่าวในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ณ ภพเป็นปัจจุบัน."
ถ. "ในภพเป็นปัจจุบัน ทาสชื่อปุณณกะถวายโภชนะแก่งพระสารีบุตรเถระ ได้รับที่เศรษฐีในวันนั้น ปรากฏนามว่าปุณณกเศรษฐีในกาลนั้น. นางโคปาลมาตาเทวีถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัจจายนเถระผู้มีตนเป็นที่แปด ด้วยกหาปณะทั้งแปดที่ขายผมทั้งหลายของตนได้มา ได้ถึงที่อัครมเหสีแห่งพระเจ้าอุเทนในวันนั้น. นางสุปปิยาอุบาสิกา ถวายเนื้อล่ำด้วยเนื้อที่ขาของตนแก่ภิกษุไข้รูปใดรูปหนึ่งในวันที่สองเป็นผู้มีแผลหาย มีผิวหาโรคมิได้. นางมัลลิกาเทวีถวายก้อนขนมกุมาสค้างคืนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เป็นอัครมเหสีแห่งพระราชาโกศลในวันนั้นเอง. นายสุมนมาลาการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกมะลิแปดกำมือ ได้ถึงสมบัติใหญ่ในวันนั้นเอง. เอกสาฎกพราหมณ์บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยผ้าห่ม ได้หมวดแปดแห่งวัตถุทั้งปวงวันนั้นเอง. ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายเหล่านั้น แม้ทั้งปวงได้เสวยโภคทรัพย์และยศซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม."
ร. "พระผู้เป็นเจ้าค้นหา ได้พบชนหกคนเท่านั้นหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร."
ร. "ถ้าอย่างนั้น อกุศลมีกำลังยิ่งกว่า กุศาลหาอย่างนั้นไม่. ก็วันเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าเห็นบุรุษทั้งหลายสิบคนบ้าง ยี่สิบคนบ้าง สามสิบคนบ้าง สี่สิบคนบ้าง ห้าสิบคนบ้าง ร้อยคนบ้าง พันคนบ้างรับอาชญาขึ้นอยู่บนหลาวทั้งหลาย เพราะผลแห่งกรรมเป็นบาป... ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า 'อกุศลมีกำลังยิ่งกว่าแน่แท้ กุศลหาอย่างนั้นไม่' ฉะนี้. อสทิสทานอันพระเจ้าโกศลทรงบริจาคในพระพุทธศาสนานี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ยินหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ได้ยิน."
ร. "เออก็ พระเจ้าโกศลทรงบริจาคอสทิสทานนั้นแล้ว ย่อมได้ทรัพย์สมบัติยศและความสุขอะไร ๆ ซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรมอันเป็นผลของการบริจาคนั้นหรือ?"
ถ. "หามิได้ ขอถวายพระพร."
ร. "ถ้าว่าพระเจ้าโกศลทรงบริจาคทาน ไม่มีทานอื่นจะยิ่งกว่าเห็นปานนี้ ก็ไม่ได้แล้วซึ่งทรัพย์สมบัติยศและความสุข ซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม อันเป็นผลของการบริจาคนั้น, ถ้าอย่างนั้น อกุศลก็เป็นของมีกำลังกว่าแท้ กุศลหาอย่างนั้นไม่."
ถ. "ขอถวายพระพร เพราะความที่อกุศลเป็นของเล็กน้อยอกุศลจึงแปรไปเร็ว เพราะความที่กุศลเป็นของมาก กุศลจึงแปรไปโดยกาลยืดยาว. คำที่อาตมภาพว่านี้ บรมบพิตรต้องทรงพิจารณาโดยอุปมา.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาในชนบทมีในที่สุดชนบทอื่นอีก เกี่ยวมาไว้ในฉางได้เดือนหนึ่งจึงแปรไป, ข้าวสาลีทั้งหลาย แปรไปโดยห้าหกเดือน; ในของสองอย่างนี้ ธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาและข้าวสาลีทั้งหลาย จะผิดกันอย่างไร แปลกกันอย่างไร?"
ร. "ผิดกัน แปลกกัน เพราะความที่แห่งธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาเป็นของที่เนื้อน้อย, และเพราะความทีแห่งข้าวสาลีทั้งหลายเป็นของมีเนื้อแน่น. ข้าวสาลีทั้งหลายเป็นของควรแด่พระราชา เป็นพระกระยาหารของพระราชา, ธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกา เป็นโภชนะของทาสและกรรมกรทั้งหลาย."
ถ. "เพราะความที่แห่งอกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงแปรไปเร็ว เพราะความที่แห่งกุศลเป็นของมาก กุศลจึงแปรไปโดยกาลยาวฉันนั้นแล."
ร. "ในกรรมทั้งสองนั้น กรรมใด แปรไปเร็ว กรรมนั้น เป็นของมีกำลังยิ่งกว่าในโลก, เพราะเหตุนั้น อกุศลกรรมเป็นของมีกำลังยิ่งกว่า กุศลกรรมหาอย่างนั้นไม่. ทหารคนใดคนหนึ่ง เข้าไปสู่การรบใหญ่ จับศัตรูคู่ต่อสู้ที่รักแร้ได้ ฉุดมานำเข้าไปส่งนายโดยพลัน ทหารนั้นชื่อว่า เป็นผู้อาจ เป็นผู้กล้าในโลก, อนึ่ง แพทย์คนใด ถอนลูกศรออกให้โรคหายโดยพลัน แพทย์คนนั้นชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด, คนผู้นับคำนวณใด นับคำนวณเร็ว ๆ แล้วแสดงทันที คนผู้นับคำนวณนั้น ชื่อว่าเป็นคนฉลาด, คนปล้ำใด ยกคนปล้ำคู่ต่อสู้พลันให้ล้มหงาย คนปล้ำนั้นชื่อว่าเป็นผู้สามารถ เป็นผู้กล้า ฉันใดก็ดี: สิ่งใดแปรไปเร็ว กุศลหรืออกุศลก็ตาม สิ่งนั้นเป็นของมีกำลังยิ่งกว่า ฉันนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร กรรมแม้ทั้งสองนั้น เป็นของที่สัตว์จะต้องเสวยในสัมปรายภพ, อีกประการหนึ่ง อกุศลกรรมเป็นของที่สัตว์จะต้องเสวยผลในทิฏฐธรรมโดยขณะ เพราะความเป็นของเป็นไปกับด้วยโทษที่ควรเว้น.
ขอถวายพระพร พระราชกำหนดนี้ อันพระมหากษัตริย์ทั้งหลายในกาลก่อนทรงตั้งไว้แล้วว่า 'ผู้ใดฆ่ามนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉาน ผู้ใดลักฉ้อสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ผู้ใดถึงภริยาของบุคคลอื่น ผู้ใดกล่าวปด ผู้ใดฆ่าชาวบ้าน ผู้ใดประทุษร้ายตามหนทาง ผู้ใดทำซึ่งอันล่อลวงเขา ผู้นั้น ๆ ควรปรับไหม ควรเฆี่ยน ควรตัดอวัยวะ ทำลายอวัยวะ ควรฆ่า ตามโทษานุโทษ' ฉะนี้. พระมหากษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยพระราชกำหนดนั้น ทรงพิจารณาแล้วทรงพิจารราแล้ว ให้ปรับไหมบ้าง ให้เฆี่ยนบ้าง ให้ตัดอวัยวะบ้าง ให้ทำลายอวัยวะบ้าง ให้ฆ่าบ้าง ตามโทษานุโทษ. ความกำหนดนี้ อันชนบางพวกตั้งไว้แล้วว่า 'ผู้ใดให้ทานรักษาศีลหรือทำอุโบสถกรรม ควรให้ทรัพย์หรือยศแก่ผู้นั้น' ฉะนี้ มีอยู่หรือ?
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายพิจารณาแล้ว พิจารณาแล้ว ซึ่งความกำหนดไว้นั้น ย่อมให้ทรัพย์บ้าง ยศบ้าง แก่ผู้นั้น ราวกะให้การเฆี่ยนและจำจองแก่โจรผู้ทำโจรกรรมหรือ?"
ร. "หามิได้เลย"
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าว่า ชนทั้งหลาย พึงพิจารณาแล้วพิจารณาแล้ว ให้ทรัพย์หรือยศแก่ทายกทั้งหลายไซร้, ถึงกุศลก็พึงเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรม. ก็เพราะเหตุใด ชนทั้งหลายไม่พิจารณาแล้วว่า 'เราทั้งหลาย จักให้ทรัพย์หรือยศแก่ทายกทั้งหลาย' ดังนี้, เพราะเหตุนั้น กุศลจึงหาเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรมไม่.
ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้แล อกุศลจึงเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรม, และผู้ทำอกุศลกรรมนั้น ย่อมเสวยเวทนาที่มีกำลังยิ่งกว่าในสัมปรายภพ."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหานี้ อันใคร ๆ เว้นเสียแต่ผู้รู้เช่นด้วยพระผู้เป็นเจ้า พึงแก้ไขไม่ได้; ของที่เป็นไปในโลก อันพระผู้เป็นเจ้าให้รู้แจ้ง โดยความเป็นของข้ามขึ้นจากโลก."

๘. เปตอุททิสสผลปัญหา ๗๕

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ทายกทั้งหลายเหล่านี้ ให้ทานอุทิศถึงญาติผู้วายชนม์แล้วในกาลก่อน ด้วยตั้งจิตว่า 'ทานนี้ จงถึงแก่ญาติทั้งหลายผู้วายชนม์แล้วในกาลก่อน' ฉะนี้. ญาติทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมได้รับผลของทานอะไร ๆ บ้างหรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "บางพวกได้รับ บางพวกหาได้รับไม่ ขอถวายพระพร."
ร. "พวกไหนได้รับ พวกไหนไม่ได้รับ?"
ถ. "ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในนรก ย่อมไม่ได้รับและสัตว์ทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในครรภ์ สัตว์ทั้งหลายผู้ไปในกำเนิดดิรัจฉานย่อมไม่ได้รับ;ในเปรตทั้งหลายสี่พวก เปรตทั้งหลายสามพวก คือ วันตาสิกเปรต ขุปปิปาสิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต ย่อมไม่ได้รับ; ปรทัตตูปชีวีเปรตทั้งหลาย ย่อมได้รับ, แม้เปรตเหล่านั้น ระลึกถึงอยู่นั่นเทียว จึงได้รับ."
ร. "ถ้าอย่างนั้น ทานของทายกทั้งหลาย เป็นของไปปราศจากกระแส หาผลมิได้, ทานที่ทายกทั้งหลายกระทำอุทิศถึงญาติทั้งหลายผู้ตายแล้วเหล่าใด ถ้าว่าญาติทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่ได้รับผล."
ถ. "ขอถวายพระพร ทานนั้นเป็นของไม่มีผล ไม่มีวิบากก็หาไม่, ทายกทั้งหลาย ย่อมเสวยผลแห่งทานนั้นแท้."
ร. "กระนั้น ก็ขอพระผู้เป็นเจ้าให้ข้าพเจ้าหมายรู้ได้โดยเหตุ."
ถ. "มนุษย์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ ตกแต่งปลาเนื้อสุราภัตตาหารและของควรเคี้ยวทั้งหลายแล้ว ไปสู่ตระกูลญาติ, ถ้าว่าญาติทั้งหลายเหล่านั้น ไม่รับพร้อมซึ่งของฝากนั้นไซร้, ของฝากนั้น พึงถึงความไปปราศจากกระแสและพึงเสียหายบ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ ของฝากก็คงเป็นของเจ้าของทั้งหลายนั่นเอง."
ถ. "ข้ออุปไมยนั้น ก็ฉันนั้นนั่นแล, ทายกทั้งหลาย ย่อมเสวยผลของทานนั้น.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษเข้าไปสู่ห้อง ในเมื่อช่องเป็นที่ออกข้างหน้าไม่มี จะพึงออกข้างไหน?
ร. "ต้องออกโดยช่องที่เข้าไปแล้วนั่นเองซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยนั้น ก็ฉันนั้นนั่นแล, ทายกทั้งหลายนั่นเอง ย่อมเสวยผลของทานนั้น."
ร. "ยกไว้เถิด พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้นว่า 'ทายกทั้งหลายนั่นเอง ย่อมเสวยผลของทานนั้น', เราทั้งหลาย จะไม่กระทำเหตุนั้นให้เสียระเบียบ."

๙. กุสลากุสลมหันตามหันถภาวปัญหา ๗๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน หากว่าทานที่ทายกเหล่านี้ให้แล้ว ย่อมถึงแก่ญาติทั้งหลายผู้ตายแล้วในกาลก่อน, และญาติผู้บุรพเปรตชนทั้งหลาย ย่อมเสวยผลของทานนั้น, ถ้าอย่างนั้น บุคคลผู้กระทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ผู้โลภ ผู้ใจร้าย ผู้มีความดำริในใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว ฆ่ามนุษย์ทั้งหลาย กระทำกรรมชั่วร้ายแล้ว อุทิศถึงญาติผู้บุรพเปรตทั้งหลาย, ดังนี้ ผลของกรรมอันนั้นจะถึงแก่บุรพเปรตชนทั้งหลายบ้างหรือ?"
ถ. "หาไม่เลย ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เหตุอะไรในข้อนั้น กุศลย่อมถึงอกุศลย่อมไม่ถึง ด้วยเหตุอันใด เหตุอันนั้นเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ปัญหานั้นอันใคร ๆ ไม่ควรถามล และบรมบพิตรอย่าตรัสถามซึ่งปัญหาที่ไม่ควรถาม ด้วยเข้าพระทัยว่า 'บุคคลผู้วิสัชนามีอยู่' ดังนี้เลย; บรมบพิตรจักตรัสถามซึ่งปัญหาไม่ควรถามนั้นกะอาตมภาพบ้างหรือว่า 'เพราะเหตุไร อากาศจึงไม่มีที่หน่วงเหนี่ยว เพราะเหตุไร แม่น้ำคงคาจึงไม่ไหลขึ้นข้างบน เพราะเหตุไรมนุษย์และนกทั้งหลายเหล่านี้มีเท้าสอง เนื้อทั้งหลายมีสี่เท้า? ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าไม่ได้เพ่งความเบียดเบียนถามพระผู้เป็นเจ้า, ก็แต่ข้าพเจ้าถามเพื่อประโยชน์แก่อันกำจัดเสียซึ่งความสนเท่ห์ ข้าพเจ้าถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยคิดอย่างนี้ว่า 'มนุษย์ทั้งหลายในโลกมาก มักถือเอาโดยเบื้องซ้าย มีดวงตาคือปัญญาไปปราศแล้ว; มนุษย์เหล่านั้น จะไม่พึงได้ซึ่งความสันนิษฐานเป็นที่ตกลงว่ากระไร."
ถ. "ขอถวายพระพร กรรมเป็นบาป อันใคร ๆ ไม่อาจแบ่งปันกับด้วยบุคคลผู้ไม่ได้กระทำกรรมเป็นบาปแล้ว ผู้ไม่มีกรรมเป็นบาป มีอณูเป็นประมาณ. เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย นำน้ำไปด้วยเครื่องนำน้ำแม้สู่ที่ไกล, ภูเขาหินใหญ่ทึบ อันบุคคลอาจนำไปตามปรารถนาด้วยเครื่องนำไปบ้างหรือ ขอถวายพระ?"
ร. "ไม่อาจเลย."
ถ. "ข้ออุปไมย ก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้.
อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างประทีป อันบุคคลอาจให้โพลงด้วยน้ำมัน, ประทีปอันบุคคลอาจให้โพลงด้วยน้ำท่าได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ."
ถ. "ข้ออุปไมย ก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้.
อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ชาวนาน้ำน้ำออกแต่เหมืองแล้วยังข้าวเปลือกให้สุกรอบได้, ชาวนานำน้ำออกแต่มหาสมุทร แล้วยังข้าวเปลือกให้สุกรอบได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้."
ร. "เพราะเหตุไร? กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้; พระผู้เป็นเจ้าจงยังข้าพเจ้าให้หมายรู้โดยเหตุ, ข้าพเจ้าไม่ใช่คนบอด ไม่ใช่คนมืด ฟังแล้วจักรู้แจ้ง."
ถ. "ขอถวายพระพร อกุศลเป็นของน้อย กุศลเป็นของมาก; เพราะความที่อกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงครอบงำผู้กระทำผู้เดียว, เพราะความที่กุศลเป็นของมาก กุศลจึงกลบโลกทั้งเทวโลก."
ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมา."
ถ. "เปรียบเหมือนหยาดน้ำหยาดเดียว เป็นของน้อย พึงตกลงบนแผ่นดิน, หยาดน้ำมัน ย่อมท่วมทับที่สิบโยชน์บ้าง สิบสองโยชน์บ้างได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ หยาดน้ำนั้นตกลงแล้วในที่ใด ก็พึงติดอยู่ในที่นั้นเท่านั้น."
ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่หยาดน้ำหยาดเดียวเป็นของน้อยซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล อกุศลเป็นของน้อย เพราะความที่อกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงครอบงำบุคคลผู้กระทำผู้เดียว อันผู้กระทำไม่อาจแบ่งปัน.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนมหาเมฆ ยังฝนให้ตกลงกระทำพื้นแผ่นดินให้ชุ่มชื้น, มหาเมฆนั้น พึงท่วมโดยรอบบ้างหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ท่วมได้ซิ มหาเมฆนั้น ยังบึงและสระใหญ่น้อย คลอง ซอก ธาร หนอง เหมือง สระบัว ทั้งหลาย ให้เต็มท่วมที่สิบโยชน์บ้างสิบสองโยชน์บ้าง."
ถ. "เพราะเหตุอะไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่แห่งเมฆเป็นของใหญ่นะซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลเป็นของมาก เพราะความที่แห่งกุศลเป็นของมาก กุศลจึงเป็นของแม้อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายอาจแบ่งปันได้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เพราะเหตุไร อกุศลเป็นของน้อย กุศลเป็นของมาก?"
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง่ในโลกนี้ให้ทานสมาทานศีล กระทำอุโบสถกรรม, บุคคลนั้น เป็นผู้ร่าเริงแล้ว ร่าเริงทั่วแล้ว ยินดีแล้ว ยินดีทั่วแล้ว บันเทิงทั่วแล้ว มีใจเลื่อมใสแล้ว มีความรู้แจ้งเกิดแล้ว: ปีติของบุคคลนั้นย่อมเกิดสืบ ๆ, กุศลย่อมเจริญยิ่ง ๆ แก่บุคคลผู้มีใจปีติแล้ว; น้ำพึงเข้าไปในบ่อที่สมบูรณ์ด้วยน้ำมากโดยทางหนึ่ง พึงออกโดยทางหนึ่ง, แม้เมื่อน้ำออกอยู่ น้ำก็ย่อมเกิดขึ้นสืบ ๆ, น้ำนั้นเป็นของอันใคร ๆ ไม่อาจให้ถึงซึ่งความสิ้นไป ฉันใด: กุศลย่อมเจริญยิ่งขึ้น ๆ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร บุรุษพึงนึกถึงกุศลที่กระทำแล้ว แม้สิ้นร้อยปี, เมื่อบุรุษนั้นนึกถึงอยู่ กุศลย่อมเจริญยิ่ง ๆ, กุศลนั้น เป็นของอันบุรุษนั้นอาจเพื่อจะแบ่งปันกับด้วยชนทั้งหลาย ผู้มีความปรารถนาอย่างไร.
ขอถวายพระพร กุศลเป็นของมากกว่าด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ฝ่ายบุคคลผู้กระทำอกุศล เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง, จิตของบุคคลผู้มีความเดือดร้อน ย่อมท้อถอยหดหู่หันกลับ ย่อมไม่คลี่คลาย ย่อมเศร้าโศกเร่าร้อน เสื่อมสิ้นไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมครอบงำในจิตนั้นเท่านั้น.
ขอถวายพระพร ในเมื่อหาดทรายในแม่น้ำอันแห้ง สูงขึ้นและยุบลงขยับเขยื้อนอยู่ น้ำน้อยมาอยู่ข้างบน ย่อมเสื่อมหายไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมติดอยู่ในที่นั้นเท่านั้น ฉันใด; จิตของบุคคลผู้กระทำอกุศล ย่อมท้อถอยหดหู่หันกลับ ย่อมไม่คลี่คลาย ย่อมเศร้าโศกเร่าร้อน เสื่อมสิ้นไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมครอบงำในจิตนั้นเท่านั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร อกุศลเป็นของน้อยด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
ตอบกระทู้