นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 1:56 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: บนยอดเขา
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 09 เม.ย. 2018 5:13 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
“ความตาย คือที่สุดของความเพียร
ความเพียรไปจบตรงไหน
ก็ตายกันที่ตรงนั้น
คนเราเกิดมาตายเป็นธรรมดา
เวลาตายเอาอะไรไปไม่ได้”

-:- หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ -:-





"หมากัดขาเรา
เราอย่าไปกัดขาหมาตอบ
ถ้าไปกัดคงน่าเกลียดจริงๆ
หมากัดขาเราก็รักษาแผลไป
ไม่ต้องไปกัดขาหมาตอบ

เช่นเดียวกัน
ถ้ามีคนอื่นตำหนิเรา
เราอย่าไปตำหนิเขาตอบ
ใครทำให้เราโกรธ
เราอย่าหลงไปโกรธเขาตอบ
ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก"

-:- หลวงปู่ท่อน ญาณธโร -:-





ความทุกข์ใจ ไม่ได้เกิดจากคนอื่น เรามักจะโทษคนนั้นคนนี้ แต่รากเหง้ามาจากใจของเราเอง

เวลามีความขัดแย้งเรามักจะโทษคนนั้นคนนี้ แต่เราลืมดูใจของเรา อาจเป็นเพราะใจของเราไปยึดมั่นถือมั่นกับความคิดของเรา หรืออาจเป็นเพราะว่าเราชอบมองในแง่ลบ ทั้งๆ ที่เพื่อนร่วมงานก็มีข้อดีหลายอย่าง แต่เรามองเห็นแต่ด้านไม่ดีของเขา เช่น ขี้บ่น หรือพูดเสียงดัง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับการทำงานแต่เป็นบุคคลิกส่วนตัว สิ่งที่เราเห็นนั้นแม้เป็นความจริงแต่อาจเป็นแค่ส่วนน้อยของเขา ข้อดีของเขาก็มีมาก แต่เราไม่มอง ถ้าเรามองเห็นด้านดีของเขา แม้ว่าเขาจะขี้บ่น เสียงดังไปบ้าง เราก็จะทำงานได้อย่างมีความสุข

เราควรยอมรับว่าทุกคนมีข้อดีข้อเสียด้วยทั้งนั้น จะหาใครเพอร์เฟกต์ สมบูรณ์แบบย่อมไม่มี แต่ถ้าเมื่อไหร่เรามองแต่แง่ลบ เราจะทำงานอย่างไม่มีความสุข ถ้าเรามองเห็นรอบด้าน เห็นทั้งข้อดีข้อเสีย เราจะทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข และจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันน้อยลง

คนทุกวันนี้มองเห็นหรือจ้องจับผิดได้ง่าย หลายคนพอบอกให้วิจารณ์งานของเพื่อน ก็สามารถพรรณนาได้ยาวเหยียด แต่พอขอให้ชมเขากลับทำไม่ได้ อาตมาอยากแนะนำว่าก่อนจะวิจารณ์ใคร ควรมองเห็นข้อดีของคนนั้นเสียก่อน ถ้าเราจะวิจารณ์เขา 1 ข้อ เราต้องเห็นข้อดีของเขา 2 ข้อ นี่เป็นการฝึก เพราะสมัยนี้คนเราเก่งเรื่องการจับผิดมาก อาตมา เชื่อว่าถ้าเราชมกันมากขึ้นบรรยากาศในที่ทำงานจะดีขึ้น ถ้าเราลองปรับมุมมองซะหน่อยเราจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น

พระไพศาล วิสาโล




บนยอดเขาเราสามารถมองเห็นโลกในมุมสูง สิ่งที่เห็นอยู่เบื้องล่างน่าจะเตือนให้เราตระหนักว่ามนุษย์เรานั้นช่างเล็กกะจิดริด เมื่อมองลงไปจะพบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนขาวกับคนดำ เศรษฐีกับยาจก นายก ฯ หรือชาวบ้าน ไทยหรือฝรั่ง พุทธหรือมุสลิม ฯลฯ สมมุติบนพื้นโลกไม่มีความหมายเลยเมื่อมองลงมาจากยอดเขา เพราะทุกคนเหมือนกันหมด ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่มีใจสูง มีปัญญาเข้าถึงสัจธรรม ย่อมอยู่เหนือสมมติ ไม่เห็นผู้คนแตกต่างกันเลย ทุกคนมีค่าเสมอกันหมด
พระไพศาล วิสาโล





ความงามแห่งรุ่งอรุณ

ท้องฟ้ายามอรุณรุ่งคือความงดงามที่ชื่นชมได้ไม่รู้เบื่อ แต่จะงามประทับจิตยิ่งขึ้นหากได้ตื่นขึ้นมาก่อนฟ้าสาง เมื่อท้องฟ้าเริ่มแปรเปลี่ยน จากมืดมิดแล้วค่อย ๆ เรื่อเรืองด้วยแสงเงินแสงทอง จิตใจของผู้ชมก็จะค่อย ๆ แจ่มใสและเบิกบาน จนรู้ตื่นเต็มที่เมื่อท้องฟ้าสว่างไสวไปทุกทิศ

แสงเงินแสงทองงามที่สุดเมื่อประชันกับความมืดมิด ความงามของธรรมชาติเบื้องหน้าจะจับใจเมื่อความมืดมนค่อย ๆ ละลายหายไป กลายเป็นความสว่างเรือง ใครที่ไม่ได้เห็นความมืดมิดของท้องฟ้ามาก่อน ไหนจะเลยประจักษ์ถึงความงามของอรุณรุ่งได้อย่างเต็มที่

รุ่งอรุณงดงามจับใจยิ่งสำหรับผู้ที่ถูกปกคลุมด้วยความมืดมาก่อน ในยามทดท้อสิ้นหวังกับชีวิต จนไม่อยากอยู่ต่อไปในโลกนี้ เพียงแค่เห็นแสงอรุณจับขอบฟ้า ไล่ความมืดมิดไปทีละน้อย ๆ จิตก็สว่างไสว และหลุดพ้นจากความมืดมน เกิดความหวังและกำลังใจที่จะสู้ทุกข์ต่อไป ใช่หรือไม่ว่าเมื่อถึงที่สุดแห่งรัตติกาล อรุณรุ่งก็ปรากฏ เมื่อมืดมิดอย่างที่สุด ความแจ่มกระจ่างก็บังเกิด

ผู้ที่ตกอยู่ในความมืดมิดย่อมซึ้งใจในคุณค่าของแสงสว่าง แม้เพียงประพิมประพาย ฉันใดก็ฉันนั้น น้ำใจแม้เพียงเล็กน้อย กลับเป็นสิ่งยิ่งใหญ่สำหรับผู้ที่จมอยู่ในความทุกข์ ที่อาจตราตรึงใจเขาอย่างมิรู้ลืม ปราศจากความทุกข์ ไยจะเห็นคุณค่าของความเอื้อเฟื้อและความอิ่มเอิบใจ หากสุขสบายไปทั้งชาติไหนเลยจะซาบซึ้งใจกับความดีที่ผู้อื่นกระทำแก่ตน บางครั้งความทุกข์ก็ทำให้เราเห็นน้ำใจที่งดงามของเพื่อนมนุษย์ได้ชัดเจน เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในความมืดเท่านั้นที่จะประจักษ์ถึงความงามยามอรุณรุ่งอย่างยากจะพรรณนา

พระไพศาล วิสาโล




ความทุกข์นั้นสอนดีกว่าความสุข หรือถ้าว่ากันโดยที่แท้แล้วความสุขนั้นอาจจะไม่สอนอะไรเสียเลยก็ได้ แต่ความทุกข์นั้นสอนมากทีเดียวและสอนดีด้วย แต่ละคนก็ไม่เปิดโอกาสให้ความทุกข์นั้นสอน พอมีความทุกข์เข้ามาก็สมัครเป็นเจ้าทุกข์เสีย ไม่พยายามจัดแจงหรือกระทำให้ความทุกข์นั้นเป็นผู้สอน
เคยเตือนกันแล้วเคยเตือนกันเล่าว่าให้ดูให้ดีมันมีแต่ได้ไม่มีเสีย แม้แต่ความทุกข์ซึ่งคนเขามองกันเป็นเรื่องเสีย นี่เรียกว่ามองไม่เป็น ถ้ามองเป็น แม้แต่ความทุกข์ก็เป็นเรื่อง "ได้" ไม่ใช่หมายความว่า "ได้ทุกข์" แต่ว่า "ได้โอกาส" ที่จะศึกษาเรื่องความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์มาแล้วจะศึกษาความทุกข์ได้อย่างไร ถ้าไม่ศึกษาความทุกข์มันก็ไม่รู้จักความทุกข์ แต่ถ้าไม่มีความทุกข์มาแล้วเราจะศึกษาอะไร ดังนั้น เราต้องมีความทุกข์จริง ๆ มา ไม่ใช่นึก ๆ เอาว่าความทุกข์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
เรื่องในพระศาสนานี้ไม่ใช่เรื่องนึก ๆ เอา จะศึกษาเรื่องอะไรก็ต้องมีเรื่องนั้นจริง ๆ จะศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องศึกษาลงไปบนสิ่งซึ่งกำลังแสดง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และก็ต้องเป็น "ภายใน" ด้วย การไปมัวศึกษา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของคนอื่นของสิ่งอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ หรืออยากจะเป็นไปได้ก็ได้ผลน้อย นี่ก็ต้องศึกษา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่มีอยู่ในความรู้สึกของตนเอง
ความเจ็บไข้ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งแสดง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่ามันเป็นตัวความทุกข์อยู่แล้ว ก็เป็นการแสดงทุกขังได้ดี เพราะความเปลี่ยนแปลงจากความสบายมาเป็นความไข้นี้มันก็แสดงอนิจจังที่ดีอย่างยิ่งอยู่แล้ว เพราะความที่เจ็บไข้มันไม่อยู่ในอำนาจของใคร นี่ก็เป็นการแสดงอนัตตาของสังขารอันนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นควรจะถือเอาโอกาสเช่นนี้ทำสิ่งที่เป็นทุกข์ให้กลายเป็นความรู้สำหรับจะแก้ความทุกข์นั้นเอง
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : มาฆบูชาเทศนา ปี 2517 เรื่อง การมีสติสัมปชัญญะรอดของเวลา
จดหมายเหตุพุทธทาส


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 212 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO