๑๐. สุปินปัญหา ๗๗
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุรุษและสตรีทั้งหลายในโลกนี้ เห็นสุบินดีบ้างชั่วบ้าง เคยเห็นบ้าง ยังไม่เคยเห็นบ้าง เคยทำแล้วบ้าง ยังไม่เคยทำแล้วบ้าง เป็นของเกษมบ้าง เป็นไปกับด้วยภัยบ้าง มีในที่ไกล้าง มีในที่ใกล้บ้าง ย่อมเห็นสุบินทั้งหลายที่ควรพรรณนา มิใช่พันเดียว มีอย่างเป็นอันมาก. อะไรชื่อสุบินนั้นและคนชนิดไร ย่อมเห็นสุบินนั้น?" พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร นิมิตใด ย่อมเข้าใกล้คลองแห่งจิต นิมิตนั้น ชื่อว่าสุบิน. ชนทั้งหลายเหล่านี้หกพวก ย่อมเห็นสุบิน คือ ชนผู้ประกอบด้วยลมกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนผู้ประกอบด้วยดีกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนผู้ประกอบด้วยเสมหะกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะเทวดาอุปสังหรณ์หนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะตนเคยประพฤติมาหนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะนิมิตในก่อนหนึ่ง. บุคคลย่อมเห็นสุบินอันใดเพราะบุรพนิมิต สุบินอันนั้นแหละแน่ สุบินเหลือจากนั้นไม่แน่." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุคคลใด ย่อมเห็นสุบินเพราะบุรพนิมิต จิตของบุคคลนั้น ไปเลือกเอานิมิตเองหรือ, หรือว่านิมิตนั้น เข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น หรือว่าธรรมารมณ์อื่นมาบอกแก่จิตนั้น?" ถ. "ขอถวายพระพร จิตของบุคคลนั้น หาไปเลือกนิมิตนั้นไม่ และธรรมารมณ์ไร ๆ อื่น ก็หาได้มาบอกแก่จิตนั้นไม่, อันที่แท้นิมิตนั้นนั่นแล เข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น. กระจกหาได้ไม่เลือกเอาเงาในที่ไหน ๆ เองไม่, อะไร ๆ อื่น ก็หาได้นำเงามาให้ขึ้นสู่กระจกไม่, อันที่แท้เงามาแต่ที่ใดที่หนึ่ง เข้าใกล้คลองแห่งกระจกฉันใดก็ดี; จิตของบุคคลนั้น หาได้ไปเลือกเอานิมิตนั้นเองไม่ ธรรมารมณ์ไร ๆ อื่น ก็หาได้มาบอกไม่, อันที่แท้ นิมิตมาแต่ที่ใดที่หนึ่งเข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล." ร. "จิตนั้นใด ย่อมเห็นสุบิน จิตนั้น ย่อมรู้ว่า 'ผล คือ สุขเกษม หรือทุกข์ภัยจักมีอย่างนี้' ดังนี้บ้างหรือ?" ถ. "จิตนั้น ย่อมไม่รู้เลยว่า 'ผล คือสุขเกษมหรือทุกข์ภัยจักมี'ดังนี้: ก็ในเมืองนิมิตเกิดขึ้นแล้ว บุคคลผู้เห็นสุบิน ย่อมกล่าวแก่ชนทั้งหลายอื่น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงบอกเนื้อความให้." ร. "เชิญพระผู้เป็นเจ้าแสดงเหตุ." ถ. "ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกระหรือไฝหรือต่อมตั้งขึ้นในสรีระเพื่อลาภ เพื่อเสื่อมลาภ เพื่อยศ เพื่อเสื่อมยศ เพื่อนินทา เพื่อสรรเสริญ หรือเพื่อสุข เพื่อทุกข์. ต่อมเหล่านี้ รู้แล้วจึงเกิดขึ้นบ้าง หรือว่า 'เราทั้งหลาย จักยังประโยชน์ชื่อนี้ให้สำเร็จฉะนี้?" ร. "หาไม่ ต่อมเหล่านั้น ย่อมเกิดพร้อมในโอกาสเช่นใด บุคคลผู้รู้นิมิตทั้งหลาย เห็นต่อมเหล่านั้นในโอกาสนั้นแล้ว ย่อมทำนายว่า 'ผลจักมีอย่างนี้' ฉะนี้." ถ. "จิตนั้นใด ย่อมเห็นสุบิน จิตนั้น ย่อมไม่รู้ว่า' ผล คือ สุขเกษม หรือทุกข์ภัยจักมีอย่างนี้' ดังนี้: ก็ครั้นนิมิตเกิดขึ้นแล้วบุคคลผู้เห็นสุบินนั้น กล่าวแก่ชนทั้งหลายอื่น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงบอกเนื้อความให้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล." ร. "บุคคลใด เห็นสุบิน บุคคลนั้น หลับอยู่เห็นหรือว่าตื่นอยู่เห็น?" ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลนั้นใด เห็นสุบิน บุคคลนั้น หลับอยู่ย่อมไม่เห็น แม้ตื่นอยู่ก็ย่อมไม่เห็น, ก็แต่ในเมื่อความหลับหยั่งลงแล้ว ในเมื่อภวังค์ยังไม่ถึงพร้อมแล้ว บุคคลย่อมเห็นสุบินในระหว่างนั้น. จิตของบุคคลผู้ขึ้นสู่ความหลับ เป็นของถึงภวังค์แล้ว, จิตที่เป็นของถึงภวังค์แล้ว ย่อมไม่เป็นไป, จิตที่ไม่เป็นไปแล้ว ย่อมไม่รู้แจ้งซึ่งสุขและทุกข์, สุบินย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่รู้แจ้ง, ในเมื่อจิตเป็นไปอยู่บุคคลจึงเห็นสุบิน. ขอถวายพระพร เงาในกระจกแม้ใสดี ย่อมไม่ปรากฏในเวลามัวมืดไม่สว่าง ฉันใด, ในเมื่อจิตขึ้นสู่ความหลับถึงภวังค์แล้ว ในเมื่อสรีระแม้ตั้งอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไป, ครั้นจิตไม่เป็นไปแล้ว บุคคลย่อมไม่เห็นสุบิน ฉันนั้น. ขอถวายพระพร สรีระ บรมบพิตรควรทรงเห็นประดุจกระจก, ความหลับ บรมบพิตรควรทรงเห็นราวกะความมืด, จิต บรมบพิตรควรทรงเห็นประหนึ่งความสว่าง. ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง แสงแห่งพระอาทิตย์ที่มีหมอกบังเสีย ย่อมไม่ปรากฏ, รัศมีพระอาทิตย์มีอยู่ ก็ย่อมไม่เป็นไป, ครั้นรัศมีพระอาทิตย์ไม่เป็นไปแล้ว ความสว่างก็ย่อมไม่มี ฉันใด; จิตของบุคคลผู้ขึ้นพร้อมสู่ความหลับ เป็นของถึงภวังค์ จิตที่ถึงภวังค์ ย่อมไม่เป็นไป, ครั้นจิตไม่เป็นไปแล้ว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นสุบิน ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร สรีระ บรมบพิตรควรทรงเห็นอย่างพระอาทิตย์, ความหลับ บรมบพิตรควรทรงเห็นดังความที่หมอกบังเสียฉะนั้น, จิตบรมบพิตรควรทรงเห็นเช่นรัศมีพระอาทิตย์. ขอถวายพระพร ครั้นเมื่อสรีระของบุคคลทั้งหลายสองแม้มีอยู่จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้ว คือ เมื่อสรีระของบุคคลผู้ขึ้นพร้อมสู่ความหลับแล้ว ถึงภวังค์แล้ว แม้มีอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้วหนึ่ง, ครั้นเมื่อสรีระของบุคคลผู้เข้านิโรธ แม้มีอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้วหนึ่ง, จิตของบุคคลผู้ตื่นอยู่ เป็นของวุ่นวายเปิดเผยปรากฏไม่เสมอ, นิมิตย่อมไม่เข้าถึงคลองแห่งจิตของบุคคลเห็นปานนั้น. ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายผู้ปรารถนาความลับ ย่อมเว้นบุรุษผู้เปิดเผย ผู้ปรากฏ ผู้ไม่กระทำ ผู้ไม่ควรความลับ ฉันใด, เนื้อความดุจทิพย์ ย่อมไม่เข้าถึงคลองจิตแห่งบุคคลผู้ตื่นอยู่ ก็ฉันนั้นแล, เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่เห็นสุบิน. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เนื้อความดุจทิพย์ ย่อมไม่เข้าถึงคลองจิตแห่งบุคคลผู้ตื่นอยู่นั้น เปรียบเหมือนกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายปัญญาเครื่องตรัสรู้ ย่อมไม่ยังภิกษุผู้มีอาชีวะทำลายแล้ว ผู้ประพฤติไม่ควร ผู้เป็นบาปมิตร ผู้ทุศีล ผู้เกียจคร้าน ผู้มีความเพียรต่ำช้า ให้เข้าถึงคลองจิตฉะนั้น, เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่เห็นสุบิน." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของความหลับมีหรือ?" ถ. "ขอถวายพระพร เบื้องต้นของความหลับก็ดี ท่ามกลางของความหลับก็มี ที่สุดของความหลับก็มี." ร. "อะไรเป็นเบื้องต้น อะไรเป็นท่ามกลาง อะไรเป็นที่สุด?" ถ. "ขอถวายพระพร ความที่กายเกียจคร้าน ความที่กายย่อหย่อน ความที่กายมีกำลังชั่ว ความที่กายอ่อนเพลีย ความที่กายไม่ควรแก่การงาน อันใด อันนี้ เป็นเบื้องต้นแห่งความหลับ: ผู้ใดอันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว จิตที่เกลื่อนกล่นยังตื่นอยู่ อันนี้ เป็นท่ามกลางแห่งความหลับ; ความถึงภวังค์ เป็นที่สุดของความหลับ; บุคคลผู้เข้าถึงท่ามกลางของความหลับ อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้วย่อมเห็นสุบิน. ขอถวายพระพร ผู้บำเพ็ญเพียรบางคน มีจิตตั้งมั่น มีธรรมตั้งอยู่แล้ว มีปัญญาเครื่องรู้ไม่หวั่นไหว หยั่งลงสู่ป่ามีเสียงอื้ออึงละแล้ว คิดอยู่ซึ่งเนื้อความอันสุขุม, ผู้นั้นไม่หยั่งลงสู่ความหลับในป่านั้น, ผู้นั้นมีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์อันเดียว ย่อมแทงตลอดซึ่งเนื้อความอันสุขุม ฉันใด, บุคคลผู้ตื่น ไม่ถึงพร้อมความหลับ เข้าถึงเฉพาะ ซึ่งความหลับดุจวานร อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว ย่อมเห็นสุบิน ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร ความตื่นอยู่ บรมบพิตรควรทรงเห็นเหมือนเสียงอื้ออึง, บุคคลผู้อันความหลับดุจวานรครอบงำ บรมบพิตรควรทรงเห็นดุจป่าอันสงัด, บุคคลผู้ตื่นอยู่ไม่ถึงพร้อมความหลับ อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว ย่อมเห็นสุบิน ราวกะบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรนั้นละเสียซึ่งเสียงอื้ออึง เว้นเสียซึ่งความหลับ เป็นผู้มีตนเป็นท่ามกลางย่อมแทงตลอดซึ่งเนื้อความอันสุขุม ฉะนั้น." ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสนผู้เจริญ ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
วรรคที่เก้า ๑. กาลากาลมรณปัญหา ๗๘
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ตาย ย่อมตายในกาล หรือย่อมตายในสมัยไม่ใช่กาลบ้าง?" พระเถรเจ้าทูลว่า "ความตายในกาลก็มี ความตายในสมัยไม่ใช่กาลก็มี ขอถวายพระพร." ร. "สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น พวกไหนตายในกาล พวกไหนตายในสมัยไม่ใช่กาล?" ถ. "ขอถวายพระพร ก็ผลมะม่วงผลหว้าหรือผลไม้ชนิดอื่นดิบและสุก ซึ่งหล่นแล้วจากต้น บรมบพิตรเคยทอดพระเนตรหรือ?" ร. "เคยเห็นซิ พระผู้เป็นเจ้า. ถ. "ผลไม้ทั้งปวงซึ่งหล่นจากต้น ย่อมหล่นในกาลอย่างเดียวหรือว่าหล่นในสมัยไม่ใช่กาลบ้าง?" ร. "ผลไม้ทั้งปวงที่งอมหลุดหล่น ย่อมหล่นในกาล; บรรดาผลไม้ทั้งปวงที่เหลือจากนั้น ผลไม้บางอย่างหนอนไชหล่น บางอย่างนกตีหล่น บางอย่างลมตีหล่น บางอย่างเน่าข้างในหล่น, ผลไม้ทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมหล่นในสมัยไม่ใช่กาล." ถ. "ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายที่กำหนดความชรากำจัดแล้วตาย ชื่อว่าย่อมตายในกาล; สัตว์ทั้งหลายอันเหลือจากนั้น บางพวกตายด้วยกรรมชักนำ บางพวกตายด้วยคติชักนำ บางพวกตายด้วยกิริยาชักนำ ฉันนั้นนั่นเทียวแล." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ตายด้วยกรรมชักนำ คติชักนำ กิริยาชักนำ กำลังความชราชักนำ ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน; ถึงสัตว์ที่ตายในครรภ์มารดา ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือน, ถึงสัตว์ที่ตายในเรือนอยู่ไฟ, ที่อายุได้เดือนหนึ่งจึงตาย... ที่อายุได้ร้องปีจึงตาย ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน. ด้วยเหตุนี้ ธรรมดาว่าความตายในสมัยไม่ใช่กาล ไม่มีเลย; เหตุว่าสัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมตาย สัตว์เหล่านั้นทั้งปวง ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน." ถ. "ขอถวายพระพร บุคลทั้งหลายเจ็ดเหล่านี้ แม้มีอายุมากก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล คือ:- (๑) บุคคลผู้หิวอาหาร เมื่อไม่ได้โภชนะ มีภายในอันโรค คือ ความหิวเข้าเบียดเบียนแล้ว แม้อายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล, (๒) บุคคลผู้อยากน้ำ เมื่อไม่ได้น้ำควรดื่ม มีหทัยเหือดแห้ง แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล, (๓) บุคคลที่งูกัดอันกำลังพิษเบียดเบียนเฉพาะแล้ว เมื่อไม่ได้ผู้แก้ไข แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล, (๔) บุคคลผู้กินยาพิษ ครั้นอังคาพยพน้อยใหญ่เร่าร้อนอยู่ ไม่ได้ยากแก้ แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล, (๕) บุคคลถูกไฟไหม้ เมื่อไม่ได้ของที่ดับพิษไฟ แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล, (๖) บุคคลตกน้ำ เมื่อไม่ได้ที่อาศัย แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล, (๗) บุคคลผู้อันหอกประหารเอาเจ็บ เมื่อไม่ได้หมอรักษา แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล. ขอถวายพระพร บุคคลทั้งหลายเจ็ดเหล่านี้แล แม้มีอายุมากก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล. อาตมภาพกล่าวโดยส่วนหนึ่งในบุคคลเจ็ดแม้เหล่านั้น. ขอถวายพระพร กาลกิริยาย่อมมีแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยแปดอย่างคือ:- (๑) โดยโรคมีลมเป็นสมุฏฐาน, (๒) โดยโรคมีดีเป็นสมุฏฐาน, (๓) โดยโรคมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน, (๔) โดยโรคมีสันนิบาตเป็นสมุฏฐาน, (๕) โดยความแปรเปลี่ยนฤดู, (๖) โดยความบริหารอริยาบถไม่เสมอ, (๗) โดยความเพียรแห่งผู้อื่น, (๘) โดยวิบากแห่งกรรม, ในแปดอย่างนั้น กาลกิริยาโดยวิบากแห่งกรรมนั่นแล เป็นกาลกิริยาที่ควรได้โดยสมัย, กาลกิริยาที่เหลือจากนั้นเป็นกาลกิริยาที่ควรได้โดยกาลไม่ใช่สมัย ก็คาถาประพันธ์นี้มีอยู่ว่า:- "สัตว์ตายด้วยความหิวอาหาร ด้วยความอยากน้ำและอันงูกัดตายด้วยยาพิษ ด้วยไฟ น้ำ หอกทั้งหลาย ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาลนั้น. สัตว์ตายด้วยลมและดี ด้วยเสมหะ ด้วยสันนิบาต และด้วยฤดูทั้งหลาย และด้วยความบริหารอริยาบถไม่เสมอ และความเพียรแห่งผู้อื่นทั้งหลาย ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาลนั้น" ดังนี้. ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายบางพวกตายด้วยวิบากแห่งอกุศลกรรมนั้น ๆ ที่ได้ทำไว้ในกาลก่อน. สัตว์ในโลกนี้ที่ให้เขาตายด้วยความหิวอาหารในชาติก่อน เป็นผู้อันความหิวอาหารเบียดเบียนแล้วซบเซาแล้วด้วยความหิวอาหาร ลำบากอยู่ มีหัวใจแห้งเหี่ยว ถึงความเหือดแห้งแล้ว เกรียมอยู่ไหม้อยู่ ภายใน ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยความหิวอาหารนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย. สัตว์ที่ให้เขาตายโดยความอยากน้ำในชาติก่อน เป็นนิชฌามตัณหิกเปรตเศร้าหมองผอมมีหัวใจแห้ง ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยความอยากนั้นนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นี้ควรได้โดยสมัย. สัตว์ที่ให้งูกัดเขาตายในชาติก่อน วนเวียนอยู่ในปากงูเหลือม แต่ปากงูเหลือม ในปากงูเห่าแต่ปากงูเห่า อันงูทั้งหลายเหล่านั้นเกินแล้วและกินแล้ว อันงูทั้งหลายนั้นแหละกัดแล้ว ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย. สัตว์ที่ให้ยาพิษเขากินตายในชาติก่อน มีอังคาพยพน้อยใหญ่ไหม้อยู่ มีสรีระแตกอยู่ ยังกลิ่นศพให้ฟุ้งไปอยู่ ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยยาพิษนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย. สัตว์ที่ให้เขาตายด้วยไฟในชาติก่อน วนเวียนในภูเขาไฟแต่ภูเขาไฟ ในยมวิสัยแต่ยมวิสัย มีตัวไหม้แล้วและไหม้แล้ว ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยไฟนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย. สัตว์ที่ให้เขาตายด้วยน้ำในชาติก่อน มีตัวอันน้ำเบียดเบียนแล้ว กำจัดแล้ว ทำลายแล้ว และทุรพล มีจิตกำเริบ ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยน้ำนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย. สัตว์ที่ให้เขาตายด้วยหอกในชาติก่อน เป็นผู้ถูกเขาตัดทำลายทุบตี ถูกเขาเบียดเบียนด้วยปลายหอก ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยหอกนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวคำใดว่า 'ความตายในสมัยไม่ใช่กาลมีอยู่' ดังนี้ เชิญพระผู้เป็นเจ้าแสดงเหตุในคำนั้นแก่ข้าพเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร กองเพลิงใหญ่ไหม้หญ้าและไม้กิ่งไม้ใบไม้ มีเชื้อติดแล้ว ย่อมดับเพราะความสิ้นเชื้อ, เพลิงนั้นโลกกล่าวว่า ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ชื่อว่าย่อมดับในสมัย' ฉะนี้ ฉันใด, บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่สิ้นพันวันเป็นอันมาก แก่แล้วด้วยอำนาจความชรา ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะสิ้นอายุ บุคคลนั้นอันโลกกล่าวว่า 'เป็นผู้เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล." อีกนัยหนึ่ง ครั้นหญ้าและไม้กิ่งไม้ใบไม้ไหม้แล้ว มหาเมฆตกลงดับเพลิงใหญ่นั้นเสีย กองเพลิงใหญ่นั้นชื่อว่าดับในสมัยหรือหนอแล?" ร. "หาไม่เลย." ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร กองเพลิงมีในภายหลังไม่เป็นของมีคติเสมอกันกับกองเพลิงก่อน?" ร. "กองเพลิงนั้นอันเมฆจรมาเบียดเบียน จึงดับแล้วในกาลไม่ใช่สมัยซิ." ถ. "บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยไม่ใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ดี อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่เสมหะ อันโรคเกิดแต่ความประชุมพร้อมแห่งลมและดีเสมหะ อันโรคเกิดแต่ความแปรเปลี่ยนแห่งฤดู อันโรคเกิดแต่บริหารอิริยาบถไม่เสมอ อันโรคเกิดแต่ความเพียรแห่งผู้อื่นหรืออันความหิวอาหาร อันความอยากน้ำ อันงูกัด อันความกินยาพิษ อันไฟ อันน้ำ อันหอกเบียดเบียนแล้ว ชื่อว่าย่อมตายในสมัยไม่ใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. อันนี้เป็นเหตุในข้อที่สัตว์ตายในสมัยไม่ใช่กาลนี้. ขอถวายพระพร อนึ่ง มหาวลาหกตั้งขึ้นแล้วในอากาศตกลงยังที่ลุ่มและที่ดอนให้เต็ม มหาวลาหกนั้นโลกกล่าวว่า 'เมฆไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้' ดังนี้ ฉันใด, บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่นาน คร่ำคร่าแล้วด้วยอำนาจความชรา เป็นผู้ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะสิ้นอายุ บุคคลนั้นโลกกล่าวว่า 'เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อนึ่ง เหมือนอย่างว่า มหาวลาหกตั้งขึ้นแล้วในอากาศพึงถึงความอันตรธานไปด้วยลมมากในระหว่างนั่นเทียว, วลาหกนั้นเป็นของชื่อว่าหายแล้วในสมัยบ้างหรือ ขอถวายพระพร?" ร. "หาไม่." ถ. "ขอถวายพระพร ก็เพราะเหตุไรวลาหกมีในภายหลังไม่เป็นของมีคติเสมอกันกับด้วยวลาหกก่อนเล่า?" ร. "วลาหกนั้นอันลมที่จรมาเบียดเบียนแล้ว ถึงซึ่งกาลไม่ใช่สมัยหายแล้วซิ." ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยไม่ใช่กาล บุคคลผู้นั้นอันโรคที่จรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม... และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาล ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง อสรพิษมีกำลังโกรธแล้วกัดบุรุษคนหนึ่ง, พิษของอสรพิษไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ยังบุรุษนั้นให้ถึงความตาย, พิษนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ถึงที่สุด' ฉะนี้ ฉันใด;บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่นาย แก่แล้วด้วยอำนาจความชรา ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะสิ้นอายุ บุคคลนั้น โลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ถึงที่สุดแห่งชีวิต เข้าถึงความตายที่ควรได้ในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนหมองู ให้ยาแก่บุคคลที่อสรพิษมีกำลังกัดแล้ว พึงกระทำให้ไม่มีพิษในระหว่างนั่นเทียว พิษนั้นเป็นของชื่อว่าหายแล้วในสมัยบ้างหรือหนอแล?" ร. "หาไม่เลย พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "เพราะเหตุไร พิษมีในภายหลังนั้น ไม่ได้เป็นของมีคติเสมอกันกับด้วยพิษก่อนเล่า ขอถวายพระพร?" ร. "พิษอันยาที่จรมาเบียดเบียนแล้ว ยังไม่ถึงที่สุดนั่นเทียวหายแล้วซิ พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคที่จรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม....และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง นายขมังธนูแผลงศรไป. ถ้าศรนั้นไปสู่ที่ไปอย่างไรและทางที่ไปและที่สุด, ศรนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ชื่อว่าไปแล้วสู่ที่ไปอย่างไร และทางที่ไปและที่สุด' ฉะนี้ ฉันใด; บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่นาน แก่แล้วด้วยอำนาจความชราไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะสิ้นอายุ บุคคลนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนนายขมังธนูแผงศรไป, ใคร ๆ ถือเอาศรของนายขมังธนูนั้นเสียในขณะนั้นนั่นเทียว, ศรนั้นเชื่อว่าไปแล้วสู่ที่ไปอย่างไรและทางที่ไปและที่สุดบ้างหรือหนอแล?" ร. "หาไม่เลย พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "เพราะเหตุไร ศรมีในภายหลังนั้นไม่ได้เป็นของมีคติเสมอกันกับด้วยศรก่อนเล่า ขอถวายพระพร?" ร. "เพราะความถือเอาซึ่งจรมา ความไปของศรนั้นจึงขาดแล้วซิ." ถ. "บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม...และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาล ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเคาะภาชนะที่แล้วด้วยโลหะ, เสียงแห่งภาชนะนั้นเกิดแล้วแต่ความเคาะ ย่อมไปสู่ที่ไปอย่างไร และทางที่ไปและที่สุด, เสียงนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ชื่อว่าไปแล้วสู่ที่ไปอย่างไร และทางที่ไปและที่สุด' ฉะนี้ ฉันใด; บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่สิ้นพันวันเป็นอันมาก คร่ำคร่าแล้วด้วยสามารถความชรา ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายด้วยเหตุสิ้นอายุ บุคคลนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเคาะภาชนะที่แล้วด้วยโลหะ เสียงแห่งภาชนะนั้นพึงเกิดแต่ความเคาะ, ครั้นเสียงเกิดแล้วไปยังไม่ไกล ใคร ๆ มาจับต้อง เสียงก็ต้องเงียบพร้อมกันกับความจับต้อง, เสียงนั้นเป็นของชื่อว่าไปแล้วสู่ที่ไปอย่างไร และทางที่ไปและที่สุดบ้างหรือหนอแล?" ร. "หาไม่เลย พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "เพราะเหตุอะไร เสียงมีในภายหลังไม่ได้เป็นของมีคติเสมอ ๆ กันกับด้วยเสียงก่อนเล่า ขอถวายพระพร?" ร. "เสียงนั้นหยุดหายแล้วด้วยความที่ใคร ๆ จับต้องซึ่งจรมาซิ." ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาลบุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ โรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม...และอันกำลังหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาล ฉันนั้นนั่นแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ขอถวายพระพร อนึ่ง เหมือนอย่างว่าพืชแห่งข้าวเปลือกงอกงามแล้วในนา เป็นของมีรวงคลุมแผ่เกลื่อนกล่นมาก เพราะฝนตกมากย่อมถึงสมัยเป็นที่เก็บเกี่ยวแห่งข้าวกล้า, ข้าวเปลือกนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ เป็นของชื่อว่าถึงพร้อมด้วยสมัยแล้ว' ฉะนี้ ฉันใด;บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่สิ้นพันวันเป็นอันมาก คร่ำคร่าแล้วด้วยความชรา ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะเหตุสิ้นอายุ บุคคลนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อนึ่งเปรียบเหมือนพืชข้าวเปลือกงอกงามแล้วในนา วิกลด้วยน้ำพึงตายเสีย, ข้าวเปลือกนั้นเป็นของชื่อว่าถึงพร้อมด้วยสมัยแล้วบ้างหรือ ขอถวายพระพร?" ร. "หาไม่เลย." ถ. "เพราะเหตุไรเล่า ขอถวายพระพร ข้าวเปลือกมีในภายหลังไม่ได้เป็นของมีคติเสมอกันกับด้วยข้าวเปลือกก่อน?" ร. "ข้าวเปลือกนั้นอันความร้อนซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว จึงตายแล้วซิ." ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาลบุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม...และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว จึงตายในสมัยมิใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ขอถวายพระพร บรมบพิตรเคยทรงสดับว่า 'หนอนทั้งหลายตั้งขึ้นแล้วกระทำข้าวกล้ารุ่นอันสมูบรณ์แล้วให้ฉิบหายไปทั้งราก ฉะนี้หรือ?" ร. "เรื่องนั้นข้าพเจ้าเคยได้ยินและเคยเห็น." ถ. "ข้าวกล้านั้นฉิบหายในกาล หรือว่าฉิบหายในสมัยมิใช่กาล?" ร. "ในสมัยมิใช่กาลซิ; ถ้าว่า หนอนทั้งหลายไม่เคี้ยวกินข้าวกล้านั้นไซร้, ข้าวกล้านั้นพึงถึงสมัยเป็นที่เกี่ยว." ถ. "ข้าวกล้าพึงฉิบหายด้วยเหตุเข้าเบียดเบียนซึ่งจรมาแล้ว, ข้าวกล้าที่ไม่มีเหตุเข้าเบียดเบียน ย่อมถึงสมัยที่เกี่ยวหรือ ขอถวายพระพร?" ร. "อย่างนั้นซิ." ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นมาพร้อมแต่ลม...และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง บรมบพิตรเคยทรงสดับว่า 'ในเมื่อข้าวกล้าถึงพร้อมแล้ว ทรงรวงน้อมไปแล้ว ถึงความเป็นกอแล้ว ห่าฝนตกลงกระทำข้าวกล้าให้ฉิบหาย กระทำให้ไม่มีผล' ฉะนี้ บ้างหรือ?" ร. "เรื่องนั้นข้าพเจ้าเคยได้ยินด้วย เคยได้เห็นด้วย." ถ. "ขอถวายพระพร ข้าวกล้านั้นฉิบหายในกาล หรือว่าในสมัยมิใช่กาลเล่า?" ร. "ในสมัยมิใช่กาล; ถ้าว่าห่าฝนไม่พึงตกลงไซร้, ข้าวกล้านั้นพึงถึงสมัยเป็นที่เกี่ยว." ถ. "ข้าวกล้าย่อมฉิบหายด้วยเหตุเข้าเบียดเบียนซึ่งจรมา, ข้าวกล้าอันเหตุนั้นไม่เข้าเบียดเบียนแล้ว ย่อมถึงสมัยเป็นที่เกี่ยวหรือ ขอถวายพระ?" ร. "อย่างนั้นซิ." ถ."ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม...และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้." ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน น่าอัศจรรย์ พระผู้เป็นเจ้านาคเสนของไม่เคยมี ๆ แล้ว, เหตุพระผู้เป็นเจ้าสำแดงดีแล้ว, ข้ออุปมาเพื่อแสดงความตายในสมัยมิใช่กาลว่า 'ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่' ฉะนี้ พระผู้เป็นเจ้าสำแดงดีแล้ว กระทำให้ตื้นแล้ว กระทำให้ปรากฏแล้ว กระทำให้เป็นชัดแล้ว. แม้บุคคลผู้ฟุ้งซ่านด้วยหาความคิดมิได้ ก็พึงเข้าใจว่า 'ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่' ฉะนี้ ด้วยข้ออุปมาอันหนึ่ง ๆ ก่อน; จะกล่าวไปไย บุคคลผู้มีความคิดจะไม่พึงเข้าใจฉะนั้น. ข้าพเจ้าทราบแล้วด้วยข้ออุปมาเป็นประถมทีเดียวว่า 'ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่' ฉะนี้, ก็แต่ข้าพเจ้าอยากฟังเนื้อความเครื่องนำออกอื่น ๆ จึงยังไม่ยอมรับรองเสียแต่ชั้นต้น." ๒. ปรินิพพุตเจติยปาฏิหาริยปัญหา ๗๙
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ปรินิพพานแล้วทุกพวก, หรือว่าบางพวกจึงมี?" พระเถรเจ้าทูลว่า "บางพวกมี บางพวกไม่มี ขอถวายพระพร." ร. "พวกไหนมี พวกไหนไม่มี พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "ขอถวายพระพร ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว เพราะความอธิษฐานแห่งบุคคลสามพวก ๆ ใดพวกหนึ่ง, บรรดาบุคคลสามพวกนั้น พวกไหนบ้าง? ขอถวายพระพร พระอรหันต์ในโลกนี้ เมื่อยังดำรงชีพอยู่อธิษฐานไว้เพื่อความเอ็นดูเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายว่า 'ขอปาฏิหาริย์ในจิตกาธารจงมีอย่างนี้' ดังนี้, ปาฏิหาริย์ก็ย่อมมีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์นั้น ด้วยสามารถแห่งความอธิษฐาน; ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยสามารถแห่งความอธิษฐานของท่านเองอย่างนี้หนึ่ง. เทวดาทั้งหลายสำแดงปาฏิหาริย์ในจิตกาธาร แห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว เพื่อความเอ็นดูแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า 'พระสัทธรรมจักเป็นของอันสัตว์ทั้งหลาย ประคับประคองไว้เป็นนิตย์ด้วยปาฏิหาริย์นี้, และมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสแล้ว จักเจริญด้วยกุศล' ดังนี้; ปาฏิหาริย์ก็มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยความอธิษฐานแห่งเทพดาทั้งหลายอย่างนี้หนึ่ง. สตรีหรือบุรุษมีศรัทธาเลื่อมใสแล้ว เป็นบัณฑิตฉลาดมีปัญญาถึงพร้อมด้วยปัญญา คิดโดยแยบคายแล้ว จึงอธิษฐานของหอมดอกไม้ ผ้าหรือวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วยกขึ้นไว้ในจิตกาธารว่า 'ปาฏิหาริย์นี้จงมีเถิด' ดังนี้, ปาฏิหาริย์ก็มีในจิตรกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยสามารถแห่งความอธิษฐานแห่งสตรีหรือบุรุษนั้น; ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยอำนาจแห่งความอธิษฐานของมนุษย์ทั้งหลายอย่างนี้หนึ่ง. ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยอำนาจแห่งความอธิษฐานของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง แห่งบุคคลสามพวกเหล่านี้แล. ขอถวายพระพร ถ้าว่าความอธิษฐานของชนทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีไซร้, ปาฏิหาริย์ในจิตกาธารแม้แห่งพระขีณาสพผู้มีอภิญญาหกประการ ผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้มีอำนาจในจิต ก็ย่อมไม่มี. แต่ถึงปาฏิหาริย์ไม่มี เทวดามนุษย์ทั้งหลายเพ่งความประพฤติของท่านบริสุทธิดีแล้ว พึงหยั่งลง พึงเข้าใจ พึงเชื่อถือว่า 'พระพุทธโอรสนี้ปรินิพพานดีแล้ว' ฉะนี้." ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
๓. เอกัจจาเนกัจจานํ ธัมมาภิสมยปัญหา ๘๐
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ธรรมาภิสมัยความตรัสรู้ธรรมเกิดมีแก่บุคคลทั้งหลายทั้งปวง ผู้ปฏิบัติโดยชอบหรือ, หรือว่าไม่เกิดมีแก่บุคคลบางจำพวก." พระเถรเจ้าทูลว่า "เกิดมีแก่บุคคลบางจำพวก, ไม่เกิดมีแก่บุคคลบางจำพวก, ขอถวายพระพร." ร. "เกิดมีแก่บุคคลพวกไร, ไม่เกิดมีแก่บุคคลพวกไร พระผู้เป็นเจ้า?" ถ. "ขอถวายพระพร ธรรมาภิสมัยไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้เกิดในดิรัจฉานแม้ปฏิบัติดีแล้ว, และธรรมาภิสมัยไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้เกิดในเปตวิสัย แก่บุคคลผู้มิจฉาทิฏฐิ แก่บุคคลโกง แก่บุคคลผู้ฆ่ามารดา แก่บุคคลผู้ฆ่าบิดา แก่บุคคลผู้ฆ่าพระอรหันต์ แก่บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ แก่บุคคลผู้ทำโลหิตให้ห้อขึ้นในพระกายแห่งพระพุทธเจ้า แก่บุคคลผู้ลักสังวาส แก่บุคคลผู้หลีกไปสู่ลัทธิแห่งเดียรถีย์ แก่บุคคลผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี แก่บุคคลผู้ต้องครุกาบัติสิบสามอันใดอันหนึ่งแล้วไม่อยู่กรรม แก่บัณเฑาะก์ แก่อุภโตพยัญชนก แม้ปฏิบัติดีแล้ว, อนึ่ง ธรรมาภิสมัยไม่เกิดมีแม้แก่มนุษย์ยังเด็กผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี. ธรรมาภสมัยไม่เกิดมีแก่บุคคลสิบหกจำพวกเหล่านี้แม้ปฏิบัติดีแล้ว." ร. "ธรรมาภิสมัยเกิดมีหรือไม่เกิดมีแก่บุคคลสิบห้าจำพวก ซึ่งเป็นผู้ปิดทางดีแล้วก็ยกไว้เถิด, พระผู้เป็นเจ้า ก็แต่เพราะเหตุไรธรรมาภิสมัยจึงไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว? ปัญหาในข้อนี้ยังมีอยู่ก่อน. ราคะไม่มีแก่ทารก, โทสะก็ไม่มี, โมหะก็ไม่มี, มานะก็ไม่มี, ความเห็นผิดก็ไม่มี, ความชิงชังก็ไม่มี กามวิตกก็ไม่มี ไม่ใช่หรือ? ธรรมดาเด็กน้อยนั้นไม่เจือแล้วด้วยกิเลสทั้งหลายประกอบถึงที่แล้วย่อมควรจะตรัสรู้ของจริงสี่ด้วยความตรัสรู้อย่างเอก." ถ. "ขอถวายพระพร อาตมภาพกล่าวว่า 'ธรรมาภิสมัยไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้ปฏิบัติดีแล้ว' ฉะนี้ ด้วยเหตุไร. เหตุนั้นนั่นแลในปัญหานี้. ขอถวายพระพร ถ้าว่าเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี พึงกำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด พึงประทุษร้ายในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย พึงหลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง พึงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา พึงรู้แจ้งซึ่งความเห็น พึงรู้แจ้งซึ่งความยินดีและความไม่ยินดี พึงตรึกถึงอกุศลไซร้, ธรรมาภิสมัยพึงเกิดมีแก่เด็กน้อยนั้น. เออก็จิตของเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปีเป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อย อ่อนแอไม่มีแจ้ง, ส่วนนิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหนักมากใหญ่โต; เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี ไม่อาจตรัสรู้นิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหนักมากใหญ่โต ด้วยจิตซึ่งมีกำลังชั่วเล็กน้อยอ่อนแอไม่มีแจ้งนั้น. ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนพญาเขาสิเนรุเป็นของหนักใหญ่โต บุรุษจะพึงอาจเพื่อจะยกพญาเขาสิเนารุนั้นด้วยเรี่ยวแรงกำลัง และความเพียรอันมีอยู่ตามปกติของตนได้หรือ ขอถวายพระพร?" ร. "ไม่อาจเลย พระผู้เป็นเจ้า." ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?" ร. "เพราะความที่บุรุษมีกำลังทราม และเพราะความที่พญาเขาสิเนรุเป็นของใหญ่ซิ." ถ. "ขอถวายพระพร จิตเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี เป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อยอ่อนแอไม่มีแจ้ง, ส่วนนิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหนักมากใหญ่โต, เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี ไม่อาจตรัสรู้นิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหนักมากใหญ่โต ด้วยจิตซึ่งมีกำลังชั่วเล็กน้อย ซึ่งอ่อนแอไม่มีแจ้งฉันนั้นนั่นเทียวแล, ด้วยเหตุนั้น ธรรมาภิสมัยย่อมไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปีแม้ปฏิบัติดีแล้ว. ขอถวายพระพร อนึ่ง ราวกะว่าแผ่นดินใหญ่นี้ เป็นของยาวรีหนากว้างขวางมากมายใหญ่โต, โคร ๆ จะอาจให้แผ่นดินใหญ่นั้นชุ่มด้วยหยาดน้ำ หยาดนิดเดียวทำให้ลื่นได้หรือ ขอถวายพระพร?" ร. "ไม่อาจเลย." ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?" ร. "เพราะความที่น้ำหยาดหนึ่งเป็นของนิดเดียว, และเพราะความที่แผ่นดินใหญ่เป็นของโตซิ." ถ. "ขอถวายพระพร จิตของเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี เป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อย อ่อนแอ ไม่มีแจ้ง, ส่วนนิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของยาวรีหนากว้างขวางมากมายใหญ่โต, เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี ไม่อาจตรัสรู้นิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของใหญ่ ด้วยจิตซึ่งมีกำลังชั่วเล็กน้อยอ่อนแอไม่มีแจ้งนั้น ฉันนั้นนั่นแลเทียว, ด้วยเหตุนั้น ธรรมาภิสมัย ย่อมไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้ปฏิบัติดีแล้ว. ขอถวายพระพร อนึ่ง ราวกะไฟอันเป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่วเล็กน้อยนิดเดียว, ใคร ๆ จะอาจกำจัดความมืดในโลกกับทั้งเทวดาส่องให้สว่างด้วยไฟน้อยเพียงเท่านั้นได้หรือ ขอถวายพระพร?" ร. "ไม่อาจเลย." ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?" ร. "เพราะความที่ไฟเป็นของน้อย, และเพราะความที่โลกเป็นของใหญ่ซิ." ถ. "ของถวายพระพร จิตของเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี เป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อย อ่อนแอ ไม่มีแจ้ง, และจิตนั้นเป็นของอันความมือ คือ ความไม่รู้เท่าอย่างใหญ่ปิดแล้ว, เพราะเหตุนั้น ยากที่เด็กน้อยจะส่องแสงสว่าง คือ ความรู้เท่าได้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล, ด้วยเหตุนั้น ธรรมาภิสัย ย่อมไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้ปฏิบัติดีแล้ว ขอถวายพระพร. อีกประการหนึ่ง ราวกะหนอนกินหน่อไม้ เป็นสัตว์กระสับกระส่ายผอม และมีกายมีอณูเป็นประมาณ เห็นช้างประเสริฐผู้มีน้ำมันแตกทั่วโดยส่วนสาม มีอวัยวะยาวเก้าศอก กว้างสามศอก โอบอ้อมสิบศอก สูงแปดศอก ยืนอยู่ พึงคร่ามาเพื่อจะกลืนกิน หนอนกินหน่อไม้นั้น จะพึงอาจกลืนกินช้างประเสริฐนั้นได้หรือ ขอถวายพระพร?" ร. "ไม่อาจเลย." ถ. "เพราะเหตุอะไร ขอถวายพระพร?" ร. "เพราะความที่หนอนกินหน่อไม้เป็นสัตว์เล็ก และเพราะความที่ช้างประเสริฐเป็นสัตว์ใหญ่ซิ." ถ. "จิตของเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี เป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อย อ่อนแอ ไม่มีแจ้ง, ส่วนนิพพานธาตุ ซึ่งหาปัจจัยปรุงแต่มิได้ เป็นของใหญ่, เด็กน้อยนั้นไม่สามารถจะตรัสรู้นิพพานธาตุซึ่งหาปัจจัยปรุงแต่มิได้ เป็นของใหญ่ ด้วยจิตมีกำลังชั่วเล็กน้อย อ่อนแอ ไม่มีแจ้งนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล, ด้วยเหตุนั้น ธรรมาภิสัยย่อมไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้ปฏิบัติดีแล้ว." ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้า สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."
|