Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะจากหนังสือมิลินทปัญหา หน้า ๓๐๓-๓๑๓

อังคาร 10 เม.ย. 2018 8:15 am

๔. นิพพานอทุกขมิสสภาวปัญหา ๘๑

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวหรือ หรือว่าเจือด้วยทุกข์?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวหาเจือด้วยทุกข์ไม่."
ร. "ข้าพเจ้าไม่เชื่อ คำว่า 'นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว' นั้น. ข้าพเจ้าเห็นในปัญหาข้อนี้อย่างนี้ว่า 'นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์'ฉะนี้; และข้าพเจ้าจับเหตุในปัญหาข้อนี้ว่า 'นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์' ฉะนี้ได้, เหตุในปัญหาข้อนี้ เป็นไฉน? คือ ชนเหล่าใดแสวงหานิพพาน ความเพียรยังกิเลสให้เร่าร้อน ย่อมปรากฏแก่กายและจิตแห่งชนเหล่านั้น, และความระวัง การยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอาหาร, การปราบปรามความง่วงเหงา ความลำบากแห่งอายตนะทั้งหลาย ความละทรัพย์ที่ควรสงวนและญาติมิตรเป็นที่รัก ย่อมปรากฏแก่กายและจิตแห่งชนเหล่านั้น; ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นผู้ถึงความสุขอิ่มไปด้วยความสุข ชนเหล่านั้นทั้งหมด เขาย่อมยังอายตนะทั้งหลายให้ยินดี ให้เจริญจิตด้วยกามคุณทั้งห้า คือ เขายังจักษุให้ยินดีให้เจริญด้วยรูปที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก ยังใจให้เอิบอาบ, ยังโสตให้ยินดีให้เจริญจิตด้วยเสียที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังฆานะให้ยินดีให้เจริญจิตด้วยกลิ่นที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ แก่นไม้ ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังชิวหาให้ยินดี ให้เจริญจิตด้วยรสที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ของควรเคี้ยว ของควรบริโภค ของควรลิ้ม ของควรดื่ม ของควรชิม ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังกายให้ยินดี ให้เจริญจิต ด้วยผัสสะที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ละเอียดนุ่มอ่อนละมุน ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังใจให้ยินดี ให้เจริญ ด้วยความตรึกความทำในใจมีอย่างมาก คือ อารมณ์ดีและชั่ว อารมณ์งามและไม่งาม ที่ยังใจให้เอิบอาบ. ท่านทั้งหลายกำจัดเสีย ฆ่าเสีย ดับเสีย ทอนเสีย ปิดเสีย กั้นเสียซึ่งความเจริญแห่งจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย ใจนั้น, ด้วยเหตุนั้น แม้กายของผู้แสวงหานิพพาน ก็เร่าร้อน แม้จิตของผู้แสวงหานิพพาน ก็เร่าร้อน, ครั้นกายเร่าร้อน ผู้แสวงหานิพพาน ก็ย่อมเสวยทุกขเวทนาที่เป็นไปในกาย, ครั้นจิตเร่าร้อน ผู้แสวงหานิพพาน ก็ย่อมเสวยทุกขเวทนาที่เป็นไปในจิต, แม้ปริพพาชกชื่อ มาคันทิยะ เมื่อติเตียนพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า "พระสมณโคดมฆ่าความเจริญเสีย" ฉะนี้. เหตุนี้เป็นเหตุที่ข้าพเจ้ากล่าวในปัญหาข้อนี้ว่า "นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์" ฉะนี้.
ถ. "ขอถวายพระพร นิพพานไม่เจือด้วยทุกข์เลย นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว. ก็แต่บรมบพิตรรับสั่งข้อใดว่า 'นิพพานเป็นทุกข์.' ข้อนั้น จะชื่อว่านิพพานเป็นทุกข์ก็หาไม่, ก็แต่ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน, ข้อนั้น เป็นการแสวงหานิพพาน. นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวแท้ หาเจือด้วยทุกข์ไม่. อาตมภาพจะกล่าวเหตุในปัญหานั้นถวาย. ขึ้นชื่อว่าสุขในราชสมบัติมีแด่พระราชาทั้งหลายหรือขอถวายพระพร?"
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า สุขในราชสมบัติมีแด่พระราชาทั้งหลาย"
ถ. "ราชสมบัตินั้นเจือทุกข์บ้างหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ก็เพื่อเหตุไร ขอถวายพระพร พระราชาเหล่านั้น ครั้นปัจจันตชนบทกำเริบแล้ว จึงต้องพร้อมด้วยอมาตย์ราชภัฏขุนพลทวยหาญทั้งหลาย เสด็จไปประทับแรมเป็นผู้อันเหลือม และยุง ลม และแดดเบียดเบียนแล้ว ต้องทรงวิ่งไปในที่เสมอและไม่เสมอ ทรงกระทำการรบกันใหญ่ด้วย ถึงซึ่งความไม่แน่พระหฤทัยในพระชนมชีพด้วย เพื่ออันทรงเกียดกันเสียซึ่งข้าศึกทั้งหลายที่อาศัยปัจจันตชนบทอยู่เหล่านั้นแล?"
ร. "ข้อนั้น หาชื่อว่าเป็นสุขในราชสมบัติไม่, ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งความแสวงหาสุขในราชสมบัติ. พระราชาทั้งหลายแสวงหาราชสมบัติ ด้วยความทุกข์แล้ว ย่อมเสวยสุขในราชสมบัติ. เมื่อเป็นเช่นนี้ สุขในราชสมบัติไม่เจือด้วยทุกข์, สุขในราชสมบัตินั้นก็ต่างหากทุกข์ต่างหาก."
ถ. "ขอถวายพระพร นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์, ก็แต่ชนเหล่าใด แสวงหานิพพานนั้น ชนเหล่านั้น ต้องยังกายและจิตให้ระส่ำระสาย ต้องระวังการยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอาหารต้องปราบปรามความง่วงเหงา ต้องให้อายตนะลำบาก ต้องสละกายและชีวิต ต้องแสวงหานิพพานด้วยความทุกข์ แล้วย่อมเสวยนิพพานอันเป็นสุขส่วนเดียว ดุจพระราชาทั้งหลาย กำจัดปัจจามิตรเสียได้แล้ว เสวยสุขในราชสมบัติ ฉะนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวไม่เจือด้วยทุกข์, นิพพานต่างหาก ทุกข์ต่างหาก ฉันนั้นแล.
ขอถวายพระพร บรมบพิตรจงทรงสดับเหตุในปัญหาว่า 'นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์ ทุกข์ต่างหาก นิพพานต่างหาก' ฉะนี้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไป. ชื่อว่าสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ มีแก่อาจารย์ทั้งหลายผู้มีศิลปศาสตร์หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ มีแก่อาจารย์ทั้งหลายผู้มีศิลปศาตร์."
ถ. "เออก็ สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์นั้น เจือด้วยทุกข์หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่เจือเลย."
ถ. "ก็เพื่อเหตุอะไร ขอถวายพระพร อาจารย์เหล่านั้น เมื่อยังเป็นศิษย์ท่านอยู่ ยังกายให้ร้อนรน เพราะไม่เป็นอันนอนไม่เป็นอันกินด้วยต้องวางจิตของตนเสียประพฤติตามจิตของผู้อื่น คือ ต้องกราบไหว้และบำรุงอาจารย์ทั้งหลาย และต้องตักน้ำมาให้ กวาดที่อยู่ ให้ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก รับของเป็นเดนไปทิ้ง กลบกลิ่นไม่สะอาด ให้อาบน้ำ นวดเฟ้นเท้า?"
ร. "ข้อนั้น ไม่ชื่อว่าสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการแสวงหาศิลปศาสตร์. อาจารย์ทั้งหลาย แสวงหาศิลปศาสตร์ด้วยความทุกข์ แล้วได้เสวยสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์. เมื่อเป็นเช่นนี้ สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ไม่เจือด้วยทุกข์, สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์นั้นต่างหากทุกข์ต่างหาก."
ถ. "นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์, ก็แต่ชนเหล่าใดแสวงหานิพพานนั้น ชนเหล่านั้น ยังกายและจิตให้เดือดร้อน ต้องระวังรักษาอิริยาบถทั้งสี่และอาหาร ปราบปรามความง่วงเหงา ยังอายตนะทั้งหลายให้ลำบาก แล้วได้เสวยนิพพานอันเป็นสุขส่วนเดียว ประดุจอาจารย์ได้เสวยสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ฉะนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือทุกข์, ทุกข์ต่างหาก นิพพานต่างหาก ฉันนั้นแล."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้า สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๕. นิพพานปัญหา ๘๒

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสนผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวคำว่า "นิพพาน นิพพาน" ดังนี้ อันใด ก็พระผู้เป็นเจ้าอาจแสดงรูปสัณฐาน วัยหรือประมาณแห่งนิพพานนั้น โดยอุปมา โดยเหตุ โดยปัจจัย หรือโดยนัยได้หรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร นิพพานเป็นธรรมชาติไม่มีส่วนเปรียบ เพราะฉะนั้น อาตมภาพไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานโดยอุปมาเป็นต้นถวายได้."
ร. "ข้าพเจ้าไม่เคารพรับข้อซึ่งรูปเป็นต้นแห่งนิพพาน อันมีอยู่เป็นธรรมดาแต่หาปรากฏโดยอุปมาเป็นต้น หาได้ไม่, ขอพระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้ข้าพเจ้าทราบโดยเหตุ?"
ถ. "ข้อซึ่งทรงพระปรารภนั้น จงยกไว้ อาตมภาพจะให้บรมบพิตรทรงทราบโดยเหตุการณ์บัดนี้. มหาสมุทรมีอยู่หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "มหาสมุทรนั้นมีอยู่."
ถ. "ถ้าว่าใคร ๆ ทูลถามบรมบพิตรอย่างนี้ว่า 'น้ำในมหาสมุทรเท่าไร, และสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยมหาสมุทรเท่าไร' ฉะนี้; บรมบพิตรเป็นผู้อันเขาทูลถามอย่างนี้ จะทรงพยากรณ์แก่เขาว่ากะไร?"
ร. "ถ้าว่าใคร ๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ไซร้, ข้าพเจ้าจะต้องตอบเขาว่า 'ท่านมาถามเราผู้ไม่ควรถามล การถามนั้นอันใคร ๆ ไม่พึงถาม, เหตุว่าปัญหานั้นต้องยกเว้น, มหาสมุทรอันนักปราชญ์ผู้ปรากฏในโลกไม่แก้ไขแล้ว, เพราะฉะนั้น เราก็ไม่สามารถจะกำหนดนับน้ำในมหาสมุทรและสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในนั้นได้' ข้าพเจ้าต้องตอบเขาอย่างนี้."
ถ. "เพราะเหตุไรเล่า ขอถวายพระพร บรมบพิตรต้องตรัสตอบเขาอย่างนี้ ในเรื่องมหาสมุทรอันมีอยู่เป็นธรรมดา? บรมบพิตรควรทรงคำนวณนับแล้วรับสั่งกะเขาว่า 'น้ำในมหาสมุทรเท่านี้ และสัตว์ทั้งหลายเท่านี้ อาศัยอยู่ในมหาสมุทร' ฉะนี้ ไม่ใช่หรือ?"
ร. "ไม่อาจบอกได้ซิ, เพราะว่าปัญหานั้นไม่ใช่วิสัย."
ถ. "ขอถวายพระพร ใคร ๆ ไม่อาจกำหนดนับน้ำในมหาสมุทรซึ่งมีอยู่เป็นธรรมดา และสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในนั้นได้ ฉันใด, ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานอันมีอยู่เป็นธรรมดา โดยอุปมาเป็นต้นได้ ฉันนั้นแล. ขอถวายพระพร ท่านผู้มีฤทธิ์ถึงซึ่งความเป็นผู้มีอำนาจในจิต พึงคำนวณนับน้ำในมหาสมุทร และสัตว์ทั้งหลายอันอาศัยอยู่ในนั้นได้, ก็แต่ท่านไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานโดยอุปมาเป็นต้นได้เลย.
ขอบรมบพิตรทรงสดับเหตุซึ่งว่า 'ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานอันมีอยู่เป็นธรรมดา โดยอุปมาเป็นต้น'แม้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไป. เทวดาทั้งหลายชื่ออรูปกายิกา มีอยู่หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "เทพดาทั้งหลายชื่ออรูปกายิกา มีอยู่ซิ."
ถ. "ก็บรมบพิตรอาจทรงแสดงรูปเป็นต้น แห่งอรูปกายิกาเทพดาทั้งหลายเหล่านั้น โดยอุปมาเป็นต้นได้หรือ ขอถวายพระพา?"
ร. "ไม่อาจเลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ถ้าอย่างนั้น อรูปกายิกาเทพดาทั้งหลาย ไม่มีหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "อรูปกายิกาเทพดาทั้งหลายมีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า, ก็แต่ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้น แห่งอรูปกายิกาเทพดาเหล่านั้น โดยอุปมาเป็นต้นได้."
ถ. "ขอถวายพระพร ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งอรูปกายิกาเทพดาทั้งหลายอันเป็นสัตว์มีอยู่โดยอุปมาเป็นต้นได้ ฉันใด, ใคร ๆ ก็ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานอันมีอยู่เป็นธรรมดา โดยอุปมาเป็นต้นได้ ฉันนั้นแล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ นิพพาเป็นเอกันตสุขจริง ก็แต่ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานโดยอุปมาเป็นต้นได้. ถึงกระนั้น การแสดงคุณแห่งนิพพานเทียบเข้าด้วยเหตุทั้งหลายอื่นคงมีอยู่หรือแสดงเหตุอะไร ๆ สักว่าชี้อุปมาก็คงมีอยู่."
ถ. "ขอถวายพระพร การแสดงคุณแห่งนิพพานเทียบเข้าด้วยเหตุทั้งหลายอื่นโดยธรรมดาของตน ย่อมไม่มี, ก็แต่อาจแสดงเหตุอะไร ๆ สักว่าชี้อุปมาโดยคุณได้."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะได้เหตุสักว่าความชี้แจงแม้แต่โดยเอกเทศ ด้วยประการใด ขอพระผู้เป็นเจ้าแสดงโดยพลัน ด้วยประการนั้น, และขอพระผู้เป็นเจ้าดับความกระวนกระวายหัวใจของข้าพเจ้า, และขอได้แนะนำข้าพเจ้าด้วยลมกล่าว คือ ถ้อยคำอันเยือกเย็นและไพเราะ."
ถ. "ขอถวายพระพร คุณหนึ่งประการ แห่งดอกบัว,
คุณสองประการ แห่งน้ำ,
คุณสามประการ แห่งยา,
คุณสี่ประการ แห่งมหาสมุทร,
คุณห้าประการ แห่งโภชนะ,
คุณสิบประการ แห่งอากาศ,
คุณสามประการ แห่งแก้วมณี,
คุณสามประการ แห่งจันทน์แดง,
คุณสามประการ แห่งสัปปิอย่างใส,
คุณห้าประการแห่งยอดภูเขา แต่ล้วนเป็นคุณควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ คุณประการหนึ่งแห่งดอกบัวควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ดอกบัวอันน้ำไม่ซึมติดอยู่ได้ ฉันใด พระนิพพานอันกิเลสทั้งปวงก็ไม่ซึมติดอยู่ได้ ฉันนั้นแล. คุณประการหนึ่งแห่งดอกบัว ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณสองประการแห่งน้ำ ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่าพระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร น้ำเป็นของเย็นเป็นของดับความกระวนกระวายเสีย ฉันใด, นิพพานก็เป็นของเย็น เป็นของดับความกระวนกระจาย คือ กิเลสเสีย ฉันนั้น, นี้เป็นคุณที่หนึ่ง.
น้ำเป็นของบำบัดเสียซึ่งความอยากน้ำ ของหมู่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ผู้เหน็ดเหนื่อย สะดุ้งกลัว อยากน้ำ และเร่าร้อนเพราะฤดูร้อนฉันใด, นิพพานก็เป็นของบำบัดเสียซึ่งความกระหาย กล่าวคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ฉันนั้น, นี้เป็นคุณที่สอง. เหล่านี้แลคุณสองประการแห่งน้ำ ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณสามประการแห่งยา ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยาเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้อันพิษแห่งงูเป็นต้นเบียดเบียนแล้ว ฉันใด, นิพพานก็เป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้อันพิษกล่าวคือ กิเลสเบียดเบียนแล้ว ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
ยาเป็นของกระทำที่สุดแห่งโรค ฉันใด, นิพพานก็เป็นของกระทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
ยาเป็นของไม่ตาย ฉันใด, นิพพานก็เป็นของไม่ตาย ฉันนั้น นี้เป็นคุณที่สาม. เหล่านี้แล เป็นคุณสามประการแห่งยาควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณสี่ประการแห่งมหาสมุทร ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร มหาสมุทรเป็นของสูญว่างจากทรากศพทั้งปวง ฉันใด, นิพพานก็เป็นของสูญว่างจากทรากศพ กล่าวคือ กิเลสทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
มหาสมุทรเป็นของใหญ่แลไม่เห็นฝั่งนี้และฝั่งโน้น, ย่อมไม่เต็มด้วยน้ำที่ไหลมาทั้งปวง ฉันใด, นิพพานก็เป็นของใหญ่ ไม่มีฝั่งนี้และฝั่งโน้น, ย่อมไม่เต็มด้วยสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
มหาสมุทรเป็นที่อยู่แห่งภูตใหญ่ทั้งหลาย ฉันใด, นิพพานก็เป็นที่อยู่แห่งภูตใหญ่ทั้งหลายขีณาสพ ไม่มีมลทิน ถึงซึ่งกำลังและเป็นผู้มีความเป็นผู้สามารถ คือ พระอรหันต์ทั้งหลายมาก ฉันนั่น, นี่เป็นคุณที่สาม.
มหาสมุทรเบิกบานแล้วด้วยดอกไม้ กล่าวคือ คลื่นละลอกไพบูลมีอย่างต่าง ๆ อันนับไม่ได้ ฉันใด, นิพพานก็เบิกบานแล้วด้วยดอกไม้กล่าว คือ วิชชาและวิมุตติ อันบริสุทธิ์ไพบูลมีประการต่าง ๆ อันนับไม่ได้ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สี่. เหล่านี้แล เป็นคุณสี่ประการแห่งมหาสมุทรควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณห้าประการแห่งโภชนะ ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร โภชนะเป็นของทรงอายุแห่งสัตว์ทั้งปวงไว้ ฉันใด, นิพพานอันบุคลกระทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นของทรงอายุไว้ เพราะความที่ชราและมรณะหายไป ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
โภชนะเป็นของยังกำลังแห่งสัตว์ทั้งปวงให้เจริญ ฉันใด, นิพพานอันบุคคลกระทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นของยังกำลังฤทธิ์แห่งสัตว์ทั้งปวงให้เจริญ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
โภชนะเป็นเครื่องเกิดพรรณแห่งสัตว์ทั้งปวง ฉันใด, นิพพานอันบุคคลกระทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นเครื่องเกิดพรรณ คือ คุณความดีแห่งสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สาม.
โภชนะเป็นของระงับความกระวนกระวายแห่งสัตว์ทั้งปวงเสีย ฉันใด, นิพพานอันบุคคลกระทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นของระงับความกระวนกระวาย คือ กิเลสแห่งสัตว์ทั้งปวงเสียฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สี่.
โภชนะเป็นของบรรเทาความเป็นผู้มีกำลังชั่วด้วยสามารถความหิวแห่งสัตว์ทั้งปวงเสีย ฉันใด, นิพพานอันบุคคลกระทำให้แจ้งแล้วก็เป็นของบรรเทาความเป็นผู้มีกำลังชั่วด้วยสามารถความหิว กล่าวคือ ความทุกข์ทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่ห้า. เหล่านี้แล คุณห้าประการแห่งโภชนะ ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณสิบประการแห่งอากาศ ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร อากาศย่อมไม่รู้เกิดหนึ่ง ย่อมไม่รู้แก่หนึ่ง ย่อมไม่รู้ตายหนึ่ง ย่อมไม่จุติหนึ่ง ย่อมไม่เกิดอีกหนึ่ง, ยากที่อะไร ๆ จะข่มเหงได้และอันโจรลักนำไปไม่ได้หนึ่ง ไม่อาศัยอะไร ๆ หนึ่ง เป็นที่ไปแห่งนกหนึ่ง ไม่มีเครื่องกางกั้นหนึ่ง หาที่สุดมิได้หนึ่งฉันใด, นิพพานก็ย่อมไม่รู้เกิดหนึ่ง ย่อมไม่รู้แก่หนึ่ง ย่อมไม่รู้ตายหนึ่ง ย่อมไม่จุติหนึ่ง ย่อมไม่เกิดอีกหนึ่ง, ยากที่อะไร ๆ จะข่มเหงได้ และโจรลักนำไปไม่ได้หนึ่ง ไม่อาศัยอะไร ๆ หนึ่ง เป็นที่ไปแห่งพระอริยเจ้าหนึ่ง ไม่มีเครื่องกางกั้นหนึ่ง หาที่สุดมิได้หนึ่ง ฉันนั้น. เหล่านี้แล คุณสิบประการแห่งอากาศ ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "ก็คุณสามประการแห่งแก้วมณี ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ."ขอถวายพระพร แก้วมณีเป็นของให้ผลที่ใคร ๆ อยากได้ฉันใด, นิพพานก็เป็นของให้ผลที่ใคร ๆ อยากได้ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
แก้วมณีกระทำความร่าเริง ฉันใด, นิพพานก็กระทำความร่าเริงฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
แก้วมณีกระทำประโยชน์ให้รุ่งเรืองขึ้น ฉันใด, นิพพานก็กระทำประโยชน์ให้รุ่งเรืองขึ้น ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สาม. เหล่านี้แล คุณสามประการแห่งแก้วมณี ควรเทียบด้วยนิพพาน."
ร. "คุณสามประการแห่งแก่นจันทน์แดง ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร แก่นจันทน์แดงเป็นของที่หาได้ด้วยยากฉันใด, นิพพานก็เป็นของที่หาได้ด้วยยาก ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
แก่นจันทน์แดงเป็นสิ่งที่ไม่มีของหอมอื่นจะเสมอ ฉันใด, นิพพานก็เป็นธรรมชาติไม่มีของหอมอื่นเสมอ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
แก่นจันทน์แดงเป็นของอันบุคคลผู้ดีสรรเสริญ ฉันใด, นิพพานก็เป็นธรรมชาติอันพระอริยบุคคลสรรเสริญ ฉันนั้น นี่เป็นคุณที่สาม. นี้แล คุณสามประการแห่งแก่นจันทน์แดง ควรเทียบกับนิพพาน."
ร."ก็คุณสามประการแห่งสัปปิอย่างใด ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร สัปปิอย่างใส เป็นของถึงพร้อมด้วยสีฉันใด, นิพพานก็เป็นของถึงพร้อมด้วยสีกล่าว คือ คุณความดี ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
สัปปิอย่างใส เป็นของถึงพร้อมด้วยกลิ่น ฉันใด, นิพพานก็เป็นของถึงพร้อมด้วยกลิ่นกล่าวคือศีล ฉันนั้น, เป็นคุณที่สอง.
สัปปิอย่างใส เป็นของถึงพร้อมด้วยรส ฉันใด, นิพพานก็เป็นของถึงพร้อมด้วยรส ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สาม. เหล่านี้แล เป็นคุณสามประการแห่งสัปปิอย่างใส ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "ก็คุณห้าประการแห่งยอดภูเขา ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยอดภูเขาเป็นของสูง ฉันใด, นิพพานก็เป็นของสูง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
ยอดภูเขาเป็นของไม่หวั่นไหว ฉันใด, นิพพานก็เป็นของหวั่นไหว ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
ยอดภูเขาเป็นของยากที่จะขึ้นไปได้ ฉันใด, นิพพานก็เป็นของยากที่กิเลสทั้งปวงจะขึ้นไปได้ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สาม.
ยอดภูเขาเป็นที่ไม่งอกขึ้นแห่งพืชทั้งปวง ฉันใด, นิพพานก็เป็นที่ไม่งอกขึ้นแห่งกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สี่.
ยอดภูเขา เป็นของพ้นพิเศษแล้วจากความเป็นที่ยินดียินร้ายฉันใด, นิพพานก็เป็นของพ้นวิเศษแล้วจากความยินดีและความยินร้ายฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่ห้า. เหล่านี้แลคุณห้าประการแห่งยอดเขาควรเทียบกับนิพพาน"
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๖. นิพพานสัจฉิกรณปัญหา ๘๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า "นิพพานไม่ใช่เป็นธรรมชาตล่วงไปแล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาต ยังไม่มาถึง ไม่ใช่เป็นธรรมชาตเกิดขึ้นเฉพาะหน้า, ไม่ใช่เป็นธรรมชาตเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาตไม่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาตอันกิเลสทั้งหลายยึดมั่น" ฉะนี้. ก็บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน บุคคลผู้นั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานที่เกิดขึ้นแล้ว หรือว่ายังนิพพานให้เกิดขึ้นแล้วจึงกระทำให้แจ้ง?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน บุคคลผู้นั้นไม่กระทำให้แจ้ง ซึ่งนิพพานที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้ยังนิพพานให้เกิดแล้วจึงกระทำให้แจ้ง. ก็แต่ว่านิพพานธาตุที่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วกระทำให้แจ้งมีอยู่."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าอย่าแสดงปัญหานี้กระทำให้ปกปิด, จงแสดงกระทำให้เปิดเผยให้ปรากฏ, พระผู้เป็นเจ้าจงเกิดฉันทะ เกิดอุตสาหะกระจายข้อความทั้งปวงที่พระผู้เป็นเจ้าศึกษาแล้วในปัญหานี้, มหาชนนี้หลงพร้อมแล้ว เกิดความสงสัย แล่นไปสู่ความสงสัยในปัญหานี้, พระผู้เป็นเจ้าจงทำลายลูกศรกล่าวคือโทษภายในเสีย."
ถ. "ขอถวายพระพร นิพพานธาตุนั้นเป็นธรรมชาตระงับแล้วเป็นสุขประณีต, บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลายตามคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าผู้ชำนะแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้นด้วยปัญญา.
ขอถวายพระพร อันเตวาสิกย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งวิทยาด้วยปัญญา ตามคำพร่ำสอนแห่งอาจารย์ ฉันใด, บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานด้วยปัญญา ตามคำพร่ำสอนแห่งพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว ฉันนั้น. ก็นิพพานอันบัณฑิตพึงเห็นอย่างไร? พึงเห็นโดยความเป็นของไม่มีเหตุร้าย โดยความเป็นของไม่มีอันตราย โดยความเป็นของไม่มีภัย โดยความเป็นของเกษม โดยความเป็นของระงับแล้ว โดยความเป็นสุข โดยความเป็นของสำราญ โดยความเป้นของประณีต โดยความเป็นของสะอาด โดยความเป็นของเยือกเย็น.
ขอถวายพระพร บุรุษร้อนอยู่ด้วยไฟอันโพลงร้อน มีกองไม้มากพ้นจากไฟนั้นด้วยความพยายามแล้ว เข้าไปสู่โอกาสไม่มีไฟ พึงได้สุขอย่างยิ่งในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใดปฏิบัติชอบ บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นสุขอย่างยิ่ง อันมีความร้อนพร้อม คือ ไฟสามอย่างไปปราศแล้ว ด้วยความกระทำในใจโดยแยบคาย ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ไฟได้แก่ไฟสามอย่าง บุรุษผู้ไปแล้วในไฟได้แก่บุคคลปฏิบัติชอบแล้ว โอกาสอันหาไฟมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้ไปแล้วสู่กองส่วนแห่งทรากศพงูสุนัขและมนุษย์และคูถ เข้าไปแล้วสู่ระหว่างปะปนด้วยหมู่ทรากศพ พ้นจากทรากศพนั้นด้วยความพยายามแล้วเข้าไปสู่โอกาสหาทรากศพมิได้ พึงได้สุขอย่างยิ่งในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใดปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นสุขอย่างยิ่ง อันปราศจากทรากศพ กล่าวคือ กิเลสด้วยความกระทำในใจโดยแยบคาย ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ทรากศพได้แก่กามคุณห้าประการ บุรุษผู้ไปสู่ทรากศพได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติขชอบ โอกาสหาทรากศพมิได้นั้นได้แก่นิพพาน.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้สะดุ้งหวาดกลัวแล้ว มีจิตแปรปรวนหมุนไปแล้ว พ้นจากจิตเช่นนั้นด้วยความเพียรแล้ว เข้าไปสู่ที่หาภัยมิได้ และมั่นคงไม่หวั่นไหว พึงได้บรมสุขในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใดปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นบรมสุข มีความกลัวและความสะดุ้งไปปราศแล้ว ด้วยโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ภัยได้แก่ภัยที่อาศัย ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นไปเนือง ๆ บุรุษผู้กลัวได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ สถานซึ่งหาภัยมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่าบุรุษล้มลงที่ประเทศเต็มไปด้วยเลนตมอันหม่นหมอง ชำระล้างเลนตมนั้นเสียด้วยความเพียรแล้ว เข้าไปสู่ประเทศหมดจดไม่มีมลทิน พึงได้บรมสุขในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใด ปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้น ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน อันเป็นบรมสุข อันมีเปือกตมหม่นหมอง คือ กิเลสไปปราศแล้วด้วยโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร เปือกตม ได้แก่ลาภสักการะและความสรรเสริญบุรุษผู้ไปสู่เปือกตม ได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ ประเทศอันบริสุทธิ์หามลทินมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน.
ก็แหละ บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้นเป็นไฉน? ขอถวายพระพร คือ บุคคลใด ปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย, เมื่อพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตาย ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น, บุคคลนั้น ย่อมไม่เห็นซึ่งอะไร ๆ ในเบื้องต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา.
ขอถวายพระพร บุรุษย่อมไม่เห็นซึ่งประเทศแห่งหนึ่ง ข้างต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด ในก้อนเหล็กแดงร้อนอยู่ตลอดวัน ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ฉันใด, บุคคลใด พิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย บุคคลนั้น เมื่อพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายอยู่ ย่อมเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น, ย่อมไม่เห็นความสุขความสำราญหน่อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น, ย่อมไม่เห็นอะไร ๆ ในเบื้องต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ฉันนั้น. เมื่อบุคคลนั้นได้เห็นอะไร ๆ ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ความไม่สบายในจิตก็ย่อมตั้งอยู่พร้อม, ความเร่าร้อนในกายก็ย่อมหยั่งลง, บุคคลนั้น เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่งย่อมเบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย.
ขอถวายพระพร บุรุษพึงเข้าไปสู่กองไฟใหญ่ มีเปลวรุ่งเรือง, บุรุษนั้น เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่งของตนในกองไฟนั้น พึงเบื่อหน่ายในไฟ ฉันใด, เมื่อบุคคลนั้นไม่เห็นอะไร ๆ ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ความไม่สบายในจิตย่อมตั้งอยู่พร้อม, ความเร่าร้อนในกายย่อมหยั่งลง, บุคคลนั้น เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่ง พึงเบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย ฉันนั้น. เมื่อบุคคลนั้นเห็นภัยในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเป็นปกติ จิตย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า 'ก็ความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายนี้ เป็นของร้อนพร้อม ร้อนแต่ต้น ร้อนโดยรอบมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก;ถ้าใคร ๆ มาได้ความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายไซร้, คือ ธรรมชาตนี้ใด ธรรมเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่คลายย้อม ธรรมเป็นที่เงียบหาย ธรรมเป็นที่ดับ ธรรมชาตนั้นเป็นของระงับแล้ว ธรรมชาตนั้นเป็นของประณีต ดังนี้. จิตนี้ของบุคคลนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมร่าเริง ในความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายว่า 'ความออกไปจากภพทั้งสาม อันเราได้เฉพาะแล้ว' ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร บุรุษผู้เสียหายแล้ว หลีกไปสู่ต่างประเทศแล้ว เห็นหนทางที่นำออกแล้ว ย่อมแล่นไป ย่อมพอใจ ย่อมร่าเริงในหนทางนั้นว่า 'หนทางเป็นที่นำออกจากความพินาศ อันเราได้เฉพาะแล้ว' ฉะนี้ ฉันใด, จิตของบุคคลผู้เห็นภัยในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเป็นปกติ ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมร่าเริง ในความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายว่า 'ความออกไปจากภพทั้งสามอันเราได้เฉพาะแล้ว'ฉะนี้ ฉะนั้น. บุคคลนั้น ประมวลมา แสวงหาให้เจริญกระทำให้มาก ซึ่งหนทางเพื่อความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายอยู่, สติวิริยะและปีติของบุคคลนั้นย่อมตั้งมั่น เพื่อความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายนั้น. เมื่อบุคคลนั้นกระทำในใจซึ่งจิตนั้นเนือง ๆ จิตก็ก้าวล่วงความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเสีย หยั่งลงยังความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย;ขอถวายพระพร บุคคลผู้ถึงความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว บัณฑิตย่อมกล่าวว่า 'เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน' ฉะนี้."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น.
ตอบกระทู้