พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ศุกร์ 13 เม.ย. 2018 6:45 pm
อนุมานปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ภิกษุมาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ทั้งหลายเท่าไร จึงกระทำให้แจ้งพระอรหัต?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ภิกษุในศาสนานี้ ผู้ใคร่จะกระทำให้แจ้งพระอรหัต
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งลามีเสียงอันพิลึก.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งไก่.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งกระแต.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งนางเสือเหลือง.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งเสือเหลือง.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งเต่า.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งปี.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งรางปืน.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งกา.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งลิง.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งเถาน้ำเต้า.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งบัว.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งพืช.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งไม้ขานาง.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งเรือ.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งสมอเรือ.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งเสากระโดง.
ต้องถือเอาองค์องค์สามประการ แห่งต้นหน.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งคนกระทำการงาน.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งมหาสมุทร.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งแผ่นดิน.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งน้ำ.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งเพลิง.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งลม.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งภูเขา.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งอากาศ.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งพระจันทร์.
ต้องถือเอาองค์เจ็ดประการ แห่งพระอาทิตย์.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งพระอินทร์.
ต้องถือเอาองค์สี่ประการ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งปลวก.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งแมว.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งหนู.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งแมลงป่อง.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งพังพอน.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งสุนัขจิ้งจอกแก่.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งเนื้อ.
ต้องถือเอาองค์สี่ประการ แห่งโค.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งสุกร.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งช้าง.
ต้องถือเอาองค์เจ็ดประการ แห่งราชสีห์.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งนกจากพราก.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งนางนกเงือก.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งนกพิราบเรือน.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งนกเค้า.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งนกสตปัตต (นกมีขนปีกร้อยหนึ่ง)
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งค้างคาว.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งปลิง.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งงู.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งงูเหลือม.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งแมลงมุมชักใยใกล้ทาง.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งทารกกินนม.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งเต่าเหลือง.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งป่าชัฏ.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งต้นไม้.
ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งฝน.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งแก้วมณี.
ต้องถือเอาองค์สี่ประการ แห่งพรานเนื้อ.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งพรานเบ็ด.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งช่างไม้.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งหม้อ.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งกาลักน้ำ.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งร่ม.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งนา.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งยา.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งโภชนะ.
ต้องถือเอาองค์สี่ประการ แห่งคนแผลงศร.
ต้องถือเอาองค์สี่ประการ แห่งพระราชา.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งนายประตู.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งหินบด.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งประทีป.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งนกยูง.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งม้า.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งนักเลง.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งธรณีประตู.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งคันชั่ง.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งพระขรรค์.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งปลา.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งลูกหนี้.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งคนเจ็บ.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งคนตาย.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งแม่น้ำ.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งโคผู้.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งหนทาง.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งคนเรียกส่วย.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งโจร.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งเหยี่ยว.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งสุนัข.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งหมอ.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งหญิงมีครรภ์.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งนางจามรี.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งนกกระแตติวิด.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งนางนกพิราบ.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งคนมีตาข้างเดียว.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งชาวนา.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งนางสุนัขป่า.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งผอบน้อย.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งทัพพี.
ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งคนใช้หนี้.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งคนตรวจเนือง ๆ.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งนายสารถี.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งนายอำเภอ.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งช่างหูก.
ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งคนเดินเรือ.
ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งแมลงภู่.”
โฆรสร วรรคที่หนึ่ง
พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งลามีเสียงอันพิลึกนั้น เป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ธรรมดาลามีเสียงอันพิลึกที่ประตูบ้านบ้าง ที่กองแกลบบ้าง ที่ใดที่หนึ่ง, ไม่เป็นสัตว์นอนมากฉันใด; โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ลาดปูท่อนหนึ่ง ณ เครื่องลาด หญ้าบ้าง ณ เครื่องลาดใบไม้บ้าง ณ เตียงไม้บ้าง ณ แผ่นดินบ้าง ที่ใดที่หนึ่งแล้ว นอนในที่ใดที่หนึ่ง, ต้องไม่เป็นผู้นอนมาก ฉันนั้นแล. นี้แล ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งลามีเสียงอันพิลึก.
แม้พระพระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
‘ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ สาวกทั้งหลายของเรา ตั้งไว้ซึ่งความสำคัญในรูปดุจท่อนฟืน เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว มีความเพียร ยังกิเลสให้ร้อนทั่วในความเพียรอยู่’ดังนี้.
แม้คำนี้ อันพระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
‘เมื่อภิกษุนั่งอยู่แล้วด้วยบัลลังก์ เธอชื่อว่าอาศัยอยู่ด้วยเข่า; ควรที่ภิกษุมีจิตส่งไปแล้ว จะมีธรรมเป็นที่อยู่สำราญ ฉะนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งไก่นั้น เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ไก่ย่อมหลีกเร้นอยู่โดยกาลโดยสมัย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้อง
กวาดลานเจดีย์ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้แล้ว ชำระสรีระอาบน้ำแล้ว ไหว้เจดีย์แล้ว ไปหาภิกษุผู้เฒ่าทั้งหลายโดยกาลโดยสมัย เข้าไปสู่เรือนว่างโดยกาลโดยสมัย ฉันนั้นแล. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งไก่.
อนึ่ง ไก่ย่อมออกจากที่หลีกเร้นโดยกาลโดยสมัย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกบอความเพียร ก็ต้องออกกวาดลานเจดีย์ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ชำระสรีระแล้ว ไหว้เจดีย์โดยกาลโดยสมัยแล้ว เข้าไปสู่เรือนว่างเปล่าอีก ฉันนั้นแล. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งไก่.
อนึ่ง ไก่คุ้ย ๆ ดิน กินของที่ควรกิน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องพิจารณาแล้ว ๆ บริโภคของที่ควรบริโภค ด้วยปัจจเวกขณ์ว่า ‘เราไม่บริโภคเพื่อจะเล่น ไม่บริโภคเพื่อจะมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประดับ ไม่บริโภคเพื่อจะตกแต่งประเทืองผิวเลยทีเดียว, เราบริโภคเพียงเพื่อตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อจะกำจัดความเบียดเบียนลำบาก คือ ความหิวอยากอาหารเสีย เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์;ด้วยคิดเห็นว่า ‘ด้วยอันบริโภคนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น, และความที่กายจักไปได้นาน จักมีแก่เรา ความเป็นผู้ไม่มีโทษจักมีแก่เรา ความอยู่สบายจักมีแก่เรา’ ดังนี้ ฉันนั้นแล. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งไก่.
แม้พระผู้มีพระภาค้าเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
‘ภิกษุผู้ไม่ซบเซาในประโยชน์อันให้อัตภาพเป็นไป บริโภคอาหารดุจบุคคลบริโภคเนื้อบุตรในทางกันดาร
และเหมือนน้ำมันสำหรับยอดเพลารถ ฉะนั้น’ ดังนี้.
อนึ่ง ไก่แม้เป็นไปด้วยจักษุในกลางวัน เป็นผู้มีตาฟางดังตาบอดในกลางคือ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เป็นผู้ไม่บอดเลย ก็ต้องเป็นผู้ราวกะบอด อยู่ในป่าก็ดี เที่ยวเพื่อบิณฑบาตในโคจรคามก็ดี ต้องเป็นผู้ราวกะคนบอดคนหนวกคนใบ้ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่พึงถือเอาซึ่งนิมิต ไม่พึงถือเอาซึ่งอนุพยัญชนะในรูปเป็นต้น อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดนั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งไก่.
แม้พระกัจจายนเถระ ก็ได้ภาสิตคำนี้ไว้ว่า:-
‘ภิกษุมีจักษุเห็น ก็กระทำเหมือนตาบอด มีโสตได้ยิน ก็กระทำเหมือนหูหนวก มีชิวหาพูดได้ ก็กระทำเหมือนคนใบ้ มีกำลังก็กระทำเหมือนคนไม่มีกำลัง ในเมื่อความต้องการเกิดขึ้นพร้อมพึงนอนเสียดุจคนนอนตาย’ ดังนี้.
อนึ่ง ไก่แม้อันบุคคลจะทิ้งขว้างด้วยก้อนดินท่อนไม้ ไม้ค้อน ไม้ตะบอง เพื่อให้มันทิ้งลืมรัง มันก็ย่อมไม่
ละเว้นรังของตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร กระทำจีวรกรรม นวกรรม วัตรปฏิวัตรก็ดี เรียนบาลีอัฏฐกถา บอกบาลีอัฏฐกถาก็ดี ก็ไม่ได้ละทิ้งความกระทำในใจโดยแยบคาย ฉันนั้น; ความกระทำในใจโดยแยบคายนั้นแล เป็นเรือนของพระโยคาวจรผู้ประกอบความเพียร. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งไก่.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
‘ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าเป็นโคจรของตน เป็นของบิดา เป็นวิสัยของภิกษุ, คือ สติปัฏฐานสี่’ฉะนี้.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
‘ไก่ที่รู้ดี ย่อมไม่ละทิ้งรังของตน, เพราะว่า ย่อมรู้แจ้งสิ่งที่เป็นภักษาและไม่ใช่ย่อมเข้าใจการเลี้ยงชีพของตน ฉันใด, พุทธโอรส ก็พึงเป็นผู้ไม่ประมาทในพระศาสนา ไม่ละเลย มนสิการอันประเสริฐอุดมในการไหน ๆ ฉันนั้น., ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งกระแตนั้น เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร กระแตเมื่อศัตรูมารบกวน ก็พองหางของตนให้ใหญ่เข้าต่อสู้กับศัตรู ฉันใด;
โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องต่อสู้กิเลสทั้งปวงด้วยสติปัฏฐาน ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งกระแต.
แม้พระจูฬปันถกเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
‘เมื่อใด กิเลสทั้งหลายมารบกวนเพื่อกำจัดสามัญคุณเสีย พึงฆ่ากิลสเหล่านั้นเสีย ด้วยสติปัฏฐานเนือง ๆ’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งนางเสือเหลือง เป็นไฉน?”
ถ.”ขอถวายพระพร นางเสือเหลืองย่อมมีครรภ์ครั้งเดียว มิได้มีเนือง ๆ เหมือนสัตว์อื่น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เห็นปฏิสนธิความเกิดขึ้น ความนอนในครรภ์ต่อไป และจุติ ความทำลาย ความสิ้นไป ความฉิบหาย ภัยในสงสารวัฏ ทุคติ ความเสมอปราศ ความเบียดเบียนแล้ว ก็ต้องกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบว่า ‘เราจักไม่ปฏิสนธิในภพอีก’ ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนางเสือเหลือง.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในธนียโคปาลกสูตร ในสุตตนิบาตว่า :-
‘เราจักไม่เข้าถึงซึ่งอันนอนในครรภ์อีก ดุจโคหลุดจากเครื่องผูกแล้ว, และช้างทำลายเถาวัลย์เครื่องพันผูกออกได้แล้ว ไม่กลับมาสู่เครื่องผูกนั้นได้อีก ฉะนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายปรารถนาความถึงที่สุดแห่งทุกข์ ฉะนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งเสือเหลือง เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร เสือเหลืองอาศัยชัฏหญ้า ชัฏป่า หรือชัฏภูเขา ซ่อนตัวจับเนื้อทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องเสพที่วิเวก, คือป่า รุกขมูล ภูเขา ซอกภูเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าอันวังเวง ที่แจ้ง กองฟาง ที่เงียบ ทีไม่กึกก้อง ที่สมควรเป็นที่เร้น; จริงอยู่ โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เมื่อเสพที่วิเวก ย่อมถึงซึ่งเป็นความเป็นผู้มีอำนาจในอภิญญาหก ไม่นานนั่นเทียว ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งเสือเหลือง.
ถึงพระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
‘ธรรมดาเสือเหลือง ย่อมซ่อนตัวจับเนื้อทั้งหลาย ฉันใด, พุทธโอรส ผู้มีความเพียรอันประกอบแล้ว มี
ปัญญาเห็นแจ้งเข้าสู่ป่าถือเอาซึ่งผลอันอุดม ฉันนั้น’ ดังนี้.
อนึ่ง เสือเหลืองฆ่าสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งแล้ว ไม่กินสัตว์นั้นที่ล้มลงข้างซ้าย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ไม่บริโภคโภชนะที่สำเร็จด้วยการให้ไม้ไผ่ การให้ใบไม้ การให้ดอกไม้ การให้ผลไม้ การให้น้ำอาบ การให้ดิน การให้จุรณ์ การให้ไม้ชำระฟัน การให้น้ำบ้วนปาก ด้วยอันกระทำการงานเพื่อปัจจัยสี่ ด้วยความเป็นลูกจ้าง ด้วยกรรมเป็นที่ส่งไปด้วยแข้ง ด้วยการเป็นหมอ ด้วยการเป็นทูต ด้วยการให้และให้ตอบ ด้วยวัตถุวิชชา นักขัตตวิชชา อังควิชชา และกรรมเครื่องอาศัยเป็นอยู่ผิดอันใดอันหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงติ ดุจเสือเหลือไม่กินสัตว์ที่ล้มลงข้างซ้าย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งเสือเหลือง.
ถึงพระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
‘ถ้าว่า เราบริโภคมธุปายาสที่เกิดขึ้นแล้ว แต่อันเปล่งวจีวิญญัติออกไซร้, ชีวิตุบายเครื่องอาศัยเป็นอยู่แล้ว ของเราอันนักปราชญ์ติเตียนแล้ว. ถึงว่าสายรัดไส้ของเราจักไหลออกมาข้างนอกไซร้ เราจักไม่พึงทำลายชีวิตุบายเครื่องอาศัยเป็นอยู่เลย สู้สละชีวิต’ ดังนี้.”
ร. พระผู้เป็นผู้เจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งเต่าเป็นไฉน?”
ถ. ขอถวายพระพร เต่ามีปกติเที่ยวอยู่ในน้ำ อาศัยอยู่ในน้ำฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีจิตเกื้อกูลและไหวตามสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงซึ่งความเป็นจิตใหญ่ เป็นจิตไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไมตรีจิตไปตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวงอยู่ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งเต่า.
อนึ่ง เต่าผุดขึ้นจากน้ำชูศีรษะ ถ้าเห็นอะไร ๆ เข้า ก็ดำจมดิ่งลงไปทันทีในที่นั้น ด้วยคิดเห็นว่า ‘อะไร ๆ ที่เป็นศัตรูเหล่านั้น ครั้นเมื่อกิเลสเข้ามาใกล้ ก็ดำจมไปพลันในสระ คือ อารมณ์ ด้วยคิดเห็นว่า ‘กิเลสทั้งหลายอย่าได้เห็นเราอีกเลย’ ดังนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งเต่า.
อนึ่ง เต่าขึ้นมาจากน้ำ ผิงกายอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องนำออกซึ่งจิตจาก การนั่ง การยืน การนอน การเดินแล้ว ผึ่งจิตในสัมมัปปธาน ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งเต่า.
อนึ่ง เต่าขุดแผ่นดินสำเร็จการอยู่ในที่สงัด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องละลาภสักการและความสรรเสริญ เข้าไปอยู่ที่ว่างเปล่า ที่เงียบ ป่าอันวังเวง ภูเขา ซอกภูเขา ถ้ำ อันไม่มีเสียง อันไม่กึกก้อง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งเต่า.
แม้พระอุปเสนเถระวังคันตบุตร ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
‘ภิกษุพึงส้องเสพเสนาสนะอันสงัด ไม่มีสำเนียงกึกก้อง อันเป็นที่พาลมฤคอาศัยอยู่ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะเช่นนั้น เป็นที่หลีกออกเร้นอยู่’ ดังนี้.
อนึ่ง เต่าเมื่อเที่ยวไป ถ้าเห็นอะไรเข้า หรือได้ยินเสียงอะไรเข้าก็หดเข้าซึ่งอวัยวะทั้งหลายมีศีรษะเป็นที่ห้า ในกระดองของตน มีขวนขวายน้อย หยุดนิ่ง ตามรักษากายอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ครั้นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลายมาใกล้อยู่ก็ต้องปิดเสียซึ่งบานประตู คือ ความสำรวมในทวารทั้งหกมีจักษุเป็นต้น หดใจกระทำซึ่งความสำรวมอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ตามรักษาสมณธรรมอยู่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งเต่า.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ในกุมมูปมสูตร ในสังยุติตนิกายอันประเสริฐว่า:-
‘ภิกษุไม่อาศัยแล้วซึ่งความตรึกแห่งใจทั้งหลาย ดับรอบแล้วไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ว่ากล่าวใครดุจเต่าหดอวัยวะทั้งหลายเข้าในกระดองของตน ฉะนั้น’ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งปีเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ปี่อันบุคคลเป่าในที่ใด ก็ย่อมไปตามในที่นั้นย่อมไม่แล่นไปในที่อื่น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องตั้งอยู่ในธรรมวินัยที่ควรที่ไม่มีโทษ เป็นไปตามซึ่งนวังคสัตถุศาสนา อันพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงภาสิตไว้แล้ว แสวงหาสมณธรรมฉันนั้น, นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งปี.
แม้พระราหุลเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
‘โยคาวจร ตั้งอยู่ในธรรมวินัยที่ควรที่หาโทษมิได้ อนุโลมตามนวังคพุทธพจน์ทุกเมื่อ พยายามเพื่อคุณอันยิ่ง’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งรางปืน เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร รางปืนอันนายช่างถากดีแล้ว ย่อมน้อมไปตามรางปืนตลอดปลายตลอดต้นแนบเนียน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องน้อมไปตามสมณะผู้เถระ ผู้ใหม่ ผู้ปานกลาง ไม่ขัดขวาง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งรางปืน.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในวิธุรปุณณกชาดกว่า:-
‘นักปราชญ์ ย่อมอนุโลมตามกระแสพระราชโองการ มิได้ประพฤติตัดกระแสพระราชโองการ ดุจรางปืน
อนุโลมตามตัวปืน และปี่อนุโลมตามผู้เป่า ฉะนั้น. นักปราชญ์นั้น จึงอยู่ในราชสำนักได้’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งกาเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร กาเป็นสัตว์รังเกียจทั่วและรังเกียจรอบแล้วต่ออันตราย ประกอบด้วยความกลัวภัย เที่ยวอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้รังเกียจต่ออันตราย ประกอบด้วยความกลัวภัย มีสติตั้งมั่น มีอินทรีย์ทั้งหลายสำรวมแล้ว เที่ยวอยู่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถอืเอาองค์ที่แรกแห่งกา.
อนึ่ง กาเห็นโภชนะอันใดอันหนึ่ง ย่อมแบ่งบริโภคด้วยญาติทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร มิได้หวงลาภทั้งหลายที่เกิดโดยธรรม ได้มาโดยธรรม โดยที่สุด ของที่มีในบาตรบริโภคแต่ผู้เดียว เป็นผู้บริโภคทั่วไปด้วยเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลทั้งหลายฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งกา.
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘ถ้าว่า ทายกทั้งหลายน้อมให้ของที่ได้แล้วโดยธรรม แก่เราผู้มีตบะ เราก็แบ่งปันแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายแล้ว ภายหลังจึงบริโภค’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งลิง เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ลิงเมื่ออยู่ ย่อมอยู่ที่โอกาสอันควร ต้องไม้ใหญ่ ๆ ที่สงัด กิ่งไม้คลุมในที่ทั้งปวง ที่ป้องกันความกลัว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องอยู่อาศัยกัลยาณมิตร อาจารย์ ผู้มีความละอาย ผู้มีศีลเป็นที่รัก มีธรรมงาม เป็นพหุสุต ทรงธรรมเป็นที่รัก เป็นผู้ที่ตั้งแห่งความเป็นผู้เคารพ ผู้ทนต่อถ้อยคำ ผู้โอวาท ผู้ให้รู้แจ้ง ผู้แสดง ผู้ชักชวน ผู้ให้กล้าหาญ ผู้ให้ร่าเริง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งลิง.
อนึ่ง ลิงเที่ยวอยู่ ยืนอยู่ นั่งอยู่ บนต้นไม้, ถ้าหยั่งลงสู่ความหลับ ก็อยู่ตลอดคืนบนต้นไม้นั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีหน้าเฉพาะสู่ราวป่า ยืน เดิน นั่ง นอน หยั่งลงสู่ความหลับในราวป่านั่นแล, เจริญเนือง ๆ ซึ่งสติปัฏฐานในราวป่านั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งลิง.
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘ภิกษุจงกรมยืนนั่งนอนในราวป่า ย่อมงาม เพราะว่าราวป่านักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว’ ดังนี้.”
หัวข้อประจำโฆรสร วรรคนั้น
ลามีเพียงพิลึกหนึ่ง ไก่หนึ่ง กระแตหนึ่ง นางเสือเหลืองหนึ่ง เสือเหลืองหนึ่ง เต่าหนึ่ง ปี่หนึ่ง รางปืนหนึ่ง กาหนึ่ง ลิงหนึ่ง ดังนี้.