นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 1:39 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 14 เม.ย. 2018 9:14 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
ลาวุลตา วรรคที่สอง

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งเถาน้ำเต้าเป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร เถาน้ำเต้าเลื้อยเหนี่ยวไปบนหญ้า หรือไม่ หรือเครือเขาด้วยมือทั้งหลาย ย่อมเจริญเบื้องบนแห่งหญ้าเป็นต้นนั้น ฉันใด, โดยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ใคร่เพื่อจะเจริญยิ่งในพระอรหัต ก็ต้องหน่วงด้วยอารมณ์แล้วเจริญยิ่งในพระอรหัต ฉะนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งเถาน้ำเต้า.
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“พุทธโอรสใคร่ต่อพระอรหันตตผล ก็พึงหน่วงอารมณ์ด้วยใจแล้วเจริญในอเสขผล, เหมือนอย่างเถาน้ำเต้ายึดเหนี่ยวไปบนหญ้า หรือไม้ หรือเครือเขาด้วยมือทั้งหลาย ภายหลังก็เจริญข้างบน ฉะนั้น ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป้นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งบัวเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร บัวเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ก็แต่หาติดด้วยน้ำไม่ ฉันใด, โดยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มิได้ติดอยู่ในตระกูล หมู่ ลาภ ยศ สักการะ ความนับถือ และปัจจัยเครื่องบริโภคทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งบัว.
อนึ่ง บัวย่อมตั้งขึ้นพ้นจากน้ำ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องครอบงำเสียซึ่งโลกทั้งปวง ขึ้นตั้งอยู่ในโลกุตตรธรรมฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งบัว.
อนึ่ง บัวต้องลมเล็กน้อยย่อมไหว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกระทำความสำรวมในกิเลสทั้งหลาย แม้มีประมาณน้อย มีอันเห็นภัยเป็นปกติอยู่ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งบัว.
แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
“ภิกษุมีอันเห็นภัยเป็นปกติในโทษทั้งหลาย มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย” ดังนี้.
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย” ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งพืชเป็นไฉน?”
ถ. ขอถวายพระพร พืชแม้มีประมาณน้อยอันชาวนาหว่านแล้วในนาอันเจริญ ครั้นเมื่อฝนตกสมควร ก็ย่อมเพิ่มให้ซึ่งผลมากหลายฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องปฏิบัติชอบโดยประการที่ศีลซึ่งตนให้ถึงเฉพาะแล้ว เพิ่มให้ซึ่งสามัญผลทั้งนั้น ฉันนั้น, นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งพืช.
อนึ่ง พืชอันชาวนาหว่านแล้วในนาที่แผ้วถางดีแล้ว ย่อมงอกงามพลันนั่นเทียว ฉันใด, จิตอันโยคาวจรผู้ประกอบความเพียรประคับประคองดีแล้วให้บริสุทธิ์ในสุญญาคาร หว่านลงในนาอันประเสริฐ กล่วคือสติปัฏฐาน ก็งอกงามพลัน ฉะนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพืช.
แม้พระอนุรุทธเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“พืชอันชาวนานั้นหว่านแล้วในนาอันบริสุทธิ์, ผลของพืชนั้นก็เป็นของไพบูล, อนึ่ง ผลแห่งพืชนั้นย่อมยังชาวนาให้ยินดีฉันใด, จิตที่โยคาวจรชำระดีแล้วในสุญญาคาร ก็ย่อมงอกงามในนา กล่าวคือสติปัฏฐานโดยเร็วที่เดียว ฉันนั้น ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งไม้ขานางเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ไม้ขานางเจริญยิ่งอยู่ภายในแผ่นดินร้อยศอกบ้าง ยิ่งกว่าบ้าง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องยังสามัญผลสี่ ปฏิสัมภิทาสี่ อภิญญาหก และสมณธรรมทั้งสิ้นให้เต็มรอบในสุญญาคาร ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งไม้ขานาง.
แม้พระราคหุลเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ธรรมดาไม้ขานางงอกอยู่ในแผ่นดิน เจริญอยู่ในแผ่นดินร้อยศอก. ครั้นถึงกาลแก่แล้ว ไม้ขานางนั้น ก็เจริญสุขขึ้นวันเดียวร้อยศอก ฉันใด, ข้าแต่พระองค์ผู้กล้าใหญ่ ข้าพระองค์ก็เจริญยิ่งแล้ว โดยธรรมในสุญญาคารอันเป็นภายใน ดุจไม้ขานาง ฉันนั้น ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งเรือเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร เรือย่อมยังชนให้ข้ามไปสู่ที่ประสงค์ด้วยไม้และเครื่องไม้ เครื่องเหล็กอันเป็นโครงเป็นเครื่องยึดติดกัน เป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังโลกทั้งเทวโลกให้ข้ามไปสู่ที่ประสงค์ คือ อมตมหานิพพาน ด้วยสิ่งที่เป็นโครงเครื่องยึดเหนี่ยว กล่าวคือ อาจารศีลคุณวัตรปฏิวัตร และธรรมมีอย่างต่าง ๆ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งเรือ.
อนึ่ง เรือย่อมทนทานต่อกำลังคลื่นที่กระทบกระแทกซัด และกำลังแห่งวนป่วนมีอย่างมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องทนทานต่อกำลังคลื่น คือ กิเลสเป็นอันมาก และลาภสักการ ยศ ชื่อเสียง การบูชากราบไหว้ และคลื่น คือ ความนินทา ความสรรเสริญ สุขทุกข์ ความยกย่อง ความดูหมิ่น และโทษมีอยู่เป็นอันมากในตระกูลอื่นทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สอง แห่งเรือ.
อนึ่ง เรือย่อมแล่นไปในมหาสมุทรอันลึกกำหนดไม่ได้ ไม่มีที่สุดไม่เห็นฝั่ง มีโทษมากเกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ ติมิติมิงคล ภูตมังกรและปลา ฉันใด. โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังจิตให้แล่นไปในความตรัสรู้จตุราริยสัจจาภิสมัยซึ่งมีปริวัฏฏ์สาม อาการสิบสองฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สาม แห่งเรือ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ในสัจจสังยุตต์ ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายจะคิดพึงคิดว่า ‘นี้เป็นทุกข์นี้เป็นทุกขสมุทัย นี้เป็นทุกขนิโรธ นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการ แห่งสมอเรือเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ธรรมดาสมอย่อมยังเรือให้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอันมีพื้นน้ำอากูลปั่นป่วนด้วยหมู่คลื่นเป็นอันมาก ย่อมไม่ให้เรือแล่นไปสู่ทิศต่าง ๆ ได้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังจิตให้ติดอยู่ในอันประหารพร้อมซึ่งวิตกใหญ่ ในหมู่คลื่น คือ ราคะ โทสะ โมหะ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งสมอเรือ.
อนึ่ง สมอเรือย่อมไม่เลื่อนลอย มีแต่จะจม ย่อมยังเรือให้ติดอยู่ ให้เข้าถึงความตั้งอยู่ในน้ำ แม้มีร้อยศอกเป็นประมาณ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องไม่เลื่อนลอยไปในลาภ ยศ สักการ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา การยำเกรง และลาภอันเลิศ ยศอันเลิศ ยังจิตให้ตั้งอยู่ในปัจจัยสักว่ายังสรีระให้เป็นไปเท่านั้นฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งสมอเรือ.
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดีก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“สมอเรือ ย่อมไม่เลื่อนลอย มีแต่จะจมลงในทะเล ฉันใด, ท่านทั้งหลาย ก็อย่าเลื่อนลอยไปในลาภสักการ จงจมอยู่แต่ในปัจจัยอันยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ฉันนั้น ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งเสากระโดงเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร เสากระโดงย่อมทรงไว้ซึ่งเชือกสายระยาง รอกใบ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มาตามพร้อมแล้วด้วยสติสัมปชัญญะ คือ รู้ทั่วพร้อมในอันก้าวไปก้าวกลับ แลไปข้างหน้า แลไปข้าง ๆ คู้เข้า เหยียดออก ทรงผ้าสังฆาฏิบาตรจีวร กิน ดื่ม ลิ้ม อุจจาระปัสสาวกรรม เดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่งอยู่ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งเสากระโดง.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้ระลึกทั่วพร้อมอยู่ด้วยอริยิาบถทั้งปวง, วาจานี้เราพร่ำสอนท่านทั้งหลาย ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการ แห่งต้นหนเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ต้นหนเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วเนืองนิตย์ตลอดคืนและวัน ให้เรือแล่นไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทเนืองนิตย์ตลอดคืนและวัน กำหนดจิตโดยโยนิโสมนสิการ ฉะนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งต้นหน.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในธรรมบทว่า:-
“ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท, จงรักษาจิตไว้เนือง ๆ, จงยกตนขึ้นจากสงสารอันเป็นหนทางเดินยากดุจช้างจมอยู่ในเปือกตมยกตนขึ้นจากเปือกตม ฉะนั้น ดังนี้.”
อนึ่ง ต้นหนย่อมรู้แจ้งซึ่งการดีการชั่วทั้งปวง มีทางสวัสดีและทางมีโสโครกเป็นต้นในมหาสมุทร ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องรู้แจ้งกุศลอกุศล กรรมมีโทษและไม่มีโทษ ต่ำช้าประณีต มีส่วนเปรียบด้วยของดำและของขาว ฉะนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งต้นหน.
อนึ่ง ต้นหนย่อมลั่นกุญแจที่เข็มทิศ ด้วยคิดว่า ‘ใคร ๆ อย่าได้แตะต้องเข็มทิศ’ ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องลั่นกุญแจ คือ ความสำรวมจิตด้วยคิดว่า ‘ท่านอย่าได้ตรึกอกุศลวิตกอันลามากอะไร ๆ‘ ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งต้นหน.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
“ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกทั้งหลาย อันลามก คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการ แห่งคนกระทำการงานเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร คนกระทำการงานย่อมคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นลูกจ้าง กระทำการงานด้วยเรือนี้ เราจะได้ค่าจ้างและเบี้ยเลี้ยงด้วยการนำเรือนี้ไป เราไม่ควรจะกระทำความประมาท เราต้องนำเรือนี้ไปด้วยความไม่ประมาท’ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเมื่อพิจารณากายอันประกอบด้วยมหาภูตทั้งสี่นี้ จักเป็นผู้ไม่ประมาทเนือง ๆ มีสติเข้าไปตั้งอยู่แล้ว ระลึกรู้ทั่วพร้อมมีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์อันเดียว ก็จักพ้นจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เราควรจะกระทำความไม่ประมาท’ ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งคนกระทำการงาน.
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบีด ก็ภาสิตไว้ว่า:-
“ท่านทั้งหลายจงพิจารณากายนี้ จงกำหนดรู้บ่อย ๆ; เพราะว่า ท่านทั้งหลายเห็นความเป็นเองในกายแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งมหาสมุทรเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร มหาสมุทรไม่ปะปนด้วยทรากศพอันตายฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ปะปนด้วยเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ความลบหลู่คุณท่าน ความยกตนข่มท่าน ความริษยา ความตระหนี่ มายา ความโอ่อวด ความโกง ความไม่สม่ำเสมอ ความประพฤติชั่วด้วยไตรทวารฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่ง แห่งมหาสมุทร.
อนึ่ง มหาสมุทรทรงไว้ซึ่งขุมแก้วมีอย่างต่าง ๆ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ ศิลามีสีดุจสังข์ แก้วประพาฬ แก้วผลึก ย่อมปกปิดไว้ มิได้เรี่ยรายในภายนอก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรได้รัตนะ คือ คุณมีอย่างต่าง ๆ คือ มรรค ผล ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ วิปัสสนา อภิญญา ก็ต้องปกปิดไว้ มิได้นำออกภายนอก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งมหาสมุทร.
อนึ่ง มหาสมุทรย่อมอยู่ร่วมด้วยภูตใหญ่ ๆ ทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องอยู่อาศัยพรหมจารีบุคคล ผู้กัลยาณมิตร ผู้มีความปรารถนาน้อย ผู้สันโดษ ผู้กล่าวคุณอันขจัดกิเลส ผู้ประพฤติขูดเกลากิเลส ผู้สมบูรณ์ด้วยมรรยาท ผู้มีความละอายต่อบาป ผู้มีศีลเป็นที่รัก ผู้ควรเคารพ ผู้ควรสรรเสริญ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งมหาสมุทร.
อนึ่ง มหาสมุทรแม้เต็มรอบแล้วด้วยแสนแห่งแม่น้ำทั้งหลาย มีคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี เนต้นอันเต็มแล้วด้วยน้ำใหม่ และไม่เต็มด้วยธารน้ำทั้งหลายในอากาศ ไม่เป็นไปล่วงแดนของตน ฉันใดโยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องไม่แกล้งก้าวล่วงสิกขาบท เพราะเหตุแห่งลาภสักการะ ความสรรเสริญ การกราบไหว้ การนับถือ การบูชาแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งมหาสมุทร.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
“มหาสมุทรมีธรรมดาตั้งอยู่แล้ว ย่อมไม่เป็นไปล่วงแดนฉันใด, สิกขาบทใด อันเราบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราก็มิได้ก้าวล่วงสิกขาบทนั้น แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ฉันนั้น ดังนี้.”
อนึ่ง มหาสมุทรย่อมไม่เต็มรอบด้วยแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหลายซึ่งมีน้ำไหลมาแต่ที่ทั้งปวง และไม่เต็มด้วยธารน้ำในอากาศ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร แม้ฟังอยู่ซึ่งอุทเทส ปริปุจฉา การฟัง การทรงจำ วินิจฉัย อภิธรรม วินัย สุตันตะวิเคราะห์ ย่อบท ต่อบท วิภาคบท ชินศาสน์อันประเสริฐมีองค์เก้าก็มิได้อิ่มฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งมหาสมุทร.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ในมหาสุตโสมชาดกว่า:-
“บัณฑิตทั้งหลายเหล่านี้ ฟังคำที่เป็นสุภาสิตก็มิได้อิ่ม คำที่เป็นสุภาสิตเปรียบเหมือนไฟไหม้หญ้าและไม้ ย่อมไม่อิ่ม หรือเปรียบเหมือนสาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลาย ดังนี้.”

หัวข้อประจำลาวุลตาวรรคนั้น

เถาน้ำเต้าหนึ่ง บัวหนึ่ง พืชหนึ่ง ไม้ขานางหนึ่ง เรือหนึ่ง สมอเรือหนึ่ง เสากระโดงหนึ่ง ต้นหนหนึ่ง คนทำการงานหนึ่ง มหาสมุทรหนึ่ง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าวรรค.


จักกวัตติ วรรคที่สาม

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งแผ่นดินเป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ในเมื่อบุคคลเรี่ยรายของที่พึงใจและของไม่พึงใจ มีการบูร กฤษณา แก่นจันทน์ หญ้าฝรั่น เป็นต้นก็ดี มีดี เสมหะ บุพโพ โลหิต เหงื่อ มันขัน เขฬะ น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร อุจจาระ เป็นต้นก็ดี ลงที่แผ่นดิน ๆ ก็เป็นของเฉยอยู่เช่นนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องเป็นผู้มีจิตเพิกเฉยเช่นนั้น ในลาภและมิใช่ลาภ ยศและมิใช่ยศ ความนินทาและความสรรเสริญ สุขและทุกข์ อันเป็นของพึงใจและมิใช่ของพึงใจทั้งปวง ฉันนั่น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งแผ่นดิน.
อนึ่ง แผ่นดินปราศจากเครื่องตกแต่ง ก็อบอวนด้วยกลิ่นของตนเอง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรปราศจากเครื่องตกแต่งก็ต้องเป็นผู้อบอวนแล้วด้วยกลิ่น คือ ศีลของตนเอง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งแผ่นดิน.
อนึ่ง แผ่นดินเป็นของไม่มีระหว่าง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นของหนาทึบ กว้างขวาง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องเป็นผู้มีศีลอันไม่เป็นระหว่าง ไม่เป็นท่อน ไม่ทะลุ ไม่เป็นโพรง เป็นของหนาทึบ กว้างขวาง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สาม แห่งแผ่นดิน.
อนึ่งแผ่นดินแม้ทรงไว้ซึ่งบ้าน นิคม เมือง ชนบท และหมู่แห่งต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ สระบัว เนื้อ หก มนุษย์ชายหญิง ก็เป็นของไม่ย่อท้อ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรกล่าวสอนก็ดี พร่ำสอนก็ดี ให้รู้แจ้งก็ดี ให้เห็นพร้อมก็ดี ให้ถือเอาพร้อมก็ดี ให้กล้าหาญก็ดี ให้ร่าเริงก็ดี ก็ต้องไม่เป็นผู้ย่อท้อ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่นี่แห่งแผ่นดิน.
อนึ่ง แผ่นดินเป็นของพ้นพิเศษแล้วจากความยินดี และความยินร้าย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้พ้นพิเศษแล้วจากความยินดี และความยินร้าย มีจิตเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ทุกอิริยาบถ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งแผ่นดิน.
แม้นางจุฬสุภัททาอุบาสิกาผู้ยกย่องสมณะทั้งหลายของตน ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ข้าพเจ้ามีใจโกรธแล้ว พึงทาสมณะองค์หนึ่งด้วยของหอม. ความยินร้ายย่อมไม่มีในสมณะองค์โน้น, ความยินดีย่อมไม่มีในสมณะองค์นั้น, สมณะทั้งหลายนั้น เป็นผู้มีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน, สมณะทั้งหลายของข้าพเจ้าเป็นผู้มีใจเฉยอยู่เช่นนั้น ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งน้ำเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร น้ำเป็นของบริสุทธิ์โดยความเป็นเอง ด้วยความเป็นของตั้งอยู่พร้อมดี และไม่หวั่นไหว ไม่ขุ่นมัว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีอาจาระบริสุทธิ์โดยความเป็นเอง ด้วยความเป็นผู้มีจิตตั้งอยู่พร้อมดี และไม่หวั่นไหว ไม่ขุ่นมัว เพราะนำเสียซึ่งความเป็นคนมีชื่อเสียงชั่ว เหตุพูดโกง และเป็นคนขี้ฉ้อฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งน้ำ.
อนึ่ง น้ำตั้งอยู่พร้อมโดยความเป็นของมีอันเย็นเป็นสภาพ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยความอดทนและเมตตาและความเอ็นดู มีปกติแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแม่น้ำ.
อนึ่ง น้ำย่อมทำของที่ไม่สะอาดให้สะอาด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่มีอธิกรณ์ มักทำสิ่งที่มิใช่โอกาสที่ตั้งแห่งอธิกรณ์ ในที่และบุคคลทั้งปวง คือในบ้านหรือป่า ในอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือชนทั้งหลายผู้ปูนอาจารย์ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งน้ำ.
อนึ่ง น้ำเป็นของอันชนมากปรารถนา ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ยินดีตามมี มีจิตสงัด มีจิตวังเวง ก็ต้องเป็นผู้อันโลกทั้งปวงปรารถนาเฉพาะเนือง ๆ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งน้ำ.
อนึ่ง น้ำย่อมไม่เข้าไปตั้งไว้ซึ่งสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ใคร ๆ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่กระทำซึ่งบาปด้วยกาย วาจา ใจ อันยังความบาดหมาง ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาท เพ่งความเสีย ความริษยาให้เกิด ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งน้ำ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ในกัณหชาดกว่า:-
“ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นอิสระแห่งภูตทั้งปวง ถ้าพระองค์จะประทานสิ่งที่ให้เลือกแก่ข้าพระองค์, ใจหรือสรีระของข้าพระองค์กระทำแล้วไม่พึงเข้าเบียดเบียนใคร ๆ ในกาลไร ๆ ข้าพระองค์ขอเลือกสิ่งที่ให้เลือกนี้ ดังนี้.”
ร. “พระนาคเสนผู้เจริญ, ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งไหเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ไฟย่อมเผา หญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเผากิเลสทั้งหลายซึ่งไปตามอารมณ์ที่พึงใจและไม่พึงใจ มีในภายในและภายนอกทั้งหวง ด้วยไฟ คือ ญาณปรีชา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งไฟ.
อนึ่ง ไฟเป็นของไม่มีความเอ็นดูไม่มีความกรุณา ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ทำความเอ็นดูความกรุณาในกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งไฟ.
อนึ่ง ไฟย่อมบำบัดเสียซึ่งความหนาว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังไฟอันร้อนพร้อมกล่าว คือ ความเพียรให้เกิดเฉพาะแล้ว บำบัดเสียซึ่งกิเลสทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งไฟ.
อนึ่ง ไฟพันพิเศษแล้วจากความยินดีและความยินร้าย ย่อมยังความร้อนให้เกิดเฉพาะ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้พ้นพิเศษแล้วจากความยินดีและความยินร้าย มีจิตเสมอด้วยไฟอยู่ทุกอิริยาบถ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งไฟ.
อนึ่ง ไฟย่อมกำจัดเสียซึ่งความมืด ส่องแสงสว่าง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกำจัดเสียซึ่งความมืด คือ อวิชชา ส่องแสงสว่าง คือ ญาณ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งไฟ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ทรงสั่งสอนพระราหุลพระโอรสของพระองค์ ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
“ราหุล ท่านจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟ, เพราะว่าเมื่อท่านเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้นได้ อกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งลมเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ลมย่อมหอมเอากลิ่นดอกไม้อันบานในภายในป่า ฉันใด โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไปในราวป่า คือ อารมณ์ ซึ่งมีดอกไม้ คือ วิมุตติอันประเสริฐบานแล้ว ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งลม.
อนึ่ง ลมย่อมย่ำยีเสียซึ่งหมู่ต้นไม้อันขึ้น ณ แผ่นดิน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไปภายในป่า พิจารณาสังขารทั้งหลายย่ำยีเสียซึ่งกิเลสทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งลม.
อนึ่ง ลมย่อมพัดไปในอากาศ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังจิตให้สัญจรไปในโลกุตตรธรรมทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งลม.
อนึ่ง ลมย่อมเสวยซึ่งกลิ่นแห่งคันธชาติ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเสวยกลิ่นเป็นที่ยินดีด้วยดี กล่าวคือ ศีลของตนฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งลม.
อนึ่ง ลมของเป็นไม่มีอาลัยไม่มีที่อยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่มีอาลัย ไม่มีที่อยู่ ไม่มีความชมเชยเป็นผู้พ้นพิเศษแล้วในที่ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งลม.
แม้พุทธภาสิตนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ในสุตตนิบาตว่า:-
“ภัยเกิดแล้วแต่ความชมเชย ธุลีย่อมเกิดแต่ที่อยู่, ความไม่มีที่อยู่ ความไม่มีความชมเชยนั้น เป็นเครื่องส่อให้รู้ความเป็นนักปราชญ์ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการ แห่งภูเขาเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ภูเขาเป็นของไผ่หวั่นไหวไม่สะเทือน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ยินดี ไม่ขัดเคือง ไม่หลงในความยกย่อง ความดูหมิ่น ความกระทำดี ความไม่กระทำดี ความเคารพ ความไม่เคารพ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ หรืออารมณ์ที่พึงใจและไม่พึงใจทั้งปวง ไม่กำหนัดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ประทุษร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ไม่หลงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือนในเหตุทั้งหลายมียกย่องเป็นต้นนั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งภูเขา.
แม้พระพุทธภาสิตนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
“ภูเขาแล้วด้วยศิลาทึบเป็นแท่งเดียว ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยลมฉันใด, บัณฑิตทั้งหลายก็ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะนินทาและสรรเสริญทั้งหลาย ฉันนั้น ดังนี้.”
อนึ่ง ภูเขาเป็นของแข็งแรง ไม่ระคนแล้วด้วยอะไร ๆ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้แข็งแรงไม่ระคนแล้วด้วยอะไร ๆ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งภูเขา.
แม้พุทธภาสิตนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
“เรากล่าวบุคคลผู้ไม่คลุกคลีแล้วด้วยคฤหัสถ์ และบรรพชิตทั้งสอง ผู้ไม่มีอาลัย เที่ยวไป ผู้มีความปรารถนาน้อย นั้นว่า เป็นพราหมณ์ ดังนี้.”
อนึ่ง พืชย่อมไม่งอกขึ้นบนภูเขา ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ยังกิเลสทั้งหลายให้งอกงามขึ้นในใจตน ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งภูเขา.
แม้คำนี้ พระสุภูติเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“เมื่อใดจิตประกอบด้วยราคะเกิดขึ้นแก่เรา, เมื่อนั้นเราผู้เดียวพิจารณาเห็นแล้ว ก็ทรมานจิตนั้นเสียเองว่า ท่านกำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดทั้งหลาย ท่านประทุษร้านในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายทั้งหลาย ท่านหลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลงทั้งหลาย ท่านจงออกไปจากป่า. เพราะว่าอรัญประเทศนี้ เป็นที่อยู่แห่งบุคคลทั้งหลายผู้หมดจดวิเศษ ผู้ไม่มีมลทิน ผู้มีตปะ; ท่านอย่าประทุษร้ายบุคคลผู้หมดจดพิเศษเลย ท่านจงออกไปจากป่า ดังนี้.”
อนึ่ง ภูเขาเป็นของสูง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องเป็นผู้สูงด้วยสามารถแห่งฌาณ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งภูเขา.
แม้พุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาติไว้ว่า:-
“เมื่อใดบัณฑิตบรรเทาเสียซึ่งความประมาท ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อนั้นบัณฑิตนั้นขึ้นสู่
ปราสาท คือ ปัญญา เป็นผู้ไม่มีโศก พิจารณาซึ่งหมู่สัตว์ผู้มีโศก, ผู้มีปัญญา พิจารณาซึ่งคนพาลทั้งหลายราวกะบุคคลผู้ยืนอยู่บนภูเขา แลดูซึ่งชนทั้งหลายผู้ยืนอยู่บนพื้น ฉะนั้น ดังนี้.”
อนึ่ง ภูเขาเป็นของไม่สูงขึ้น ไม่จมลง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่กระทำซึ่งอันฟูขึ้นและเสื่อมลง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งภูเขา.
แม้นางจูฬสุภัททาอุบาสิกา ผู้ยกย่องสมณะทั้งหลายของตน ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“สัตว์โลกสูงขึ้นด้วยลาภ, และทรุดลงด้วยเสื่อมลาภ; สมณะทั้งหลายของเรา เป็นผู้มีจิตดำรงอยู่เป็นดวงเดียว ในลาภและเลื่อมลาภ, เป็นผู้มีจิตคงที่ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งอากาศเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร อากาศอันอะไร ๆ ไม่พึงถือเอาโดยประการทั้งปวง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้อันกิเลสทั้งหลายไม่พึงถือเอาโดยประการทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งอากาศ.
อนึ่ง อากาศเป็นประเทศอันหมู่ฤษีดาบสภูตและนกสัญจรไป ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังใจให้สัญจรไปในสังขารทั้งหลาย โดยมนสิการว่า ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ ฉะนี้ ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งอากาศ.
อนึ่ง อากาศเป็นที่ตั้งแห่งความสะดุ้งพร้อม ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังใจให้สะดุ้งในปฏิสนธิในภพทั้งปวง หาควรกระทำความยินดีไม่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งอากาศ.
อนึ่ง อากาศไม่มีที่สุดไม่มีประมาณอันบุคคลไม่พึงนับ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีศีลไม่มีที่สุด มีญาณไม่มีประมาณ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งอากาศ.
อนึ่ง อากาศเป็นประเทศไม่ติดไม่ข้องไม่ตั้งอยู่ ไม่กังวล ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ตั้งอยู่ ไม่วังวล ในตระกูล ในคณะ ในลาภ ในที่อยู่ ในเครื่องกังวล ในปัจจัยและกิเลสทั้งปวง ในที่ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งอากาศ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ เมื่อตรัสสอนพระราหุลผู้พระโอรสของพระองค์ ก็ได้ตรัสไว้ว่า :-
“ดูก่อนราหุล อากาศไม่ได้ตั้งอยู่เฉพาะในที่ไร ๆ ฉันใด, ท่านจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ฉันนั้น;เพราะว่าเมื่อท่านเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ผัสสะทั้งหลาย ที่ยังใจให้เอิบอาบและไม่ยังใจให้เอิบอาบซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งพระจันทร์เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร พระจันทร์อุทัยในสุกกปักษ์ ย่อมเจริญด้วยแสงสว่างยิ่งขึ้นทุกที ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเจริญในอาจาระ ศีล คุณ วัตรปฏิบัติในนิกายเป็นที่มา และธรรมอันบุคคลพึงบรรลุ ในอารมณ์เป็นที่วังเวง ในสติปัฏฐาน ในความเป็นผู้มีทวารอันปิดในอินทรีย์ทั้งหลาย ในความเป็นผู้รู้ประมาทในโภชนะในความประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรแห่งผู้ตื่นยิ่งขึ้นทุกที ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งพระจันทร์.
อนึ่ง พระจันทร์เป็นนักษัตรอันใหญ่ยิ่งชนิดหนึ่ง ฉันใด โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีฉันทะเป็นใหญ่ยิ่ง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพระจันทร์.
อนึ่ง พระจันทร์ย่อมจรไปในราตรี ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้สงัดทั่ว ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งพระจันทร์.
อนึ่ง พระจันทร์มีวิมานเป็นธง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีศีลเป็นธง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งพระจันทร์.
อนึ่ง พระจันทร์อันโลกบวงสวงและปรารถนา ย่อมอุทัย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ผู้อันมหาชนบูชาและปรารถนา ก็ต้องเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งพระจันทร์.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
“แน่ะภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเป็นผู้เรียบร้อยเหมือนด้วยพระจันทร์ จงสำรวมกาย สำรวมจิต แล้วเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลาย เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ อย่าคะนองในตระกูลทั้งหลาย ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์เจ็ดประการแห่งพระอาทิตย์เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร พระอาทิตย์ย่อมยังน้ำทั้งปวงให้เหือดแห้งฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังกิเลสทั้งหลายให้เหือดแห้ง ไม่ให้เหลืออยู่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์ย่อมกำจัดเสียซึงความมืด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกำจัดเสียซึ่งความมืด คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริตทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์ย่อมจรไปเนือง ๆ ฉันใด. โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกระทำโยนิโสมนสิการเนือง ๆ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์มีระเบียบแห่งรัศมี ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องเป็นผู้มีระเบียบแห่งอารมณ์ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์ยังหมู่มหาชนให้ร้อนพร้อม เดินไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังโลกทั้งปวงให้ร้อนพร้อมด้วยอาจาระ ศีล คุณ วัตรปฏิบัติ และฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตยกลัวแต่ภัย คือ พระราหู เดินไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้ติดอยู่ในข่ายคือ ทุจริตทุคติกันดารปราศจากความเสมอ วิบาก วินิบาต กิเลส ผู้อันประชุมแห่งทิฏฐิสวมไว้แล้ว ผู้แล่นไปสู่ทางผิด ผู้ดำเนินไปสู่มรรคาผิด ยังใจให้สลด เพราะภัยเกิดแต่ความสลดอันใหญ่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หกแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์ ย่อมส่องให้เห็นสิ่งดีและชั่วทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องแสดงอินทรีย์ พละ โพชฌางค์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท โลกิยธรรม โลกุตตรธรรม ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่เจ็ดแห่งพระอาทิตย์.
แม้พระวังคีสเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ภิกษุผู้ทรงธรรม ย่อมยังชนผู้อันอวิชชาปิดบังไว้แล้ว ให้เห็นหนทางมีประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนพระอาทิตย์อุทัย สำแดง รูปอันสะอาดและไม่สะอาด ดีและชั่ว แก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้นดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งทัาวสักกะเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ท้าวสักกะอิ่มด้วยความสุขส่วนเดียวฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ยินดียิ่งในสุขเกิดแต่ความสงัดทั่วแห่งกายใจส่วนเดียว ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งท้าวสักกะ.
อนึ่ง ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นเทพดาทั้งหลายแล้ว ทรงประคองความเห็นนั้นไว้ ยังความร่าเริงให้เกิดยิ่ง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องประคองใจซึ่งไม่หดหู่ ไม่เกียจคร้าน ในกุศลธรรมทั้งหลาย ยังความร่าเริงให้เกิดยิ่งในกุศลธรรมทั้งหลาย หมั่นสืบต่อพยายามในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉะนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งท้าวสักกะ.
อนึ่ง ความไม่ยินดียิ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ให้ความไม่ยินดียิ่งในสุญญาคารเกิดขึ้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งท้าวสักกะ.
แม้พระสุภูติเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“ข้าแต่พระองค์ผู้กล้าใหญ่ เมื่อใด ข้าพระองค์บวชแล้วในศาสนาของพระองค์, เมื่อนั้น ข้าพระองค์ย่อมทรงสงเคราะห์มหาชน ด้วยวัตถุเครื่องสงเคราะห์ทั้งสี่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยึดเหนี่ยวน้ำใจ ต้องอนุเคราะห์น้ำใจของบริษัทสี่ ต้องชวนใจของบริษัทสี่ให้รื่นเริง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
อนึ่ง โจรทั้งหลายย่อมไม่ตั้งซ่องสุมขึ้นในแว่นแคว้น แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ให้กามราค พยาบาท วิหิงสา วิตก เกิดขึ้นได้ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
“ผู้ใดยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไประงับวิตก เป็นผู้มีสติเจริญอสุภารมณ์ในกาลทั้งปวง, ผู้นั้นแลกระทำซึ่งที่สุดแห่งกองทุกข์ ผู้นั้นตัดเครื่องผูกแห่งมาร ดังนี้.”
อนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิทรงเลียบมหาปฐพี มีมหาสมุทรเป็นที่สุดรอบ ทรงวิจารณ์การดีการชั่วทั้งหลาย ทุกวัน ๆ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกวัน ๆ ว่า ‘เมื่อเราอันบัณฑิตไม่พึงติเตียนได้ด้วยเหตุที่ตั้งสามเหล่านี้วันย่อมเป็นไปล่วงหรือหนอแล’ ดังนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ในเอกังคุตตรนิกายอันประเสริฐว่า:-
“บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า เมื่อเราเป็นอยู่อย่างไร วันและคืนทั้งหลายเป็นไปล่วงอยู่” ดังนี้.
อนึ่ง ความรักษาทั่วในภายในและภายนอก เป็นของอันพระเจ้าจักรพรรดิทรงจัดดีแล้ว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องตั้งไว้ซึ่งนายประตู กล่าวคือ สติ เพื่ออันรักษาทั่วซึ่งกิเลสทั้งหลายที่เป็นไปในภายในและภายนอก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
“แน่ะภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเป็นผู้มีสติดุจนายประตู ละเสียซึ่งอกุศล ยังกุศลให้เจริญ, ละเสียซึ่งกรรมมีโทษอันบัณฑิตพึงเว้น ยังกรรมไม่มีโทษอันบัณฑิตไม่พึงเว้นให้เจริญ, ย่อมรักษาตนกระทำให้บริสุทธิ์” ดังนี้.

หัวข้อประจำจักกวัตติวรรคนั้น

แผ่นดินหนึ่ง น้ำหนึ่ง ไฟหนึ่ง ลมหนึ่ง ภูเขาหนึ่ง อากาศหนึ่ง พระจันทร์หนึ่ง พระอาทิตย์หนึ่ง ท้าวสักกะหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิหนึ่ง.

กุญชร วรรคที่สี่

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งปลวกเป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ปลวกทำเครื่องปิดบังข้างบนปกปิดตนเที่ยวหากินอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องทำเครื่องปิดบัง กล่าวคือ ศีลสังวร ปกปิดใจเที่ยวอยู่เพื่อบิณฑาหารฉันนั้น. ขอถวายพระพร โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ย่อมเป็นผู้ก้าวล่วงภัยทั้งปวงได้ด้วยเครื่องปิดบัง คือ ศีลสังวรแล. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งปลวก.
แม้คำนี้ พระอุปเสนเถระผู้บุตรวังคันตพราหมณ์ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ผู้ประกอบความเพียร ทำใจให้มีศีลสังวรเป็นเครื่องปิดบังเป็นผู้อันโลกทาไล้ไม่ได้แล้ว ก็ย่อมพ้นรอบจากภัย ดังนี้”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งแมวเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร แมวไปสู่ถ้ำ ไปสู่โพรงไม้ หรือไปสู่ภายในเรือน ย่อมแสวงหาหนูเท่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรไปสู่บ้าน ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่สุญญาคาร ก็ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วเนือง ๆ แสวงหาโภชนะ กล่าวคือ กายคตาสติอย่างเดียวฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งแมว.
อนึ่ง แม้ย่อมหากินในที่ใกล้เท่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้เห็นความเกิดและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านี้อยู่ทุกอริยาบถว่า ‘รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ , ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ, ความดับไปแห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ’ ดังนี้. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งแมว.
แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
“ขันธบัญจกไม่พึงมีไม่พึงเป็น ในที่ไกลแต่ที่นี้, ที่สุดของความมีความเป็นแห่งขันธบัญจก จักทำอะรได้, ท่านทั้งหลายประสพอยู่ในกายเป็นของตน อันเกิดข้นเฉพาะหน้า อันนำไปวิเศษ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งหนูเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร หนูวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ หวังต่ออาหารเท่านั้น วิ่งไปอยู่ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ เป็นผู้หวังต่อโยนิโสมนสิการเท่านั้น ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งหนู.
แม้พระอุปเสนเถระวังคันตบุตร ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ผู้มีปัญญาเห็นแจ้งกระทำความมุ่งหวังธรรมอยู่ มิได้ย่อหย่อนเป็นผู้ข้าระงับแล้ว มีสติอยู่ทุกเมื่อ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งแมลงป่องเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร แมลงป่องมีหางเป็นอาวุธ ชูหางเที่ยวไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีญาณเป็นอาวุธ ยกญาณขึ้นอยู่ทุกอิริยาบถ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งแมลงป่อง.
แม้พระอุปเสนเถระคันตบุตร ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ถือเอาพระขรรค์กล่าว คือ ญาณเที่ยวอยู่ย่อมพ้นจากสรรพภัยอันตราย, และผู้มีปัญญาเห็นแจ้งนั้น ยากที่ใคร ๆ จะผจญได้ในภพ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งพังพอนเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร พังพอนเมื่อเข้าใกล้งู เกลือกกายด้วยยาแล้ว จึงเข้าใกล้เพื่อจะจับงู ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเมื่อเข้าใกล้โลกผู้มีความโกรธความอาฆาตมาก ผู้อันความทะเลาะถือเอาต่าง กล่าวแก่งแย่ง ความยินย้ายครอบงำแล้ว ก็ต้องลูบทาน้ำใจด้วยยากล่าวคือเมตตาพรหมวิหาร ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งพังพอน.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ด้วยเหตุนั้น กุลบุตรควรกระทำเมตตาภาวนาแก่ตนและคนอื่น, กุลบุตรควรแผ่ไปด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา ข้อนี้เป็นคำสั่งสอนแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพระ สุนัขจิ้งจอกแก่ได้โภชนะแล้ว ไม่เกลียดกินจนพอต้องการ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ได้โภชนะแล้วก็มิได้เกลียด บริโภคสักว่ายังสรีระให้เป็นไปนั่นเทียว, ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่.
แม้พระมหากัสสปเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ข้าพเจ้าลงจากเสนาสนะเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต; ข้าพเจ้าบำรุงบุรุษผู้มีโรคเรื้อนผู้บริโภคอยู่นั้นโดยเคารพ. บุรุษนั้นน้อมคำข้าวไปด้วยมือของข้าพเจ้า, เมื่อข้าพเจ้าป้อนคำข้าวอยู่ บุรุษนั้นงับเอานิ้วมือของข้าพเจ้าไว้ในปากนั้น. ข้าพเจ้าอาศัยประเทศเป็นที่ตั้งแห่งฝาเรือน จักบริโภคคำข้าว; ในเมื่อคำข้าวที่ข้าพเจ้าบริโภคอยู่หรือบริโภคแล้ว ความเกลียดย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า ดังนี้.”
อนึ่ง สุนัขจิ้งจอกแก่ได้โภชนะแล้ว มิได้เลือกกว่าเศร้าหมองหรือประณีต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ได้โภชนะแล้วก็ไม่ต้องเลือกว่าเศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ ยินดีตามมีตามที่ได้มาอย่างไร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์สองแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่.
แม้พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“เรายินดีตามมีแม้ด้วยของเศร้าหมอง ไม่ปรารถนารสอื่นมาก, เมื่อเราไม่ละโมบในรสทั้งหลาย ใจของเราก็ย่อมยินดีในฌาน, ในเมื่อเรายินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ คุณเครื่องเป็นสมณะของเราย่อมเต็มรอบ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งเนื้อเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร เวลากลางวันเนื้อย่อมเที่ยวไปในป่า เวลากลางคืนย่อมเที่ยวไปในกลางแจ้ง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เวลากลางวันพึงอยู่ในป่า เวลากลางคืนอยู่ในที่แจ้ง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งเนื้อ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในโลมหังสนะปริยายว่า:-
“ดูก่อนสารีบุตร ราตรีทั้งหลายนั้นใด เย็นเป็นไปในเหมันตฤดู ในราตรีทั้งหลายเห็นปานนั้น ณ สมัยเป็นที่ตกแห่งน้ำค้าง เรานั้นแลสำเร็จอิริยาบถอยู่ในอัพโภกาสในราตรี สำเร็จอิริยาบถอยู่ในราวป่าในกาลวัน, ในเดือนมีในภายหลังแห่งคิมหฤดูเราสำเร็จอิริยาบถอยู่ในอัพโภกาสในกลางวัน, เราสำเร็จอิริยาบถอยู่ในราวป่าในราตรี ดังนี้.”
อนึ่ง เนื้อในเมื่อหอกหรือศรตกลงอยู่ ย่อมหลบ ย่อมหนีไป ย่อมไม่นำกายเข้าไปใกล้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ในเมื่อกิเลสทั้งหลายตกลงอยู่ ก็ต้องหลบ ต้องหนีไป ต้องไม่น้อมจิตเข้าไปใกล้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งเนื้อ.
อนึ่ง เนื้อเห็นมนุษย์ทั้งหลายย่อมหนีไปเสียทางใดทางหนึ่งด้วยคิดว่า ‘มนุษย์เหล่านั้นอย่าได้เห็นเราเลย’ ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เห็นชนทั้งหลายผู้มีปกติบาดหมางกัน ทะเลาะกัน แก่งแย่งกัน วิวาทกัน ผู้ทุศีล ผู้เกียจคร้าน ผู้มีความยินดีในความคลุกคลี ก็ต้องหนีไปเสียทางใดทางหนึ่ง ด้วยคิดว่า ‘ชนเหล่านั้นอย่าได้พบเราเลย, และเราก็อย่าได้พบชนเหล่านั้นเลย’ ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งเนื้อ.”
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“บางทีบุคคลมีความปรารถนาลามกเกียจคร้าน มีความเพียรอันละแล้ว มีพุทธวจนะสดับน้อย ผู้ประพฤติไม่ควร อย่าได้พบเราในที่ไร ๆ เลย” ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สี่ประการแห่งโคเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร โคย่อมไม่ละที่อยู่ของตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ละกายของตนโดยโยนิโสมนสิการว่า “กายนี้ไม่เที่ยง ต้องอบกลิ่น นวดฟั้น มีความสลาย เรี่ยรายกระจัดกระจายเป็นธรรมดา’ ดังนี้ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์เป็นปฐมแห่งโค.”
อนึ่ง โคเป็นสัตว์มีแอกอันรับไว้แล้วย่อมนำแอกไปโดยง่ายและยาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีพรหมจรรย์อันถือไว้แล้ว ประพฤติพรหมจรรย์มีชีวิตเป็นที่สุดจนถึงสิ้นชีวิต โดยง่ายและโดยยาก ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งโค.
อนึ่ง โคเมื่อสูดดมตามความพอใจ จึงดื่มกินซึ่งน้ำควรดื่ม ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องสูดดมตามความพอใจ ตามความรัก ตามความเลื่อมใส รับเอาคำพร่ำสอนของอาจารย์และอุปัชฌาย์ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งโค.
อนึ่ง โคอันบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งขับไปอยู่ ก็ย่อมทำตามถ้อยคำ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรับโอวาทานุสาสนีของภิกษุผู้เถระผู้ใหม่ ผู้ปานกลาง และของคฤหัสถ์ผู้อุบาสก ด้วยเศียรเกล้าฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งโค.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“กุลบุตรบวชในวันนั้น มีปีเจ็ดโดยกำเนิด, แม้ผู้นั้นพร่ำสอนเรา เราก็ต้องรับไว้เหนือกระหม่อม. เราเห็นแล้ว พึงตั้งไว้ซึ่งความพอใจและความรักอันแรงกล้าในบุคคลนั้น, พึงนอบน้อมบุคคลนั้นเนือง ๆ โดยเอื้อเฟื้อในตำแหน่งอาจารย์ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งสุกรเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร สุกรเมื่อถึงคิมหฤดูเป็นคราวเร่าร้อน ย่อมเข้าไปหาน้ำ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ครั้นเมื่อจิตขุ่นมัว พลั้งพลาด เหหวน เร่าร้อนด้วยโทสะ ก็ต้องเข้าไปใกล้ซึ่งเมตตาภาวนา ซึ่งเป็นของเยือกเย็น เป็นของไม่ตาย เป็นของประณีตฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งสุกร.
อนึ่ง สุกรเข้าไปใกล้น้ำตมแล้ว คุ้ยขุดดินด้วยจมูกกระทำให้เป็นปลักนอนในปลักนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องวางกายไว้ในใจ ไปในระหว่างอารมณ์นอนอยู่ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งสุกร.
แม้พระปิณโทลภารทวาชเถระ ก็ได้กล่าไว้ว่า:-
“ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นความเป็นเองในกายแล้ว พิจารณาแล้ว เป็นผู้เดียวไม่มีเพื่อนที่สองนอนในระหว่างอารมณ์ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งช้างเป็นไฉน?”
ถ.”ขอถวายพระพร ธรรมดาช้าง เมื่อเที่ยวไป ย่อมทำลายแผ่นดิน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องพิจารณากายทำลายกิเลสทั้งปวงเสีย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งช้าง.
อนึ่ง ช้างไม่เหลียวด้วยกายทั้งปวง ย่อมเพ่งดูตรงนั่นเทียว มิได้เลือกทิศน้อยทิศใหญ่ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่เหลียวด้วยกายทั้งปวง ไม่เลือกทิศน้อยทิศใหญ่ ไม่แหงนขึ้นข้างบน ไม่ก้มลงข้างล่าง เป็นผู้เพ่งแลไกลชั่วแอก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งช้าง.
อนึ่ง ช้างไม่ได้นอนเป็นนิตย์ ไปหาอาหารเนือง ๆ ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งประเทศนั้นเพื่อจะอยู่ มิได้มีอาลัยในที่อาศัยแน่นอน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มิได้นอนเป็นนิตย์ มิได้มีที่อยู่ ไปเพื่อบิณฑบาต ถ้าว่าเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นมณฑปมีในประเทศอันงดงาม หรือโคนไม้ ถ้ำ เงื้อม เป็นที่ฟูใจสมควร ก็เข้าอาศัยอยู่ในที่นั้น แต่หากระทำความอาลัยในที่อาศัยแน่นอนไม่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งช้าง.
อนึ่ง ช้างลงสู่น้ำก็ลงสู่สระบัวใหญ่ ๆ ซึ่งบริบูรณ์ด้วยน้ำอันสะอาดไม่ขุ่นและเย็น ดาดาษแล้วด้วยกุมาท อุบล ปทุม ปุณฑริก เล่นอย่างช้างอันประเสริฐ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องลงสู่สระโบกขรณีอันประเสริฐ กล่าวคือ มหาสติปัฏฐาน ซึ่งเต็มแล้วด้วยน้ำ กล่าวคือ ธรรมอันประเสริฐ อันสะอาด ไม่หม่นหมอง ผ่องใส มิได้ขุ่นมัว ดาดาษด้วยดอกไม้ กล่าวคือ วิมุตติ ล้างขัดสังขารทั้งหลายด้วยญาณปรีชา เล่นอย่างโยคาวจร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งช้าง.
อนึ่ง ช้างยกเท้าขึ้นก็มีสติ จดเท้าลงก็มีสติ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยกเท้าขึ้นด้วยสติสัมปชัญญะ จดเท้าลงด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะในเวลาก้าวไปและก้าวกลับคู้อวัยวะเข้าและออกในที่ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งช้าง.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
‘ความสำรวมด้วยกายเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมด้วยวาจาเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมด้วยใจเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, บุคคลผู้สำรวมในที่ทั้งปวง นักปราชญ์กล่าวว่า ‘ผู้มีความละอาย มีไตรทวารรักษาแล้ว’ ดังนี้.”

หัวข้อประจำกุญชรวรรคนั้น
ปลวกหนึ่ง แมวหนึ่ง หนูหนึ่ง แมลงป่องหนึ่ง พังพอนหนึ่ง สุนัขจิ้งจอกหนึ่ง เนื้อหนึ่ง โคหนึ่ง สุกรหนึ่ง ช้างหนึ่ง เป็นสิบ ฉะนี้.


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 171 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO