Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะจากหนังสือมิลินทปัญหา หน้า ๓๗๐-๓๘๔

อาทิตย์ 15 เม.ย. 2018 6:05 am

สีห วรรคที่ห้า

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์เจ็ดประการแห่งราชสีห์ เป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ธรรมดาราชสีห์เป็นสัตว์ขาวไม่หม่นหมอง หมดจดสะอาด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีจิตขาว ไม่หม่นหมอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์มีเท้าสี่เป็นเครื่องเที่ยวไป มักเที่ยวไปด้วยลีลาศ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีอิทธิบาทสี่เป็นเครื่องเที่ยวไป ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์เป็นสัตว์มีผมงอกงามมีรูปอันยิ่ง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีผม กล่าวคือศีลงาม มีรูปอันยิ่งฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์ย่อมไม่นอบน้อมแก่สัตว์ไร ๆ แม้เพราะต้องเสียชีวิต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่นอบน้อมแก่ใคร ๆ แม้เพราะจะต้องเสีย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาเป็นปัจจัยแห่งคนไข้เป็นบริขาร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์เป็นสัตว์มีภักษามิได้ขาด ย่อมบริโภคเนื้อสัตว์ในโอกาสที่สัตว์นั้นล้มนั่นแหละจนพอต้องการ มิได้เลือกบริโภคเนื้อล่ำของสัตว์ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีภักษามิได้ขาด มิได้เลือกตระกูลทั้งหลาย มิได้ละเรือนต้นเข้าไปใกล้ตระกูลทั้งหลาย บริโภคพอยังสรีระให้เป็นไป ในโอกาสเป็นที่รับโภชนะนั่นเอง มิได้เลือกโภชนะอันเลิศ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์มิได้มีภักษาหารสะสมไว้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีความบริโภคมิได้กระทำความสะสมไว้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หกแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์มิได้อาหารก็ไม่ได้ดิ้นรน ถึงได้อาหารก็ไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยานกินฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ไม่ได้โภชนะก็ต้องไม่ดิ้นรน ถึงได้โภชนะก็ต้องไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยาน เห็นอาทีนพอยู่เป็นปกติ มีปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภพ บริโภคอยู่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่เจ็ดแห่งราสีห์.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสรรเสริญพระมหากัสสปเถระก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
“แน่ะภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และมีปกติกล่าวคุณของการสันโดา ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงความแสวงหาไม่ควร และกรรมไม่สมควร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่ดิ้นรนถึงได้บิณฑบาตก็ไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยาน เห็นอาทีนพอยู่เป็นปกติ มีปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภาพ บริโภคอยู่’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งนกจากพราก เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร นกจากพรากย่อมไม่ละทิ้งนางนกตัวที่เป็นภริยาจนตลอดชีวิต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็มิได้ละทิ้งความกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ จนตลอดชีวิต ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนกจากพราก.
อนึ่ง นกจากพรากมีสาหร่ายและแหนเป็นภักษา ย่อมถึงความเต็มใจด้วยสาหร่ายและแหนนั้น และไม่เสื่อมจากกำลังและพรรณเพราะความเต็มใจนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องทำความเต็มใจตามลาภที่ได้ ฉันนั้น. ก็โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเป็นผู้เต็มใจตามลาภที่ได้ ก็ไม่เสื่อมจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ และมิได้เสื่อมจากสรรพกุศลธรรมทั้งหลาย. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนกจากพราก.
อนึ่ง นกจากพรากย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีทัณฑะอันละทิ้งแล้ว มีศัสตราอันละทิ้งแล้ว มีความละอาย ถึงพร้อมด้วยความเอ็นดู มีปกติอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ในสัตว์มีชีวิตทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งนกจากพราก.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ ในจักกะวากชาดกว่า:-
“ผู้ใดไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่า ไม่ผจญ ไม่ว่ากล่าว, เวรของผู้นั้น
ย่อมไม่มีกับใคร ๆ เพราะอันไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งปวง’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งนางนกเงือก เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร นางนกเงือกย่อมไม่เลี้ยงลูกทั้งหลายเพราะริษยาในผัวของตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องหวงห้ามกิเลสทั้งหลายอันเกิดขึ้นในใจตนเสีย ใส่เข้าซึ่งกิเลสทั้งหลายในโพรงไม้ กล่าวคือ ความสำรวมโดยชอบด้วยสติปัฏฐานแล้วยังกายคตาสติให้เจริญในมโนทวาร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนางนกเงือก.
อนึ่ง นางนกเงือกเที่ยวหาอาหารที่ป่าใหญ่ตลอดทั้งวัน เวลาเย็นก็กลับมายังฝูงนกเพื่อความรักษาซึ่งตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ผู้เดียว เสพที่อันสงัดทั้งเพื่อความพ้นรอบจากสังโยชนธรรม, เมื่อไม่ได้ความยินดีในที่สงัดทั่วนั้น พึงกลับสู่สังฆมณฑล เป็นผู้อันสงฆ์รักษาแล้วอยู่ เพื่ออันป้องกันซึ่งภัย คือ ความถูกว่าได้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนางนกเงือก.
แม้คำนี้ท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้กราบทูลในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า:-
“เสพที่นอนที่นั่งอันสงัดทั้งหลาย, ประพฤติเพื่อความพ้นวิเศษจากสังโยชนธรรม; ถ้าไม่ถึงทับความยินดีในเสนาสนะเหล่านั้น, จงเป็นผู้มีตนอันรักษาแล้ว มีสติอยู่ในสังฆมณฑล ดังนี้”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนกพิราบเรือนเป็นไฉน?”
ถ. ขอถวายพระพร นกพิราบเรือนเมื่ออยู่ที่เรือนของชนอื่นย่อมไม่ถือเอานิมิตหน่อยหนึ่งแห่งเข้าของ แห่งชนทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสัตว์มัธยัสถ์หมายรู้มากอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเข้าไปสู่ตระกูลอื่น ก็ต้องไม่ถือเอานิมิตในเตียง ตั่ง ผ้า เครื่องประดับ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค หรือโภชนะวิกัติทั้งหลายของสตรีหรือบุรุณ เป็นผู้มัธยัสถ์ เข้าไปตั้งไว้เฉพาะซึ่งความสำคัญว่าเราเป็นสมณะฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนกพิราบเรือน.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ ในจูฬนารทชาดก:- ว่า
‘เข้าไปสู่ตระกูลแล้ว พึงเคี้ยวกิตแต่พอประมาณ บรรดาน้ำควรดื่มทั้งหลาย หรือโภชนะทั้งหลายพึงเคี้ยวกินแต่พอประมาณ พึงบริโภคแต่พอประมาณ, และอย่ากระทำซึ่งใจในรูป’ ดังนี้”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งนกเค้า เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร นกเค้าโกรธกาทั้งหลาย พอเวลากลางคืนก็ไปยังฝูงกาแล้วฆ่ากาเสียเป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกระทำความยินร้ายต่ออญาณความไม่รู้เท่าเสีย เป็นผู้ ๆ เดียวนั่ง ณ ที่ลับย่ำยีอญาณ ตัดเสียตั้งแต่รากเง่า ฉันนั้น.นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนกเค้า.
อนึ่ง นกเค้าเป็นสัตว์หลีกเร้นอยู่ ณ ที่ลับ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีที่สงัดเป็นที่มารื่นรมย์ ยินดีแล้วในการหลีกเร้นอยู่ ฉันนั้น, นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนกเค้า.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
‘แน่ะภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีที่สงัดเป็นที่มารื่นรมย์ ยินดีในความหลีกเร้นอยู่ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า ‘อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้เป็นสมุทัย อันนี้เป็นนิโรธ อันนี้เป็นมรรค’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนกสตปัตตะ เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร นกสตปัตตะร้องขึ้นและย่อมบอกสุขเกษมหรือทุกข์ภัยให้เป็นนิมิตแก่ชนทั้งหลายอื่น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เมื่อสำแดงธรรมแก่ชนทั้งหลายอื่น ก็ต้องสำแดงวินิบาตโดยความเป็นทุกข์ภัย แสดงนิพพานโดยความเป็นสุขเกษม ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประกอบหนึ่งแห่งนกสตปัตตะ.
แม้พระปิโณโฑลภารทวาชเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘ผู้ประกอบความเพียร ควรจะแสดงซึ่งเนื้อความสองอย่างนี้ คือ ความน่ากลัว น่าสะดุ้งในนรก ความสุขอันไพบูลในนิพพาน’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งค้างคาว เป็นไฉน?”
ถ. ขอถวายพระพร ค้างคาวเข้าไปสู่เรือน เที่ยวไปแล้วก็ออกไป ไม่กังวลอยู่ในเรือนนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เข้าไปบิณฑบาตในบ้าน เที่ยวไปตามลำดับตรอก ได้บิณฑบาตแล้วก็กลับทันที มิได้กังวลอยู่ในบ้านนั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งค้างคาว.
อนึ่ง ค้างคาวเมื่ออยู่ที่เรือนของชนอื่น ไม่ไดทำความเสื่อมแก่ชนเหล่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เข้าไปสู่ตระกูลแล้วก็ต้องไม่ทำความเดือดร้อนหน่อยหนึ่งแก่ชนเหล่านั้น ด้วยการรบกวนเขาเหลือเกิน ด้วยความเป็นผู้ขอเขามาก ด้วยความเป็นผู้มีโทษเกิดแต่กายมาก ด้วยความเป็นผู้ช่างพูดเหลือเกิน หรือด้วยความเป็นผู้มีสุขและทุกข์ร่วมด้วยเขา, และไม่ยังการงานอันเป็นที่ตั้งแห่งทรัพญ์สมบัติของชนเหล่านั้นให้เสื่อมเสียไป ปรารถนาความเจริญอย่างเดียวโดยประการทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งค้างคาว.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในลักขณสูตร ในทีฆนิกายอันประเสริฐว่า:-
‘บุคคลปรารถนาอยู่ว่า ‘ไฉนชนเหล่าอื่นไม่พึงเสื่อมจากศรัทธา ศีล สุตะ ปัญญา จาคะ กรรมที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเป็นอันมาก ทรัพย์ ข้าวเปลือก นาและที่ดิน บุตรทั้งหลาย ภริยาทั้งหลาย เหล่าสัตว์สี่เท้า เหล่าญาติ เหล่ามิตร เหล่าพวกพ้อง กำลัง พรรณ สุข, ฉะนี้, และจำนงหวังความมั่นคั่ง ความสำเร็จแห่งประโยชน์’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งปลิง เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ปลิงเกาะที่อวัยวะใด ก็เกาะแน่นในอวัยวะนั้น ดื่มโลหิตอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร หน่วงจิตไว้ในอารมณ์ใด ก็ต้องตั้งอารมณ์นั้นไว้ให้มั่น โดย วรรณ สัณฐาน ทิศ โอกาส ปริจเฉท ลิงค์ และนิมิต ดื่มรส คือ วิมุตติอันไม่เจือกิเลส ด้วยอารมณ์นั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประกอบหนึ่งแห่งปลิง.
แม้พระอนุรุทธเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘บุคคลมีจิตบริสุทธิ์ ตั้งอยู่เฉพาะในอารมณ์ พึงดื่มรส คือ วิมุตติอันไม่เจือกิเลส ด้วยจิตนั้น’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งงูเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร งูย่อมเลื้อยไปด้วยอก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเที่ยวอยู่ด้วยปัญญา; เมื่อโยคาวจรเที่ยวอยู่ด้วยปัญญา จิตก็เที่ยวอยู่ในมรรคาอันนำออกไปจากภพ เว้นสิ่งที่ไม่มีเครื่องหมายเสีย ยังสิ่งที่มีเครื่องหมายให้เจริญ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งงู.
อนึ่ง งูเมื่อเที่ยวไป เว้นยาเสียเที่ยวไปอยู่ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเว้นทุจริตเสียเที่ยวอยู่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งงู.
อนึ่ง งูเห็นมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเดือดร้อน เศร้าโศก เสียใจ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ตรึกถึงความตรึกอันชั่วแล้วยังความไม่ยินดีให้เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเดือดร้อน เศร้าโศกเสียใจว่า วันแห่งเราเป็นไปล่วงแล้วด้วยความประมาท วันที่เป็นไปล่วงแล้วนั้น เราไม่อาจได้อีก, ฉะนี้ ฉันนั้น.
แม้กินนรทั้งสอง ก็ได้กล่าวไว้ ในภัลลาฏิยชาดกว่า:-
‘แน่ะนายพราน เราทั้งสองอยู่ปราศจากกันสิ้นราตรีหนึ่ง อันใด เราทั้งสองไม่อยากจะพลัดพรากกัน ระลึกถึงกันอยู่ เดือดร้อนเนือง ๆ เศร้าโศกถึงกันสิ้นราตรีหนึ่ง อันนั้น. ราตรีนั้นจักมีอีกไม่ได้’ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งงูเหลือม เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร งูเหลือมเป็นสัตว์มีกายใหญ่ มีท้องพร่องขัดสนอาหาร ย่อมไม่ได้อาหารสักว่าพอเต็มท้อง สิ้นวันเป็นอันมากเป็นสัตว์ไม่บริบูรณ์ด้วยอาหาร ย่อมประทังไปเพียงแต่อาหารสักว่ายังสรีระให้เป็นไป ฉันใด, เมื่อโยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ขวนขวายเพื่อภิกขาจารวัตร เข้าไปใกล้บิณฑะของบุคคลอื่น มีความมุ่งหมายบิณฑะอันบุคคลอื่นให้แล้ว เว้นเสียจากความถือเอาเอง ก็ยากที่จะได้อาหารให้เพียงพอ, ถึงกระนั้น กุลบุตรผู้เป็นไปในอำนาจประโยชน์ก็ไม่บริโภคคำข้าวสี่ห้าคำ ยังกระเพาะให้เต็มด้วยน้ำแทนคำข้าวที่เหลือนั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งงูเหลือม.
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘ภิกษุเมื่อบริโภคของสดหรือของแห้งก็มิให้อิ่มนัก เป็นผู้มีอุทรพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติเว้นเสีย ไม่บริโภค คำข้าวสี่ห้าคำ ดื่มน้ำแทน การประพฤตินั้นเป็นของควรเพื่อวิหารธรรมอันสำราญ แห่งภิกษุผู้มีจิตส่งไปแล้ว’ ดังนี้.”

หัวข้อประจำสีหวรรคนึ่ง

ราชสีห์หนึ่ง นกจากพรากหนึ่ง นางนกเงือกหนึ่ง นกพิราบเรือนหนึ่ง นกเค้าหนึ่ง นกสตปัตตะหนึ่ง ค้างคาวหนึ่ง ปลิงหนึ่ง งูหนึ่ง งูเหลือมหนึ่ง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าวรรค.


มักกฎ วรรคที่หก

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งแมลงมุมชักใยใกล้ทาง เป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร แมลงมุมชักใยใกล้ทางนั้น ชักใยดุจเพดานไว้ใกล้ทางแล้ว, ถ้าว่าหนอนหรือแหลงหรือบุ้งมาติดที่ใยนั้น, ก็จับเอาสัตว์มีหนอนเป็นต้นนั้นกิน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องทำใย คือ สติปัฏฐานให้เป็นดุจเพดาน ที่ทวารทั้งหก ถ้าว่าแมลงกล่าวคือกิเลสมาติดที่ใยนั้น, ก็ฆ่าเสียที่ใยนั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งแมลงมุมชักใยใกล้ทาง.
แม้พระอนุรุทธเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘สติปัฏฐานอันประเสริฐสูงสุด เป็นดุจเพดานในทวารทั้งหก กิเลสทั้งหลายมาติดในเพดาน คือ สติปัฏฐานนั้น ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง พึงฆ่ากิเลสนั้นเสีย’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งทารกกินนม เป็นไฉน?”
ถ. ขอถวายพระพร ทารกกินนมย่อมข้องอยู่ในประโยชน์ของตน อยากนมก็ร้องไห้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องข้องอยู่ในประโยชน์ของตน เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องรู้ ในอุทเทส ปริปุจฉา สัมมาประโยค ที่สงัดทั่ว ความอยู่รวมด้วยบุคคลผู้ควรเคารพ ความคบกับกัลยาณมิตร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งทารกกินนม.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในปรินิพพานสูตร ในทีฆนิกายอันประเสริฐว่า:-
‘ดูก่อนอานนท์ ท่านทั้งหลายจงสืบต่อไปในประโยชน์ของตน, จงประกอบเนือง ๆ ในประโยชน์ของตน, จงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีจิตส่งไปแล้ว อยู่ทุกอิริยาบถ ในประโยชน์ของตน’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งเต่าเหลือง เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร เต่าเหลืองเว้นเสียซึ่งน้ำ เพราะกลัวแต่น้ำเที่ยวอยู่บนบก ก็แต่หาเสื่อมจากอายุ เพราะการเว้นเสียซึ่งน้ำนั้นไม่ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้เห็นภัยในความประมาทอยู่เป็นนิตย์ เห็นคุณวิเศษในความไม่ประมาทอยู่เป็นปกติ ก็แหละความเสื่อมจากสามัญคุณไม่ ย่อมเข้าไปในที่ใกล้พระนิพพาน เพราะความเป็นผู้มีอันเห็นภัยเป็นปกตินั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งเต่าเหลือ.”
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในธรรมบทว่า:-
“ภิกษุผู้ยินดีในอัปปมาทธรรม หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท, เป็นผู้ไม่ควรจะเสื่อมในที่ใกล้พระนิพพาน ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งป่าชัฏ เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ธรรมดาป่าชัฏย่อมปกปิดไว้ซึ่งชนผู้ไม่สะอาด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องปกปิดซึ่งความผิดความพลั้งพลาดแห่งชนเหล่าอื่น ไม่เปิดเผย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งป่าชัฏ.”
อนึ่ง ป่าชัฏเป็นที่ว่างจากชนเป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ว่างจากข่าย คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งป่าชัฏ.
อนึ่ง ป่าชัฏเป็นสถานที่เงียบ เป็นที่ปราศจากความคับแคบด้วยชน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้สงบสงัดจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย ซึ่งมิใช่ของประเสริฐ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งป่าชัฏ.
อนึ่ง ป่าชัฏเป็นที่อันสงบหมดจด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้สงบแล้วหมดจดแล้ว ดับแล้ว มีมานะอันละแล้ว มีความลบหลู่คุณท่านอันละแล้ว ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งป่าชัฏ.”
อนึ่ง ป่าชัฏเป็นสถานที่อันอริยชนต้องเสพ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ส้องเสพด้วยอริยชน ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งป่าชัฏ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
‘ผู้มีปัญญาพึงเสพกับด้วยบัณฑิตทั้งหลาย ผู้ไกลจากกิเลส ผู้มีจิตสงวัดแล้ว มีตนส่งไปแล้ว มีปกติเพ่งพินิจ ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วเป็นนิตย์’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งต้นไม้ เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ขึ้นชื่อว่าต้นไม้ ย่อมทรงดอกและผลฉันใด. โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ทรงดอก กล่าวคือ วิมุตติ และผล กล่าวคือ สามัญคุณ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งต้นไม้.
อนึ่ง ต้นไม่ย่อมให้ซึ่งร่มเงาแก่ชนทั้งหลายผู้เข้าใกล้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ต้อนรับ ด้วยอามิสปฏิสันถารหรือธรรมปฏิสันถารแก่บุคคลผู้เข้าไปหา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งต้นไม้.
อนึ่ง ต้นไม้ย่อมไม่ทำซึ่งความที่ร่มเงาให้เป็นของมีประมาณต่างกัน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ทำความเป็นของมีประมาณต่างกันในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งต้นไม้.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“พระมุนีนาถเจ้า เป็นผู้มีพระหฤทัยเสมอในชนทั้งปวง คือ ในเทวทัตผู้ฆ่า ในอังคุลิมาลกโจร ในธนปาลกคชสาร และในพระราหุล ดังนี้”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งฝนเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ฝนย่อมระงับเสียซึ่งธุลีเหงื่อไคลซึ่งเกิดขึ้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องระงับเสียซึ่งธุลีเหงื่อไคล คือ กิเลสซึ่งเกิดขึ้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งฝน.
อนึ่ง ฝนย่อมยังความร้อนที่แผ่นดินให้ดับเสีย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังโลกทั้งเทวโลกด้วยเมตตาภาวนาฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งฝน.
อนึ่ง ฝนย่อมยังพืชทั้งปวงให้งอกขึ้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังศรัทธาของสัตว์ทั้งปวงให้เกิดขึ้น แล้วหว่านลงซึ่งพืช กล่าวคือ ศรัทธานั้น ในสมบัติสามประการ คือ ทิพยสมบัติ และมนุษยสมบัติ จนถึงสุขสมบัติ คือ นิพพานอันมีประโยชน์อย่างยิ่งฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งฝน.
อนึ่ง ฝนตั้งขึ้นแล้วแต่ฤดู ย่อมรักษาไว้ซึ่งหญ้า ต้นไม้ เครือเขา พุ่มไม้ ผัก และไม้เป็นเจ้าแห่งไพรทั้งหลาย ซึ่งงอกขึ้นบนแผ่นดินฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังความทำในใจโดยอุบายที่ชอบให้เกิดขึ้น แล้วรักษาไว้ซึงสมณธรรมด้วยความทำในใจโดยอุบายที่ชอบนั้น เพราะว่ากุศลธรรมทั้งปวงมีโยนิโสมนสิการเป็นมูลราก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งฝน.
อนึ่ง ฝนเมื่อตก ย่อมยังแม่น้ำ หนอง สระบัว ซอก หัวย ธาร เขา บึง บ่อ ให้เต็มด้วยธารน้ำทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังฝนคือธรรมให้ตก ด้วยปริยัติเป็นที่มา ยังใจแห่งชนทั้งหลาย ผู้ใคร่ซึ่งธรรมอันบุคคลพึงตรัสรู้ ให้เต็มรอบ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งฝน:-
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘พระมหามุนีผู้ทรงพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรเห็นชนผู้อันพระองค์ควรแนะนำให้ตรัสรู้ ในที่แม้มีแสนโยชน์เป็นประมาณ ก็เสด็จพุทธดำเนินไปหาชนนั้นโดยขณะเดียว ยังชนนั้นให้ตรัสรู้ธรรม’ ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งแก้วมณี เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร แก้วมณีเป็นของหมดจดส่วนเดียว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีอาชีพหมดจดส่วนเดียวฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งแก้วมณี.
อนึ่ง แก้วมณีย่อมไม่เจือปนกับอะไร ๆ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ระคนด้วยคนชั่วทั้งหลาย ด้วยสหายชั่วทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งแก้วมณี.
อนึ่ง แก้วมณีอันนายช่างย่อมประกอบกับชาติแล้วทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องอยู่รวมกับบุคคลทั้งหลายผู้มีชาติอุดมเลิศ ต้องอยู่รวมด้วยบุคคลผู้ปฏิบัติ ผู้ตั้งอยู่ในผล ผู้พร้อมเพรียงด้วยเสขผล ด้วยมณีรัตนะ คือ สมณะผู้โสดาบัน สหทาคามี อนาคารมี อรหันต์ เตวิชชา ฉฬภิญญา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งแก้วมณี.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสพุทธพจน์นี้ไว้ในสุตตนิบาตว่า :-
‘ท่านทั้งหลายผู้บริสุทธิ์มีสติตั้งมั่น พึงสำเร็จการอยู่รวมด้วย ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย, แต่นั้น ท่านทั้งหลายผู้พร้อมเพียงกัน มีปัญญารักษาตนโดยไม่เหลือ จักทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สีประการแห่งพรานเนื้อ เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร พรานเนื้อเป็นผู้มีความหลับน้อย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีความหลับน้อย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งพรานเนื้อ.
อนึ่ง พรานเนื้อย่อมผูกใจอยู่แต่ในเนื้อทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องผูกใจอยู่แต่ในอารมณ์ทั้งหลาย ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพรานเนื้อ.
อนึ่ง พรานเนื้อย่อมรู้กาลของกิจที่จะพึงทำ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรู้จักกาลของความหลีกเร้นอยู่ว่า ‘กาลนี้เป็นกาลของความหลีกเร้นอยู่, กาลนี้เป็นกาลของความออกจากความหลีกเร้นอยู่’ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งพรานเนื้อ.
อนึ่ง พรานเนื้อเห็นเนื้อแล้ว ย่อมยังความยินดีให้เกิดเฉพาะว่า ‘เราจักได้เนื้อนี้’ ดังนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรื่นรมย์ในอารมณ์ ยังความยินดีให้เกิดเฉพาะในอารมณ์ว่า ‘เราจักบรรลุคุณพิเศษอันยิ่ง’ ดังนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งพรานเนื้อ.
แม้พระโมฆราชเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘ภิกษุได้อารมณ์แล้ว มีจิตส่งไปในอารมณ์แล้ว ยังความยินดีให้เกิดยิ่งว่า ‘เราจักบรรลุคุณอันยิ่ง’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งพรานเบ็ด เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร พรานเบ็ดย่อมวัดปลาทั้งหลายขึ้นด้วยเบ็ด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยกขึ้นซึ่งสามัญผลทั้งหลายอันยิ่งด้วยญาณ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งพรานเบ็ด.
อนึ่ง พรานเบ็ดฆ่าซึ่งปลาตัวเล็ก ๆ ย่อมได้ลาภเป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องละซึ่งอามิสในโลกเล็กน้อยเสีย; เพราะว่าละเสียซึ่งอามิสในโลกแล้ว ย่อมบรรลุสามัญผลเป็นอันมาก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพรานเบ็ด.
แม้พระราหุลเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘ละโลกามิสเสียแล้ว พึงได้สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และผลสี่ อภิญญาหก’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งช่างไม้ เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ช่างไม้ย่อมถากไม้ตามเส้นดำ คือ สายบรรทัดที่ขึงขีดไว้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยืนอยู่ที่แผ่นดิน กล่าวคือ ศีล แล้วถือซึ่งขวาน กล่าวคือ ปัญญา ด้วยมือ กล่าวคือ ศรัทธา ถากซึ่งกิเลสทั้งหลาย อนุโลมตามพระชินพระศาสนา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งช่างไม้.
อนึ่ง ช่างไม้ถากกระพี้ออกเสีย ถือเอาแต่แก่น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องนำเสียซึ่งหนทางแห่งความกล่าวแก่งแย่งว่า ‘เที่ยง ขาด ชีวิตอันนั้น สรีระอันนั้น, ชีวิตอื่น สรีระอื่น, ธรรมชาติสูงสุดอันนั้น, ธรรมชาติสูงสุดอันอื่น, ธรรมชาติอันปัจจัยไม่ทำแล้วไม่ควร, ไม่ใช่ความกระทำของบุรุษ, มิใช่ความอยู่ด้วยสามารถแห่งความประพฤติพรหมจรรย์, ความฉิบหายแห่งสัตว์, ความปรากฏแห่งสัตว์ใหม่, ความที่สังขารเที่ยง, ผู้ใดกระทำ ผู้นั้นรู้แจ้งพร้อมเฉพาะ, ผู้อื่นกระทำ ผู้อื่นรู้แจ้งพร้อมเฉพาะ, ความเห็นกรรมและผลของกรรม, ความเห็นผลของความกระทำฉะนี้ก็ดี ซึ่งหนทางแห่งความกล่าวแก่งแย่งอย่างอื่นก็ดี แล้วถือเอาซึ่งความเป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลาย ซึ่งความที่สังขารทั้งหลายสูญอย่างยิ่ง ซึ่งความที่สังขารทั้งหลายเป็นของไม่มีเพียร ไม่มีชีวิต ซึ่งความที่สังขารทั้งหลายเป็นของล่วงส่วน ซึ่งความที่สังขารทั้งหลายเป็นของว่างเปล่า ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งช่างไม้.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
“ท่านทั้งหลาย จงกำจัดเสียซึ่งกิเลสดุจหยากเยื่อ จงเสือกไปเสียซึ่งกิเลสอันดุจสวะ แต่นั้น ท่านทั้งหลาย จงลอยเสียซึ่งบุคคลทั้งหลายผู้เป็นดุจฟาง ผู้ไม่ใช่สมณะ แต่มีความถือตัวว่าเราเป็นสมณะ ครั้นท่านทั้งหลายกำจัดบุคคลทั้งหลายผู้มีความปรารถนาลามก มีอาจาระและโคจรอันลามก พึงเป็นผู้หมดจด มีสติตั้งมั่นสำเร็จความอยู่รวมด้วยบุคคลผู้หมดจดทั้งหลาย’ ดังนี้.”

หัวข้อประจำมักกฏวรรคนั้น

แมลงมุมหนึ่ง ทารกหนึ่ง เต่าหนึ่ง ป่าหนึ่ง ต้นไม้หนึ่ง ฝนหนึ่ง แก้วมณีหนึ่ง พรานเนื้อหนึ่ง พรานเบ็ดหนึ่ง ช่างไม้หนึ่ง.


กุมภ วรรคที่เจ็ด

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งหม้อ เป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร หม้อเต็มเปี่ยมแล้วด้วยน้ำย่อมไม่ดัง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ถึงแล้วซึ่งบารมีในนิกายเป็นที่มา ในธรรมอันบุคคลพึงบรรลุ ในปริยัติ ในสามัญคุณ ก็ไม่ทำเสียง และเพราะความถึงบารมีในคุณนั้น ก็ไม่ทำมานะ ไม่แสดงความเย่อหยิ่ง เป็นผู้มีมานะอันละแล้ว มีความเย่อหยิ่งอันละแล้ว เป็นผู้ตรง ไม่ปากกล้า ไม่อวดตัว ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งหม้อ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
‘ของใดพร่อง ของนั้นดัง, ของใดเต็ม ของนั้นเงียบ, คนพาลเปรียบด้วยหม้อเปล่า บัณฑิตดุจห้วงน้ำอันเปี่ยม’ ดังนี้.”
ร. ”พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งกาลักน้ำ เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร กาลักน้ำบุคคลดูดดีแล้ว ย่อมดูดน้ำออกฉันใด, ใจของโยคาวจรผู้ประกอบความเพียร แอบแนบแล้วในโยนิโสนมสิการ ก็ย่อมนำโยคาวจรไป ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งกาลักน้ำ.
อนึ่ง กาลักน้ำอันบุคคลดูดครั้งเดียว ย่อมไม่ดูดน้ำออก ฉันใด, ความเลื่อมใสอันใด ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว โดยนยว่า ‘พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบยิ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติดีแล้ว’ ฉะนี้ โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร. ไม่ควรยังความเลื่อมใสนั้นให้ออกไปเสียจากจิตสันดานอีก; และปรีชาญาณอันใด เกิดขึ้นแล้วครั้งเดียวโดยนัยว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง’ ฉะนี้ โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร อย่าให้ปรีชาญาณนั้น ออกไปเสียจากจิตสันดาน ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งกาลักน้ำ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
‘นรชนผู้ชำระสะอาดแล้วในญาณเครื่องเห็น เป็นผู้เที่ยงแล้วในอริยธรรม เป็นผู้ถือธรรมอันวิเศษ ย่อมไม่หวั่นไหวโดยส่วนมิใช่อันเดียว และนรชนนั้น ย่อมเป็นอย่างนั้นแหละเพราะความเป็นหัวหน้าโดยประการทั้งปวง’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งร่มเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ร่มกั้นอยู่บนศีรษะ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไปอยู่บนกระหม่อมแห่งกิเลสทั้งหลายฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งร่ม.
อนึ่ง ร่มเป็นของบำรุงศีรษะ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้บำรุงโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งร่ม.
อนึ่ง ร่มย่อมบำบัดเสียซึ่งลมและแดดและฝน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องบำบัดเสียซึ่งลม คือ ความสำคัญ แดด คือ ไฟสามอย่าง และฝน คือ กิเลส ของสมณพราหมณ์เป็นอันมาก ผู้มีความเห็นต่าง ๆ กัน ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งร่ม.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘ร่มดีไม่ทะลุประกอบมั่นคง ย่อมห้ามเสียซึ่งลมและแดดและห่าฝน ฉันใด, แม้พุทธบุตรก็ทรงร่ม คือ ศีล เป็นผู้สะอาด ห้ามเสียซึ่งฝน คือ กิเลส และแดด คือ ไฟสามอยาง ฉันนั้น’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งนาเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร นาย่อมถืงพร้อมด้วยเหมือง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเหมือง คือ สุจริตและข้อปฏิบัติน้อยใหญ่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งนา.
อนึ่ง นาเป็นของถึงพร้อมแล้วด้วยคัน และรักษาน้ำไว้ด้วยคันนั้นยังธัญชาติให้สำเร็จ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคันนา คือ ศีลและความละอายบาป ถือเอาสามัญผลทั้งสี่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนา.
อนึ่ง นาเป็นของถึงพร้อมด้วยความเจริญงาม ยังความยินดีให้เกิดแก่ชาวนา, พืชที่เขาหว่านแม้น้อย ก็มีผลมาก ที่เขาหว่านมาก ก็ยังมีผลมากกว่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ให้ผลอันไพบูลย์แก่ทายกทั้งหลาย ยังความยินดีให้เกิดแก่ทายกทั้งหลาย, ทานที่เขาให้น้อยก็มีผลมาก ที่เขาให้มากก็ยิ่งมีผลมากกว่านั้น ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งนา.
แม้พระอุบาลีเถระผู้วินัยธร ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
‘ภิกษุพึงเป็นผู้เปรียบด้วยนา มีความหมั่นและให้ผลไพบูลย์; ผู้ใดให้ผลอันไพบูลย์ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นดุจนาอันเลิศ’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งยาเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร กิมิชาติทั้งหลาย ย่อมไม่ตั้งอยู่พร้อมในยาฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ให้กิเลสตั้งอยู่พร้อมในใจ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งยา.
อนึ่ง ยาย่อมกำจัดเสียซึ่งพิษ ที่สัตว์กัด ที่ถูกต้อง ที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ชิมทั้งปวง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกำจัดเสียซึ่งพิษ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งยา.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสพุทธพจน์นี้ไว้ว่า:-
‘ผู้ประกอบความเพียร ใคร่เพื่อจะเห็นซึ่งเนื้อความตามเป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลาย พึงเป็นประหนึ่งว่ายา เพราะยังพิษคือกิเลสให้พินาศ. ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งโภชนะ เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร โภชนะเป็นเครื่องอุปถัมภ์แห่งสัตว์ทั้งปวงฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้อุปถัมภ์มรรคาแห่งสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งโภชนะ.
อนึ่ง โภชนะยังกำลังของสัตว์ให้เจริญ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเจริญด้วยกำไร คือ บุญ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งโภชนะ.
อนึ่ง โภชนะเป็นของที่สัตว์ทั้งปวงปรารถนา ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้อันโลกทั้งปวงปรารถนา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งโภชนะ.
แม้พระโมฆราชเถระ ก็ได้ภาสิตคำนี้ได้ว่า:-
‘ผู้ประกอบความเพียร พึงเป็นผู้อันโลกทั้งปวงปรารถนาด้วยความสำรวม ความกำหนด ศีล ข้อปฏิบัติ’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สี่ประการแห่งคนแผลงศร เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร คนแผลงศรเมื่อจะแผลงศร ตั้งไว้ซึ่งเท้าทั้งสองให้มั่นที่แผ่นดิน, กระทำเข่าทั้งสองไม่ให้มีความเป็นของวิกล, ตั้งไว้ซึ่งสายแห่งศร ณ ที่ต่อ คือ สะเอว, กระทำการให้แข็งขึง ยกมือทั้งสองขึ้นยังที่แห่งที่ต่อ, บีบเข้าซึ่งกำมือ, กระทำนิ้วทั้งหลายมิให้มีระหว่าง, ประคองคอไว้ หลิ่วตาทั้งสองและหุบปาก, เล็งให้ตรงที่หมาย, ยังความยินดีให้เกิดขึ้นว่า ‘เราจักยิง’ ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องตั้งไว้ซึ่งเท้าทั้งสอง คือ วิริยะ ณ แผ่นดิน คือ ศีล,กระทำความอดกลั้นและความเสงี่ยม ให้เป็นของไม่วิกล, ตั้งจิตไว้ในความสำรวม, นำตนเข้าไปในความระวังและความกำหนด บีบซึ่งความสยบด้วยความอิจฉาเข้า, กระทำจิตในโยนิโสมนสิการมิให้มีระหว่าง, ประคองไว้ซึ่งความเพียร, ปิดทวารทั้งหกเสีย, เข้าไปตั้งไว้ซึ่งสติ, ยังความยินดีให้เกิดขึ้นว่า ‘เราจักยิงกิเลสทั้งหลายด้วยศร คือ ปรีชาญาณ’ ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์เป็นประถมแห่งคนแผลงศร.”
อนึ่ง คนแผลงศรย่อมรักษาซึ่งไม้ตะเกียบ เพื่ออันดัดลูกศรซึ่งคดโกงไม่ตรงให้ตรง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรักษาไว้ซึ่งตะเกียบ คือ สติเป็นที่ตั้งไว้ทั่วกายนี้ เมื่ออันดัดจิตอันคดโกงไม่ตรงให้ตรง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งคนแผลงศร.
อนึ่ง คนแผลงศร ย่อมยิงไปเป้า ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยิงเข้าไปในกายนี้ คือ ยิงเข้าไปโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นโรค โดยความเป็นดังหัวฝี โดยความเป็นดังลูกศร โดยความเป็นเครื่องลำบาก โดยความเป็นความป่วยเจ็บ โดยความเป็นสิ่งอื่น โดยความเป็นของทรุดโทรม โดยความเป็นเหตุร้าย โดยความเป็นอุปัททวะ โดยความเป็นภัย โดยความเป็นของขัดข้อง โดยความเป็นของหวั่นไหว โดยความเป็นของเปื่อยพัง โดยความเป็นของไม่ยั่งยืน โดยความเป็นของหาที่ป้องกันไม่ได้ โดยความเป็นของไม่มีที่หลีกเร้น โดยความเป็นของไม่มีวัตถุเป็นที่พึ่ง โดยความเป็นของไม่มีบุคคลเป็นที่พึ่ง โดยความเป็นของว่าง โดยความเป็นของสูญ โดยความเป็นโทษเป็นไป ดังมนุษย์อันบุคคลพึงกรุณา โดยความเป็นของไม่มีแก่นสาร โดยความเป็นรากเง่าแห่งเครื่องลำบาก โดยความเป็นดังคนฆ่า โดยความเป็นของเป็นไปกับด้วยอาสวะ โดยความเป็นของที่ปัจจัยปรุงแต่ง โดยความเป็นของมีความเกิดเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความแก่เป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีเจ็บไข้เป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความตายเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความแห้งใจเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความรำพันเพ้อด้วยวาจาเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความคับใจเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีเครื่องเศร้าหมองพร้อมเป็นธรรมดา, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ต้องยิงเข้าไปในกายนี้ อย่างนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งคนแผลงศร.

อนึ่ง คนแผลงศร ย่อมหัดยิงทุกเวลาเย็นเช้า ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องหัดยิงเจ้าไปในอารมณ์ทุกเวลาเย็นเช้า ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งคนแผลงศร.
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า:-
‘ธรรมดาคนแผลงศร ย่อมหัดยิงทุกเวลาเย็นเช้า เมื่อไม่ทอดทิ้งซึ่งการหัดยิง ย่อมได้รางวัลและบำเหน็จเครื่องยินดี ฉันใด;พุทธบุตรก็กระทำซึ่งอันยิงเข้าไปในกาย เมื่อไม่ทอดทิ้งซึ่งอันเข้าไปยิงในกาย ย่อมบรรลุพระอรหัต ฉันนั้น’ ดังนี้.”
(หมดฉบับนิทเทสแห่งบทมาติกาเพียงนี้ ไม่มีนิทเทสจนหมดบทมาติกาที่ตั้งไว้นั้น, ต่อนี้ ดำเนินความตามเรื่องเป็นลำดับไปจนจบ)
มิลินทปัญหา ซึ่งมาในคัมภีร์นี้สองร้อยหกสิบสองปัญหา เป็นไปในกัณฑ์หกกัณฑ์ ประดับด้วยวรรคยี่สิบวรรค. ก็แต่มิลินทปัญหาที่ยังไม่มาในคัมภีร์นี้อีกสี่สิบสองปัญหา รวมทั้งที่มาทั้งที่ไม่มาด้วยกันทั้งหมดเป็นสามร้อยกับสี่ปัญหา ถึงซึ่งอันนับว่า มิลินทปัญหาทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้.
ตอบกระทู้