Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะจากหนังสือมิลินทปัญหา หน้า ๓๘๔-๓๙๘

จันทร์ 16 เม.ย. 2018 5:27 am

อธิบายท้ายเรื่อง

มิลินปัญหา เป็นปกรณ์มีมาเก่าแก่และสำคัญปกรณ์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ไม่ปรากฏว่าท่านผู้ใดเป็นผู้รจนา เชื่อกันว่ารจนาขึ้นในราวพุทธศักราช 500 ปรากฏตาม มธุรัตถปกาสินี ฎีกาแห่งมิลินทปัญหา ซึ่งรจนาโดยพระมหติปิฎกจุฬาภัย ว่าพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้แต่งนิทานกถาและนิคมกถาประกอบเข้า ส่วนตัวปัญหา ท่านหาได้กล่าวว่าผู้ใดแต่ไม่
มิลินทปัญหาแบ่งออกเป็น หกส่วน คือ บุพพโยค ว่าด้วยบุพพกรรมและประวัติของพระนาคเสนและพระเจ้ามิลินท์ มิลินปัญหาว่าด้วยปัญหาเงื่อนเดียว เมณฑกปัญหา ว่าด้วยปัญหาสองเงื่อน อนุมานปัญหา ว่าด้วยเรื่องที่รู้โดยอนุมาน ลักขณปัญหา ว่าด้วยลักษณะแห่งธรรมต่าง ๆ อุปมากถาปัญหา ว่าด้วยเรื่องที่จะพึงทราบด้วยอุปมาในหกส่วนนี้ บางส่วนยกเป็นมาติกา บางส่วนไม่ยกเป็นมาติกา จัดรวมไว้ในมาติกาอื่น คือ ลักขณปัญหารวมอยู่ในมิลินทปัญหา อนุมานปัญหา รวมอยู่ในเมณฑกปัญหา เพราะฉะนั้น เมื่อจะจัดระเบียบให้เป็นหมวดหมู่สะดวกแก่การค้นดู ต้องแบ่งเป็นสี่ส่วน เรียงลำดับดังนี้ บุพพโยค ซึ่งเรียกว่า พาหิรกถา หนึ่ง มิลินปัญหา หนึ่ง เมณฑกปัญหา หนึ่ง และอุปมากถาปัญหา หนึ่ง
เกี่ยวกับระยะเวลาแห่งการรจนามิลินปัญหาปกรณ์นี้ สมเด็จพระสังฆราช (อุฏฐายีมหาเถร) ทรงสันนิษฐานไว้ว่า ในพุทธโฆสัปปวัตติกถา ท้ายคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ กล่าวว่า พระพุทธโฆษาจารย์เกิดเมื่อพระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๙๕๖ พรรษา ในพาหิรกถาแห่งมิลินปัญหากล่าวว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงสมภพ เมื่อพุทธศักราช ๕๐๐ ปี แต่ไม่ปรากฏว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงครองราชสมบัติในสาคลนคร เมื่อพระพุทธศักราชล่วงแล้วเท่าไร ปรากฏแต่เพียงว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงชอบรุกรานถามปัญหาธรรม จนไม่มีใครสามารถจะวิสัชนาได้ สมณพราหมณ์จึงต่างพากันหนีออกไปหมด สาคลนครว่างเปล่าจากสมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตอยู่ถึง ๑๒ ปี พระนาคเสนจึงได้อุบัติขึ้น และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๐ ปีเต็ม บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จึงไปเรียนพระพุทธวจนะในสำนักของพระพุทธรักขิตเถระ ที่อโสการาม เมื่องปาฏลีบุตร เรียนพระไตรปิฎกใช้เวลาในการเรียน ๓ เดือน และพิจารณาอรรถแห่งพระพุทธวจนะที่เรียนแล้วอีก ๓ เดือนจึงจบ พร้อมทั้งได้บรรลุพระอรหัต แล้วจึงกลับสู่สังเขยยบริเวณ จนถึงได้พบกับพระเจ้ามิลินท์กระทำปุจฉาวิสัชนากะกันและกัน ระยะกาลตั้งแต่พระนาคเสนอุปสมบทแล้ว ถึงวิสัชนาปัญหากับพระเจ้ามิลินท์นี้ อนุมานดูไม่แน่ว่ากี่ปี แต่ก็คงได้ความว่า พระนาคเสนเกิดภายหลังพระเจ้ามิลินท์หลายสิบปี คงในราวพระพุทธศักราช ๕๓๐ ปี จะอ่อนแก่ไปบ้างก็คงไม่มากนัก มิลินปัญหานี้คงคิดขึ้นในราวพุทธศักราช ๕๕๐ ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้น เมื่อประมวลหลักฐานที่มาทั้งสามสถานประกอบกันเข้าแล้วคงได้ความว่า ตัวมิลินทปัญหาเกิดขึ้นราวพุทธศักราช ๕๕๐ ปี และพระพุทธโฆษาจารย์ได้แต่งนิทานกถากับนิคมกถาประกอบเข้าให้บริบูรณ์ ได้ลักษณะแห่งปกรณ์ในระหว่างพุทธศักราช ๙๕๖ ถึง ๑๐๐๐ ปี
ศาสตราจารย์ริส เดวิดส์ (Prof. Rhys Davids) ผู้แปลมิลินทปัญหาเป็นภาษาอังกฤษเป็นคนแรก (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓) ไม่ได้ระบุผู้รจนา กล่าวแต่เพียงว่า มิลินทปัญหา เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นทางอินเดียภาคเหนือ ราวแรกตั้งคริสตศักราช (คริสตศักราชเริ่มเมื่อ พ.ศ. ๕๔๓) ในเวลาที่พระพุทธศาสนายังไม่เกิดแตกแยกกันเป็นนิกายมหายาน ข้างฝ่ายเหนือ และนิกายเถรวาท ข้างฝ่ายใต้ และว่ามิลินปัญหานี้ เดิมคงแต่งขึ้นในภาษาสันสกฤตหรือภาษาปรากฤตเช่นเดียวกับคัมภีร์อื่น ๆ ที่รจนาขึ้นในทางอินเดียภาคเหนือ แต่ฉบับเดิมสาบสูญไปเสียแล้ว ฉบับที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้นั้น เป็นฉบับที่ชาวลังกาได้แปลเป็นภาษาบาลีไว้
วี. เทรงก์เนอร์ (V. Trenckner) ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดมิลินทปัญหาออกเป็นอักษรโรมันเป็นคนแรก (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓) กล่าวว่า มิลินทปัญหานี้ รจนาขึ้นราวคริสตศตวรรษที่ ๑ และลงความเห็นว่าต้นฉบับเดิมเป็นภาษาสันสกฤต และใช้คำเริ่มต้นว่า “ตม ยถานุสูยต” แทนที่จะใช้คำเริ่มต้นที่นิยมใช้กันในคัมภีย์บาลีทั่ว ๆ ไปว่า “เอวมเม สุตํ” และว่า เป็นปกรณ์ที่รจนาขึ้นทางอินเดียเหนือ อันเป็นดินแดนที่อยู่ในความปกครองของพระเจ้าเมนันเดอร์ (มิลินท์) ซึ่งดูก็ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับลังกาทวีป
ส่วนท่านอานันท์ เกาศัลยายนะเถระ (Anand Kausalyayana) ชาวอินเดีย กล่าวว่า มิลินทปัญหานั้น รวบรวมขึ้นโดยพระนาคเสนมหาเถระ และเป็นคัมภีร์ที่มีหลักฐานดีเล่มหนึ่ง มิลินทปัยหาคงรจนาขึ้นในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์ (มิลินท์) หรือหลังจากนั้น แต่จะต้องรจนาขึ้นก่อนสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ เพราะพระพุทธโฆษาจารย์มักจะอ้างถึงมิลินทปัญหาเสมอ เมื่อประมาณดูแล้ว มิลินทปัญหาคงจะรจนาขึ้น ๑๕๐ ปี ก่อนคริสตศักราช ๔๐๐ ปี เมื่อถือว่า มิลินทปัญหามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือใครเป็นผู้รวบรวมขึ้น รวบรวมขึ้นเมื่อไร มีการเพิ่มเติมลงไปบ้างหรือไม่ และถ้ามีการเพิ่ม เพิ่มเติมไปเมื่อไร มีผู้เสนอควาคิดว่ามิลินทปัยหาไม่ใช่เป็นคัมภีร์ที่รจนาขึ้นโดยบุคคลคนเดียว เพราะแต่ละตอนมีลีลาการแต่งแตกต่างกัน บางทีจะมีการเพิ่มเข้าในภายหลังเป็นบางตอนก็ได้ ข้อพิสูจน์คำที่กล่าวนี้มีอยู่ว่า ฉบับที่แปลเป็นภาษาจีนระหว่างคริสตศักราช ๓๑๗–๔๒๐ (พุทธศักราช ๘๖๐–๙๖๓) ซึ่งเรียกว่า นาคเสนสูตรนั้น มีเพียง ๓ ตอนแรก เมื่อพิจารณาตามหลักนี้ จะเห็นได้ว่า ๔ ตอนที่เหลือเพิ่มเข้ามาในภายหลัง ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนคำกล่าวข้างต้น คือ เมื่อจบตอนที่ ๓ แล้ว ก็แสดงว่าพระเจ้ามิลินท์ทรงถามปัญหาจบลง แต่ถึงตอนที่ ๔ กลับเหมือนทรงเริ่มต้นถามใหม่อีก จึงมีทางสันนิษฐานได้เป็น ๓ ทางคือ (๑) อาจจะมีการเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังอีกหลายตอน (๒) อาจจะแต่งขึ้นครบบริบูรณ์อย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้มาเดิมแล้ว และ (๓) ชาวจีนอาจจะเลือกแปลไว้เพียง ๓ ตอนแรกก็ได้
นาง ไอ. บี. ฮอนเนอร์ (I.B.Horner) กล่าวว่า มิลินทปัญหาอาจจะไม่ได้แต่งขึ้นในสมัยของพระเจ้ามิลินท์ นาย เอส.ดุตต์ (S.butt) ประมาณว่า อาจจะร้อยกรองขึ้นในยุคต่อ ๆ มาอีกช้านาน และนาย เอ.แอล.บาชัม (A.L. Basham) ก็ว่า บางทีก็อาจจะรจนาขึ้นในคริสตศตวรรษที่ ๑ หรือมิฉะนั้นก็ราวแรกตั้ง คริสตศักราช แต่อย่างน้อยก็ต้องก่อนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา แม้จะไม่ทั้งหมดก็ต้องบางส่วนหรือไม่ก็ภายหลังที่พระไตรปิฎกได้จัดเป็นชาดก เป็นทีฆนิกาย มัชฌิม-สังยุตต-อังคุตตร-ขุททกนิกายแล้ว ส่วนภาณกาจารย์ผู้ทำหน้าที่ในการรวบรวมนั้น ก็คงจะรวมอยู่ในจำนวนผู้ที่พระนาคเสน กล่าวว่าเป็นผู้ที่อยู่ในธรรมนครของพระพุทธเจ้า เอ.ดี.แอดิการัม (A.D.Adikaram) ได้ให้ข้อสังเกตไว้ตามที่เขาสอบสวนได้ว่า น่าประหลาดที่ชื่อบุคคลต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในขุททกภาณกะนั้นไม่มีกล่าวถึงในอรรถกถาอื่นเลย ข้าพเจ้าเอง (นางฮอนเนอร์) ก็ไม่พบเหมือนกัน แต่เกี่ยวกับพื้นฐานของข้อความต่าง ๆ ในมิลินทปัญหานี้ เขา (นายแอดิการัม) ได้สรุปไว้ว่าเกิดขึ้นในอินเดีย มิใช่เกิดขึ้นในลังกา
นางฮอนเนอร์ ได้ให้ข้อสังเกตต่อไปอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าในอัตถสาลินี อ้างข้อความบางตอนจากมิลินปัญหา ตอนที่ ๑-๓ และธัมมปทัฏฐกถา ก็อ้างข้อความจากมิลินปัญหา ตอนที่ ๔-๖ ด้วย…. หลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้แสดงว่าพระพุทธโฆษาจารย์มีความชำนิชำนาญในมิลินทปัญหาเป็นอย่างดี ดังนั้น มิลินทปัญหาอาจจะได้รจนาขึ้นในอินเดีย หรือแคชเมียร์ เมื่อประมาณ ๓๐๐–๔๐๐ ปีก่อนที่จะตกเข้ามาในประเทศลังกา เมื่อเทียบให้เห็นข้อต่างกันแล้ว จะเห็นว่า วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์นั้น ให้ความรู้ในทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการทำตนให้บริสุทธิ์อย่างละเอียดละออ ส่วนพื้นฐาน การอธิบาย และการแนะนำต่าง ๆ ในมิลินทปัญหานั้น เป็นไปในทางพัฒนาปัญญามากกว่ามิใช่เป็นแบบแผนในการเจริญสมาธิภาวนา จุดมุ่งหมายตามที่แสดงไว้ก็คือ ต้องการจะขจัดสาเหตุแห่งความเคลือบแคลงสงสัยต่าง ๆ อันอาจจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากการมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับพระคัมภีร์ หรืออรรถแห่งคำสอนให้หมดสิ้นไป และเพื่อจะขจัดปัญหายุ่งยากต่าง ๆ เพื่ออนุชนในอนาคตจะได้รับคำตอบที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสองแง่ อันอาจทำให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ และเพื่อจะทำให้การโต้เถียงกันอันจะพึงมีได้ในอนาคตเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้หมดสิ้นไป ผู้แต่งจะต้องได้บันทึกการสนทนาที่เกิดขึ้นจริง ๆ หรือว่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงระหว่างกษัตริย์ผู้ที่ทรงพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่ง (ซึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์กรีกบากเตรียน แต่น่าจะเป็นบากเตรียมกรีกมากกว่า) กับพระนาคเสนซึ่งมีความสามารถพอ ๆ กัน หรือไม่เช่นนั้น ก็จะต้องคิดแต่งขึ้นมาเอง โดยมีการรวบรวมและเพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ นับเวลาเป็นปี ๆ และอาจจะมีคณะหรือศิษย์ช่วยเพิ่มเติมต่อ ๆ มาด้วย และด้วยวิธีดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้กลายเป็นงานที่มีหลักฐาน มีสาระและมีความสำคัญขึ้น จึงกล่าวได้ในที่สุดว่า มิลินทปัญหานี้ เป็นผลงานของรจนาจารย์มากกว่าหนึ่งท่าน ลีลาอันกระทัดรัดในตอนต้น ๆ ของคัมภีร์นี้ ซึ่งเราจะเห็นว่าแตกต่างกันกับตอนท้าย ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความชำนิชำนาญในทางสำนวนวรรณคดี ย่อมจะเป็นเครื่องสนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี
ส่วนศาสตราจารย์ริส เดวิดส์ ได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับผู้รจนามิลินทปัญหานี้ไว้ว่า เมื่อประมวลหลักฐานต่างๆ จากชื่อสถานที่สำคัญและแม่น้ำสำคัญ ที่กล่าวถึงในภัมภีร์นี้แล้ว ก็พอสรุปได้ว่า ผู้รจนาคัมภีร์นี้ อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย หรือในแคว้นปัญจาบของอินเดีย (ปัจจุบัน) และเหตุผลที่จะมาสนับสนุนความเห็นดังกล่าวนี้ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ก็คือว่า ในที่อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลังกา ซึ่งอาจจะพิจารณาว่าเป็นที่อยู่ของผู้แต่งคัมภีร์นี้ หากท่านไม่ได้อยู่ในที่ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ได้นั้น ไม่ปรากฏว่ามีอนุสรณ์อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าเมนันเดอร์อยู่เลย
และศาสคราจารย์ริส เดวิดส์ ยังได้กล่าวอีกว่า มิลินทปัญหานี้รจนาขึ้นภายหลังคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎกที่แต่งโดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๓ หลังพุทธปรินิพพานแล้ว ๒๓๕ ปี เพราะเมื่อเปรียบเทียบคัมภีร์ทั้งสองนี้ดูแล้ว จะเห็นว่า ข้อความในมิลินปัญหาหลายตอนมาจากคัมภีร์กถาวัตถุ เช่น ปัญหาเรื่องทิพจักษุเป็นได้จริงหรือไม่ เรื่องคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตแล้วจะบวชด้วยวิธีอย่างไร เป็นต้น ตรงกับความในกถาวัตถุทุกอย่าง และในกถาวัตถุยังละเอียดพิศดารกว่าอีกด้วย และเป็นธรรมดาว่า ข้อความในคัมภีร์ที่เก่ากว่านั้น มักจะถูกนำมาอ้างในคัมภีร์ที่แต่งทีหลัง และความมุ่งหมายก็อย่างเดียวกัน คือเพื่อปราบพวกมิจฉาทิฏฐิและป้องกันพระศาสนาจากพวกพาหิรลัทธิ
พระเจ้ามิลินท์ คือใคร ? ภรัต สิงห์ อุปัธยายะ (Bharat Singh Upadhyaya) ได้ให้คำตอบในปัญหานี้ไว่าว่า พระเจ้ามิลินท์นั้น เป็นองค์เดียวกับพระเจ้าเมนันเดอร์ กษัตริย์ชาติอินโดกรีก ซึ่งเป็นผู้ทรงอุปถัมภ์และสนับสนุนพระพุทธศาสนา ที่สำคัญพระองค์หนึ่งระหว่างศตวรรษที่ ๒ คำว่า มิลินท์ มาจากคำภาษากรีกว่า
เมนันดรอส (Menandros) นักเขียนในสมัยนั้นเรียกพระนามของกษัตริย์พระองค์นี้หลายอย่างด้วยกัน เช่น ในหนังสือ อวทานกัลปลดา ของท่านเกษเมนทร (Ksemendra’s Avadanakalpalata) เรียกพระนามของกษัตริย์พระองค์นี้ว่า มิลินทร์ (Milindra) ซึ่งเป็นนามเดียวกันกับที่พบในหนังสือหมวด ตันเชอร์ (the Bstan-hygur) แห่งพระไตรปิฎกธิเบต คำจารึกหีบศพภาษาชินกอต (Shinkot) เป็นตัวอักษร ขาโรษฐิ (Kharosthi) เรียกพระนามของกษัตริย์พระองค์นี้ว่า เมนัทระ (Menadra) หลักฐานสำคัญที่พอจะประมวลเรื่องราวของกษัตริย์ชาติอินโดกรีกพระองค์นี้ ก็คือมิลินทปัญหานั่นเอง เรื่องราวของนักประวัติศาสตร์กรีก เช่น สตราโบ (Strabo) พลูตาร์ก (Plutarch) และจัสติน (Justin) และเหรียญของพระเจ้าเมนันเดอร์เอง ซึ่งจารึกตัวอักษรว่า “Basileus Soteros Menandros” ที่ค้นพบในที่ต่าง ๆ ๒๒ แห่ง ในลุ่มน้ำกาบุล (Kabul) และสินธ์ (Sindh) และในบริเวณภาคตะวันตก ของมณฑลอุตตรประเทศ (Uttar PradesH) นักปราชญ์หลายท่านมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องสมัยอันแน่นอนของพระเจ้าเมนันเดอร์ สมิธ (Smith) มีความเห็นว่า พระเจ้าเมนันเดอร์รุ่งเรืองอยู่ในกาลศตวรรษที่ ๒ ก่อน ค.ศ. เอช.ซี.เรย์เชาธุรี (H.C. Raychaudhuri) กล่าวว่า พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ในศตวรรษที่ ๑ ก่อน ค.ศ. ใน
มิลินทปัญหากล่าวว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงพระชนม์อยู่ หลังพุทธปรินิพพาน ๕๐๐ ปี ฉะนั้น จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะกล่าวว่า กษัตริย์กรีกพระองค์นี้ ทรงครองราชย์ในศตวรรษที่ ๑ ก่อน ค.ศ. หรือราว ๆ นั้น ซึ่งมีข้อเท็จจริงอื่น ๆ ยืนยันอีกเป็นอันมาก ในมิลินทปัญหากล่าวว่า พระเจ้าเมนันเดอร์ เป็นพระราชาแห่งพวกโยนก “โยนกานํ ราชา มิลินโท” คำบาลี โยนก หรือโยน (สันสกฤตว่า ยวน) เป็นคำเดียวกับภาษาเปอร์เซียนโบราณว่า “เยาวนะ” ซึ่งแต่เดิมหมายถึงพวกไอโอเนียนกรีก (Ionian Greeks) แต่ต่อมาเลือนไป หมายถึงพวกกรีกทั้งหมด อาณาจักรของพวกโยนะ Yonas) และพวกกัมโพชะ (Kambojas) เป็นที่รู้จักแก่ชาวอินเดียในศตวรรษที่ ๖ ก่อน ค.ศ. ดังมีหลักฐานอยู่ในอัสสลายนสูตร มัชฌิมนิกาย ซึ่งแสดงว่า ประชาชนของอาณาจักรเหล่านี้ มีเพียง ๒ วรรณคือ พวกนาย (Arya) และพวกทาส (Dasa) แทนที่จะมี ๔ วรรณเหมือนในสังคมอินเดีย เป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า หลังสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งทำที่กรุงปาฏลีบุตร ได้มีการส่งนักเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังประเทศโยนะอันห่างไกล อันประกอบไปด้วยอาณาจักรพระเจ้าอันติโอคอสที่ ๒ แห่งซีเรีย (Antiochos II of Syria) อาณาจักรของพระเจ้าอันตีโกนอส โนาตอส แห่งเมซิโดเนีย (Antigonos Gonatos of Macedonia) เป็นต้น ข้อความนี้ได้กล่าวไว้ในศิลาจารึกนั้น มีคำกล่าวต่อไปอีกว่า พระภิกษุชาวกรีกชื่อ ธรรมรักขิต (Yona Dhammrakkhita) ถูกส่งไปประกาศพระศาสนาในอปรานตกประเทศ ฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า คำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าได้เข้าถึงจิตใจของชาวกรีกก่อนสมัยของพระเจ้าเมนันเดอร์ แต่ส่วนมากเราได้ทราบกันว่า กษัตริย์พระองค์นี้เป็นพระองค์แรกที่ทรงสนพระทัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยทรงตั้งข้อสงสัยขึ้นหลายประการ เมื่อพระองค์ทรงได้สดับคำวิสัชนาของพระนาคเสนอจนหมดความสงสัยแล้ว พระองค์ก็ทรงสนับสนุนในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในมิลินปัญหากล่าวว่า พระเจ้ามิลินท์ประสูติที่ตำบลกลสิคาม ในเกาะอลสันทะ คือ เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) หรือกันทหาร (Kandahar) ในปัจจุบัน นครหลวงของพระองค์ คือ เมืองสาคละ ซึ่งเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองสังคาล (Sangal) ของนักประวัติศาสตร์กรีกชื่อ แอร์เรียน (Arrian) และเมืองสาคาล (Sagal) หรือยูธูเมเดีย (Euthumedeia) ของปโตเลมี (Ptolemy) เมืองนี้อยู่ในบริเวณเมือง ไสอัลกอต (Sialkot) ในมลฑลปัญจาบ อาณาจักรของพระเจ้าเมนันเดอร์ประกอบด้วยมณฑลเปษวาร์ (Peshawar) ลุ่มน้ำกาบุลตอนบน มณฑลปัญจาบ (Panjab) มณฑลสินธ์ (Sindh) มณฑลกาเธียวาร (Kathiawar) และมณฑลอุตตรประเทศตะวันตก เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ก็ทรงสร้างวิหารชื่อ มิลินทวิหาร ถวายพระนาคเสน นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงขยายอาณาจักรแห่งพระพุทธศาสนาออกไปอีกเป็นอันมาก ตามหนังสือมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์สวรรคต เมื่อทรงผนวชเป็นภิกษุ หลังจากทรงสละราชสมบัติและราชอาณาจักรให้แก่ราชโอรส กล่าวกันว่าพระองค์ได้บรรลุพระอรหัต ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทด้วยอีกประการหนึ่ง ที่เหรียญของพระเจ้าเมนันเดอร์ มีตราพระธรรมจักร จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ผิดพลาดว่า พระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกที่เคร่งครัด อนึ่ง ศิลาจารึกภาษาชินกอต ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า กษัตริย์กรีกพระองค์นี้ ได้ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายไปในอาณาบริเวณตั้งแต่ ภูเขาฮินดูกูษ จนถึงแม่น้ำสินธุ พลูตาร์กกล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงมีความยุติธรรมอย่างยอดเยี่ยม และทรงเป็นที่รักใคร่ของปวงชนทุกชั้น แม้ว่าอำนาจที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นจะเสื่อมสูญไปจากอินเดียพร้อมกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ก็ตาม แต่อนุสาวรีย์อันแสดงถึงความที่พระองค์ทรงมีความยุติธรรม มีพระปรีชาสามารถ และเป็นพุทธศาสนิกผู้เคร่งครัด จะยืนยงคงอยู่คู่กับหนังสือมิลินทปัญหา และเหรียญตราธรรมจักรของพระองค์ชั่วกัลปาวสาน
ศาสตราจารย์รส เดวิดส์ ได้ให้คำอธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า พระเจ้ามิลินท์นั้น เข้าใจกันว่า คือ พระเจ้าเมนันเดอร์ ซึ่งมีพระนามปรากฏอยู่ในบัญชีกษัตริย์กรีกที่ปกครองบากเตรีย (คือกาฟฆานิสตาน) ในตำนานนั้นกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งโยนกะ (กรีก) ครองราชย์ในเมืองสาคละ (the Euthydemia of the Greeks) และก็ปรากฏว่าไม่มีพระนามอื่นในบัญชีดังกล่าวที่ใกล้เคียงกับคำว่า มิลินท์ จึงมั่นใจได้ว่า นามทั้งสองดังกล่าวแล้ว เป็นบุคคลคนเดียวกัน รจนาจารย์คงจะได้เปลี่ยนแปลงชื่อภาษากรีกเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับภาษาท้องถิ่นของอินเดียที่นำมาใช้ในการรจนา (มิลินทปัญหานี้) หรือไม่ก็เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงไปเองตามธรรมชาติ ในทางการออกเสียง (phonetic decay) หรืออาจจะเป็นไปเพราะสาเหตุทั้งสองประการดังกล่าวแล้วก็ได้ คำว่า “อินทร” หรือ “อินท” นั้น ไม่ใช่สำหรับใช้ลงท้ายคำทั่วไปที่ใช้เป็นชื่อของชาวอินเดีย เพราะความหมายว่ากษัตริย์ (meaning king) ก็ควรจะเหมาะสมกับกษัตริย์เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระนามของกษัตริย์ต่างด้าวที่ลงท้ายคำว่า “แอนเดอ” (Ander) ก็น่าจะต้องใช้คำลงท้าย (ในภาษาอินเดีย) ว่า “อินท” อย่างไม่ต้องสงสัย แต่กฎในการเปลี่ยนอักษร ม-น-น ในภาษาท้องถิ่นของอินเดียนั้น อาจจะมีวิธีเปลี่ยนไม่เหมือนกันบ้าง ในบางโอกาส นาย วี. เทรงค์เนอร์ (V. Trenckner) ได้ให้ตัวอย่างเกี่ยวกับการใช้ ล แทน น หรือใช้ น แทน ล ได้ในความหมายที่เหมือนกันในภาษาบาลีไว้ถึง ๗ ตัวอย่าง
ก็ยังเหลือแต่ปัญหาในการเปลี่ยนสระตัวแรก คือ “เอ” (E) ในคำว่า เมนันเดอร์ เป็น “อิ” (I) ในคำว่า
มิลิน เท่านั้น ในบางตอนของศิลาจารึกของอินเดีย และในเหรียญที่เชื่อกันว่าเป็นของพระเจ้าเมนันเดอร์ นั้น เคยอ่านพระนามของกษัตริย์พระองค์นี้ ว่า “มินันทะ” (Minanda) แม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะไม่เชื่อการอ่านออกเสียงดังกล่าวแล้ว เพราะมีหลักฐานใหม่ที่ดีกว่าก็ตาม แต่ก็ไม่ต้องสงสัยว่า คำว่า มิลินท นั้น พูดได้คล่องปากกว่าคำว่า เมลินท และคำว่า “มิล” (MIL) ดูจะเป็นคำเริ่มต้นที่เหมาะเจาะกับชื่อของ “มิลักขะ” ดีกว่า และเพราะคำว่า “อินทร” นั้น ใช้เฉพาะกับพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้นคำว่า เมนันเดอร์ จึงกลายเป็น มิลินท ไป
นอกจากนี้ รจนาจารย์ก็ยังได้กล่าวถึงชื่อที่เป็นภาษากรีกอื่น ๆ อีก หลายชื่อ เช่น เทวมันติยะ อนันตกายะ มังกุระ และสัพพทินนะ และยังมีชื่อกรีกในรูปภาษาบาลีที่พยายามทำให้มีความหมายเข้ากันได้กับภาษาท้องถิ่นของอินเดีย แต่ว่ารูปคำใหม่ของแต่ละชื่อดังกล่าวแล้วนั้นไม่เป็นภาษาอินเดียอย่างแท้จริงเหมือนกับคำว่า
มิลินท ดังนั้น คำว่า เทวมันติยะ ซึ่งเข้าใจว่ากลายรูปมาจากคำว่า เดเมตริโอส (Demetrios) นั้น พอเห็นก็รู้ว่าเป็นคำภาษาอินเดียจริง แต่เมื่อมาตีความหมายกันแล้ว ก็มีความหมายแต่เพียงว่า “มนตรีของเทพดา” เท่านั้น และอีก ๒ คำคือ อนันตะ และกายะ ก็เป็นภาษาอินเดียเช่นกัน แต่เมื่อผสมกันเข้าเป็น อนันตกาย ก็มีความหมายว่า “มีกายไม่มีที่สุด” กลายเป็นของขบขันไปไม่สมกับเป็นชื่อของนายทหารข้าราชสำนัก ชื่อนี้อาจจะคิดขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่า แอนติโอโกส (Antiochos) ก็ได้ สำหรับคำว่า มังกุระ และสัพพทินนะ นั้น ยากที่จะบอกได้ว่า หมายถึงใคร แต่ที่ว่า มิลินท เป็นคำเดียวกับคำว่า เมนันเดอร์ นั้น เป็นการถูกต้องแน่นอน เช่นเดียวกับคำว่า จันทคุตตะ เป็นคำเดียวกับคำว่า แสนโดรโกตโตส (Sandrokottos)
ข้อเขียนของพวกกรีกหรือโรมันเองนั้น ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของกษัตริย์กรีกที่ครองบากเตรียมน้อยมาก แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังบอกให้เรารู้ได้มากที่สุดกว่าที่อื่น ๆ ว่า เมนันเดอร์ กับ มิลินท นั้นเป็นคน ๆ เดียวกันแน่นอน
สเตราโบ (Strabo) กล่าวไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์ของเขาว่าพระเจ้าเมนันเดอร์นั้นเป็นกษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่ง ในจำนวน ๒ องค์ของบากเตรีย ที่ทำให้อำนาจของกรีกแผ่ไปไกลที่สุดทางตะวันออก จนเลยเข้าไปถึงอินเดีย พระองค์ได้ข้ามไฮปานิส (Hypanis) (คือ Sutlej) และรุกเข้าไปไกลถึง ไอสาโมส (Isamos) (บางทีอาจจะได้แก่ Jumna) แต่ในบทความเกี่ยวกับงานนิพนธ์ของ Justin กล่าวว่า พระเจ้าเมนันเดอร์ กับ พระเจ้าอพอลโลโดตุส (Apollodotus) นั้นเป็นกษัตริย์ชาวอินเดีย
พลูตาร์ก (Plutarch) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ได้ให้ความรู้เบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระเจ้าเมนันเดอร์ว่า พระองค์ทรงเป็นนักปกครองที่เที่ยงธรรม ทรงปกครองให้ประชาชนได้รับความสุขสบาย และว่า พระองค์สิ้นพระชนม์ในค่ายทหาร ในการสู้รบกับพวกอินเดียที่ลุ่มน้ำคงคา และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ประเทศต่าง ๆ ก็แสดงความประสงค์ที่จะได้พระอัฐิของพระองค์ไปไว้ แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่า จะแบ่งพระอัฐิให้ทั่วกัน และทุกประเทศจะต้องสร้างอนุสาวรีย์ (สถูป) เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ด้วย หลักฐานอันสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับพระเจ้าเมนันเดอร์ หรือมิลินท์ ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ เหรียญที่ขุดได้ในประเทศอินเดีย
เมื่อประมวลความเห็นต่าง ๆ ดังกล่าวลงแล้ว ศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ จึงสรุปเรื่องราวของพระเจ้าเมนันเดอร์ หรือมิลินท์ ว่า เป็นกษัตริย์กรีกองค์หนึ่งในบรรดากษัตริย์กรีกหลายองค์ที่ปกครองจักรวรรดิกรีก ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสืบต่อกันมา แต่เป็นการแน่นอนว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงเป็นบุคคลสำคัญองค์หนึ่ง หรือบางทีอาจจะสำคัญที่สุดในบรรดากษัตริย์เหล่านั้นก็ได้ พระองค์ทรงนำกองทัพกรีกบุกเข้าไปในอินเดียได้ไกลมากกว่าที่บรรพบุรุษของพระองค์บางองค์ได้เคยกระทำมา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องสนับสนุนทัศนะของผู้รจนาที่กล่าวไว้ในหน้า ๕ (มิลินทปัญหาฉบับนี้) ว่า ทรงเป็นผู้ทรงความยุติธรรม มีอำนาจ มีพระปรีชาสามารถ และทรงร่ำรวยมหาศาลพระเจ้ามิลินท์ทรงครองราชย์ในระยะกาลที่เชื่อได้แน่นอนว่า หลังจากศตวรรษที่ ๒ ก่อนคริสตศก หรือบางทีก็อาจจะในราว ๑๑๕ หรือ ๑๑๐ ปีก่อนคริสตศก กิตติศัพท์ของพระองค์ได้แพร่ไปถึงตะวันตก ซึ่งไม่เคยมีกษัตริย์บากเตรีพระองค์ใดเคยมีมาก่อน ทรงเป็นกษัตริย์กรีกที่ปกครองบากเตรียเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ยังจดจำกันได้ในประเทศอินเดีย ผู้รจนากล่าวว่า พระองค์ประสูติที่เมืองกลสิ ในอลสันทะ (คือ อเล็กซานเดรีย) ซึ่งเป็นชื่อเกาะ ๆ หนึ่ง ที่สันนิษฐานได้ว่าอยู่ในแถบ อินดัส (Indus) แต่ กลสิคาม นั้น ไม่พบว่าได้กล่าวถึงในที่อื่นอีก และในเหรียญจำนวนมากมายของกษัตริย์บากเตรียนั้น ก็มีเพียงเหรียญเดียวเท่านั้น ที่ให้ชื่อทางประวัติศาสตร์ไว้ชื่อหนึ่งเป็นชื่อของเมือง คือ การิสิ (Krisia) เหรียญดังกล่าวนี้สร้างขึ้นในราว ๑๘๐ ปีก่อนคริสตศก โดยพระเจ้า ยูกราติเดส (Eukratides) ซึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์องค์แรกในบรรดากษัตริย์ที่เข้าครองดินแดนแถบฝั่งแม่น้ำอินดัส (Indus) อาจจะเป็นไปได้ว่า พระนามสองพระนาม (ที่แตกต่างกัน) นั้น หมายถึงบุคคลคนเดียวกัน คือ พระนามหนึ่งเป็นแบบภาษาบาลี (หรือบางทีก็อาจจะเป็นพระนามภาษาท้องถิ่นที่ผู้แต่ง (มิลินทปัญหา) นำมาใช้) และอีกพระนามหนึ่งเป็นภาษาพื้นเมือง (ของพระองค์เอง) และก็อาจเป็นได้ว่า เหรียญ (ของพระเจ้าเมนันเดอร์) นั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พวกกรีกเข้ายึดครอง อินดัส ได้ ถ้าเป็นจริงดังกล่าวมานั้น การที่เขาตั้งชื่อเกาะอันเป็นที่สร้างเมืองนั้นว่า “อลสันทะ” (คือ อเล็กซานเดรีย) นั้น คงไม่ได้มุ่งถึงตัวเกาะเป็นสำคัญ แต่ดูจะเพื่อเป็นการแสดงให้รู้ว่า เกาะนี้พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ค้นพบก็จริง แต่ว่ามันกลายเป็นที่สำคัญขึ้นมา ก็เพราะพวกเขาได้มายึดครองไว้นั่นเอง
นางฮอนเนอร์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้ามิลินท์ไว้ว่า พระเจ้ามิลินท์หรือเมนันเดอร์นั้น เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและเป็นชาวกรีก และเป็นผู้ที่มีตัวตนอยู่จริง ๆ ด้วย แม้ว่าจะกำหนดสมัยของพระองค์ไม่ได้อย่างแน่นอนก็ตาม แต่นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันก็กำหนดว่า พระองค์มีพระชนม์อยู่ในราวศตวรรษที่ ๒ ก่อนคริสตศก วินเซนติ สมิธ (Vincente Smith) กำหนดปีรัชกาลของพระองค์ว่า ราว ๑๖๐–๑๔๐ ปีก่อน ค.ศ. ลามอเต (Lamotte) ว่า ราว ๑๖๓–๑๕๐ ก่อน ค.ศ. นาเรน (Narain) ว่าราว ๑๕๕–๑๓๐ ปีก่อน ค.ศ. ส่วน อา. ฟอน กุตลมิด (A. von Cutschmid) ว่า ราว ๑๒๕–๙๕ ปีก่อน ค.ศ. เรฟสัน (Rapson) ซึงเห็นพ้องกับกุตชนีด์ ว่า ยูกราติเดส (Eukratides) ครองราชย์ราว ๑๗๕ ปีก่อน ค.ศ. และเมนันเดอร์กับยูกราติดส์ นั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลสมัยเดียวกัน
ชื่อของพระเจ้ามิลินท์นั้น ในคัมภีร์บาลีอื่น ๆ นอกจากมิลินทปัญหาแล้วไม่ค่อยจะมีกล่าวถึง ในชินกาลมาลีปกรณ์ที่แต่งเป็นภาษาบาลีในประเทศไทย โดยพระเถระไทย (ชาวเชียงราย ชื่อรัตนปัญญาเถระ) เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ กล่าวว่า พระเจ้ามิลินท์ประสูติที่เมือง สาคละ ในประเทศอินเดีย ในขณะที่พระเจ้ากูฏกัณณติสสะกำลังเสวยราชย์อยู่ที่เหมืองอนุราธบุรี ระหว่าง พ.ศ. ๕๖๐–๕๖๑ ถึง ๕๘๒–๕๘๓ นายริจิแนล เลอ เมย์ (Reginald le May) ซึ่งอ้างถึงชินกาลมาลีในหนังสือ “พุทธศิลปในสยาม” ของเขาก็กล่าวว่า ชินกาลมาลีนั้นเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงและเรื่องราวเชื่อถือได้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดให้พระเจ้ามนันเดอร์มีพระชนม์ยืนยาวมาถึงสมัยของพระเจ้ากูฏกัณณติสสะ (แห่งลังกา) ตามหลักฐานที่กล่าวแล้ว เพราะกษัตริย์องค์นี้ ปรากฏว่า ได้เสวยราชย์เมื่อ ๕๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพานแล้ว (ราว ๔๘๓ ปีก่อน ค.ศ.) ชินกาลมาลีคงจะถือปีรัชกาลของพระเจ้ามิลินท์ตามข้อความที่พบในมิลินทปัญหา หน้า ๓ ซึ่งเป็นการถือเอาความหมายตามตัวอักษรในข้อความตอนนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ว่า หลังจากพุทธปรินิพพานแล้ว ๕๐๐ ปี บุคคลทั้งสอง (มิลินท์ – นาคเสน) จะมาเกิด ถ้าเราเชื่อข้อความตอนนี้ตามตัวอักษรแล้ว เราก็อาจจะเชื่อเอาง่าย ๆ ว่า สมัยของพระเจ้ามิลินท์ ตรงกับสมัยที่พระเจ้ากูฏกัณณติสสะขึ้นครองราชย์ที่เหมืองอนุราธปุระ หรือว่าพระเจ้ากูฏกัณณติสสะกำลังครองราชย์อยู่ ในขณะที่พระเจ้ามิลินท์กำลังเริ่มครอบครองดินแดนทางจังหวัดภาคเหนือของอินเดีย ที่พระองค์ได้รับมรดกตกทอดมา หรือที่ทรงตีได้มา กษัตริย์แห่งอนุราธระองค์นี้ก็คือ พระเจ้ากูฏกัณณติสสะผู้ใจบุญซึ่งประสูติราว ๔๔ ปีก่อน ค.ศ. (ตามคำของนายธนิต อยู่โพธิ ที่ให้แก่นางฮอนเนอร์) ก็คือ พ.ศ. ๕๐๐ นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ขัดกับปีขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๕๖๐ - ๑ และปีสวรรคคตเมื่อ พ.ศ. ๕๘๒-๓ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๒ ปี แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน หากปีครองราชย์ของพระเจ้ากูฏกัณณติสสะ (ตามชินกาลมาลี) ถูกจริงในสมัยดังกล่าวนั้น จักรวรรดิอินโดกรีกหรือบากเตรียในอินเดีย ก็ได้เสื่อมลงไปแล้วแต่ว่าสมัยของพระเจ้าเมนันเดอร์ หรือมิลินท์ (ตามที่กล่าวถึงในมิลินทปัญหา) นั้น ไม่มีอะไรที่ส่อแสดงว่า กำลังเสื่อมอำนาจลงเลย แต่กลับแสดงให้เห็นว่า กำลังเจริญ
รุ่งเรืองอย่างเต็มที่ด้วยซ้ำไป อีกประการหนึ่ง เราควรจะระลึกไว้ด้วยว่า ๕๐๐ ปี ตามที่กล่าวในมิลินทปัญหานั้นอาจจะเป็นเพียงวิธีการพูดที่หมายถึงระยะเวลาอันยาวนานมาก แต่ไม่อาจจะกำหนดตายตัวลงไปได้เท่านั้น
ลามอเต (Lamotte) ให้ข้อสังเกตไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ในมิลินทปัญหานั้น พระเจ้ามิลินท์ไม่ได้ทรงถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพุทธศิลปเลย ฉะนั้น พระองค์จะต้องประสูติก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นแบบมนุษย์ธรรมดาทั่วไป มิฉะนั้นแล้ว ก็จะต้องมีการสนทนากันถึงปัญหาในเรื่องนี้บ้าง และนักปราชญ์ทางยุโรปบางท่านยังให้รายละเอียดต่อไปอีกว่า มเหษีของพระเจ้ามิลินท์นั้นชื่อว่า พระนางอคาโธเคลีย (Agathocelia)
เกี่ยวกับดินแดนของพระเจ้ามิลินท์นั้น นักปราชญ์ทางตะวันตกเชื่อว่า คืออาณาเขตในฆาซนี (Ghazni)
ซึ่งติดต่อกับลุ่มน้ำกาบุล (Kabur) ทางเหนือ หลักฐานทางตะวันตกว่า พระเจ้ามิลินท์จะต้องครอบครองดินแดนไม่น้อยไปกว่า ปาโรปามิซาเด (Paroparni sadae) และบางส่วนทางภาคเหนือและตะวันออกของ อราโคเซีย (Arachosia) เหรียญที่ขุดพบนั้น ทำให้ได้รู้ว่า พระเจ้ามิลินท์ครองแคว้นคันธาระ ซึ่งมีศูนย์กลางสำคัญ ๒ แห่ง คือ ปุสกะลาวตี และตักศิลา (Puskalavati, taxila.) และปัจจุบันเชื่อกันว่า พระเจ้ามิลินท์ครองดินแดนเหนือ
กาบุล และบางทีจะเลยเข้าไปถึงทางภาคเหนือของ ฮินดูกูษ (Hindu kuch) ด้วย
พระลักษณะของพระเจ้ามิลินท์นั้น ปรากฏตามมิลินทปัญหาว่า ทรงประกอบด้วยพระพลังทางกาย พระพลังทางความคิด ด้วยความกล้าหาญ ด้วยปัญญา พระเจ้ามิลินท์นั้น ทรงมั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยราชสมบัติ, มีพระราชทรัพย์และเครื่องราชูปโภคเป็นอันมากพ้นที่จะนับคณนา มีพลพาหนะหาที่สุดมิได้
สำหรับประวัติของพระนาคเสนนั้น มิลินทปัญหาฉบับภาษาจีน กล่าวว่า มาตุภูมิของพระนาคเสน คือ แคว้นแคชเมียร์ (Kashmir) ซึ่งเป็นศูนย์กลางนิกายสรวาสติวาท ส่วนฉบับบาลีกล่าวว่า ท่านเกิดที่เมือง คชังคละ ซึ่งเป็นเมืองทางการค้าขาย ทางชายแดนตอนเหนือของมัชฌิมประเทศ พระนาคเสนนั้นปรากฏว่า เป็นผู้ฉลาดสามารถ เป็นนักพูดและคงแก่เรียน เป็นคลังแห่งข้ออุปมาที่สามารถนำเอามาใช้ได้ตามต้องการ และมีความสามารถอย่างไม่น่าเชื่อก็คือ สามารถเรียนพระอภิธรรมได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยการฟังอธิบายของอาจารย์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงพระนาคเสนว่า เป็นผู้ดำริสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นองค์หนึ่ง และสำเร็จลงด้วยอำนาจของเทพดา และอิทธิฤทธิ์ของพระแก้วมรกต และกล่าวถึงพระธัมมรักขิต อาจารย์ของพระนาคเสนว่า อยู่ที่ปุปผวดี ในเมืองปาฏลีบุตร ในอรรถกถาทีฆนิกายและอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ก็ปรากฏชื่อของพระอัสสคุตตเถระด้วย และได้รับยกย่องให้เป็นตัวอย่างของ กัลยาณมิตร ด้วย
ส่วนนายเบอร์นอฟ (Burnouf) ได้อ้างหลักฐานทางธิเบต กล่าวว่า พระนาคเสนองค์นี้ คือ องค์เดียวกับพระนาคเสนที่ทำให้เกิดมีการแยกนิกายต่าง ๆ ออกไปเมื่อ ๑๓๗ ปี หลังพุทธปรินิพพาน โดยอ้างว่า พระนาคเสนได้แสดงความคิดเห็นในอภิธรรมโกสะ วยาขยาอันเป็นคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หนึ่งไว้อย่างยืดยาว ส่วนศาสตราจารย์ เคิร์น (Kern) แห่งลีเด็ก (Lieden) นั้น ไม่เชื่อว่า พระนาคเสนจะเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง และไม่เชื่อแม้กระทั่งว่า ในพระพุทธศาสนา จะมีพระภิกษุที่มีชื่ออย่างนี้อยู่ด้วย เขาเชื่อว่า พระนาคเสนนั้นเป็นเช่นเดียวกับ ปตัญชลีฤาษี ผู้รจนาคัมภีร์ปรัชญาฝ่ายโยคะ ซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริง ทั้งยังมีสมญานามอื่น ๆ อีกด้วย คือ นาเคศะ และ ผณิน แต่ศาสตราจารย์ริส เดวิดส์ ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของทั้งสองท่านดังกล่าวมานี้
มิลินทปัญหา ฉบับภาษาบาลีนั้น เท่าที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ก็มีฉบับอักษรสิงหล อักษรโรมัน อักษรไทย อักษรพม่า และอักษรขอม หรือเขมร ฉบับหลัง ๆ นี้ก็เชื่อแน่ว่าได้มาจากฉบับอักษรสิงหลทั้งนั้น แต่ปรากฏว่า แต่ละฉบับก็มีวิธีจัดระเบียบเนื้อเรื่องไม่เหมือนกัน และมีข้อความบางตอนแปลกกันออกไปบ้าง เช่น ฉบับอักษรโรมันต่างกันฉบับอักษรไทย ทั้งทางการจัดระเบียบ และข้อความบางตอน เป็นต้น การที่แปลกกันออกไปนั้น บางท่านได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า อาจถูกเปลี่ยนโดยผู้คัดลอกทางยุโรป หรือผู้คัดลอกทางพม่า ลังกา ไทย ก็ได้ หรือไม่ ก็เปลี่ยนแปลงตั้งแต่คราวแปลจากภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาบาลีแล้ว
ต่อมาได้มีผู้ค้นพบว่า มีมิลินทปัญหาฉบับแปลเป็นภาษาจีนด้วย โดยแปลออกจากภาษาท้องถิ่นของอินเดีย และแปลถึง ๓ คราว คือ ในคริสตศตวรรษที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ บรรดาฉบับที่แปลเป็นภาษาจีน เหล่านี้ ๒ ฉบับที่แปลครั้งที่ ๒ (คือที่แปลในศตวรรษที่ ๔) เท่านั้นที่ยังเหลือตกทอดมาถึงพวกเรา โดยเรียกว่า นาคเสนภิกษุสูตร (นาเสียนปีคิว) ตอนที่ ๒-๓ และบางส่วนของตอนที่ ๑ เท่านั้นที่ตรงกับฉบับภาษาบาลี สำหรับตอนที่ ๔ ถึง ๗ นั้น เพิ่มเข้ามาใหม่ในลังกา โดยเฉพาะตอนที่ ๔ นั้น ได้มีขึ้นหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๕ แล้ว และเนื่องจากความที่ไม่เหมือนกันนี้เอง ก็เป็นหลักฐานพอที่จะกล่าวได้ว่า มิลินทปัญหาอันยืดยาวและมีชื่อเสียงนั้น ได้ถูกเพิ่มเติมเนื้อหาเข้ามาอีกในภายหลัง ซึ่งอย่างน้อยก็ส่วนที่จัดระเบียบไว้ไม่เหมือนกันในฉบับต่าง ๆ
เกี่ยวกับฉบับแปลเป็นภาษาจีนนั้น ศาสตราจารย์ปอล เดอมีวิลล์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้แปลมิลินทปัญหาเป็นภาษาฝรั่งเศสกล่าวว่า เป็นที่เชื่อกันว่า ท่านคุณภัทร (พ.ศ.๓๙๔ - ๔๖๘) ชาวอินเดียได้นำเอามิลินปัญหาเข้าไปในประเทศจีน โดยได้ฉบับไปจากประเทศลังกา และปรากฏว่ามิลินทปัญหาพากย์ภาษาจีนนั้น มีอยู่ถึง ๑๑ สำนวน ซึ่งคงจะได้แปลกันมาตั้งแต่ระหว่าง คริสตศตวรรษที่ ๖–๑๓ (ราว พ.ศ. ๑๐๐๐–๑๘๐๐๐) และคงแปลจากต้นฉบับที่เป็นภาษาสันสกฤต เพราะจีนแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีนจากต้นฉบับที่เป็นภาษาสันสกฤต อันเป็นที่นิยมใช้กันในอินเดียเหนือและเอเซียกลางซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาท และนิกายธรรมคุปต์ และความจริงก็ปรากฏว่าคัมภีร์พระพุทธศาสนาพากย์ภาษาจีนที่แปลจากต้นฉบับที่เป็นภาษาบาลีนั้น มีเพียง ๒ เรื่องเท่านั้น คือ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย และวิมุตติามัคค์ เท่านั้น อีกประการหนึ่ง เมื่อนำเอาคัมภีร์ต่าง ๆ ที่เป็นภาษาสันสกฤต บาลี และจีน มาเปรียบเทียบกันแล้ว ก็จะเห็นว่า ฉบับที่เป็นภาษาบาลีกับภาษาจีนนั้นแต่งต่างกันมาก แต่ฉบับภาษาจีนกลับไปเหมือนกันมากที่สุดกับฉบับภาษาสันสกฤต เมื่อนำฉบับภาษาจีนมาเทียบกับภาษาบาลีแล้ว ปรากฏว่าแตกต่างกันมากจนไม่น่าเชื่อได้ว่าจะเป็นฉบับเดียวกัน แต่ ดร.ทิช มิน เชา พระภิกษุชาวเวียดนามซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ในภาษาบาลีและภาษาจีนเป็นอย่างดีได้ทำการค้นคว้าเทียบเคียงระหว่างฉบับภาษาบาลีกับฉบับภาษาจีน ด้วยการเทียบข้อความบรรทัดต่อบรรทัดแล้ว ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ได้มาจากต้นฉบับอันเดียวกัน นักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นและชาวยุโรปหลายท่านก็มีความเห็นเช่นเดียวกับ ดร. ทิช มิน เชา คือ มิลินทปัญหาฉบับภาษาจีน ซึ่งมีเพียง ๓ ส่วนแรกของฉบับภาษาบาลีนั้น ได้แปลจากต้นฉบับเดิมโดยตรง ส่วนที่นอกเหนือไปจากนี้ (ซึ่งมีปรากฏอยู่ในฉบับภาษาบาลี) นั้น เป็นของที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังตามลำดับกาลที่ผ่านมาหลายศตวรรษ ซึ่งเป็นสิ่งที่คันถรจนาจารย์และอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียในยุคต้น ๆ ชอบกระทำกันและฉบับภาษาจีนที่แปลจากฉบับภาษาสันสกฤตนั้น ก็แปลอย่างถูกต้องตรงตามต้นฉบับมากที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ทิช มิน เชา ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าและเทียบเคียงอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว กล่าวว่า มิลินทปัญหาฉบับภาษาจีน กับฉบับภาษาบาลีนั้น เป็นฉบับเดียวกัน มีต้นกำเนิดมาจากคัมภีร์เดียวกัน แต่ฉบับภาษาจีนได้แปลโดยตรงจากต้นฉบับดั้งเดิมที่เป็นภาษาสันกฤต ส่วนฉบับภาษาบาลีนั้นก็แปลจากฉบับภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกัน แต่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายร้อยปี ฉะนั้น ฉบับภาษาบาลีจึงมีข้อความแตกต่างไปจากฉบับภาษาจีนบ้าง และมีมากกว่าฉบับภาษาจีน คือ ฉบับภาษาจีนแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน แต่เรียงติดต่อกันไปโดยไม่มีอารัมภกถาและอวสานกถา ไม่แบ่งออกเป็นหัวข้อ หรือย่อหน้า ส่วนฉบับภาษาบาลี แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน มีการจัดเป็นวรรค เป็นหัวข้อ และย่อหน้าต่าง ๆ ฉะนั้น ๔ ส่วนสุดท้ายในฉบับภาษาบาลี จึงไม่มีในฉบับภาษาจีน สำหรับ ๓ ส่วนที่มีเหมือนกันนั้น มีข้อความทั่ว ๆ ไปเหมือนกัน ต่างเฉพาะเรื่องอดีตชาติของพระนาคเสนกับพระเจ้ามิลินท์ และข้อปลีกย่อยต่าง ๆ เท่านั้น ฉะนั้น จึงกล่าวได้กว่า ทั้งสองฉบับนี้เป็นฉบับเดียวกัน
ดร. ทิช มิน เชา ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ยุติแน่นอนของมิลินทปัญหาฉบับภาษาบาลี อันเป็นเครื่องส่อให้เห็นว่ามิลินทปัญหาฉบับภาษาบาลีนั้นได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมกันมาหลายครั้งหลายคราว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็คือความแตกต่างกันระหว่างฉบับภาษาบาลีด้วยกันเอง โดยการเทียบเคียงระหว่างฉบับอักษรโรมัน (ซึ่งถ่ายทอดไปจากฉบับอักษรสิงหล) กับฉบับอักษรไทย ดังจะยกตัวอย่างมาให้เห็น คือ :-
๑. ในระหว่างปุจฉาวิสัชนาที่ ๓๔–๓๕ ในฉบับอักษรโรมันนั้น ในฉบับอักษรไทยได้เพิ่มข้อความเข้ามาอีกไม่น้อยกว่า ๒ บรรทัด ในมนสิการปัญหา
๒. ในระหว่างปุจฉาวิสัชนาที่ ๗๐–๗๑ ในฉบับอักษรโรมันปุจฉาวิสัชนา ๒ ตอนที่ว่าด้วยเรื่อง สีที่บุคคลผู้จะตายจากโลกหนึ่งไปเกิดใหม่ในอีกโลกหนึ่ง จะพึงได้เห็น และเรื่องทวารสำหรับปฏิสนธิวิญญาณเข้าไปสู่ครรภ์ ขาดหายไป
๓. ในปุจฉาวิสัชนาที่ ๕๙ ในฉบับอักษรไทยนั้น ได้เพิ่มเติมข้อความออกไปอีก คือในฉบับอักษรโรมันมีเพียง ๘ บรรทัด ในฉบับภาษาจีนแปลไว้เพียง ๕ บรรทัด แต่ในฉบับอักษรไทยขยายออกไปถึง ๓ หน้า
๔. ในวรรคที่ ๗ ก่อนจะถึงเมณฑกปัญหา ฉบับอักษรไทยเพิ่มวิเสสปัญหา เข้ามา
๕. ในฉบับอักษรโรมัน หน้า ๘๐ เกี่ยวกับเรื่อง วัสสวาต นั้นในฉบับอักษรไทยเพิ่มคาถาพิเศษเข้ามา ๑ คาถา
๖. ในฉบับอักษรโรมัน หน้า ๘๖ เกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างกันของ วิญญาณ ปัญญา และชีวะ นั้น ในฉบับอักษรไทยเพิ่มเข้ามาอีก ๑ ย่อหน้า ซึ่งมี ๔ บรรทัด ว่าด้วยเรื่อง “ปัญญาอยู่ที่ไหน”
ตอบกระทู้