"ของปลอม"
การที่เรามุ่งหน้ามาวัดกันนี้... ก็เพื่อจะต้องการจะทำ "เครื่องทรงของกษัตริย์" และ "เครื่องแต่งใจของอริยะ" มาประดับประดาตน คือ ศีล, สมาธิ และ ปัญญา ซึ่งเป็นอาภรณ์ที่งดงามจริง
แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติไม่จริง ทำหลอกตนเอง และหลอกผู้อื่น ก็จะไม่ผิดอะไรกับนำเครื่องทรงไปแต่งให้แก่ลิง ลิงนั้นก็รังแต่จะทำความสกปรกเลอะเทอะ ให้แก่เครื่องทรง หรือฉีกขาดทำลายเสีย เพราะลิงนั้นมันไม่มีความรู้ในเรื่องของความสวยงาม และ คนดูเขาก็มองเห็นว่านั่นเป็นละครลิง เครื่องทรงภายนอกนั้นมันเป็นของจริง แต่ตัวในมันไม่จริงอย่างเครื่องแต่งตัว เช่น เอาเสื้อ หมวก กางเกงทหารไปแต่งให้มันเป็นทหาร ทหาร มันก็ยังเป็นอยู่ที่เสื้อ หมวก และกางเกงเท่านั้น แต่ตัวจริงมันเป็นลิง ไม่ใช่ทหาร
ดวงจิตของคนเรานี้ ถ้าจะเปรียบแล้วก็ไม่ผิดอะไรกับลิง เพราะลิงนั้นปกติมันอยู่ตัวเดียวก็จะเหมือนอยู่หลายตัว คือมันยุกยิก เกาโน่น แกะนี่ ทำเลิกคิ้วหลิ่วตา เหลียวหน้าเหลียวหลัง เดี๋ยวก็วิ่งขึ้นวิ่งลง ไม่มีเวลาที่จะนั่งนิ่งๆอยู่กับที่ได้เลย
ใจของคนเราก็เช่นเดียวกันกับลิง คือมักอยู่นิ่งไม่ได้ เดี๋ยวก็คิดไปข้างหน้า(อนาคต) เดี๋ยวก็คิดมาข้างหลัง(อดีต) เมื่อเรานำเครื่องทรงของลูกกษัตริย์ คือ "สมาธิ" มาสวมไว้ แต่ดวงใจไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ผิดอะไรกับนำเพชรพลอยมาแต่งให้กับลิง หรือเครื่องทรงเป็นพระ" ก็ไม่ใช่พระ หรือเครื่องทรงภายนอกเป็นอุบาสิกา ก็ไม่ใช่เป็นอุบาสิกา เป็นการหลอกคนดูที่โง่ๆ #เพื่ออาชีพ และความหลงไหลเพลิดเพลินชั่วขณะเท่านั้นเอง #หาประโยชน์อันใดมิได้...
โอวาทธรรม : พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) ที่มา : หนังสือท่านพ่อลีสอนศิษย์
"การนังสมาธิ ต้องไม่ยกจิตออกไปรับอารมณ์ภายนอก ถ้าจิตตกไปทางสัญญาอดีต อนาคต ไม่อยู่ในปัจจุบัน นั่นมิใช่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิต้องเป็นเอกัคคตา (เอก แปลว่าหนึ่ง คตา แปลว่า จิตที่เข้าไปตั้ง) ฉะนั้นพระองค์จึงทรงตรัสว่า ปจฺจุปปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ"
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
"ทำบุญแล้วไม่สมหวังก็โทษบุญ"
ทุกคนที่เกิดมาย่อมต้องการความสุขกันทุกคน แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันก็ดิ้นรนแสวงหาความสุข
แต่ความปฏิบัติของเราไม่ตรงต่อเจตนาของตนเอง ความสุขที่เราต้องการจึงไม่สมปรารถนา เป็นเช่นนี้ส่วนมากก็เพราะไม่มีความจริงนี่แหละ
เช่นอย่างคนที่มาวัดนั้นถ้าเขามาบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เพื่อความสรรเสริญเยินยอหรือเพื่อความมีหน้ามีตาแล้ว การกระทำนั้นๆก็ไม่เป็นบุญเป็นกุศล และความสุขซึ่งต้องการจากบุญอันนั้น ก็ไม่สมหวัง
จึงกลายเป็นทุกข์ ก็พากันลงโทษ ทาน ศีล ภาวนา ว่าไม่เห็นได้ผลดีอย่างไร
แต่หานึกไม่ว่าตนเองเป็นผู้ทำไม่ถูก ไม่ตรง และไม่ดีเอง กลับไปลงโทษบุญกุศล และลงโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าไม่ดีจริงบ้าง หาว่าพระพุทธศาสนาเป็นของหลอกลวงเหลวไหลบ้าง
แต่แท้จริงนั้น พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความจริง ถ้าใครไม่จริงต่อพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็ย่อมไม่จริงกับผู้นั้น และผู้นั้นก็จะรู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ได้.
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
"ถ้าเรารักษาจิตของเราให้ดีเสียอย่างเดียวเท่านั้น ถึงตาจะเห็นรูปที่ดี มันก็ดี เห็นรูปที่ไม่ดี มันก็ดี จมูก ลิ้น กายใจ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อวิญญาณรับรู้แต่สิ่งที่ดี แล้วส่งไปยังหทัยวัตถุ โลหิตในหัวใจก็ไม่เสีย ไม่เป็นพิษ เมื่อหัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย กายนั้นก็จะมีแต่ความสมบูรณ์ เกิดความสงบเย็นทั้งกายใจนี่แหละที่เรียกว่าเป็นตัวบุญ"
โอวาทธรรม ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
รสชาติของการอยู่ป่ากับอยู่บ้านนั้นต่างกัน
ลูกศิษย์ทุกคน...เรารักสงสารเขาเหมือนกับลูกกับเต้าของตัวเราเอง เราจะอาศัยอยู่ในโลกนี้กันไม่นานเท่าไรแล้วก็จะต้องจากกันไป ให้รีบๆ ทำความดีกันไว้เสีย อย่าเอาแต่กินแต่นอน
คนที่บวชแล้วไม่เคยออกป่าเลย ก็เท่ากับได้รู้จักแต่รสข้าวสุกอย่างเดียว ไม่มีกับ คนที่บวชแล้วเดินธุดงค์แสวงหาที่วิเวก ย่อมได้รับรสของธรรม เปรียบเหมือนบุคคลที่กินข้าวสุกมีกับ ย่อมได้รับรสต่างกันมาก
ตัวอย่างง่ายๆนึกถึงหลักธรรมชาติ เช่น "ไก่ป่า" มีลักษณะต่างกันกับ "ไก่บ้าน" คือ ตาไว หางกระดก ขันสั้น ปีกแข็ง ลักษณะการเหล่านี้เกิดขึ้นจากความระวังจึงเป็นเช่นนั้น ส่วน "ไก่บ้าน" มี หางตก ตาตก ปีกอ่อน ขันยาว ลักษณะเหล่านี้ย่อมเป็นเหยื่อของเสือดาว ฉะนั้น..รสของการอยู่ป่าและอยู่บ้านย่อมต่างกัน
บางคราวในเรื่องเหล่านี้ได้เคยผ่านความตำหนิโทษก็มีแต่นึกขยิ่มอยู่ในใจ เขาว่า "พระตาขาว, ขี้ขลาด, ขี้กลัว, ไม่ใช่นักรบ, หลบหลีกปลีกตัว, เก่งไม่จริง" ก็นึกนิ่งหัวเราะไม่ตอบ... ในที่สุดก็ต้องตอบให้เขารู้ความจริงว่า
"การอยู่บ้านเมืองนั้นดีจริงแต่ไม่เก่ง...เพราะเหตุใด ? เพราะในป่านั้นผมไม่เคยเห็นคนบ้านเข้าไปอยู่ได้ ส่วนในบ้านในเมือง อย่าว่าแต่นักบวชของเราเลย ผมเห็นว่า คนบ้านก็มีแยะ จนแม้ไก่, สุนัข ฯลฯ มันก็อยู่กันเต็มดื่นดาษ จะว่าอะไรแต่พวกเราซึ่งเป็นนักบวช
ส่วนป่านั้น...ลองให้ท่านไปอยู่ในป่าช้าผีดิบคนเดียวสักคืนจะได้ไหม ?"
ก็ได้รับตอบว่า "ไม่ไหว" พร้อมทั้งสาธุการ
เหตุการณ์เหล่านี้จะให้มีรสลึกซึ้งในใจ ต้องทดลองให้รู้ ความจริงก็จะทราบในตน ไม่ควรถือตามคำของคนและความคิดของตนเพียงเดียว ควรถือการกระทำเป็นเกณฑ์ จึงจะถูกหลักของ "พระพุทธศาสนา" ที่เรียกว่า "กรรมเป็นของๆ ตน"
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร แสดงธรรมเทศนาอบรมเนกขัมม์ฯ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗
หลงป่า...
ท่านเดินทางเข้าไปในป่าลึกทางภาคเหนือ เดินวนเวียนอยู่ในป่าหลายวัน แล้วก็ไปพบชาวเขากำลังทำไร่ พวกเขาเห็นท่านก็สงสาร พูดขึ้นว่า "ท่านครับ ท่านจะมาหาความลำบากทำไม ป่านี้เป็นป่าใหญ่ พวกผมยังไม่กล้าเดินเข้าไปในที่ลึกๆเปลี่ยวๆ สัตว์ป่า ช้าง เสือ มีมาก อันตรายทั้งนั้น ถ้าท่านยังจะเดินบุกต่อไปอีกมีแต่ตายเปล่าๆ"
"โยมเอย อาตมาหลงป่ามาหลายวัน ก็ยังน่าชื่นชม ถ้าอาตมาหลงโลกโยมจะชื่นชมมั้ย"
"หลงโลกนี้หลงมานานแสนนานหลายภพหลายชาตินับไม่ได้ สร้างเวรสร้างกรรมไม่รู้จักเบื่อหน่าย ไม่คลายความกำหนัด พวกโยมที่ปลูกเผือกปลูกมันอยู่นี้ ไม่รู้จักเบื่อบ้างหรือ? หลงทางหลงป่าเพียงสองสามวันเหนื่อยหน่อยเดี๋ยวก็หาทางออกเจอ แต่หลงโลกอันย้อมด้วยกิเลสเป็นเครื่องฉาบทานี้สิ โยมเอ๋ย ตายจากความดีอย่างเดียว ตายเข้าโลงแล้ว เขาเอาไปเผาไฟยังไม่รู้ตัวเลย"
อัตตชีวประวัติส่วนหนึ่งของ ท่านพ่อลี ธัมมธโร
|