Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะจากหนังสือมิลินทปัญหา หน้า ๓๙๘-จบ

อังคาร 17 เม.ย. 2018 5:26 am

ศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ ก็กล่าวไว้ในมิลินทปัญหาฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษของเขาว่า พระบาลีที่พระพุทธโฆษาจารย์ยกมาไว้ในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตร และอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร นั้น ก็ไม่เหมือนกับพระบาลี ในคัมภีร์บาลี ฉบับของ เทรงค์เนอร์ (V. Trecnkner) แม้ว่าพระบาลีเหล่านั้นจะเป็นเรื่องราวอันเดียวกันระหว่างพระบาลีที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ยกมาอ้าง กับคัมภีร์บาลีฉบับของเทรงค์เนอร์ กระนั้นก็ดี ก็ยังเป็นเครื่องแสดงให้เราเห็นว่า มิลินทปัญหาฉบับภาษาบาลีนั้น ได้ผ่านการแก้ไขปรับปรุงโดยการเพิ่มเติมบ้าง ตัดทอนบ้าง มาหลายครั้งหลายคราว กว่าจะตกทอดมาถึงพวกเราในรูปของฉบับอักษรสิงหลและฉบับอักษรไทย ในปัจจุบันนี้ แต่ ดร. ทิช มิน เชา มีความเห็นว่า ความแตกต่างกันในเรื่องปลีกย่อยนั้น มิได้เป็นเครื่องแสดงว่าทั้งสองฉบับไม่ได้มาจากต้นกำเนิดอันเดียวกัน เพราะความแตกต่างกันในส่วนปลีกย่อยนั้นเป็นแต่เพียงเครื่องชี้ให้เห็นว่า วิธีการในการคิดการเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนธรรมของนักคิดนักเขียนชาวจีนกับชาวอินเดียนั้นแตกต่างกัน เท่านั้น
ดร. ทิง มิน เชา ได้บันทึกข้อที่แตกต่างกันและข้อที่คล้ายคลึงของมิลินทปัญหาฉบับบาลีกับฉบับจีนไว้อย่างละเอียดละออเป็นเรื่องที่น่าศึกษา จึงนำเอาบันทึกโดยสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้มารวมไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในทางการศึกษา ท่านกล่าวว่าทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญทั่ว ๆ ไป เหมือนกัน ยกเว้นแต่เรื่องราวเกี่ยวกับอดีตชาติของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนซึ่งแตกต่างกันออกไปมาก และสามตอนสุดท้ายของฉบับภาษาบาลีซึ่งไม่มีในฉบับภาษาจีน ส่วนตอนอื่น ๆ ที่เหลือนั้น ถ้ายกเว้นการเติมโน่นนิดตัดนี่หน่อยเสียแล้ว ก็กล่าวได้ว่าเหมือนกันลีลาแห่งการสนทนาก็เหมือนกันมากที่สุด คือ การสนทนามีกล่าวข้อความที่ซ้ำ ๆ กันวนไปวนมา โดยมีความแตกต่างกันในเรื่องที่ไม่สลักสำคัญปรากฏอยู่ทั่วไปไม่สม่ำเสมอเท่านั้น แม้ในเรื่องท่เกี่ยวกับอดีตชาติของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนที่แตกต่างกันอย่างมากนั้น ก็ยังมีสาระสำคัญที่เหมือนกันระหว่างทั้งสองฉบับ (บาลี-จีน) ถึง ๗ ข้อ ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่าเป็นแหล่งที่มาอันเดียวกันอันพระคันถรจนาจารย์เจ้าทั้งหลายได้พรรณนาความคิดเห็นต่าง ๆ ของท่านไว้ ดังได้ทำบัญชีแสดงไว้ ดังต่อไปนี้:-
๑. ในฉบับบาลี ทั้งสามเณรและพระภิกษุได้ตั้งความปรารถนา และต่อมาทั้งสองก็ได้มาเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสน ตามความปรารถนา ในฉบับภาษาจีน พราหมณ์ผู้เคยเป็นช้างในอดีตชาติ และพราหมณ์ผู้เคยเป็นฤาษีและเป็นเพื่อนของพราหมณ์คนแรกต่างก็ได้ตั้งความปรารถนาและแล้วทั้งสองก็ได้มาเกิดเป็น นาเซียน (นาคเสน) และมีลัน (พระเจ้ามิลินท์) ตามความปรารถนาของเขาทั้งสอง
๒. ฉบับบาลีแสดงว่า พระนาคเสนเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ในสกุลพราหมณ์ ได้ศึกษาไตรเทพและความรู้เกี่ยวกับลัทธิพราหมณ์ และไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับพระธรรมและพระสงฆ์เลย ในฉบับภาษาจีนช้างได้เกิดเป็นบุตรของสกุลพราหมณ์และเมื่อเติมใหญ่ขึ้นก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังพระพุทธธรรม และไม่เคยเห็นพระสงฆ์ หลังจากนั้น เขาก็สละโลกออกไปศึกษาพาหิรลัทธิ
๓. ฉบับบาลีกล่าวว่า เมื่อหมู่สงฆ์ได้ไปขอร้องให้มหาเสนเทวบุตรมาเกิดในมนุษย์โลกแล้ว พระโรหนะก็ถูกพระอัสสคุตตะบังคับให้รับภาระหนัก เพื่อไม่ให้อยู่จำพรรษาร่วมกับตน คือพระอัสสคุตตะกำหนดหน้าที่ให้พระโรหนะเดินทางไปยังบ้านของบิดามารดาของนาคเสน เพื่อบิณฑบาตประจำ ณ ที่นั้น เป็นเวลา ๗ ปี ๑๐ เดือน เพื่อนำเอานาคเสนออกจากชีวิตฆราวาสและให้การอุปสมบทแก่เขา ในฉบับภาษาจีน นาเซียนมีลุงคนหนึ่งชื่อว่าโลหัน เป็นพระอรหันต์และบรรพชานาเซียนให้เป็นสามเณร โลหันในที่นี้ก็ถือได้ว่าเท่ากับพระโรหนะ
๔. ฉบับบาลีกล่าวว่า พระนาคเสนได้อยู่จำพรรษาสามเดือนในความปกครองของพระอัสสคุตตะผู้เป็นพระอรหันต์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่วัตตนิยเสนาสน์ ในฉบับภาษาจีน กล่าวถึงวัดในพระพุทธศาสนาชื่อว่าโฮชัน ซึ่งมีพระอรหันต์อาศัยอยู่ ๕๐๐ รูป โดยมีพระอาโปเยียว เป็นผู้นำ (เจ้าอาวาส) พระนาคเสนอาศัยอยู่ในวัดดังกล่าวนี้ วัตตนิยเสนาสน์ก็เทียบได้กับ วัดโฮชัน และพระอรหันต์อัสสคุตตเถระ ก็เทียบได้กับพระอรหันต์อาโปเยียว
๕. ในฉบับบาลี พระนาคเสนสอนพระอภิธรรมแก่ศิษย์อุบาสิกา และแล้วทั้งผู้สอนและผู้ฟังก็บรรลุโสดาบัน เป็นที่พอใจของพระอัสสคุตตะซึ่งได้กล่าวว่า พระนาคเสนยิงศรอันเดียวได้นกสองตัว ในฉบับภาษาจีน นาเซียนได้สอนธรรมแก่ศิษย์อุบาสก และแล้วทั้งสองก็ได้บรรลุโสดาบันและนาเซียนได้รับการสรรเสริญจากพระอาโปเยียวว่า ยิงศรอันเดียวได้นอกสองตัว
๖. ในฉบับบาลี พระธัมมรักขิตติเตียนพระนาคเสนเกี่ยวกับการที่ไม่ได้บรรลุพระอรหัต ในกลางดึกคืนนั้น พระนาคเสนจึงได้ใช้ความพยายามอย่างหนักและก็ได้บรรลุพระอรหัต ในฉบับภาษาจีนนาเซียนถูกขับไล่ออกไปจากหมู่สงฆ์ เนื่องจากการไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ รู้สึกน้อยใจตนเอง จึงได้พยายามอย่างหนักแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัต
๗. ในฉบับบาลี หลังจากได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระนาคเสนก็เดินทางไปยังเมืองสาคละ และพำนักอยู่ที่สังเขยยบริเวณ เพื่อรอเผชิญหน้ากับพระเจ้ามิลินท์ ในฉบับภาษาจีน นาเซียนได้เดินทางมายังเมืองซีเซีย และพำนักอยู่ที่วัดเหียชีไช หรือ เหียตีไช เพื่อรอเผชิญหน้ากับพระเจ้ามีลัน
จากข้อที่เหมือนกัน ๗ ข้อดังกล่าวแล้วข้างบนนี้ ก็พอจะสรุปได้ว่า แม้จะมีรายละเอียดต่าง ๆ ส่วนมากแตกต่างกัน แต่ทั้งสองฉบับ (บาลี – จีน) ก็มาจากต้นฉบับเดิมอันเดียวกัน มีภูมิหลัง (brackground) เหมือนกัน อันเป็นต้นกำเนิดของฉบับแปลเป็นภาษาจีนและภาษาบาลี
แต่ข้อแตกต่างกันนั้นก็น่าสนใจ และก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน เพราะแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของพระคันถรจนาจารย์ และแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ที่พระคันถรจนาจารย์เหล่านั้น มุ่งหมายในการแก้ไขเพิ่มเติมและตัดทอนถอนไป และเพราะการกระทำดังนี้ ช่วยให้เราได้รู้ว่าท่านเหล่านั้นนับถือนิกายไหน และเป็นเครื่องมือสำหรับพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับความก่อนหลังและความใกล้เคียงกันกับต้นฉบับเดิมของแต่ละฉบับด้วย ข้อแตกต่างกันนั้น ดังต่อไปนี้:-
ชื่อคัมภีร์
ฉบับจีน : นาเซียนปีคิวคิน : นาเซียนภิกษุสูตร
ฉบับบาลี : มิลินทปัญหา
ดังกล่าวมานี้ ฉบับจีน จัดคัมภีร์นี้เป็นสูตรหนึ่งในบรรดาพระสูตรทั้งหลาย แม้ว่าจะไม่เริ่มต้นพระสูตรด้วยคำที่ใช้กันเป็นแบบมาว่า “เอวมเม สุตํ” ก็ตาม สำหรับสูตรนี้ จีนเลือกเอาชื่อของภิกษุมาเป็นชื่อของคัมภีร์ ส่วนบาลีเลือกเอาพระนามของพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นชื่อของคัมภีร์
โครงเรื่อง
ฉบับจีนมี ๓ ตอน ตอนที่ ๑ ตั้งแต่หน้า ๕๗–๕๗ ตอนที่ ๒ ตั้งแต่หน้า ๕๗–๖๑ ตอนที่ ๓ ตั้งแต่หน้า
๖๑–๖๔ โดยไม่มีหัวเรื่องและคำลงท้าย ไม่มีการแบ่งเป็นแย่อหน้าต่าง ๆ ยกเว้น
เฉพาะตอนจบและตอนขึ้นต้นของคัมภีร์เท่านั้น
ฉบับบาลี แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน คือ :-
ส่วนที่ ๑ อารัมภกถา ว่าด้วยเรื่องอดีตชาติของพระนาคเสนและของพระเจ้ามิลินท์
ตั้งแต่หน้า ๑–๒๔
ส่วนที่ ๒ ประกอบด้วยลักขณปัญหา และนาคเสนมิลินทปัญหา หน้า ๒๕–๖๔
ส่วนที่ ๓ วิเมตจเฉทนปัญหา หน้า ๖๕–๘๙
ส่วนที่ ๔ เมณฑกปัญหา หน้า ๙๐–๓๒๘
ส่วนที่ ๕ อนุมานปัญหา หน้า ๓๒๙–๓๖๒
ส่วนที่ ๖ โอปัมกถาปัญหา หน้า ๓๖๓–๔๑๙
ส่วนที่ ๗ มิลินทอรหัตตภาวะ หน้า ๔๑๙–๔๒๐
ดังกล่าวมานี้ ฉบับจีนไม่มีส่วนที่ ๔-๗ ของฉบับบาลี
ปุจฉาวิสัชนา
ฉบับจีน มีเพียง ๖๙ ปุจฉาวิสัชนา
ฉบับบาลี มีเพิ่มเติมออกไปอีก ๑๒ ปุจฉาวิสัชนา (เป็น ๘๑)
ลำดับของปุจฉาวิสัชนา
ลำดับของปุจฉาวิสัชนา กล่าวได้ว่าเหมือนกัน ยกเว้นเฉพาะใน ๒ อุปมา คือ
๑. ฉบับจีน จัด สัทธา ไว้ก่อน สีล แต่ฉบับบาลีจัด สีล ไว้ก่อน สัทธา
๒. ปุจฉาวิสัชนาเกี่ยวกับความเป็นสัพพัญญูจองพระพุทธเจ้านั้น ในฉบับบาลีจัด
วางไว้ห่างออกไปมาก
อดีตชาติของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสน
เรื่องอดีตชาติของพระนาคเสนและพระเจ้ามิลินท์ในสองฉบับนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทีเดียว ดังที่จะได้แสดงให้เห็นหลักฐาน ดังต่อไปนี้:-
๑. ฉบับบาลีเริ่มเรื่องในสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า กล่าวถึงสามเณรรูปหนึ่ง ซึ่งไม่นำพาต่อคำสั่งที่พระเถระสั่งถึงสามครั้งสามหน จึงถูกพระเถระนั้นตีด้วยด้ามไม้กวาด สามเณรนั้น ขณะที่ร้องไห้ไปพลางทำธุระของตนไปพลางนั้น ก็ได้ตั้งวามปรารถนาขอให้มีอำนาจและรุ่งโรจน์เหมือนพระอาทิตย์เที่ยงวัน อนึ่ง สามเณรเมื่อเห็นคลื่นอันมหึหาของแม่น้ำคงคาซึ่งส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหวและพัดเข้ากระทบฝั่งด้วยกำลังแรง ก็ตั้งความปรารถนาขอให้เป็นผู้สามารถปราบการโต้วาทะทั้งหมดได้ เหมือนอย่างคลื่นของแม่น้ำคงคาฉะนั้น สามเณรก็ได้กลับมาเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์กษัตริย์แห่งสาคละ ในประเทศอินเดีย สมตามความปรารถนา ส่วนพระเถระ เมื่อลงไปในแม่น้ำและได้ยินการตั้งความปรารถนาของสามเณรดังนั้น ก็ตั้งความปรารถนาขอให้เป็นผู้สามารถแก้ปัญหาทั้งหลายที่สามเณรนั้นถามได้ทุกปัญหา เพราะความปรารถนานั้น ต่อมาพระเถระนั้นก็ได้เกิดเป็นพระนาคเสน
ฉบับภาษาจีนแตกต่างจากฉบับบาลีอย่างสิ้นเชิง ฉบับจีนสืบสาวเรื่องอดีตขึ้นไปถึงเพียงสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจัน ไม่ถึงสมียของพระกัสสปพุทธเจ้า กล่าวถึงสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงอาเกียรณ์ด้วยการหลั่งไหลเข้ามาของเหล่าสาวกอย่างไม่หยุดหยั้ง และแล้วก็ทรงปลีกพระองค์ออกไปสู่ที่เร้น ครั้งนั้นพระยาช้างตัวหนึ่งใคร่จะปลีกตัวออกไปจากความวุ่นวายของโขลงช้าง จึงได้ติดตามพระองค์ไป เมื่อทรงรู้วาระจิตของช้างนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงสั่งสอนธรรมแก่ช้างนั้น ช้างนั้นก็ได้รับใช้พระพุทธองค์ ด้วยการปัดกวาด ตักน้ำ และปราบทางเป็นที่สัญจรของพระพุทธองค์ กาลต่อมาช้างนั้นก็ตาย แล้วไปเกิดเป็นบุตรของสกุลพราหมณ์สกุลหนึ่ง เมื่อเติบใหญ่ขึ้นแล้ว ก็ได้สละครอบครัวออกไปศึกษาพาหิรลัทธิ พำนักอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ได้อาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับฤาษีตนหนึ่ง และแล้วคนทั้งสองก็ได้กลายเป็นสหายกัน ในสองคนนั้นคนหนึ่งได้ตั้งความปรารถนาขอให้เป็นภิกษุและมานะพยายาม เพื่อความเป็นพระอรหันต์ แล้วเขาก็ได้เกิดใหม่เป็นนาเซียน ส่วนอีกคนหนึ่งก็ได้ตั้งความปรารถนาขอให้เป็นกษัตริย์ และสามารถทำให้ชนทั้งปวงปฏิบัติตามคำสั่งสอนของตน แล้วเขาก็ได้เกิดใหม่เป็นกษัตริย์มีลัน
๒. ฉบับบาลี มีข้อความยืดเยื้อคือกล่าวถึงเรื่องพระอรหันต์จำนวนนับไม่ถ้วน ไปอ้อนวอนยอใหมหาเสนเทวบุตรลงมาเกิดในมนุษยโลกเพื่อปราบพระเจ้ามิลท์และเพื่อคุ้มครองรักษาพระธรรม เรื่องมหาเสนเทวบุตรกลับมาเกิดใหม่เป็นพระนาคเสน ในตระกูลโสณุตตรพราหมณ์เรื่องพระนาคเสนศึกษาพระเวทและเรื่องราวต่างๆ ของพราหมณ์ เรื่อง พระโรหนะกำหนดวิธีที่จะชักนำพระนาคเสนให้มาบวช และศึกษาธรรมเรื่องพระโรหนะไปรับบาตร (ที่บ้านของพระนาคเสน) ประจำ เป็นเวลา ๗ ปี ๑๐ เดือนกระทั่งพบพระนาคเสนและบวชพระนาคเสนให้เป็นสามเณร และเรื่องพระโรหนะสองอภิธรรมแก่พระนาคเสน
ในฉบับภาษาจีน กล่าวอย่างธรรมดา ๆ ว่านาเซียนนั้น เมื่ออายุได้ ๑๔–๑๕ ขวบ มีลุงฝ่ายบิดาอยู่คนหนึ่งชื่อ โลหัน ซึ่งเป็นพระอรหันต์และมีอิทธิฤทธิ์ นาเซียนได้มาเยี่ยมลุงและแจ้งให้ลุงทราบว่าตนมีความยินดีในพุทธธรรม และขอบวชด้วย ท่านโลหันสงสารนาเซียน จึงบวชให้เป็นสามเณร นาเซียนได้ท่องบ่นสวดมนต์ทุกวัน พิจารณาไตรตรองทั่วทั้งพระธรรมและพระวินัย จนได้บรรลุฌาน ๔ และมีความเข้าใจในอรรถธรรมเป็นอย่างดี ในฉบับภาษาจีนไม่ได้กล่าวถึงการสอนอภิธรรมแก่พระนาคเสนเป็นครั้งแรก
๓. ในฉบับบาลี พระนาคเสนสอนอภิธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพและหลักสุญญตาแก่อุบาสิกาคนหนึ่ง
ในฉบับภาษาจีน นาเซียนสอนทาน ศีล และสวรรค์ แก่อุบาสกเมื่อรู้เขายินดีแล้ว จึงสอนธรรมอันลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นแก่เขา เพราะสุญญตาธรรม อาจจะทำให้เขามีความทุกข์ใจก็ได้ ในฉบับภาษาจีนไม่ได้กล่าวถึงพระอภิธรรม
ข้อความที่ไม่ปรากฏในแต่ละฉบับ
ข้อความที่ไม่มีในฉบับภาษาจีน
๑. ภิกษุสามเณรเกิดแล้วเกิดอีก เป็นเทวดาบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง นับชาติไม่ถ้วนในระหว่างกัสสปพุทธกาล และโคตมพุทธกาล และพระโคตมพุทธเข้าได้ทรงพยากรณ์ภิกษุและสามเณรทั้งสองนั้น เหมือนกับที่ได้ทรงพยากรณ์เกี่ยวกับพระโมคคัลลีบุตรติสสะว่า หลังจากพุทธปรินิพพานแล้วได้ ๕๐๐ ปี ท่านทั้งสอง จะปรากฏขึ้นในโลก ประกาศธรรม และช่วยขจัดความยุ่งยากต่าง ๆ เกี่ยวกับศาสนธรรมเสียได้
๒. ฉบับบาลี กล่าวถึงครูทั้งหก และกล่าวถึงการสนทนากันระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับปูรณกัสสปและมักขลิโคสาล ซึ่งไม่สามารถจะตอบให้พระเจ้ามิลินท์พอพระทัยได้ และเป็นเหตุให้พระองค์ประกาศว่า ทั่วชมพูทวีป ว่าเปล่าจากสมณพราหมณ์ผู้สามารถจะโต้ตอบกับพระองค์เสียแล้ว
๓. ฉบับภาษาจีน ไม่ได้พูดถึงตอนที่ว่าด้วยเรื่องชุมนุมพระอรหันต์ที่ไปอ้อนวอนขอให้มหาเสนเทวบุตร มาเกิดในมนุษยโลกเพื่อเผชิญหน้ากับพระเจ้ามิลินท์ และเพื่อปกปักรักษาพระธรรมเลย ทั้งไม่ได้กล่าวถึงตอนที่พระโรหนะถูกใช้ให้ไปรับบิณฑบาต ที่บ้านของโณุตตรพราหมณ์เป็นเวลา ๗ ปี ๑๐ เดือน และตอนที่พระโรหนะได้สอนพระอภิธรรมแก่พระนาคเสน
๔. ฉบับภาษาบาลี พูดถึงอภิธรรม ๕ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ในอารัมภกถา ที่กล่าวถึงพระนาคเสนว่าเชี่ยวชาญในอภิธรรม ครั้งที่ ๒ เมื่อพระโรหนะสอนพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์แก่พระนาคเสน ครั้งที่ ๓ เมื่อพระนาคเสนสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์จบบริบูรณ์ ต่อที่ชุมนุมพระอรหันต์ ได้รับสรรเสริญสนั่นหวั่นไหวจากพรหม และได้รับการโปรยดอกมณฑารพ (ดอกไม้สวรรค์) ครั้งที่ ๔ พระนาคเสนสอนพระอภิธรรมแก่อุบาสิกา แล้วทั้งสองก็ได้บรรลุโสดาบัน และครั้งที่ ๕ พระนาคเสนได้แสดงพระอภิธรรม แก่พ่อค้าที่ให้การต้อนรับตนในระหว่างเดินทางไปเมืองปาฏลีบุตร
ข้อความที่ไม่มีในฉบับบาลี แต่มีในฉบับภาษาจีน
๑. เรื่องพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและช้างแสวงหาที่วิเวก (ซึ่งคล้ายกับเรื่องภิกษุชาวโกสัมพี) เรื่องช้างได้มาสู่พระอารามหลังจากพุทธปรินิพพานเพื่อสดับเสียงสวดพระพุทธมนต์ การที่ช้างนั้นกลับมาเกิดใหม่ในสกุลพราหมณ์ และเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นแล้ว ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องพระพุทธศาสนา ไม่เคยได้เห็นพระสงฆ์ การเป็นเพื่อนกันกับฤาษีอีกตนหนึ่ง การตั้งความปรารถนาแล้วกลับมาเกิดเป็นนาเซียนและมีลัน เรื่องเหล่านี้ ไม่ปรากฏในฉบับบาลี
๒. นาเซียนถูกขับออกจากหมู่สงฆ์ เนื่องจากไม่นำพาต่อคำสั่งของอาจารย์ รู้สึกน้อยใจตนเอง จึงพยายามจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วกลับปฏิบัติตามคำสั่งของอาจารย์อีก เรื่องเหล่านี้ไม่มีในฉบับบาลี
๓. หลังจากบรรลุพระอรหัตแล้ว นาเซียนเที่ยวสั่งสอนไปตามหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ การได้ธรรมาภิสมัยของผู้ที่ฟังสั่งสอนของนาเซียน นาเซียนได้รับการต้อนรับทั้งมนุษย์และเทวดา พรหม รายละเอียดเหล่านี้ไม่มีในฉบับบาลี
ดังกล่าวมานี้ จะเห็นว่าเรื่องราวในอดีตชาติของพระนาคเสน และพระเจ้ามิลินท์นั้นแตกต่างกันอย่างมาก ในสองฉบับนี้ แม้ว่าข้อใหญ่ใจความทั่ว ๆ ไปจะไม่ขาดหายไปก็ตาม ฉบับภาษาจีนนั้น พูดอย่างรักษาต้นฉบับ ฉะนั้น จึงมีเหตุผลอย่างเพียงพอที่จะเชื่อว่า ต้นฉบับเดิมนั้น ได้ถูกรจนาจารย์ฝ่ายภาษาบาลีดัดแปลงแก้ไข เพื่อให้เหมาะสมกับลัทธิหรือนิกายของตน
ดร. ทิช มิน เชา ได้กล่าวสรุปว่า ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้ว ทำให้สามารถกล่าวหักล้างได้อย่างเต็มปากว่า ฉบับแปลเป็นภาษาจีนนั้น ใกล้เคียงต้นฉบับเดิมมากกว่าฉบับภาษาบาลี และว่า ฉบับภาษาบาลีนั้น ผู้รจนาได้รจนาขึ้นใหม่โดยอาศัยฉบับเดิมเป็นหลัก เพิ่มเติมเรื่องราวและหลักธรรมต่าง ๆ เข้ามากมาย เพื่อให้เข้ากันกับหลักคำสอนฝ่ายเถรวาท และขยายต้นฉบับเดิมออกไปอีก จนมีขนาดใหญ่โตดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านทิช มิน เชา ได้อ้างผลของการค้นคว้าและความเห็นของศาสตราจารย์ เดอมีวิลล์ (Prot. Demieville) มาสนับสนุนความคิดเห็นของท่านว่า “ต้นฉบับเดิมนั้น ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ (๑) อารัมภกาถาพร้อมด้วยรายละเอียดต่าง ๆ คือ การพรรณานาสถานที่ พรรณนาประวัติของพระนาคเสนเกี่ยวกับชีวิตทางพรหมจรรย์ในระยะต่าง ๆ (เช่น บวชเป็นสามเณร บรรลุพระโสดาบัน บรรลุพระอรหัต) พร้อมด้วยประเพณีบางอย่างเกี่ยวกับวัดและอาจารย์ของพระนาคเสน ให้ความรู้เกี่ยวกับการโต้วาทะอันไร้ผลกับพระภิกษุรูปหนึ่ง และการพบกันระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน (๒) บันทึกการโต้วาทะ ส่วนที่ ๒ ของตอนนี้ ดูเหมือนจะได้เพิ่มเข้ามาแต่โบราณกาลแล้ว และตอนแรกนั้น ได้ตกมาถึงพวกเราในสภาพที่คงรูปสมบูรณ์ที่สุดโดยมี ๒ ภาค ในอารัมภกถานั้น ได้เพิ่มเรื่องอวตารของบุคคลสำคัญทั้งสองเข้ามา และประวัติของพระนาคเสน ก็มีการแกไขเพิ่มเติม เพราะการกระทำดังนี้เอง ก่อให้เกิดการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไปเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างแรก ได้แปลเป็นภาษาจีนราวคริสตศตวรรษที่ ๔ และอย่างหลักแปลเป็นภาษาบาลี ในคริสตศตวรรษที่ ๕ ส่วนฉบับแปลเป็นภาษาจีนนั้น ได้ร้อยกรองขึ้นโดยมีการแก้ไขเป็น ๒ แบบ คือ แบบแก้ไขสมบูรณ์ และแบบแก้ไขไม่สมบูรณ์ ซึ่งทั้งสองแบบก็ไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก แต่ตรงกันข้าม ฉบับที่แปลเป็นภาษาบาลีนั้นได้ผ่านการปรับปรุงมาหลายครั้ง ส่วนที่พอจะเชื่อถือได้นั้น ได้ถูกเพิ่มเติมลงในสมัยต้น ๆ ในประเทศลังกา หลังคริสตศตวรรษที่ ๕ แล้ว พระประวัติของพระเจ้ามิลินท์นั้น ชวนให้คิดว่าเป็นการเลียนแบบพระประวัติของพระเจ้าอชาติศัตรูและพระเจ้าอโศก และ ๔ ตอนที่เพิ่มเข้ามา ก็อาจจะเป็นได้ว่า เพิ่มเข้ามาในประเทศลังกา ซึ่งในประเทศลังกานี้เองได้พบว่า ส่วนแรก (ของมิลินทปัญหา) ยังบริบูรณ์ดีอยู่จนถึงศตวรรษที่ ๕“ แม้กระนั้นก็ดี ก็ยังเป็นการยากอยู่ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาทีหลัง ๔ ตอนนั้น ได้เพิ่มเข้าในประเทศลังกาตามที่ศาสตราจารย์เดอมีวิลล์ยืนยัน แต่ความเห็นของเขาก็ยังสนับสนุนข้อที่ว่า ฉบับภาษาจีนมีมาก่อนกว่าและถูกต้องตามต้นฉบับเดิมมากกว่าฉบับภาษาบาลี ได้เป็นอย่างดี
ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ ได้คัดค้านอย่างรุนแรงว่า “เป็นไปไม่ได้ที่ว่า ฉบับที่สั้นกว่า และเพียงแต่สั้นกว่าอย่างเดียวเท่านั้น จะต้องเป็นฉบับที่เก่าแก่กว่าฉบับที่ยาวกว่า แต่ความจริงแล้ว น่าจะเป็นว่า ฉบับที่ยาวกว่านั่นเอง ที่ทำให้เกิดมีฉบับที่สั้นกว่าขึ้นมา …ถ้าว่าฉบับที่สั้นกว่า (ซึ่งความจริงเรียกว่า ฉบับถอดใจความน่าจะเหมาะกว่า เพราะในความรู้สึกของคนสมัยปัจจุบันแล้ว ไม่น่าจะเป็นฉบับสมบูรณ์เลย) ที่ได้มาจากเกาหลี เป็นต้นฉบับที่แท้จริงแล้วก็มีปัญหาว่า หนังสือจีนอื่น ๆ ที่กล่าวรวม ๆ ว่าได้แต่งขึ้นในสองศตวรรษ ต่อมา ซึ่งถือว่าเป็นฉบับต้นเดิมนั้น ด้วยเหตุผลใดเล่า จึงเกิดมีเนื้อหาสาระผิดแผกแตกต่างไปจากฉบับภาษาบาลี? เชื่อแน่ว่าสมมติฐานที่จะเอามาเป็นเครื่องพิสูจน์ในเรื่องนี้ก็คงจะเป็นว่า หนังสือจีน ๒ ฉบับซึ่งแปลจากต้นฉบับอันเดียวกันนั้น ฉบับหลัง ย่อมจะต้องถูกต้องแน่นอนกว่าฉบับก่อน และในเรื่องนี้ ก็ทำให้เราได้เห็นลักษณพิเศษอันหนึ่งของจีนว่า ในการถ่ายทอดคัมภีร์ของอินเดียไปเป็นภาษาจีนนั้นทางจีนถือว่า ฉบับหลังย่อมถูกต้องกว่าฉบับก่อนเสมอ
มิลินทปัญหานั้น เป็นปกรณ์ที่ได้รับความสนใจศึกษาค้นคว้าจากนักปราชญ์ต่างๆ ทั่วไป ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก ได้มีผู้เขียนบทความวิจารณ์เรื่องของมิลินทปัญหากันอย่างกว้างขวาง มีการค้นคว้าและติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในมิลินทปัญหากันอย่างจริงจัง ดังที่กล่าวมาข้างต้น และจากผลของการค้นคว้าของบรรดาท่านเหล่านั้น ก็ปรากฏว่า สาระส่วนใหญ่ของมิลินทปัญหานั้น ดำเนินตามหลักธรรมของฝ่ายเถรวาท ซึ่งเรียกว่า สัตถุศาสน์ แต่ก็ไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะในขอบเขตของพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทอย่างเดียวว เพราะพบว่า บางครั้งผู้รจนาก็นำเอาหลักธรรมในนิกายสรวาสติวาท ซึ่งเป็นพุทธศาสนามหายานนิกายหนึ่ง มาอภิบายอย่างยืดยาว เบอร์นอฟ (Burnouf) ได้ค้นพบว่า พระนาคเสนได้บรรยายถึงหลักธรรมในอภิธรรมโกศวยาขยา (บางแห่งเรียกว่า อภิธรรมโกศภาษยา ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญอธิบายพุทธปรัชญาตามหลักธรรมของนิกายสรวาสติวาท ในฝ่ายมหายานแต่งโดยพระวสุพันธุ์ ชาวอินเดีย) อย่างกว้างขวาง ทั้งยังปรากฏว่าบางแห่งได้พูดถึงหลักธรรมของธิเบตด้วย เช่น เรื่องสีที่บุคคลจะเห็นเมื่อเวลาจะตายเป็นต้น ซึ่งไม่มีในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท บางครั้งก็นำเอาตัวอย่าง หรือข้ออุปมาจากวรรณคดีนอกพระคัมภีร์มาประกองการอธิบายบ้าง ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า ผู้รจนามิลินทปัญหานั้นเป็นผู้คงแก่เรียนอย่างแท้จริง เชี่ยวชาญทั้งในเรื่องพระพุทธศาสนาและวรรณคดีอื่น ๆ ที่ร่วมสมัยกัน
ศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ ได้ยกย่องว่ามิลินทปัญหา เป็นปกรณ์ที่แต่งดีเป็นอย่างยอดคัมภีร์หนึ่ง ในบรรดาคัมภีร์ทั้งหลายที่รจนาขึ้นภายหลังพระไตรปิฎก และว่าหนังสือที่แต่งได้ดีใกล้เคียงมิลินทปัญหา ก็มีแต่วิสุทธิมรรค ของพระพุทธโฆษาจารย์ คัมภีร์เดียว แต่มิลินปัญหามีมาก่อนกว่าวิสุทธิมรรคช้านานและพระพุทธโฆษาจารย์ยังได้อ้างเอามิลินปัญหามาเป็นหลักในการวินิจฉัย ในหนังสืออรรถกถาที่ท่านรจนาเป็นหลายแห่ง จึงเห็นได้ว่า มิลินทปัญหานี้ เป็นคัมภีร์ที่นักปราชญ์ถือกันว่าเป็นหลักฐานในข้อวินิจฉัย พระธรรมวินัย มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว
ศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ ได้ลองกำหนดข้อความในพระไตรปิฎกซึ่งยกอ้างไว้ในมิลินทปัญหานี้ ก็ปรากฏว่าผู้รจนาคัมภีร์นี้ เป็นผู้ชำนิชำนาญแตกฉานในพระไตรปิฎก สามารถอ้างได้ทุกคัมภีร์ สำนวนโวหารก็ไพเราะ แต่ข้อวิเศษอันสำคัญนั้นก็คือ ผู้รจนาเป็นผู้ที่ฉลาดปราดเปรื่องทั้งในกระบวนการวินิจฉัย และวิสัชนาพระธรรมวินัยให้เข้าใจได้ด้วยอุปมาเป็นต้น ผิดกับคัมภีร์อื่น ๆ โดยมาก จึงเป็นเหตุให้ผู้ศึกษาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนานับถือคัมภีร์มิลินปัญหานี้ สืบต่อกันมามากว่า ๒๐๐๐ ปี เข้าบัดนี้
ท่านอานันท์ เกาศัลยายนะเถระ (Anand Kausalyayana) ก็กล่าวว่า บรรดาวรรณคดีบาลีทั้งหลาย นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ไม่มีคำกล่าวใดจะสุขุมลุ่มลึกเท่าคำของพระนาคเสนในเรื่อง อนาตมวาท (Anatmavad) หรืออนัตตา ดังนั้น มิลินทปัญหา จึงเป็นคัมภีร์ที่แสดงหลักเกณฑ์ได้ทั้งด้านอภิปรัชญาของพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านจริยศาสตร์และจิตวิทยา นักศึกษาพระพุทธศาสนาควรจะได้ศึกษาเพราะนอกจากจะเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่สำคัญแล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดีอีกเป็นอันมาก มิลินทปัญหามีหลักฐานดีแน่ชัด ชนิดที่วรรณคีดร้อยแก้วของอินเดียในศตวรรษที่ ๑ เปรียบเทียบมิได้ กล่าวสั้น มิลินปัญหามีฐานะเด่นในวรรณคดีอินเดียไม่ว่าจะมองแง่ปรัชญา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ หรือความรู้ทางภูมิศาสตร์ เป็นข้อเท็จจริงที่โต้แย้งไม่ได้ว่า วรรณคดีหลังพระไตรปิฏกไม่มีคัมภีร์พระพุทธศาสนาคัมภีร์ใดจะมีคุณค่าเท่า มิลินทปัญหาพม่าได้จัดมิลินทปัญหา เข้าในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายด้วย
มิลินปัญหาได้ถูกถ่ายทอดอักษร และแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั้งภาษาทางตะวันออกและตะวันตกหลายภาษา และในบางภาษาแปลกกันหลายสำนวน สำหรับการถ่ายทอดออกเป็นอักษรต่าง ๆ ในพากย์บาลีนั้น คือ ฉบับอักษรสิงหล ฉบับอักษรขอม ฉบับอักษรพม่า ฉบับอักษรไทย และฉบับอักษรโรมัน โดย วี.เทรงค์เนอร์ ชาวเดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ สำหรับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กัน เท่าที่ปรากฏในขณะนี้ คือ
พุทธศักราช (ราว) ๘๖๐–๙๖๒ - แปลเป็นภาษาจีน มีทั้งหมดรวม ๑๑ สำนวน
“ ๒๒๙๐ - แปลเป็นภาษาสิงหลโดยเถระ และมีแปลต่อมาอีกหลายครั้ง
“ ๒๔๓๓ - แปลเป็นภาษากฤษ โดยศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์
“ ๒๔๔๘ - แปลเป็นภาษาเยอรมัน โดย เอ็ฟ.ออตโต ชราเดอร์ (แปลบางส่วน)
“ ๒๔๖๖ - แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส จากฉบับภาษาจีน โดย หลุยส์ ฟีโนต์
“ ๒๔๖๗ - แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส จากฉบับภาษาจีน โดย ปอล เดิมีวิลล์
“ ๒๕๐๔ - แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยนาง ไอ. บี. ฮอนเนอร์
ไม่ทราบ พ.ศ. ที่แปล - แปลเป็นภาษารัสเซีย จากฉบับภาษาจีน โดยนายอีวานอฟสกี
(Ivanovsky)
“ - แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น จากฉบับภาษาจีน โดย โซเงน ยามากามิ
“ - แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น จากฉบับภาษาบาลี โดย เซอิ สยา กานา โมลิ
สำหรับการแปลเป็นภาษาไทยนั้น บางทีอาจจะได้แปลมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ด้วยอ้างถึงหนังสือมิลินทปัญหาในบานแพนกหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งพระมหาธรรมราชาพญาลิไทย ทรงแต่งขึ้นเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยยังเป็นราชธานี แต่ที่แน่นอนและมีต้นฉบับอยู่ในบัดนี้ ๔ สำนวน คือ :-
๑. ฉบับแปลแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับไว้ แต่ไม่บริบูรณ์
๒. ฉบับแปลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งกรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ เป็นฉบับของหอสมุดแห่งชาติ สำนวนนี้สันนิษฐานว่า คงจะแปลในรัชกาลที่ ๓ ด้วยปรากฏมาว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดฯ ให้แปลคัมภีร์ที่แต่งไว้เป็นภาษามคธ ออกเป็นภาษาไทยหลายเรื่อง ที่เป็นเรื่องใหญ่มีฉบับปรากฏอยู่ คือ เรื่องมหาวงศ์พงศาวดารลังกา ว่าด้วยพุทธศาสนประวัติในลังกาทวีป ๑ ชินกาลมาลี ว่าด้วยพุทธศาสนาประวัติตั้งแต่พุทธกาลถึงนครเชียงใหม่ในสยามประเทศนี้ ๑ ไตรโลกวินิจฉัย ๑ เป็นอาทิ หนังสือที่แปลในรัชกาลที่ ๑ มักมีบานแพนกและบอกชื่อผู้แปลไว้เป็นสำคัญ แต่มิลินทปัญหานี้ หามีไม่ จึงสันนิษฐานว่าจะแปลในรัชกาลที่ ๓ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสดับพระธรรมเทศนาทุกวันเป็นนิตย์ ตามพระราชประเพณีโปรดฯ ให้อาราธนาพระผู้ถวายเทศน์แปลพระไตรปิฎก ทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม และปกรณ์ต่าง ๆ ถวาย เมื่อเทศน์แล้ว โปรดฯ ให้เขียนเก็บรักษาไว้ในหอหลวง มิลินปัญหาฉบับนี้ ก็เห็นจะแปลถวายเทศน์ในครั้งนั้น
๓. ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ และออกหนังสือธรรมจักษุเป็นรายเดือนสมนาคุณแก่ผู้บริจารบำรุงมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ทรงแปลมิลินทปัญหาลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุดังกล่าว เป็นตอน ๆ แต่มิได้ทรงแปลด้วยพระองค์เองตลอด ทรงให้พระกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยบ้าง พระภิกษุสามเณรนักเรียนในมหามกุฏราชวิทยาลัยบ้าง ช่วยกันแปลเป็นตอน ๆ แล้วทะยอยลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุจนจบ สำนวนแปลในฉบับนี้เป็นแบบ “สำนวนสนาม” คือเหมือนอย่างที่แปลกันในการสอนพระปริยัติธรรมสนามหลวง เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเลือกมิลินทปัญหาสำหรับจัดพิมพ์เป็นฉบับของหอสมุดแห่งชาติ ทรงเห็นว่า ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัยนี้ สำนวนไม่สม่ำเสมอ เพราะแปลกันหลายคน จึงไม่ทรงเลือกเอาฉบับนี้ ทรงเลือกเอาฉบับแปลในสมัยรัชกาลที่ ๓ ดังกล่าวแล้ว ข้างต้น
๔. ฉบับเรียบเรียงใหม่ เรียกว่า “ปัญหาพระยามิลินท์” โดยนายยิ้ม ปัณฑยางกูร เปรียญ เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นการเรียบเรียงเอาเฉพาะใจความของแต่ละปัญหา โดยตัดข้อความและสำนวนที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ออกเสีย เพื่อสะดวกในการอ่านและเข้าใจง่ายขึ้น และฉบับนี้ กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ เป็นฉบับของหอสมุดแห่งชาติ อีกฉบับหนึ่ง
สำหรับมิลินปัญหา ที่ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้น ในงานพระเมรุพระศพ สมเด็จพระสังฆราช (อุฏฐายีมหาเถร) คราวนี้ได้ฉบับพิมพ์ที่โรงพิมพ์ไท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น แต่ครั้งยังทรงเป็น พระมหาจวน เปรียญ ๘ ประโยค ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำสำหรับการพิมพ์ครั้งนั้น มาเป็นต้นฉบับในการจัดพิมพ์ เมื่อได้สอบเทียบดูกับสำนวนแปลที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระกรรมการ พระภิกษุสามเณร นักเรียน ในมหามกุฏราชวิทยาลัย ช่วยกันแปลลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุแล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นฉบับเดียวกัน ฉะนั้น มิลินทปัญหา ฉบับโรงพิมพ์ไท พ.ศ. ๒๔๗๐ นี้ จึงเป็นการรวมพิมพ์มิลินทปัญหาที่แปลลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ เป็นครั้งแรก ซึ่งเรียกในที่นี้ว่า “มิลินทปัญหา ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย” และฉบับที่แปลนี้ เมื่อสอบดูกับฉบับภาษาบาลีแล้ว ก็ปรากฏว่า แปลจากฉบับบาลีอักษรโรมันที่นาย วี.เทรงค์เนอร์ ได้ถ่ายทอดออกเป็นอักษรโรมันและจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรก ณ กรุงโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๐ (พ.ศ. ๒๔๒๓) ขณะนั้น ฉบับบาลีอักษรไทยยังไม่ได้จัดพิมพ์ขึ้นมหามกุฏราชวิทยาลัย พึ่งจะมาชำระและจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ และปรากฏว่า ทั้งสองฉบับนี้มีข้อความแปลกกันอยู่หลายแห่ง พระเถระและพระภิกษุสามเณรนักเรียนในมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ช่วยกันแปลมิลินทปัญหาในครั้งนั้น มีรายพระนามและรายนามดังต่อไปนี้:-
คำนมัสการ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
มิลินทปัญหา
วรรคที่ ๑ “ “
วรรคที่ ๒ พระแต้ม เปรียญ วัดบวรนิเวศวิหาร
วรรคที่ ๓ พระคำ เปรียญ วัดบวรนิเวศวิหาร (คือ พระยาวิจิตรธรรมปริวัตร คำ พรหมกสิกร ป.๘)
วรรคที่ ๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วรรคที่ ๕ “ “
วรรคที่ ๖ สามเณรพุฒ (พระมหาพุฒ ผู้เคยรั้งเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๘–๒๔๕๙?)
วรรคที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วิเสสปัญหา “ “
เมณฑกปัญหา
วรรคที่ ๑ (ปัญหาที่ ๑-๒)
วรรคที่ ๒ (ปัญหาที่ ๓) พระราชกวี วัดบวรนิเวศวิหาร (คือ พระธรรมปาโมกข์ ถม วราสโย ป.๗ วัดมกุฏกษัตริยาราม ภายหลังลาสิกขา)

วรรคที่ ๑ (ตั้งแต่ปัญหา ๔ ไป) พระธรรมปาโมกข์ วัดมกุฏกษัติริยาราม (คือ พระพรหมมุนี แฟง กิตติ สาโร ป.๗)
วรรคที่ ๒ “
วรรคที่ ๓ “
วรรคที่ ๔ “
วรรคที่ ๕ “
วรรคที่ ๖ “
วรรคที่ ๗ พระพรหมมุนี (แฟง กิตตสาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
วรรคที่ ๘ “ (ถึงปัญหาที่ ๔)
วรรคที่ ๘ (ตั้งแต่ปัญหาที่ ๕ - จบ) สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรฯ
วัดราชบพิธ ครั้งทรงดำรงพระอิสริยาเป็นกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
วรรคที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
อุปมาปัญหา
มิลินทปัญหาที่แปลลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุครั้งนั้น ไม่ได้จัดเป็นหมวดตามหมวดและวรรคของปัญหา และไม่ได้ใส่ชื่อปัญหากำกับไว้ที่หัวเรื่องของแต่ละปัญหาด้วย สำนวนการแปลก็เป็นไปต่าง ๆ กันตามความถนัดของผู้แปลแต่ละท่าน และปรากฏว่า ท่านตัดข้อความบางตอนออกเสียบ้าง เช่น อุปมาบ้างข้อ ข้อความบางตอนที่ซ้ำกันและความบางตอนก็สลับที่กัน เช่น ยกเอาอุปมาข้อ ๓ ไปไว้ลำดับ ๒ และเอาข้อ ๒ ไปไว้เป็นลำดับ ๓ เป็นต้น ฉะนั้น จึงเข้าใจว่า เมื่อโรงพิมพ์ไทประสงค์จะพิมพ์มิลินทปัญหาสำนวนนี้ออกเผยแพร่ คงจะได้ถวายเรื่องนี้แด่สมเด็จพระสังฆราช ครั้งยังทรงเป็นพระมหาจวน ช่วยตรวจชำระเพื่อการพิมพ์ และขอประทานพระนิพนธ์คำนำสำหรับการพิมพ์ครั้งนั้นด้วย สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น คงจะได้ทรงจัดระเบียบเกี่ยวกับหัวข้อปัญหาต่าง ๆ เสียใหม่และใส่ชื่อปัญหานั้น ๆ กำกับไว้ทุก ๆ ปัญหาให้ถูกต้องตามฉบับภาษาบาลีด้วย เพื่อความเป็นระเบียบและสะดวกในการค้นหา ฉะนั้น ฉบับโรงพิมพ์ไท เมื่อนำมาเทียบกับคำแปลที่ลงพิมพ์ในธรรมจักษุแล้ว จึงปรากฏว่ามีข้อแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย คือ :-
๑. ในธรรมจักษุ ไม่มีชื่อของปัญหาต่าง ๆ กำกับไว้ที่หัวเรื่องของปัญหานั้น ๆ แต่ในฉบับโรงพิมพ์ไท ใส่ชื่อปัญหาของแต่ละปัญหากำกับไว้ด้วย ตามที่มีปรากฏอยู่ในฉบับภาษาบาลี
๒. ในธรรมจักษุ บางปัญหาไม่ได้แปลไว้ แต่ในฉบับโรงพิมพ์ไท แปลเพิ่มเข้ามาใหม่ให้ครบตามฉบับภาษาบาลี และที่เพิ่มเข้ามาใหม่นี้เข้าใจว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น คงจักได้ทรงแปล
๓. การใช้สัพพนาม และสร้อยคำบางคำ แปลกกันออกไปบ้าง ทั้งนี้เข้าใจว่า คงจะเป็นการเปลี่ยนคำที่เห็นว่าไม่เหมาะสม และตัดคำที่เห็นว่ารุงรังออกไปเสียบ้าง แต่ข้อความอื่น ๆ ตรงกัน
โดยการตรวจชำระของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น จึงทำให้มิลินทปัญหาสำนวนนี้ เรียบร้อยขึ้น เหมาะแก่การที่จะพิมพ์ออกเผยแพร่ได้ อีกประการหนึ่ง มิลินทปัญหาสำนวนนี้ กล่าวได้ว่าเป็นฉบับแปลเป็นภาษาไทย สำนวนใหม่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนั้น จึงได้ทรงเลือกและทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พิมพ์ในคราวนี้
อนึ่ง มิลินทปัญหา ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัยนี้ แปลจากต้นฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว จึงปรากฏว่า ข้อความบางตอน ไม่มีในฉบับภาษาบาลีอักษรไทย ฉบับที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ตรวจชำระพิมพ์ดังกล่าวแล้วเช่นกัน และอสาธารณนามหลายแห่งไม่ตรงกัน เช่น ชื่อพระสูตรต่าง ๆ แม่น้ำสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น เพราะฉบับภาษาบาลีอักษรโรมันกับอักษรไทยนั้น มีข้อความคลาดเคลื่อนกันหลายแห่ง บางแห่งที่สงสัยและตรวจพบว่าต่างกันก็ทำเชิงอรรถไว้ แต่ไม่ได้ทำไว้ตลอด เพราะไม่มีเวลาตรวจสอบเพียงพอ
ตอบกระทู้