พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 23 เม.ย. 2018 7:23 am
“เครื่องวัดคนอยู่ที่ความประพฤติ”
ให้รู้จักประมาณก็ให้รู้จักความพอดี มากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องของปัจจัยสี่ที่เราใช้ดูแลเลี้ยงดูร่างกาย อาหารกินมากเกินไปก็เกิดโทษ กินน้อยเกินไปก็เกิดโทษ ต้องกินให้มันพอดี กินมากเกินไปก็เกิดน้ำหนักเกิน เดี๋ยวก็โรคภัยไข้เจ็บเข้ามา ถ้ากินน้อยเกินไปซูบผอมขาดสารอาหารนี้ก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้เหมือนกัน ก็ต้องรู้จักความพอดี เหมือนใส่รองเท้านี่ รองเท้าก็ต้องขนาดพอดีใช่ไหม ถ้าใหญ่เกินไปก็หลวมใส่ไม่สบาย ถ้าเล็กเกินไปใส่ก็คับก็เจ็บเท้า ต้องหารองเท้าที่ขนาดพอดี เสื้อผ้าก็เหมือนกัน ถ้าใช้เสื้อผ้าก็ต้องรู้จักปริมาณความพอดีว่าเราต้องการมีกี่ชุดกันร่างกายเรามีร่างกายร่างเดียว เราต้องการมีเสื้อผ้าไว้สักกี่ชุดถึงจะพอ มีมากเกินไปก็จะทำให้เราเสียเงินเสียทองไปเปล่าประโยชน์ ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรมากขึ้นมา เพราะหน้าที่ของเสื้อผ้าก็มีไว้เพื่อหุ้มห่อร่างกายอันนี้เท่านั้นเอง ปกปิดร่างกายป้องกันร่างกาย จะเป็นเสื้อผ้าราคาแพงหรือราคาถูกมันก็ทำหน้าที่ได้เหมือนกัน ทำไมต้องไปเสียเงินเยอะๆ เพื่อมาเอาเสื้อผ้าที่ทำหน้าที่ที่เสื้อผ้าราคาถูกก็ทำได้เหมือนกัน เช่นเสื้อตัวลสองร้อยกับเสื้อตัวละสองพันมันต่างกันตรงไหน มันก็ทำหน้าที่ได้เท่ากัน มันปกปิดร่างกายหรือหุ้มห่อร่างกาย ปกป้องร่างกายได้เหมือนกัน
นี่เราต้องรู้จักประมาณว่าเราควรจะใช้แบบไหน อย่าไปหลงกับรสนิยมของสังคม เสื้อผ้าบางทีมาจากโรงงานอันเดียวกัน เพียงแต่อันหนึ่งมีตราอันหนึ่งไม่มีตรา พอมีตราก็ราคาแพง พอไม่มีตราขายตามตลาดนัดก็ราคาถูก แต่มันก็เหมือนกัน เอามาเปรียบเทียบกันมันก็เหมือนกัน เรื่องอะไรเราต้องไปเสียเงินมากๆ บางทีก็ต้องมีรสนิยม ถ้าใส่เสื้อถ้าไม่มีตราแล้วรู้สึกมันเชยไม่มีหน้าไม่มีตา กระเป๋าถ้าไม่มีตราแล้วใส่แล้วมันรู้สึกมันไม่มีหน้ามีตา กระเป๋าเขามีไว้ใช้ใส่ของไม่ใช่เหรอ มันไม่จำเป็นจะต้องมาเชิดหน้าชูตาเราหรอก กระเป๋าเขามีไว้เพื่อใส่ของ ให้เรารู้จักประมาณ รู้จักเหตุผลของการใช้สิ่งต่างๆ ว่าเราใช้เพื่ออะไร ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ให้พอดีกับเเหตุกับผลที่เราต้องการมัน แล้วชีวิตเราจะสบายไม่ถูกกดดัน
นี่ทุกวันนี้เราถูกกดดันด้วยรสนิยมของสังคม สังคมเขาเป็นคนวัดเรา วัดตัวเราว่าดีหรือไม่ดี เขาวัดอยู่ที่กระเป๋าที่เราใช้ วัดที่รองเท้าที่เราใส่ วัดที่รถที่เราขับ ความจริงนี่ไม่ใช่เป็นเครื่องวัดคน เครื่องวัดคนอยู่ที่ความประพฤติ ทางกาย ทางวาจา ว่ามีศีลมีสัจย์หรือเปล่า ว่าทำบาปหรือทำบุญ อันนี้แหละคือเครื่องวัดคนไม่ใช่เสื้อผ้า พระถึงไม่จำเป็นจะต้องมีเสื้อผ้าเหมือนญาติโยม พระสมัยพุทธกาลนี้ผ้าทำมาจากผ้าห่อศพ ผ้าที่ไม่มีใครต้องการแล้ว เพราะเสื้อผ้าไม่ใช่เป็นเครื่องวัดตัวพระ เครื่องวัดตัวพระก็คือตัวศีลธรรมที่มีอยู่ในใจของพระ พระที่มีศีลธรรมมากก็มีคุณค่ามาก พระพุทธเจ้านี่มีคุณค่ามากที่สุด รองลงมาก็พระอรหันตสาวก รองลงมาก็พระอนาคามี พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ มีอยู่สี่ขั้น เพราะมีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน นี่ก็คือเรื่องของการรู้จักประมาณ รู้จักความพอดี อย่ามีมากเกินไป อย่ามีน้อยเกินไป ร่างกายนี้ต้องมีปัจจัยสี่ที่เหมาะสมกับฐานะของแต่ละคน.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
“คำถามสนทนาธรรมบนเขา”
ถาม : เรานั่งสมาธิได้สักพักแล้วมีอาการระลึกถึงเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคต เป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรดีคะ
พระอาจารย์ : ก็หยุดมันสิ เราไม่ได้นั่งเพื่อคิดนี่ เรานั่งเพื่อให้มันหยุดคิด พอมันคิดเราก็ต้องหยุดมัน อย่างงี้นั่งแบบไม่มีสติอย่างที่เล่าน่ะ เริ่มต้นสติสองสามคำแล้วก็ปล่อยมันอัตโนมัติ มันไม่ได้หรอก สติมันไม่อัตโนมัตินี่ มันต้องคอยประคับประคองให้มันอยู่เรื่อยๆ บางคนคิดว่านั่งสมาธิพุทโธพุทโธเสร็จสองสามคำแล้วก็นั่งดูจิตไป อย่างงี้เดี๋ยวมันก็มีอะไรโผล่ขึ้นมาร้อยแปด แต่สิ่งที่เราต้องการมันไม่โผล่ คือความสงบ.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุขาติ อภิชาโต
"รู้ชัดเห็นจริง" ฝ่ายธาตุ ฝ่ายขันธ์ ต้องอยู่แค่ระดับ "อุปจาระ"
ถ้าเราต้องการค้นให้รู้ชัดเห็นจริงฝ่ายธาตุ ฝ่ายขันธ์
จะอยู่ขั้นฐีติจิตไม่ได้
ต้องอยู่แค่ระดับอุปจาระ...
ฝ่ายเหตุ ฝ่ายปัจจัย ฝ่ายขันธ์ เห็นรูปธรรม นามธรรม
เหมือนพระพุทธเจ้าที่อยู่ในขั้นอุปจาระ
รู้ได้ก็เพราะอาศัยปัญญานี้ ให้บริสุทธิ์
มันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นพระสาวกบางองค์ท่านพิจารณาด้วยจิต
ท่านลงถึงฐีติจิต ลงพักอยู่ แล้วถอนจากฐีติจิตขึ้นมา
ท่านถึงมาพิจารณาที่ผ่านไป
สงบไป ในชั้นในภูมิของอุปจารสมาธิ
พิจารณาไปเองเลย
หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
หลงเห็น "กงจักรเป็นดอกบัว"
ปุจฉา : ที่ท่านอาจารย์บอกว่าพระพุทธเจ้าสร้างถนนราดยางไว้เสร็จนี่ คนที่ได้เห็นถนนแล้วทำไมยังไปไม่ได้หมด ยังหลงทางกันอีก
วิสัชนา : ไปถามเขาซี่ มาถามอาตมาไม่ได้หรอก ถมไปที่คนเห็นถนนราดยางแล้วไม่เดิน ก็เดินเข้าป่าเข้ารกเข้าพงไป ไม่งั้นเขาจะว่า หลงเห็นกงจักรเป็นดอกบัวหรือ
ท่านอาจารย์มั่นท่านก็บอกว่าท่านเองก็หลงมาพอแรงแล้ว เรื่องนี้น่ะเรามันเพียงแต่เป็นสติ เป็นปัญญา พระพุทธเจ้าท่านเป็นมหาสติมมหาปัญญา
อาตมาไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ภาวนาแล้วจิตมันลงสู่ฐีติจิตตลอดคืนยันรุ่ง ถอนขึ้นมามีนิมิตขึ้นมา จากนิมิตก็ไปตามอารมณ์และก็เพลินอยู่ในฐีติจิตว่ามันสุข มันไปติดอยู่ในอดีต มันไม่ดูปัจจุบัน มันไม่วางไปเลย สบายไปเลย ไปกราบเรียนถามท่านว่า "บุคคลผู้พิจารณาควรต้องมีสติให้ได้ทุกลมหายใจไม่ใช่หรือครับ ถ้าไม่ได้ทุกลมหายใจ สติมันเผลออยู่อย่างนี้จะไม่เป็นไรหรือครับ"
ท่านนั่งสงบจิตพิจารณาครู่หนึ่งแล้วก็ตอบว่า "ไม่ได้หรอก ผมก็ไม่ได้ทุกลมหายใจ พวกสาวกไม่ได้ทุกลมหายใจดอก
มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นแหละที่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านเป็นมหาสติ มหาปัญญา ส่วนพระสาวกนั้นเปนแต่เพียงสติ เป็นแต่เพียงปัญญา ไม่ได้ทุกขณะจิต ต้องมีการพลั้งเผลอเป็นธรรมดา
แต่ถ้าการเผลอนี้ไม่เพลิดเพลินไม่จัดเป็นเสียหาย แต่การพลั้งเผลอด้วยความเพลิดเพลินลุ่มหลงยินดีนั้นเสียหาย ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ยินดีในสิ่งนั้น ต่อไปจะเกิดเป็นมานะขึ้นได้"
หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
“ทำอย่างต่อเนื่อง”
..เบื้องแรก ก็ให้มีขันติ คือความอดทน พยายามตั้งสติกำหนด พินิจพิจารณา ให้จิตใจอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ให้มีความสงบสงัด การตั้งสติกำหนด พินิจพิจารณา ไม่ใช่ว่า ในระยะที่เรานั่งสมาธิภาวนาอย่างเดียวเท่านั้นนะ เดินก็ตาม ยืนก็ตาม นั่งก็ตาม นอนก็ตาม หมายความว่าให้พยายามทำติดต่อกันไป ไม่ให้เป็นวรรคเป็นตอน ทำไปเรื่อยอยู่อย่างนั้นหละ จนกว่ามันจะเกิดขึ้น ถ้าหากเราพยายามทำอยู่ในแห่งเดียว ที่เดียว โดยไม่ได้ส่งหน้าส่งหลัง หรือส่งไปบ้าง พอรู้ตัวก็ต้องหดตัวเข้ามาอยู่ที่เดิม อันนี้มันจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เพราะว่าเราจี้อยู่แห่งเดียว เหมือนอย่างของภายนอก เราเอาเหล็กเจาะ เจาะไม้ เจาะอยู่ที่เดียว ที่เผาไฟแดง ๆ แล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันก็ต้องทะลุ แม้จะหนาเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าหากเรามีการกระทำแล้ว ทำอยู่นาน ๆ มันจะค่อยสงบเองหรอก..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง เราลืมเจตนาดั้งเดิม
“คำถามธรรมะบนเขา”
ถาม : การละกิเลสจะละเป็นขั้นๆ ไป คือลาภยศ ร่างกายเรา เวทนาเรา คนที่จะดูจิตได้ผลต้องละกายและเวทนาให้ได้ก่อนไหมคะ
พระอาจารย์ : ใช่ มันต้องละจากของง่ายไปสู่ของยาก เหมือนก่อนที่เราจะไปถึงเมล็ดของผลไม้ได้นี่ เราต้องไปปอกเปลือกออกก่อน เอาเนื้อออกก่อนจะไปถึงตัวเมล็ดได้ ตัวจิตนี้มันเป็นเหมือนเมล็ดของผลไม้ เราต้องแกะเปลือกก่อน ตัดเอาเนื้อออกไปก่อน ถึงจะเข้าไปถึงตัวเมล็ดของผลไม้ได้ ตัวจิตก็เหมือนกัน ก่อนที่เราจะเข้าไปถึงจิตได้ เราต้องผ่านภายนอกก่อน ลาภยศสรรเสริญก่อน ลาภยศสรรเสริญ ร่างกายของคนอื่นก่อน เห็นแล้วก็มาปล่อยร่างกายของเรา ปล่อยเวทนาของเรา มันถึงจะเข้าไปถึงตัวจิตได้ ถึงจะไปปล่อยตัวจิตได้อีกทีนึง.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
“พุทโธเป็นบทของธรรม ความคิดปรุงต่างๆ เป็นเรื่องของกิเลส บทของธรรมปิดปากช่องไม่ให้มันออก สติติดแนบให้ดีเปิดไม่ได้ เอาจนอกจะแตกก็อยู่ภายในออกไม่ได้ๆ วันแรกก็อย่างนั้น พอวันที่สองมาปิดเหมือนเดิม ค่อยเบาลงๆ เบาลงจนกระทั่งตั้งรากตั้งฐานได้
ทีนี้ถึงขั้นสงบแล้วอยากคิดอยากปรุงไม่มี ความคิดปรุงเป็นเรื่องรำคาญมาก นั่นเห็นไหมเมื่อความสงบทับหัวมันแล้ว ความคิดปรุงรำคาญ ไม่อยากคิดอยากปรุง มันแก้กันที่ตรงนี้นะ ดูให้ดีซิ นักภาวนาใครมีสติดีผู้นี้จะตั้งรากตั้งฐานได้ ถ้าไม่มีสติภาวนาไปจนกระทั่งวันตายก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรแหละ สำคัญอยู่ที่สติจับติด ตั้งรากตั้งฐานได้ และเสริมขึ้นไปโดยลำดับจนกระทั่งถึงขั้นปัญญา สติเป็นพื้นฐานสำคัญมากปล่อยไม่ได้ อย่าปล่อย จำให้ดี"
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
“ขอให้พวกเราใช้ธรรมเป็นเครื่องนำทางเป็นแสงสว่างแห่งชีวิตและจิตใจ ให้เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์เถิด เพราะธรรมอย่างนี้ไม่มีใครสามารถสอนได้นอกจากพระพุทธเจ้า และอริยะสาวกเท่านั้น พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ย่อมไม่เป็นอุปกิเลสแน่
ถ้าเรายังไม่สำเร็จก็อุ่นใจได้ว่า เราไม่ไปเกิดในมนุษย์โลกต้องเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกแน่ เป็นลาภ เป็นบุญของพวกเราแล้ว ถ้าครั้งนี้เอาดีไม่ได้กลับมาชาติหน้าก็เอาดีไม่ได้ ลองพิจารณาดูเถอะ ถ้าเราไปนรก ๗ วัน ก็ไม่ได้เจอพระพุทธเจ้าอีกแล้ว ถ้าไปเกิดเป็นเปรตก็ต้องไปเสวยกรรมอีกเป็นพุทธันดรจึงจะพ้น เมื่อเรามีโอกาสแล้ว อย่าได้พากันประมาท”
หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก
เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๑
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.