พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 30 เม.ย. 2018 4:46 am
"หัดวางเสียบ้าง หัดวางเสียหน่อย
ก่อนที่สังขาร จะบังคับให้วาง
ก่อนที่ความเฒ่าชรา และความตาย
หรือโรคร้าย จะเป็นผู้บังคับให้วาง
ถ้ายังไม่หัดวาง จะเป็นผู้ที่เหนื่อยจนตาย
แล้วก็ขนอะไรไปด้วยไม่ได้เลย ในที่สุด"
-:- หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร -:-
"วิเศษ เพราะเขาชม
หรือเลวทราม เพราะเขาติ
เขาจะว่าอย่างไร ก็ช่างเขา
เราจะดี หรือไม่ดี อยู่ที่
การกระทำ ของเราเอง"
-:- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ -:-
"คนบางคน เมื่อยังไม่ถึงเวลา
จะไปยัดเยียดธรรมะให้
อย่างไรก็ไม่ฟัง
แต่พอถึงเวลาของเขา
เขาอาจเอาจริงเอาจัง จนแซงใครๆ
กลายเป็นครูบาอาจารย์ขึ้นมา
อีกคนหนึ่งก็เป็นได้
ทุกอย่างไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ
ควรต้องรักษาจิตของเจ้าของ
ให้ดีไว้ก่อน"
-:- หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ -:-
"...สัตว์โลกทั้งหลายซึ่งประกอบไปด้วย มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน ล้วนแล้วเกิดมาแต่เหตุ คือกรรม ได้แก่การกระทำของตน
ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ล้วนแล้วมาแต่เหตุทั้งสิ้น สัตว์ใดทำเหตุดี ก็ย่อมได้ประสพผลดี สัตว์ใดทำเหตุไม่ดี ก็จะย่อมได้รับผลไม่ดี..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย...
ถ้าแม้ภิกษุจับที่ชายสังฆาฏิแล้วพึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้
แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปรกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย
มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว
มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์
โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร...
เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม
เมื่อไม่เห็นธรรม ย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย...
ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้
แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย
ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว
มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์
โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา ฯ
บุคคลผู้มักมาก มีความคับแค้น
ยังเป็นไปตามตัณหา ดับความเร่าร้อนไม่ได้
แม้หากว่าพึงเป็นผู้ติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ผู้ดับความเร่าร้อนได้แล้วไซร้
บุคคลนั้นผู้กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี เพียงในที่ไกลเท่านั้น
ส่วนบุคคลใดเป็นบัณฑิต
รู้ธรรมด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ธรรมอันยิ่ง
เป็นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ สงบระงับ
เปรียบเหมือนห้วงน้ำที่ไม่มีลมฉะนั้น
บุคคลนั้นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ผู้ไม่กำหนัดยินดี
ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้หาความหวั่นไหวมิได้
ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว
ปราศจากความกำหนัดยินดี ในที่ใกล้แท้ ฯ
ที่มา...
๓. สังฆาฏิสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
-:- บุญติดตามไปชาติหน้าได้ -:-
บุญที่ตนเองทำไว้แล้ว
เป็นมิตรติดตามตัวไปถึงภพหน้า
สยํ กตานิ ปุญญานิ, ตํ มิตฺตํ สมฺปรายิกํ.
สํ.ส. มิตตสูตร ข้อ ๑๖๒, มจร. ข้อ ๕๓
-:- ความเป็นมาแห่งพุทธภาษิต -:-
เทวดาตนหนึ่งทูลถามว่า ...
“อะไรเล่าเป็นมิตรติดตามตนไปถึงภพหน้า?” พระพุทธเจ้าจึงตรัสภาษิตนี้ตอบ
บุญชื่อว่าเป็นมิตร..
เพราะทำกิจให้สำเร็จร่วมกัน
บุญนี้เป็นดุจเพื่อนสนิท ติดตามผู้ทำบุญไปเสมอ,
เมื่อมีโอกาสอันเหมาะสม ก็จักอำนวยการให้ผู้นั้นประสบประโยชน์สุขทันที... .
-:- พระไตรปิฎก : ฉบับพุทธศาสนสุภาษิต
(ภาคปลาย)