“วันนี้ มีใครนึกถึงความตาย แล้วหรือยัง?” -:- หลวงปู่ชา สุภัทโท -:-
"ร่างกายนี่ มันไม่เที่ยง เราจะบำรุงอย่างไร อย่างไร มันก็ต้องทรุดโทรม อยู่นั่นแหละ
ส่วนจิตใจนี่ เราบำรุงด้วยบุญ ด้วยกุศล ด้วยคุณธรรม อันดีอันงาม ย่อมมีความสุขความสงบ เบิกบาน ทั้งกลางวัน และกลางคืน"
-:- หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ -:-
"พวกเราทั้งหลายคิดดูให้เห็นโทษ และคุณแห่งความตายเสียให้ชัด ผู้มีปัญญาไม่ควรประมาทความตาย ให้เห็นว่าเป็นสมบัติสำหรับตัวเราเราจะต้องตายในกาลอันสมควร ไม่ควรจะเกลียด ไม่ควรจะกลัวสังขารทั้งหลาย คือสัตว์ที่เกิดมาในไตรภพจะหลีกพ้นจากความตาย ไม่มีเลย"
"เมื่อมีความเกิดเป็นเบื้องต้นแล้ว ย่อมมีความตายเป็นเบื้องปลายทุกคน นัยหนึ่ง ให้เอาความเกิดความตายซึ่งมีประจำทุกวันเป็นเครื่องหมาย เมื่อพิจารณาถึงความตาย ก็ต้องพิจารณาถึงความป่วยไข้และความแก่ชรา เพราะเป็นเหตุเป็นผลกัน
ให้พิจารณาถึงพยาธิความป่วยไข้ว่า พยาธิ ธมฺโมมหิ พยาธิ อนตีโต เรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา จะข้ามล่วงพ้นไปจากความป่วยไข้หาได้ไม่ ถ้าแลพิจารณาเป็นความชราอันเป็นปัจจุบันได้ก็ยิ่งประเสริฐ"
"ความระงับสังขารทั้งหลายนั้น ท่านมิได้หมายถึงความตาย ท่านหมายถึงวิปัสสนาญาณและอาสวักขยญาณ คือปัญญารู้เท่าสังขาร รู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ เป็นชื่อของพระนิพพาน เป็นสุดยอดแห่งความสุข"
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)
"ความสุขอันเกิดแต่ลาภ แต่ยศ แต่สรรเสริญก็ดี วัตถุภายนอก มีข้าวของเงินทอง ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแหละ
ตายแล้วเอาติดตัวของเราไปไม่ได้ แม้แต่ตัวของเราทุกชิ้นทุกอัน ตายแล้วเขาก็เผาไฟทิ้ง ติดตัวของเราไปไม่ได้
นี่ท่านจึงสอนว่า เราจะได้พลัดพราก จากสิ่งที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้นไป
เมื่อเราพลัดพราก จากสิ่งที่รักที่ชอบใจไปแล้ว เรามีสมบัติอะไรที่ติดตัวของเราไป ก็มีแต่กรรมนั่นแหละ"
-:- หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ -:-
“การมองเห็นด้านดี ของเหตุร้าย และการเห็นสิ่งดีๆ ที่อยู่รายรอบสิ่งแย่ๆ เป็นการคิดบวก ที่ช่วยให้เรา อยู่กับความทุกข์ได้ โดยใจไม่เป็นทุกข์”
-:- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล -:-
"...ท่านพร่องในศิลด้วยเจตนาเพียงนิดเดียว ท่านไม่มีหวังที่จะทรงสมาธิเพื่อฌานสมาบัติได้เลย
เพราะเพียงศิล มีการรักษาแบบหยาบๆ ท่านยังรักษาไม่ได้ ท่านจะเป็นผู้ทรงสมาธิที่มีอารมณ์ละเอียดกว่านี้ ได้อย่างไร..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
"...ถ้าวาระจิตของบุคคลผู้ใด อยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหาแล้ว มันก็จะเป็นดวงจิตที่น่าสลดสังเวชมาก
เพราะเรื่องของกิเลสตัณหา มันไม่เคยสงสารดวงจิตดวงใจ มันไม่เคยสงสารสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิด ยิ่งเป็นทุกข์เท่าไหร่ยิ่งซ้ำ นี่คือลักษณะของกิเลส..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงพ่ออุทัย สิริธโร
นิวรณ์ ๕ ข้อ
ถาม : นิวรณ์คืออะไร มีอะไรบ้างครับ?
พระอาจารย์ : นิวรณ์คืออุปสรรคทางใจ ที่จะมาขวางกั้นการปฏิบัติ ที่จะทำให้ใจไม่สงบ ทำให้ใจเครียดใจวุ่นวาย
มี ๑ คือ กามฉันทะ ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส ความอยากเสพรูป เสียง กลิ่น รส พวกนี้จะนั่งสมาธิไม่ได้ พวกชอบเที่ยวชอบกินชอบดื่มนี่ พอนั่งปั๊บเดี๋ยวเดียวก็หิวแล้ว เดี๋ยวก็อยากดูอยากฟังแล้ว ต้องกำจัดนิวรณ์นี้ด้วยการถือศีล ๘ ห้ามดูทีวี ห้ามกินหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
ข้อที่ ๒ ก็คือความลังเลสงสัย ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก จากพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านก็จะยืนยันรับประกันว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริง หากปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน เช่น ฝึกสติ นั่งสมาธิ จิตก็จะสงบ อันนี้ก็จะแก้นิวรณ์ความสงสัยได้ ถ้าไม่เช่นนั้น บางทีนั่งไปแล้วก็สงสัย เอ๊ะ เรานั่งนี่มันมีจริงรึเปล่า ผลที่เขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อาจจะนั่งไปแล้วไม่มีผลก็ได้ นั่งไปทำไม ก็อาจจะไม่อยากนั่งขึ้นมา
ข้อที่ ๓ ก็คือความง่วงเหงาหาวนอน ความเกียจคร้าน ก็เกิดจากกินมากเกินไป ก็ต้องคอยรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร รับประทานให้พออยู่ได้ อย่าให้มันอิ่ม แล้วเวลานั่งสมาธิจะได้ไม่ง่วง จะได้ไม่ขี้เกียจ หรือถ้ามันยังง่วงยังขี้เกียจอยู่ ก็ลองอดดู อดข้าวดู ดื่มแต่น้ำปานะ ดื่มแต่น้ำผลไม้ กินแต่ของเบาๆ มันก็จะทำให้ไม่ง่วงนอน ไม่เกียจคร้าน
อีกข้อ ก็คือความโกรธ ความโกรธบางทีเราก็จะมานั่งสมาธิ ก็ไปคิดถึงคนที่เขาด่าเราเมื่อเช้านี้ ด่าเราแล้วเราก็โกรธเขา เวลานั่งใจก็คิดแต่เรื่องที่เขาด่าเราว่าเรา ก็ทำให้ใจเราไม่สงบนั่งไม่ได้ เราก็ต้องใช้ความเมตตา คือให้อภัย อย่าไปถือสาถือโทษเขา คิดว่าเราอยู่ด้วยกันมันก็เป็นเหมือนลิ้นกับฟัน มีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา หรือถือว่าเป็นกรรมของเราก็แล้วกัน ที่จะต้องมาใช้กรรม อาจจะไปเคยด่าใครเขาไว้ก่อน ตอนนี้เลยก็ต้องมาถูกเขาด่าบ้าง
เขาด่าแล้วก็แล้วกันไป มันก็ผ่านไปแล้ว เราจะมาแบกหามมันทำไม เขาด่าไปแล้วผ่านไปแล้ว เราก็อย่าไปคิดถึงมัน เลิกคิดถึงมัน มันก็หายไป อันนี้ก็ต้องใช้ความเมตตา แต่ถ้าจะคิดอาฆาตพยาบาท เดี๋ยวบอกจะต้องไปด่ามัน มันด่าเรา เดี๋ยวเราจะต้องไปตีมัน ถ้ามันมัวแต่นั่งคิดอย่างนี้ มันก็จะทำใจให้สงบไม่ได้ นี่คือการระงับความโกรธ
ตัวสุดท้าย ก็คือความฟุ้งซ่าน ชอบคิดเรื่อยเปื่อยอยู่เรื่อย คิดถึงคนนั้น คิดถึงเรื่องนี้ คิดถึงที่กินที่ดื่มที่เที่ยว คิดถึงเพื่อนคิดถึงแฟน คิดถึงประโยชน์จากการทำธุรกิจอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ชอบคิดไปเรื่อยเปื่อย ถ้าอยากจะนั่งสมาธิให้สงบ ต้องควบคุมความคิด ต้องใช้สติ ต้องฝึกสติก่อนมานั่ง ต้องหัดพุทโธ พุทโธ พุทโธไป อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย แล้วพอเวลามานั่ง ใจก็จะไม่ฟุ้งซ่าน
นี่คือนิวรณ์ ๕ ข้อด้วยกัน ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ต่อการทำใจให้สงบ.
ปุจฉา-วิสัชนา ธรรมคำสอน.. องค์ท่านอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
- สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑
|