“..เราอย่าหมั่นขยันแต่ทำบาป ให้ขยันแต่ทำดี ทำความบริสุทธิ์ ทำบุญทำกุศลนี้ ให้หมั่นทางนี้ บาปด่ากัน บาปมันขึ้นมาหน้าแดง เรานี้เฮ็ด (ทำ) บาป คือขยันแท้ ไปขยันใส่บาป ครั้นรู้จักว่าบาปก็บ่ขยันแล้ว จึงว่าให้กลัวบาป คำเถียงกันด่ากัน ทะเลาะวิวาทเบียดเบียนกัน เป็นบาป อย่าไปขันใส่มัน ให้หลีกไปไกล ให้เอาใจเว้น อย่าเอาใจใส่ ครั้นเว้นแล้วมันก็บ่มีความเดือดร้อน ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม เราบ่ว่าใส่เขาดอก เขาติฉินนินทาเขาก็ว่าใส่เขาเอง ปากของเขาก็อยู่ที่เขา หูเขามันก็อยู่ที่เขา..”
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
“อ่านหนังสือธรรมะเข้าสู่ใจ ไม่มีฉากหน้าฉากหลังเป็นเครื่องเสียดแทง แต่อ่านทางโลกนั้นข้างหน้าเป็นเครื่องล่อลวงให้เพลิดเพลินไปตาม ด้านหลังเป็นไฟเผาไหม้ไปตามกันเรื่อย ๆ เป็นอย่างนี้มาทุก ๆ เรื่องนั่นแหละ ขึ้นชื่อว่าเรื่องของทางโลกก็คือเรื่องของกิเลสโดยตรง กิเลสไปที่ไหนเป็นฟืนเป็นไฟไปที่นั่น ความหลอกลวงต้มตุ๋น ความล่อสัตว์ทั้งหลายให้บืน(กระเสือกกระสน) ตามนี้ก็คือกิเลสมันล่อไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็ตกหลุมตกบ่อของกิเลสไปเรื่อย ตกหลุมตกบ่อตรงไหนก็เป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ตัวเองไม่ใช่เป็นของดี นี่เป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเรื่องธรรมแล้ว อ่านเข้าไปตรงไหนซึ้ง ๆ ภายในใจ จิตใจเยือกเย็น แล้วพยายามปรับปรุงตัวเองเข้าไปเรื่อย ๆ หากเป็นในจิตเอง
เมื่ออะไรก็ตามเข้าถึงจิตแล้วไม่ลืมแหละ มันฝังลึก จิตเป็นพลังอันสำคัญ ชักจูงร่างกาย คือกายวาจาความประพฤติทุกสิ่งทุกอย่าง ใจนั้นเป็นเครื่องชักจูง ถ้าจิตใจคนต่ำ จิตใจมีกำลังไปทางต่ำมันก็ดึงไปทางต่ำ มีแต่จะทำความชั่วช้าลามกถ่ายเดียว คนเราถ้ามีความดีภายในจิตใจ มีความดูดดื่มภายในใจแล้ว จิตใจดูดดื่มทางธรรมะ กิริยามารยาทความรู้ความเห็นทุกอย่างมันก็หมุนไปตามธรรม กลายเป็นคนดีขึ้นมาได้จากหัวใจดวงเดียวนั่นแล หัวใจจึงเป็นของสำคัญ”
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๐
เรื่อง “หลวงปู่เจี๊ยะตอบปัญหาธรรมสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ชื่น”
(วิสัชนาธรรมโดย หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท)
ในคราวที่กลับจากท่านพระอาจารย์มั่นนั้น เข้ามากราบสมเด็จฯ ท่านที่วัดบวรฯ พระองค์ได้รับหนังสือธรรมะของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระองค์เมื่อนำมาอ่านแล้วถามเราขึ้นว่า
“เจี๊ยะ! เราอ่านหนังสือของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ เขาเขียนว่า การเพ่งพระพุทธรูปนั้นเป็นมรรค เธอคิดว่าอย่างไร”
เรากราบทูลไปว่า “แล้วพระองค์พิจารณาว่าการเพ่งอย่างนั้นเป็นมรรคหรือไม่?” พระองค์ทรงนิ่ง แล้วหันมามองเรา แสดงอาการว่า พระองค์อยากทราบความคิดของเราในเรื่องนี้ จึงกราบทูลไปว่า “กระหม่อมคิดว่า ถ้าจะเป็นมรรคก็ต้องคิดพิจารณา อันนำไปสู่ภาวนามยปัญญา การเพ่งพระพุทธรูป เช่นนั้น ก็ต้องหาเหตุผลว่าเพ่งเพื่ออะไร ได้อะไร แต่การนั่งเพ่งมองเฉยๆ หาเหตุผลไม่ได้ ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร” กราบทูลท่านเท่านี้เราก็หยุด เพราะกลัวจะไปเฟ้อไปแบบไร้เหตุผล เป็นคำพูดที่ไม่มีที่จบ อันแสดงถึงความไม่รู้จักประมาณของคนที่พูด เดี๋ยวจะเป็นกรรมฐานดงหลงป่า ภาษาธรรมเรี่ยราด ขาดเหตุผล
พระองค์จึงตรัสขึ้นว่า “เออ…ว่าต่อไปซิ…กำลังฟังอยู่ หยุดทำไม?”
เราจึงกราบทูลต่อไปอีกว่า
“การพิจารณานั้นควรเพ่งเข้ามาภายใน ควรรู้ข้างในก่อน ไม่ควรปล่อยจิตออกจากวงกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐานสี่ควรพิจารณาตั้งลง ณ ที่กายจิตนี้ ถ้าปล่อยให้จิตส่ายแส่ออกไปที่อื่น ในสภาวะที่ใจไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้นั้น กระหม่อมคิดว่า ไม่ควรอย่างยิ่ง จะเป็นสมุทัยไปเสียอีก แต่ถ้าย้อนเข้ามาพิจารณาภายในกายตนเอง อันเป็นส่วนวิปัสสนา เพื่อละทิฏฐิมานะ เพื่อละอหังการ ความหลงตน อหังการ ความทะนงตนนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่ง เป็นมรรค กระหม่อมคิดว่า เป็นมรรคแท้”
“การพิจารณากาย เป็นกายานุปัสสนานั้น เธอพิจารณาอย่างไร?”
พระองค์ตรัสถามด้วยความสนพระทัย ไม่ทรงแสดงอาการว่าทดสอบ แต่เป็นพระกริยาที่อยากจะสนทนาธรรม ด้วยความที่พระองค์เป็นผู้ประพฤติธรรม
“จะสมควรหรือ? กระหม่อม”
เรากราบทูลเพราะเกรงจะไม่บังควร จะเป็นการเอามะพร้าวไปขายสวน
“สนทนาธรรม ไม่สมควรตรงไหน นักบวชไม่สนทนาธรรม จะสนทนาอะไรล่ะ”
พระองค์ตรัสย้ำ แบบไม่ทรงถือตัว
กระหม่อมคิดว่า
“การพิจารณากายนั้น ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานก่อน การพิจารณานั้นจิตจึงจะมีกำลัง พิจารณาเพ่งตัดกายออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น จิตดำเนินในทางสมาธิมรรค มรรคองค์อื่นๆ จะเป็นมรรคสมังคีโดยพร้อมพรั่ง เมื่อพิจารณาถึงเหตุถึงผล จิตจะเด่นดวงขึ้นมา จิตนั้นจะอยู่เหนืออริยสัจเหนือมรรค เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง ดับสนิทไม่มีเชื้อเหลือ”
“เออ!…ดี พระป่านี่ดี… เรียนตำราเดิมของพระพุทธเจ้าได้ดี”
พระองค์พูดสั้นๆ เท่านั้น เราก็กราบลาไปพักที่กุฏิ
" คำพูดหรือชื่อของธรรมเป็นปริยัติ ในเมื่อเป็นปฏิบัติขึ้นมาคำว่าปริยัติจึงตัดออกไป เอาที่ศึกษาแต่ของจริง เพราะของจริงมีอยู่ แล้วเราจะไปสนใจกับชื่อของของจริงทำไม เหมือนกับขนม ในเมื่อเรารับประทานขนมอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปสนใจกับชื่อขนม
อย่าคิดว่าผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายไม่ได้เรียนปริยัติ อย่าคิดว่าผู้มุ่งมั่นศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นผู้ไม่ได้เรียนปริยัติ ผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติผู้นั้นเรียนทั้ง ปริยัติ เรียนทั้งปฏิบัติ เรียนทั้งปฏิเวธ และมีโอกาสที่จะรู้ได้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
เรียนปริยัตินั้นเรียนแต่ชื่อ โอกาสจะกลายเป็นปฏิบัติเลือนรางมาก โอกาสจะเป็นปฏิเวทขึ้นมายิ่งมองไม่เห็น
จึงให้พากันตั้งใจศึกษาลงไป ปริยัติมีอยู่ในเรา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมีอยู่ในเรา กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มีอยู่ในเรา สมุทัยสัจ มีอยู่ในเรา นิโรธ มีอยู่ในเรา ในเมื่อกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาดับไป สมุทัยดับไป ในเมื่อแจ้งในทุกขสัจ มรรคสัจก็ไม่ต้องหา ข้อปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้แจ้งปรากฏเป็นนิโรธสัจขึ้นมา นี่แหละเป็นมรรคสัจ ไม่ต้องไปหาที่ไหน มัวแต่หา เดี๋ยวนี้มีแต่อยากรู้แต่ไม่มีความตั้งใจจริงที่จะศึกษาให้รู้จริง."
โอวาทธรรม... หลวงปู่แบน ธนากโร ( คัดลอกบางส่วน ทางแห่งมรรคผล เล่ม ๒ )
เรื่อง “อดีตอนาคตไม่ควรคิดคำนึง ให้พิจารณาลงในปัจจุบันธรรม”
(โอวาทธรรม หลวงปู่ขาว อนาลโย)
“อดีตล่วงไปแล้ว มันล่วงมาแล้วอย่าเอามาเป็นอารมณ์ให้ใจเศร้าหมองทำไม อนาคตยังมาไม่ถึง อย่าไปคิดมัน ให้มันมาเจอก่อนจึงคิด ให้พิจารณาปัจจุบัน พิจารณาร่างกายนี้ พิจารณาให้เห็นว่ามันไม่พ้นความตายแล้ว ตายนอนทับกันอยู่ รีบทำความดี รีบทำความเพียร รีบทำบำเพ็ญภาวนา ให้ศีล ให้สมาธิ ให้ปัญญาเกิดขึ้น”
ท่านมักจะอบรมลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอๆ ว่า “เรามีตาเท่ากับว่าไม่มีตา มีหูเท่ากับว่าไม่มีหู มีท้องก็ฉันอยู่ได้ไปวันๆ เท่านั้น ไม่ต้องแสดงความโลภและตะกละ” ให้พากันสำเหนียกไว้เรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลวง จะต้องมีด้วยกันทุกคนถ้าพูดถึงความโลภ เมื่อมันมีเจตนาบันดาลเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะมืด ไม่รู้จักบาปบุญ ไม่กลัวคุกกลัวตะราง อันนี้เรียกว่าฤทธิ์ของมัน ท่านจงให้ระวังดีๆ ในเรื่องของสามประการนี้ท่านสอนว่า
อย่าไปปรุงแต่งตามมัน ให้มีสติรู้เท่าทันมัน เมื่อเราปฏิบัติได้อย่างนี้แล้วความโลภ ความโกรธ ความหลวง เหล่านี้ก็จะเสื่อมอำนาจไป ตัวอย่างเช่น เมื่อเราประสงค์จะเอาสิ่งใด เราจะต้องพิจารณาเหตุเสียก่อน เมื่อพิจารณาดูแล้วว่ามันไม่ผิดศีลธรรม เราก็สามารถเอาได้ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วว่ามันผิดศีลผิดธรรม เราก็ละเสียไม่เอานี่แสดงว่าเราไม่ปรุงแต่งตามมัน ในความอยากได้หรือความโลภ และเราก็มีสติรู้เท่ามัน คือมีการพิจารณาในเหตุในผลเสียก่อน ถ้าเราประพฤติได้ในลักษณะนั้น เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนดี กระทำแต่ในสิ่งที่ดี มีแต่บุญกุศล ถ้าพูดสั้นๆ ก็หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีผลเท่านั้น คือถ้าเราทำเหตุดีก็จะได้รับผลดี แต่ถ้าเราทำเหตุชั่ว เราก็จะได้รับผลชั่ว
“แต่การที่จะทำเหตุที่ดีนั้น มนุษย์เราทำกันอย่างนักยากหนา ที่ว่าทำยากเพราะอะไร? คือมนุษย์บางเหล่าไม่รู้จักเหตุและผล จึงไม่รู้จักเลือกเฟ้นทำเหตุที่ดีกัน และอีกอย่างหนึ่งก็คือพวกเรานี้ไม่ค่อยชอบกระทำเหตุที่ดีกัน แต่ผลดีของมันนั้นชอบกันทุกคน” ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย คำว่าตาย ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราตาย หมายถึงจิตใจคนเราตาย คือตายจากมรรคผลนิพพานต่างหาก ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย คือไม่ประมาทต่อการทำความดี ได้แก่ ศีล สมาธิปัญญา มีโอกาสจะได้ไปสวรรค์ พรหมโลกหรือมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่ง ตอลดถึงพระนิพพานข้างหน้าแน่นอน ช้าหรือเร็วแล้วแต่บุญบารมีหรือความพากเพียรของตนเอง
…หลวงปู่คำดี ปภาโส…
“ปัญหาทุกอย่าง ที่ไม่มีทางออกทางแก้ ย่อมไม่มีในโลก
ดูเอาเถิดว่า แม้แต่ปัญหาเรื่องความทุกข์ อันเกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
พระพุทธองค์ ก็ยังหาคำตอบไว้ให้ได้ สำหรับปัญหาอื่นๆ นั้นเล็กน้อย”
-:- หลวงปู่ดูลย์ อตุโล -:-
"ถ้าใครทำไม่ดี หรือโกรธ อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบ ท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา
จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะเขากำลังได้รับทุกข์"
-:- หลวงปู่ชา สุภัทโท -:-
"ขอให้ทุกท่าน กลับมาดูตัวเอง ดูความบกพร่อง ของตัวเอง เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุง
อันไหนมันไม่ดี ก็แก้ไข สิ่งไหนมันดีแล้ว ก็ให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป
จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ผู้ที่ทำตามใจตัวเอง"
-:- หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม -:-
|