นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 4:55 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: นึก พุทโธ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 20 พ.ค. 2018 5:35 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
" .. การนึก "พุทโธ พุทโธ" ก็คือล่อให้จิตมันอยู่ตรงนั้นแห่งเดียว ผู้ที่จะภาวนาเป็นเร็วหรือเป็นช้า อยู่ที่อุบายของแต่ละบุคคล เมื่อจิตไปอยู่ตรงนั้นแห่งเดียวแล้ว ก็เพ่งพิจารณาเฉพาะตรงนั้น อยู่ได้เพียงแค่นั้นก็นับว่าดี

บางคนจิตรวมอยู่ตรงนั้นแล้ว จับจิตอยู่ตรงนั้นได้แล้วและวางคำบริกรรมมันวางเอง แล้วตั้งสติจับเอาจิตตรงนั้นพิจารณาผู้นั้น ใครเป็นผู้คิดผู้นึก ผู้คิดผู้นึกมันออกมาจากใจ สติก็ไปเป็นใจ เลยรวมกันเข้าไปเป็นอันหนึ่ง คือใจอันนั้น

ผู้พิจารณาอย่างนั้นหัดสมาธิเป็นเร็ว เพราะฉะนั้น อย่าไปถือเอาคำบริกรรม เราเพียงแต่ว่า พุทโธ ๆ เฉย ๆ

เปรียบเหมือนกับเหยื่อล่อปลาให้กินเบ็ด เวลาปลากินเบ็ดแล้ว เหยื่อเราก็ไม่เอา ไม่ทราบมันหายไปไหน เราต้องการปลานั่นต่างหาก

อันนี้ก็ฉันใด "เหยื่อสำหรับล่อจิต คืออานาปานสติ หายใจเข้า-ออก หรือ พุทโธ" อยู่ในที่นั้น ..."

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี





“การพิจารณาทางปัญญา”

ถาม : การปฏิบัติเมื่อเจริญสติจนจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถ้าจะเจริญวิปัสสนา ต้องยกข้อธรรม เช่น การพิจารณากาย การแยกรูปแยกนามขึ้นมาพิจารณาด้วยกฎของไตรลักษณ์ หรือว่าจะรอให้พิจารณาเองโดยอัตโนมัติครับ และการเจริญปัญญาเพื่อตัดกิเลสให้ได้ผลเร็ว ต้องพิจารณาอะไรบ้างครับจึงจะสอบผ่าน

พระอาจารย์ : การพิจารณาปัญญาต้องแยกออกจากการปฏิบัติสมาธิ ทำเวลาพร้อมกันไม่ได้ ถ้าจะทำสมาธิก็อย่าไปทำปัญญา ถ้าจะทำปัญญาก็อย่าไปทำสมาธิ มันเป็นคนละเรื่องกัน เหมือนถ้าจะนอนก็ไม่ต้องไปทำงาน ถ้าจะทำงานก็อย่านอน การฝึกสมาธิเป็นการพักจิต สร้างกำลังจิต สร้างความสุขให้กับจิต ดังนั้น เวลาทำสมาธิอย่าไปทำปัญญา อย่าไปพิจารณาอะไรทั้งนั้น เวลาออกจากสมาธิมาแล้ว เหมือนคนตื่นขึ้นมาจากนอนแล้ว ก็อย่าไปนอน พอตื่นขึ้นมาแล้วก็ไปทำงาน งานของจิตก็คือไปศึกษาปัญญา ไปศึกษาความจริง ก็พิจารณาทุกอย่างที่เราติดอยู่ เราทุกข์กับเรื่องไหนก็พิจารณาว่ามันเป็น มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ของเรา แต่เราไปอยากให้มันเที่ยง อยากจะให้มันเป็นของเรา มันก็เลยทำให้เราทุกข์ พอเราเห็นว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เป็นของเรา เราก็จะได้ปล่อยวาง จะได้ไม่ไปอยากให้มันเป็นของเรา จะได้ไปอยากให้มันไม่เที่ยงให้มันเที่ยง เราก็จะไม่ทุกข์กับมัน
เพราะฉะนั้น เราจะพิจารณาอะไรได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าตอนนี้เราทุกข์กับเรื่องอะไรก่อน แก้ปัญหาปัจจุบันทันด่วนก่อน ถ้าทุกข์กับเงินก็พิจารณาว่าเงินนี้เป็นทุกข์ อย่าไปมีมันดีกว่า ไปบวชดีกว่า อยู่แบบพระไม่ต้องมีเงิน ก็จะได้ไม่ทุกข์กับการหาเงิน ไม่ต้องมากังวลว่าจะมีเงินพอใช้หรือไม่พอใช้ ถ้าทุกข์กับภรรยาก็เลิกกันไป ไปบวช ทุกข์กับลูกก็ยกให้คนอื่นไป พอไปบวชแล้วทีนี้ไอ้ทุกข์เกี่ยวกับเรื่องภายนอกก็จะหมดไป มันก็จะมาทุกข์กับเรื่องร่างกาย ก็มาพิจารณาร่างกายว่ามันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย มันไม่เที่ยงเหมือนกัน มันไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ตัวเรา ก็ต้องปล่อยวางเหมือนกัน พอปล่อยวางร่างกายได้ก็ไปติดกับ ยังไปอยากไปชอบร่างกายของคนอื่นอยู่ ก็ต้องไปพิจารณาว่ามันไม่สวยไม่งาม มันไม่น่ารักน่าดูน่าชม มันก็จะได้ปล่อยได้ นี่มันก็ไล่ไปเรื่อยๆ การปฏิบัตินี้มันจะมีเป็นเหมือนกับเป็นด่าน ต้องผ่านไปทีละด่าน เหมือนผลไม้นี่ ก่อนเราจะไปถึงเม็ดได้นี่ เราต้องผ่าน ต้องปอกเปลือกก่อน ใช่ไหม ปอกเปลือกแล้วก็ไปเจอเนื้อ พอกำจัดเนื้ออกไปถึงจะไปเจอเม็ด อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสหรือสิ่งที่เราไปยึดไปติดนี่มันมีหลายตัวด้วยกัน ตอนต้นก็เป็นของภายนอกร่างกายก่อน ลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสนี่ ก็ตัดมันไปก่อน ตัดได้แล้วก็มาตัดร่างกาย ตัดร่างกายได้ก็ไปตัดกาม อารมณ์ที่ยังอยากไปมีแฟนมีอะไรอยู่ พอตัดตัวนี้ได้แล้วก็ไปตัดไอ้ความอารมณ์ที่มีอยู่ภายในใจอีก มันถึงจะหมดนะ ดังนั้น ปัญญามันเป็นขั้นๆ ถึงเวลาปฏิบัติมันจะรู้เอง.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
ที่เกิดขึ้นกับใจกับตัวของเรานั้น
ขอให้ถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ชั้นดีของเรา
เพราะว่าได้สอนเราให้รู้จักทุกข์
เมื่อรู้จักแล้วจะได้หาทางแก้ไข
.
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท




ถ้าถามธรรมในตัวเอง เราเกิดมานี้เราจะตายเหมือนโลกทั่วๆ ไป
แล้วเรามีความดีงามอะไรบ้างติดเนื้อติดตัวเรา
พุทโธเคยมีในหัวใจไหม ธัมโมเคยมีในหัวใจไหม สังโฆเคยมีในหัวใจไหม
การให้ทานเราเคยได้ให้ทานมากน้อยเพียงไร
การรักษาศีลรักษาธรรมอย่างน้อยศีล ๕
เราเคยได้รักษากับโลกแห่งชาวพุทธเขาบ้างไหม
ให้พิจารณา การภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆ
ซึ่งพระพุทธเจ้าเลิศด้วยการภาวนา เราเคยได้ภาวนาบ้างสัก ๑ นาทีไหม
เหล่านี้เปล่าทั้งนั้นพวกเรา เรียกว่าเปล่าหมดไม่มีในตัว
แสดงว่าขาดทุนมากมายก่ายกอง
.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
เมื่อค่ำวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑
"ไม่มีอะไรหนักยิ่งกว่ากรรมดีกรรมชั่วของเรา"




“สมบัติของโลก”

..ร่างกายของตัวเอง ตลอดจนถึงสิ่งภายนอก อันนี้ท่านให้พินิจพิจารณา เห็นว่าสักแต่เป็นปัจจัย เครื่องอาศัยอยู่ชั่วระยะชีวิตหนึ่งเท่านั้น ถ้าหากร่างกายอันนี้มันแปรสภาพไปแล้ว สิ่งของทรัพย์สมบัติทั้งหลาย มันก็จะเป็นสมบัติของโลก..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร





“รักษาโรคของใจ”

พวกเรา พุทธศาสนิกชน จึงถือว่ามีโชค มีวาสนามาก ที่ได้มาเกิดในพระพุทธศาสนา ที่มีมรรคมีองค์ 8 ที่จะสามารถสอนให้พวกเราปฏิบัติ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ เราไม่ต้องเสียเวลาไขว่คว้าค้นหาคำสอน เหมือนกับผู้ที่เกิดในศาสนาอื่น ในลัทธิในคำสอนอื่น ที่ต้องตะเกียกตะกายแหวกว่าย ออกจากคำสอนที่ไม่ถูกเหล่านั้น แล้วฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ได้มาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา

อย่างเช่นชาวต่างประเทศ ที่เกิดในศาสนาอื่นๆ แต่หลังจากที่ได้ศึกษา ได้ร่ำเรียน ได้ค้นคว้าคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เห็นว่าเป็นคำสอนที่ พาให้เขาได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เขาจึงอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมา เพื่อมาอยู่ในประเทศไทย เพื่อที่จะได้ ศึกษาและปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ ผู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติจนได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

มาศึกษากับท่านทั้งหลายเหล่านี้ มาอยู่กันอดอยากขาดแคลน ยอมสละความสุข ที่ประเทศเขาเจริญทางด้านวัตถุมากกว่าประเทศของเรา แต่เขาเห็นว่าความเจริญทางด้านวัตถุ ไม่สามารถรักษาโรคใจของเขาได้ ไม่สามารถดับความทุกข์ภายในใจของเขาได้ เขาจึงยอมสละความสบาย ทางด้านวัตถุ ทางด้านร่างกาย แล้วยอมมาอยู่แบบ อดอยากขาดแคลน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา

เพื่อที่จะได้รักษาโรคความทุกข์ของใจให้หมดไป นี่คือความสำคัญหรือความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา ที่สามารถดึงดูดจิตใจของมนุษย์ทุกระดับชั้น ทุกเพศทุกวัย ให้เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาได้

เหมือนกับโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ สามารถดึงดูดผู้ป่วยจากต่างประเทศ จากสถานที่ต่างๆมารักษา เพราะว่าทุกคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บก็ปรารถนาที่จะหาย เพราะไม่มีใครอยากจะอยู่กับความเจ็บไข้ได้ป่วย ฉันใด ผู้ที่เข้าหาพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็มีความปรารถนาเช่นเดียวกัน คือ ปรารถนาหลุดพ้นจากความทุกข์ คือรักษาโรคทุกข์ของใจ ให้หายหมดสิ้นไป.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






“หลงขนาดนั้น”

..ฉะนั้น ท่านจึงให้พินิจพิจารณาเห็นแต่เพียงว่า เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย อยู่ในระยะที่เรามีชีวิตอยู่ ระยะหนึ่งเท่านั้น หากชีวิตหาไม่แล้ว ก็หมายความว่าหมดประโยชน์สำหรับเราไป แต่บางคนก็นำจิตใจของตัวเอง ไปยึดสิ่งเหล่านี้จนเกินตัว หรือยิ่งกว่าชีวิตของตน หากทรัพย์สมบัติข้าวของหรือร่างกายตัวเองไม่ค่อยสบาย เกิดป่วยเกิดไข้ เกิดขึ้นมาเล็ก ๆ น้อย ๆ บางทีอาจจะกลั้นใจตายก็มีนะบางคน หลงขนาดนั้นนะ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร





แก่.. เจ็บ.. ตาย..

"...เราเห็นแล้วว่า ถ้วยใบนี้ เอาไว้ที่ไหน มันก็ต้องแตก จานนี่ เอาไว้ที่ไหน ก็ต้องแตก แต่เราก็ต้องสอนเด็กว่า ล้างให้มันสะอาด เก็บไว้ให้ดี เราก็ต้องสอนเด็กอย่างนี้ ตามสมมุติอย่างนี้ เพื่อเราจะใช้ถ้วยนี้นานๆ อันนี้เรารู้จักธรรมะ เอาธรรมะมาปฏิบัติ

ถ้าเห็นว่า อันนี้มันจะแตกอยู่แล้ว เราบอก เออ ช่างมันเถอะลูก กินแล้วก็ไม่ต้องล้างมันหรอก จะตกก็ช่างมันเถอะ ไม่ใช่ของเราหรอก เอาทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้ มันจะแตกอยู่แล้ว อย่างนี้ก็เป็นคนโง่ไป

ถ้าเราเป็น “ผู้รู้สมมุติ” อันนี้ เมื่อมันเจ็บไข้ ก็หาหยูกยาให้มันกิน เมื่อมันร้อน ก็อาบน้ำให้มัน เมื่อมันเย็น ก็หาความอบอุ่นให้มัน เมื่อมันหิว ก็หาข้าวให้มันกิน แต่ให้เรารู้ว่า ให้ข้าวมันกิน มันก็จะตายอยู่ แต่ในเวลานี้ ยังไม่ถึงคราวจะตาย เหมือนถ้วยใบนี้ ยังไม่แตก ก็รักษาถ้วยใบนี้ให้มัน “เกิดประโยชน์” เสียก่อน... "

"...เราป่วยเข้าโรงพยาบาล
คิดในใจไม่อยากตาย อยากหายเท่านั้น
คิดอย่างนั้นไม่ถูกเป็นทุกข์
ต้องคิดว่า หายก็หาย ตายก็ตาย
เพราะเราแต่งไม่ได้ นี่เป็นสังขาร
คิดอย่างนี้ถูก ตายก็สบาย หายก็สบาย..."

ไม่กลัวตาย

กลัวอะไร ? กลัวตาย ...
ความตายมันอยู่ที่ไหน ?
อยู่ที่ตัวเราเอง จะหนีพ้นมันได้ไหม ?
ไม่พ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในที่ มืด หรือในที่แจ้ง ก็ตายทั้งนั้น หนีไม่พ้นเลย จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่มีทางพ้น

เมื่อรู้อย่างนี้ความกลัวไม่รู้หายไปไหนเลยหยุดกลัว
เหมือนกับที่เราออกจากที่มืด สู่ที่สว่างนั่นแหละ..."

พระโพธิญาณเถร หลวงพ่อชา สุภัทโท







“ให้จิตสงบให้นาน”

ถาม : การทำสมาธิ เมื่อตั้งมั่นดีแล้ว ควรปฏิบัติอย่างไรต่อ

พระอาจารย์ : เวลาที่จิตสงบอยู่ในสมาธิไม่ต้องทำอะไร ให้จิตสงบให้นานเท่าที่จะนานได้ ปล่อยให้จิตออกมาเองจากสมาธิ อย่าไปทำอะไรกับสมาธิ เพราะสมาธินี้จะเป็นกำลังสำคัญมาสนับสนุนในการต่อสู้กับตัณหาความอยาก เวลาที่ออกจากสมาธิมาแล้ว เวลาเกิดความอยากก็ต้องใช้ปัญญา สอนใจให้เห็นโทษของความอยาก สอนให้เห็นว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะละความอยากได้

ถ้าออกจากสมาธิแล้วไม่มีตัณหาความอยาก ก็ให้พิจารณาถึงเรื่องที่จะทำให้เกิดตัณหาความอยากต่อไปในอนาคต เช่น พิจารณาเรื่องของความแก่ ความเจ็บ ความตายของร่างกาย ให้เห็นว่าร่างกายนี้ ต้องเเก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่มีทางอื่นที่จะเป็นไปได้ ต้องเป็นทางนี้เพียงทางเดียว แล้วถ้าไปอยากให้ไม่เเก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ ก็ต้องสอนใจให้หยุดความอยาก ไม่เเก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายให้ได้ พอเวลาเกิดความแก่ ความเจ็บ ความตายขึ้นมา ก็จะทำใจได้ หยุดความอยากได้.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






“คำสอนที่ถูกต้อง”

สมาธิเป็นที่พัก เป็นอาหารของใจ ทำสลับกันไปจนถึงขั้นสุดท้าย ถ้ามีใครมาสอนว่าไม่ต้องนั่งสมาธิไม่ต้องหลับตาอย่างนี้ก็อย่าไปเชื่อ ก็อย่าไปฟังให้เสียเวลา พระพุทธเจ้าจะสอนไตรสิกขาทำไม ทรงสอนศีล สมาธิ ปัญญาทำไม ทรงสอนสัมมาสมาธิทำไม ตัดมันออกไปก็ได้มรรค ๘ ก็เอาแค่มรรค ๗ ก็พอ ไตรสิกขาเอาแค่ศีลกับปัญญาก็พอ ยกเว้นคนมีสมาธิแล้วไม่ต้องทำสมาธิ

พระปัญจวัคคีย์ ท่านมีสมาธิอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าจึงไม่สอนเรื่องสมาธิ ทรงสอนเรื่องปัญญาเลย ครั้งแรกทรงสอนอริยสัจ ทรงสอนเรื่องมรรค ๘ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ต่อมาท่านก็ทรงสอนอนัตตลักขณสูตร ทรงสอนเรื่องขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา เป็นปัญญาล้วนๆ เพราะมีสมาธิกันอยู่แล้ว

ดังพระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาปริพาชก ที่เข้าเฝ้าเป็นคนสุดท้าย ก่อนที่จะทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ที่กราบทูลถามว่า มีลัทธิ มีคำสอนอยู่มากมาย จะแยกแยะได้อย่างไรว่าคำสอนไหนเป็นคำสอนที่ถูกต้อง พระองค์ทรงตอบว่า คำสอนใดที่มีมรรคเป็นองค์ ๘ คำสอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง

ถ้ามีแค่ ๗ องค์ไม่มีสัมมาสมาธิ ยังไม่ถูกต้อง คนที่ไม่ชอบนั่งสมาธิ ควรเปลี่ยนใจได้เเล้ว ชอบถามปัญหานี้กันเหลือเกิน เวลานั่งต้องหลับตาหรือเปล่า ลืมตาไปทำไม เวลานั่งสมาธิจะไปดูอะไร ต้องปิดทวารทั้งห้า ต้องสำรวมอินทรีย์ จะเปิดตาดูอะไรอีก ต้องขังกิเลสไว้ข้างใน เพื่อจะได้ฆ่ามันได้ ไม่ใช่เปิดตาให้มันออกไปข้างนอก.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





"ผิดกันเฉพาะหัวใจ"
.
ธรรมเป็นของมีอยู่แล้วดั้งเดิมตั้งกัปตั้งกัลป์กาลไหนๆ จนคำนวณไม่ได้เลยว่านานเท่าไร แต่ไม่มีผู้คุ้ยเขี่ยขุดค้นหามาเป็นประโยชน์ หรือเป็นสิริมงคลมหามงคลแก่ตน ธรรมก็เหมือนกับแร่ธาตุต่างๆ ฝังจมอยู่ในแผ่นดิน เหยียบไปย่ำมาอยู่อย่างนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่ผู้มีความฉลาดคุ้ยเขี่ยขุดค้นเอาแร่ธาตุต่างๆ มาก็มาเป็นประโยชน์มากมาย นี่แร่ธรรม ธรรมธาตุก็อย่างนั้นเหมือนกัน มีอยู่อย่างนั้นเหมือนสิ่งอื่นๆ ที่ไร้ค่าไร้ราคา อันนี้มีค่ามีราคามีอยู่เช่นเดียวกัน แต่ผู้โง่ผู้ฉลาดมีสองประเภท ผู้โง่ก็หาเอาตั้งแต่มูตรแต่คูถ ผู้ฉลาดก็หาเอาตั้งแต่สมบัติเงินทองที่ดีๆ อรรถธรรมนั่นละ
.
สมบัติเงินทองแปรได้สองสภาพ แยกไปทางดีก็ได้ พาให้เจ้าของล่มจมก็ได้ ถ้าเจ้าของประมาทเสียอย่างเดียว ถ้าเจ้าของฉลาดสิ่งนี้หนุนให้ขึ้นถึงนิพพานได้นะไม่ใช่ธรรมดา แปรได้ทั้งนั้น ของต่ำให้เป็นของสูงได้ ของสูงกลับมาเป็นของต่ำ กดเจ้าของจมลงในนรกก็มี อันนี้ไม่แยกออกละ ให้ไปแปลเอา

.................................................................

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๗




สนิมเหล็กมันเกิดจากที่ไหน มันก็เกิดจากเหล็กนั่นแล
เหล็กกับสนิมมันอยู่ด้วยกัน ไม่แยกออกเหล็กก็กลายเป็นผุยผง
ไม่มีชื่อเหล็กเหลืออยู่เลย ความร้อนรุ่มในหัวใจของท่านมันไม่ได้มาจากไหน
มันก็มาจากใจท่านนั่นแล ถ้าท่านไม่แยกกิเลสออกจากใจ
ตัวท่านจะไปเหลืออะไร มีแต่จะกลายเป็นผุยผงไปแบบไม่มีชิ้นดี
ทำใจให้เป็นเหล็กดี เหล็กกล้าซิ เห็นมั้ยเหล็กบางชนิดสนิมกินไม่ได้นะ
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีธรรม โดยพระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร





“ทำนองคลองธรรมที่ดี”

..บรรดาพวกเรา ผู้ที่เกิดขึ้นมาจากหลายถิ่น หลายแห่ง หลายวงศ์ตระกูล ด้วยอำนาจบุญกุศล ได้สร้างสมอบรมมา หลายภพหลายชาติ บางคน ก็เกิดมาในทางที่ดีก็มี ในทางที่ไม่ดีก็มี บางพวก ก็อาจจะมาจากบรรดาสัตว์เดรัจฉานก็อาจเป็นได้ มาจากพวกเปรต พวกอสูรกาย หรือขึ้นมาจากนรกก็อาจเป็นได้ ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ บางหมู่ ก็ตายจากมนุษย์ จึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นคนเรานี้ก็มี บางพวก ก็มาจากสวรรค์ มาจากพรหมโลก หลายหนหลายแห่ง ซึ่งมารวมกันอยู่ในมนุษย์โลกนี้ ทีนี้กิริยามารยาท ความเป็นอยู่ของแต่ละคน ซึ่งได้มาเป็นมนุษย์ในโลกร่วมกัน แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกัน ด้วยอำนาจบุญกุศล หรือกิเลส ที่ได้สร้างสรรค์มาหลายภพหลายชาติ แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตามจริตนิสัย หรืออัธยาศัยของแต่ละคน ฉะนั้น สำหรับพระพุทธเจ้า พระองค์มาวางวิธีการแนวทางในการประพฤติปฏิบัติศีลธรรม ซึ่งพระองค์ได้ค้นพบไว้เรียบร้อยแล้ว ไว้ให้เป็นสมบัติ หรือเป็นมรดกของบรรดามนุษย์โลก หมดทั้ง เทวะโลก พรหมโลก นี้ก็ถือว่าเป็นทำนองคลองธรรมที่ดี..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง พระไตรสรณะคมน์การมาวัด





หลวงปู่ทอง จนฺทสิริ ได้สอนลูกศิษย์ว่า…

…….ทุกข์มันก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ทุกข์กาย และทุกข์ใจ

ทุกข์กายก็หมายถึงนี่แหละ นั่งนานก็ทุกข์ ยืนนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็เป็นทุกข์ มันเกินเวลาของมัน

แต่กายจริงๆ นะ มันไม่ทุกข์อะไรหรอก ดินมันก็ไม่รู้ทุกข์รู้สุข น้ำก็ไม่รู้ทุกข์รู้สุข ลมก็ไม่รู้ ไฟก็ไม่รู้

ส่วนที่รู้มันไม่ใช่ มันคือ ใจนี่แหละ

ใจมันเข้าไปรู้ ไปยุ่ง ไปเกี่ยว เราก็เอาสติสัมปชัญญะของเรานี่แหละไปแก้ ก็บริกรรมพุทโธๆๆ ไม่ได้คำนึงถึงว่าความเจ็บความปวด มันจะแสบเจ็บแค่ไหนก็ช่าง กัดฟันบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ อย่างเดียว นี่แหละคือวิธี…




“ปรับปรุงตนเข้าหาหลักธรรม”

..ทุกคนที่เป็นมาต่าง ๆ กัน ก็มีโอกาสที่จะปรับปรุงแก้ไข หรือประพฤติปฏิบัติให้ดีไปตามเรื่องของท่าน เรียกว่าปรับปรุงเข้าในหลักคำสั่ง หรือคำสอนของท่าน ที่เรียกว่าพระพุทธศาสนานี้หละ แม้ใคร จะเกิดอยู่ในถิ่นไหน แห่งไหนก็ตาม เกิดเป็นคนชาติไหน ภาษาไหนก็ตาม บรรดาผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ก็จะต้องปรับปรุงเข้าในหลักธรรมะ ไม่ได้เลือกชาติชั้น วรรณะ ไม่ได้เลือกเพศ เลือกวัย ไม่ได้เลือกฐานะ ต่ำ ๆ สูง ๆ ไม่ได้เลือกว่าคนยาก คนจน คนมั่งมีศรีสุข จะต้องปรับปรุงเข้าในหลักธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้าหมด คือพิธีการอันนี้ หรือลัทธิอันนี้ เป็นลัทธิที่พยายามฝึกบุคคลให้เป็นคน ฝึกคนให้เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ตลอดจนถึงเป็นพระอริยะเจ้า ก็คือลัทธิประเพณีของพระพุทธศาสนานี้หละ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง พระไตรสรณะคมน์การมาวัด




ผู้ที่ไม่เคยทำบุญไว้แต่ชาติก่อน ความสมหวังแห่งผู้นั้นไม่มี
ย่อมคลาดแคล้วแห่งสมบัติหลายประการ ทำนาข้าวตาย ค้าขายขาดทุน
หาคนค้ำจุนไม่ค่อยได้ คนนั้นป่วยไข้ไปหาหมอก็ขัดข้อง รักษาไม่ได้
ให้ตกอับทุกหน้าที่ ตกลงคนนั้นต้องกอดเข่าเจ่าจุก
เพราะไม่ได้ทำบุญไว้แต่ชาติปางก่อน ไม่ชวนให้คนอื่นเมตตา
.
หลวงปู่หลุย จันทสาโร







เรื่อง “ดูแต่ตำรา ไม่ดูใจตนเอง”

(คติธรรม หลวงปู่ลี กุสลธโร)

เข้าใจหรือเปล่าละโยม เรื่องจำชาติได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองทำดูซิ ภาวนาเข้าไป บริกรรมพุทโธให้อยู่กับพุทโธ จิตมันถึงไม่ค่อยฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ลงมือทำมันอย่างจริงจังแล้ว มันก็ไม่เห็นนะเรื่องพวกนี้ถ้ามีแต่จะดูจากหนังสือจากตำรา แต่ว่าจิตใจของเรานั้น ไม่ได้ปฏิบัติก็เท่านั้น ถ้ามันไม่เกิดขึ้นจากใจตัวเราเองแล้ว มันก็เกิดแต่ความโลเลอยู่อย่างนั้นหละ พระพุทธเจ้าภาวนานะ ท่านนั่งอยู่ต้นโพธิ์จนได้ตรัสรู้ ศาสนาเกิดจากการภาวนา เกิดจากความพากความเพียรนะ

ฝนตกตอนนี้ดูแล้ว ทางที่เราอยู่ ฝนคงไม่ตก คงไปตกทางต่างจังหวัดหนองคายแล้ว ทางจังหวัดกาฬสินธุ์เห็นว่าแล้วมากนะ ข้าวร่วงหล่นจากต้นหมดแล้ว ที่นี่มันสงบดีนะ โยมภาวนาหรือปล่า ไปแล้วก็มีแต่ไปคุยกันนะ นอนกุฏิเดียวกัน กุฏิว่างอยู่ ทางนี้นะมีตั้งสี่หลัง ยังไม่มีใครมานอนเลย มีแต่ไปนอนกองรวมกันอยู่แต่กุฏิหลังใหญ่นั่นแหละ เราต้องฝึกหัดเอาเองนะพอมันชินงานแล้วมันก็สบาย ถ้าไม่เคยชินมันก็ลำบากช่วงแรกเท่านั้นแหละ ส่วนมากก็มีแต่หัวใจตัวเอง หลอกตัวเองอยู่อย่างนั้นนะ มีตุ๊กแกไต่ขาเฉยๆ ก็ว่าผีหลอกแล้ว มันหลอกตัวเองอยู่อย่างนั้น ก็ชอบกันจริงนะหลอกตัวเอง แต่ถ้าคนอื่นหลอกนะโกรธ แต่ถ้าตัวเองหลอก ชอบ

ครูบาอาจารย์ท่านภาวนา ท่านเอาแต่พุทโธนะ ไม่ให้จิตส่งออกภายนอก ผีหลอกก็ไม่มี เสือก็ไม่มีเพราะจิตอยู่กับพุทโธนะ ไม่มีอารมณ์มาปรุงแต่งไปต่างๆ นานา อีก ถึงมันจะมีเสียงร้องของสัตว์ที่น่ากลัวอย่างไรก็ตาม ถึงหูจะได้ยินเสียงต่างๆ แต่ใจนั้นอยู่กับพุทโธแล้วใจก็ไม่ส่งออกไปภายนอก ก็ไม่มีความกลัวนะ ก็ฝึกหัดเข้าไปดูซิ

ตั้งแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ขาวท่านอายุมากแล้ว ท่านก็ยังพาไปนะ ตั้งแต่อยู่ถ้ำกลองเพลสมัยนู่นออกจากกุฏิไปหาอยู่กับก้อนหินนะ แต่ก่อนไปก็ไปอยู่แถวเจดีย์ของท่านนะ พากันไปอยู่ ตีสามตีสี่ก็ลงมาวัดแล้ว นั่งอยู่ก้อนหินใครก้อนหินมัน แต่ก่อนมันไม่สนใจนะว่ายุงจะกัด มิน่าล่ะถึงเป็นไข้มาลาเรียอยู่บ่อยๆ แต่มันก็ใจสู้นะ กำลังใจมันเข้มแข็ง ความอดทนสูง ถ้าได้นั่งแล้วก็เป็นหัวตอเลยแหละ ถ้าจิตมันสงบได้แล้ว ความเจ็บปวดมันไม่มีหรอก ถ้าพวกเรานี้ไม่ภาวนา ความสุขนั้นก็มีแต่นอนหลับเท่านั้น ความเจ็บความปวดไม่มี มีแต่ความฝัน ก็ฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้ วันไหนไม่ฝันก็นอนหลับสนิทจนไม่รู้เรื่อง แต่ตัวรู้ก็รู้อยู่อย่างนั้นนะ

(บทถอดความนี้ นำมาจากหนังสือ “๙๐ ปี เศรษฐีธรรม”)

แจกเป็นธรรมบรรณาการ ในงานมุทิตาอายุวัฒนมงคล ครบ ๙๐ ปีของหลวงปู่ลี กุสลธธโร ณ วัดภูผาแดง ที่ วัดภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี






“...ป่ามีคุณแก่พระกรรมฐาน...”

“...ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มักจะพร่ำสอนศิษย์ว่า...
สมเด็จพระพุทธองค์นั้น ท่านประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ทรงประทานปฐมเทศนาในป่า ป่ามีคุณแก่พระกรรมฐาน เป็นที่น่าเคารพบูชาของพระกรรมฐาน ธรรมทั้งหลายที่พระธุดงค์จะได้มานั้น ทั้งหมดมาจากความสงัดวิเวกทั้งนั้น ในป่านั้นอุดมไปด้วยเทพที่จะมาอนุโมทนาสาธุการกับพระที่ได้มาปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอย่างดี ทั้งชื่นใจ ทั้งอนุโมทนายินดีปรีดาด้วย เมื่อพระได้บำเพ็ญเพียรแผ่เมตตาให้ไปโดยรอบไม่มีประมาณ ไม่แต่มนุษย์ เทพ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ แม้แต่สัตว์น้อยใหญ่ จตุบท ทวิบาทโดยรอบ ย่อมได้รับกระแสแห่งความเยือกเย็นของการแผ่เมตตาบารมีของพระตลอด...”

(จากหนังสือหลวงปู่ศรี มหาวีโร พระผู้มากล้นด้วยบุญบารมี)





ระหว่างโลกกับธรรม
ระหว่างความรู้ทางสากลนิยมกับความรู้ทางธรรมนิยม
และระหว่างวิถีทางเดินแห่งความรู้ทางสากลนิยม
กับวิถีทางเดินแห่งความรู้ทางธรรมนิยมนั้น
จึงพอจะทราบได้ว่าต่างกันมาก
โลกและความรู้ทางสากลนิยมหมุนไปตามกระแส
ส่วนธรรมและความรู้ทางธรรมนิยมมักหมุนทวนกระแสโลกเสมอ
นับแต่ขั้นเริ่มแรกคือธรรมขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด
ซึ่งล้วนหมุนทวนกระแสโลกทั้งสิ้น

..............................................

หลวงปู่เสงี่ยม สมาจาโร


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 217 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO