"..ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะทำสมาธิได้ดี จะได้รับความสุขขนาดไหนก็ตาม หรือจะได้อภิญญาเพียงใดก็ตาม ถ้าไตรลักษณญาณยังไม่เกิดแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ยังผิดอยู่ ยังอยู่ในวงเขตที่ผิด
เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ ธาตุ ๕ เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว จนเกิดญาณความรู้พิเศษ เมื่อเกิดความรู้พิเศษแล้ว วิปัสสนูกิเลส หรือ วิปลาสก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อสิ่งใดหรือความรู้ใดเกิดขึ้นก็จะเอาไตรลักษณ์เป็นเครื่องตัดสิน
การพิจารณา ให้ถือเอารูปกายตามความเป็นจริง รู้จิตตามความเป็นจริง ให้ยึดถือความรู้นี้เป็นหลัก
ความรู้อย่างอื่นไม่สำคัญ ถึงจะเกิดอภิญญารู้ในเหตุต่างๆ ครั้งแรกๆ ก็อาจเป็นจริง แต่ถ้าเรายึดถือในสิ่งเหล่านี้ต่อไป ก็จะกลายเป็นเรื่องหลอกลวงเรา ท่านจึงห้ามไม่ให้ถือเอานิมิตเป็นสิ่งสำคัญ
ท่านจึงว่า ถ้าไตรลักษณญาณยังไม่เกิด ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ ต้องทำการศึกษาและเร่งความเพียรยิ่งขึ้นไป.."
หลวงปู่คำดี ปภาโส
นาของเราเป็นนาที่ทำยาก
“นาของเราเป็นนาที่ทำยาก จะทำอย่างง่ายดายเหมือนนาที่เขาทำง่ายนั้นไม่ได้ แต่เพราะนาแปลงนี้เป็นนาของเรา แม้จะทำยากแสนยากเราก็ต้องทำ ง่ายเราก็ต้องทำ จะไปทำนาคนอื่นไม่ได้ ผิดคติธรรมดาความนิยมของโลก นาของเขาจะง่ายหรือยาก เขาก็ต้องทำนาของเขาเช่นเดียวกับเรา
นิสัยนี้เป็นนิสัยของเรา จะหยาบหรือละเอียดก็มิใช่ผู้อื่นใดมาสร้างนิสัยประเภทนี้ให้เรา เราเป็นผู้สร้างมาเอง เราต้องเป็นผู้บึกบึน แก้นิสัยของตัวเองจากนิสัยหยาบขึ้นสู่ความละเอียด ต่อไปก็จะกลายเป็นของง่ายขึ้นมา รายที่บำเพ็ญปรากฏผลได้ง่ายก็มีหน้าที่จะเร่งความเพียร เพื่อปรากฏผลขึ้นไปโดยรวดเร็วเช่นเดียวกัน จนถึงจุดหมายที่ต้องการ จะประมาทนอนใจ โดยถือว่าตนทำง่ายย่อมไม่ควรเหมือนกัน”
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๘
"ก่อนจะหลับจะนอนทุกๆ คืน ก็กราบพระไหว้พระ นั่งกรรมฐานภาวนา สวดมนต์เสียก่อน จึงค่อยหลับค่อยนอน ทำจิตทำใจอันนี้ ให้ได้ทุกวันทุกคืนไป เท่าที่โอกาสจะอำนวยให้
คนส่วนมาก ถ้าเป็นทางโลกก็ว่า ข้าพเจ้ามีกิจกรรมการงาน ทำมาหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว หาเวลานั่งภาวนา นั่งกรรมฐานไม่ได้
ความจริงแล้ว เวลาในวันหนึ่ง ก็มียี่สิบสี่ชั่วโมง ไม่ว่าคนจะทำไม่ทำ คนจะทำอะไรก็ตาม เวลามีอยู่เต็มที่ ถ้าคนไม่ตั้งใจแล้ว ก็ไม่มีเวลาอยู่ตลอดกาล"
-:- หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร -:-
“เราทั้งหลาย ควรพิจารณาเนืองๆ ทุกวันว่า เรามีกรรมเป็นของตนเอง และอย่าได้ประมาท เรื่องของกรรม
เราทำกรรมอย่างใดไว้ ใครไม่รู้ไม่เห็น ก็ว่าจะไม่ได้รับผลของกรรมนั้น อย่าได้เข้าใจอย่างนั้นเป็นเด็ดขาด
การทำบาป หรือการทำบุญ จะทำในที่ลับ หรือในที่แจ้ง หรือใครไม่รู้ ไม่เห็น ก็ตัวของเรา ใจของเรารู้เห็นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็กล่าวไว้ว่า ที่ลับไม่มีในโลกนี้ แม้ว่าจะลับตาลับหูคนอื่น แต่เราก็รู้ เราก็เห็นคนเดียว เรื่องของกรรมมันเป็นอย่างนี้...”
-:- ครูบาเจ้าพรหมมา พรหมจักโก -:-
|