ไปให้กลับ... เมื่อกระทำความชั่วแล้ว ก็ให้กลับตัวกลับใจ อยู่ในศีลธรรม เป็นคนดี
หลับให้ตื่น... เมื่อหลงลืมสติ ทำไปตามอำนาจ ของกิเลส ก็ให้มีสติ กลับมาอยู่ในความดี
ฟื้นให้มี... เมื่อล้มไปแล้วก็ให้รู้จักฟื้น ลุกขึ้นมาใหม่ อย่าท้อถอยต่อกิเลส
หนีให้พ้น... หนีให้พ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ต้องมีความเพียร
-:- หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย -:-
"เราต้องเรียนรู้ ที่จะอยู่กับ สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้ได้ เพราะนี่คือ ธรรมดาของชีวิต
รากเหง้าของความทุกข์ อยู่ที่ใจเราเอง ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น หากไม่แก้ที่ใจตน จะไปไหนก็หนีทุกข์ไม่พ้น"
-:- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล -:-
"ความตายนี้... ใครจะเสียใจก็ตาม ไม่เสียใจก็ตาม ใครจะชอบก็ตาม ไม่ชอบก็ตาม ใครจะยินดีก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม
เมื่อถึงวาระมีอันเป็นไป ก็จะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตราบใด ที่เรายังปฏิเสธความจริง หรือกฎธรรมชาติ เราก็เป็นทุกข์ตราบนั้น"
-:- หลวงพ่อพุธ ฐานิโย -:-
"...โลกอันนี้เหมือนความฝัน ชีวิตนี้เหมือนความฝัน ระหว่างฝันนั้น อะไรก็เป็นเรื่องเป็นราว พอตื่นขึ้นมา เรื่องราวทั้งหมดก็หมดไป
ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ อะไรต่ออะไรทั้งหมด เหมือนกับเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของเราไปเสียทั้งนั้น
ในเมื่อตายลงไปเมื่อใด อะไรที่ว่าเป็นของเรามันก็หมดไป เหมือนความฝัน..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
"...จิตใจปล่อยวางความเพลินอยู่ในความจำ ความเพลินอยู่ในความคิด สามารถอยู่อย่างสันโดษ มักน้อย อยู่ในปัจจุบัน ไม่หิวโหย ไม่แสวงหาสิ่งใดเป็นเครื่องบันเทิงของจิตใจ แล้วเรื่องแปลกคือพอเราหยุดการแสวงหาความสุข ความสุขก็ปรากฏทันที
คือสามัญสำนึก อวิชชาบอกว่าเราต้องการความสุข เราก็ต้องแสวงหา แล้วยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ก็จะเข้าใจว่าความสุขเกิดจากการบริโภค เกิดจากการจ่ายเงิน เกิดจากการตอบสนองความต้องการของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือเป็นเรื่องของกาม
แต่เรื่องความสุขในใจนี้เราไม่ต้องไปเถียงกับใคร ขอให้เราได้ศึกษาความจริงของชีวิต โดยไม่ต้องผ่านหนังสือ ไม่ต้องผ่านผู้รู้ ไม่ต้องผ่านอะไรก็ได้ เราแต่ละคนทุกคน มีศักยภาพที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองได้ อันนี้เป็นบุญของการเกิดเป็นมนุษย์..."
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์ท่านพระอาจารย์ชยสาโร
- จากธรรมเทศนา เรื่อง "โอฆะสี่ น้ำท่วมใจ" ณ บ้านบุญ วันอาทิตย์ ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ความพลัดพรากจากของรัก ความไม่ได้สิ่งที่อยากได้ ความไม่ได้สิ่งที่อยากเป็น เหล่านี้เป็นของธรรมดา ไม่ใช่เรื่องสำหรับเศร้าโศกเสียใจ
หลวงปู่ขาว อนาลโย
"10 คำสอนของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม"
1. ความดีเป็นศัตรูของชีวิต ความดีต้องมีอุปสรรค เขามาร้าย อย่าร้ายตอบ เขาไม่ดีมา จงใช้ความดีเข้าไปแก้ไข คนตระหนี่ ให้ของที่ต้องใจ คนพูดเหลวไหล เอาความจริงใจ ไปสนทนา
2. จงอย่าหวั่นไหว จงทำใจให้ได้เมื่อมีทุกข์ คนที่ทำใจได้เพราะมีสติควบคุมใจได้ ถ้าผู้ใดเจริญสติวิปัสสนากรรมฐาน จิตมั่นคง ต้องช่วยตัวเองได้ ทำใจได้ จะไม่เสียใจ ไม่น้อยใจต่อบุคคลใด คนทำใจได้นั่นแหละ จะได้รับผลดี มีสติเป็นอาวุธของตนตลอดไป
3. คนโบราณท่านมีคติดี เวลาไปไหนมาไหนต้อง 1.นิ่งได้ 2.ทนได้ 3.รอได้ 4.ช้าได้ 5.ดีได้ คนสมัยนี้นิ่งไม่ได้ ปากไม่ดี ทนไม่ได้ อยู่ไม่ได้อีก รอก็ไม่ได้ ช้าก็ไม่ได้ จึงเอาดีกันไม่ค่อยจะได้ ในยุคสมัยใหม่ปัจจุบันนี้ สิ่งเหล่านี้มีความหมายมาก แต่ทุกคนไม่เคยคิด
4. ใครตั้งใจ “ทำดี” อย่าไปกังวลเรื่อง “ปากคน” เพราะต่อให้เรา “ดี” ขนาดไหน หากไม่ถูก “กิเลส” เขา เขาก็ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ เขาก็ตำหนิ ดังนั้น ดี-ชั่ว ไม่ได้อยู่ที่เขาว่าเรา แต่อยู่ที่เราเองทั้งหมด เรารู้เราเองก็เพียงพอแล้ว
5. ชาวพุทธแท้ๆ ควรจะได้ดีมีสุขจากการนับถือศาสนาพุทธ โดยแก้ปัญหาที่เกิดด้วยอริยสัจ 4 ทุกข์เกิดแล้วหาสาเหตุของทุกข์ด้วยการกำหนดทุกข์หนอ มันทุกข์ตรงไหนหนอ บำเพ็ญจิตภาวนา สมาธิ ปัญญาจะบอกทุกข์เกิดขึ้นตรงนั้น ต้องแก้ตรงนั้น อย่าไปแก้ผิดจุด อย่าไปให้ผีให้เจ้ามาแก้ หรือเอาหมอดูมาแก้ มันไม่ถูกเรื่อง
6. ความอดทนเป็นสมบัติของนักต่อสู้ ความรู้เป็นสมบัติของนักปราชญ์ ความสามารถเป็นของนักประกอบกิจ ความสามารถทุกชนิดเป็นสมบัติของผู้ดี
7. วันไหนโยมถูกด่ามากวันนั้นเป็นมงคล วันไหนโดยถูกป้อยอเขาจะล้วงไส้เราโดยไม่รู้ตัว หลงเชื่อเราจะประมาท จะเสียท่าเสียทีต่อมารร้าย และที่เขามาป้อยอกับเรา ระวังให้ดี เขาไม่ได้รักเราจริง
8. สร้างบุญใช้สติ ไม่ต้องใช้สตางค์ พวกเราหาแต่สตางค์ ไม่หาสติกันเลย
9. คนเราจะทำอะไรได้ก็ช่วงมีชีวิตอยู่เท่านั้นเมื่อตายแล้วไม่สามารถจะทำความดีหรือความชั่วได้เลยฉะนั้นในช่วงที่มีชีวิตอยู่ควรที่จะทำความดีใช้ชีวิตให้เป็นสาระ จะต้องต่อสู้กับความไม่ดีงามทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเรา
10. จงพอใจในชีวิตของตัวเอง โดยมิต้องไปเปรียบเทียบชีวิตของผู้อื่น (ข้อความสุดท้ายใน ส.ค.ส.2559 ที่หลวงพ่อจรัญ เขียนไว้ก่อนละสังขาร)
แม้วันนี้หลวงพ่อจรัญจะละสังขารไปแล้วแต่ทุกคำสอนของท่านยังมีคุณค่าและเป็นจริงเสมอ
|