การฝากปัจจัยทำบุญ
ถาม สมมุติว่าเขาฝากปัจจัยผมมาทำบุญ ผมไม่ได้เอามาทำบุญ จะลืมหรืออย่างไรก็แล้วแต่ กับเขาฝากมาแล้ว ผมเอามาทำบุญ คนที่เขาทำบุญได้บุญเท่ากันไหมครับ
ตอบ เท่ากัน บุญเกิดตั้งแต่ฝากทีแรกแล้ว คุณจะนำมาทำบุญหรือไม่ทำก็ได้อยู่แล้ว ได้ตั้งแต่ทีแรก
ถาม ได้เท่ากันหรือครับ
ตอบ ได้เท่ากัน เหมือนกัน คือเจตนาว่าจะทำบุญละ มันเป็นบุญของเขาแล้ว จะเอามาทำบุญหรือไม่ทำก็ตามเถอะเขาได้แล้วนั่น ถ้าไม่เอามาทำบุญก็เป็นบาปของคุณ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
#บันทึกธรรมจากหลวงปู่ อย่ากินของร้อน (ราคะ โทสะ โมหะ) อย่านอนบนไฟ (โลภ โกรธ หลง) ให้ไปอย่างแร้ง (ไม่ติด ไม่สะสม) แสวงหาความบริสุทธิ์ (ของที่ชอบธรรม) (#หลวงปู่ท่อน ญาณธโร) วัดศรีอภัยวัน จังหวัดเลย
" คำถาม... หลวงปู่ครับ กระผมนั่งสมาธิอยู่ มันเกิดมีแสงสีม่วงมาแยงเข้าตา จะทำอย่างไรครับ.
หลวงปู่... เกิดขึ้นมันก็หายไปเอง.
ถาม... ไม่ต้องสนใจมันใช่ไหมครับ หลวงปู่.
หลวงปู่... อื้อ บ่ต้องดีใจ บ่ต้องเสียใจ ฮ้ายกะซ่าง ดีกะซ่าง.( ร้ายก็ช่าง ดีก็ช่าง )
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
“คนที่ปฏิบัติธรรมภาวนาจริงๆ จะอยู่คนเดียว”
คนที่ภาวนาจริงๆแล้วจะไม่อยากสุงสิงกับใคร อยากจะอยู่คนเดียว เพราะเวลาอยู่คนเดียว แล้วก็มีสถานที่แบบนี้ จะไม่มีอะไรไปทำให้จิตใจกระเพื่อม เพราะจิตใจเปรียบเหมือนกับสระน้ำ ถ้ามีคนลงไปอาบ ไปตัก ไปเล่น น้ำก็ขุ่นน้ำก็ไม่นิ่ง
จิตของเราถ้าต้องสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ก็จะต้องกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา เวลากระเพื่อมก็จะไม่สงบ ไม่นิ่ง จะไม่เห็นความสุขความประเสริฐ ของความสงบ ความอิ่มเอิบใจ ความพอใจ ที่เกิดจากการบำเพ็ญจิตตภาวนา
คนที่ภาวนาเป็นแล้ว จะรู้ว่าต้องการสถานที่แบบไหน เขาจะไม่ต้องการพวกแสงสีเสียง ไม่ต้องการเพื่อน ไม่ต้องการคนนั้นคนนี้มาแก้เหงาด้วยการคุยกัน เพราะจิตที่ได้เข้าสู่ความสงบแล้ว จะไม่ค่อยคิดถึงอะไร เพราะไม่ค่อยได้ปรุงแต่งกับเรื่องอะไร แต่จิตที่ยังไม่สงบ ก็จะคิดไปเรื่อยเปื่อย คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา คิดในเรื่องที่เคยทำให้มีความสุข ในขณะที่ไม่มีความสุขนั้นแล้ว ก็จะทำให้เศร้าสร้อยหงอยเหงา อยากจะหวนกลับไปหาความสุขแบบนั้นอีก
ถ้าเคยมีความสุขกับเพื่อนกับฝูง กับการทำกิจกรรมต่างๆ พอต้องมาฝึกจิตอยู่คนเดียวในป่า ก็จะอดคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่เคยสัมผัสมาไม่ได้ อดที่จะคิดถึงเพื่อนคนนั้นเพื่อนคนนี้ กิจกรรมนั้นกิจกรรมนี้ไม่ได้ ก็เลยเกิดอารมณ์ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวขึ้นมา จึงทนอยู่ไม่ได้ ต้องกลับไปหาเพื่อนหาฝูง หากิจกรรมต่างๆ
แต่ถ้าเคยได้ฝึกจิตมาก่อน แล้วสามารถทำจิตให้สงบได้ เวลามาอยู่สถานที่แบบนี้ จะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องราวเหล่านั้น เพราะมีงานทำ รู้หน้าที่ของตน รู้ว่าต้องทำอะไร คือคอยควบคุมสังขารความคิดปรุงนี้เอง
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ธรรมะบนเขา ณ จุลศาลา เขตปฏิบัติธรรมเขาชีโอน วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๘
ลูกศิษย์ : หลวงพ่อครับ เล่นหวยมันเป็นบาปที่ตรงไหน ไม่เห็นมีศีลข้อไหนบอกเลยว่าเป็นบาป
หลวงพ่อ : หือ ก็ไอ้ใจที่มันเกิดความโลภ อยากได้ของคนอื่นนี่หล่ะ ที่มันเป็นบาป ใจที่มันขุ่นมัว โลภ โกรธ หลงนี่หล่ะ เป็นบาป ก่อนเล่นก็ ละโมบโลภมาก พอถูกหวยกินก็ โกรธเขานี่ โกรธเจ้าของ(ตัวเอง) โกรธเจ้ามือ แล้วใกล้ถึงวันหวยออกก็หลงงมงาย หาเลขหาเบอร์ หลงเล่นกับมันอีก โลภอีก อยากได้อีก ขุ่นมัวอีก
ลูกศิษย์ : แต่ถ้าถูกหวย ก็จะได้เอาเงินมาทำบุญต่อไงล่ะครับหลวงพ่อ
หลวงพ่อ : จะไปเอาบุญที่ไหน บุญคือ “พุทโธ พุทโธ พุทโธ” อยู่ที่ปากนี่ เคยกำหนดพุทโธ กันบ้างหรือเปล่า จะไปเอาบุญที่อื่นนี่ ขี้เกียจจะพูด
หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
"ความผ่องใส หรือความเศร้าหมองของใจ มิได้เกิดแต่อะไรอื่น แต่เกิดจากความคิดของตนเอง
ใจขุ่นมัวเศร้าหมองเมื่อไร อย่าไปโทษคนอื่น ว่าเป็นเหตุ โทษความคิดของตัวเอง และเปลี่ยนความคิดทันที"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
"บุคคลใด เป็นคนเลี้ยงง่าย มีกิจวัตรประจำวัน ที่เรียบง่าย ใจจะสบาย การปฏิบัติ ก็รวมใจเป็นหนึ่งได้ง่าย ความวุ่นวายก็น้อยลง ความกังวลยึดติดจะไม่มี"
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
"การเคารพพระพุทธเจ้า เขาไม่ได้ดูกันที่ปาก เขาดูกันที่ศีล" พระราชพรหมญาณ (วีระ ถาวโร)
"ถ้าศักดิ์ศรีของเรา ขึ้นอยู่กับความมั่นใจว่า เขารักเราจริง เขาเคารพเราจริง เขากลัวเราจริง อย่างนี้ไม่มีวันที่จะสงบได้ เราจะอ่อนไหวต่อการกระทำ ของคนอื่นตลอดเวลา"
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
“ทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ภายใต้กฏของกาลเวลา
เวลาแก่แล้ว ต่อให้มีเครื่องสำอางค์ ราคาแพงขนาดไหน น้ำหอม จะหอมขนาดไหน จะแต่งอย่างไร ก็ดูไม่สวย
เหมือนแต่งหน้าทาปากให้กับลิง ลิงมันสวยที่ตรงไหน จึงอย่าไปสนใจ กับความสวยงามของร่างกายเลย
ดูแลรักษาไม่ให้สกปรก ให้เรียบร้อยก็พอ หันมาทุ่มเวลา ให้กับการเสริมสร้างความสวยงาม ทางด้านจิตใจจะดีกว่า”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"กัลยาณมิตร หาได้ไม่ง่าย หาไม่ได้สำหรับคนทั่วไป
ไม่ใช่ภริยาทุกคน เป็นกัลยาณมิตรของสามี ไม่ใช่สามีทุกคน เป็นกัลยาณมิตรของภรรยา ไม่ใช่เพื่อนทุกคน เป็นกัลยาณมิตรของกัน และกัน
ผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้น มีคุณสมบัติเป็นหลักสำคัญที่สุด คือ ความดี มีคุณธรรมประจำใจ พร้อมด้วยสติ และปัญญา
ภรรยา สามี บุตรธิดา และมิตรสหาย หรือผู้หนึ่งผู้ใด ที่ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวมา จึงไม่อาจ เป็นกัลยาณมิตรได้"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
|