“ระวังหูของเรา ดีกว่าเฝ้าปิดปากคนอื่น” หลวงปู่จันทร์ กุสโล
“รู้ก็สักแต่รู้ เห็นก็สักแต่เห็น ถ้าเห็นธรรม ก็หายทุกข์ ถ้าแสงสว่างเกิดขึ้นเมื่อใด ความมืด ก็ดับ เหมือนไฟฟ้า
เมื่อไฟสว่าง มืดก็ดับ เป็นธรรมดา แสงสว่างที่ดับมืด คือ พ้นโลก เป็นพุทธปัญญา“
ความทุกข์ที่จริง เป็นสิ่งดี ทุกข์นี้ดี จะได้เบื่อ เบื่อว่า กูไม่อยากเกิดแล้วโว้ย จะได้ปรารถนาออกจากกาม
เพราะถ้ามันสุข มันก็จะลืมตัว มันจะพาเวียนว่ายตายเกิด อยู่อย่างนี้แหละ”
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
"ความโศกเศร้า มิได้ทำให้ใคร ได้รับประโยชน์อย่างไร นอกจากทำให้ศัตรูของเขาดีใจ" ท่านพุทธทาสภิกขุ
"ดี ก็ที่ปาก ชั่ว ก็ที่ปาก จน ก็ที่ปาก รวย ก็ที่ปาก
ก็ต้องหัดพูดดี ดี ก็ไม่ใช่ ดีเฉพาะเวลาเราพูดนะ มันต้องดีตลอด ทุกเวลา"
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
มีสติ ฝึกภาวนา เป็นอริยทรัพย์ ติดตัวไปได้หลายหมื่นชาติ ส่วนทรัพย์สมบัติทางโลก ชาติเดียว ยังเอาไปไม่ได้
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
เหตุที่โลกน่าเบื่อหน่าย
ทาน...สละโลภะ ศีล...สละโทสะ ภาวนา...สละโมหะ
เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงเบื่อหน่ายโลก? ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ มีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งสมใจของเรา? พ่อแม่หรือ? ญาติพี่น้องหรือ? ข้าทาสบริวารหรือ? เพื่อนฝูงมิตรสหายหรือ? เงินทองทรัพย์สมบัติหรือ? สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่จะสมใจเราสักอย่างเดียว
เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้แล้ว เราจะมาทนนั่งอยู่ นอนอยู่ในโลกนี้ทำไม? ทรงคิดได้เช่นนี้ พระองค์จึงเสด็จออกบรรพชา เพื่อค้นหาหนทางที่จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
จงคิดดูให้ดีว่า
๑.) โลกนี้มิใช่ของเรา แล้วเราจะมานั่งเฝ้าโลกกันอยู่อย่างนี้ละหรือ? ไม่ช้าเราก็จะต้องจากมันไปอย่างแน่ๆ ดังนั้นเราจึงไม่น่าหลงติดอะไรอยู่
๒.) จิตของเราก็ไม่ต่างอะไรกับลูกฟุตบอล ที่ถูกเขาย่ำยีบีฑา ประหัตประหารให้ได้รับความคับแค้นใจอยู่ทุกขณะ
๓.) เราต้องการความสุขหรือความทุกข์? ทุกคนคงจะต้องการแต่ความสุขไม่ต้องการความทุกข์ แต่อะไรเล่าเป็นความสุขอันแท้จริงของตัวเรา?
เราคิดว่า "กิน" นี่แหละคงจะเป็นความสุขแน่ละ เราก็พยายามไปหามาให้มันกิน ครั้นกินๆ เข้าไปมากก็เกิดอึดอัดไม่สบายอีก คิดว่า "นอน" นี่แหละต้องเป็นความสุขแน่ละ เราก็นอน...นอน วันยังค่ำจนหลังมันแข็ง ก็เกิดความไม่สบายอีก คราวนี้คิดว่า "เงินทองทรัพย์สมบัติ" นี่แหละคงเป็นความสุขแน่นอน เราก็พยายามไปหาเงินทองมาใช้จนเต็มที่ แต่มันก็ไม่สุขอีก แล้วอะไรเล่า...ที่เป็นความสุขอันแท้จริง?
ความสุขที่แท้จริง ย่อมเกิดจาก บุญกุศล คือ ความสงบที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใจที่พ้นจากทุกข์โทษความดิ้นรน ไม่มีกระสับกระส่ายเดือดร้อนกระวนกระวาย ถ้าใครมานั่งหลงโลกติดโลก ว่ามันเป็นของดีวิเศษวิโสอยู่นั่น มิใช่นิสัยของบัณฑิตผู้ใฝ่ใจในธรรมของพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นเราจงพากันตั้งอกตั้งใจประกอบบุญกุศล เพื่อจะให้เป็นทางที่พ้นไปจากโลกนี้ นั่นแหละ่จะเป็นหนทางที่ถูกต้อง
คัดลอกจากหนังสือ แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฎฐาน ๑ พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม โดย ชมรมกัลยาณธรรม ลี ธมฺมธโร. แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฎฐาน ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : ขุมทองอุตสาหกรรมการพิมพ์, ๒๕๕๒. หน้า ๕๐-๕๑
|