"ความซับซ้อนของกรรม แตกต่างกับความซับซ้อน ของตัวหนังสือ ตรงที่ ตัวหนังสือนั้น เมื่อเขียนทับกันมากๆ ก็ย่อมไม่มีทางรู้ว่า เขียนเรื่องดี หรือเรื่องไม่ดี อย่างไร
แต่กรรมนั้น แม้ทำซับซ้อนมากเพียงไร ก็มีทางรู้ว่า ทำกรรมดีไว้ มากน้อยเพียงไร หรือกรรมไม่ดีไว้ มากน้อยเพียงไร โดยมีผลที่ปรากฏขึ้น ของกรรมนั้นเอง เป็นเครื่องช่วยแสดงให้เห็น"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
"กรรมชั่ว เราไม่ทำ ระวังสังวรอยู่ตลอดเวลา ย่อมมีเวลาหมดสิ้นไปได้
เหมือนเราไขก๊อกนํ้าในถัง เมื่อเปิดฝาถัง รองรับเอานํ้าฝน ที่จะตกมาใหม่ นํ้าย่อมมีเวลาเต็มฉะนั้น"
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
"ทุกครั้ง ที่เราว่าคนอื่นเลว คนอื่นไม่ดี ก็เท่ากับเรา ประจานความมืดดำในใจตัวเอง เห็นสิ่งไม่ดีของใคร จงเตือนตัวเองว่าอย่าทำ" หลวงปู่ไม อินทสิริ
"คนที่ไม่มีโรคทางกาย นับว่าประเสริฐ แต่คนที่ไม่มีโรคทางใจ คือกิเลส ประเสริฐกว่า" หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
"แทนที่จะไปเสียเวลา เสียกำลังความคิด ไปตั้งหน้า จัดการกับกิเลสผู้อื่น ก็ให้ตั้งหน้า จัดการกับใจของตนเอง ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกิเลส
ทำได้เพียงไร ก็จะเหมือนสามารถ แก้ไขคนอื่นทั้งหลาย ให้กลายเป็นคนดี ได้ทั้งโลก
เพราะใจเรา จะไม่เร่าร้อน เพราะผู้ใดเลย จะเหมือนคนทั้งโลก ไม่ได้ก่อกรรมทำร้าย ให้เราต้องกระเทือนใจเลย"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
"ให้คุณทำใจเหมือนพระอาทิตย์ ใครจะว่า จะชม ก็ยังทำหน้าที่ตนเสมอ ไม่หยุดหย่อน" หลวงปู่หา สุภโร
“คนมีศีลธรรมไม่ไปอบาย”
ถาม : บุคคลที่ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา จะต้องไปอบายไหมคะ ถ้าก่อนตายจิตหม่นหมองเพราะความเจ็บปวดทางกาย ถ้าต้องไปอบายจะต้องอยู่ในอบายนานเท่ากับคนที่ไม่มีศีลธรรมไหมคะ
พระอาจารย์ : อ๋อ คนมีศีลธรรมก็ไม่ไปอบายหรอก อบายสำหรับคนที่ไม่มีศีล คนที่ทำบาปไปอบาย คนที่ไม่ทำบาปไม่ไปอบาย.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
กลัวทุกข์กลัวจน ต้องทำบุญไว้ กลัวบาปกลัวกรรมกลัวนรก ต้องรักษาศีลนะ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
การถวายของพระ . ของที่ญาติโยมเอามาถวายพระนี้ มันมีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งตามพระวินัยนี้บางอย่างก็รับประเคนกับมือได้ บางอย่างก็ไม่ควรจะรับประเคน เพราะว่าของที่รับประเคนนี้แบ่งออกไว้ ๓ ชนิดด้วยกัน ของที่รับประเคนแล้วต้องใช้ให้หมดภายในก่อนเที่ยงวัน เช่น อาหารสดต่างๆ อาหารคาวหวานนี้ ถ้าถวายแล้วก็จะเก็บไว้ได้ไม่เกิดเที่ยงวัน . หลังจากเที่ยงวันก็ต้องสละให้ลูกศิษย์ลูกหาไป ถ้าเป็นสำนักที่ฉันมื้อเดียวก็จะไม่เก็บเอาไว้ หลังจากที่ฉันเสร็จแล้ว ก็จะต้องยกให้คนอื่นไปหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร ของแห้ง เครื่องกระป๋อง อะไรก็ถือว่าเป็นอาหารหมด ถ้าอยากจะให้พระเก็บไว้ใช้ในวันที่อดอยากขาดแคลน ก็ไม่ต้องถวายกับมือ ให้เอาวางไว้ แล้วพระจะให้ลูกศิษย์จัดการถวายให้ในวันที่ต้องการ อย่างนี้ก็จะเก็บไว้ได้ นี่คือเรื่องอาหาร แล้วก็มีเรื่องของเภสัชที่เรียกว่าถ้ารับประเคนแล้วเก็บไว้ได้ ๗ วัน เภสัชนื้ท่านแสดงไว้อยู่ ๕ ชนิดด้วยกัน ก็คือ น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำมัน เนยข้น เนยใส ของอะไรก็ตามถ้ามีน้ำตาลผสมอยู่ ถ้ารับประเคนแล้วนี้จะเก็บไว้ฉันได้ไม่เกิน ๗ วัน ถ้าหลังจาก ๗ วัน ยังมีเหลืออยู่ก็ไม่ให้เก็บเอาไว้ ให้สละไป . ถ้าไม่ได้รับประเคนกับมือ เช่น เอามาวางไว้แล้วให้เก็บไว้ในคลัง อันนี้เก็บไว้ได้นาน เก็บไว้จนกว่าเวลาจะใช้ก็ให้ลูกศิษย์หยิบแบ่งเอามาประเคนถวายให้ตามที่ต้องการ อย่างนี้ก็จะสามารถเก็บของที่ญาติโยมนำมาถวายไว้ได้เกิน ๗ วัน แล้วก็มีชนิดที่ ๓ ที่เมื่อรับประเคนแล้วสามารถเก็บไว้ใช้ได้ตลอด ชนิดนี้เขาเรียกว่าพวกยาต่างๆ ยาที่ไม่มีน้ำตาล ไม่มีน้ำผึ้งหรืออะไรผสมอยู่ ยาพวกนี้รับประเคนแล้วก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ตลอด เช่น ยาแก้ปวด ยาอะไรต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากบางทีของที่ญาติโยมนำมาถวายมันปนกันในถุงเดียวกัน มีทั้งของเป็นอาหาร มีทั้งของที่เป็นเภสัช ๗ วัน เป็นเภสัชที่ไม่มีอายุ มันก็เลยเสียเวลาที่จะต้องมาแยกแยะกันตอนถวาย ก็เลยให้เอาวางๆ ไว้ แล้วเดี๋ยวพระกับลูกศิษย์ท่านจะจัดการเอาเก็บเข้าคลัง แล้วเวลาต้องการจะใช้อะไร ก็ให้ลูกศิษย์ถวายแทนญาติโยมต่อไป . ดังนั้น เวลาที่เราไปวัดป่านี้จะไม่นิยมถวายข้าวของกับมือพระ จะถวายก็เฉพาะของเบาๆ เช่น ปัจจัยก็ถวายแต่เฉพาะใบปวารณา ใบปวารณานี้ก็เป็นเหมือนเช็คนี้เอง ส่วนตัวเงินก็ใส่ซองแล้วแยกเอาไว้ แล้วท่านก็จะให้ลูกศิษย์จัดการเอาไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย เวลามีความจำเป็นจะต้องใช้เงินทองก็จะให้ลูกศิษย์เป็นคนไปเบิก แล้วก็เอาไปใช้จ่ายตามความจำเป็น . นี่คือเรื่องของการถวายของให้กับพระป่า ซึ่งจะไม่เหมือนกับพระวัดบ้าน พระวัดบ้านนี้เขาจะรับหมด ญาติโยมเอาสังฆทานมามีของครบทั้ง ๔ ชนิด มีอาหาร มียา มีผ้า มีอะไรต่างๆ ท่านก็จะรับจนถือเป็นธรรมเนียม เวลาญาติโยมเอาของมาถวายแล้ว ถ้าพระบอกว่าให้เอาวางไว้เฉยๆ แล้วเขาคิดเขาจะไม่ได้บุญ ก็ต้องรับให้กับเขา เพราะบางทีไม่มีเวลาที่จะมาอธิบายให้ฟังว่าการถวายแบบวางไว้เฉยๆ ก็ได้บุญเหมือนกัน และได้บุญมากกว่าเพราะช่วยส่งเสริมให้พระรักษาพระธรรมวินัยไว้ไม่ให้บกพร่อง ไม่ให้ด่างพร้อย เวลาบางทีพระรับของสังฆทานตอนบ่ายนี้ ท่านก็ทำผิดพระวินัยแล้ว เพราะท่านไปรับของฉัน รับอาหารที่ห้ามไม่ให้รับหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว . ดังนั้น ถ้าเวลาที่พระบอกให้ทำอะไร ญาติโยมก็ทำตามก็แล้วกัน แล้วจะได้บุญมากกว่าที่จะทำตามใจของเรา ถวายข้าวของต้องให้พระรับกับมือให้ได้ ถ้าไม่ได้รับกับมือแล้วเหมือนกับว่าจะไม่ได้บุญ บุญไม่ได้อยู่ที่พิธีกรรม มันอยู่ที่ใจที่เราปล่อยวางความหวง ความตระหนี่ เราหวงทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทองก็เลยมาดัดมัน มันหวงมากก็เอาไปแจกคนอื่นเสีย ใช่ไหม มันจะได้หายหวง พอหายหวงแล้วใจมันจะสบายมีความสุข ไม่ต้องมาวิตกกังวลว่าของหายไปหรือเปล่า อยู่ครบหรือเปล่า หายก็หายไป หายก็คิดว่าเป็นการทำบุญไป ก็มีความสุขขึ้นมา . นี่คือเรื่องการถวายของพระซึ่งบางท่านอาจจะไม่เข้าใจ มาแล้วก็ไม่ได้ถวายกับมือ กลัวว่าจะไม่ได้บุญ บุญอยู่ที่การปล่อยวาง ถ้ามาแล้วถวายกับมือแล้วยังมาจ้องดูว่าจะเอาไปใช้หรือเปล่า ถ้าเอาไปให้คนอื่นก็เกิดความเสียใจ อย่างนี้ก็ไม่ได้บุญอีกแหละ เข้าใจไหม ให้เขาไปแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่ของเราแล้ว เขาจะเอาไปโยนทิ้งก็เรื่องของเขา . พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมที่ได้ยินได้เห็นได้ฟังมายังเป็นธรรมนอกอยู่ ธรรมใดที่เกิดจากความรู้ของตัวเอง แม้เท่าเมล็ดงาก็มีรสชาด จึงว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง
หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ
|