“ชีวิตใคร ใครก็รัก ชีวิตเรา เราก็รัก ชีวิตเขา เขาก็รัก
ความตายเรากลัว ความตายเขาก็กลัว ของใครใครก็หวง ของเราเราหวง ของเขาเขาก็หวง
จะลัก จะโกง จะฆ่า จะทำร้ายใคร ขอให้นึกกลับกันเสีย ให้เห็นเขาเป็นเรา ให้เห็นเราเป็นเขา
คือเราจะเป็นผู้ถูกลัก ถูกโกง ถูกฆ่า ถูกทำร้าย ลองนึกเช่นนี้ ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกเรา
จะเห็นว่า ที่เต็มไปด้วยโมหะนั้น จะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณา อย่างลึกซึ้ง
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
"จงพากันรักษาใจของเราด้วยธรรม มองกัน ให้มองในแง่ให้อภัยเสมอ อย่ามองแง่ร้าย" หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
“อย่าไปเหยียบย่ำซ้ำเติม สาปแช่งใคร กรรมวิบากที่ตนทำมาแต่ก่อนนั้น มันมาให้ผลเอาให้ได้ถึงซึ่งความวิบัติ อะไรขึ้นมาอย่างนี้นะ แทนที่จะไปแช่งซ้ำ นั้นไม่เอา ผิดธรรม เป็นกรรม
ถ้าเห็นใครตกทุกข์ได้ยาก เกิดอุบัติเหตุ แล้วแช่งซ้ำนะ เป็นบาป ต้องตั้งความเมตตาเอ็นดู สงสารขึ้นมา
ถึงแม้ว่า เราจะรู้ว่าคนนั้น มีประวัติอันชั่วร้ายมาก็ตาม แต่มัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเขา อันความชั่วนั้นน่ะ
แต่ว่า ไอ้ความเอ็นดูกรุณานี้ เป็นหน้าที่ของเรา ผู้เปี่ยมไปด้วย เมตตาธรรม กรุณาธรรม ที่จะต้องแสดงออกต่อบุคคลทุกประเภท ทั้งคนดี และคนชั่ว”
-:- หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ -:-
ขณิกสมาธิ ก็เท่ากับบ้านที่มีหลังคาด้วยจาก
อุปจารสมาธิ ก็เท่ากับบ้านที่มุงด้วยกระเบื้อง
อัปปนาสมาธิ เท่ากับตึก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าท่านมีทรัพย์ ท่านก็จะเก็บไว้ได้อย่างปลอดภัย ทรัพย์เหล่านั้นก็มิได้บังคับใจท่านให้ไปนอนเฝ้านั่งเฝ้าทนทุกข์ต่างๆ เหมือนคนมีทรัพย์ที่ไม่มีบ้านเก็บ ต้องไปนอนตากแดดตากฝนเฝ้าทรัพย์อยู่กลางแจ้ง ฉะนั้น ถึงกระนั้นทรัพย์เหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับความปลอดภัยแน่นหนา
ในด้านพระศาสนาก็ฉันใด ใจที่ไม่มีสมาธิ ไปแสวงหาความดีแต่ทางอื่น ปล่อยจิตใจให้เที่ยวไปในสัญญาอารมณ์ต่างๆ แม้จะเป็นอารมณ์ที่ดีก็ตาม ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ปลอดภัยอยู่นั่นเอง เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์มาก เช่น ทอง เพชรนิลจินดาต่างๆ เมื่อน้อมนำมาประดับร่างกาย แล้วเที่ยวเร่ร่อนไปในสถานที่ต่างๆ ย่อมไม่ปลอดภัย อาจจะถึงแก่ความตายด้วยทรัพย์ของตนเองนั้นก็ได้
นี้ฉันใด จิตใจของพุทธบริษัท เมื่อไม่ได้อบรมในทางภาวนา เพื่อสร้างความสงบขึ้นในตนแล้ว แม้ความดีที่ตนทำได้ก็เสื่อมง่าย เพราะยังไม่ได้เก็บเข้าฝังอยู่ในดวงจิตดวงใจของตนจริงๆ ถ้าใครฝึกหัดปฏิบัติอบรมใจของตน ให้ได้รับความสงบระงับ ก็เท่ากับเก็บทรัพย์ของตน เข้าไว้ในตู้ในหีบ
ฉะนั้น เหตุนั้นคนเราโดยมาก ทำดีจึงไม่ได้รับผลดี เพราะปล่อยใจของตัวให้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ต่างๆ อารมณ์เหล่านั้น ย่อมเป็นข้าศึกศัตรู บางครั้งอาจที่จะทำให้ความดีที่มีอยู่แล้วให้เสื่อมไปก็ได้ เปรียบเหมือนดอกไม้ที่กำลังบาน ถ้ามีลมและแมลงต่างๆ มารบกวนเข้าแล้ว อาจจะไม่มีโอกาสเกิดลูกเกิดผลขึ้นได้ ดอกไม้นั้นได้แก่มรรคจิต (จิตสงบ) ส่วนผลไม้นั้นได้แก่ผลจิต (ความสุข) เมื่อมีมรรคจิต ผลจิต ประจำใจของตัวอยู่อย่างนี้ ก็มีโอกาสจะได้รับความดี ซึ่งพุทธบริษัททั้งหลายปรารถนาอยู่ คือ #สารธรรม
... ท่านพ่อลีธัมมธโร
มุสา บุคคลผู้ใดพูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ ปากเหม็น พูดร้อยความพันความ ไม่มีผู้เชื่อถ้อยฟังคำ
ผู้ใดไม่พูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ มีความจริงใจ พูดอะไรพระพุทธเจ้าว่า ต้องเป็นพระราชาอยู่ 500 ชาติ หรือว่าเป็น มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ
ท่านจึงว่า สีเลนะ สุคะติง ยันติ , สีเลนะ โภคะ สัมปะทา , สีเลนะ นิพพุติงยันติ, ตัสมา สีลัง วิโสทะเย. มนุษย์สมบัติก็ดี สวรรค์สมบัติก็ดี หรือ นิพพานสมบัติก็ดี เกิดมาจากการรักษาศีล 5 นี่เอง
พระธรรมคำสอนหลวงพ่อสนั่น รักขิตสีโล
"..คนเราเข้าใจผิด คิดว่าพอแก่แล้วจะสบาย ความจริงมีแต่ทุกข์ที่รออยู่ตลอดสาย พอแก่แล้วก็เจ็บนั่นเจ็บนี่ ยังอยากจะมาเกิดกันอีกเหรอ.."
ธรรมะคำสอน
หลวงปู่กวง โกสโล วัดป่านาบุญ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
การเจริญกรรมฐานทุกครั้งพยายามระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมเจ้าอยู่ที่ใจ พระสงฆ์เจ้าอยู่ที่ใจ
แล้วให้หมั่นวิตกยกขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน ประกอบด้วยวิจารณ์พิจารณาอารมณ์ของกรรมฐาน ให้มีความร่าเริงบันเทิงในลมหายใจเข้า ร่าเริงบรรเทิงใจในลมหายใจออก
เมื่อเราพยายามทำอยู่อย่างนี้ แล้วจิตก็จะค่อยๆ รวมตัวเป็นเอกัคคตารมณ์
แล้วให้พิจารณาดูจิตใจในขณะนั้น เราจะเห็นชัดเลยว่า อาการของตัวสังขารหรือตัวสมุทัยที่เรียกว่า ตัวนิวรณ์นั้นดับลงไปแล้วในขณะนี้ไม่มี
พึงรู้เถอะว่าปฐมมรรค ปฐมฌานเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว พึงพยายามทำให้เป็นสิ่งชำนิชำนาญในการเข้าออกอยู่เสมอ
ต่อไปองค์ฌานมันจะค่อยๆ เปลี่ยนจากรูปฌานเป็นอรูปฌานหรือจากรูปกรรมฐานเป็นอรูปกรรมฐาน เข้าถึงชั้นพรหมสำเร็จเป็นอนาคามีเลย
บางองค์ได้แค่รูปฌานหรือรูปกรรมฐาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็มี
เรื่องของกรรมฐานนี้ ถ้าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำรวมระวังไม่ดีแล้ว ไม่ได้เจอะง่ายๆ หรอกนะ พิจารณาดูเถอะ
หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๑
"จิตวิเวก คือจิตมีความสงบสงัดจากอารมณ์เครื่องก่อกวน ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญไปตามอารมณ์ของตนโดยถ่ายเดียว เวลาคิดก็มีความยับยั้ง มีความใคร่ครวญว่า ควรหรือไม่ควร การคิดนั้นจะคิดเรื่องใดประเภทใดบ้าง ที่จะก่อให้เกิดกิเลสอาสวะ หรือจะให้เป็นศีลเป็นธรรมซึ่งเป็นเครื่องแก้กิเลสขึ้นมา จิตก็เป็นผู้ใคร่ครวญพิจารณาเอง คือสติปัญญาเป็นเครื่องใคร่ครวญ
จิตเมื่อได้รับการอารักขาพยายามป้องกันสิ่งที่เป็นภัยไม่ให้เกิดขึ้นจากจิต และพยายามส่งเสริมสิ่งที่เป็นคุณแก่จิตใจให้เกิดให้มีขึ้นเรื่อยๆ จิตก็ได้รับความสงบเย็นใจขึ้นมาเป็นจิตวิเวก นั่นคือจิตที่สงบ และมีความสงบเป็นพื้นฐานมั่นคงไปโดยลำดับ"
(เทศน์หลวงตามหาบัวเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙)
|