"เขาว่าทำบุญทำทานนั้น ทำไปทำไม คนทำบุญก็ต้องตาย ไม่ทำก็ตาย ตายด้วยกันจริงอยู่ดอก แต่ว่าตายผิดกัน คนทำบาปนั้นตายไปกับผีกับเปรต ตายตามป่าตามดงตามถนนหนทาง แต่คนทำบุญนั้น ตายไปในกองบุญกองกุศล ตายสบาย แล้วไปเกิดก็สบายอีก ไม่ต้องไปเกิดในที่ทุกข์ที่ยากเหมือนคนทำบาป" ท่านพ่อลี ธัมมธโร
ขอฝากไว้กับผู้ปฏิบัติ “ เสียใจอย่าปล่อยให้มันค้างคืน “ อย่าให้เลยเป็นอดีต ต้องกำหนดทันทีในปัจจุบัน ขาดกันมากนะ ขาดปฏิบัติตรงนี้ ตั้งสติไว้ให้มั่น คำว่า “ มั่น “ คือ ตั้งสติไว้ที่ความเสียใจ ปักมันลงไปที่ลิ้นปี่ หายใจลึกๆ หายใจยาวๆ ถึงจะได้ผล ไม่งั้นก็กำหนดแต่ปาก จิตมันไม่ถึง สติก็ไม่มี สัมปชัญญะก็ไม่รู้ตัว เลยมั่วกันไปหมด หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
ถ้าเข้า นิโรธสมาบัติ ไม่เป็นไร นิโรธสมาบัติ นะ! มันมีอะไรเกิดขึ้นกับขันธ์ ๕ ไม่ได้ เกิดได้แต่ว่าขันธ์ ๕ จะมีอันตรายไม่ได้
อย่างนันทยักษ์ ตีหัวพระสารีบุตร นั่นไง ก็ พระสารีบุตร ท่านนั่งเข้านิโรธสมาบัติ อยู่ นันทยักษ์ ก็เห็น เหมวตายักษ์ เหาะมาในอากาศ
เหมวตายักษ์ นี่เราเรียกว่า เหม ก็ เหม ท่านเป็นพระโสดาบัน แต่ นันทยักษ์ ยังไม่ได้อะไรกับเขาเลย ไม่เคารพพระพุทธเจ้า เหาะมาก็ดันเหาะตรงหัวพระสารีบุตร พอดี พอเหาะจวนจะถึงอากาศแข็งไปไม่ได้ ไปยังไงก็ไปไม่ได้
ก็มองดูข้างล่างว่า "อ๋อ..ไอ้โล้นนั่งอยู่ตรงนี้เอง ขวางกู เดี๋ยวก็ตีกบาลเสียเถอะ!"
เหมวตายักษ์ บอก "อย่าไปยุ่งกับพระสาวกของพระสมณโคดมนะ อันตรายมาก..."
นันทยักษ์ บอก "เอ๊ะ! ไม่ได้ต้องเอา"
เหมวตายักษ์ ก็บอกว่า "เราก็หลีกไปซะก็หมดเรื่อง"
นันทยักษ์ บอก "ไม่หลีก..หน่อยแน่ะ! มานั่งขวางทาง"
ความจริงนั่งอยู่ข้างล่างนะ แกเหาะไปข้างบน เหมวตายักษ์ห้ามไม่ได้ นันทยักษ์ ลงมาก็เอากระบองเพ่นกบาลพระสารีบุตร เข้าให้ ตีปัง!
ท่านบอกว่าถ้าตีนี่กำลังช้าง ช้างก็จมดิน นี่กำลัง! ถ้าตีเขา เขาก็หวั่น
แล้วปรากฏว่าผมของ พระสารีบุตร ไม่เป็นอะไรเลย แม้แต่ผมก็ไม่ยุบ แล้วพอตีเสร็จปรากฏว่า นันทยักษ์ ยังเก่งต่อไปอีก ไม่เก่งเท่านั้น
ลงอเวจีเดี๋ยวนั้นทันทีเห็นไหม! ยังเก่งไม่พอนะตีหัวน่ะ ลงอเวจีร้อนทั้งไฟเผา ทั้งหอกเสียบ ยังเก่งกว่าเดิมอีก นี่เวลานี้ยังอยู่ว่าง ๆ โยมจะแอบไปเป็นลูกศิษย์ก็ได้ (หัวเราะ)
¢ คือว่าถ้าเข้า นิโรธสมาบัติ ร่างกายจะเป็นอันตรายไม่ได้
อย่างคณะของ พระนางสามาวดี ที่ต้องถูกเผาไฟ ๕๐๐ คน คือว่าสมัยก่อนโน้นเคยเป็นบริวารของพระราชาองค์หนึ่ง พระราชาก็มีความเคารพในพระปัจเจกพุทธเจ้า
วันหนึ่งพระราชาก็ชวนนางสนมนารีไปอาบน้ำทะเล เวลานั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้นไปเข้า นิโรธสมาบัติ ตรงนั้นพอดี พวกสาวสรรกำนัลในบ้าง ผู้ใหญ่บ้านในบ้าง เมื่อเล่นน้ำหนาวก็เกิดสุมไฟ สุมไฟผิง ไอ้ไฟระยำก็เลยลามเข้าไปไหม้ป่า พอไหม้ป่าก็ตาย
พระปัจเจกพุทธเจ้านั่งอยู่ก็เห็น พอป่าไหม้ไปแล้ว เพราะป่าไม่ใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งดำเป็นตอตะโก ไอ้เขม่าไฟน่ะ แกก็จำได้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้เป็นที่เคารพของพระราชา
ถ้าพระราชาทรงทราบว่า พวกเราจุดไฟผิงแล้วก็ไฟลามป่าไปไหม้พระปัจเจกพุทธเจ้าตาย เราก็จะถูกลงอาญาอย่างหนัก
ไหน ๆ ก็ตายแล้ว ให้ไหม้หมดองค์เลยก็แล้วกัน เอาฟืนมาวางทับวาง ๆ กอง ๆ ขึ้นไปสูงแล้วก็ทับ ทับเสร็จแล้วก็จุดไฟแล้วก็กลับ
ปรากฏว่าพวกเธอกลับแล้วมันยังไม่ครบ ๑๕ วันนะ ท่านก็นั่งอยู่อย่างนั้น พอครบ ๑๕ วัน ปรากฏว่าท่านก็ไปตามปกติ นิโรธสมาบัติ นะ เห็นไหม!
มาชาติสุดท้ายคณะ พระนางสามาวดี จึงต้องถูกเผาเพราะไม่มีความผิด ๕๐๐ คน นี่กฎของกรรม
อ้างอิงจากหนังสือ หลวงพ่อเล่าให้ฟัง เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๐ โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)
“หากสละชีวิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว พระพุทธศาสนาก็ไม่เป็นของยากลำบาก และเหลือวิสัยอะไร ทำได้จนเต็มความสามารถ ของตนทีเดียว”
“กายนี้คือก้อนทุกข์ กายนี้เป็นที่หมาย ให้พ้นเสียจากทุกข์ ฝึกสติปัญญาให้ดี แล้วมาพิจารณากายนี้ให้แจ้ง ก็จะพ้นทุกข์ได้...”
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม
สู้ไม่ถอย ทางเดินของเรา มีทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องต่อสู้จนถึงตายกับความเพียร เพื่อชัยชนะอย่างเดียวเท่านั้น ทำไปเถอะ ภาวนาไปจนตายไม่มีถอย ใครถอยไม่ใช่ศิษย์ตถาคต กาลใดที่ขาดสติ กาลนั้นเรียกว่า ขาดความเพียร ถึงแม้จะนั่งอยู่ หรือเดินจงกรมอยู่ก็ตาม โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ
...การทำบุญ ทำบาป มีผลตามมาอย่างแน่นอน จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อตายไปก็ต้องไปเกิดตาม บาปบุญที่ได้ทำไว้อย่างแน่นอน "ไม่ต้องสงสัย"
. เพราะพระพุทธเจ้า ทรงรู้ทรงเห็นแล้ว มีพระอรหันตสาวก ของพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก ที่ได้รู้ได้เห็นตาม ได้รับรองสิ่งที่ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว ว่าเป็น..สวากขาโต ภควาตา ธัมโม
. เป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ถูกต้องตามความเป็นจริงทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสสอนไว้ ล้วนเป็นความจริงทั้งสิ้น
. ไม่ว่าจะเป็นนรกสวรรค์ บาปบุญ การเวียนว่ายตายเกิด หรือมรรคผลนิพพาน เป็นความจริงทั้งนั้น "ที่ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ได้" .
....................................... . คีดลอก(กำลังใจ 33) กัณฑ์ 314 ธรรมะบนเขา 8/4/2550 พระอาจารย์สุชาติ อภิาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ฝึกจิต พัฒนาจิต
การตามดูใจของตัวเองนี้ น่าสนใจมาก ใจที่ยังไม่ได้ฝึก มันก็คอยวิ่งไปตาม นิสัยเคยชินที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรม มันเต้นคึกคักไปตามเรื่องตามราว ตามความคะนอง เพราะมันยังไม่เคยถูกฝึก
ดังนั้น จงฝึกใจของตัวเอง การปฏิบัติภาวนาในทางพุทธศาสนาก็คือการปฏิบัติเรื่องใจ ฝึกจิตฝึกใจของตัว ฝึกอบรมจิตของตัวเองนี่แหละ เรื่องนี้สำคัญมาก การฝึกใจเป็นหลักสำคัญ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของใจ มันมีเท่านี้ ผู้ที่ฝึกปฏิบัติทางจิต คือผู้ปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา
การฝึกใจ
ใจของเรานี่มันอยู่ในกรง ยิ่งกว่านั้นมันยังมีเสือที่กำลังอาละวาดอยู่ในกรงนั้นด้วย ใจที่มันเอาแต่ใจของเรานี้ ถ้าหากมันไม่ได้อะไรตามที่มันต้องการแล้ว มันก็อาละวาด
เราจะต้องอบรมใจด้วยการปฏิบัติภาวนาด้วยสมาธิ นี้แหละที่เราเรียกว่า “การฝึกใจ” พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม
ในเบื้องต้นของการฝึกปฏิบัติธรรม จะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานหรือรากฐาน ศีลนี้เป็นสิ่งอบรม กาย วาจา ซึ่งบางทีก็จะเกิดการวุ่นวายขึ้นในใจเหมือนกัน เมื่อเราพยายามจะบังคับใจ ไม่ให้ทำตามความอยาก
กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย นิสัยความเคยชินอย่างโลกๆ ลดมันลง อย่ายอมตามความอยาก อย่ายอมตามความคิดของตน หยุดเป็นทาสมันเสีย พยายามต่อสู้ เอาชนะอวิชชาให้ได้ ด้วยการบังคับตัวเองเสมอ นี้เรียกว่าศีล
เมื่อพยายามบังคับจิตของตัวเองนั้น จิตมันก็จะดิ้นรนต่อสู้ มันจะรู้สึกถูกจำกัด ถูกข่มขี่ เมื่อมันไม่ได้ทำตามที่มันอยาก มันก็จะกระวนกระวายดิ้นรน ทีนี้เห็นทุกข์ชัดล่ะ
เห็นทุกข์ ทำให้เกิดปัญญา
“ทุกข์” เป็นข้อแรกของอริยสัจจ์ คนทั้งหลายพากันเกลียดกลัวทุกข์ อยากหนีทุกข์ ไม่อยากให้มีทุกข์เลย
ความจริง.. ทุกข์ที่แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์ สุขนั่นสิมันจะปิดหูปิดตาเรา มันจะทำให้ไม่รู้จักอด ไม่รู้จักทนความสุขสบายทั้งหลายจะทำให้เราประมาท
กิเลสสองตัวนี้ทุกข์เห็นได้ง่าย ดังนั้นเราจึงต้องเอาทุกข์นี่แหละมาพิจารณาแล้วพยายามทำความดับทุกข์ให้ได้ แต่ก่อนจะปฏิบัติภาวนาก็ต้องรู้จักเสียก่อนว่า ทุกข์คืออะไร
ตอนแรกเราจะต้องฝึกใจของเราอย่างนี้ เราอาจยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร ฉะนั้น เมื่อครูอาจารย์บอกให้ทำอย่างใด ก็ทำตามไปก่อน แล้วก็จะค่อยมีความอดทนอดกลั้นขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรให้อดทนอดกลั้นไว้ก่อน เพราะมันเป็นอย่างนั้นเอง อย่างเช่น เมื่อเริ่มฝึกนั่งสมาธิ เราก็ต้องการความสงบทีเดียว แต่ก็จะไม่ได้ความสงบ เพราะมันไม่เคยทำสมาธิมาก่อน ใจก็บอกว่า “จะนั่งอย่างนี้แหละจนกว่าจะได้ความสงบ” อย่าทอดทิ้งจิต แต่พอความสงบไม่เกิดก็เป็นทุกข์ ก็เลยลุกขึ้นวิ่งหนีเลย
การปฏิบัติอย่างนี้ไม่เป็น “การพัฒนาจิต” แต่มันเป็น “การทอดทิ้งจิต” ไม่ควรปล่อยใจไปตามอารมณ์ ควรที่จะฝึกฝนอบรมตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขี้เกียจก็ช่าง ขยันก็ช่าง ให้ปฏิบัติมันไปเรื่อยๆ ลองคิดดูซิ ทำอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ
การปล่อยใจตามอารมณ์นั้น จะไม่มีวันถึงธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อเราปฏิบัติธรรม ไม่ว่าอารมณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน แต่ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอ การตามใจตัวเองไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติธรรมตามความคิดความเห็นของเรา เราจะไม่มีวันรู้แจ้งว่าอันใดผิด อันใดถูก จะไม่มีวันรู้จักใจของตัวเราเอง และไม่มีวันรู้จักตัวเอง
ดังนั้น ถ้าปฏิบัติธรรมตามแนวทางของตนเองแล้วย่อมเป็นการเสียเวลามากที่สุด แต่การปฏิบัติตามแนวทางของ พระพุทธเจ้าแล้วย่อมเป็นหนทางตรงที่สุด
การพัฒนาจิต
ขอให้จำไว้ว่า ถึงจะขี้เกียจก็ให้พยายามปฏิบัติไป ขยันก็ให้ปฏิบัติไปทุกเวลา และทุกหนทุกแห่ง นี่จึงจะเรียกว่า “การพัฒนาจิต” ถ้าหากปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตนเองแล้ว ก็จะเกิดความคิดความสงสัยไปมากมาย มันจะให้คิดไปว่า “เราไม่มีบุญ เราไม่มีวาสนา ปฏิบัติธรรมก็นานหนักหนาแล้ว ยังไม่รู้ เรายังไม่เห็นธรรมเลยสักที” การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็น “การพัฒนาจิต” แต่เป็น “การพัฒนาความหายนะของจิต”
ถ้าเมื่อใดที่ปฏิบัติธรรมไปแล้ว มีความรู้สึกอย่างนี้ว่ายังไม่รู้อะไร ยังไม่เห็นอะไร ยังไม่มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้างเลย นี่ก็เพราะที่ปฏิบัติมามันผิด ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะสิ้นสงสัยด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย” ความสงสัยไม่มีวันสิ้นไปได้ด้วยการคิด ด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเน หรือด้วยการถกเถียงกัน หรือจะอยู่เฉยๆ ไม่ปฏิบัติ ภาวนาเลย ความสงสัยก็หายไปไม่ได้อีกเหมือนกัน
กิเลสจะหายสิ้นไปได้ก็ด้วยการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะเกิดได้ก็ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น ตรงกันข้ามกับหนทางของโลกอย่างสิ้นเชิง คำสั่งสอนของพระองค์มาจากพระทัยอันบริสุทธิ์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสอาสวะทั้งหลาย นี่คือแนวทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์
เมื่อเราปฏิบัติธรรม เราต้องทำใจของเราให้เป็นธรรม ไม่ใช่เอาธรรมะมาตามใจเรา ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครสักคนหรอกที่จะพ้นทุกข์ไปได้ พอเริ่มปฏิบัติ ทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นแล้ว หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติสำรวม และสันโดษ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหยุด คือเลิกนิสัยความเคยชินที่เคยทำมาแต่เก่าก่อน ทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่ฝึกฝนอบรมใจตนเองแล้ว มันก็จะคึกคะนอง วุ่นวายไปตามธรรมชาติของมัน
ธรรมชาติของจิต ฝึกได้เสมอ
ธรรมชาติของใจนี้มันฝึกกันได้ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เปรียบได้กับต้นไม้ในป่า ถ้าปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติของมัน เราก็จะเอามันมาสร้างบ้านไม่ได้ จะเอามาทำแผ่นกระดานก็ไม่ได้ หรือทำอะไรอย่างอื่นที่จะใช้สร้างบ้านก็ไม่ได้ แต่ถ้าช่างไม้ผ่านมา ต้องการไม้ไปสร้างบ้าน เขาก็จะมองหาต้นไม้ในป่านี้ และตัดต้นในป่านี้เอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ช้าเขาก็สร้างบ้านเสร็จเรียบร้อย
การปฏิบัติภาวนาและการพัฒนาจิต ก็คล้ายกันอย่างนี้ ก็ต้องเอาใจที่ยังไม่ได้ฝึกเหมือนไม้ในป่านี่แหละ มาฝึกมัน จนมันละเอียดประณีตขึ้น รู้ขึ้น และว่องไวขึ้น ทุกอย่างมันเป็นไปตามภาวะธรรมชาติของมัน เมื่อเรารู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ เราก็เปลี่ยนมันได้ ทิ้งมันก็ได้ ปล่อยมันไปก็ได้ แล้วเราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)
|